ประวัติหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี

ประวัติหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เดิมชื่อ สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก ฉศก จุลศักราช 1246 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่สองของนายเงินและนางสุดใจ มีแก้วน้อย มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา 5 คน

เริ่มเรียนหนังสือกับพระภิกษุผู้เป็นน้าชาย ณ วัดสองพี่น้อง แล้วมาอยู่ ณ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในความปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ ปรากฏว่าเป็นผู้สามารถเรียน-อ่านภาษาขอมได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย ด้วยความวิริยะอุตสาหะเพื่อสร้างฐานะให้มั่นคง

เมื่อท่านอายุได้ 14 ปีโยมบิดาได้ถึงแก่กรรมลงท่านจึงรับภาระดูแลการค้าแทน ท่านฉลาดในการปกครอง ลูกเรือต่างก็รักนับถือท่านและเนื่องจากท่านเป็นคนขยันขันแข็งในการทำงาน อาชีพการค้าจึงเจริญขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏในยุคนั้นว่า เป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง วันหนึ่งเมื่อท่านนำเรือเปล่ากลับบ้านพร้อมเงินรายได้จากการขายข้าวผ่านลัดคลองเล็กซึ่งชาวบ้านเรียกว่า คลองบางอีแท่น มีโจรผู้ร้ายชุกชุมท่านนึกถึงความตายขึ้นมา และได้อธิษฐานจิตในขณะนั้นว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต”

การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมี ก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย ไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า ท่านบอกว่าเริ่มอธิษฐานมาตั้งแต่อายุ 19 ปี หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเล่าต่อไปว่า เมื่อตกลงใจบวชไม่สึกแล้ว จิตคิดเป็นห่วงมารดาเกิดขึ้น จึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์ เพื่อให้มารดาเอาไว้ใช้เลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต

เดือนกรกฎาคม 2449 ขณะมีอายุย่างเข้า 22 ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า สด จนฺทสโร

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านจึงเริ่มปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนากับพระอนุสาวนาจารย์นับแต่วันบวช เมื่อบวชแล้วพอรุ่งขึ้นอีกวัน หลวงพ่อก็เริ่มลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานต่อกับพระอาจารย์เนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง 1 พรรษาเมื่อออกพรรษาที่วัดสองพี่น้องแล้ว ท่านจึงเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อศึกษาด้านคันถธุระต่อ ในสมัยนั้นนิยมใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน

ขณะที่ท่านเรียนทางด้านคันถธุระอยู่นั้น เมื่อถึงวันพระขึ้น 8 ค่ำ และขึ้น 15 ค่ำ ท่านก็มักไปแสวงหาครูสอนฝ่ายปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนาอยู่เสมอๆ โดยการศึกษากับพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสำนักต่างๆ ท่านได้ไปศึกษากับท่านเจ้าคุณสังวรานุวงษ์ (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)} ท่านพระครูญาณวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพน} พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ จนได้ผลการปฏิบัติเป็นที่พอใจของพระอาจารย์ เมื่อได้ศึกษาภาวนาวีธีจนมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งจากพระอาจารย์ทั้งจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ มีมูลกัจจายน์ ธรรมบททีปนี และสารสังคหะ เป็นต้น ท่านจึงแสวงหาที่หลีกเร้น มีความวิเวกเป็นสัปปายะต่อการปฏิบัติธรรม ฉะนั้น ในพรรษาที่ 11 จึงได้กราบลาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ เพื่อไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

บรรลุธรรม

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปี พ.ศ. 2460 เมื่อพระภิกษุสดกลับจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็เข้าไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาในพระอุโบสถ ขณะนั้นเวลาประมาณ 8 โมงเศษๆ ท่านก็เริ่มทำความเพียร โดยตั้งใจว่าหากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจดังนั้นแล้ว ก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการเหน็บชาค่อยๆ เพิ่มทีละน้อยๆ และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่า กระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ จนเกือบจะหมดความอดทน ความกระวนกระวายใจก็ตามมา

