ประวัติ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี

ประวัติ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
พระอาจารย์เสาร์ ฉายา กนฺตสีโล เกิด ณ วันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ปีระกา วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองซาง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากท่านเป็นพระวิปัสสนาธุระ รุ่นแรก ก่อนจะมีการบันทึกจดจำประวัติศาสตร์ของท่าน ได้โดยละเอียดถี่ถ้วน จึงทำให้ทราบเพียงชีวประวัติย่อเท่านั้น
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ภายหลังที่หลวงปู่เสาร์ ท่านสละเพศฆราวาสแล้ว ท่านอุปสมบทอยู่ที่วัดใต้จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นพระธรรมยุต ชื่อวัดศรีทอง มีพระครูชา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ และมี เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมาวาจารย์ ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปทางสมาธิวิปัสสนา และพอใจแนะนำคำสั่งสอนผู้อื่น ในทางนั้นด้วย จึงเป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงค์วัตร หนักในทางสมาธิ ชอบวิเวก และไม่ ติดถิ่นที่อยู่ และท่านได้รับความสงบใจ ในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก เพราะการปฏิบัติสมาธิเป็นชื่อแห่งความเพียร เป็นข้อปฏิบัติที่ดีปฏิบัติชอบ ซึ่งไม่มีข้ออื่นดียิ่งไปกว่านี้
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล มีความรู้ความเข้าใจขึ้นโดยลำดับแห่งองค์ภาวนา ต่อมาท่านมีความปรารภขึ้นมาว่า การที่ท่านปฏิบัติภาวนาอยู่นี้ ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ทางที่ดี ควรออกไป อยู่ป่าดง หาสถานที่สงบจากผู้คน จิตใจคงจะสงบลงกว่าเป็นแน่แท้ ดังนั้นท่านได้ออกธุดงค์มุ่งสู่ป่าทันทีในวันรุ่งขึ้น ความปรารถนาของท่านก็เพื่อภาวนา และพิจารณาสมาธิธรรม ถ้าแม้เป็นไปจริงดังคำตั้งใจแล้ว เมื่อกลับเข้าสู่วัด ท่านจะนำความรู้ที่เกิด จากจิตใจเหล่านั้นมาเผยแพร่ ฝึกศิษย์ที่หวังซึ่งความพ้นทุกข์ต่อไป ภายหลังจาก หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ไปอยู่ป่าดงฝึกจิตใจเจริญ ศีล สมาธิ ปัญญา จำพรรษาท่ามกลางสิงสาราสัตว์ ในหุบเขาถ้ำลึก เป็นเวลาอันสมควร ท่านจึงได้ออกมาเปิดสำนักปฏิบัติธรรมใน วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในสมัยก่อนนั้น มี พระสงฆ์และฆราวาสที่สนใจจริงจังไม่มากนัก ถึงกระนั้น ท่านก็มิได้ลดละพยายาม ท่านตั้งอกตั้งใจในการอบรม สั่งสอนผู้สนใจในธรรม ให้เกิดความรู้แจ้ง แก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อเป็นหลักยืนยันว่า การเจริญศีล สมาธิ ปัญญานี้ เป็นทางสงบ สามารถทำตนให้พ้นทุกข์ได้จริงดังคำพระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต แสดงที่วัดถ้ำกลองเพล เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ เรื่อง “ปฏิปทาของพระกรรมฐาน” ตอนหนึ่ง.. หลวงปู่เสาร์ เป็นพระบูรพาจารย์ ของพระกรรมฐานทั้งหลาย ในภาคอีสาน แต่ก่อน พระกรรมฐานไม่ได้มีมากมายเหมือนอย่างสมัยปัจจุบันนี้ เพราะว่า ไม่มีใครไปศึกษา และนำไปประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครหอบเอาความรู้จากพระไตรปิฎกมาสอนคน โดยมากสมัยก่อน เทศน์ไปตามหนังสือ อ่านหนังสือให้โยมฟัง พออ่านเสร็จ โยมก็สาธุ นึกว่าได้บุญแล้ว และก็พากันกลับบ้าน บางวัน เทศน์เรื่อง พระโพธิสัตว์ใช้ชาติ เช่น สัญชัย ท้าวก่ำกาดำ เรื่องมโหสถ ฯลฯ ให้เอาธรรมะเข้ามาสอนใจของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น หลวงปู่ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายนี้ ท่านเอาแต่ประพฤติปฏิบัติ รู้ธรรมแจ้ง มาสอนพวกเรา หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ท่านเจริญ พรหมวิหารอยู่เป็นนิจ ถ้าจะเรียก ให้สมกับ จริยวัตร ของท่านแล้ว จะกล่าวได้ว่า..ท่านบริสุทธิ์ด้วย กาย วาจา ใจ ล้นเปี่ยมด้วยคุณธรรม ท่านเจริญเดินตามทางที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ทุกประการ คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา นำคณะศรัทธาทั้งหลายให้ได้เจริญ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ได้รู้เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสตัณหา ที่เข้ามารบกวน รบเร้าจิตใจให้เตลิดไปต่างๆ เพราะท่านมีความเมตตาสูงสุดนี้ ท่านได้พยายามรวบรวมหนังสือไว้ ชื่อว่า จุตราลักษณ์

