ชีวประวัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ บันทึกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗

ชีวประวัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ บันทึกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗

ชีวะประวัติหลวงพ่อวัดปากน้ำ

พระภาวนาโกศลเถร
(สมณศักดิ์ในขณะนั้น)

รวบรวมโดย
วิชัย วุฑฒสิล ป.

เนื่องจากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ นี้ มีนวกะภิกษุถึง ๖๗ รูป ซึ่งนับว่ามีสถิติสูงกว่าทุกปีที่แล้ว ๆ มา ข้าพเจ้าในฐานะเป็นครูอบรมนวกะภิกษุ เห็นสมควรที่จะได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวแก่นวกะภิกษุขึ้นจะเป็นประโยชน์มาก จึงได้ปรารภเรื่องการที่จะจัดทำหนังสือนวกะอนุสรณ์ประจำสำนักวัดปากน้ำขึ้น เพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาทั้งคันถธุระและวิปัสสานาธุระที่มีอยู่ในวัดปากน้ำ และเผยแพร่กิจการของวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์ของนวกะภิกษุประจำปี ๒๔๙๗ อีกด้วย บรรดานวกะภิกษุส่วนมากลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าควรทำเป็นอย่างยิ่ง นวกะอนุสรณ์เล่มนี้จึงอุบัติขึ้นมาอยู่ในมือของท่านผู้อ่าน ณ บัดนี้
การทำหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นผู้เขียนชีวะประวัติของพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อพระภาวนาโกศลเถร ตามคำเรียกร้องของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ซึ่งได้ปรารภกันว่าชีวะประวัติของพระคุณท่านเท่าที่มีผู้เขียนไว้บ้างแล้วนั้นยังน้อยนัก ยังไม่พอแก่ความต้องการของบรรดาศิษย์ที่อยากจะทราบรายละเอียดชีวะประวัติของท่านผู้สามารถสละชีวิตเข้าขุดค้นคุณธรรมพิเศษ และได้วางแบบฉบับออกเผยแพร่ให้ปฏิบัติกันเกือบทั่วประเทศไทย ยิ่งกว่านั้นยังได้แพร่ไปถึงต่างประเทศอีกด้วย ถ้าจะเปรียบกับชีวะประวัติของบุคคลสำคัญทางโลกแล้ว ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อก็จัดเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในพระพุทธศาสนา สมควรเขียนชีวะประวัติของท่านที่แล้วมาให้ละเอียดเป็นหลักฐานในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ใครสงสัยก็ยังสอบถามท่านได้ ทั้งนี้เพื่อประดับความรู้แก่ผู้สนใจ จะได้เป็นคติและแนวทางแห่งชีวิตของอนุชนรุ่นหลังต่อไป ก็จะเป็นที่พอใจของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายของท่าน ข้าพเจ้าจำต้องรับเขียนชีวะประวัตินี้ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็รู้ว่าคงทำให้ละเอียดไม่ได้ บังเอิญโชคเข้าข้างข้าพเจ้าอยู่ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังสืบค้นชีวะประวัติของท่านเจ้าคุณพ่ออยู่นั้น ข้าพเจ้าได้ไปสอบถามคุณป้าดากับคุณปู่นะ ซึ่งเป็นโยมพี่และโยมน้าของท่าน ท่านทั้งสองยังจดจำได้บ้าง จึงเล่ารายละเอียดต่าง ๆ ให้ฟังบ้าง จากหลักฐานที่เคยบันทึกไว้บ้าง ประกอบกับคำบอกเล่าของท่านทั้งสองที่กล่าวมาแล้วนั้น ถึงแม้จะไม่เป็นชีวะประวัติที่ครบถ้วน ก็เป็นรายละเอียดเท่าที่ข้าพเจ้าสามารถจะค้นหามาเขียนได้ อนึ่ง ในบางเรื่องเช่นกาลเวลาจะเอาแน่นั้นไม่ได้เพราะไม่มีผู้ใดสามารถจดจำ แม้บันทึกของท่านเจ้าคุณพ่อก็เขียนไว้ไม่แน่ชัด ทั้งนี้หวังว่าท่านผู้อ่านคงเห็นใจผู้เขียนและอภัยให้ในเมื่อยังไม่พอแก่ความต้องการของท่าน ต่อไปนี้ขอได้โปรดอ่านชีวะประวัติของท่านเจ้าคุณหลวงพ่อพระภาวนาโกศลเถรได้

ก่อนอุปสมบท

หลวงพ่อพระภาวนาโกศลเถร นามเดิมของพระคุณท่านชื่อ สด มีแก้วน้อย เกิด ณ วันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๗ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โยมชายชื่อเงิน เดิมมีชาติภูมิอยู่ที่บ้านบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โยมหญิง ชื่อสุดใจ มีแก้วน้อย อยู่หมู่บ้านสองพี่น้องดั้งเดิม ตระกูลของท่านเป็นตระกูลคหบดีในคลองสองพี่น้อง ทำการรับซื้อข้าวทั่วทั้งอำเภอสองพี่น้อง ตลอดทั้งอำเภอใกล้เคียงอีกด้วย ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๕ คน คือ

นางดา มีแก้วน้อย
พระภาวนาโกศลเถร (สด มีแก้วน้อย)
นายใส มีแก้วน้อย
นายผูก มีแก้วน้อย (ถึงแก่กรรมยังเยาว์)
นายสำรวย มีแก้วน้อย (ถึงแก่กรรมแล้ว)
คุณป้าดา กับคุณปู่นะ เล่าว่าเมื่อยังเป็นเด็กเล็ก ๆ เป็นเด็กฉลาดใจคอเด็ดเดี่ยวหนักแน่นมั่นคง
เมื่อตั้งใจจะทำสิ่งใดแล้ว ต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเด็ดขาด เช่นท่านเคยช่วยโยมหญิงโยมชายเลี้ยงวัว (ที่บ้านระยะแรกทำนาและค้าขายด้วย) วัวพลัดเข้าไปในฝูงวัวของคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นเด็กเล็ก ๆ ท่านจะต้องไปตามวัวมาจนได้ ไม่ว่าวัวจะไปทางไหน หรือมืดค่ำดึกดื่นเมื่อไม่ได้วัวมาก็ไม่ยอมกลับ นอกจากนั้นท่านยังประกอบไปด้วยเมตตาจิตในสัตว์ เช่น ท่านเคยช่วยโยมไถนากับพี่สาวของท่าน (คุณป้าดา) พอถึงเวลาสายใกล้เพลท่านคอยสังเกตดวงตะวัน ว่าใกล้จะเพลแล้วหรือยัง จนพี่สาวของท่านตำหนิว่าเกียจคร้านคอยดูแต่เวลาจะเลิกเท่านั้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านเป็นคนถือในคติโบราณว่าการไถนาจนตีกองเพล (๑๑.๐๐ น.) เขาเรียกว่า “เพลคาบ่าวัว” ถือว่าบาปมาก ท่านทำงานตรงต่อเวลาต่างหาก ถึงจะถูกดุถูกว่าก็ไม่ยอมทำตามและถ้าสัตว์ที่ใช้งานเห็นว่าเหน็ดเหนื่อย ท่านจะต้องนำไปอาบน้ำจนสัตว์เย็นสบายแล้ว จึงปล่อยให้ไปกินหญ้าเป็นอิสระ