“เอ…แต่ก่อนเราไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย พอตั้งสัจจะลงไปว่า ถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่ เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากมายอย่างนี้ ผิดกว่าครั้งก่อนๆ ที่นั่งภาวนา เมื่อไรหนอ กลองเพลจึงจะดังสักที” คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งและซัดส่ายมากขึ้น จนเกือบจะเลิกนั่งหลายครั้ง แต่เมื่อได้ ตั้งสัจจะไปแล้วท่านก็ทนนั่งต่อไป ในที่สุดใจก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ในใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก ความปวดเมื่อยหาย ไปไหนไม่ทราบ ในเวลาเดียวกันนั้นเสียงกลองเพลก็ดังขึ้น

วันนั้นท่านมีความสุขตลอดทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสก็ยังเห็นติดอยู่ตรงศูนย์กลางกายตลอดเวลา ในช่วงเย็น หลังจากได้ร่วมลงฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนภิกษุ ท่านได้เข้าไปในพระอุโบสถแล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า “แม้เลือดเนื้อจะ แห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ถ้านั่งลงไปแล้ว ไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต” เมื่อ ตั้งจิตอธิษฐานเสร็จ จึงเริ่มนั่งและตั้งจิตอ้อนวอนแด่พระพุทธเจ้าว่า

ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา โปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์ไปจนตลอดชีวิต

เมื่อท่านตั้งความปรารถนาแล้ว ก็เริ่มนั่งขัดสมาธิเข้าที่ภาวนา พอดีนึกถึงมดขี้ที่อยู่ในระหว่างช่องแผ่นหินซึ่งกำลังไต่ไปมา จึงหยิบขวดน้ำมันก๊าด เอานิ้วมือจุ่ม เพื่อจะเขียนวงให้รอบตัวกันมดรบกวน แต่พอจรดนิ้วที่พื้นหินยังไม่ถึงครึ่งวง ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ชีวิตสละได้ แต่ทำไมยังกลัวมดขี้อยู่เล่า นึกละอายตัวเอง จึงวางขวดน้ำมันลง แล้วนั่งเข้าที่ได้ประมาณครึ่งหรือค่อนคืน เมื่อใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน ก็มองเห็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งยังติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายจากเมื่อเพล ยิ่งมองยิ่งใสสว่างมากขึ้น และขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ดวงใสยังคงสว่างอยู่อย่างนั้น โดยที่ท่านก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน

ขณะที่ใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากจุดกลางดวงนั้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึก ก็เห็นจุดเล็กๆ เรืองแสง สว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้น เสมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม ความสว่างของจุดนั้นสว่างกว่าดวงกลมรอบๆ ท่านมองเรื่อยไป พลางคิดในใจว่า นี่กระมังทางสายกลาง จุดเล็กที่เราเพิ่งจะเห็นเดี๋ยวนี้อยู่กึ่งกลางพอดี ลองมองดูซิจะเกิดอะไรขึ้น

จุดนั้นค่อยๆ ขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิม ดวงเก่าหายไป ท่านมองไปเรื่อยๆ ก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมาแทนที่ เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาแทนที่กันนั่นแหละ ต่างแต่ใสยิ่งขึ้นกว่าดวงเดิม ในที่สุดก็ เห็นกายต่างๆ ผุดซ้อนกันขึ้นมาจนถึงธรรมกาย เป็นพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่า พระพุทธรูปบูชาองค์ใด เสียงพระธรรมกายกังวานขึ้นมาในความรู้สึกว่า “ถูกต้องแล้ว” เท่านั้นแหละ ความปีติสุขก็เกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ท่านถึงกับรำพึงออกมาเบาๆ ว่า

เออ… มันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงได้ไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับ ก็ไม่เกิด นี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้ เป็นไม่เห็นเด็ดขาด

การค้นพบวิชชาธรรมกายอันเป็นของจริงของแท้ เป็นทางบรรลุธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบรรลุแล้ว เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ท่านจึงมาคำนึงว่า

คัมภีร โรจายํ ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึง ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด

ท่านยังคงนั่งเจริญภาวนาทบทวนอย่างนี้ต่อไปอีกประมาณ 30 นาที ก็เกิดภาพในสมาธิ เป็นภาพของวัดบางปลาปรากฏขึ้น ความรู้สึกขณะนั้นเหมือนตัวท่านอยู่ที่วัดนั้น ทำให้คิดว่าธรรมที่รู้เห็นได้ยากนั้น ที่วัดบางปลาจะต้องมีผู้ที่สามารถบรรลุธรรมได้แน่นอน ภาพของวัดบางปลาจึงปรากฏขึ้นในสมาธิ

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างเต็มที่ เพื่อค้นคว้าหาที่สุดแห่งธรรม ยิ่งค้นก็ยิ่งลึกซึ้งขึ้นไปทุกที

ในสมัยนั้น หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจของสังคมและพระเถรานุเถระในวงการพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์และการกล่าวอ้างถึงคำว่า “ธรรมกาย” อยู่มิได้ขาด ซึ่งคำว่า “ธรรมกาย” นั้น มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หลักศิลาจารึก และคัมภีร์ต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณมาก่อนแล้ว

เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

แม้ว่าท่านเป็นภิกษุผู้รักชีวิตอิสระและสันโดษ ชอบออกธุดงค์แสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ท่านก็ไม่เคยนิ่งดูดายต่อส่วนรวม ไม่ว่าท่านจะไปพักอยู่ที่ใด ท่านมักจะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในที่แห่งนั้นเสมอ กอปรกับท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในหลายๆ ด้าน จึงเป็นเหตุให้พระเถระผู้ใหญ่ในวงการคณะสงฆ์ คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (เผื่อน ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์ของท่าน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ได้เล็งเห็นถึงคุณสมบัติที่ดีของท่าน ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเห็นว่า ท่านสามารถทำประโยชน์ให้กับพระศาสนาได้อีกมาก จึงมอบหมายให้ท่านย้ายไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อเป็นเจ้าอาวาส โดยในช่วงแรกให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสไปก่อน เมื่อท่านรับคำแล้ว จึงได้แต่งตั้งให้เป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรมของพระศากยยุติยวงศ์

เมื่อถึงวันครบกำหนด ท่านเดินทางจากวัดพระเชตุพนฯ โดยเรือยนต์หลวงที่กรมการศาสนาจัดถวาย เพื่อเป็นเกียรติแก่พระอารามหลวง มีพระเถรานุเถระจากวัดพระเชตุพนฯ เดินทางมาส่ง และมีพระภิกษุติดตามท่านมาด้วย 4 รูป ทางด้านวัดปากน้ำ มีพระเถระผู้ใหญ่ในอำเภอนั้น พร้อมทั้งญาติโยมจำนวนมากมารอต้อนรับคณะของท่าน

เมื่อมาถึงวัดปากน้ำ ท่านพบว่าวัดอยู่ในสภาพกึ่งวัดร้าง ภายในวัดมีสภาพทรุดโทรม ในสมัยนั้น ที่นี่เป็นสวนพลู สวนหมาก สวนมะพร้าว สวนเงาะ มีศาลาที่เก่ามาก มีโรงครัวเล็กๆ กุฏิก็มีไม่กี่หลัง เป็นกุฏิเล็กๆ ยกพื้น ปลูกด้วยไม้สัก พักได้รูปเดียว อยู่ตามร่องสวน พระภิกษุที่อยู่ก่อนมีจำนวน 13 รูป มักย่อหย่อนทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ทำให้ท่านต้องพบอุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อนตั้งแต่วันแรกที่มาถึง แต่ท่านก็ไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม ท่านกลับมีความคิดที่จะฟื้นฟูวัดปากน้ำให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอีกด้วย

หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ได้บอกแก่ศิษยานุศิษย์เมื่ออายุได้ 70 ปี ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าท่านจะละสังขาร ต่อมาอีกราว 3 ปี ท่านเริ่มอาพาธเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปีเศษ แม้ว่าจะอาพาธ ท่านก็มิได้แสดงอาการรันทดใจใดๆ เลย ท่านยังคงต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ เวลาจะลุกจะนั่งท่านไม่พอใจให้ใครไปช่วยเหลือ ท่านพอใจทำเองผู้อื่นคอยตามเพื่อช่วยเหลือเวลาท่านเซไปเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 เวลา 15.05 น. พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำภาษีเจริญ สิริอายุได้ 74 ปี 3 เดือน 24 วัน นับอายุพรรษาได้ 53 พรรษา