จตุราลักษณ์ เป็นหนังสือที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลได้แสดงแต่งไว้ สรุปได้ดังนี้
๑. ให้มนุษย์เราทุกคน รู้จักระลึกถึงคุณ พระพุทธเจ้า คือให้เจริญพุทธานุสติ
๒.ให้มนุษย์เราทุกคน เมื่อเกิดมาแล้ว เข้าใจตนว่า นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จงให้เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นอนุสติ
๓. ให้มนุษย์เราทุกคน จงรู้ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว จงรู้กฏของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ คือ การเกิด แก่ เจ็บตาย จึงให้รู้ถึงความไม่เที่ยง มีความทุกข์และไม่ใช่ตัวตนเราเขา ฉะนั้น จงเจริญ อสุภานุสติ
๔. ใกล้มนุษย์เราทุกคน จงพิจารณากองทุกข์ นับตั้งแต่เกิดมา จนวาระสุดท้าย คือ ความตายเพราะทุกคนหนีความตายไปไม่ได้ จงให้เจริญ มรณานุสติ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้พยายามเน้นให้ทุกคน เปิดใจมองดูตัวเราเองให้กว้างขวางออกไป และได้ปลูกฝังศรัทธาแห่งความเชื่อในเหตุผล ที่องค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเจริญมาแล้วจนสามารถสำเร็จผล หนทางแห่งความดีในที่สุดได้อย่างจริงแท้แน่นอน
ธรรมโอวาท
จากหนังสือ ธรรมวิสัชนา เรื่องแนวปฏิบัติของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ดังนี้
โดยหลักการที่ ท่านอาจารย์เสาร์ ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนา พุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียวคือ พุทโธ ซึ่ง พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ฌาน ๕ คือ การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตกจิตอยู่กับพุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจารณ์ หลังจากนี้ ปีติ และความสุข ก็เกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่งสว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปปนาจิต ถ้าจะเรียกโดยสมาธิ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ถ้าเรียกโดยฌานก็เรียก อัปปนาฌาน บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๕ จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้นเมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์ สอนกรรมฐานในสายนี้ จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณา กายคตาสติ เรียกว่า กายานุปัสสนาปฏิปทา โดยการพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นเห็นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐานและเมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้วในขั้นต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ได้ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อรู้จิตเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าตามที่พูดกันมาว่า สัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา ไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ย่อมรู้จักอำนาจของความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ ไม่มีอะไรอัตตา ทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐาน และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิบัติความรู้ไปสู่ พระไตรปิฎก คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ถ้าหากมี อนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่ามิใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ ภูมิแห่งวิปัสสนาเมื่อผู้ปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิตของตนเองให้มีความรู้ด้วยอุบายต่างๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า การเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เรา เขา ด้วยอุบาย ดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมาจิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นลำดับๆ ไป หลักการปฏิบัติของท่านอาจารย์ก็มีดังนี้

ปัจฉิมบท
นอกจากหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล จะเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ท่านยังมีความเคร่งครัดทางด้านพระวินัยอย่างมาก ลูกศิษย์ทุกคนสมัยนั้น ท่านจะถือเอาวัตรปฏิบัติวิปัสสนาเป็นวิชาเอก คือหมายถึงว่า เมื่อท่านได้อบรมแล้วแสดงพระสัทธรรมให้เป็นที่เข้าใจแล้วท่านจะส่งเสริมลูกศิษย์ทุกรูปให้ถือข้อธุดงควัตร แกออกจากหมู่มุ่งสู่ราวป่า มุ่งความแจ่มแจ้ง ในธรรมที่องค์พระบรมศาสดาทรงรับรองผล หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล พระบุพพาจารย์แห่งยุคได้อำลาละสังขารไปด้วยอาการสงบระงับอย่างสิ้นเชิง ท่านได้อบรมสั่งสอน ศิษย์ต่างก็ยอมรับว่า หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ปฏิบัติกิจเสร็จสิ้นที่วัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ คืนวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ คำนวณ อายุได้ ๖๒ พรรษา

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://muangput.com/webboard/index.php/topic,479.0.html

. . . . . . .