การศึกษา (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

การศึกษา (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

ในปีแรกที่เข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.๒๔๗๓ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค พระองค์ทรงบันทึก เกี่ยวกับความรู้สึก เมื่อทรงสอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคได้ว่า “ไม่มีปีใดที่ให้ความสุขกาย สุขใจมากเท่ากับคราวที่สอบ ป.ธ.๓ ได้”

พ.ศ.๒๔๗๔ ทรงตั้งใจเรียนประโยค ๔ ด้วยความมุ่งหวังอย่างสูง พร้อมทั้งทรงเตรียมประโยคเก็ง หรือว่าเก็งข้อสอบที่คาดว่าน่าจะออกไว้ด้วยความมั่นใจ เมื่อถึงคราวสอบกลับปรากฏว่า ข้อสอบไม่ได้ออกประโยคเก็งหรือประโยคยาก ๆ ที่ทรงเตรียมไว้ แต่กลับออกประโยคง่าย ๆ ที่ไม่ได้สนใจเตรียม แต่ก็ทรงรู้สึกว่าข้อสอบง่ยมาก ทำไปด้วยความมั่นพระทัยแต่ผลสอบปรากฏว่า พระองค์สอบตกประโยค ๔ ได้ทรงบันทึกถึงความรู้สึกเมื่อทรงสอบตก คราวนั้นไว้ว่า ทรงรู้สึกเสียใจและท้อแท้ใจมาก ถึงกับทรงคิดว่า พระองค์คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว เพราะมานะพยายามและตั้งใจขนาดนี้ยังสอบตก แต่หลังจากทรงคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่าทำไม พระองค์จึงสอบตก ก็ทรงได้พบความจริงด้วยพระองค์เองว่า การสอบตกนั้นเป็นผลของความประมาทโดยแท้ กล่าวคือ

ประการแรก ทรงพบว่าพระองค์ทรงหยิ่งทนงในความรู้ของตนเองมากเกินไป จนทำให้เห็นไปว่าทำอย่างไร ก็สอบได้แน่ เมื่อถึงเวลาสอบจึงทำข้อสอบด้วยความหละหลวม ไม่พิจารณาให้รอบคอบ ด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว จึงทำข้อสอบผิดพลาดมาก ถึงกับได้คะแนนสูญ

ประการที่สอง ทรงพบว่าพระองค์ทรงอยู่ในความประมาท ที่ไม่ดูตำรับตำราให้ทั่วถึงมุ่งดูแต่เฉพาะที่เห็นว่ายากและคาดคะเนหรือเก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น เมื่อข้อสอบ ออกไม่ตรงตามที่เก็งไว้ จึงทำข้อสอบผิด พลาดโดยไม่รู้ตัวว่าทำผิด

ประการที่สาม ทำให้ทรงเห็นว่า การเรียนแบบสนใจเรียนหรือสนใจดูเฉพาะที่เก็งว่าจะออกสอบ เท่านั้น ไม่ใช่วิธีการเรียนที่ถูกต้อง เพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระองค์สอบตก

พ.ศ.๒๔๗๕ ทรงเรียนซ้ำประโยค ๔ อีกครั้ง และทรงเตรียมสอบนักธรรมชั้นเอกด้วยและ ในปีนี้ทรง เลิกวิธีการเรียนแบบเก็งข้อสอบ แต่ทรงเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง ผลการสอบปรากฏว่าสอบได้ทั้งนักธรรม ชั้นเอกและเปรียญธรรม ๔ ประโยค

กล่าวได้ว่า ชีวิตในปฐมวัยของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้นดำเนินไปด้วยความราบรื่นประสบความ สำเร็จ โดยมีปัจจัยแวดล้อมเป็นตัวเสริมที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองและครูอาจารย์ที่ดี ที่คอยให้คำแนะนำ และชักนำไปในทางที่ดี ประกอบกับในส่วนพระองค์เองก็ทรงมีพื้นอัธยาศัย ที่ดีคือมีพระอัธยาศัยโน้มเอียงไปในทางพระศาสนาเป็นทุนอยู่แล้ว การชี้นำของผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องจึงช่วย ส่งให้พระองค์ดำเนินไปในทิศทาง ที่ถูกต้องตรงตามพื้นเพของพระอัธยาสัย เป็นเหตุให้พระองค์ ประสบความสำเร็จในชีวิตวัยเด็ก