พระของขวัญ หลวงพ่อวัดปากน้ำ

พระของขวัญ วัดปากน้ำ เป็นพระผงขนาดเล็ก ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้สร้างขึ้นเพื่อจะมอบให้เป็นของขวัญแก่ผู้ที่มาทำบุญ เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม พระของขวัญมีทั้งหมด 3 รุ่น คือ รุ่น 1, รุ่น 2 และรุ่น 3

พระของขวัญ รุ่นแรกสร้างขึ้นเมื่อ ปี 2493 จำนวน 84,000 องค์ ซึ่งเท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ โดยหลวงพ่อได้เจริญภาวนาวิชชาธรรมกาย เพื่อสร้างพระของขวัญตลอดพรรษา และได้เริ่มแจกหลังออกพรรษา หลวงพ่อจะแจกให้แก่ผู้ทำบุญคนละ 1 องค์เท่านั้น ไม่ว่าจะทำบริจาคทำบุญเท่าไร เพราะถือว่า ได้ตั้งใจทำและให้พระที่มีคุณค่าเกินเงินที่บริจาค

พระของขวัญรุ่นที่ 2 สร้างปี 2494 , รุ่นที่ 3 สร้างปี 2499

พระเดชพระคุณ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พูดแนะนำพระของขวัญ

“บัดนี้ท่านทั้งหลาย บรรดาที่มารับของขวัญสมทบทุนสร้างโรงเรียนปริยัติวัดปากน้ำ ได้อุตส่าห์พยายาม มาโดยความบากบั่นตรากตรำทรมานร่างกายมา ก็เพราะอยากจะได้ของขวัญ รู้ว่าของขวัญนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นของอัศจรรย์

เมื่อเราได้ของขวัญแล้ว ให้ตั้งใจแน่แน่ว หยิบของขวัญนั้นด้วยมือของตน แก้ห่อของขวัญออก หยิบด้วยมือของตนแล้ว มาดู ให้จำของขวัญนั้นแม่นยำแน่นอน ไม่ฟั่นเฟือน ไม่หลงไหล จำได้แน่นอนแม่นยำดีแล้ว ให้น้อมเข้าไปในกลางตัว หญิงน้อมเข้าไปในทางช่องจมูกซ้าย ชายน้อมเข้าไปในทางช่องจมูกขวา เข้าไปตั้งอยู่กลางตัว กลางตัวน่ะสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย สะดือทะลุหลังไป เส้นหนึ่งด้ายกลุ่ม ขวาทะลุซ้ายไปเส้นหนึ่งด้ายกลุ่ม ขึงตึง ตรงกลางจดกัน นั่นเรียกว่า กลางกั๊ก อาราธนาพระไปตั้งอยู่กลางกั๊กนั้น เราหันหน้าไปทางไหน พระหันหน้าไปทางนั้น กลางกั๊กนั่นแหละถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ตั้งอยู่กลางดวงธรรมนั้น ดวงธรรมนั้นถ้าใสสะอาดอยู่ ชีวิตเราก็เจริญรุ่งเรือง ถ้าดวงธรรมนั้นซูบซีดเศร้าหมองอยู่ ชีวิตของเราไม่ผ่องใส ซูบซีดเศร้าหมองเหมือนกัน

ภายหลัง ตั้งใจลงไปอีกชั้นหนึ่ง หญิงสอดใจไปทางช่องจมูกซ้าย ชายสอดใจไปทางช่องจมูกขวา เข้าไปตั้งไปในกลางองค์พระของขวัญนั้น พอถูกกลางองค์พระของขวัญ ก็ถูกพระพุทธเจ้านับอสงไขยไม่ถ้วน แล้วก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยบาลีว่า “สัมมาอะระหังๆ” ให้ช่วยประคองใจเราให้หยุดให้นิ่ง “สัมมาอะระหังๆๆ” ให้ช่วยประคองใจให้หยุด “สัมมาอะระหังๆๆ” ให้ช่วยประคองใจให้หยุด

พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น หยุดกึ๊ก ใจหยุด เมื่อใจหยุดแล้ว เราเอาใจของเราเข้ากลางของหยุดนั้น กลางของกลางๆๆๆ ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบน นอกใน ไม่ไป กลางของกลางๆๆ หนักเข้า พอถูกส่วนเข้า เห็นพระแจ่ม ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น นั่งเห็น นอนเห็น เดินเห็น ยืนเห็น นึกเป็นอะไรเห็นแจ่มเวลานั้น เมื่อเห็นแจ่มดังนั้นแล้ว ใจหยุดนิ่งอยู่กับพระที่เห็นแจ่มนั่นแหละ เป็นมหัคคตกุศล กามาวจรกุศล จะทำบุญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดสู้ไม่ได้ สร้างวัดวาอาวาสอย่างหนึ่งอย่างใด สู้ใจหยุดนิ่งอยู่กับพระของขวัญนั้นอึดใจเดียวเท่านั้นไม่ได้ เสียเงินสักกี่โกฏิกี่ล้านก็สู้ไม่ได้

เมื่อเราเอาใจของเราจรดอยู่พระของขวัญที่เห็นแจ่มนั้น เป็นมหัคคตกุศล เป็นสมาธิแล้ว ตายไม่ตกนรก

อยู่กับพระของขวัญที่เห็นแจ่มนั่นแหละ ใจที่อยู่กลางของกลาง กลางของหยุด กลางของกลางๆๆ หนักเข้าไป อย่าถอย ตายตัวทีเดียว ไม่ถอยกลับกัน ตรงนี้ตายตัว ไม่ถอยกลับ

หนักเข้าๆ พระนั้นโตได้ แปลงสีได้ เป็นพระแก้วใส เท่าๆ ตัวเรา หรือโตกว่าตัวเรา เราก็เอาใจของเราไปหยุดนิ่งอยู่กลางองค์พระแก้ว สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กแบบเดียวกัน ไปหยุดนิ่งอยู่กลางองค์พระแก้วนั่น พอหยุดนิ่งอยู่กลางองค์พระแก้ว เราก็ระลึกถึงความบริสุทธิ์ดีของพระแก้วว่า “สัมมาอะระหังๆๆๆๆๆ” ใจเราก็หยุดตามเดิม หยุดก็เข้ากลางหยุดไปตามเดิม กลางของกลางๆๆๆ นิ่ง…

พระแก้วนั้นก็ใสหนักขึ้น สะอาดหนักขึ้น โตหนักขึ้น จะไปไหนกับพระแก้วนั้นก็ได้ อาราธนาพระแก้วไปนรก 456 ขุม ไปตรวจนรกดูได้ตลอด เมื่อไปถึงสัตว์นรกแล้ว จะไปพูดไปถามกับสัตว์นรกอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามความปรารถนา หรือจับมือจับแขนของสัตว์นรกนั้นไต่ถามก็ได้ จับมือถือแขนได้ตามชอบใจ ตามความปรารถนา เหมือนมนุษย์เรา

ถ้าว่า เราจะไปดูพวกเปรต ตรวจดูพวกเปรต มี 12 ตระกูล ไปพูดไปจากันได้ ไต่ถามบุพกรรมที่กระทำดีที่กระทำชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดได้ บ้านช่องอยู่ที่ไหนถามได้ จับมือถือแขนกันพูดได้แบบเดียวกัน

ถ้าจะไปพวกอสุรกาย ก็แบบเดียวกัน จับมือถือแขนพูดกันได้ ไต่ถามกันได้ มีบุพกรรมอันใดกระทำไว้มาเป็น ได้มาอยู่ในอบายภูมินี้ พูดรู้เรื่องกัน จับมือถือแขนกันตามชอบใจ

ไปในพวกสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานนั้นมีกายข้างนอก ถ้ากายข้างในน่ะเป็นกายมนุษย์ละเอียดแท้ๆ นั่นก็จับมือถือแขนกันพูดได้

จะไปหาพวกมนุษย์ ตรวจดูพวกมนุษย์ มีมากน้อยเท่าไหร่ ไปตลอดหมด กายมนุษย์นั่นก็จับมือถือแขนกันพูดได้ กายหยาบกายละเอียด จับได้ทั้งนั้น

