เปิดโลกพระศรีอริยเมตไตรย >> สืบสายอริยะ >> หลวงพ่อสด

เปิดโลกพระศรีอริยเมตไตรย >> สืบสายอริยะ >> หลวงพ่อสด

หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี)
ดอกไม้ที่หอมไม่ต้องเอานำหอมมาพรมก็หอมเองใครจะห้ามไม่ได้ ซากศพไม่ต้องเอาของเหม็นมาละเลงใส่ซากศพก็ต้องแสดงกลิ่นศพให้ปรากฏปิดกันไม่ได้…

คาถาหลวงพ่อสด
สัมมา อะระหัง
**********
ธรรมสัจจะแห่งหลวงพ่อสด
หยุดนั้นแหละเป็นตัวสมถะเป็นตัวสำเร็จ คือสำเร็จหมดทั้งทางโลกและทางธรรม โลกที่จะได้รับความสุขได้ ใจต้องหยุดตามส่วนของโลก ธรรมที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของธรรม ดังบาลีว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี หยุดนั้นเองเป็นตัวสำคัญ หยุดคำเดียวเท่านั้นถูกทางสมถะตั้งแต่ต้นจนเป็นพระอรหันต์ เป็นตัวศาสนาแท้ๆ ถูกโอวาทของพระบรมศาสดา ถ้าไม่หยุดจะปฏิบัติศาสนาสัก 30-40 ปีก็ช่าง ที่สุดถึงจะมีอายุเป็นร้อยปีแต่ถ้าทำใจให้หยุดไม่ได้ เป็นไม่ถูกร่องรอยพระศาสนา

