ประวัติหลวงตามหาบัว

ประวัติ
ชาติกำเนิด
พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสัมปันโน) หรือ หลวงตามหาบัว เดิมมีชื่อว่า “บัว โลหิตดี” ท่านเกิดวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ท่านมีพี่น้องทั้งหมด 16 คน ในวัยเด็กท่านเป็นคนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยได้ทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ

อุปสมบท
เมื่อท่านอายุครบอุปสมบทแล้ว บิดาและมารดาของท่านปรารถนาที่จะให้ท่านบวชด้วยหวังพึ่งใบบุญจากการบวชของท่าน แต่ท่านก็ไม่ตอบรับแต่ประการใด ซึ่งทำให้บิดาและมารดาของท่านถึงกับน้ำตาไหล ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านกลับมาพิจารณาถึงการออกบวชอีกครั้ง ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจที่จะออกบวชโดยท่านได้กล่าวกับมารดาว่า “เรื่องการบวชจะบวชให้ แต่ว่าใครจะมาบังคับไม่ให้สึกไม่ได้นะ บวชแล้วจะสึกเมื่อไหร่ก็สึก ใครจะมาบังคับว่าต้องเท่านั้นปีเท่านี้เดือนไม่ได้นะ” ซึ่งมารดาของท่านก็ตกลงตามที่ท่านขอ
ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่วัดโยธานิมิตร ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้ฉายานามว่า “ญาณสมฺปนฺโน” แปลว่า “ถึงพร้อมแล้วด้วยการหยั่งรู้”ท่านมีความเคารพเลื่อมในเรื่องการภาวนาและกรรมฐาน ท่านได้สอบถามวิธีการภาวนาจากพระอุปัชฌาย์ของท่านและได้รับการแนะนำให้ภาวนาว่า “พุทโธ” ท่านจึงปฏิบัติภาวนาและเดินจงกรมเป็นประจำ

เรียนปริยัติ
ในระหว่างนั้นท่านเริ่มเรียนหนังสือทางธรรมและศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติ รวมทั้งพุทธสาวก โดยหลังจากที่พุทธสาวกเหล่านั้นได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้วจะเดินทางไปบำเพ็ญในป่าอย่างจริงจังจนสำเร็จอรหันต์ ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสและมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติเพื่ออรหัตผลให้จงได้ โดยตั้งสัจอธิษฐานว่า เมื่อเรียนจบเปรียญธรรม 3 ประโยค แล้วจะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียว
อย่างไรก็ตาม ท่านยังมีข้อสงสัยว่า ถ้าท่านดำเนินตามแนวทางปฏิบัติตามพระสาวกเหล่านั้น ท่านจะสามารถบรรลุถึงจุดที่ท่านเหล่านั้นบรรลุหรือไม่ รวมทั้งยังสงสัยว่ามรรคผลนิพพานจะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่ ความสงสัยเหล่านี้ทำให้ท่านมีความมุ่งหวังที่จะได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งท่านมีความเชื่อมั่นว่าท่านอาจารย์มั่นจะสามารถไขปัญหานี้ให้ท่านได้
ท่านเดินทางศึกษาพระปริยัติในหลายแห่ง อาทิ วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรม หลังจากนั้น ท่านได้เดินทางไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ในเวลานั้นพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านได้อาราธนานิมนต์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เพื่อขอให้ไปจำพรรษาที่จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์มั่นรับนิมนต์นี้และได้เดินทางมาพักที่วัดเจดีย์หลวงเป็นการชั่วคราวจึงทำให้ท่านได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นครั้งแรก ท่านศึกษาทางปริยัติที่วัดแห่งนี้ จนกระทั่ง ท่านสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2484 นับเป็นปีที่ท่านบวชได้ 7 พรรษา

ปฏิบัติกรรมฐาน
หลังจากสำเร็จการศึกษาทางปริยัติ ท่านเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมาเพื่อปฏิบัติกรรมฐานได้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางไปจังหวัดสกลนครโดยตั้งใจจะไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์มั่นรับท่านเป็นลูกศิษย์และได้พูดขึ้นว่า
…ท่านมาหามรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน? ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลจริง ๆ อยู่ที่ใจ ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรมของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกัน ท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ…

