การพิจารณากาย : หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท

การพิจารณากาย : หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท

พระธรรมเทศนา
ของ
พระครูสุทธิธรรมรังษี
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม
ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
เรื่อง การพิจารณากาย
แสดงไว้เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔

ลำดับต่อไปจะได้บรรยายธรรมะอันเป็นแนวทางปฏิบัติของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย
วันนี้บังเอิญฝนตก คนก็น้อย กัณฑ์เทศน์ก็ไม่ค่อยมี เสียงมันก็ไม่ค่อยขึ้น (หัวเราะ)

การแสดงธรรมเป็นสิ่งที่ยาก ไม่เหมือนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านรู้วาระ รู้จิตใจของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย
เพราะฉะนั้นการเทศน์ก็ยังเข้าไปสู่จิตใจของบุคคลผู้นั้นให้เห็นเหตุเห็นผล
ได้บรรลุธรรมวิเศษเกิดขึ้นในขณะที่ฟังธรรมก็มีจำนวนมากๆ เป็นเช่นนั้น
เพราะว่าเป็นสัพพัญญู รู้แจ้งของใจของมนุษย์ทั้งหลาย
อย่างบรรดาเราก็เหมือนกัน ฟังๆ ไปอย่างนั้น
ผู้เทศน์ก็ไม่สันทัด ผู้ฟังบางทีก็สันทัด ไม่สันทัดก็มี
ก็ว่าตามความจริงอย่างนั้น

การปฏิบัติ…ว่าแล้วก็ว่าซ้ำๆซากๆน่าเบื่อน่าหน่าย
การปฏิบัติหัวใจก็ต้องมีความเข้มแข็ง
ถ้าขาดความเข้มแข็ง ความอุตสาหะ ความพยายาม ความพากความเพียรอย่างนี้
เหมือนไฟที่มันอยู่ในศีรษะเราอย่างนี้
เพราะหัวใจอย่างนั้นไม่เห็นภัยไม่เห็นสิ่งที่ทุกข์
เดือดร้อนเหมือนอย่างไฟที่ติดในหัวเรานั้นเหมือนกัน
บางคนก็ทนอยู่อย่างนั้น ไม่รู้จักวิธีดับไฟที่ไหม้อยู่บนหัวเรา
ก็มีแต่วันที่จะตายจมลงไปอยู่ตลอดเวลาเพราะไม่มีอุบายที่จะแก้ไข อันนี้เป็นสิ่งที่ลำบาก

การแก้หัวใจที่ไม่สงบก็ต้องใช้ความพยายามแก้ไขดัดแปลงมากๆ
ไม่ใช่จะนิ่งเพ่งดูจำเพาะหัวใจอันนั้นอันเดียวอย่างนั้น
การเพ่งอย่างนั้นก็ใช้ได้เหมือนกันแต่สำหรับผู้ที่มีกำลัง
ถ้าผู้ที่ไม่มีกำลังแล้ว นีวรณธรรมก็เข้ามาทับ
หรือเรียกว่า อารมณ์ทั้งหลายเข้ามาชิงความดีของเราที่จะตั้งอยู่ไม่ได้
มันคอยให้ส่ายออกไปโน้มน้าวหาอารมณ์เข้ามาป้อนใจอยู่ตลอดเวลา
สมาธิก็ไม่สามารถจะตั้งได้

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันก็จะต้องดูเล่ห์ดูเหลี่ยมคูของใจเรา
ใครจะพูดขนาดไหนมันก็ไม่เข้าใจเรา เราต้องดูเอาเอง ดูที่หัวใจลงไป
ในขณะที่บำเพ็ญอย่างนั้นใจมันไม่สงบ ใจมันไปคิดวุ่นวายสิ่งใดอย่างนี้เราก็จะต้องหาวิธีแก้ไข
อย่างก็เคยพูดให้ฟังอยู่บ่อยๆแล้วว่า ต้องใช้การบริกรรม

เหมือนอย่างคนเราที่ตกลงไปกลางทะเลอย่างนี้
ไม่มีเรือ ไม่มีแพ ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นภาชนะ
ก็จำเป็นที่จะต้องหา มีหูมีตา มีอันใดที่จะต้องใช้
ก็จะต้องเอาพยายามหาสิ่งนั้นเพื่อป้องกันชีวิต ขี้เกียจก็ต้องเป็นอย่างนั้น
ทีนี้ท่อนไม้ ท่อนต้นกล้วยหรืออันใด ไม้ไผ่ ไม้อะไรอันใดอันหนึ่ง เพื่อเกาะยังชีวิต
ให้เป็นไป ไม่ให้ถึงแก่การจมลงไปในทะเล นี่เหมือนกับการที่เราภาวนานี่อย่างนี้เหมือนกัน
ถ้าใจมันไม่สงบ ใจมันวอกแวกอยู่ตลอดเวลา ใจไม่สงบ หรือเกิดการง่วงเหงาหาวนอน
หรือเกิดความขี้เกียจขี้คร้าน เกียจคร้านจนไม่อยากนึกไม่อยากคิดนี่..นี่มันเป็นอุปสรรคทั้งนั้น
อุปสรรคสำหรับการปฏิบัติฝ่ายของหัวใจ