ประวัติหลวงพ่อสด
หลวงพ่อมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๒๗ ตรงกับแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ณ บ้านสองพี่น้อง ต. สองพี่น้อง อ. สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี ท่านเป็นบุตรของนายเงิน นางสุดใจ มีแก้วน้อย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน คือ นางดา เจริญเรือง สด มีแก้วน้อย (หลวงพ่อ) นายใส มีแก้วน้อย นายผูก มีแก้วน้อย และนายสำรวย มีแก้วน้อย หลวงพ่อเริ่มเรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชายที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ. บางเลน จ. นครปฐม ในสมัยนั้นต้องศึกษาหนังสือขอม จนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัยซึ่งเขียนเป็นตัวอักษรขอมได้คล่องแคล่วจึงจะถือว่าจบหลักสูตร หลังจากศึกษาจบแล้ว หลวงพ่อได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าวจนบิดาถึงแก่กรรม ท่านจึงต้องรับหน้าที่ประกอบอาชีพค้าข้าวสืบต่อมา เมื่อหลวงพ่อมีอายุได้ ๑๙ ปี ท่านเกิดมีความคิดเบื่อหน่ายในทางโลกเพราะได้เห็นสภาพผู้คนทั่วไปที่ต้องเหน็ดเหนื่อยตรากตรำต่อการประกอบอาชีพหาเลี้ยง คนและครอบครัว หาได้เท่าไรก็ต้องนำมาบำรุงบำเรอร่างกายอันประกอบด้วยขันธ์ ๕ นี้ บางครอบครัวก็หาได้ไม่พอกินพอใช้ต้องอดอยากยากจน เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน เพราะไม่เทียมทันเขา ท่านรู้สึกว่าภาระเหล่านี้เสมือนโซ่ตรวนที่คอยฉุดดังเหนี่ยวรั้งมนุษย์ให้จมอยู่ในโลกียะ ท่านจึงคิดจะสละห่วงที่ร้อยรัดรึงมนุษย์ทุกคนอยู่นี้ โดยการออกบวชเพื่อแสวงหาสัจจธรรมตามรอยบาทพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อท่านได้พิจารณาเห็นว่า
“การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบากบิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตาเข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้าไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกันจนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกัน ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกันเราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้บวชดีกว่า”
ท่านจึงได้ตั้งสัจจอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต”เมื่อมีความตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวว่าจะออกบวชเพื่อแสวงหาสัจจธรรมดังกล่าวแล้ว หลวงพ่อท่านจึงขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้นอีกเพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพเพราะท่านเป็นบุตรชายคนโตเป็นผู้รับผิดชอบภาระในครอบครัวแทนบิดา เมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบากนับว่าท่านเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทียิ่งนัก
หลวงพ่อได้อุปสมบทเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะมีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง อ. สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร. เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง อ. สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อยู่ ๑ พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้วท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม เมื่อกำลังเรียนอยู่นั้นท่านต้องพบกับความลำบากมาก สมัยนั้นเรียนกันตามกุฏิต้องเดินไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่างๆ เมื่อฉันแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัด เพลแล้วไปเรียนที่วัดมหาธาตุ ตอนเย็นไปเรียนที่วัดสุทัศน์บ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่วัดพระเชตุพนฯ แต่ไม่ได้ไปติดๆกันทุกวันมีเว้นบ้างสลับกันไป หลังจากที่หลวงพ่อได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนมีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีและคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นอย่างดีแล้ว ท่านจึงหันมาศึกษาทางด้านวิปัสสนาธุระตามที่ได้ปฏิญาณไว้โดยพยายามสืบเสาะแสวงหาผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ แม้จะอยู่ห่างไกลในที่ต่างๆ ท่านก็ดั้นด้นไปพบไปศึกษากับอาจารย์เหล่านั้น หลังจากที่ได้ศึกษาด้านวิปัสสนากับอาจารย์ทั้งหมดเป็นเวลาพอสมควรแล้ว หลวงพ่อท่านจึงออกแสวงหาที่สงบสงัดที่มีความวิเวกเป็นสัปปายะต่อการค้นคว้าปฏิบัติธรรมต่อไป หลวงพ่อท่านมีภาษิตประจำใจว่า“เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำจะเกิดมาทำอะไร อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หลอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้”ขันธ์สามของหลวงพ่อหมายถึง ละขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์
ในพรรษาที่ ๑๑ หลวงพ่อจึงได้กราบลาเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เข้ม) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ เพื่อไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านได้เข้าไปบำเพ็ญกัมมัฏฐานแต่เวลาเย็นและได้ตั้งสัจจอธิษฐานว่า “ถ้ายังไม่เห็นธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงเห็นจะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต” และได้ตั้งจิตกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตาโปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของพระองค์แล้วจักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต”
เมื่อตั้งสัจจอธิษฐานแล้วท่านก็เริ่มนั่งขัดสมาธิปฏิบัติกัมมัฏฐาน พอดีมีมดที่อยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่งอยู่นั้นกำลังไต่ไปมารบกวนสมาธิท่าน ท่านจึงหยิบขวดน้ำมันก๊าด เอานิ้วมือจุ่มเพื่อจะเขียนวงให้รอบตัวกันไม่ให้มดเข้ามารบกวน แต่แล้วก็เกิดความคิดว่าชีวิตของเราๆ ได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียรแต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีกจึงวางขวดน้ำมันแล้วเจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานคือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นเอง เมื่อได้เห็นธรรมะแล้ว ท่านจึงเข้าใจแจ่มแจ้งว่าพระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนักยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึกรู้นึกรู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ ดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริงๆอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้แล้วเป็นไม่เห็นเด็ดขาด ในระหว่างปฏิบัตินี้ท่านได้เห็นวัดบางปลา (ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ. บางเลน จ.นครปฐม) ปรากฏขึ้นเป็นนิมิตซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อเคยไปเรียนหนังสือ ทำให้คิดว่าที่วัดบางปลานี้อาจมีผู้สามารถบรรลุธรรมดังที่ท่านเห็นอยู่นั้นบ้างก็ได้ นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาหลวงพ่อก็ยิ่งปฏิบัติกิจภาวนาค้นคว้าหาที่สุดแห่งธรรม ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งพบสิ่งที่ลึกซึ้งหนักเข้าทุกที หลังจากออกพรรษาแล้วหลวงพ่อจึงไปพักที่วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมเพื่อไปสอนธรรมะ มีพระภิกษุที่ได้ธรรมะจากท่าน ๓ รูปกับฆราวาสอีก ๔ คน หลังจากกลับจากวัดบางปลาแล้ว หลวงพ่อได้มาจำพรรษาที่วัดพระเชตุพนฯ ต่อจากนั้นได้ไปอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรีอีกระยะหนึ่งแล้วกลับมาอยู่ที่วัดสองพี่น้องอีก สมเด็จพระวันรัต (ติสสทัตตมหาเถร) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรีในยุคนั้น เห็นว่าวัดปากน้ำซึ่งเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีสามัญอันเป็นวัดหนึ่งในการปกครองของท่านว่างเจ้าอาวาสลง จึงได้แต่งตั้งหลวงพ่อมาเป็นเจ้าอาวาส หลังจากที่หลวงพ่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสก็ได้พัฒนาวัด พร้อมทั้งพัฒนาคนให้เป็นคนดีทั้งภายนอกและภายใน และเผยแพร่วิชาธรรมกายที่ได้ค้นพบมาให้กับลูกศิษย์มากมาย