ถ้าจะไปในพวกเทวดา จาตุมหาราช ตาวติงสา ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตตวสวัตตี มีมากน้อยเท่าใด จับมือถือแขนกันพูดได้

ถ้าจะไปในพวกรูปพรหม 16 ชั้น ไปจับมือถือแขนกันพูดได้

ถ้าจะไปในพวกอรูปพรหม 4 ชั้น มีมากน้อยเท่าได้ จับมือถือแขนกันพูดได้

ถ้าจะไปในพวก… ไปหาในพระพุทธเจ้าในนิพพาน เข้าเฝ้าในพระนิพพาน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปหาพระพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้าแล้ว พูดอย่างหนึ่งอย่างใดกับพระพุทธเจ้าได้ ทูลอย่างหนึ่งอย่างใดกับพระพุทธเจ้าได้ จับมือถือแขนกับพระองค์ก็ได้ เหมือนมนุษย์เราแบบเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนั้น ของนี่เป็นของศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์อย่างนี้ เห็นไหมล่ะ ศักดิ์สิทธิ์นัก ถ้าใครได้ดังนี้แล้ว คนนั้นก็ตายก่อนตายได้ ก่อนจะตาย นั่งตายก็ได้ พูดไปจนกระทั่งดับจิตก็ได้ ตายเสียก่อนตาย สักชั่วโมงสองชั่วโมงได้ เพราะมีกายของขวัญ เพราะมีกายแก้วนี่สำคัญนัก

ถ้าไม่ถึงขนาดนั้น เราต้องการจะรวยในชาตินี้ จะค้าขาย เอาใจจรดเข้าที่พระของขวัญนั่น ขออาราธนาพระองค์ได้ทรงโปรด ข้าพระพุทธเจ้าเป็นพ่อค้า หญิงก็ หม่อมฉันเป็นแม่ค้า การค้าขายของข้าพระพุทธเจ้า ขอให้กว้างขวางเต็มประเทศไทย ล้นประเทศไทย ขอให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม ดังไปถึงพระนิพพาน ส่งผังซื้อง่ายขายคล่องกำไรงามมาเต็มตัว ล้นประเทศไทยเรา ก่อนจะค้าขาย ให้ว่าอย่างนี้ทุกคราวไป ขายของ ขายง่าย ขายดาย สะดวกเหมือนเทน้ำเทท่า

ถ้าจะรับราชการ ขออาราธนาพระองค์ได้ทรงโปรด ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รับราชการ หม่อมฉันเป็นผู้รับราชการ หรือรับราชการอยู่แล้ว ก็บอกว่าข้าพุทธเจ้ารับราชการอยู่แล้ว หม่อมฉันรับราชการอยู่แล้ว ขอให้หน้าที่ราชการของข้าพระพุทธเจ้า ขอให้ราบรื่นเรียบร้อย ไม่เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจผู้หลักผู้ใหญ่ ขอให้เป็นที่นิยมชมชอบประกอบข้าพุทธเจ้า ถ้าเป็นราชการชั้นตรี-ชั้นโท-ชั้นเอก สูงสุดในสายราชการนี้ หน้าที่ราชการชนิดใดก็อาราธนาท่านในทางชนิดนั้นไป ก็จะได้ผลสมความปรารถนา ก็ดังไปถึงพระนิพพาน ท่านก็ส่งผังราชการสูงสุดลงมาให้เต็มตัวเรา ก่อนจะรับราชการ อย่างนี้ทุกคราวไป

ถ้าว่าทำนาทำไร่ทำสวน ทำการงานด้วยปลีแข้งของตน ด้วยกำลังอวัยวะร่างกายของตน ขอพระองค์ได้ทรงโปรด การงานของข้าพระพุทธเจ้าเป็นดังนี้ ขอให้ทำง่ายทำดายทำสะดวก ได้ผลเกินควรเกินค่า นิ่งอยู่กลางองค์พระของขวัญนั้น สัมมาอะระหังๆๆ ดังเข้าไปถึงพระนิพพาน ส่งผังได้ผลเกินควรเกินค่ามาเต็มตัวเรา ถ้าเราจะไปทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ขออาราธนาพระองค์ได้ทรงโปรด ขอให้ไปดีมาดี สวัสดีมีชัย นิ่งอยู่กลางองค์พระ สัมมาอะระหังๆๆ ดังเข้าไปถึงพระนิพพาน ส่งผังไปดีมาดี สวัสดีมีชัย มาเต็มตัวเรา

