เรียนศาสตร์ทางโลก…เริ่มศาสตร์ทางธรรม–ครูบาอริยชาติตอนที่ 2

1479540_10201131606040787_2138090438_n

เด็กชายเก่งเริ่มเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดชัยชนะ ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน (บ้านปิงน้อย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดของครูบาอริยชาติ เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับอาณาเขตของจังหวัดลำพูนเพียงชั่วสะพานกั้น จึงสามารถไปมาระหว่างกันได้สะดวก)

ด้วยความขยันเอาใจใส่ประกอบกับสติปัญญาที่ฉลาดเฉลียว ทำให้เด็กชายเก่งสอบได้เป็นที่ ๑ ของชั้นมาโดยตลอด กระทั่งแม้เมื่อเรียนจบชั้น ป.๖ และเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนสารภีพิทยาคม ผลการเรียนของเด็กชายเก่งก็ยังคงโดดเด่น ประกอบกับความโอบอ้อมมีน้ำใจอันเป็นอุปนิสัยส่วนตัว ก็ทำให้เขาเป็นที่รักของครูและเพื่อนพ้องเสมอมา

การตักบาตรเข้าวัดมาตั้งแต่ยังเล็กทำให้เด็กชายเก่งมีความคุ้นเคยกับวัดเป็นอย่างดี ประกอบกับขณะอายุได้ ๑๒ ปี ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่าง ป.๖ และ ม.๑ เด็กชายมักติดตามพี่ชายซึ่งเป็นขโยมวัด (เด็กวัด) ไปที่วัดชัยชนะ จังหวัดลำพูนอยู่เสมอ ซึ่งที่วัดชัยชนะแห่งนี้เอง ที่ทำให้เด็กชายเก่งมีโอกาสได้กราบ “ครู” คนสำคัญ และเป็นครูในทางธรรมท่านแรก นั่นคือ ครูบาจันทร์ติ๊บ ญาณวิลาโส เจ้าอาวาสวัดชัยชนะในขณะนั้น

ครูบาจันทร์ติ๊บ นับเป็นพระสงฆ์ผู้เรืองวิทยาคุณอย่างยิ่งผู้หนึ่งในยุคนั้น เนื่องจากท่านเป็นสหธรรมิกกับ “ครูบาชุ่ม โพธิโก” อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (วัดวังมุย) และครูบาชุ่มผู้นี้ นอกจากจะเป็นผู้ทรงภูมิธรรมสูงส่งแล้ว ท่านยังได้รับความศรัทธานับถือจากญาติโยมในยุคนั้น ว่าเป็นพระสงฆ์ผู้เจริญด้วยศีลาจารวัตร อีกทั้งยังได้รับการยกย่องในฐานะเกจิผู้เข้มขลังด้วยสรรพวิชาสารพัดแขนง จากการที่ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ผู้เลิศในศาสตร์แห่งวิทยาคุณมากมายหลายท่านนั่นเอง

ด้วยหัวใจของความเป็นครู บวกกับเจตนาที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ของท่านให้สืบทอดสู่เด็กรุ่นลูกหลานต่อๆ ไป ครูบาจันทร์ติ๊บจึงไม่เพียงปลูกฝังสั่งสอนศีลธรรมจรรยาต่างๆ ให้กับเด็กๆ เท่านั้น แต่ท่านยังถ่ายทอดความรู้เรื่องอักขระพื้นเมือง หรือที่เรียกว่า “ตั๋วเมือง” ให้กับบรรดาลูกศิษย์ที่มาเรียนกับท่านอีกด้วย

ในบรรดาเด็กๆ ที่มาเรียนกับครูบาจันทร์ติ๊บนั้น ผู้ที่ทำให้ครูบาผู้เฒ่าบังเกิดความสนใจแกมปีติยินดีอย่างยิ่งก็คือ…เด็กชายเก่ง ด้วยไม่เพียงเด็กชายผู้นี้จะเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและพากเพียรเรียนรู้ในสิ่งที่ครูบาถ่ายทอดให้ด้วยความใส่ใจเท่านั้น แต่เด็กชายเก่งยังสามารถเรียนรู้ในศาสตร์วิชาที่ท่านสั่งสอนได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถอ่านและเขียนตั๋วเมืองที่ว่ายากนักยากหนาได้ภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนเป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง!