สรุปได้ว่า ชีวิตในปฐมวัยของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในฐานะที่ทรงดำเนินชีวิตในเพศพรหมจรรย์นั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระองค์ประสบความสำเร็จในวัยนี้ มีทั้งปัจจัย ภายนอกคือบุคคลแวดล้อม และปัจจัยภายในคือพระอัธยาศัยและคุณสมบัติส่วน พระองค์เองประกอบกัน

พ.ศ.๒๔๗๖ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีพระชนมายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรงกลับ ไปอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี สำนักเดิมของพระองค์เมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร ทั้งนี้ก็เพื่ออยู่ช่วยสอน พระปริยัติธรรมสนองพระคุณของหลวงพ่อ ตามคำที่หลวงพ่อเคย พูดไว้เมื่อ ก่อนที่ จะนำพระองค์มาฝากให้อยู่เรียน ภาษาบาลีที่วัดเสน่หาเป็นครั้งแรกว่า เพื่อจะได้กลับมาสอนที่วัดเทวสังฆารามแล้วจะสร้างโรงเรียนเตรียมไว้ให้ และก็ปรากฏว่า หลวงพ่อได้ทำอย่าง ที่ท่านพูดไว้ จริง ๆ คือท่านได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นหลังหนึ่ง ชื่อว่า โรงเรียนเทวานุกูล เป็นตึกคอนกรีต ๒ ชั้น เตรียมไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๓

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ โดยพระครูอดุลยสมณกิจ (หลวงพ่อวัดเหนือ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร (หลวงพ่อวัดหนองบัว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดหรุง เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อทรงอุปสมบทแล้ว ได้อยู่จำพรรษา ณ วัดเทวสังฆารามนั้น เพื่อช่วยหลวงพ่อสอนพระปริยัติธรรม ตามความมุ่งหมายของท่าน ๑ พรรษา

ครั้นออกพรรษาแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้กลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารตามเดิมและได้ทรง ทำญัตติกรรม คืออุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติที่วัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๖ ศกเดียวกัน (สมัยนั้นขึ้น พ.ศ. ใหม่เดือนเมษายน ฉะนั้น เดือนมิถุนายน จึงเป็นต้นปี เดือนกุมภาพันธ์ เป็นปลายปี) โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระรัตนธัชชมุนี (จู อิสสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทั้งนี้เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป และในปี พ.ศ.๒๔๗๖ นี้ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค

แม้จะกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ยังทรงเวียนไปมาช่วย สอนพระปริยัติธรรม ที่วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี สนองพระคุณหลวงพ่อต่อเนื่องกันมาอีก ๒ ปี ส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรม ของพระองค์ก็เจริญก้าวไปหน้าไปตามลำดับ กล่าวคือ

พ.ศ.๒๔๗๗ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

พ.ศ.๒๔๗๘ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค

พ.ศ.๒๔๘๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค

พ.ศ.๒๔๘๔ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือทรงมีพระ อัธยาศัยใฝ่รู้ โดยเฉพาะในด้านภาษา เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีนักบวชฮินดูท่านหนึ่งเข้ามาศึกษา และส่งเสริมความสัมพันธ์ ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับอินเดีย นักบวชท่านนี้คือ สวามี สัตยานันทปุรี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน ศาสนาและปรัชญาของอินเดีย รวมทั้งเชี่ยวชาญทางภาษา สันสกฤษและภาษาอังกฤษด้วย ท่านสวามีได้ตั้ง ธรรมาศรม ขึ้น ณ ตึกหอสมุดมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพระสุเมรุ หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร มีการออกนิตยสารชื่อ เสียงตะวันออก ซึ่งมีทั้ง ภาค ภาษาอังกฤษและภาคภาษาไทย มีการจัดสนทนาธรรมทุกวันอาทิตย์ รวมทั้งมีการสอนภาษา สันสกฤต และภาษาอังกฤษแก่ภิกษุสามเณรและผู้สนใจด้วย กล่าวได้ว่า สำนักธรรมาศรมของสวามี สัตยานันทปุรีดังกล่าว ได้เป็นศูนย์กลางสำหรับการสังสรรเสวนาของหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต ของไทยในครั้งนั้น ท่าน สวามีได้พำนักอยู่ใน ประเทศไทยราว ๑๐ ปีกระทั่งเสียชีวิตในระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ เนื่องจากเครื่องบินตก ขณะมีอายุได้เพียง ๔๐ ปี อาจกล่าวได้ว่า สวามี สัตยานันทปุรี ได้เป็นก่อให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาปรัชญาและศาสนาขึ้นในหมู่ผู้รู้ของไทย พร้อมทั้งได้ประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนาตะวันออกเป็นภาษาไทยไว้หลายเล่ม

ในระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๗-๗๘ นั้นเอง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ซึ่งทรงเป็นพระเปรียญ ๖-๗ ประโยค พร้อมทั้งพระเปรียญหนุ่มอื่น ๆ อีกหลายรูป ได้เรียนภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษกับสวามี สัตยานันทปุรี แต่การเรียนของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ไม่ค่อยสะดวกนักเพราะทรงมีภาระต้อง เป็นครูสอนนักธรรมบ้าง สอนบาลีบ้าง ในสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร จึงทรงเรียน ได้เฉพาะวันที่มีเวลาว่างเท่านั้น ทรงเรียนอยู่ราว ๒ ปี ก็ต้องเลิกไป เพราะทรงมีภารกิจด้านต่าง ๆ มากขึ้น แต่การเรียนกับสวามี สัตยานันทปุรี ได้เป็นพื้นฐานให้พระองค์ทรงศึกษา ด้วยพระองค์ต่อไป วิธีการเรียนภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ก็คือการอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ฟังวิทยุ ภาคภาษาอังกฤษของบีบีซี และอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น หากมีข้อความใดสำคัญหรือทรงประทับใจ ก็จะทรงจดจำไว้สำหรับเป็นแบบอย่างหรือนำมาใช้ในเวลาต้องการ ด้วยวิธีการทรงศึกษา ด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้พระองค์สามารถใช้ประโยชน์จากภาษาอังกฤษได้ดีทั้งการพูด การอ่านและการเขียน ความรู้ภาษาอังกฤษนับว่ามีประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจของพระองค์ ในเวลาต่อมาเป็นอย่างมาก

ต่อมาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ยังสนพระทัยศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาฝรั่งเศส โดยทรงศึกษากับครูไทย ที่ทรงรู้จักมักคุ้นกัน โดยครูได้มาสอนที่กุฏิในเวลาค่ำบ้าง กลางคืนบ้าง วันละชั่วโมงสองชั่วโมงสุดแต่จะสะดวก ทรงเรียนต่อเนื่องมานานพอควรจนทรงสามารถอ่าน เขียนได้พอสมควร แต่ในที่สุดก็เลิกลาไป เพราะเวลาไม่อำนวย ทั้งฝ่ายผู้สอนและฝ่ายผู้เรียน

และในระยะใกล้กันนี้ มีผู้รู้ภาษาจีนมาอุปสมบทเป็นพระนวกะ (พระใหม่) อยู่ใน ความปกครองของพระองค์ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงถือโอกาสเรียนภาษาจีนกับท่านผู้นั้นด้วย แม้พระนวกะนั้นลาสิกขาไปแล้ว ก็ยังมาสอนภาษาจีนถวาย แต่ครูภาษาจีนได้ถึงแก่กรรมในเวลา ต่อมาไม่นาน การเรียนภาษาจีนจึงเป็นอันยุติ เมื่อทรงเล่าถึงการเรียนภาษาจีน ของพระองค์ก็ทรงเล่าอย่างขบขันว่า เรียนจนครูตายเลยต้องเลิก

นอกจากความสนพระทัยในการเรียนภาษาต่าง ๆ แล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ยังไฝ่พระทัยในการแสวงหา ความรู้อยู่เสมอ วิธีการแสวงหาความรู้ของพระองค์ก็คือการอ่านหนังสือ ทรงอ่านทั้งหนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ และมิได้ทรงจำกัดการอ่านเฉพาะหนังสือ ทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่รวมทั้งหนังสือที่เป็นความรู้ทั่วไป ๆ ไปด้วย

ชีวิตในมัชฌิมวัยของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น กล่าวได้ว่า เป็นช่วงเวลาของการเรียน และการ แสวงหาความรู้

http://www.watbowon.com/index_main.htm

. . . . . . .