นับตั้งแต่หลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแพร่วิชาธรรมกาย การจัดตั้งโรงครัว การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ งานที่หนักมากที่สุดของหลวงพ่อคือการสอนและเผยแพร่ธรรม รวมทั้งการช่วยเหลือผู้คนที่มาขอพึ่งบารมีของท่านเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนต่างๆ ท่านมีเวลาพักผ่อนน้อยมากทำให้สุขภาพทรุดโทรม ท่านเริ่มอาพาธเป็นความดันโลหิตสูง เมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ลูกศิษย์ได้หาหมอที่มีความสามารถมารักษาท่านแต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุด หลวงพ่ออาพาธได้ปีเศษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีราชทินนามว่า “พระมงคลเทพมุนี” หลวงพ่อท่านเคยพูดถึงอาการอาพาธของท่านว่า “เจ็บคราวนี้ไม่หาย ไม่มียารักษา เพราะยาที่ฉันอยู่นั้นมันไม่ถึงโรค” ท่านเปรียบว่ายาที่ท่านฉันเหมือนมีแผ่นหินมารองรับกั้นไว้ ไม่ให้ยาซึมไปกำจัดโรคได้ กรรมมันบังเป็นเรื่องแก้ไม่ได้ เมื่อหลวงพ่ออาพาธหนัก ท่านได้เรียกหลวงพ่อเล็กไปสั่งให้ดำเนินการสอนเผยแพร่วิชาธรรมกายและแจกพระของขวัญต่อไปเหมือนดังที่ท่านเคยปฏิบัติ และยังสั่งเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ เมื่อท่านมรณภาพลงแล้ว ให้เก็บศพของท่านไว้ไม่ต้องเผา
หลวงพ่อได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบอย่างภูมินักปฏิบัติ เวลา ๑๕.๐๕ น. ของวันที่ ๓ ก.พ. ๒๕๐๒ สิริรวมอายุ ๗๔ ปี ๓ เดือน ๒๔ วัน บวชอยู่ ๕๓ พรรษา แม้หลวงพ่อจะมรณภาพเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ศิษยานุศิษย์ของท่านก็ยังสวดพระอภิธรรมให้ท่านทุกวันมิได้ขาด วันหนึ่งๆ มีผู้มาขอเป็นเจ้าภาพสวดหลายราย โดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ จะมีการสวดพระอภิธรรมกันตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ

http://kaewariyah.com/index.php?option=com_content&view=article&id=52:sod&catid=34:ariyah-person&Itemid=53

. . . . . . .