หลวงตามหาบัว ตอน แม้เรียนปริยัติ ก็ไม่ทิ้งเรื่องภาวนา

ท่านได้ไปถามคำภาวนาจากท่านพระครู “กระผมอยากภาวนา จะให้ภาวนายังไง?” “เออ! ให้ภาวนา พุทโธ นะ เราก็ภาวนา พุทโธ เหมือนกัน ท่านได้ฝึกหัดภาวนาอย่างไม่ลดละ แรกๆจิตใจก็ไม่สงบเท่าใดนัก แต่เมื่อทำอยู่หลายครั้งหลายหน จิตก็เริ่มสงบตัวลงไปโดยลำดับ จนกระทั่งเห็นความอัศจรรย์ของจิต

“เมื่อเรียนธรรมะไปตรงไหน มันสะดุดใจเข้าไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่ นวโกวาท ที่เป็นพื้นฐานแห่งการศึกษาเบื้องต้น ยิ่งได้อ่านพุทธประวัติ ทำให้เกิดความสลดสังเวช สงสารพระพุทธองค์ ในเวลาที่ทรงลำบาก เพราะทรมานพระองค์เองก่อนตรัสรู้ธรรม จนถึงกับน้ำตาร่วงไปเรื่อยๆ พออ่านจบ เกิดความสลดใจอย่างยิ่ง ในความพากเพียรของพระองค์ซึ่งเป็นกษัตริย์ทั้งองค์ ทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวช เป็นคนขอทานล้วนๆ ซึ่งสมัยนั้นไม่มีศาสนา คำว่าการให้ทานได้บุญอย่างนั้น การรักษาศีลได้บุญอย่างนี้ ไม่เคยมี พระองค์ก็ต้องเป็นคนอนาถา และขอทานเขามาโดยตรง และฝึกอบรมพระองค์เต็มพระสติกำลังทุกวิถีทาง เป็นเวลา ๖ ปี ถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

ในขณะที่อ่านประวัติของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ธรรม รู้สึกอัศจรรย์อย่างยิ่ง ถึงกับน้ำตาร่วงเช่นเดียวกัน เมื่อได้อ่านประวัติของพระสาวกอรหันต์ทั้งหลาย ที่ท่านออกมาจากสกุลต่างๆกัน ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ มหาเศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชน ตลอดคนธรรมดา ท่านกล่าวว่า

“…องค์ไหนออกมาจากสกุลใด หลังจากได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้ว ต่างก็ไปบำเพ็ญในป่าในเขาอย่างเอาจริงเอาจัง เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่ที่นั่น องค์นั้นสำเร็จอยู่ในป่านั้น ในเขาลูกนั้น ในถ้ำนั้น ในทำเลนี้มีแต่ที่สงบสงัด ก็เกิดความเชื่อเลื่อมใสขึ้นมา ทำให้ใจหมุนติ้ว เรื่องภายนอกก็ค่อยจืดไปจางไป…”

“…ทีแรกก็คิดจะไปสวรรค์ ไปพรหมโลก พออ่านประวัติพระสาวกมากๆเข้า มันไม่อยากไปล่ะสิ อยากไปนิพพาน สุดท้ายก็อยากไปแต่นิพพานอย่างเดียว อยากเป็นพระอรหันต์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีเปอร์เซ็นต์อื่นเข้ามาเจือปนเลย ทีนี้จิตมันก็พุ่งลงตรงนั้น ลงช่องเดียว ความตั้งใจเดิมว่าจะบวชเพียง ๒ พรรษา แล้วละสิกขาลาเพศไปนั้น ค่อยจืดจางลงไปทุกขณะ กลับเพิ่มพูนความยินดีในเพศนักบวชมากเข้าไปทุกที เรื่องธรรมะก็รู้สึกดูดดื่มยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป…”

ด้วยเหตุนี้เอง ในระยะต่อมาท่านจึงได้ออกจากบ้านตาด ไปศึกษาเล่าเรียนในที่ต่างๆ จนกระทั่งได้ตั้งสัจจอธิษฐานไว้เลยว่า “เมื่อจบเปรียญ ๓ ประโยคแล้ว จะออกปฏิบัติโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข เพราะอยากพ้นทุกข์เหลือกำลัง อยากเป็นพระอรหันต์นั่นเอง”

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า “เวลานี้มรรคผลนิพพาน จะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่?” ท่านได้เก็บความสงสัยนี้ฝังอยู่ภายในใจ เพราะไม่สามารถจะระบายให้ผู้ใดฟังได้ เป็นเหตุให้ท่านมุ่งหวังอยากพบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านเคยได้ยินชื่อเสียงมานาน และเชื่อมั่นอยู่ภายในใจลึกๆว่า ท่านพระอาจารย์มั่น จะสามารถแก้ข้อสงสัยนี้ได้

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านเรียนจบปริยัติที่วัดเจดีย์หลวง นับได้ ๗ พรรษาพอดี โดยสอบได้ทั้งนักธรรมเอก และเปรียญ ๓ ประโยค ในปีเดียวกัน ท่านเล่าว่า “ในช่วงเรียนปริยัติ อยู่ ๗ ปี การปฏิบัติไม่ค่อยเต็มที่เท่าใดนัก เป็นเพียงสงบเล็กๆน้อยๆธรรมดาๆ มีเพียง ๓ หน ที่จิตลงถึงขนาดอัศจรรย์เต็มที่ คือ ลง กึ๊ก เต็มที่แล้วอารมณ์อะไรขาดหมดในเวลานั้น เหลือแต่รู้อันเดียว กายก็หายเงียบเลย..”

ครั้นเมื่อเรียนจบแล้ว ท่านระลึกถึงคำสัตย์ที่ตั้งไว้แต่ต้น จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาโอกาสกราบลาพระเถระผู้ใหญ่ อาจารย์ของท่าน พอดีท่านรับนิมนต์ไปต่างจังหวัด จึงถือโอกาสนั้นเข้านมัสการกราบลาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสในขณะนั้น ท่านก็ยินดีอนุญาตให้ไปได้
ขอขอบคุณ http://www.doisaengdham.org

. . . . . . .