วิธีเจริญจิตภาวนา (ตามวิธีหลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

วิธีเจริญจิตภาวนา (ตามวิธีหลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

1. เริ่มต้นอิริยาบถที่สบาย
ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร หรือ รู้ “ตัว” อย่างเดียว รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อย ๆ ให้ “รู้อยู่เฉย ๆ ” ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่าง ๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นตามธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้น ๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ จากนั้น ค่อย ๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอ รักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน “พฤติแห่งจิต” โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อ ๆ ไป

ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อย ๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้นจะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดีก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้ ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นสู่อารมณ์ทันที เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเองก็ค่อย ๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อย ๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ เจตจำนงนี้ คือ ตัว “ศีล”

การบริกรรม “พุทโธ” เปล่า ๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อ ๆ ไป แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจน และความไม่ขาดสายของ พุทโธ จะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่า มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบ ที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธา ตนเองเลย เมื่อจิตค่อย ๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเองเพราะคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อย ๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ “พฤติแห่งจิต” ที่ฐานนั้น ๆ

“บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครบริกรรมพุทโธ”

2. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว
ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่ออารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไปมาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอ ๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบ ๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กริยาจิตใด ๆ ที่เกิดขึ้นเพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อย ๆ ก็จะค่อย ๆ เข้าใจกริยาหรือพฤติแห่จิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)

“ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ ”

3. อย่าส่งจิตออกนอก
กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไปก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลาย อย่าได้ใส่ใจกับมัน)

“ระวัง จิตไม่ให้คิดเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ 6”

4. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป
เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อย ๆ จนเข้าถึงปัจจัยของอารมณ์ ความนึกคิดต่าง ๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อย ๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ต่าง ๆ อารมณ์ความนึกคิดต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ ดับไป เรื่อย ๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

“คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยการคิด”

5. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต
เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่ายังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติสังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อย ๆ จนสามารถเข้าใจพฤติของจิตได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอนเข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่า เกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนั่นเอง ไปหาปรุง หาแต่ง หาก่อ หาเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อย ๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

“คำว่า แยกถอดรูป นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง ”

6. เหตุต้องละ ผลต้องละ
เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใด ๆ ทั้งสิ้น จิตก็อยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่าง ๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใด ๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

“สมุจเฉทธรรมทั้งปวง”

7. ใช้หนี้–ก็หมด พ้นเหตุเกิด
เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้น ก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบ ไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะกรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีก ไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า “พ้นเหตุเกิด”

8. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร
เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรม จะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละมันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่รู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)

http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_doon/lp-doon_1.htm

. . . . . . .