สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสโณ)
สมเด็จเกี่ยว

เกิด 11 มกราคม พ.ศ. 2471
มรณภาพ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556
อายุ 85
อุปสมบท 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492
พรรษา 64
วัด วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย
วุฒิการศึกษา ป.ธ.9 น.ธ.เอก
ตำแหน่ง
ทางคณะสงฆ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
อดีตประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
อดีตเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) (นามเดิม: เกี่ยว โชคชัย) (11 มกราคม พ.ศ. 2471 – 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556) เป็นพระสงฆ์มหานิกาย และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม[1][2][3][4]ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ. 2533 มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ ภาวนากิจวิธานปรีชา ญาโณทยวรางกูร วิบูลวิสุทธิจริยา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471 ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี[5] บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ เมื่อปี พ.ศ. 2492
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2508 เมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนามหาเถรสมาคม
เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกมีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก[6][7] มหาเถรสมาคม จึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ. 2547[8] ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน[1][2] การแต่งตั้งดังกล่าวทั้งสองครั้ง ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มลูกศิษย์ของพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) (หลวงตามหาบัว) นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายทองก้อน วงศ์สมุทร[3][9][10][11]
เนื้อหา [ซ่อน]
1 ประวัติครอบครัว และการศึกษา
2 สมณศักดิ์
3 งานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์
3.1 พ.ศ. 2494-2514
3.2 กรรมการมหาเถรสมาคม
3.3 งานพิเศษ
3.4 ภารกิจต่างประเทศ
3.5 ตำแหน่งรักษาการแทนสมเด็จพระพระสังฆราช และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
3.5.1 รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช
3.5.2 ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
3.5.3 ข้อวิจารณ์กรณีแต่งตั้งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
3.5.4 การปฏิบัติหน้าที่หลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549
4 ผลงานด้านหนังสือ
5 มรณภาพ
6 อ้างอิง
7 ดูเพิ่ม
8 แหล่งข้อมูลอื่น
ประวัติครอบครัว และการศึกษา[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมัยที่ยังเป็น พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9
เกี่ยว โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471 นับแบบเก่า นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2472 (ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง) [5] ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี แซ่โหย่ (ยี โชคชัย) ครอบครัวโชคชัยมีอาชีพทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันทายาทสกุลโชคชัยหรือแซ่โหย่เปลี่ยนนามสกุลนั้นเป็น โชคคณาพิทักษ์
เกี่ยว โชคชัย สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2483 ก่อนที่จะถึงกำหนดวันเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่า หากเด็กชายเกี่ยวหายจากป่วยไข้ ก็จะให้บวชเป็นเณร ภายหลังจากบนบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลบ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์[12]
ความตั้งใจเดิมของสามเณรเกี่ยว คือ การบวชแก้บนสัก 7 วัน แล้วก็จะลาสึกไปรับการศึกษาในฝ่ายโลก แต่เมื่อบวชแล้วได้เปลี่ยนใจ ไม่คิดจะสึกตามที่เคยตั้งใจไว้ โยมบิดามารดาจึงได้พาสามเณรเกี่ยวไปฝากกับหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย[13]

วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
ในเวลาต่อมา หลวงพ่อพริ้งได้นำไปฝากไว้กับอาจารย์เกตุ คณะ 5 ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่หลังจากนั้นเป็นเวลาไม่นาน กรุงเทพมหานครต้องประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพมหานครถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด หลวงพ่อพริ้งจึงได้รับตัวพาไปฝากท่านอาจารย์มหากลั่น ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา[14] เมื่อสงครามสงบ หลวงพ่อพริ้งได้พากลับไปที่วัดสระเกศอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในเวลานั้น ท่านอาจารย์เกตุ ได้ลาสิกขาบทไปแล้ว หลวงพ่อพริ้งจึงพาฝากไว้กับ พระครูปลัดเทียบ (ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนา เป็นพระธรรมเจดีย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ)[14]
