ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๖

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๖

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

ได้โสรจสรงอมฤตธรรม

วันปวารณาออกพรรษาอันเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น ในปี ๒๔๘๓ นี้ ตรงกับวันที่ ๑๗ ตุลาคม ถึงแม้ท่านจะยังอาลัยถ้ำโพนงามอยู่มาก ด้วยสถานที่ทุกแห่งในบริเวณถิ่นนั้น ดูจะเป็นที่เอื้ออำนวยต่อการบำเพ็ญเพียรภาวนาของท่านอย่างเหลือล้น…จะเป็นเงื้อมหินตรงไหน ก้อนใด ใต้ร่มรุกขมูลต้นไม้ต้นไหน ถิ่นถ้ำน้อยใหญ่แห่งใด นั่งลงภาวนา จิตจะรวม “แจบจม” ดีอยู่ทุกแห่ง

ปกติ นักปฏิบัติจะสังเกตกันว่า ที่ใด ภาวนาแล้ว จิตรวมง่าย ไม่มีถีนมิทธะ ไม่ซบเซาง่วงเหงา มีสติตื่นอยู่ พิจารณาธรรมเพลิดเพลินอยู่…ที่นั้น จะเป็น แท่นหินแท่นนั้น… เงื้อมหินเพิงผาจุดนั้น… ใต้โคนไม้ต้นนั้น… นักปฏิบัติผู้นั้นจะสังเกตได้ และพยายามไปนั่งภาวนาอยู่ ณ สถานที่นั้นเป็นอาจิณ ถือเป็นที่สัปปายะแก่การภาวนา สำหรับที่ถ้ำโพนงามนี้ ท่านว่า ทุกแห่ง ทุกจุด เป็นที่สัปปายะ เข้าจิตง่ายทัดเทียมกันเกือบจะทุกแห่ง ฉะนั้น จึงออกพรรษาแล้ว ท่านก็ควรจะรั้งรออยู่ต่อไป มิหนำซ้ำ ชาวบ้านโดยรอบ เช่นที่บ้านโพนงาม บ้านโพนเชียงหวาง บ้านหนองสะไน บ้านนาอ้อ…ต่างล้วนมีศรัทธาต่อท่าน พากันอุปัฏฐากด้วยความเคารพนอบน้อม ควรแก่การอยู่เมตตาโปรดพวกเขาต่อไปอีกนานเท่านาน

แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านรีบแบกกลดลงเขามาทันที ละอาวาสอันสัปปายะ อากาศอันสัปปายะ บุคคลอันสัปปายะ มาโดยพลันอย่างไม่อาลัยไยดี… ท่านเล่าว่า เปรียบเสมือนบุคคลซึ่งถูกจำกัดออยู่ในท้องที่กันดารน้ำ เพียงได้แต่อาศัยน้ำโคลน น้ำตม น้ำตามแอ่งรอยเท้าเสือ ช้าง กรองดื่มพอแก้กระหายไปเพียงวัน ๆ หลุดจากข้อจำกัด (ออกพรรษา) ได้ยินข่าวว่า ณ บ้านนั้น ป่านั้น มีบ่อน้ำทิพย์ น้ำอมฤตอันใสสะอาดรออยู่ จะไม่โลดแล่นไปสู่ที่นั้นอย่างไรได้… เพื่อดื่มกิน โสรจสรง น้ำทิพย์น้ำอมฤตนั้นให้สมกับที่กระหายรอคอยมาช้านาน….

บุคคลผู้นั้นฉันใด ท่านก็ฉันนั้น

ท่านได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานี….!

