พระธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พระธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พระธรรมเทศนาโดย…หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ลักษณะจิตที่หลุดพ้นนั้นมีลักษณะการหลุดพ้นต่างกัน จำแนกออกได้ 5 ประเภทคือ

๑. ตทงฺควิมุตฺติ คือ ความหลุดพ้นเป็นบางขณะ ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากความสงบของจิตในบางคราว หรืออาจเกิดจากการเจริญวิปัสสนาแล้วเห็นทุกข์ ทำให้จิตละสังขารเพียงบางครั้งบางคราว แต่ไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดมรรค ที่จะทำลายกิเลสให้สิ้นไปได้ เพียงแต่ละได้ในบางครั้งบางคราวเป็นขณะ ๆ เท่านั้น

๒. วิกฺขมฺภนวิมุตฺติ จิตหลุดพ้นโดยการใช้สมาธิกดข่มจิตไว้ คือ การเข้าฌาณสมาบัติ ระงับจิตจากกิเลสชั่วคราว จัดเป็นโลกียวิมุติ เมื่อออกจากฌานสมาบัติ กิเลสก็เข้าเกาะกุมจิตได้อีก เป็นความหลุดพ้นที่ไม่เด็ดขาด เพราะมรรคไม่ประหารนั่นเอง

๓. สมุจฺเฉทวิมุตฺติ จิตหลุดพ้นโดยมรรคประหารกิเลส ขาดไปจากจิต เป็นการหลุดพ้นโดยเด็ดขาด คือ กิเลสขาดไปจากจิต ได้แก่ ผู้เจริญสมถวิปัสสนาจนเกิดมัคญาณประหารกิเลสในจิต
๔. ปฏิปสฺสทฺธิวิมุตฺติ จิตหลุดพ้นด้วยความสงบ คือ จิตสงบหลุดพ้นจากกิเลสเป็นผลเกิดจากมรรคประหาร

๕. นิสฺสรณวิมุตฺติ จิตหลุดพ้นโดยแล่นออกจากสังขารธรรม เป็นวิมุตฺติของผู้เจริญวิปัสสนา มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริงว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำให้จิตหลุดพ้นแล่นออกจากความทุกข์ เข้าสู่นิพพาน เป็นธรรมชาติ หาเครื่องเสียบแทงไม่ได้
ลักษณะการหลุดพ้นของจิตทั้ง ๕ นี้ ตทงฺควิมุตฺติ และวิกฺขมฺภนวิมุตฺติ มักจะเกิดจากการเจริญสมถะอย่างเดียว ส่วนการหลุดพ้นแบบ สมุจฺเฉทวิมุตฺติ ปฏิปสฺสทฺธิวิมุตฺติ และนิสฺสรณวิมุตฺติ นั้น เกิดจากการเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป เป็นโลกุตฺตรวิมุตฺติ เพราะกิเลสถูกประหารไปจากจิต

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://thailanddharma.blogspot.com/2013/04/blog-post_7041.html

. . . . . . .