ประวัติท่านพุทธทาสภิกขุ–ด้านชีวิตวัยหนุ่ม

เมื่ออายุได้ 11 ขวบ ท่านพุทธทาสภิกขุได้กลับมาอยู่ที่บ้าน และเข้าเรียนที่วัดโพธาราม หรือวัดเหนือ โรงเรียนในวัดนี้เป็นโรงเรียนแผนใหม่ ซึ่งใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในสมัยนั้นมีการเกณฑ์พระจากทั่วประเทศไปอบรมครูที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกลับมาสอนยังท้องถิ่นเดิมของตน ที่วัดโพธาราม มีครูที่ไปอบรมในครั้งนั้นชื่อครูวัลย์ จากนั้นก็สืบต่อมายัง ครูทับ สุวรรณ และท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เล่าเรียนกับครูผู้นี้

ท่านพุทธทาสภิกขุเรียนชั้นประถมที่วัดโพธาราม จากนั้นก็ย้ายมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ซึ่งอยู่ในตลาดไชยา ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุต้องจากบ้านที่พุมเรียงมาพักอยู่กับบิดา ซึ่งได้เปิดร้านค้าอีกแห่งเพื่อขายข้าวเปลือกที่ตลาดไชยานี้ บางครั้ง ท่านพุทธทาสภิกขุต้องรับหน้าที่ลำเลียงสินค้าจากบ้านที่ไชยาไปบ้านที่พุมเรียง เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ว่า

ขาย 2 ร้าน ต้องมีเกวียน ผมต้องขับเกวียนบ้าง ต้องเลี้ยงวัวบ้าง แต่เขาก็มีผู้ใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เลี้ยงวัวขับเกวียนนะ แต่บางทีผมแทรกแซง นี่สนุกไปเลี้ยงวัวแถบทางรถไฟนี่สนุก รื้อก้อนหินทางรถไฟ หาจิ้งหรีดอยู่ใต้นั้น มันชุม ให้วัวกินหญ้าไปพลางอยู่ที่ทางรถไฟตรงที่เอียง ๆ ลงมา ความจริงเขาห้าม ผิดระเบียบ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เพราะหญ้ามันมี วัวมันชอบกินหญ้าแถวนั้น บางทีมันก็ขึ้นไปกินข้างบนๆ ต้องไล่ลง เจ้าหน้าที่เขาจะดุ ถ้าเลี่ยงลงมาช้าๆ เขาไม่ดุ ถ้าผู้ใหญ่ที่เป็นคนเลี้ยงโดยตรงไม่ไป เราก็ดูให้จนเย็น หมดเวลาเขาจึงมารับเอากลับไป[
แต่แล้วบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เสียชีวิตไปในช่วงที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม. 3 เมื่อจบชั้น ม. 3 ท่านพุทธทาสภิกขุจึงต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยมารดาทำการค้าขาย และส่งน้องชาย ซึ่งในขณะนั้นเป็นสามเณรยี่เกย ให้มีโอกาสได้เรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี

การช่วยทางบ้านเป็นงานที่หนัก แต่บางครั้งท่านพุทธทาสภิกขุก็พักผ่อนหย่อนใจด้วยการออกหาอาหารทะเล การเลี้ยงปลากัด และการฝึกดนตรี แม้มารดาของท่านจะถือว่าดนตรีเป็นของไม่ดีก็ตาม ในส่วนของการเลี้ยงปลากัดนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุทำได้ดีถึงขนาดนักเลงปลากัดได้มาแอบขโมยเอาปลากัดของท่านไป ท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องเหล่านี้เอาไว้ว่า