ท่านช่วยโยมของท่านทำงานแต่ยังเยาว์วัย มีอายุประมาณ ๙ ปี พอดีกับโยมน้าชายของท่านบวช
เป็นพระภิกษุที่วัดสองพี่น้อง โยมหญิงของท่านจึงส่งตัวเข้าไปเรียนหนังสือปฐม ก. กา. ตามหลักการศึกษาในสมัยนั้นอยู่ได้ไม่นานเท่าใดนัก พระภิกษุนะ, ผู้เป็นน้าได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหัวโพธิ์, ตำบลหัวโพธิ์, อำเภอสองพี่น้อง ท่านได้ติดตามไปเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระภิกษุนะประมาณ ๗-๘ เดือนต่อจากนั้นพระภิกษุนะได้ย้ายไปจำพรรษาเสียที่วัดกัลยาณมิตร จังหวัดธนบุรี ท่านจึงย้ายไปเรียนหนังสือที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ในสำนักของพระอาจารย์ทรัพย์ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางปลา อายุของท่านเวลานั้นประมาณ ๑๑ ปีเศษ อยู่ในสำนักพระอาจารย์ทรัพย์ประมาณ ๒ ปี มีความรู้ภาษาไทยและภาษาขอมพอสมควร จึงกลับไปอยู่บ้านเดิมอีกประมาณ ๑ ปี เมื่อท่านอายุได้ ๑๔ ปีโยมชายได้ถึงแก่กรรมลง ท่านต้องเข้าควบคุมการค้าแทนโยมผู้ชาย ขณะนั้นมีเรือบรรทุกข้าวข้างกระดานใหญ่สองลำ พร้อมทั้งลูกเรือหลายคน ล่องเรือค้าข้าวระหว่างสองพี่น้องกับกรุงเทพฯ กระทำเดือนละ ๒-๓ ครั้งเรื่อย ๆ มา ในระหว่างทำการค้าท่านฉลาดในการปกครอง ลูกเรือต่างก็รักและนับถือท่านว่าเป็นคนเด็ดขาดมีความพยายามไม่ท้อถอยต่อการงาน คุณปู่นะเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านล่องข้าวลงมาขายที่กรุงเทพฯ กำลังอยู่ในกรุงเทพฯ จอดเรือที่คลองบางกอกน้อย ถูกลูกจ้างของพี่เขยขะโมยเงินและทองไปประมาณ ๑,๐๐๐ บาทเศษ (ในสมัยโน้นนับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่) ท่านพยายามติดตามไม่ลดละ และได้ตั้งใจว่าเมื่อจับคนร้ายไม่ได้ท่านไม่ยอมกลับเด็ดขาด จึงเริ่มดำเนินการติดตามโดยไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ นายร้อยตำรวจฝรั่งถามถึงบ้านของขะโมย ทราบว่าอยู่คลอง ๑๒ นายร้อยตำรวจได้นำเรือกลไฟมารับในตอนเย็นไปบ้านเมียเจ้าขโมย ท่านก็ไปกับนางพับและตำรวจอีก ๔ คน ต้องแล่นเรือไปไม่หยุดเลยตลอดคืน พอสว่างก็ถึง ท่านเห็นหน้าคนร้ายโผล่ช่องหน้าต่างหลังบ้านอยู่ จึงแจ้งให้นายตำรวจทราบ กว่าเรือจะชลอฝีจักรกลับลำมาหยุดหน้าบ้านคนร้ายได้กินเวลาหลายนาทีท่านเห็นผ้าขาวม้าของคนร้ายก็จำได้แต่ค้นหาตัวคนร้ายไม่พบเสียแล้ว ท่านจึงได้ตรวจดูทางหนีของคนร้าย เห็นฟองน้ำแตกเป็นทางไป จึงบอกให้ตำรวจทั้ง ๔ คนไปยืนคุมเชิงอยู่ที่มุมคันนา ตัวท่านเองตามคนร้ายไปตามรอยฝ้าน้ำ ตามไปประมาณกลางคันนา พบคนร้ายนอนหลบซ่อนซังข้าวอยู่ พอมันเห็นท่านเข้าก็ดำน้ำวูบลงไป ท่านก็เรียกตำรวจและแจ้งให้ทราบที่ซ่อนตำรวจดึงตัวคนร้ายขึ้นมาแล้วจะสวมกุญแจมือ คนร้ายขัดขืน ตำรวจจึงกระทุ้งด้วยพานท้ายปืน ๒-๓ ครั้งมันจึงยอมให้ใส่กุญแจมือได้ ต่อจากนั้นก็นำตัวคนร้ายกลับมายังบ้านเมียของมันค้นหาทรัพย์ของกลาง ก็พบหมกซ่อนอยู่ในกระบุงข้าวเปลือกเป็นเงิน ๙๐๐ บาทเศษ แล้วจึงนำตัวผู้ร้ายมาผูกเข้ากับเสาเก๋งเรือไฟ ล่องเรือกลับลงมากรุงเทพฯ เมื่อถึงสถานีตำรวจให้การแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเสร็จแล้วตำรวจได้เอาเรือมาส่งที่เรือข้าวของท่านที่คลองบางกอกน้อย แล้วท่านจึงนำเรือกลับบ้าน

