หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

นามเดิม ฝั้น สุวรรณรงค์

เกิด วันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ณ บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด ๘ คน ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก ๒ คน
โยมบิดา เจ้าไชยกุมาร (เม้า)
โยมมารดา นุ้ย (เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์)

บรรพชา ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๑ (อายุ ๑๙ ปี) ตรงกับปีมะเมีย ที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง อุปนิสัยก่อนบรรพชา มีความประพฤติเรียบร้อย อ่อนโยน นิสัยสุขุมเยือกเย็นและกว้างขวางเช่นเดียวกับบิดา ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค หนักเอาเบาสู้ ส่วนในด้านการศึกษานั้น หลวงปู่ฟั่นได้เริ่มเรียนหนังสือมาตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่บ้านม่วงไข่ โดยเข้าศึกษาที่วัดโพธิ์ชัย แบบเรียนที่เขียนอ่านได้แก่มูลบทบรรพกิจเล่ม ๑-๒ ซึ่งเป็นแบบเรียนที่ดีที่สุดในสมัยนั้น ผู้ได้เรียนจบจะแตกฉานในด้านการอ่านเขียนไปทุกคน มีอาจารย์สอนหนังสือ คือ พระอาจารย์ต้น กับ นายหุ่น ขณะเป็นสามเณรท่านเอาใจใส่ศึกษาพระธรรมวินัย

อุปสมบท เมื่ออายุ ๒๐ ปี ณ วัดสิทธิบังคม (บ้านไฮ่) ตำบลไร่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูป้อง (ป้อง นนตะเสน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สัง กับ พระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ระหว่างจำพรรษาที่วัดสิทธิบังคม ท่านได้ท่องบ่นเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน จบบริบูรณ์ ขณะเดียวกันพระอุปัชฌาย์ก็ได้สอนวิธีเจริญกัมมัฏฐานตลอดพรรษา พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น เป็นระยะเวลาที่หลวงปู่ฝั้นได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา และได้ปวารณาตนเป็นศิษย์ท่าน รับเอาข้อวัตรปฏิบัติถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด

ญัตติเป็นพระธรรมยุติกนิกาย วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๕.๒๒ น. ณ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระรถเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มรณภาพ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เวลา ๑๙.๕๐ น. โดยอาการสงบ ณ วัดป่าอุดมสมพร อำเภอ พรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี ๔ เดือน ๑๕ วันมีพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายหลังจากการสรงน้ำศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
– ในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ ขอให้ทุกคนได้สามัคคีกัน อย่าให้เกิดความแตกแยกและขอให้ยึดมั่นในคำสั่งสอนของท่านไว้ให้มั่นคง
– ขอให้เก็บอัฐิของพระอาจารย์ไว้แห่งเดียวกัน
– เครื่องอัฐบริขารของท่านพระอาจารย์ ถ้าสามารถเก็บรวมรักษาไว้เป็นที่เดียวกันก็จะดี

ในการสรงน้ำศพของหลวงปู่ฝั้นครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของเมืองไทย ไม่ว่าในกรณีศพของบุคคลใดก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์พระราชทานอาบน้ำศพแล้วจะไม่มีการรดน้ำศพอีก แต่กรณีศพของหลวงปู่ฝั้น พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯด้วยพระกระแสรับสั่งของพระองค์เองว่า “ ขออย่าได้ห้ามประชาชนสรงน้ำศพท่านอาจารย์ จงให้เขาได้สรงน้ำกันต่อไปตามแต่ศรัทธา ”

http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=207

. . . . . . .