ท่านได้ศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร[15] ต่อมา เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทโย) (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์[15] จนถึงปี พ.ศ. 2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค[16][17]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี[18] และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ[19]
สมณศักดิ์[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ สนทนากับสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ที่กรุงวาติกัน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2515
เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ โดยลำดับ ดังนี้
5 ธันวาคม พ.ศ. 2501 เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระเมธีสุทธิพงศ์[20]
5 ธันวาคม พ.ศ. 2505 เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิเมธี
5 ธันวาคม พ.ศ. 2507 เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์[21]
5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์[22]
5 ธันวาคม พ.ศ. 2516 เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์[23]
5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์[24][25][18]
งานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์[แก้]

พ.ศ. 2494-2514[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ภาพเมื่อเป็นพระราชาคณะที่ พระเทพคุณาภรณ์ ปี 2507:องค์กลางในรูป
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2494 โดยเป็นครูสอนปริยัติธรรม ต่อได้เป็นกรรมการตรวจ ธรรมสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2496 และเป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2497 ในปีเดียวกัน ได้เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฏก ฉบับ พ.ศ. 2500 ของคณะสงฆ์[26]
ในปี พ.ศ. 2500 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปีต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกบาลีธรรม และเป็นอาจารย์สอนพระสูตร และประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในปีพ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[26]
ในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม ในปี พ.ศ. 2507 ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 (เขตปกครองจังหวัด ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด)[26] ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[26]
ในปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการร่างหลักสูตร ร.ร.พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ[26]
กรรมการมหาเถรสมาคม[แก้]
ในปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ เป็นรูปที่ 3 ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี[27]

ภาพ:สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในพิธีทรงตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนใต้ ประจำปี พ.ศ. 2549
ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 (เขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, นครพนม, ยโสธร, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ) ในปี พ.ศ. 2528 ได้ เป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหนใหญ่หนตะวันออก และในปี พ.ศ. 2534 ได้เป็นประธานกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2540 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมหาเถรสมาคม และเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย
นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา และได้แสดงธรรมทางสถานีวิทยุ 919 ในรายการ “ของดีจากใบลาน” เป็นประจำ[28]
งานพิเศษ[แก้]
เป็นประธานในพิธีมอบสัญญาบัตรพัดยศ สมณศักดิ์ แก่พระครูสัญญาบัตร ที่ได้รับพระราชทานตั้ง และเลื่อนสมณศักดิ์
เป็นประธานในพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม ๓ ประโยค
เป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาบัตร แก่มหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทย ทั้ง ๒ แห่ง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ภารกิจต่างประเทศ[แก้]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2498 ได้ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ ณ สหภาพพม่า ในปี พ.ศ. 2505 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนาและเพื่อศาสนสัมพันธ์ที่เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2510 ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์ การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลาว ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2512 เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูต
ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ไปสังเกตการณ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2525 ได้รับตำแหน่งรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก[18][29]