เหตุที่ท่านปฏิญาณตนบวชจนตาย

ท่านทำการค้าขายหาเลี้ยงโยมหญิงและครอบครัวตลอดจนผู้อยู่อาศัยในบ้านเรื่อยมา จนอายุของท่านย่างเข้า ๑๙ ปี ขณะที่ทำการค้านั้น วันหนึ่งเมื่อท่านนำเรือเปล่ากลับบ้าน (มีเงินที่ขายข้าวได้หลายพันบาท) เส้นทางที่จะกลับบ้านเต็มไปด้วยอุปสรรคนานาประการ น้ำในแม่น้ำลำคลองก็ไหลเชี่ยว เรือก็ต้องแจวต้องถ่อเพราะไม่มีการลากจูงด้วยเรือยนตร์ดังสมัยนี้ เมื่อนำเรือกลับจำเป็นต้องผ่านลัดคลองเล็กซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “คลองบางอีแท่น” อยู่เหนือตลาดใหม่ อ.นครไชยศรี จ.นครปฐม คลองลัดนี้ไม่ยาวเท่าไรนัก แต่ทว่าเป็นคลองเปลี่ยวมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ปรากฎว่าเรือค้าขายที่ผ่านไปมาทางนั้นมักถูกปล้นสดมถ์บ่อย ๆ ในตอนนี้ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า “อ้ายน้ำก็เชี่ยว, อ้ายคลองก็เล็ก, อ้ายโจรก็ร้าย” เนื่องจากคลองเล็กและโจรร้ายดังท่านกล่าว บรรดาเรือสินค้าที่ผ่านไปมาได้ความปลอดภัยก็นับว่าโชคดี ในวันนั้นบังเอิญเรือของท่านลำเดียวผ่านเข้าไปในคลองนี้ พอเรือผ่านเข้าคลองได้หน่อยหนึ่งสัญชาติญาณแห่งความกลัวก็เกิดขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่จะเอาตัวรอด โดยสับเปลี่ยนเอาลูกเรือมาถือท้ายแทน เพราะว่าธรรมดาโจรปล้น ย่อมจะทำร้ายผู้ถือท้ายเรือซึ่งเป็นเจ้าของก่อน ถ้าไปอยู่ทางหัวเรือก็มีโอกาสที่จะต่อสู้และเอาตัวรอดได้ง่าย เมื่อคิดดังนั้นแล้ว ก็หยิบปืนยาวบรรจุกระสุนเสร็จ ๘ นัด ไปอยู่หัวเรือให้ลูกจ้างถือท้ายแทน ขณะถ่อเรือแทนลูกจ้างอยู่นั้น เรือก็แล่นเข้าสู่ที่เปลี่ยวหนักขึ้นทุกที ๆ พลันก็เกิดความคิดแวบขึ้นในขณะนั้น ตอนนี้ท่านเล่าว่า “คนพวกนี้เราจ้างเขาคนหนึ่ง ๆ เพียง ๑๑-๑๒ บาทเท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นเจ้าของทั้งทรัพย์ทั้งเรือความตายจะโยนไปให้ลูกจ้างตายก่อนดูจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์มากเกินไป ทำอย่างนี้ไม่ถูก ไม่เป็นการสมควร” ท่านคิดไปถ่อไป จิตก็เกิดเมตตาและตำหนิตนเองถึงการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ท่านจึงตัดสินใจเด็ดขาดลงไปว่า “ทรัพย์ก็ของเรา, เรือก็ของเรา, เราควรตายก่อนดีกว่า ลูกจ้างนั้นเมื่อมีภัยมาถึง เขาจะได้หนีเอาตัวรอดไปทำมาหาเลี้ยงบุตรภรรยาของเขาได้อีก” เมื่อตกลงใจเช่นนั้น จึงเรียกลูกเรือให้มาถ่อเรือแทน ส่วนท่านก็ถือปืนคู่มือ กลับมานั่งถือท้ายเรือตามเดิม ยอมเสี่ยงรับอันตรายแต่ผู้เดียว การเดินทางใกล้จะออกจากคลองลัดอยู่แล้ว พอดีเป็นเวลาน้ำเอ่อขึ้นไหลสวนทางมา บรรดาเรือสินค้าหนัก ๆ ที่จะผ่านเข้าคลองสวนทางมาจอดคอยน้ำอยู่ปากคลองแน่นขนัด พอน้ำขึ้นเรือเหล่านั้นก็ถ่อสวนมาปะทะกัน เรือจะขึ้นก็ขึ้นไม่ได้ จะล่องก็ล่องไม่ได้ ต่างส่งเสียงกันเอะอะเซ็งแซ่ ท่านบันทึกของท่านไว้ว่า “พ่อค้าจีนก็ล้งเล้งกลัวเรือจะชนกัน ร้องออกมาว่า “ตู๊อ้า ๆ” ต่างฝ่ายต่างก็ปักหลักกรานจอดนิ่งอยู่กับที่ แล้วความคิดท่านก็เกิดขึ้นว่า “เราเป็นคนท้ายผ่านพ้นอันตรายมาได้แล้ว เป็นบุญแท้ ๆ การหาเงินหาทองมันเป็นของลำบากเสียจริง ๆ ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ บิดาของเราก็หากินมาอย่างนี้ เราก็เจริญรอยตามอีก เงินทองที่หามาได้ทั้งหมดนี้ ต่างคนต่างก็หา ไม่มีเวลาหยุดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาไว้ให้มั่งมีก็เป็นคนต่ำคนเลว ไม่มีใครนับหน้าถือตาสมาคมด้วย เมื่อเข้าที่ประชุมก็น้อยหน้าเขา เพราะจนกว่านั่นเอง โลกเราเป็นดังนี้เสมอมา บุรพชนต้นตระกูลของเราก็เป็นมาดังนี้ จนนับไม่ถ้วนว่าใครบ้าง สืบมาจนกระทั่งบิดาของเราและตัวเราจนบัดนี้ ก็ท่านบุรพชนทั้งชายหญิงเหล่านั้นไปไหนกันเสียหมดเล่า? เรื่องนี้ก็ปรากฎแก่ใจเราอยู่แล้วว่า ท่านเหล่านั้นตายไปหมดแล้ว ตลอดถึงบิดาเราก็ตายด้วยตัวของเราเล่า ? ก็ต้องตายเหมือนกับท่านเหล่านั้นอีก” พอคิดถึงความตายขึ้นมาดังนี้แล้ว ใจก็ชักเสียว นึกถึงความตายที่รอดมาเมื่อสักครู่ และที่จะมาถึงในวันข้างหน้า “เราต้องตายเหมือนบิดาเราแน่ ๆ ไม่ต้องสงสัย บิดาเราล่องเรือข้าวมาเริ่มป่วยไปจากในเรือระหว่างทาง พอขึ้นจากเรือก็ป่วยหนัก แล้วถึงแก่กรรมขณะที่บิดาเจ็บป่วยเราก็ช่วยพยาบาลจนสุดความสามารถ แต่ก็ไม่อาจจะช่วยให้ท่านรอดพ้นจากความตายไปได้ ท่านตายไปแล้ว ไม่เห็นเอาอะไรติดตัวไปได้เลย สังขารดับไปเฉย ๆ ตัวเราพี่น้องเรา ตลอดถึงมารดาของเรา ก็ไม่มีใครตายไปกับท่านด้วย ท่านดับไปคนเดียวแท้ ๆ ถึงตัวเราเองก็ต้องเป็นดังท่านเหมือนกัน จะพ้นจากความตายอย่างนั้นไม่ได้แน่” เมื่อท่านได้คิดเช่นนั้นแล้ว ท่านก็ทดลองนอนตายที่ท้ายเรือแล้วลองคิดว่าท่านตายแล้ว และเที่ยวไปหาญาติพี่น้องหรือเพื่อนที่รักกันบ้าง คนเหล่านั้นเขาก็ไม่เห็นท่าน เพราะท่านเป็น “ผี” แล้วท่านก็เอาก้อนดินหรือท่อนไม้โยนไปให้ถูกเขา เขาก็ต้องว่าผีโยนมาหรือฝีปามา เพราะเขาไม่เห็นท่านไปหาคนโน้นก็ไม่เห็นไปหาคนนี้ก็ไม่เห็นนอนคิดอยู่อย่างนี้จนเผลอตัว พอรู้สึกตัวขึ้นมาก็รีบลุกขึ้นจุดธูปบูชาพระ แล้วอธิษฐานจิตในขณะนั้นว่า “ขออย่าให้ข้าพเจ้าตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วข้าพเจ้าจะไม่ลาสิกขาบท ขอบวชไปจนตลอดชีวิต” นี่เป็นบรรทึกคำอธิษฐานของท่าน ดังนี้เราจะเห็นได้ว่า เหมือนกับท่านได้เริ่มบวชมาตั้งแต่อายุ ๑๙ ปีเศษนั้นแล้ว

