ประวัติท่านพุทธทาสภิกขุ–ด้านชีวิตวัยเยาว์

เมื่ออายุได้ 8 ขวบ บิดามารดาได้พาท่านพุทธทาสภิกขุไปฝากตัวเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียง หรือวัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่คนในสกุลพานิชเคยบวชสืบต่อกันมา โดยในสมัยก่อนที่จะมีโรงเรียนนั้น พ่อแม่มักจะให้ลูกชายได้อยู่ที่วัด เพื่อที่จะให้ได้รับการศึกษาขั้นต้นตามแบบโบราณ รวมทั้งจะได้มีการคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา และได้ฝึกหัดการอาชีพต่างๆ ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงชีวิตช่วงที่ตนเองอยู่วัดเอาไว้ว่า

ผมออกจากบ้านไปอยู่วัดเมื่ออายุ 8-9-10 เรียนหนังสือ ก ข ก กา กระทั่ง มูลบทบรรพกิจกันที่วัด อายุ 11 ปีได้เวลาไปโรงเรียนแล้วถึงกลับมาอยู่บ้าน สมัยก่อนมันเป็นธรรมเนียมเด็กชายต้องอยู่วัดกันทั้งนั้น แต่ละวัดมีเด็กเป็นฝูง จะไปอยู่วัดก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวเป็นศิษย์พระ ทางวัดเขาก็จะมอบหน้าที่ให้อาจารย์องค์หนึ่งหรือสององค์ให้คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน คอยควบคุมให้เด็กมันได้กินกันเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วให้มันได้เรียนหนังสือ ได้รับการอบรมอะไรบ้าง ในเรื่องไหว้พระสวดมนต์ต์ เรื่องอุปัฏฐากพระ เป็นเวรผลัดกันตักน้ำ ขาดไม่ได้ ทำสวนครัวริมสระ ยกร่องปลูกมัน ทำกันทั้งนั้น อาหารนั้นข้าวก็ได้จากบิณฑบาต ส่วนแกงนี่ทางบ้านเขาจะส่งเป็นหม้อเขียว ๆ ของบ้านใครเด็กคนนั้นก็ไปเอามา หม้อแกงจึงมีมาก ข้าวก็พอฉัน แกงก็พอ บ้านพุมเรียง ข้าวปลามันอุดมสมบูรณ์
การได้อยู่วัดทำให้ความรู้เรื่องยาโบราณและยาสมุนไพรของท่านพุทธทาสภิกขุกว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ท่านยังได้ถูกหัดให้ชกมวย เนื่องจากเมืองไชยาเป็นแหล่งมวยที่มีชื่อเสียง ส่วนการละเล่นของเด็กวัดก็เป็นการละเล่นทั่วไป มีการละเล่นหนึ่งที่เด็กวัดจะนั่งรวมกลุ่มแล้วผลัดกันเล่าเรื่อง ซึ่งต้องเล่าให้ดี มิฉะนั้นจะถูกติถูกค้าน เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าไว้ว่า

คือพอมานั่งรวมกลุ่มกัน ไอ้เด็กคนที่เป็นหัวโจกหน่อย มันก็จะตั้งประเด็นขึ้น เช่น เอ้าวันนี้ เรามาพูดเรื่องหุงข้าว ใครจะเล่าก่อน ส่วนมากพวกที่อาสาก่อนมันก็จะเป็นพวกที่ฉลาดน้อยกว่าคนอื่น มันก็ต้องเล่าวิธีที่หุงข้าวว่าทำอย่างไร เด็กทั้งหลายก็คอยฟัง ถ้าคนเริ่มต้นมันเป็นคนโง่ๆ หน่อย มันอาจจะเริ่มต้นว่า “กูก็เอาข้าวสารใส่หม้อ ตั้งบนไฟ” เด็กนอกนั้นมันก็จะชวนกันค้านว่า “มึงยังไม่ได้เข้าไปในครัวสักที จะทำได้ยังไงล่ะ” อย่างนี้เป็นต้น หรืออาจจะมีสอดว่า “มึงยังไม่ได้ก่อไฟสักที” ถ้ามีช่องให้ซักค้านได้มาก ๆ มันก็ต้องให้คนอื่นเป็นคนเล่า เวลาถูกค้านได้ทีก็จะเฮกันที มันอาจจะละเอียดถึงขั้นว่ายังไม่ได้เปิดประตูแล้วจะเข้าไปในครัวได้อย่างไร หรือยังไม่ได้หยิบขันมันจะตักน้ำได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ในที่สุดมันจะต้องได้เล่าถึงขั้นตอนทุกขั้นตอน จนไม่มีอะไรบกพร่อง เหมือนกับการบรรยายของนักประพันธ์ละเอียดถี่ยิบไปหมด เพราะคนค้านมันมีมาก มันก็ค้านได้มาก มันเป็นการฝึกความละเอียดลออถี่ถ้วน ฝึกการใช้ลอจิก คนฉลาดมันมักจะเป็นคนเล่าคนหลังๆ ที่สามารถเล่าได้ละเอียดโดยไม่มีใครค้านได้

ขอขอบคุณhttp://th.wikipedia.org/

. . . . . . .