ตำแหน่งรักษาการแทนสมเด็จพระพระสังฆราช และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[แก้]
รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช[แก้]

หนังสือ “ขอรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช” ที่ พศ 0006/3 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2547
ตามที่ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ประชวร และเสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้ทรงไม่สามารถปฏิบัติพระศาสนกิจได้สะดวก[6][7] ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ขอความเห็นจากคณะแพทย์และคณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร มีพระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เสนอที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2547 ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม มีมติอนุโมทนาสนองข้อเสนอดังกล่าว โดยให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นการชั่วคราว[30] และโดยที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ มีอายุถึง 96 ปี (ณ เวลานั้น) อีกทั้งยังอาพาธ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน จึงเห็นสมควรให้สมเด็จพระราชาคณะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ลำดับถัดไป ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โดยมีสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะอื่นอีก 5 รูป เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่[30] โดยที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยมีนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนาม[31] ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547[32] อย่างไรก็ตาม ในปลายปี พ.ศ. 2548 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ได้กล่าวหาว่า ลายมือเขียน “ทราบและเห็นชอบ” ไม่ได้เป็นของสมเด็จพระสังฆราช แต่เป็นของ พระเทพสารเวที เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[33]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2547 เช่น เป็นประธานในพิธีวันวิสาขบูชาโลก ในช่วง 30 พ.ค. ถึง 3 มิ.ย. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่คณะสงฆ์ในโลกทั้ง 3 นิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน ได้มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกันในสถานที่เดียวกัน[34]
ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ขณะทำหน้าที่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (สังเกตร่ม)
ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2547 เพื่อให้มีคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2547[35] มหาเถรสมาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ ซึ่งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด ทั้งจากฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำหน้าที่ประธาน[3]
นอกจาก สมเด็จพระพุฒาจารย์แล้ว ยังมีสมเด็จพระราชาคณะอีก 6 รูป ในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีดังต่อไปนี้
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร (มหานิกาย, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2487, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยเป็นพระผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองจากสมเด็จพระพุฒาจารย์) [4][36]
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญโญ ป.ธ. 9)เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ (มหานิกาย, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2488, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2538) [37]
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม (มหานิกาย, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2471) [38]
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตจาโร) เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม(ธรรมยุต, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2483, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2543) [39]
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุต, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2480, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2544) [40]
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2480, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2546) [41][42]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2549 เช่น เป็นประธานในพิธีวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยมีผู้นำศาสนาพุทธจาก 41 ประเทศเข้าร่วม และกล่าวเปิดประชุมโดยการประกาศให้ผู้นำศาสนาพุทธทั่วโลกร่วมกันยกย่ององค์พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงเป็นองค์พุทธมามกะประเสริฐยิ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมแนะให้ใช้หลักแห่งพุทธะดับความร้อนรุ่มของโลก[43]