— มั่น ภูริทัตโต
คำกล่าวนี้ทำให้ท่านเชื่อมั่นว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่จริงและเชื่อมั่นในพระอาจารย์มั่นที่พูดไขข้อข้องใจได้ตรงจุดแห่งความสงสัย ท่านรักษาระเบียบวินัยข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด หลังจากศึกษาอยู่กับพระอาจารย์มั่นในพรรษาที่ 2 ท่านเริ่มหักโหมความเพียรในการปฏิบัติกรรมฐาน จนกระทั่ง ผิวหนังบริเวณก้นช้ำระบมและแตกในที่สุด จนพระอาจารย์มั่นได้เตือนว่า “กิเลสมันไม่ได้อยู่กับร่างกายนะ มันอยู่กับจิต” ซึ่งท่านก็น้อมรับคำเตือนของพระอาจารย์มั่นทันที
อย่างไรก็ตาม ด้วยจริตนิสัยของท่านในเรื่องการภาวนานั้นถูกกับการอดอาหารเพราะทำให้ธาตุขันธ์เบาสบาย การตั้งสติทำสมาธิภาวนาก็ง่าย และช่วยให้การบำเพ็ญจิตภาวนาเจริญขึ้นได้เร็วกว่าขณะที่ออกฉันตามปกติ ถึงแม้จะมีผู้คัดค้านก็ไม่ทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ ด้วยท่านพิจารณาแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุอดอาหารเพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการโอ้อวดหรืออดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ฝึกฝนด้านจิตภาวนาเลยซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใด ดังนั้น ท่านจึงใช้อุบายนี้เพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาเรื่อยมา
ในพรรษาที่ 10 ของท่าน ท่านฝึกสมาธิจนมั่นคงหนักแน่นและสามารถอยู่ในสมาธิได้เท่าไหร่ก็ได้ ท่านมีความสุขอย่างยิ่งจากที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ท่านติดอยู่ในขั้นสมาธิอยู่ถึง 5 ปี โดยไม่ก้าวหน้าสู่ขั้นปัญญา จนกระทั่ง พระอาจารย์มั่นจึงให้อุบายเพื่อให้ท่านออกพิจารณาทางด้านปัญญาและเตือนท่านว่า “…สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธินอนตายอยู่นี่หรือเป็นสัมมาสมาธิ…” ท่านจึงออกจากสมาธิและพิจารณาทางด้านปัญญาต่อไป
ท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 แรม 14 ค่ำ เดือน 6 เวลา 5 ทุ่มตรง บนหลังเขาซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร

ก่อตั้งวัดป่าบ้านตาด
ด้วยเหตุที่โยมมารดาของท่านล้มป่วยเป็นอัมพาต ท่านจึงพาโยมมารดาของท่านกลับมารักษาตัวที่บ้านตาดอันเป็นบ้านเกิดของท่าน หลังจากที่โยมมารดาของท่านรักษาตัวหายขาดแล้ว ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าโยมมารดาของท่านก็อายุมากแล้ว การจะพาไปอยู่ในถิ่นถุรกันดารเพื่อการปลีกวิเวกห่างจากผู้คนตามนิสัยของท่านก็จะทำให้โยมมารดาท่านลำบาก ประจวบเหมาะกับเวลานั้นชาวบ้านตาดมีความประสงค์อยากให้ท่านตั้งวัดขึ้นที่นั่นเช่นกัน โดยชาวบ้านได้ร่วมกันถวายที่ดินให้เป็นที่ตั้งวัด ดังนั้น วัดป่าบ้านตาดจึงเริ่มก่อตั้งขึ้น ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498[10] ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2513 โดยให้ชื่อว่า “วัดเกษรศีลคุณ”[11]

มรณภาพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศแก่พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) บนศาลาการเปรียญวัดป่าบ้านตาด
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (ด้านขวาในภาพ) ณ วัดเกษรศีลคุณ วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554
หลวงตามหาบัวมีอาการอาพาธลำไส้อุดตัน และมีปอดติดเชื้อมานานกว่า 6 เดือน คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างกุฏิปลอดเชื้อให้แก่หลวงตา แต่อาการอาพาธไม่ดีขึ้น จนเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 02.49 น. ตรวจพบสมองของหลวงตาหยุดทำงานใน ต่อมา ตรวจพบม่านตาขยายไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ออกซิเจนในเลือดมีค่าเท่ากับ 0 จากนั้นเวลา 03.53 น. ความดันโลหิตมีค่าเท่ากับ 0 หัวใจหยุดเต้นและหยุดการหายใจ สิริอายุได้ 97 ปี 5 เดือน 18 วัน 77 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานในพิธีถวายน้ำหลวงสรงศพหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และทรงวางพวงมาลาหลวง พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พวงมาลาส่วนพระองค์ และพวงมาลาของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานโกศโถและทรงรับพระพิธีธรรมไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานบำเพ็ญพระราชกุศล 1 วัน โดยโปรดให้พระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้แทนพระองค์เดินทางมาร่วมประกอบพิธีธรรมจากนั้นจึงเปิดให้พ่อค้า ประชาชน ส่วนราชการต่าง ๆ เป็นเจ้าภาพตลอดไป
ส่วนพินัยกรรมที่ท่านเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 นั้น สรุปความได้ว่า ให้นำทองคำที่ได้รับบริจาคไปหลอม ส่วนเงินสดที่ได้รับบริจาคให้นำไปซื้อทองคำ แล้วนำมาหลอมรวมและมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นทุนสำรองเงินตราของฝ่ายบำบัดธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่มีเจตนาให้นำไปใช้ในงานอื่น นอกจากใช้เป็นเงินทุนสำรองของประเทศ โดยตั้งพระสุดใจ ทันตมโน รองเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด เป็นผู้จัดการมรดก รวมทั้ง ตั้งคณะกรรมการจัดงานศพและจัดการดูแลทรัพย์สินทั้งปวงอีกจำนวน 9 คน

การช่วยเหลือสังคม
ด้านสาธารณสุข
การสงเคราะห์ด้านสาธารณสุขนั้นเป็นสิ่งที่ท่านเอาใจใส่มาโดยตลอด โดยท่านสอนเสมอว่า “มนุษย์เราไม่ว่าจะยากดีมีจนล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ดังนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพราะหากมนุษย์ไม่ช่วยสงเคราะห์มนุษย์ด้วยกันแล้วใครจะช่วย เรื่องความเจ็บป่วยนั้น เจ็บไปแค่หนึ่งแต่ครอบครัวก็ป่วยด้วยความห่วงใยอีกเท่าไหร่ ดังนั้น จึงควรเห็นใจกัน”[18] ท่านมักจะออกเยี่ยมโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นประจำพร้อมนำข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องใช้ต่าง ๆ ไปมอบให้โรงพยาบาลอยู่เสมอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารท่านก็จะให้ความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้านทั้งอาหารการกินและเครื่องมือแพทย์ ส่วนโรงพยาบาลที่อยู่บริเวณอู่ข้าวอู่น้ำท่านจะช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือแพทย์ไป ก่อนที่จะสงเคราะห์ด้านปัจจัย ท่านจะพิจารณาถึงความจำเป็นของเครื่องมือ รวมถึงกิริยามารยาของหมอพยาบาลในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยว่าเป็นยังไง จะสามารถนำเครื่องมือที่ท่านมอบให้ไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยได้จริงไหม และเมื่อมีโอกาสอันควร ท่านจะแสดงธรรมเตือนหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอยู่เสมอ
ท่านได้ให้การสงเคราะห์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการให้ปัจจัยในการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รถพยาบาล ที่ดิน สร้างและปรับปรุงตึกของโรงพยาบาล เป็นต้น รวมทั้ง ก่อตั้งกองทุนและมูลนิธิขึ้นหลายแห่งเพื่อช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ป่วยที่ไร้ยาก เช่น กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจนและไร้ที่พึ่ง มูลนิธิรวมเมตตามหาคุณ นอกจากนี้ ท่านยังให้ความอนุเคราะห์สถานพยาบาลต่าง ๆ มากกว่า 200 แห่ง ไม่เฉพาะในจังหวัดอุดรธานีเท่านั้น แต่ท่านยังสงเคราะห์สถานพยาบาลหลายแห่งในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาวด้วย[19]