อุปสมบท

ต่อแต่นั้นมา การดำเนินอาชีพทางการค้าขายได้ดำเนินมาเป็นปรกติ คำอธิษฐานของท่านยังคงฝังแน่นอยู่ในจิตใจตลอดมา จนอายุครบบวชก็ยังบวชไม่ได้ เน่ื่องจากมีภาระต้องค้าขายหาเลี้ยงโยมหญิง และผู้คนในครอบครัวหลายคนด้วยกัน แสดงว่าท่านเป็นคนเลี้ยงคนมาตั้งแต่ยังเป็นคฤหัสถ์ เมื่ออายุของท่านย่างเข้า ๒๒ ปีก็ปรารภถึงการบวช ในปีนั้นเองพอถึงเดือน ๖ ข้างขึ้นก็บรรทุกข้าวลงเรือแล้วให้ลูกจ้างมาขายกรุงเทพฯ ได้มอบให้ลูกเรือคนหนึ่งเป็นตัวแทนควบคุมลงมา ส่วนตัวท่านก็เข้าอยู่วัดเป็นเจ้านาค ศึกษาเบื้องต้นแห่งการอุปสมบท ในสำนักท่านปลัดยัง เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้องผู้เป็นตาของท่าน ท่านปลัดยังได้ส่งหนังสือวินัยให้ดูหนังสือนี้เป็นสมุดข่อย เขียนตัวบรรจงงดงามมาก ท่านเริ่มท่องจำวิธีบรรพชาและอุปสมบท และอ่านพระวินัยไปพร้อมกันด้วย ใกล้เข้าพรรษาจึงไปนิมนต์พระอุปัชฌาย์ ดี วัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี มาเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๔๙ มีพระครูวิณญานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชติ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจาย์ โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ รุ่งขึ้นวันที่ ๒ หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้เริ่มเรียนวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์โหน่ง (ท่านผู้นี้ได้ศึกษามาแต่สำนักของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยและธรรมปฏิบัติ เป็นที่เคารพนับถือของชาวสองพี่น้องมาก) ครั้นบวชแล้วท่านได้เริ่มศึกษาทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระตลอดพรรษาแรก ท่านเคยเล่าว่า ท่านท่องหนังสือสวดมนต์จบหมดถึงพระปาฏิโมกข์ ในพรรษานั้นเอง ในด้านคันถธุระนี้ ท่านท่องไปถึงตอนที่ว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” ท่านเริ่มสงสัยอยากจะรู้เรื่องว่า แปลว่าอะไรกัน จึงไปถามพระพี่ชายซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง บวชมาได้ ๓ พรรษาแล้วว่าข้อความนั้นแปลว่ากระไรพระพี่ชายก็แปลไม่ได้ ท่านจึงไปถามอาจารย์อีกรูปหนึ่ง ท่านกลับตอบว่า “เขาไม่แปลกันหรอกคุณ อยากจะรู้ต้องไปเรียนที่บางกอก” ท่านจึงกลับมาเริ่มตำหนิในใจว่า พระวัดนี้โง่ท่องแล้วไม่รู้เรื่อง ท่องไปทำไมกัน? นี่เป็นประตูทำให้คนโง่ไม่รู้ว่าเท่าไรแล้ว จึงดำริจะลงมากรุงเทพฯ
นับแต่อุปสมบทมาได้ ๗ เดือนเศษ ท่านจึงไปหาโยมหญิงหาวิธีพูดจาชักจูงโยมหญิงเพื่อขอโอกาศไปศึกษาที่กรุงเทพฯ โยมไม่เต็มใจให้จากมา แต่ในที่สุดก็ยอมด้วยความไม่เต็มใจ ท่านจึงขอปัจจัย ๑ ชั่งเพื่อเป็นค่าเดินทาง การขอนี้ท่านตั้งใจว่าจะขอเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อออกจากวัดสองพี่น้องมาแล้ว ได้มุ่งตรงมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ ที่เดียว ในระยะนั้นคัมภีร์ที่จะเล่าเรียนศึกษาที่ยังไม่มีก็ได้ให้สีกาพี่ของท่านจัดซื้อสร้างถวาย ท่านเล่าว่า ท่านเคยชอบศึกษาทุกอย่าง ที่นับว่าเป็นวิชาซึ่งนิยมกันในสมัยนั้น เช่น โหราศาสตร์, ไสยศาสตร์, ที่สุดจนเล่นแร่แปรธาตุ, หุงปรอททุกชนิด และได้ทดลองทำดูทุกอย่างว่า อะไรจะเป็นของจริงบ้าง ท่านไม่เคยตำหนิวิชาของใคร ว่าเป็นของไม่จริง ชมว่าเป็นของดีทั้งนั้น แต่ท่านไม่ติดใจในวิชาเหล่านั้น ต่อมาท่านได้เลิกเด็ดขาด มอบตำหรับตำราให้คนอื่นไปหมด คงยึดวิชาวิปัสสนาอย่างเดียวเท่านั้น
ในขณะมาเรียนหนังสืออยู่นั้น ท่านได้เอาน้องชายคนเล็ก ชื่อ สำรวย มาอยู่ปฏิบัติและให้เล่าเรียนหนังสือใหญ่ (ขอม) คือมูลกัจจายนะที่สำนักเรียนวัดเชตุพนฯ ด้วย จนพรรษาที่ ๔ ท่านจึงได้ย้ายไปรักษาตัวด้วยโรคไข้ทรพิษที่วัดชัยพฤกษ์มาลาชั่วคราว และได้เอานายสำรวยไปอยู่ด้วย วันหนึ่งท่านเกิดนิมิตว่า มีชายคนหนึ่งเอาทรายมาถวาย ๑ บุ้งกี๋ท่านเอื้อมมือหยิบมานิดเดียว ส่วนน้องชายกอบไว้ถึงสองกำมือเต็ม ๆ หลังจากนิมิตได้ไม่กี่วัน น้องชายท่านก็ป่วยเป็นไข้ทรพิษมีอาการหนักมาก ตัวท่านเองก็เป็นด้วย แต่มีอาการน้อย พออาการป่วยของท่านค่อยทุเลาลงจึงรีบพาน้องชายขึ้นไปรักษาที่บ้านสองพี่น้อง แต่ไม่หาย ได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๑๘ ปี ได้จัดการปลงศพเสร็จแล้วท่านจึงกลับมาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ตามเดิม
ขณะที่ท่านเรียนหนังสืออยู่นั้นท่านต้องลำบากมากบางวันบิณฑบาตไม่พอฉันบางวันไม่ได้เลย ได้แต่เพียงส้มผลเดียวก็เคยมี พระคุณท่านเองได้เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อมาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ใหม่ ๆ ออกบิณฑบาตวันแรกไม่ได้อะไรเลย วันที่สองก็ไม่ได้อีกท่านมาคิดคำนึงว่าท่านเป็นผู้มีศีลจะอดตายเช่นนั้นหรือ? ถ้าเป็นจริงท่านก็ยอมตาย ท่านบิณฑบาตไม่ได้ข้าวท่านก็ไม่ฉันของอื่น, ยอมอดด้วยคิดว่า ถ้าเราตายลงไป ภิกษุหมดทั้งนครต้องมีอาหารบิณฑบาตพอหมดทุก ๆ รูป เพราะคนลือก็จะพากันสงสารภิกษุไปตาม ๆ กันเท่านั้น จึงไม่ยอมดิ้นรนหา ครั้นวันที่สามท่านออกไปบิณฑบาตรอีก วันนั้นเดินอยู่จนสายได้ข้าวเพียงหนึ่งทัพพีกับกล้วยน้ำว้าหนึ่งผล กลับมาถึงกุฏิด้วยความเหนื่อยอ่อน เพราะไม่ได้ฉันมา ๒ วันแล้ว ท่านจึงเริ่มที่จะลงมือฉันข้าวหนึ่งทัพพีนั้น ก็นั่งลงจับอาหารในบาตรพิจารณาด้วยปัจจเวกเสร็จแล้วใส่ปากเข้าไปคำหนึ่ง พอดีท่านเหลือบไปเห็นสุนัขท้องติดสันหลังผอมเดินโซเซได้อดอยากมาเป็นเวลานานวัน ท่านเกิดเมตตาปราณีสงสารสุนัขตัวนั้น จึงปั้นข้าวที่เหลืออีกคำหนึ่งกับกล้วยครึ่งผล ก่อนให้ทานสัตว์นั้น ท่านได้อธิษฐานจิตว่า “ขึ้นชื่อว่าความอดอยากเช่นนี้ ขออย่าให้มีอีกเลย” แล้วจึงให้ก้อนข้าวแก่สุนัชตัวนั้น สุนัขตัวนั้นกินแต่ข้าวส่วนกล้วยหากินไม่ ท่านก็คิดว่าไม่รู้ว่าเจ้าไม่กินท่านก็คิดจะเอากล้วยกลับมาอีก แต่คิดขึ้นมาได้ว่าของสิ่งนั้นท่านได้สละให้ทานไปแล้ว ไฉนจึงจะเอากลับคืนมาฉันอีกเป็นการไม่สมควร เพราะได้สละขาดไปแล้ว เอามาฉันอีกก็ต้องประเคนใหม่ ในที่นั้นก็ไม่มีใครที่จะประเคนด้วย
ด้วยอำนาจศีลและสัจจของท่าน นับแต่วันนั้นมาท่านไปบิณฑบาตรปรากฏว่าได้อาหารมากมายถึงกับฉันไม่หมด ต้องแบ่งถวายพระภิกษุอื่น นอกจากนั้นมีคุณนายนวมบ้านอยู่ตลาดท่าเตียน ปวารณาทำปิ่นโตอาหารส่งอีกทุกวันนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ความยากลำบากในการขบฉันของพระภิกษุซึ่งปรากฏกับพระคุณท่านดังนั้น เป็นเหตุให้พระคุณท่านดำริว่า “ตัวเราเมื่อมีกำลังพอเมื่อใดจะจัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงพระเณร โดยไม่ต้องให้ลำบาก เป็นการเสียเวลาในการศึกษาเล่าเรียน” นี้เป็นความตั้งใจของพระคุณท่าน และความตั้งใจของพระคุณท่านนั้นได้ถึงจุดสำเร็จสมควรปรารถนา นับเป็นองค์แรกในประเทศไทยที่สามารถตั้งโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงพระภิกษุสามเณร-อุบาสกอุบาสิกา มีจำนวนถึง ๘๐๐ เศษเป็นประจำทุกวัน เป็นอันว่าความปรารถนาของท่านนั้น เป็นผลสำเร็จอันไพศาลและกิจการยังคงดำเนินอยู่จนทุกวันนี้