ข้อวิจารณ์กรณีแต่งตั้งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[แก้]
นายสนธิ ลิ้มทองกุล และหลวงตามหาบัว ได้กล่าวว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ ไม่ได้ทรงพระประชวร แต่เพราะทรงเจริญพระชนมายุมากแล้วเท่านั้น จริงๆ แล้ว ทรงแจ่มใส ปฏิบัติพระศาสนกิจได้ การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจึงมิชอบ[9][3] หลวงตามหาบัวยังได้กล่าวหาว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นมหาโจรด้วย และทำอะไรไม่ได้ดีไว้หลายอย่าง[10] ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 หลวงตามหาบัวจึงได้มอบหมายให้ ประธานศิษย์ นายทองก้อน วงศ์สมุทร ถวายฎีกาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานบิณฑบาตถอดสมณศักดิ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ฐานขัดพระธรรมวินัย ดำเนินการประชุมมหาเถรสมาคมโดยไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ และร่วมมือกับนายวิษณุ เครืองาม ทำลายหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี ตลอดจนศีลธรรมอันดี[11][44] ในเวลาต่อมา หลวงตามหาบัวได้นำคณะสงฆ์และฆราวาสนับหมื่น ไปชุมนุมใหญ่ต้านสมเด็จพระพุฒาจารย์[45] ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ออกมากล่าวว่า “กรณีหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ถวายฎีกาเป็นการปกป้องสถาบันศาสนา และสถาบันกษัตริย์ไม่ให้อ่อนแอ”[46] อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 หลวงตามหาบัวได้ออกคำสั่งให้นายทองก้อนออกจากวัด และห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใด ๆ ของวัดป่าบ้านตาดอีกต่อไป เนื่องจากประพฤติไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง เกี่ยวกับการบริหารสถานีวิทยุเสียงธรรมชุมชน จึงทำให้แนวร่วมต่อต้านสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้อ่อนแอลงระยะหนึ่ง[47]
ในทางตรงข้าม คอลัมนิสต์แมงเม่า แห่ง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ออกมากล่าวว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอย่างถูกต้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย[48] และผู้สนับสนุนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้มีการรวมตัวกันเพื่อแสดงความเคารพและความสนับสนุนเป็นจำนวนมาก[4]
การปฏิบัติหน้าที่หลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[แก้]
หลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ได้มีผู้ปลอมแปลงร่างพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ยกเลิกคณะผู้แทนปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเดิม และตั้งคณะผู้แทนปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชใหม่ โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์เป็นประธาน และสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นที่ปรึกษา[49] ในวันต่อมา คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครส่งพระบัญชาปลอมมาให้ดู[50] ส่วนเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชยืนยันว่าตนไม่ทราบว่าผู้ใดทำเอกสารปลอมแต่อย่างใด คณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหารได้ให้ผู้แทนแจ้งความร้องทุกข์แก่พนักงานสอบสวน เพื่อหาผู้กระทำการปลอมพระบัญชา[51]
ในช่วงเวลาเดียวกัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กว่า 30 คน นำโดยนายไพศาล พืชมงคล ได้เตรียมยื่นหนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและตราเป็น พ.ร.บ. โดยเสนอให้ นับอาวุโสของสมเด็จและพระราชาคณะโดยพรรษา (แทนการนับอาวุโสตามสมณศักดิ์แต่เดิม) ซึ่งจะทำให้พระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นพระฝ่ายธรรมยุตินิกาย[52][53] พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2535 (ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในเวลานั้น) กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ต้องมีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุด โดยดูจากการที่พระสงฆ์รูปนั้น ได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ (คือมีการจารึกชื่อและราชทินนามลงบนแผ่นทองคำแท้) ก่อนพระสงฆ์รูปอื่น ๆ[4] ในเวลาเดียวกัน ได้มีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเปลี่ยนให้ พระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็น พระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ โดยไม่มีข้อจำกัด ในเรื่องของความอาวุโสทางพรรษาหรือสมณศักดิ์[54]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตามปกติในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 และต้นปี พ.ศ. 2550 เช่น เป็นประธานสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2550 (ครั้งหลังสุดที่เคยมีการชำระพระไตรปิฎก คือ เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งมหามงคลดิถีที่มีพระชนมพรรษาจะบรรจบครบ 5 รอบนักษัตร ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530) [55]