หัวใจของผู้ปฏิบัติก็จำเป็นจะต้องเข้มแข็งต่อสู้ กำจัดสิ่งเหล่านี้ให้มันออกไปจากหัวใจเรา
เมื่อกำจัดออกไปได้อย่างนั้นก็เหมือนเราที่กำลังลอยคอไปอยู่ในทะเลเจอท่อนไม้
ได้อาศัยไปถึงฝั่งได้ก็ไม่ถึงแก่ความตาย อุปมาอุปไมยก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
ใจที่พะวักพะวนมีนิวรณธรรมเข้ามาครอบงำใจเราอยุ่ตลอดเวลา
ไม่เพียงถึงหนึ่งนาทีสองนาทีอย่างนี้มันก็เอาไปกินหมด ไม่มีความดีเกิดขึ้นกับใจเรา

นี่เพราะฉะนั้นอย่างเรือแพหรือท่อนไม้ท่อนซุงอันใดก็แล้วแต่
ที่เราเกาะชีวิตไปนั่นยังชีวิตเราไม่ตาย
ก็เหมือนกับที่เราอาศัย พุทโธ ธัมโม สังโฆ อันใดอันหนึ่ง
หรือความตายความไม่เที่ยง ความเจ็บความป่วยอันใด ท่องอรหังพุทโธ อิติปิโส ภควา
บทใดบทหนึ่งอย่างให้ลงไปถึงหัวใจ อย่างนั้น แล้วให้กอดแน่นอยู่อย่างนั้น
ไม่ให้ใจพะวักพะวนไปในที่ใดอย่างนี้ นี่เรียกว่าเป็น “อุบาย”
เป็นที่จะประคับประคองใจของเรานั้นไม่ให้มันเข้าไปสู่ ไปส่ายไปหาอารมณ์มาป้อนใจ

เมื่อภาวะของใจจดจ้องอยู่อย่างนั้นแล้ว มันก็จะเกิดสงบ
ก่อนที่มันจะเกิดสงบมันก็ต้องจัด กำจัดนิวรณ์ตัวนั้นเองออกไป
เมื่อนิวรณ์มันออกไปน้อยเข้า น้อยเข้า เมื่อเราเพียรพยายามว่าอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
ใจนั้นก็จดจ้องอยู่กับการบริกรรมตลอดเวลาต่อเป็นเรื่องกันไป ใจนั้นก็เริ่มสบาย
ใจนั้นก็นิวรณ์ก็ไม่ค่อยมีมา หรือมีมาก็ห่าง
ถ้ามันยังเห็นว่ามีห่างอยู่เราก็ต้องอย่าเพิ่งทิ้งการบริกรรมตัวนั้น
เทศน์ก็ไม่รู้จะเทศน์อย่างไร ก็ต้องเทศน์กันอย่างนี้เอง เทศน์เพื่อแนะนำพร่ำสอน
เพราฉะนั้นบางท่านบางคนก็ไม่ค่อยเข้าใจแต่เราเข้ามาในวัดอโศฯ (วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ)
ล้วนแต่บุคคลที่เคยฝึก เคยกระทำกับครูบาอาจารย์
ครูบาอาจารย์ที่ท่านเสียไปอย่างนี้ก็เคยสมาคมอยู่กับท่าน
เพราะฉะนั้นได้ยินสิ่งที่เคยเข้าอกเข้าใจน่ะแยะ
เต็มอกเต็มภูมิเต็มไปหมดจนล้นออกไปหาย หามาคืนไม่ได้ เรียกว่า ลืมของเก่า
เราจำเป็นจะไม่ต้องลืมของเก่า สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ใจของเราอันนี้ให้เกี่ยวเกาะให้แน่นแฟ้น

ใจของเราที่เกิดความสงบขึ้นได้อันนั้นไม่ว่าอันใดก็แล้วแต่
มันย่อมเป็นประโยชน์ที่จะตัดนิวรณธรรมของเรา

การที่เข้ามาปฏิบัติอย่างนี้ ก็ต้องการจะกำจัดนิวรณธรรมไม่ให้เข้ามา
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ส่วนของใจ ถีนนมิททะ อุทธัจจกุกกุจจะ ราคะ โทสะ โมหะ
มันฝังอยู่ในหัวใจเรา เหมือนหนามมาแทงอยู่ในอก อย่างนี้มันเจ็บแสบอยู่ทุกวัน
เราไม่พยายามถอนมันแล้วมันก็เป็นหนองเป็นไต
เป็นหนองแล้วก็เน่าเปื่อย ผลที่สุดก็ตาย