เรื่องการศึกษา

เมื่อท่านเล่าเรียนศึกษาอยู่สำนักวัดพระเชตุพนฯ นั้น ท่านได้เรียนมูลกัจจายะนะถึงสามจบ พระธรรมบท ๘ ภาค และพระคัมภีร์มังคลัตถทีปนี กับสารสงเคราะห์แต่ไม่ทันจบ แปลออกพอสมควรแล้วท่านได้เข้าสอบสนามหลวงหนึ่งครั้งก็บังเอิญตก ท่านก็ไม่สอบอีกต่อไป ท่านเล่าว่าถ้าสอบเป็นเปรียญได้แล้ว จะถูกทางคณะสงฆ์ใช้งานจะเสียการศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ เพราะเมื่อขณะท่านเรียนหนังสืออยู่นั้น ท่านได้ปฏิบัติตามแบบพระอาจารย์โหน่งตลอดมา วันใดหยุดการเล่าเรียนคันถธุระ ท่านมักจะแสวงหาความรู้ในด้านวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านวิปัสสนาในสำนักต่าง ๆ ทำคู่กันไปด้วย ปรากฏว่าท่านได้ไปศึกษากับท่านเจ้าคุณสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นครั้งที่สามและท่านได้ศึกษาจากท่านพระครูฌาณภิรัติ ในวัดพระเชตุพนฯ นั้นอีก ทำเป็นครั้งที่สี่ และครั้งที่ห้าท่านได้ไปศึกษาในสำนักของพระอาจารย์สิงห์วัดละครทำหลังวัดระฆังโฆสิตาราม ท่านเคยเล่าว่า ท่านได้ดวงใสประมาณเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ศูนย์กลางกายของท่านเป็นอันได้ผลตามแบบของพระอาจารย์สิงห์ ท่านรับรองว่าได้ตามแบบของท่านแล้ว และมอบให้ท่านเป็นอาจารย์สอนคนอื่นต่อไปได้ ท่านเห็นว่า ธรรมที่ได้มานี้ไม่เป็นที่พอใจ ท่านว่ามีความรู้แค่หางอึ่งเท่านี้ จะสอนเขาได้อย่างไร ท่านจึงไม่ยอมสอนใคร ต่อมาว่างการศึกษาคันถธุระ ท่านเห็นว่าเวลาสมควร ท่านปรารถนาออกเดินธุดงค์ ท่านได้ให้คุณป้าดา สีกาพี่ของท่านสร้างกลดถวาย ผู้อื่นจะสร้างถวายก็ไม่เอา ชรอยว่าท่านจะสงเคราะห์สีกาพี่ผู้มีอุปการคุณ เมื่อได้กลดสมความประสงค์แล้ว พระคุณท่านได้ออกธุดงค์ การธุดงค์มีเวลาประมาณเท่าใดท่านเองก็จำไม่ได้ ครั้นกลับจากธุดงค์แล้ว ก็เอากลดถวายพระภิกษุองค์อื่นไป ต่อมาพระคุณท่านปรารถนาจะธุดงค์อีกเป็นครั้งที่สอง ก็ได้ให้คุณป้าดาสร้างกลดถวายอีก ในครั้งหลังนี้ปรากฏว่าได้เดินทางไปถึงสุพรรณบุรี ปักกลดที่วัดร้าง ข้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ท่านได้เห็นเด็กนำวัวเข้าไปในบริเวณนั้น ท่านจึงกล่าวห้ามว่า อย่าปล่อยให้วัวเดินเหยียบย่ำพระซึ่งอยู่ใต้พื้นดิน จะมีบาปมาก บรรดาเด็กและคนเลี้ยงวัวทั้งหลาย ไม่เชื่อว่าจะมีพระอยู่ใต้แผ่นดิน ถึงกับมีการประณามท่านต่าง ๆ ในที่สุดท่านได้บอกให้เขาลองขุุดดูก็ได้พระพุทธรูปขึ้นมาหลายองค์ นับว่าเป็นมหัศจรรย์อันหนึ่งที่ท่านสามารถทราบได้ นั่นแหละจึงเป็นที่เชื่อถือของบุคคลเหล่านั้น ต่อมาท่านกลับมายังวัดพระเชตุพนฯ ดังเดิม

