ประสบการณ์โลกทิพย์ในการออกธุดงค์ของพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต (ตอนที่ ๓๐)

ประสบการณ์โลกทิพย์ในการออกธุดงค์ของพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต

(ตอนที่ ๓๐)

ปัญหานานา

ปัญหาที่คนนำมาถามนั้นมีแปลก ๆ และพิสดาร บางคนคุยว่า เคยถามปัญหาธรรมเอาจนพระมหาเถระเปรียญ 9 หงาย

หลังจนมุมมาแล้ว พระอาจารย์มั่นได้ตอบปัญหาธรรมเป็นที่น่าอัศจรรย์สร้างความพออกพอใจให้ทุกคนโดยทั่วหน้ากัน

บางคนแก่เปรียญเป็นจอมปราชญ์เจ้าตำราถือทิฏฐิมานะหวังจะตั้งปัญหาให้พระอาจารย์มั่นจนมุม ด้วยเห็นว่า

พระอาจารย์มั่นเป็นพระป่าพระบ้านนอกไม่รู้ภูมิรู้เหมือนตน

แต่ก็ถูกพระอาจารย์มั่นตอกเอาจนหน้าม้านไปเหงื่อไหลซิก ๆ เพราะนอกจากจะสามารถโต้ตอบปัญญาธรรม

ได้อย่างรวดเร็ว คล่องแคล่ว อาจหาญ ในธรรมจนแทบฟังไม่ทันแล้ว ท่านยังใช้เจโตปริยญาณพูดดักใจ

สามารถล่วงรู้ได้หมดว่าผู้ถามปัญหากำลังคิดอะไรอยู่และในอดีตเคยคิดอะไรบ้าง เคยทำอะไรมาบ้างในด้าน

ปฏิบัติธรรม?พอเจอคนจริงเข้าแบบนี้ คนถามปัญหาก็หมดสิ้นทิฏฐิมานะนั่งตัวสั่นขอขมาโทษท่านด้วยความ

ละอาย และเกรงกลัวบารมีธรรมของท่านแทบว่าจะเป็นลมสลบไปต่อหน้าท่านเสียให้ได้

?

ว่ากันเรื่องศีล

ปัญหาหนึ่งที่มีผู้ถามท่านเป็นปัญหาแปลกมีใจความว่า

“ได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์มั่นรักษาศีลข้อเดียว มิได้รักษาถึง 227 ข้อเหมือนพระทั้งหลายที่รักษากันใช่ไหม

ขอรับ”

“ใช่….อาตมารักษาศีลเพียงอันเดียว” พระอาจารย์มั่นตอบ

“ที่ท่านรักษาศีลเพียงอันเดียวคืออะไร ส่วนอีก 227 อันนั้นท่านพระอาจารย์ไม่ได้รักษาหรือ”

ผู้ตั้งปัญหาเรียนถาม

ท่านพระอาจารย์มั่นได้เมตตาตอบว่า “อาตมารักษาใจไม่ให้คิด พูด ทำ ในทางผิด อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่

พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ จะเป็นศีล 227 หรือมากกว่านั้นก็ตาม บรรดาเป็นข้อทรงบัญญัติห้าม อาตมาก็

เย็นใจว่าตนมิได้ทำผิดต่อพุทธบัญญัติ ส่วนท่านผู้ใดจะว่าอาตมารักษาศีล 227 หรือไม่นั้น สุดแต่ผู้นั้นจะคิด

จะพูดเอาตามความคิดของตน เฉพาะอาตมาได้รักษาใจอันเป็นประธานของกายวาจาอย่างเข้มงวดกวดขัน

ตลอดมานับแต่เริ่มอุปสมบท”

“การรักษาศีลต้องรักษาใจด้วยหรือขอรับ” ผู้ถามซัก

“ถ้าไม่รักษาใจจะรักษาอะไรถึงจะเป็นศีลเป็นธรรมที่ดีงามได้ นอกจากคนที่ตายแล้วเท่านั้นจะไม่ต้องรักษาใจ

