ประวัติ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ – ประวัติหลวงพ่อสด หน้า 5

ประวัติ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ – ประวัติหลวงพ่อสด หน้า 5

หน้า 5 จาก 6
(พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ ต่อ)

แม้ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร แต่ไม่มีใครเรียกชื่อนั้น เรียกหลวงพ่อเสมอมา บางคนก็ไม่ทราบว่าท่านมีสมณศักดิ์ เพราะภิกษุสามเณรในวัดและคนวัดก็เรียก “หลวงพ่อ” เสียหมด บางคนเรียกว่า “เจ้าคุณพ่อ”

นอกจากท่านจะสร้างคนให้เป็นคนแล้ว เสนาสนะก็ได้จัดทำรุดหน้าไป แต่เพราะท่านฝักใฝ่ในด้านกรรมฐานเสียมาก การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ก็ไม่ใคร่สนใจมากนัก ท่านพูดว่าสร้างคนนั้นสร้างยาก เรื่องเสนาสนะไม่ยาก ใครมีเงินก็สร้างได้ แต่ความสำคัญต้องสร้างคนก่อน

๑. กุฏิ ๒ แถว สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน สร้างคู่กับโรงเรียน

๒. พ.ศ.๒๔๙๓ สร้างโรงเรียนปริยัติเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ยาว ๒๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๒ ศอก สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๕๙๘,๑๑๐.๓๙ บาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาทสามสิบเก้าสตางค์)

๓. สร้างศาลาโรงฉันพอเหมาะแก่พระภิกษุสามเณร ๕๐๐ รูป ฉันภัตตาหารเช้า เพล เป็นเครื่องไม้มุงสังกะสี พื้นลาดปูนซีเมนต์ ภายในยกเป็นอาสนสงฆ์ มีช่องเดินในระหว่างได้ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (สี่แสนบาทเศษ)

๔. สร้างกุฏิเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นตึก ๒ ชั้น พื้นฝ้าเพดานไม้สักทาสีขัดชันเล็ก มีห้องน้ำห้องส้วมและไฟฟ้า เป็นกุฏิทันสมัย ราคาก่อสร้างประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (แปดแสนบาทเศษ)

๕. ก่อนมรณภาพสัก ๔-๖ เดือน ได้สร้างกุฏิอีกหลังหนึ่งสูง ๓ ชั้น เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นเดียวกัน มีเครื่องประกอบพร้อม ราคาก่อสร้าง ๓๒๗,๘๔๓.๓๐ บาท (สามแสนสองหมื่นเจ็ดพันแปดร้อยสี่สิบสามบาทสามสิบสตางค์)

สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ไม่มีงบประมาณ กุฏิบางหลังไม่มีแปลน ค่าก่อสร้างทวีขึ้นแล้วแต่ช่างจะเสนอ แต่เมื่อเสร็จแล้วก็ได้ของประณีตไว้สำหรับวัด หลวงพ่อก็ไม่ว่าไร สร้างกุฏิเสร็จแล้วหลวงพ่อสดได้สั่งให้พระรูปอื่นอยู่ต่อไป ตัวท่านเองหาได้อยู่อาศัยไม่ เช่นกุฏิหลังใหม่ให้พระศรีวิสุทธิโมลี และพระครูปลัดณรงค์เข้าอยู่อาศัย ใคร ๆ จะอาราธนาให้ขึ้นกุฏิใหม่ก็ไม่ฟังเสียง ท่านเพิ่งไปอยู่เมื่อก่อนมรณภาพสัก ๓-๔ เดือน ที่จำไปนั้นเนื่องด้วยที่อยู่เดิมมีการก่อสร้างกุฏิหลังใหม่ใกล้ชิด ท่านไม่ได้ความสงบ จึงจำยอมมาพักที่กุฏิใหม่และมรณภาพที่กุฏินี้