เรื่องราวดังกล่าวได้รับการกล่าวขานเป็นที่รับรู้ทั่วไปในกลุ่มผู้ใหญ่ที่สนใจในช่วงเวลานั้น กระทั่งได้ยินไปถึง “ครูบาตั๋น” หรือ “ตุ๊ลุงตั๋น” ซึ่งในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอสารภีรูปที่ ๔ และเป็นประธานศูนย์เผยแผ่พุทธศาสนาวัดหวลก๋าน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตุ๊ลุงตั๋นไม่เชื่อว่าจะมีเด็กที่สามารถเรียนตั๋วเมืองจนอ่านออกเขียนได้ในเวลาเพียงข้ามคืนดังที่บอกเล่ากัน ท่านจึงเดินทางมาพิสูจน์ข่าวนี้ด้วยตัวเอง กระทั่งได้ประจักษ์ความจริงนี้ด้วยสายตาของท่านเอง ทำให้ตุ๊ลุงตั๋นรู้สึกชื่นชมในตัวเด็กชายเก่งอย่างมาก จึงได้มอบรางวัลให้เป็นกำลังใจแก่เด็กชายจำนวน ๑ พันบาท

ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ขณะศึกษาในระดับชั้น ม.๑ โรงเรียนสารภีพิทยาคมได้จัดกิจกรรมบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ที่วัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียน และเด็กชายเก่งก็ไม่ละโอกาสนี้ จัดแจงขออนุญาตนางจำนงค์ผู้เป็นมารดาและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทันที นางจำนงค์นั้นลึกๆ แล้วก็รู้สึกหวั่นใจไม่น้อย ว่าความสนใจในเรื่องพระเรื่องเจ้าของเด็กชายเก่งที่แสดงออกชัดเจนตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ จะทำให้ลูกชายที่นางหวังพึ่งพาคนนี้ผละจากทางโลกเข้าสู่เส้นทางของนักบวชจนตลอดชีวิต ในขณะที่นางจำนงค์อยากให้ลูกชายเอาดีทางโลกมากกว่า ยิ่งคำพูดของนายแพทย์ผู้ทำคลอดที่ว่าลูกชายคนนี้จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ก็ทำให้นางมองภาพลูกชายได้สวมชุดข้าราชการ มีอนาคตที่ดีเหมือนกับลูกของญาติๆ คนอื่นๆ มาโดยตลอด ความคิดที่จะให้ลูกชายอยู่ในผ้าเหลืองตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่นางมิได้ต้องการเลย

อย่างไรก็ตาม นางจำนงค์ก็ยอมอนุญาตให้ลูกชายบวชเณรแต่โดยดี เนื่องจากเห็นว่าอย่างไรเสียธรรมะก็เป็นสิ่งที่ดีที่เด็กๆ ควรปลูกฝังเรียนรู้ และการบรรพชาสามเณรก็เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากกว่าจะให้ลูกอยู่บ้านเฉยๆ ในช่วงปิดเทอมเช่นนี้

แต่เมื่อผ่านไปเดือนกว่าๆ ซึ่งได้เวลาครบกำหนดที่สามเณรในโครงการจะต้องลาสิกขา “สามเณรเก่ง” ก็มาขออนุญาตต่อนางจำนงค์อีกครั้ง

“แม่…ผมจะไม่สึกแล้ว ผมจะบวชต่อ”

คำขอของสามเณรผู้เป็นลูกทำให้นางจำนงค์ถึงกับอึ้ง สิ่งที่นางนึกหวั่นมานานเริ่มจะใกล้ความจริงเข้ามาทุกที! ถึงอย่างนั้นนางจำนงค์ก็ยังหวังว่าสามเณรเก่งจะพูดด้วยความรู้สึกของเด็ก ไม่แน่ว่าหากลูกชายโตขึ้นมากกว่านี้ ความเป็นวัยรุ่นจะทำให้ความรู้สึก “อยากบวช” เลือนหายไป ดังนั้น นางจำนงค์จึงพยายามรั้งลูกชายให้กลับเข้าสู่ทางโลกให้นานที่สุด!

“เอาไว้ให้ลูกจบ ม.๓ ก่อน ถ้ามีบุญผ้าเหลืองมาก่อนก็คงจะได้บวชเองแหละ”

การปฏิเสธอย่างนุ่มนวลของนางจำนงคืทำให้สามเณรเก่งได้แต่นึกผิดหวังอยู่ในใจ แต่เมื่อไม่อาจขัดใจผู้เป็นแม่ได้ สามเณรเก่งจึงต้องยอมสึกและกลับมาเรียนหนังสือต่อไป

. . . . . . .