อาตมามิใช่คนตายจึงต้องรักษาใจให้เป็นศีลเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา” พระอาจารย์มั่นตอบ

“กระผมได้ยินในตำราไว้ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อย เรียกว่าศีล จึงเข้าใจว่า การรักษาศีลไม่จำต้องรักษาใจ

ก็ได้ กระผมจึงได้เรียนถามไปอย่างนั้น” ผู้ถามว่า

“ที่ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยนั้นก็ถูก….” พระอาจารย์มั่นตอบ

“…..แต่ก่อนกายวาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้น ต้นเหตุเป็นมาจากอะไร ถ้าไม่เป็นมาจากใจผู้เป็นนายคอย

บังคับกายวาจาให้เป็นไปในทางที่ถูก เมื่อเป็นมาจากใจ ใจจะควรปฏิบัติอย่างไรต่อตัวเองบ้าง จึงจะเป็นผู้

ควบคุมกายวาจาให้เป็นศีลเป็นธรรมที่น่าอบอุ่นแก่ตนเอง และน่าเคารพเลื่อมใสแก่ผู้อื่นได้ ไม่เพียงแต่ศีลธรรม

ที่จำต้องอาศัยใจเป็นผู้คอยควบคุมรักษาเลย แม้กิจการอื่น ๆ ก็จำต้องอาศัยใจเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่โดยดี

การงานนั้น ๆ จึงจะเป็นที่เรียบร้อยไม่ผิดพลาด และทรงคุณภาพโดยสมบูรณ์ตามชนิดของมัน

การรักษาโรค เขายังค้นหาสมุฏฐานของมันว่าจะควรรักษาอย่างไรจึงจะหายได้ การรักษาศีลธรรมถ้าไม่มีใจ

เป็นตัวประธานพาให้เป็น ผลก็คือ ความเป็นผู้มีศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ ความเป็นผู้มีธรรมที่น่าสลด

สังเวช ธรรมพาอยู่ธรรมพาไปอย่างไม่มีจุดหมาย ธรรมบอธรรมบ้า ธรรมแตก ซึ่งล้วนเป็นจุดที่ศาสนาจะ

พลอยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วยอย่างแยกไม่ออก ไม่เป็นศีลธรรมอันน่าอบอุ่นแก่ผู้รักษา ไม่น่าเลื่อมใสแก่ผู้อื่น

ที่มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างเลย

?

อาตมาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก บวชแล้วอาจารย์พาเที่ยวอยู่ตามป่าตามเขา เรียนธรรมก็เรียนกับธรรมชาติ

ต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำลำธาร หินผาหน้าถ้ำ เรียนไปกับเสียงนกเสียงกา เสียงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ตามทัศนียภาพ

ที่มีอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง พิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้ตามความเป็นจริงของมัน

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมองดูทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นจริงเสมอเถิด

ความจริงของธรรมชาติ สิ่งทั้งปวงก็คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตนที่แท้จริง

เมื่ออาตมารู้แจ้งแทงตลอดความจริงสามประการนี้แล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นแทนความเขลาได้ประจักษ์แจ้งว่า

สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อาตมาไม่ค่อยจะได้เรียนในคัมภีร์ใบลานพอจะมีความรู้แตกฌานทางศีลธรรม

การตอบปัญหาของคุณโยมในวันนี้อาตมาจึงตอบไปตามนิสัยของอาตมาที่ได้ศึกษาธรรมเถื่อน ๆ

มาจากในป่าในดง อาตมารู้สึกจนปัญญาที่ไม่สามารถค้นหาธรรมที่ไพเราะเหมาะสมมาอธิบายให้คุณโยมฟัง

อย่างภูมิใจได้”

?
ขอบคุณขัอมูลจาก : http://www.watpanonvivek.com/index.php?option=com_content&view=article&id=3113:2011-08-02-14-28-15&catid=39:2010-03-02-03-51-18

. . . . . . .