ประวัติท่านพุทธทาสภิกขุ–พรรษาที่สามและสี่

ในพรรษาที่สาม ท่านพุทธทาสภิกขุสอบนักธรรมเอกได้ เมื่อออกพรรษา คุณนายหง้วน เศรษฐภักดี ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินสร้างโรงเรียนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยา และเป็นญาติของท่านพุทธทาสภิกขุ รวมทั้งพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) รองเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาในสมัยนั้น ได้ชักชวนให้ท่านพุทธทาสภิกขุมาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาแห่งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงได้เลื่อนกำหนดการลาสิกขาไว้ก่อน และมาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่หนึ่งปี กลวิธีการสอนของท่านพุทธทาสภิกขุชวนติดตาม ทำให้นักเรียนของท่านสอบได้หมดยกชั้น เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้เล่าเอาไว้ว่า

สอนนักธรรมนี่ก็สนุก สอนคนเดียว 2 ชั้น มันคุยได้ว่าสอบได้หมด แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏตกไปองค์หนึ่ง เพราะใบตอบหาย ก็กลายเป็นครูที่มีชื่อเสียงขึ้นมาทันที มันสนุก เพราะเป็นของใหม่ และมันชักจะอวด ๆ อยู่ว่าเราพอทำอะไรได้ หาวิธียักย้ายสอนให้มันสนุก ไม่เหมือนกับที่เขาสอนๆ กันอยู่ เช่นผมมีวิธีเล่า วิธีพูดให้ชวนติดตาม หรือให้ประกวดกันตอบปัญหา ทำนองชิงรางวัล นักเรียนก็เรียนกันสนุก ก็สอบได้กัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณนายหง้วนจึงได้ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตันแบบกระเป๋าหิ้วให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นรางวัล และท่านพุทธทาสภิกขุได้ใช้เครื่องนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี

ในขณะเดียวกันนี้เอง นายธรรมทาสก็ได้รวบรวมญาติมิตรที่สนใจในพระพุทธศาสนามาจัดตั้งเป็นคณะขึ้น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2472 และนี่คือจุดเริ่มก่อนที่จะกลายเป็นคณะธรรมทานในเวลาต่อมา เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าให้ฟังว่า

นายธรรมทาสเขามีนิสัยอยากส่งเสริมพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ตั้งแต่ตอนที่เขาไปเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาฯ (พ.ศ. 2469) เขาไปพบบทความเกี่ยวกับการเผยแผ่พุทธศาสนาทางสมาคมมหาโพธิ ของธรรมปาละ และหนังสือยังอิสต์ ของญี่ปุ่น ได้เร้าใจให้เขาเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา และหาหนังสือทางพุทธศาสนามาจากหอสมุดนั้นมาอ่านเสมอ พอกลับมาบ้าน (พ.ศ. 2470) ก็มาตั้งหีบหนังสือให้คนอื่นอ่านกันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2472) รวบรวมหนังสือธรรมะที่หาได้ในสมัยนั้น รวมทั้ง เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ไทยเขษม วิสาขะ เป็นต้น ก็ก่อหวอดให้เกิดความสนใจในหมู่คนแถวนั้น ไม่กี่คนหรอก จับกลุ่มสนทนากันเรื่องจะทำพุทธศาสนาให้มันบริสุทธิ์ ให้มันถูกต้องอย่างไร ต่อมาคนเหล่านี้ก็เป็นกำลังตั้งสวนโมกข์และคณะธรรมทาน มีนายเที่ยง จันทเวช นายดาว ใจสะอาด นายฉัว วรรณกลัด นายเนิน วงศ์วานิช นายกวย กิ่วไม้แดง เป็นตัวตั้งตัวตี นายธรรมทาสเขาได้รู้จักกับชาวลังกาชื่อสิริเสนา ที่มาพักอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ จึงได้รู้เรื่องกิจการของสมาคมมหาโพธิ และอนาคาริกะธรรมปาละ ซึ่งพยายามฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาและอินเดีย นายธรรมทาสเขาก็มีจดหมายติดต่อรับหนังสือมหาโพธิ ต่อมาก็รับ บริติชบุดดิสต์ ของสมาคมมหาโพธิ ลอนดอน บุดดิสต์ อิน อิงแลนด์ และ บุดดิสต์ แอนนวล ออฟซีลอน ทำให้เขารู้ว่าข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในต่างประเทศ
ขอขอบคุณhttp://th.wikipedia.org

. . . . . . .