เราได้ของขวัญไปแล้ว ให้ปฏิบัติให้ถูกส่วนดังนี้ ที่บอกให้ฟังนี้น่ะเป็นวิธีของการประพฤติปฏิบัติรักษาในพระของขวัญนี้

ถ้าแม้ว่า เราได้พระของขวัญนี้ เป็นกรรมสิทธิ์ของเราแล้วละก็ ติดอยู่กับตัวเสมอๆ บำบัดโรคภัยไข้เจ็บได้ต่างๆ โรคภัยไข้เจ็บมีในตัวหายหมด ถ้าเด็กเล็กละก็อ้วนท้วนทีเดียว ตกน้ำก็ไม่ตาย เรือล่มก็ไม่ตาย รถชนรถทับไม่เป็นอันตรายทั้งนั้น

ถ้าลองสงครามเกิดขึ้น ไม่ต้องอพยพหลบหลีก เมื่ออยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ตามหน้าที่ ทำมาหากินอย่างไรก็ทำมาหากินอย่างนั้น ตามหน้าที่ ถ้าเข้าสมรภูมิไปรบกับเขา ก็ไม่ต้องหวั่นหวาด มีพระของขวัญแล้ว อาวุธยุทธภัณฑ์ทำอันตรายไม่ได้ ให้รักษาไว้ให้ดีนะ เป็นของสำคัญ เหมือนแก้วสารพัดนึก

พระพุทธเจ้าท่านรับสั่งเมื่อทำสำเร็จในวันแรก เวลาได้อรุณออกพรรษา ทรงรับสั่งว่า ตั้งแต่มีธาตุมีธรรมมา ของศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

คำนี้ ของศักดิ์สิทธิ์ในชมพูทวีป แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล นิพพานถอดกายในกายมนุษย์ ก็ดี ภาคพื้นก็ดี ศักดิ์สิทธิ์แค่ขนาดนี้ไม่มี

เพราะเหตุว่า ของศักดิ์สิทธิ์นี้ มนุษย์ไม่ได้ทำตามปกติธรรมดา อาราธนาพระพุทธเจ้ามีธรรมกาย ธรรมกายไปอาราธนามา ให้ท่านปรุงขึ้น ตบแต่งให้มนุษย์ เมื่อมนุษย์คนใดได้รับไปได้แล้ว มนุษย์คนนั้นมีสมบัติติดตัวพันล้านทุกคน คือขอท่านไว้ อาราธนาว่า มนุษย์ผู้ใดสบสมทุนสร้างโรงเรียนละก็ ขอให้เป็นเศรษฐีทุกคน ถึงอาราธนาสมบัติมาติดตัวไว้ 1,000 ล้านๆ ทุกคนไป

ให้รักษาพระนี้ไว้ให้ดี ถ้ารักษาดีละก็ เรียบร้อยท่านอยู่ได้สะดวกดี อยู่กับเรา ถ้ารักษาดูถูกดูหมิ่นน่ะหายไปเสีย ไม่อยู่ด้วย เมื่อหายไปอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว เคารพคารวะนับถือ ก็อาราธนาอ้อนวอน ก็กลับมาอยู่อีกได้ ให้ตั้งใจดังนี้ ไม่ใช่ของธรรมดานะ เปล่งรัศมีก็ได้ พูดก็ได้ ลอยไปก็ได้ หายไปก็ได้ กลับมาก็ได้

ของนิดหนึ่งเท่านี้ละอัศจรรย์นัก ไม่ใช่ของตาย ของเป็น เขาเรียกว่า ของสำเร็จ ของศักดิ์สิทธิ์ ให้จำไว้ให้แน่นอนนะ เอ้า แล้วก็จะแจกพระต่อไป”

http://board.palungjit.org/

. . . . . . .