ปฏิบัติได้วิปัสนา

ครั้นถึงพรรษาที่ ๑๑ ท่านได้หยุดการเล่าเรียนคันถธุระ เพราะความรู้ที่จะแปลมคธภาษาเพื่อค้นธรรม ได้เป็นที่พอใจ การเรียนแปลมคธภาษานั้น ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ความสิ้นสุดควรมีเพียงอ่านออกและแปลได้ และเข้าใจความหมายเท่านั้นก็ได้แปลออกสมความมุ่งหมายเดิมที่ตั้งใจไว้แต่แรกแล้วว่า การเล่าเรียนจะต้องแปลหนังสือมหาสติปัฎฐานลานยาว ซึ่งเคยแปลไม่ได้ ที่วัดสองพี่น้องนั้น ถ้ายังแปลไม่ออกก็จะไม่หยุดการเล่าเรียน บัดนี้ก็สามารถแปลได้สมความตั้งใจเดิมแล้ว ท่านจึงหยุดการเล่าเรียนคันถธุระด้วยประการฉะนี้
เมื่อท่านหยุดการเล่าเรียนแล้วนี้เอง ท่านพิจารณาเห็นว่า ในบริเวณพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ มีอาณาเขตกว้างขวางดี เหมาะแก่การเป็นสถานที่ปฏิบัติกรรมัฏฐาน แต่เมื่อมาระลึกถึงอุปการะคุณของท่านเจ้าอธิการชุ่มวัดบางคูเวียง คลองบางกอกน้อย ซึ่งได้เคยถวายคัมภีร์มูลกัจจายะนะ และคัมภีร์พระธรรมบทให้ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมนั้น-ก็มีอุปการะคุณอยู่มาก ควรจะไปจำพรรษาที่วัดบางคูเวียง เพื่อจะได้แสดงธรรมแจกจ่ายแก่พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เป็นบรรณาการตอบแทนอุปการะคุณแก่วัดนั้นบ้าง จึงไปจำพรรษาที่วัดบางคูเวียงในพรรษาที่ ๑๑
ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดบางคูเวียง พอได้กึ่งพรรษาได้หวลระลึกขึ้นว่า ความตั้งใจจริงในการบวชตั้งแต่อายุ ๑๙ ปีโน้น โดยปฏิญาณตนว่าจะบวชตายนั้น บัดนี้ก็ได้บวชมา ๑๒ พรรษาแล้ว ของจริงของแท้ ที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็นนั้นท่านยังไม่บรรลุ ยังไม่รู้ยังไม่เห็น สมควรจะเจริญกรรมัฏฐานอย่างจริงจังเสียที การปฏิบัตินี้จะตายก็ตายไป ดีกว่าตายเสียเมื่อก่อนบวชหรือไม่ได้บำเพ็ญกรรมัฏฐานตาย เมื่อตกลงใจเช่นนั้นแล้ว ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ก็เข้าสู่พระอุโบสถแต่เวลาเย็น ตั้งสัตยาธิษฐานมั่นทีเดียวว่า ถ้านั่งลงไปแล้ว ไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นจะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต เมื่อตั้งจิตมั่นเช่นนั้นแล้วจึงได้เริ่มปรารภนั่งและตั้งจิตอ้อนวอนแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดประทานธรรม ที่พระองค์ทรงเห็น ทรงตรัสรู้ให้ อย่างน้อยที่สุดก็เพียงส่วนน้อยที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ถ้าหากการบรรลุธรรมของพระองค์แล้วจักเกิดโทษแก่พระศาสนา ก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้วขอได้โปรดพระราชทานเถิด ก็เริ่มขัดสมาธินั่งเข้าที่ภาวนา พอดีนึกถึงมดขี้ที่อยู่ในระหว่างช่องแผ่นหินซึ่งกำลังต่ายอยู่ไปมา ท่านจึงหยิบขวดน้ำมันก๊าสเอานิ้วมือจุ่มเพื่อจะเขียนวงให้รอบตัวกันมดรบกวน แต่พอจดนิ้วที่พื้นหินก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ชีวิตของท่าน ได้อธิษฐานสละแล้ว เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีกนึกละลายตัวเอง จึงวางขวดน้ำมันก๊าสเจริญกรรมัฏฐานทันที เวลาล่วงไป ๆ จนดึกไม่ทราบว่าเป็นเวลาเท่าไร เพราะนาฬิกาไม่มี ก็ได้เห็นของจริง ของแท้ อันเป็นทางบรรลุแห่งพระองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า (ซึ่งมีข้อความแจ้งชัดอยู่แล้วในหนังสือเล่มนี้ เรื่องการสอนธรรมวันพฤหัสบดีหรือหนังสือธรรมกาย เรียบเรียงโดย พระทิพย์ปริญญาหรือคู่มือสมภาร)
ในขณะนั้นก็เกิดปริวิตกว่า พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนักยากที่มนุษย์จะเข้าถึง ถ้าจะให้เข้าถึงได้ต้องรู้ตรึกรู้นึก และรู้คิดนั้นหยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ, ดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริง ของจริงอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้แล้ว เป็นไม่เห็นเด็ดขาด ท่านวิตกอยู่อย่างนี้ประมาณครู่ใหญ่เกรงว่าความมีความเป็นที่ได้บรรลุแล้ว จะเลื่อนเสีย ท่านจึงเข้าเจริญภาวนาต่อไปใหม่ประมาณสักครู่ใหญ่ก็ได้เห็นวัด ๆ หนึ่ง ปรากฏขึ้น ท่านจำได้ว่า เป็นวัดบางปลา ท่านรู้สึกในใจในขณะนั้นดูเหมือนตัวท่านไปอยู่ที่วัดนั้น ทำให้คิดว่าที่วัดบางปลานี้อาจมีผู้สามารถจะบรรลุธรรมดังที่ท่านได้เห็นนั้นบ้างก็ได้ วัดบางปลาจึงได้ปรากฎให้ท่านเห็นเช่นนั้น
นับแต่นั้นเป็นต้นมาท่านก็ปฏิบัติการค้นคว้าหาที่สุดแห่งธรรม ณ สำนักวัดบางคูเวียงนั้น ยิ่งค้นก็ยิ่งลึกซึ้งหนักเข้าทุกที ได้ปฏิบัติเช่นนั้นต่อมาอีกประมาณเดือนเศษพอดีออกพรรษา รับกฐินแล้วก็ลาท่านเจ้าอาวาสไปพักอยู่ที่วัดบางปลา ซึ่งเคยปรากฏแก่ท่านมาแล้วในขณะเจริญกรรมัฏฐาน ทั้งนี้เพื่อไปดำเนินการสอนธรรม ที่ท่านได้รู้ได้เห็นนั้นและทำการสอนธรรมอยู่ประมาณ ๔ เดือน มีพระภิกษุที่เจริญรอยตามท่านได้ ๓ รูป คือพระภิกษุสังวาลย์ พระภิกษุแบนและพระภิกษุอ่วม กับคฤหัสถ์อีก ๔ คน ท่านได้พาพระภิกษุสังวาลย์ไปจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง นับเป็นพรรษาที่ ๑๓ ณ วัดนี้มีพระภิกษุได้เห็นธรรมตามท่านอีกหนึ่งรูปคือ พระภิกษุหมก (ภิกษุรูปนี้ เมื่อมาจำพรรษา ณ วัดปากน้ำ หลวงพ่อได้ส่งไปสอนธรรมแก่เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ จัน-สิริจันโท-วัดบรมนิวาสจนได้บรรลุธรรมกาย)
เมื่อออกพรรษารับกฐินแล้ว ท่านได้เดินทางไปพักที่วัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ของท่าน แต่ท่านได้มรณภาพไปแล้วที่วัดนี้ท่านพักอยู่ ๔ เดือน ขณะที่พักอยู่มีประชาชนมาอ้อนวอนขอให้ท่านแสดงธรรมโปรดหลายครั้ง ท่านเสียไม่ได้ก็ได้แสดงพระธรรมเทศนาซึ่งเป็นที่พอใจแก่ประชาชนมาก ได้มีผู้มาขอร้องให้แสดงธรรมอีกเป็นครั้งที่สอง แต่ท่านรู้ทีเดียวว่า การเทศน์ครั้งที่สองนี้ จะทำให้เจ้าอาวาสไม่พอใจ ดังนั้นก่อนแสดงพระธรรมเทศนาครั้งที่สอง ท่านจึงเก็บของใส่กระเป๋าเตรียมตัวเดินทางกลับ พอแสดงพระธรรมเทศนาจบก็เข้าไปกราบลาท่านเจ้าอาวาสเดินทางกลับทันที เพื่อมิให้เกิดการกระทบกระเทือน ท่านจึงอ้างว่าได้นัดจะพาพระไปอยู่กรุงเทพฯ
ครั้นแล้วท่านจึงกลับไปรับพระภิกษุหมก, พระภิกษุปลด (พระพุทธิวงศาจารย์วัดเบ็ญจมบพิตปัจจุบัน) พระภิกษุพล (พระครูโสภณราชวรวิหาร วัดเบ็ญจมบพิต ลาสิกขาบทแล้ว) พระฮั้ว วัดป่าพฤกษ์ ที่วัดสองพี่น้องกลับลงมากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ณ สำนักวัดพระเชตุพนฯ

เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

เพื่อทราบความเป็นมา ในการที่พระคุณท่านได้มาทำการปกครองวัดปากน้ำภาษีเจริญ ตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าควรจะได้บรรยายถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญ สมัยก่อนที่พระคุณท่านจะได้มาทำการปกครอง เท่าที่พอจะสืบทราบได้ไว้สักเล็กน้อย เพื่อประกอบเรื่องของท่าน
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ปรากฏในตำนานเล่มหนึ่งกล่าวว่า เป็นพระอารามหลวงมาแต่โบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลักฐานที่ควรเชื่อถือได้นั้นคือ พระพุทธรูปทุกองค์ในพระอุโบสถ (เว้นพระพุทธรูปสี่องค์ที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยเมื่อไม่นานมานี้) นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาทั้งสิ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น วัดนี้ท่านเจ้าคุณพระสุธรรมมุนีวัดพระเชตุพนฯ ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ตั้งแต่สมัยพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) เป็นเจ้าอาวาสมีการปกครองเหลวแหลกมาก หลังจากท่านพระครูสมณธรรมสมาทานมรณภาพแล้ว ท่านพระครูพุทธพยากรณ์เจ้าอาวาสวัดอัปสรสวรรค์เจ้าคณะตำบลเป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ, พระภิกษุสามเณรโดยมากเป็นพระเณรในท้องถิ่นนั้น มีพระจรมาอยู่น้อยเนื่องจากการศึกษาเล่าเรียนไม่มี ความประพฤติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยมาก ด้วยเหตุนี้ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏก (เผื่อน) พระอาจารย์ของท่าน จึงได้อ้อนวอนแกมบังคับให้ท่านมาอยู่วัดปากน้ำสัก ๓ เดือน ท่านจำต้องรับโดยเสียไม่ได้และตั้งใจไว้ว่าจะมาอยู่วัดปากน้ำสัก ๓ เดือนแล้วก็จะกลับเมื่อท่านได้มาอยู่แล้ว ท่านเจ้าคุณธรรมปิฏกได้แต่งตั้งสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรมของท่านและสั่งกำชับซ้ำอีกว่า “ถ้าแผ่นดินยังไม่กลบหน้าแกอย่ากลับมา” ทั้งนี้ก็เท่ากับบังคับให้เป็นเจ้าอาวาส
ต่อจากนั้นท่านก็เริ่มปราบปรามเหล่าภิกษุที่มีความประพฤติเหลวแหลกต่าง ๆ พระคุณท่านเคยเล่าว่ากว่าจะผ่ากระดานหมากรุกให้หมดได้ก็อ่อนใจ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนเจ้าคณะตำบลและพระภิกษุที่เคยอยู่มาเก่าก่อน ซึ่งเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในถิ่นนั้น การปกครองเป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้แต่ชาวบ้านในแถวถิ่นนั้นก็พากันเป็นศัตรูอย่างร้ายแรงกับท่านด้วย พวกที่เลื่อมใสในท่านก็มีบ้างเป็นส่วนน้อย พวกที่ตั้งตัวเป็นศัตรูได้ช่วยกันแพร่ข่าวอกุศลทับถมพระคุณท่านด้วยประการต่าง ๆ บางพวกก็เมามาเอะอะอาละวาดในวัด บ้างก็ดักทำร้ายท่านถึงกับขึ้นโรงศาลก็มี บางพวกถึงกับคิดปล้นทำร้ายท่านก็มี ครั้งหนึ่งคนร้ายได้บุกขึ้นไปบนหน้าศาลาหาเรื่องต่าง ๆ ขณะพระภิกษุกำลังประชุมกันอยู่ เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ท่านถือเสียว่า เป็นการเพิ่มพูลบารมีให้แก่ท่าน ท่านมีคติว่า “พระเราต้องไม่สู้, ต้องไม่หนี, ชนะทุกที” ดังเช่นครั้งหนึ่งมีคนร้ายประมาณ ๘ คน มีอาวุธครบมือเข้าลอบทำร้าย และจะทำร้ายท่านในเวลากลางคืนขณะที่ท่านอยู่ในห้องกรรมฐาน พอดีพระมหาแจ้ง (พระคุณสถิตย์บุญญาธร) ซึ่งคอยคุ้มภัยให้ท่านอยู่แล้ว ได้ฉวยดาบเข้าป้องกัน ท่านได้เห็นเข้าก็ออกมาห้ามว่า “แจ้งอย่า ๆ พระเราต้องไม่สู้ไม่หนี” ผู้ร้ายเห็นท่าไม่เข้าทีก็หลบหนีไป เรื่องราวต่าง ๆ ที่จะทำให้ท่านต้องเดือดร้อนรำคาญมีมากยิ่งกว่านี้ เหลือที่จะพรรณนา, แต่ท่านก็พยายามต่อสู้ด้วยความสงบ ผ่านพ้นอุปสรรคนานาประการ ทำความเจริญให้แก่พระศาสนาอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้ ลำดับต่อจากนั้นมาเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๖๔ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสมรธรรมสมาทาน
ตั้งแต่ท่านได้มารับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองวัดปากน้ำ ท่านได้ดำเนินการค้นคว้าหลักวิชาวิปัสสนาธุระและทำการเผยแพร่อยู่เรื่อย ๆ มิได้มีการหยุดยั้งแม้แต่จะมีอุปสรรคต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนนั้น ข่าวการปฏิบัติการค้นคว้าและการเผยแพร่ธรรมนี้ ได้ล่วงรู้ถึงสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน จนถึงกับเรียกตัวท่านไป ตำหนิว่า “เฮ้ย ! แก่อย่าบ้าไปนักเลย เดี๋ยวนี้อรหัตอรหันต์ไม่มีกันแล้ว มาช่วยกันทำงานปกครองคณะสงฆ์เถอะ” การที่ท่านอาจารย์ของท่านตักเตือนเช่นนี้ ถ้าพิจารณาแล้ว ก็เป็นการเตือนด้วยความหวังดี เพราะท่านไม่เห็นธรรมอันลึกซึ้ง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ท่านต้องไม่เชื่อ, และขอให้ระงับเสีย เจ้าพระคุณหลงพ่อรับฟัง แต่ไม่ปฏิบัติตามคงทำงานค้นคว้าและสอนธรรมอยู่เช่นนั้น, จึงเป็นที่ขัดใจของท่านอาจารย์ของท่านนัก แต่ต่อมาเมื่อสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) ทรงประชวรหนัก ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อได้จัดพระภิกษุไปช่วยแก้โรคตามหลักวิชาการของท่าน ในตอนนี้สมเด็จฯ ได้เคยทรงอ่านหนังสือธรรมกาย ซึ่งคุณพระทิพย์ปริญญา (ธูป กลัมสุต ป. ๖ เนติบัณฑิต) ซึ่งได้รวบรวมและเรียบเรียง จากเทศนาของพระคุณหลวงพ่อ พระคุณท่านได้เคยทดลองปฏิบัติตาม ประกอบทั้งเจ้าคุณหลวงพ่อได้เคยไปถวายคำแนะนำเพิ่มเติม ท่านจึงเชื่อว่าเป็นของจริงของแท้และเกิดความเลื่อมใส ข้าพเจ้าเองก็ได้เคยฟังจากคำพูดของท่านเจ้าคุณวิเชียรธรรมคุณาทาน เลขานุการท่านว่า สมเด็จฯ ได้เรียกท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ช้อย) ไปเฝ้าและรับสั่งว่า “ท่านเจ้าคุณช่วยจัดการเรื่องอุปัชฌาย์วัดปากน้ำที ฉันดูพระผิดเสียองค์หนึ่งแล้ว” พระพิมลธรรมก็รับคำสมเด็จฯ รับสั่งต่อไปว่า “สาธุ” พร้อมกับยกมือขึ้นประณมแล้วกล่าวสื่อต่อไปอีกว่า “ฉันกดเขามาหลายปีแล้ว ช่วยจัดการให้เรียบร้อยด้วย”