การสร้างคนนั้นเป็นอัธยาศัยที่ท่านสนใจ ภิกษุสามเณรรูปใดมีสติปัญญาสามารถ เที่ยวนำฝากสำนักโน้นสำนักนี้ให้ได้รับการศึกษาชั้นดีต่อไป และเพื่อรับเอาขนบธรรมเนียมของสำนักนั้นมาปฏิบัติพอเหมาะสม เป็นการให้สังคมแก่ศิษย์เป็นอย่างดี วางแนวทางให้มีการติดต่อกัน ให้มีสัมพันธ์ต่อกัน ให้แสดงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ในคณะธรรมยุตท่านก็ส่งเสริมให้ได้บรรพชาอุปสมบท คือศิษย์สมัครใจก็อนุญาต ไม่มีความรังเกียจใครผู้ใด ท่านพูดว่า เรามองกันในแง่ดีจะมีสุขใจ เพียงเท่านี้ก็พอใจแล้ว สำนักที่หลวงพ่อสนใจเป็นพิเศษคือวัดเบญจมบพิตร จะทำอะไรก็ต้องอ้างสมเด็จสังฆนายกก่อน ต้องการอาราธนาในการกุศลเสมอ งานเล็กน้อยก็ต้องต้านทานไว้ บางคราวยอมสงบให้ด้วยความไม่พอใจก็มีเหมือนกัน และสมเด็จสังฆนายกได้เมตตาแก่หลวงพ่อสดวัดปากน้ำอย่างดีเสมอมา

ความเจริญในด้านสมณศักดิ์

ยุคก่อน หลวงพ่อสดไม่ได้รับยกย่องมากนัก ท่านมาอยู่วัดปากน้ำยุคสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ ต่อมา พระราชสุธี (พร้อม ป.๖) วัดสุทัศน์เทพวราราม ลาสิกขาแล้วต่อมาพระสุธรรมมุนี วัดพระเชตุพน ในสามยุคนี้ พระครูสมุห์สด ก็คงได้สมณศักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานเท่านั้น

เมื่อคณะสงฆ์ปกครองโดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอตกมาอยู่ในปกครองของเจ้าคุณพระวิเชียรกวี (ฉัตร ป.๕) วัดหนัง อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี หลวงพ่อก็ยังคงเป็นพระครูตามเดิม ที่เป็นดังนั้นเพราะการปกครองของหลวงพ่ออยู่ในวงแคบ คือเป็นเพียงเจ้าอาวาสพระอารามหลวงตำแหน่งเดียว

อันความจริงหลวงพ่อสดก็ไม่ได้กระตือรือร้นหรือเที่ยววิ่งเต้นและก็ไม่สนใจในเรื่องเช่นนั้น ท่านสนใจอย่างเดียว คือต้องการให้ภิกษุสามเณรมีปัจจัย ๔ บริบูรณ์ เพียงเท่านี้ก็พอใจ

เรื่องที่คณะวัดปากน้ำเดือดร้อนใจอยู่อย่างเดียวในสมัยโน้น คือคณะวัดปากน้ำเห็นต้องกันว่า หลวงพ่อที่เคารพของตนมีคนนับถือมาก กุลบุตรสมัครใจมาบวชปีละหลาย ๆ สิบคน ทั้งหลวงพ่อก็มีภูมิพอจะอบรมให้เกิดความรู้ในการปฏิบัติไม่ยิ่งหย่อนกว่าวัดทั้งหลาย แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ ท่านครองวัดมาแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ มาได้ตำแหน่งอุปัชฌายะเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ นับเป็นเวลา ๓๐ ปีเศษ จึงได้รับ อันความจริงวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงย่อมมีสิทธิพิเศษในการได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ แม้ในยุคใหม่ก็มีกฎหมายเปิดโอกาสถวายเพื่อเกียรติพระอารามหลวง

เมื่อพิจารณาอัธยาศัย หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หนักในกตัญญูกตเวทิตาธรรม เมื่อท่านมาปกครองวัดปากน้ำ ได้รับโยมหญิงผู้ชรามาไว้ สร้างที่อยู่อาศัยและอุปถัมภ์ด้วยเครื่องเลี้ยงชีวิตเป็นอย่างดีจนตลอดชีวิตของโยม แม้คนอื่นก็เหมือนกันท่านย่อมอนุเคราะห์ตามฐานะ

เมื่อสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร อาพาธเป็นอวสานแห่งชีวิต หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ปฏิการะเป็นอย่างดี โดยจัดอาหารและรังนกจากวัดปากน้ำมาถวายทุกวัน ท่านตั้งงบประมาณไว้วันละ ๔๐ บาท พอได้เวลา ๐๔.๐๐ น. ให้คนลงเรือจ้างขึ้นปากคลองตลาด พอถึงวัดพระเชตุพนได้อรุณพอดี สมัยนั้น สะพานพุทธฯ ชำรุดเพราะภัยสงคราม ถนนฝั่งธนบุรีถึงตลาดพลูยังไม่เรียบร้อย รถโดยสารยังไม่มี การคมนาคมต้องใช้เรือจ้าง หลวงพ่อเพียรปฏิบัติฉลองพระคุณดังนี้เป็นเวลาหลายเดือน เมื่อผู้นำอาหารมาถวายกลับไปแล้วต้องรายงานให้หลวงพ่อทราบทุกวัน