ผลงานด้านหนังสือ[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีผลงานด้านการเขียนที่เป็นหนังสือดังหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี (พิมพ์ ธ.ค. พ.ศ. 2540), ทศพิธราชธรรม (พิมพ์ ธ.ค. พ.ศ. 2541), วันวิสาขบูชา (พิมพ์ พ.ศ. 2542) [56][57], การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) , โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน, และ คุณสมบัติ 5 ประการ[18]
มรณภาพ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนเกียรติยศจากโกศไม้สิบสอง เป็นโกศมณฑป
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มรณภาพด้วยภาวะไตวายเรื้อรังและติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 08:41 นาฬิกา[58][59]
วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พร้อมด้วยเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ไตรครอง โกศไม้สิบสอง ฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 7 คืน การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และทรงเชิญพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และของส่วนพระองค์วางที่หน้าโกศศพ ณ ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร[60]
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)[61]
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนชั้นเกียรติยศจากโกศไม้สิบสอง เป็นพระราชทานโกศมณฑป ตั้งประดับเกียรติยศศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)[62]
วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)[63]
วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)[64]
วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร[65][66]
อ้างอิง[แก้]

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. ชีวิตและความคิด สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2557. หน้า 268 หน้า. ภาพประกอบ. ISBN 978-616-7583-02-0
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลคลื่นลม. กรุงเทพมหานคร : ผลิธัมม์, 2557. หน้า 300 หน้า. ภาพประกอบ. ISBN 978-616-7053-32-5
↑ Jump up to: 1.0 1.1 เดลินิวส์ วงการศาสนาปีลิง มีแต่สีสันและความเร้าใจ, 30 ธันวาคม 2547
↑ Jump up to: 2.0 2.1 มติชน, ตั้ง ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช 15 ม.ค. 2547
↑ Jump up to: 3.0 3.1 3.2 3.3 ผู้จัดการออนไลน์, สำนักนายกฯแถลง “สมเด็จพระญาณสังวรฯ” ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชแต่เพียงพระองค์เดียว, 3 พฤศจิกายน 2548
↑ Jump up to: 4.0 4.1 4.2 4.3 The Nation, Special to The Nation: What is happening to Buddhism in Thailand is completely political and unBuddhist, 9 November 2006
↑ Jump up to: 5.0 5.1 สยามรัฐ, 11 มกรา…มุทิตาสักการะ…79 ปีสมเด็จเกี่ยวผู้เปี่ยมเมตตา, 11 มกราคม 2550
↑ Jump up to: 6.0 6.1 ข่าวสด, พระหนุนแต่งตั้งผู้ทำการแทนสมเด็จพระสังฆราช , 20 ม.ค.2547
↑ Jump up to: 7.0 7.1 ข่าวสด, พระหนุนแต่งตั้งผู้ทำการแทนสมเด็จพระสังฆราช, 20 ม.ค.2547
Jump up ↑ ไทยรัฐ, เปิดลำดับอาวุโสพระเถระชั้นผู้ใช้ ต่อจาก “สมเด็จเกี่ยว”, 11 สิงหาคม 2556
↑ Jump up to: 9.0 9.1 The Nation, Sondhi: Wissanu is a liar, 26 November 2005
↑ Jump up to: 10.0 10.1 ผู้จัดการ Online, “หลวงตาบัว” เจิมยกแรก ซัด “สมเด็จเกี่ยว” เป็นมหาโจร!, 4 มีนาคม 2548
↑ Jump up to: 11.0 11.1 ผู้จัดการรายวัน, ถวายฎีกาถอดสมเด็จเกี่ยว, 4 มีนาคม 2548
Jump up ↑ ตามชีวประวัติในเว็บไซต์ของวัดสระเกศฯ ถ้าตามชีวประวัติที่ทางมหาวิทยาลัยราขภัฏสุราษฎร์ธานีได้ทำวิจัย เกี่ยว โชคชัย ได้ บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดภูเขาทองตอนอายุ 12 ปี ถ้าตามชีวประวัติในเว็บไซต์ของธรรมะไทย เกี่ยว โชคชัย ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (อายุ 18 ปี)
Jump up ↑ ชีวประวัติในเว็บไซต์ของธรรมะไทย ระบุว่า โยมบิดา เป็นผู้พาสามเณรเกี่ยวไปฝากกับหลวงพ่อพริ้ง ส่วนชีวประวัติที่ทางมหาวิทยาลัยราขภัฏสุราษฎร์ธานีได้ทำวิจัย ระบุว่า โยมมารดาเป็นผู้พาสามเณรเกี่ยวไปฝาก
↑ Jump up to: 14.0 14.1 เสรีชัย, วัดไทยจัด 50 วัน ‘สมเด็จเกี่ยว’ ให้สมาคมปักษ์ใต้เป็นแม่งาน, 13 กันยายน 2556
↑ Jump up to: 15.0 15.1 ไทยรัฐ, ความตาย (1), 28 สิงหาคม 2556
Jump up ↑ ธรรมะไทย, วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
Jump up ↑ มติชน, ตั้ง ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช, 15 ม.ค.2547
↑ Jump up to: 18.0 18.1 18.2 18.3 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราขภัฏสุราษฎร์ธานี, สมเด็จพระพุฒาจารย์
Jump up ↑ คม-ชัด-ลึก, มรภ.ชัยภูมิ ถวายปริญญาสมเด็จฯเกี่ยว, 22 มีนาคม พ.ศ. 2550
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระมหาเกี่ยว 9 ประโยค เป็น พระเมธีสุทธิพงศ์ เล่ม 75, ตอนที่ 109, 23 ธันวาคม 2501, หน้า 3142
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระราชวิสุทธิเมธี เป็น พระเทพคุณาภรณ์ เล่ม 81, ตอนที่ 118, 17 ธันวาคม 2507, ฉบับพิเศษ หน้า 1 – 2
