ประสบการณ์โลกทิพย์ ในการออกธุดงค์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ตอนที่ ๑๐)

ประสบการณ์โลกทิพย์ ในการออกธุดงค์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ตอนที่ ๑๐)

หนทางถูก

ปรากฏว่า จากการพิจารณาด้วยอุบายวิธีนี้ จิตได้รวมสงบลงอย่างรวดเร็วและง่ายดายผิดปกติ ขณะที่จิตสงบตัวลง ปรากฏว่าร่างกายได้แตกออกเป็นสองภาค และรู้ขึ้นมาในขณะนั้นว่า นี่เป็นวิธีที่ถูกต้องแน่นอนแล้วไม่สงสัย เพราะขณะที่จิตรวมลงไปมีสติประจำตัวอยู่กับที่ไม่ปล่อยให้จิตไร้สติเหลวไหลเที่ยวเร่ร่อน

ไปในที่ต่างๆ ดังที่เคยเป็นมาในครั้งก่อน นี่คืออุบายที่แน่ใจว่าเป็นความถูกต้องในขั้นแรกของการเจริญวิปัสสนา และในวาระต่อมาพระอาจารย์มั่น ก็ยึดถืออุบายนี้เป็นเครื่องดำเนินวิปัสสนากรรมฐานอย่างไม่ลดละ จนสามารถทำความสงบใจได้ตามต้องการ มีความชำนิชำนาญมากขึ้นไปด้วยกำลังความเพียร

ไม่ลดหย่อนอ่อนกำลัง นับว่าได้หลักฐานทางจิตใจที่มั่นคง ด้วยสมาธิแบบสมถะวิปัสสนา ไม่มีการหวั่นไหวคลอนแคลนง่ายดายเหมือนคราวบำเพ็ญตามนิมิตดวงแก้วในขั้นเริ่มแรก ซึ่งทำให้เสียเวลาเปล่าไปตั้งสามเดือน นี่แหละโทษแห่งการไม่มีครูบาอาจารย์ผู้ฉลาดคอยให้อุบายสั่งสอนท่าน

ย่อมมีทางเป็นไปต่างๆ ทำให้ผิดทาง ทำให้ล่าช้าเสียเวลา มีแต่ทางเสียหาย ท่านบอกตัวเองว่า ที่คนเจริญวิปัสสนาเสียสติเป็นบ้าเป็นหลังไปมากต่อมากราย ก็เห็นจะเป็นด้วยการเจริญวิปัสสนาผิดลู่ผิดทางนี้อย่างไม่มีปัญหา นับว่าเป็นบุญวาสนาของเราแล้วที่ค้นพบทางถูกต้อง

ออกป่าหาวิเวก

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นได้ไปกราบลาพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เพื่อออกป่าเที่ยวหาวิเวกบำเพ็ญเพียร ให้ห่างไกลจากหมู่บ้านและผู้คนพลุกพล่าน เจริญรอยตามพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลาย ที่ดำเนินมาก่อน ในสมัยพุทธกาลพระอาจารย์เสาร์ได้ทราบความตั้งใจของพระอาจารย์มั่นศิษย์รักแล้ว

ก็มีความยินดีอนุญาตให้ออกธุดงค์กรรมฐานตามความปรารถนาพร้อมกับกำชับว่า ไปแล้วอย่าไปลับ ให้กลับมาหาสู่กันบ้าง มีความรู้ได้อะไรแปลกๆ ในภูมิธรรมก็จะได้ แลกเปลี่ยนสนทนาธรรมกัน เพื่อเป็นแนวทางก้าวหน้าของกันและกันเพราะพระธุดงค์ย่อมมุ่งปฏิบัติเพื่ออรรถธรรมทางใจโดยแท้ การเที่ยวแสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญเพียร

เพื่อความสงัดทางกายทางใจไม่พลุกพล่านวุ่นวายด้วยเรื่องต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ชอบแล้วท่านพระอาจารย์มั่นได้ออกเดินธุดงค์ไปตามลำพังอย่างโดดเดี่ยว เที่ยวไปตามป่าตามภูเขาในถิ่นจังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี้ หนองคาย เลย หล่มสักแล้วข้ามโขงไปท่าแขก เวียงจันทน์ หลวงพระบาง

ที่เต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพรชุกชุมด้วยสัตว์ร้าย โดยเฉพาะพวกเสือโคร่งชุกชุมมากเป็นพิเศษ ตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น ชอบกินคนแปลกอยู่อย่างที่เสือโคร่งในแดนลาวชอบอยู่กันเป็นฝูง เวลามันออกหากินในตอนกลางคืนจะส่งเสียงกระหึ่มร้องก้องสนั่นไปทั้งป่า ทำให้ป่าทั้งป่าเงียบงันราวกับต้องอาถรรพ์ เวลาเดินทางท่องเที่ยวธุดงค์

ท่านครองจีวรสีกรักแก่ บ่าข้างหนึ่งแบกกลด บ่าอีกข้างสะพายบาตรร กลดนี้เป็นมุ้งไปในตัวเสร็จ เมื่อรอนแรมไปจนค่ำลงก็จะเลือกเอาภูมิประเทศที่เหมาะสมเป็นที่ปักกลดพักผ่อน เลือกเอาที่ไม่ใช่ด่านสัตว์ซึ่งเป็นทางเดินหากินของสัตว์ป่า เพราะจะยังความแตกตื่นให้บรรดาสัตว์ป่าทั้งหลายหากินไม่สะดวกตามประสาของมัน

?

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.watpanonvivek.com/index.php/2013-12-10-21-32-04/2012-07-14-08-21-34/1279–m-m-s

. . . . . . .