เกณฑ์วินิจฉัย กรรมดี-กรรมชั่ว พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว
ก) ปัญหาเกี่ยวกับความดี-ความชั่ว

กรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความดีและความชั่วโดยตรง เมื่อพูดถึงกรรม จึงควรพูดถึงเรื่องความดีและความชั่วไว้ด้วย เพื่อช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น

เรื่องความดีและความชั่ว มักมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายและหลักเกณฑ์ที่จะวินิจฉัย เช่นว่า อะไรและอย่างไร จึงจะเรียกว่าดี อะไรและอย่างไร จึงจะเรียกว่าชั่ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเช่นนี้มีมากเฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น ส่วนในทางธรรม ที่ใช้คำบัญญัติจากภาษาบาลี ความหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้นับได้ว่าชัดเจน ดังจะได้กล่าวต่อไป

คำว่า “ดี” และ “ชั่ว” ในภาษาไทย มีความหมายกว้างขวางมาก โดยเฉพาะคำว่าดี มีความหมายกว้างยิ่งกว่าคำว่าชั่ว คนประพฤติดีมีศีลธรรม ก็เรียกว่าคนดี อาหารอร่อยถูกใจผู้ที่กิน ก็อาจพูดว่า อาหารมื้อนี้ดี หรืออาหารร้านนี้ดี เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพหรือทำงานเรียบร้อย คนก็เรียกว่าเครื่องยนต์ดี ไม้ค้อนที่ใช้ได้สำเร็จประโยชน์สมประสงค์ คนก็ว่าค้อนนี้ดี ภาพยนตร์ที่สนุกสนานถูกใจ คนที่ชอบก็ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดี ภาพเขียนสวยงาม คนก็ว่าภาพนี้ดี หรือถ้าภาพนั้นอาจขายได้ราคาสูง คนก็ว่าภาพนั้นดีเช่นเดียวกัน โรงเรียนที่บริหารงานและมีการสอนได้ผล นักเรียนเก่ง ก็เรียกกันว่าโรงเรียนดี โต๊ะตัวเดียวกัน คนสามคนบอกว่าดี แต่ความหมายที่ว่าดีนั้นอาจไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งว่าดีเพราะสวยงามถูกใจเขา อีกคนหนึ่งว่าดีเพราะเหมาะแก่การใช้งานของเขา อีกคนหนึ่งว่าดีเพราะเขาจะขายได้กำไรมาก

ในทำนองเดียวกัน ของที่คนหนึ่งว่าดี อีกหลายคนอาจบอกว่าไม่ดี ของบางอย่างมองในแง่หนึ่งว่าดี มองในแง่อื่นอาจว่าไม่ดี ความประพฤติหรือการแสดงออกบางอย่าง ในถิ่นหนึ่งหรือสังคมหนึ่งว่าดี อีกถิ่นหนึ่งหรืออีกสังคมหนึ่งว่าไม่ดี ดังนี้เป็นต้น หาที่ยุติไม่ได้ หรืออย่างน้อยไม่ชัดเจน อาจต้องจำแนกเป็นดีทางจริยธรรม ดีในแง่สุนทรียภาพ ดีในแง่เศรษฐกิจ เป็นต้น
เหตุที่มีความยุ่งยากสับสนเช่นนี้ ก็เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า และคำว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” ในภาษาไทย ใช้กับเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าได้ทั่วไปหมด ความหมายจึงกว้างขวางและผันแปรได้มากเกินไป
เพื่อตัดปัญหาเกี่ยวกับความยุ่งยากสับสนนี้ จึงจะไม่ใช้คำว่าดี ไม่ดี หรือชั่ว ในภาษาไทย และเป็นอันไม่ต้องพิจารณาปัญหา เกี่ยวกับคุณค่าด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
ในการศึกษาเรื่องความดีความชั่วที่เกี่ยวกับกรรมนี้ มีข้อควรทราบดังนี้

ก.ความดีความชั่ว ณ ที่นี้ เป็นการศึกษาในแง่ของกรรมนิยาม และมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “กุศล” และ “อกุศล” ตามลำดับ คำทั้งสองคำนี้มีความหมายและหลักเกณฑ์วินิจฉัยที่นับได้ว่าชัดเจน

ข.การศึกษาเรื่องกุศลและอกุศลนั้น มองในแง่จริยธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของกรรม-นิยาม จึงเป็นการศึกษาในแง่สภาวะ หาใช่เป็นการศึกษาในแง่คุณค่าอย่างที่มักเข้าใจกันไม่ การศึกษาในแง่คุณค่าเป็นเรื่องในระดับสมมตินิยามหรือสังคมบัญญัติ ซึ่งมีขอบเขตที่แยกจากกรรมนิยามได้ชัดเจน

ค.ความเป็นไปของกรรมนิยาม ย่อมสัมพันธ์กับนิยามอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะที่พึงใส่ใจพิเศษ คือ ในด้านภายในบุคคล กรรมนิยาม อิงอยู่กับจิตนิยาม ในด้านภายนอก กรรมนิยามสัมพันธ์กับสมมตินิยามหรือสังคมบัญญัติ ข้อที่พึงเน้นก็คือ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยาม กับสมมตินิยาม จะต้องแยกขอบเขตระหว่างกันให้ชัด และจุดเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นทั้งที่แยก และที่สัมพันธ์ระหว่างขอบเขตทั้งสองนั้น ก็มีอยู่

ข) ความหมายของกุศลและอกุศล
กุศล และอกุศล แปลกันโดยทั่วไปว่าดี และชั่วหรือไม่ดี ก็จริง แต่แท้จริงแล้วหาตรงกันทีเดียวไม่ สภาวะบางอย่างเป็นกุศล แต่อาจจะไม่เรียกว่าดีในภาษาไทย สภาวะบางอย่างอาจเป็นอกุศล แต่ในภาษาไทยก็ไม่เรียกว่าชั่ว ดังจะเห็นต่อไป

กุศล และอกุศล เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจ และมีผลต่อจิตใจก่อน แล้วจึงมีผลต่อบุคลิกภาพ และแสดงผลนั้นออกมาภายนอก ความหมายของกุศลและอกุศลจึงเพ่งไปที่พื้นฐาน คือเนื้อหาสาระและความเป็นไปภายในจิตใจเป็นหลัก

“กุศล” แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อ หรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงาม เป็นบุญ คล่องแคล่ว ตัดโรคหรือตัดสิ่ง ชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ

ส่วน “อกุศล” ก็แปลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือ ตรงข้ามกับกุศล เช่นว่า ไม่ฉลาด ไม่สบาย เป็นต้น

ขอขอบคุณ http://www.khaosod.co.th/

. . . . . . .