หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน สอนชาวเขาตามหา “พุทโธ”

ครั้งหนึ่งหลวงปู่มั่น ไปพักอยู่ที่ชายเขาห่างจากหมู่บ้านชาวเขาประมาณ ๒ กิโลเมตร ตอนเช้ามาบิณฑบาตในหมู่บ้าน ชาวเขาถามท่านว่า “ ตุ๊เจ้ามาทำอะไร ” ท่านบอกว่ามาบิณฑบาตข้าว เขาถามว่าเอาข้าวสุกหรือข้าวสาร ท่านบอกว่าข้าวสุก แล้วเขาก็บอกกันให้หาข้าวสุกมาใส่บาตรให้ท่าน
แม้ว่าชาวบ้านจะใส่บาตรกันบ้างแต่ก็ไม่ไว้วางใจท่าน โดยสงสัยว่าท่านเป็นเสือเย็นที่ปลอมตัวมาคอยหาโอกาสทำร้ายชาวบ้าน พวกเขาจึงเตือนกันให้คอยระมัดระวังและส่งคนไปแอบสังเกตดูท่านแล้วกลับมารายงาน พวกชาวบ้านที่คอยไปสังเกตดูท่านนานเป็นเดือนก็กลับมารายงานว่า ท่านไม่น่ามีพิษภัยอันใด เวลาที่ไปเฝ้ามองสังเกตดูก็เห็นแต่ท่านนั่งหลับตานิ่ง บางทีก็เดินมาเดินไป ไม่รู้ว่าท่านเดินหาสิ่งใด ทางที่ดีพวกเราควรเข้าไปถามท่านให้ได้ความเสียจะดีกว่า

จึงได้ส่งคนไปถามท่านว่า ท่านนั่งหลับตาและเดินไปมานั้น “ ตุ๊เจ้านั่งและเดินหาอะไร ” ท่านบอกว่า “ พุทโธของเราหาย ” ชาวบ้านถามท่านต่อว่าพุทโธหน้าตาเป็นยังไง ? กันผีได้ไหม ? พวกเราช่วยหาได้ไหม ? และอื่นๆ อีกหลายคำถาม ท่านก็ตอบคำถามเขาไปและบอกกับเขาว่าถ้าจะช่วยหาพุทโธก็ให้พากันนั่งนิ่งๆ หรือ เดินไปเดินมา นึกในใจว่า พุทโธ พุทโธ อย่าส่งจิตออกไปนอกกาย ให้รู้อยู่กับคำว่าพุทโธ เท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้ไม่แน่ว่าเขาอาจหา “พุทโธ” เจอก่อนท่านก็ได้

พอพวกชาวบ้านได้ความแล้วก็นำไปเล่าสู่กันฟัง ต่างคนต่างนึก “พุทโธ” ตามคำที่ท่านบอก ตั้งแต่หัวหน้าหมู่บ้านไปจนถึงลูกบ้านไม่เว้นแม้แต่เด็กและผู้ใหญ่ ในเวลาไม่นานนักก็มีชายผู้หนึ่งรู้ธรรมเห็นธรรมตามท่านเขาถึงได้ทราบว่าที่แท้ก็เป็นอุบายธรรมอันฉลาดของท่านนั่นเอง เขามีความรู้ในธรรมและยังสามารถรู้จิตของผู้อื่นได้อีกด้วย

ท่านอยู่สั่งสอนชาวเขาหมู่บ้านนั้นอยู่นานถึง ๑ ปี กับอีก ๒ เดือน ท่านจึงได้อำลาจากพวกเขาไป วันที่ท่านจะจากไปพวกเขาออกมาส่งท่านกันหมดทั้งหมู่บ้านด้วยความอาลัยอาวรณ์ไม่อยากให้ท่านจากพวกเขาไป พอท่านเดินไปได้เพียงสองสามก้าวเท่านั้น พวกเขาก็พากันวิ่งมาฉุดชายสบงจีวรของท่านไว้ไม่ยอมให้ท่านไปเสียงร้องไห้ดังระงมไปทั่วทั้งผืนป่า

ท่านต้องชี้แจงเหตุผลให้ฟังจนพวกเขาเข้าใจ แต่พอท่านเดินออกมาเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก พวกเขาวิ่งมาแย่งเอาอัฐบริขารของท่านไว้จะไม่ยอมให้ท่านไป ทำให้ท่านต้องแสดงธรรมและทำความเข้าใจกับพวกเขาอยู่นาน กว่าจะจากหมู่บ้านแห่งนั้นมาได้

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com

. . . . . . .