การทำคิลานุปัฏฐากเป็นอวสานปฏิการะนี้ น่าจะให้ผลแก่หลวงพ่อมากอยู่ เมื่อเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฐานทตฺต วัดมหาธาตุ หมั่นมาเยี่ยมสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร ผู้กำลังอาพาธหนัก วันหนึ่งเป็นเวลาค่ำแล้ว เจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต ได้ขอร้องให้ช่วยแต่งตั้งพระครูสมณธรรมสมาทานวัดปากน้ำเป็นอุปัชฌายะด้วย เจ้าคุณพระพิมลธรรมยินดีและรับรองว่าจะจัดการให้ตามประสงค์ และต่อมาไม่ช้าตราตั้งเป็นอุปัชฌายะ ก็ตกถึงพระครูสมณธรรมสมาทาน คือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เมื่อได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะแล้ว คณะวัดปากน้ำชื่นชมยินดี กุลบุตรพากันมาบรรพชาอุปสมบทในสำนักวัดปากน้ำทวีขึ้น

อันเจ้าคุณพิมลธรรม ฐานทตฺต นั้น ท่านชอบพอกันมานานในส่วนตัว และพอใจในการปฏิบัติด้วย ท่านเคยพูดว่าท่านพระครูวัดปากน้ำ ถึงมีข่าวอกุศลอย่างไรก็ยังดีมีคนมาขอปฏิบัติธรรมเจริญพระกัมมัฏฐาน ทุกวัดน่าจะทำตามบ้าง

หลวงพ่อสด วัดปากน้ำได้รับสมณสักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานแต่ พ.ศ.๒๔๖๔ นับแต่นั้นมาเป็นเวลา ๒๘ ปี จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถระ ถือพัดยอดพื้นขาวอันเป็นตำแหน่งวิปัสสนาธุระ พ.ศ. ๒๔๙๒ การได้สมณศักดิ์ครั้งนี้ นัยว่าเป็นด้วยคณะสังฆมนตรีได้ทราบเกียรติคุณของท่านอยู่บ้าง จึงได้รับคะแนนส่งเสริมเป็นอันดียิ่ง พระพิมลธรรม (อาสภเถร) วัดมหาธาตุด้วยแล้วส่งเสริมเต็มที่ และได้พยายามส่งเสริมมาทุกระยะกาล เพราะพระพิมลธรรมพอใจในสุปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ

พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะชั้นราช มีราชทินนามว่า “พระมงคลราชมุนี”

พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีพระราชทินนามว่า “พระมงคลเทพมุนี”

เมื่อได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมงคลราชมุนีแล้ว ต่อมาท่านได้อาพาธเกี่ยวแก่ความดันโลหิตสูง เริ่มแต่เดือนมีนาคม ๒๔๙๙ เป็นต้นมา มีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ พลเรือจัตวา เรียง วิภัตติภูมิประเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือ แพทย์ประจำ ได้มาเยี่ยมอาการทุกเช้าเย็นและทำการพยาบาลด้วยตนเอง เมื่อเวลามาเยี่ยมตรวจอาการของโรคใดที่แพทย์สงสัย ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาตรวจรักษา เช่น นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางปอด ทางหัวใจ เป็นต้น โดยที่สุดได้เชิญ คุณพระอัพภันตริกาพาธ ผู้เชี่ยวชาญชั้นเยี่ยมของประเทศไทยมาตรวจและแนะนำ เพราะท่านผู้นี้เป็นอาจารย์ของนายแพทย์ทั้งหมดด้วย โรคนั้นมีแต่ทรงกับทรุด บางคราวก็ทำให้มีความหวังบ้าง

การได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระมงคลเทพมุนี ก็อยู่ในระหว่างอาพาธ อาการของโรคเริ่มจะแสดงว่าหมดหวัง แต่กำลังใจของท่านยังแข็งแกร่ง พอเข้าวังรับพระราชทานสัญญาบัตรได้ คณะวัดปากน้ำก็มีหวังอยู่ว่าคงจะหายจากโรคสักวันหนึ่งนั้นเป็นแต่เพียงความหวัง ตั้งแต่เริ่มอาพาธจนถึงมรณภาพเป็นเวลา ๒ ปีเศษ หลวงพ่อไม่ได้แสดงอาการรันทดใจใด ๆ เลย ต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ เวลาจะลุกจะนั่งไม่พอใจให้ใครไปช่วยเหลือ ท่านพอใจทำเอง ผู้อื่นคอยตามเพื่อช่วยเหลือเวลาท่านเซไปเท่านั้น