การงาน

เมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดปากน้ำในตอนแรก ๆ มีพระภิกษุสามเณรเพียง ๑๓ รูป อุบาสิกาก็มีเพียงเล็กน้อย ได้ให้ความอุปการะและปกครองภิกษุและสามเณรอุบาสิกา คล้ายกับพ่อปกครองลูก เนื่องจากท่านนิยมการศึกษา จึงส่งเสริมให้ภิกษุสามเณรตลอดจนอุบาสิกาได้เล่าเรียน ศึกษาทุกวิถีทางโดยไม่ยอมให้อยู่ว่าง ไม่ศึกษาไม่ได้ และพอใจศึกษาในด้านใด, เช่น คันถธุระ (ซึ่งมีทั้งบาลีและนักธรรม) หรือวิปัสสนาธุระ ก็สุดแต่ตนจะพอใจ ท่านได้พยายามปลุกปล้ำในเรื่องการศึกษา จนมีความเจริญก้าวหน้าขึ้น ในที่สุดพระภิกษุสามเณรและอุบาสิกาซึ่งเคยมีแต่เพียงเล็กน้อยก็เพิ่มจำนวนขึ้นโดยลำดับ ครั้น พ.ศ.๒๔๙๐ สำนักวัดปากน้ำ ก็ได้รับยกย่องให้เป็นสำนักเรียนโดยตรง
ในด้านการเสียสละ ท่านเป็นนักเสียสละไม่สะสม, ท่านได้จัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงพระภิกษุสามเณรและอุบาสิกา ด้วยทุนทรัพย์ของท่านเองตั้งแต่ท่านได้มาอยู่ใหม่ ๆ ตามความตั้งใจเดิม ซึ่งได้บรรยายมาแล้วในตอนต้น การตั้งโรงครัวประกอบอาหารนี้ ในระยะแรก ๆ ท่านได้ให้คุณป้าดา (โยมพี่) นำข้าวสารมาจากบ้านสองพี่น้องทุก ๆ เดือน ซึ่งต้องใช้ข้าวสารเดือนละ ๑๕ ถังเศษ และต้องจ่ายค่าอาหารเดือนละ ๑๕๐ บาทเศษ ในตอนนั้นท่านได้มอบให้นายโฉม พร้อมลาภ เป็นไวยยาวัจจกรณ์ และนางเลียบภรรยาเป็นหัวหน้าโรงครัว ภายหลังคนทั้งสองนี้ได้ย้ายไปอยู่ตลาดพลู ท่านจึงมอบหน้าที่ให้นางผึ้งเป็นหัวหน้าโรงครัวต่อมา และได้รับหน้าที่นี้ได้ไม่นานก็ลาไปอยู่วัดเสน่หาจังหวัดนครปฐม, หลังจากนั้นจึงตั้งให้ น.ส. ท้วม หุตานุกรม ซึ่งเรียกกันทั่วไปทั้งวัดว่า “คุณแม่” เป็นผู้จัดการโรงครัวมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ส่วนไวยยาวัจจกรณ์ซึ่งว่างอยู่นั้นตั้งให้นายประยูร สุนทารา รับปฏิบัติหน้าที่
พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระภาวนาโกศลเถร
พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้เริ่มสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นหนึ่งหลัง เป็นตึกคอนกรีต
เสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ขนาด ๑๑ x ๖๐ เมตร ราคาประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท โดยต้อง
เรี่ยไรเพียงเล็กน้อย
พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานเปลี่ยนพัดยศ เป็นพระราชาคณะเสมอพระราชาคณะเปรียญ

สรุปความ

นับจำเดิมแต่ท่านได้ทำการเผยแพร่ วิปัสสนาธุระ ตั้งแต่ต้นมาจนถึงบัดนี้มีศิษย์จำนวนแสนเศษ ในจำนวนนี้ได้บรรลุธรรม ที่เรียกว่า “ธรรมกาย” แล้วประมาณหมื่นเศษ และท่านได้ส่งพระภิกษุและอุบาสิกาซึ่งได้ธรรมกายแล้วนั้น ไปเผยแพร่เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย พระภิกษุสามเณรและอุบาสิกา ที่ได้รับยกย่องอยู่ในชั้นอาจารย์สอนวิปัสสนาภายในวัดใช้ให้ช่วยทำการค้นคว้าวิชาคืบหน้าทุกวัน ไม่มีเวลาหยุดแม้แต่วินาทีเดียว โดยจัดเป็นเวรผลัดเปลี่ยนกันตลอด ๒๔ ชั่วโมงทุกวัน นับเป็นเวลาถึง ๒๓ ปีเศษ แม้กระนั้นท่านเจ้าคุณพ่อก็ยังคงทำการค้นคว้าอยู่ ท่านเคยให้โอวาทพระภิกษุสามเณรในพระอุโบสถว่า “พวกแกพยายามให้ได้ธรรมกายเสียก่อน แล้วฉันจะสอนต่อไปให้อีก ๒๐ ปีก็ยังไม่หมดฯ”

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ

ความทุกข์ขุกเร่าร้อน ริ่งสกนธ์
เย็นค่ำคุกคามกมล หม่นไหม้
อัคคีที่ลามลน หลีกเลี่ยง เถิดรา
เพียรเพ่ง “ธรรมกาย” ไว้ ว่าได้สุขถวิล

พระภิกษุเขี้ยว ธมฺมิโก

http://khunsamatha.com/blog/dhammakaya-C6.html

. . . . . . .