สงเคราะห์หน่วยงานราชการ
เนื่องจากท่านได้พิจารณาว่าหน่วยงานราชการต่าง ๆ มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยเหลือ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ดังนั้น เมื่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น สถานีตำรวจภูธร สถานีรถไฟจังหวัด ทัณฑสถานหญิง กรมราชทัณฑ์ มาขอความช่วยเหลือ ถ้าท่านพิจารณาเห็นสมควร ท่านก็จะช่วยเหลือเต็มที่ทั้งในด้านอาหารการกิน เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึง การก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ มากราบท่าน ท่านก็มักแสดงธรรมเพื่อให้ข้อคิดแก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้น เช่น อย่ายึดติดลาภยศสรรเสริญ อย่ากินบ้านกินเมือง อย่าเห็นแก่ตัวให้เห็นประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง[20]

โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า โครงการผ้าป่าช่วยชาติ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 เนื่องจากท่านเดินทางไปแจกสิ่งของตามโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารทำให้ทราบว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ มีหนี้สินเป็นอันมากซึ่งเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลมาจากวิกฤติทางการเงินของประเทศ ท่านรู้สึกสลดใจเป็นอันมากจึงดำริที่จะช่วยชาติโดยน้อมนำให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมกันบริจาคทองคำ เงินดอลลาร์ เงินสกุลต่างประเทศ และเงินบาท เพื่อช่วยชาติบ้านเมืองที่กำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำให้ฟื้นฟูและผ่านพ้นไปด้วยดี โดยเงินทองที่ได้มาจากการบริจาคนี้จะยกให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเข้าบัญชีฝ่ายออกบัตร (คลังหลวง) ทั้งหมด

โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้รับเงินบริจาคเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นเงินจำนวน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นประธานเปิดโครงการ[22] ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้มอบเงินเข้าคลังหลวงรวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง รวมเป็นทองคำแท่งทั้งสิ้น 967 แท่ง จำนวน 12,079.8 กิโลกรัม หรือ 388,000 ออนซ์ ส่วนเงินตราต่างประเทศประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 15,000 ล้านบาท

ภายหลังการมรณภาพของหลวงตามหาบัว โครงการช่วยชาติยังคงดำเนินต่อไปและได้ทำการมอบเงินเข้าคลังหลวงครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยเป็นทองคำแท่งจำนวนทั้งสิ้น 73.64 แท่ง น้ำหนักรวม 920.5 กิโลกรัม ดังนั้น จำนวนทองแท่งทั้งหมดที่บริจาคเข้าคลังหลวงรวมทั้งสิ้น 1,040 แท่ง น้ำหนักรวม 13,000.05 กิโลกรัม คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 19,188,413,280 บาท และเมื่อนำไปรวมกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีการนำเข้าสู่คลังหลวงไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 10,214,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 306,965,073.36 บาท จะรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 19,495,378,353 บาท

สมณศักดิ์
เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ “พระครูญาณวิสุทธาจารย์” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2511
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ สมถวิปัสสนาวิมลอนุสิฐ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม อรัณยวาสี”
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระธรรมวิสุทธิมงคล สมถวิปัสสนาโกศลธรรมธารี อรรถภาณีสรรพกิจ โสภิตเสฏฐคุณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม อรัญญวาสี”
ปริญญากิตติมศักดิ์
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผลงานหนังสือ
ท่านมีผลงานการประพันธ์ที่รวบรวมเป็นหนังสือหลายเล่ม โดยเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เช่น ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติ อาทิ ศาสนธรรมปลุกคนให้ตื่น, แว่นส่องธรรม, ธัมมะในลิขิต หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นสูงสำหรับผู้ฝึกจิตตภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานโดยเฉพาะ อาทิ ก้าวเดินตามหลักศาสนธรรม, รากแก้วของศาสนา, แสวงโลก แสวงธรรม นอกจากนี้ ยังมีหนังสือทั่วไปอีก เช่น รักชาติไทย ส่งเสริมสินค้าไทย, พระพุทธศาสนารักษาชาติไทย และพระมหากษัตริย์คือหัวใจของชาติไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่งหนังสือที่เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของท่าน อาทิ หยดน้ำบนใบบัว ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเรียบเรียงจากเทศนาธรรมของพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)ในวาระต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแก่สถานศึกษาทุกระดับชั้น, ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ จัดทำขึ้นโดยวัดป่าบ้านตาด ซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงถวายแด่พระสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
ขอขอบคุณ http://th.wikipedia.org/

. . . . . . .