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระเทพคุณาภรณ์ เป็น พระธรรมคุณาภรณ์ เล่ม 88, ตอนที่ 151, 31 ธันวาคม 2514, ฉบับพิเศษ หน้า 2
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ พระธรรมคุณาภรณ์ เป็น พระพรหมคุณาภรณ์ เล่ม 90, ตอนที่ 177, 28 ธันวาคม 2516, ฉบับพิเศษ หน้า 15 – 19
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ พระพรหมคุณาภรณ์ เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เล่ม 108, ตอนที่ 98, 1 มิถุนายน 2534, ฉบับพิเศษ หน้า 1 – 4
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ พระพรหมคุณาภรณ์ เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เล่ม 107, ตอนที่ 242, 5 ธันวาคม 2533, ฉบับพิเศษ หน้า 1 – 2
↑ Jump up to: 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 ข่าวสด, อาลัยปูชนียภิกษุ สมเด็จพระพุฒาจารย์, วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8298
Jump up ↑ เสียงใต้รายวัน, ประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ “เจ้าคุณเสนาะ” รูปที่4 ขึ้นรองสมเด็จฯ อายุน้อยที่สุด, 4 มี.ค. 2549
Jump up ↑ จริยธรรม, สมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก, 10 สิงหาคม 2556
Jump up ↑ ฐานข้อมูล บุคคลสำคัญ ปราชญ์ชาวบ้าน แหล่งเก็บข้อมูล สำนักวิทยบริการราชภัฏสุราษฎร์ธานี, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ร..9), Monday April 09 2001
↑ Jump up to: 30.0 30.1 มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย, ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 3ง, 14 มกราคม พ.ศ. 2547
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๓ง, ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗, หน้า ๒๘
Jump up ↑ ผู้จัดการออนไลน์ เปิดหลักฐานจับโกหก แถลงการณ์สำนักนายกฯ แอบอ้างสมเด็จพระสังฆราช, 4 พฤศจิกายน 2548
Jump up ↑ คม-ชัด-ลึก, พุทธศาสนา 3 นิกาย ร่วมจัดงานวันวิสาขบูชาโลก, 29 มีนาคม พ.ศ. 2550
Jump up ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 79ง, 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
Jump up ↑ ข่าวสด, ประวัติและปฏิปทา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร), คอลัมน์ มงคลข่าวสด, 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
Jump up ↑ วัดปากน้ำ, ประวัติย่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญมหาเถร ป.ธ. 9)
Jump up ↑ MCOT, ชีวประวัติและผลงาน “สมเด็จเกี่ยว”ผู้แทน”พระสังฆราช-เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ, 10 สิงหาคม 2556
Jump up ↑ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ประวัติ (โดยละเอียด) สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
Jump up ↑ วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (วัดเกาะ เยาวราช), ประวัติโดยสังเขป สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
Jump up ↑ มติชนรายวัน, 7 รายนามคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ “สมเด็จพระสังฆราช”
Jump up ↑ วัดไทย ลาสเวกัส, รายนามคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ชุดปัจจุบัน พ.ศ. 2549
Jump up ↑ ผู้จัดการออนไลน์ 18, เปิดวิสาขบูชาโลก “สมเด็จเกี่ยว” แนะใช้พุทธศาสนาดับความร้อนรุ่มของโลก, 18 พฤษภาคม 2548
Jump up ↑ คม-ชัด-ลึก, ฎีกา “ทองก้อน : ทองขาว” เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาจริงหรือ ?, 19 เมษายน พ.ศ. 2550
Jump up ↑ ผู้จัดการออนไลน์, คนนับหมื่นชุมนุมใหญ่ ต้านสมเด็จเกี่ยว-วิษณุ, 5 มีนาคม 2548
Jump up ↑ ผู้จัดการออนไลน์, สนธิ ชี้ หลวงตามหาบัว ถวายฎีกาเพื่อปกป้องศาสนา, 5 มีนาคม 2548
Jump up ↑ คม-ชัด-ลึก, หลวงตามหาบัวอัปเปหิลูกศิษย์คนดังออกจากวัด, 11 สิงหาคม พ.ศ. 2549
Jump up ↑ แมงเม่า, คอลัมน์นิสต์ กระจกบานเล็ก : รำคาญ, เดลินิวส์, 8 มีนาคม 2548
Jump up ↑ ไทยรัฐ, ‘สังฆราช’ มีบัญชา เปลี่ยนปธ. คณะผู้ปฏิบัติฯแทน, 7 พฤศจิกายน 2549
Jump up ↑ ไทยรัฐ, ปธ.ปฏิบัติสังฆราช ยังคงเดิม ‘สมเด็จพุฒาจารย์’, 8 พฤศจิกายน 2549
Jump up ↑ คม-ชัด-ลึก, ร่างพระบัญชาพ่นพิษขู่บึ้มวัดบวรฯ, 9 พฤศจิกายนพ.ศ. 2549
Jump up ↑ คม-ชัด-ลึก, ยึดพรรษา-ชงปลดสมเด็จกี่ยว, 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
Jump up ↑ คม-ชัด-ลึก, สมเด็จวัดชนะฯไม่รู้จะปลดสมเด็จเกี่ยว ชี้เอาจริงไม่ต้องผ่านมส., 7 พฤศจิกายนพ.ศ. 2549
Jump up ↑ ผู้จัดการออนไลน์, คอลัมน์เซี่ยงเส้าหลง, [เรื่องฉาวใกล้ตัวนายกฯ “กัญจนา สปินด์เลอร์” โดนแฉพฤติกรรม “ไม่เป็นหญิงไทย” !!], 18 ตุลาคม 2549
Jump up ↑ ไทยรัฐ, ชำระพระไตรปิฎกถวาย “ในหลวง”, 30 มกราคม พ.ศ. 2550
Jump up ↑ บทความที่น่าสนใจ – หนังสือธรรมมะ
Jump up ↑ ห้องสมุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ELIB Gateway, เลขรหัส 1000007162
Jump up ↑ “สมเด็จเกี่ยวฯ มรณภาพ เหตุติดเชื้อในกระแสเลือด”. ผู้จัดการ. 2556-08-10. สืบค้นเมื่อ 2556-08-10.
