ประวัติท่านพุทธทาสภิกขุ–พรรษาที่สอง

แม้แต่เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง 3 เดือน แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตเป็นพระแล้ว ความยินดีในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเอาอกเอาใจจากพุทธบริษัทรอบข้าง ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุไม่มีความคิดที่จะลาสิกขา อีกทั้งพระภิกษุในวัดหลายรูปเห็นว่าท่านพุทธทาสภิกขุเรียนหนังสือเก่งและเทศนาดี จึงหนุนให้ท่านพุทธทาสภิกขุอยู่ที่วัดต่อไปเพื่อเป็นกำลังในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา

เล่ากันว่าเจ้าคณะอำเภอเคยถามท่านพุทธทาสภิกขุในพรรษานี้ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านพุทธทาสภิกขุตอบว่า

ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด… แต่ถ้ายี่เกยจะบวชผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย
ท่านเจ้าคณะอำเภอจึงไปคุยกับโยมแม่ของท่านพุทธทาสภิกขุว่าท่านพุทธทาสภิกขุควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนน้องชายของท่านนั้นไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือ เป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่เรียบง่าย และตัดผมสั้นเกรียนตลอดเวลา ในการนี้ ทำให้นายธรรมทาส น้องชายของท่านพุทธทาสภิกขุ ไม่ได้บวช และยอมละทิ้งการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารับผิดชอบหน้าที่ทางบ้าน เพื่อให้ท่านพุทธทาสภิกขุเจริญสมณธรรมต่อไป

ชีวิตสมณเพศในพรรษาที่สองของท่านพุทธทาสภิกขุไม่ต่างจากพรรษาแรกมากนัก ท่านพุทธทาสภิกขุได้ศึกษานักธรรมต่อ และสอบได้นักธรรมโทในพรรษานี้

เมื่อออกพรรษาได้ไม่นาน ช่วงต้นปี พ.ศ. 2471 อาเสี้ยง น้องชายของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ผลักดันให้ท่านพุทธทาสภิกขุเข้าศึกษาความรู้ทางธรรมต่อที่กรุงเทพฯ ท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

ออกพรรษาแล้วไม่นาน ก็เดินทางไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อาที่ชุมพรเป็นคนยัดเยียดให้ไป มันเป็นธรรมเนียมโดยมากด้วยว่าเมื่อได้นักธรรมโทแล้ว ถ้าจะเรียนต่อ เป็นโอกาสที่พอเหมาะพอดีที่จะเข้ากรุงเทพฯ พระครูชยาภิวัฒน์ (มหากลั่น) ซึ่งอยู่ทางโน้นก็เห็นว่าดี อาที่ชุมพรมีส่วนยุที่สำคัญ อยากให้เรียนมากๆ เพื่อเป็นเกียรติเป็นอะไรของวงศ์ตระกูลมากกว่า แต่แกไม่มีความคิดว่าจะไม่ให้สึก ถึงแม้จะสึกก็ให้เรียนมากๆ เข้าไว้หลายปี คงจะดีกว่ารีบสึก[3]
ท่านพุทธทาสภิกขุได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ที่วัดปทุมคงคา โดยอาศัยกับพระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับท่านพุทธทาสภิกขุ และได้มาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งไม่เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ มาก่อนเลย มีความคิดว่ากรุงเทพฯ นั้นคือเมืองคือศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน รวมทั้งพระพุทธศาสนา เนื่องกรุงเทพฯ เป็นแหล่งความรู้ด้านปริยัติ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงวาดภาพไว้ว่าพระเณรในกรุงเทพฯ จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ถึงขนาดคิดว่าจะมีพระอรหันต์อยู่เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ดังคำพูดที่ว่า

ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ เราก็เคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ มันไม่เหมือนที่บ้านเรา พระกรุงเทพฯ จะดี เคยคิดว่าคนที่ได้เปรียญ 9 คือคนที่เป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป เคยคิดว่ากรุงเทพฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ควรจะถือเป็นตัวอย่าง เคยนึกว่าพระอรหันต์เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ก่อนไปกรุงเทพฯ มันคิดอย่างนั้น
แต่กรุงเทพฯ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุพบเห็นนั้น ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุคิดไว้ลิบลับเหลือเกิน ท่านพุทธทาสภิกขุประสบกับตนเองว่าศีลาจารวัตรของพระเณรเมืองกรุงนั้นออกนอกลู่นอกทางยิ่งกว่าพระเณรบ้านนอก ที่อยู่กันตามประสาคนไม่มีความรู้เสียอีก ท่านพุทธทาสภิกขุได้เล่าถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

แต่พอไปเจอจริงๆ มันรู้ว่ามหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไรนัก มันก็เริ่มเบื่อ อยากสึก รู้สึกว่าเรียนที่กรุงเทพฯ มันไม่มีอะไรเป็นสาระ เรียนที่กรุงเทพฯ มันอยากจะสึกอยู่บ่อยๆ พระเณรไม่ค่อยมีวินัย มันผิดกับบ้านนอก มันก็เป็นมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เรื่องสตางค์เรื่องผู้หญิง…
มันเคร่งกว่ามาก ไม่ใช่เฉพาะที่พุมเรียงหรอก ตลอดปักษ์ใต้แหละ เคร่งกว่าที่กรุงเทพฯ มาก เรื่องเกี่ยวกับการกินการฉันก็สรวลเสเฮฮาเหมือนกับคนเมา ฮาฮาตลอดเวลาฉัน ลักษณะนั้นเราเรียนไปตั้งแต่โรงเรียนนักธรรมว่ามันใช้ไม่ได้นี่ อย่างมาต่อยไข่สดต้มไข่หวานหรือทอดประเคนกันเดี๋ยวนั้นเลย มันผิดวินัย แต่เขาทำกันเป็นธรรมดา เรียกว่ามันไม่มีอะไรที่น่าเลื่อมใสเลย ผิดกับวัดที่บ้านนอก เราก็ต้องเป็นพระที่จับสตางค์ ใช้สตางค์เหมือนเขาไปหมด ตามธรรมดาพระที่พุมเรียง สมัยผมบวชเขาไม่จับเงินจับทองกัน มีผู้ช่วยเก็บให้ แล้วมันค่อยๆ เปลี่ยน ไม่จับแต่ต่อหน้าคน ในกรุงเทพฯ มันเป็นโรคร้ายระบาดทั่วกรุงเทพฯ อยู่หัวเมืองมันยังมีอิทธิพลในทางเคร่งครัดแบบเก่าอยู่[3]
ท่านพุทธทาสภิกขุเห็นเข้าอย่างนี้ก็เกิดเป็นความเอือมระอาในชีวิตสมณเพศอย่างหนัก หลังจากอยู่กรุงเทพฯ ได้เพียง 2 เดือนก็กลับมาที่พุมเรียงเพื่อจะลาสิกขา แต่ขณะนั้นเป็นช่าวงใกล้เวลาจะเข้าพรรษาแล้ว มีผู้ทักท้วงว่าจะลาสิกขาตอนนี้ยังไม่เหมาะ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงตัดสินใจครองสมณเพศอีกพรรษาหนึ่ง และคิดว่าค่อยลาสิกขาบทเมื่อออกพรรษาไปแล้ว
ขอขอบคุณhttp://th.wikipedia.org

. . . . . . .