ใจเรานี่มันเป็นอย่างไรมันจึงไม่สงบ
เราก็จำเป็นจะต้องพยายามเอาให้มันจนเกิดความสงบได้ อย่าให้มันเสียที
นี่เรานักปฏิบัติต้องมีความเข้มแข็งสำหรับใจ
บางคนกายก็ไม่เข้มแข็งใจก็ยิ่งไม่เข้มแข็งใหญ่
นี่..บางคนกายไม่ให้แต่ใจเข้มแข็งก็มี
เป็นอย่างนี้

เพระฉะนั้นต้องอุตส่าห์อันธรรมะของพระพุทธเจ้า
ยกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
บำเพ็ญจะได้เป็นสัพพัญญูก็ต้องเอาอยู่ตั้งหกปี อย่างนี้เป็นต้น
ต้องใช้ความพยายามอดข้าวอดปลาทำสารพัด ทุกอย่าง
ทำจนเกือบล้มเกือบตายก็ยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษ นี่เป็นอย่างนั้น
จนกระทั่งมาได้หกปี นี่มาเห็นปฏิปทาการเดินหรืออานาปา
พิจารณาอานาปา มาใช้ปัญญาพินิจพิจารณาจึงได้รู้ความจริงเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติของเราก็เหมือนกันอย่างนั้น
อันใดที่มันจะแก้ใจให้มันขาดจากนิวรณ์แล้วใจนั้นก็ได้เป็นสมาธิ
นั่นแหล่ะตัวนั้นแหล่ะเป็นตัวอุบายสำคัญจะแก้ใจเราได้
ใจเราให้หยุดจากพะวักพะวน ใจไม่ให้นิวรณ์ มีนิวรณธรรมเข้ามาครอบงำได้
ใจอย่างนั้นจึงเรียกว่าใจควร ใจสมกับบาลีที่ยกว่าเป็น “อาตาปี” เพียรเพ่งแผดเผา
ใจชนิดนั้น นั่นใจอย่างนั้นใจที่สมควรแก่มรรคผลธรรมวิเศษของพระพุทธเจ้า

ถ้าใจเหลาะแหละ ใจโลเล ใจไม่แน่นอน หยิบอันนู้นก็ไม่เอา หยิบอันนี้ก็ไม่เอา
อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ดี เหลาะแหละโลเลอย่างนี้ใจไม่ตั้งอยู่ ใจอย่างนั้นใช้ไม่ได้
ใจเหลวไหล ใจอ่อนแอ ใจขี้เกียจ ใจขี้คร้าน ไม่ให้เกิดผลกับการปฏิบัติ

การปฏิบัติต้องใช้ใจเข้มแข็ง ใจเด็ดใจเดี่ยว จะเอาอันใดก็ต้องเอาอย่างนั้น
จนให้ใจนั้นทำไมทรมานมาก ยากนักเราก็ต้องทรมานด้วยการอย่างนั้น
ว่าอย่างนั้นให้มันอันเดียวอยู่อย่างนั้น(คือ การบริกรรม-เพิ่มเติมโดยผู้ถอดเสียง)
ดูสิว่าจะไปไหนใจนั้นน่ะ แล้วนิวรณ์มันจะอยู่ได้อย่างไร
ในเมื่อเราพยายามบริกรรมอยู่อย่างนั้น มันไม่หนีเราไป หนีไปไม่ได้
เพราะทนความเพียรไม่ได้เหมือนไฟเข้าไปเผาอยู่ในกองขยะ
ก่อขึ้นน้อยพอขยะมันติดแล้วลุกขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ในทีสุดกองใหญ่ๆก็ไหม้ลงไปจนหมด ..นี่เป็นอย่างนั้น

เหมือนใจเราก็เหมือนกัน ทีแรกก็มีการพะวักพะวน
การดิ้นรนกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่เป็นอันนั่ง ไม่เป็นอันที่จะสงบ
เรื่องนั้นเข้ามาเรื่องนี้เข้ามาสารพัด
อยู่ในวัดก็ไปหาเรื่องบ้าน หาเรื่องบ้านหาเรื่องค้าขาย
ลูกคนนั้นขายไม่ดี ลูกคนนี้ขายดี มีกำไรมาก มีกำไรน้อย เป็นทุกข์กับเขา
นี่..ใจตัวนี้แหล่ะ “ใจอกุศล” ใจบาป

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://muangput.com/webboard/index.php/topic,884.0.html?PHPSESSID=qumilbnabtq0v0emi63rilp5b2

. . . . . . .