นอกจากโรคดังกล่าวแล้ว ยังมีโรคไส้เลื่อนกำเริบขึ้นอีก ถึงกับต้องไปทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราชในระหว่างพรรษา แม้กระนั้นท่านก็ไม่ยอมขาดพรรษา ดิ้นรนมารับอรุณที่วัดปากน้ำจนได้ และได้มาอยู่โรงพยาบาลสงฆ์ ๒ ครั้ง ได้รับการพยาบาลเป็นอย่างดีทุกแห่ง

เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ อาการของโรคกำเริบมากขึ้น ท่านก็คาดว่าจะมรณภาพ จึงได้จัดการฌาปณกิจศพโยมหญิงของท่าน เพื่อสนองคุณมารดาในอวสาน เวลานั้นอาการก็หนักมากอยู่แล้ว แต่ด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง จึงพยายามมาบำเพ็ญกุศลได้จนตลอดพิธี

เวลานับเป็นปี ๆ ที่กำลังอาพาธ ท่านได้กำจัดความประมาททุกวิถีทาง ทุกเวลาเย็นได้เรียกพระไปทำกัมมัฏฐานใกล้ ๆ ท่านเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงบ้าง ๒ ชั่วโมงบ้าง หรือเวลาอื่นก็มีเช่นนั้น เวลากลางคืนก็สั่งงานให้พวกปฏิบัติกระทำกิจกัมมัฏฐาน จิตใจของท่านผูกพันอยู่อย่างนี้ ใครจะทักท้วงประการใด ท่านเพียงแต่ฟัง แต่ไม่รับปฏิบัติตามคำทักท้วงนั้น

เมื่ออาพาธครอบงำท่านได้ ๑ ปีเศษแล้ว วันหนึ่งท่านพูดกับผู้เขียนเรื่องนี้ว่า เจ็บคราวนี้ไม่หาย ไม่มียารักษา เพราะยาที่ฉันมีอยู่นั้นมันไม่ถึงโรค ท่านเปรียบว่ายาที่ฉันนั้นเหมือนมีแผ่นหินมารองรับกั้นไว้ ไม่ให้ยาซึมไปกำจัดโรคได้ ท่านบอกว่ากรรมมันบังไว้ เป็นเรื่องแก้ไม่ได้ ท่านพูดแล้วก็ยิ้มด้วยอารมณ์เย็น

ตั้งแต่อาพาธจนมรณภาพ เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ไม่มีอาการครวญครางแสดงอาการเจ็บปวดเว้นแต่ไม่รู้สึกตัว เมื่อได้สติก็กำจัดได้ ไม่จู้จี้บ่นเอาแก่ใคร จะแสดงความไม่พอใจบ้างก็เฉพาะผู้ไม่มาปฏิบัติธรรมกับท่าน การห่วงใยใด ๆ ไม่แสดงออก วางอารมณ์เฉย สิ่งใดต้องการ ถ้ามีก็เอา ถ้าไม่มีก็นิ่งเฉยและยิ้มรับความไม่มีนั้นด้วย

เรื่องอาหารการขบฉันระหว่างอาพาธ ใครทำถวายอย่างไรฉันอย่างนั้น ที่ถูกปากก็ฉันมาก สิ่งใดที่มีผู้ห้ามก็เลิกฉันสิ่งนั้น แม้จะชอบก็ไม่พยายามฝืนคำห้ามของบุคคล อันผู้ที่ห้ามนั้นเกิดขัดใจกับผู้เขียนก็มีหลายครั้ง

เป็นอันว่า หลวงพ่อสด วัดปากน้ำได้ทำพระกัมมัฏฐานและควบคุมการปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนชีวิตเป็นอวสานสมัย เวลาป่วยไข้ก็ควบคุมและสนใจในการปฏิบัติ ท่านให้ภิกษุมานั่งสมาธิใกล้ ๆ ท่านทุกวัน เป็นงานที่หลวงพ่อสดห่วงมาก และสั่งไว้ว่า งานที่เคยทำอย่างไรอย่าให้ทิ้ง จงพยายามกระทำไป และจงเลี้ยงภิกษุสามเณรดังเคยทำมา.

<>

http://www.itti-patihan.com/

. . . . . . .