ผมไม่เพียงแต่ขายของ เป็นกรรมกรด้วย แบกของไปส่งตามบ้านเขา อย่างบ้านข้าราชการนี่เขาซื้อน้ำมันก๊าดปี๊บหนึ่งนี่ เราก็ต้องแบกไปส่งให้ ไม่มีลูกจ้าง ไม่มีรถรา มันก็ยุ่ง ทำงานหนักด้วย กระทั่งต้องผ่าฟืนทั้งหมดที่ใช้ในบ้าน อย่างโยมเขาซื้อไม้โกงกางมาทั้งลำเรือ เราต้องเลื่อยให้มันเป็นท่อน แล้วผ่าจนหมด จนเก็บไว้ใต้ถุนบ้านเสร็จ ผ่าไม้โกงกางนี่ก็สนุก มันกรอบ เอาขวานแตะมันกระเด็นออกไป หรือบางทีเอาขวานวางหงาย เอาไม้ซัดลงไปมันก็แตก มันก็สนุก…
บางเวลาขอยืมอวนที่โรงโป๊ะนั่นเอง เพื่อลากปลาตรงโรงโป๊ะ ลากขึ้นมาบนหาดทรายครั้งเดียวกินไม่ไหว มีครบ ปูม้าก็มี ปลาหมึกก็มี ปลาอะไรก็มี มีหลายอย่าง ปลาหมึกแบบกระดองแข็ง ที่เขาเอามาทำยาสีฟันผงหมึกก็มี ชนิดกระดองแข็งนะ เอามาต้มทั้งเป็นๆ มันกรอบไม่น่าเชื่อเลย กรอบเกือบเท่าลูกสาลี่กรอบ กรอบกร้วมเลย กินโดยไม่ต้องมีน้ำจิ้มก็อร่อย กินปลาหมึกกับกาแฟก็ยังได้…
ผมมีวิธีชนิดที่ทำให้ปลากัดเก่งไม่มีใครสู้ได้ ตัวไหนเลือกดูให้ดี ดูมันแข็งแรงอ้วนท้วนดี เอาใส่ลงในบ่อกลม ๆ แล้วเอาตัวเมียใส่ขวดแก้วผูกเชือกแล้วหย่อนลงไป พอไอ้ตัวผู้เห็น มันวิ่งเลย วิ่งรอบบ่อ มันยิ่งกว่าออกกำลัง ทำไป 3-4 วันเท่านั้นตัวก็ล่ำ ตาเขียว ครีบหนา กัดมือเอาเลยถ้าไปจับ อย่างนี้ถ้าเอาไปกัดชนะแน่ มีนักเลงปลากัดมาลักเอาของเราไป ผมมาเห็นเอ๊ะ ปลาตัวนี้หายไป ตัวอื่นมาแทน ผมถามว่าใครมาที่นี่ โยมบอกชื่อว่าคนนั้นๆ ซึ่งเป็นนักกัดปลาอาชีพ เขามาขโมยเปลี่ยนของเราไป เอาไปกัดแล้วชนะจริงๆ…
อีกอย่างที่ผมชอบเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่มีโอกาสฝึกก็คือดนตรี มันชอบเอง นายธรรมทาสเขาไม่ชอบเลย รู้สึกจะเกลียดเสียด้วยซ้ำ แต่ผมนี้ชอบดนตรี ชอบเพลง อย่างเรียกว่าสุดเหวี่ยงเลย แต่โยมห้าม ไม่ให้เอาเครื่องดนตรีขึ้นไปบนเรือน ผมจึงไม่ค่อยได้หัด มีบ้านที่เขาหัด เราก็ลองไปดูไปหัด ผมชอบง่ายๆ ชอบขลุ่ย ชอบออแกนที่โยกด้วยมือ มันง่าย มันเป็นนิ้วเป็นโน้ต ถ้าเราร้องเพลงอะไรได้ เราก็ทำเสียงอย่างนั้นได้ แต่ฝึกไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่โยม ต้องเอาไปคืนเจ้าของ
ในสมัยก่อนที่ท่านพุทธทาสภิกขุจะมีอายุครบบวชนั้น วงการศาสนาท้องถิ่นในพุมเรียงกำลังตื่นเต้นกับการศึกษานักธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาธรรมะแบบใหม่ที่พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำริให้มีขึ้น ท่านพุทธทาสภิกขุในสมัยนั้นก็ค้นคว้าหาหนังสือนักธรรมตรี โท เอก รวมทั้งหนังสือพระอภิธรรมมาอ่าน แล้วอาศัยบ้านของตนเองเป็นเวทีสังกัจฉา คอยพูดคุยตอบโต้ปัญหาธรรมะกับผู้อื่นในละแวกเดียวกัน ซึ่งถึงแม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะยังมีอายุน้อย แต่ก็เชี่ยวชาญและฉะฉานในข้อธรรมจนผู้ที่มาคุยด้วยต่างยอมรับ ในเรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้พูดเอาไว้ว่า

เรื่องคุยธรรมะนี่ ผมทำตัวเป็นอาจารย์ธรรมะกลายๆ ตอนเช้าก็มีคนมาคุยธรรมะ เราต้องโต้ต้องสู้ ข้าราชการคนหนึ่งเข้าอยู่ทางฝ่ายนี้ เขาก็ต้องเดินผ่านที่ร้าน เราไปทำงานยังที่ทำการ แล้วก็ยังมีคนอื่นอีก แถวๆ นั้นที่เป็นญาติๆ กัน ถ้าเห็นตาคนนี้มาเขาจะมาดักเย้าธรรมะกัน กว่าแกจะหลุดไปทำงานก็เป็นชั่วโมง แล้วก็มาที่บ้านเราด้วย ผมต้องซื้อหนังสือนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก อภิธรรมอะไรนี่มาอ่าน ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กกว่าเขาเพื่อน ส่วนใหญ่เขาคนแก่ทั้งนั้น แต่เรามักพูดได้ถูกกว่า เพราะเรามีหนังสืออ่าน เขามันพูดตามข้อสันนิษฐาน มันก็สนุกกับการได้พูดให้คนอื่นฟัง ถ้าว่ากันถึงการเรียนธรรมะ นี่มันเรียนมาก่อนบวช เมื่อบวชก็เกือบจะไม่ต้องเรียนอีกแล้ว ขนาดนักธรรมตรี เกือบจะไม่ต้องเรียนเพราะเคยอ่านมาโต้กันก่อน

ขอขอบคุณhttp://th.wikipedia.org/

. . . . . . .