Jump up ↑ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ มรณภาพ-ติดเชื้อในเลือด”. ไทยรัฐ. 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557.
Jump up ↑ ช่อง 7,ข่าวพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556
Jump up ↑ ช่อง 7,ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556
Jump up ↑ ผู้จัดการ,ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนชั้นเกียรติยศจากโกศไม้สิบสอง เป็นพระราชทานโกศมณฑป ตั้งประดับเกียรติยศศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557
Jump up ↑ ช่อง 7,ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556
Jump up ↑ ช่อง 7,ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
Jump up ↑ “ยิ่งใหญ่พระราชทานเพลิงศพ ‘สมเด็จเกี่ยว’ ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกร่วมพิธี”. ไทยรัฐ. 7 มีนาคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557.
Jump up ↑ ช่อง 7, ข่าวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557
ก่อนหน้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ถัดไป

ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
(20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ถึง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556) สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)
เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก มหานิกาย
พระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ)
พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร) ป.ธ.3
เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
(15 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 ถึง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556) พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร)

ดูเพิ่ม[แก้]

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
พุทธศาสนาในประเทศไทย
มหานิกาย
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

รศ.ดร.สุวิทย์ รุ่งวิสัย, ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา
The Nation, Monastic dispute turning unholy, 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
Mettanando Bhikkhu, Bangkok Post, Monastic feud could lead to a schism, 5 มีนาคม พ.ศ. 2548
ผู้จัดการออนไลน์, “ทองก้อน” แจงเชิญ “สนธิ” ขึ้นเวทีชุมนุมศิษย์ ย้ำจุดยืนปกป้องพระราชอำนาจ, 6 พฤศจิกายน 2548
พระพิพิธธรรมสุนทร, คม-ชัด-ลึก, 23 มกราคม 2547
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), “พระไม่รู้ตัวเองว่าตัวเองเป็นพระ แล้วจะเป็นอย่างไร”, โอวาท เนื่องในพิธีปิดอบรมหลักสูตรบริหารกิจการคณะสงฆ์, 25 มีนาคม 2548
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), สัมโมทนียกถา เนื่องในโอกาสทำบุญทำเนียบรัฐบาล, 24 พ.ย.2547
คม ชัด ลึก, พลิกปูมการสถาปนา… สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน, 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
ข่าวสด, ความฉลาด-พยายาม-ระวัง-เสียสละ 4 พรมงคลปีใหม่ “สมเด็จเกี่ยว”, 11 มกราคม 2550
หมวดหมู่: CS1 errors: datesสมเด็จพระราชาคณะเจ้าอาวาสเจ้าคณะใหญ่ภิกษุชาวไทยพระภิกษุในนิกายเถรวาท (มหานิกาย)ชาวไทยเชื้อสายจีนบุคคลจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเปรียญธรรม 9 ประโยคอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมบุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2471บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2556

ขอบคุณขัอมูลจาก : http://th.wikipedia.org

. . . . . . .