ก่อนหน้านั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์ไปทางจังหวัดภาคเหนือมีเชียงใหม่ เพียงราย เป็นอาทิ ท่านจากหมู่ศิษย์ไปแต่ปี ๒๔๗๕ ไปตามลำพังองค์เดียวไม่ให้มีผู้ติดตามเลย บรรดาศิษย์พยายามตามหาท่าน จนได้พบ และได้ปฏิบัติธรรมกับท่านบ้าง เช่น ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์แหวน สุจิณโณ ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านพระอาจารย์ชอบ ฐานสโม แต่ละท่านต่างซอกซอนตามไปด้วยความลำบาก และเมื่อได้พบ ได้อยู่ปฏิบัติด้วย ต่างก็ได้รับอุบายธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นอย่างคุ้มค่า ท่านเที่ยววิเวกอยู่ทางภาคเหนือเกือบสิบปี นอกจากบรรดาท่านที่ธุดงค์ติดตามไปแล้ว หมู่ศิษย์ที่เหลือทางภาคอีสานต่างรู้สึกอ้างว้าง ว้าเหว่ยิ่งนัก ด้วยขาดครูบาอาจารย์จะสั่งสอนอบรม ต่างรอคอย…ท่านพระอาจารย์มั่นจะกลับมาโปรด เหมือนข้าวในฤดูแล้งน้ำ รอคอยน้ำฝนจากฟากฟ้าจะโปรยปรายลงมา

หลวงปู่นั้น พยายามมาจำพรรษารออยู่ที่ถ้ำโพนงาม ด้วยคิดว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะมาจำพรรษาแถบสกลนคร แต่เมื่อคาดผิด ท่านก็ต้องอยู่ต่อไปซึ่งแม้จะผิดหวังเรื่องนี้บ้าง แต่ท่านก็กลับได้ธรรมะดี “อยู่ตัวเลย” อย่างที่ท่านว่า อย่างไรก็ดี เมื่อออกพรรษา…ไม่มีจำกัดเรื่องอาวาสที่พักแล้ว ท่านก็รีบผุดไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นที่โนนนิเวศน์ทันที

“ยั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ทีเดียวละ” ท่านเล่า

ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ มีพระเณรเข้ามาฟังธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างเนืองแน่น ท่านทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะแสดงธรรมทุก ๕ – ๖ วันโดยเฉพาะวันธรรมสวนะ ธรรมที่ท่านแสดงจะละเอียดลออวิจิตรบรรจงมาก หลวงปู่ได้บันทึกธรรมของท่านที่ได้สดับรับฟังไว้มากมาย ตามความนึกคิดที่ระลึกได้หลังจากจบโอวาทคำสั่งสอนแล้ว ธรรมที่บันทึกไว้ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นห้วง…สั้น ๆ คล้ายเป็นหัวข้อธรรมที่บันทึกไว้ด้วยความประทับใจ ทั้งเพื่อกันลืม และเพื่อเป็นข้ออรรถธรรมที่จะนึกขยายสอนตนในภายหลัง ที่จะมียืดยาวต่อเนื่องกัน เป็นประหนึ่งเทศนาบ้างก็จดไว้เฉพาะเรื่อง ๆ เช่น เรื่องศีล…เรื่องการภาวนาทำจิต…เหล่านี้เป็นต้น

ท่านบันทึกไว้ หลายแห่ง หลายตอน บางแห่งได้มีวันที่หรือสถานที่กำกับ จากสมุดบันทึกหลายเล่มที่ลอกคัด จึงพออนุมานวันเดือนปี และสถานที่ซึ่งท่านเข้าไปฟังเทศน์ได้

เนื่องจากท่านมิได้บันทึกต่อเนื่องกันในเล่มเดียวกัน ท่านบันทึกลงไปในสมุดตามแต่จะหยิบฉวยได้ เพราะธรรมะที่เกิดขึ้น ระลึกขึ้นได้ นั้นไม่รอเวลา ถ้ามัวเสียเวลาหาสมุดเล่มที่ต้องการ ธรรมะนั้นก็อาจจะลืมเลือนไปแล้ว…หรือกระแสธารแห่งธรรมสะดุดหยุดลงได้ เป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะบันทึกธรรมนั้น ๆ ไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

จากสมุดบันทึกหลายเล่มเหล่านั้น แสดงถึงวันที่ฟังธรรมโอวาทในช่วงนี้ไว้ดังนี้

๑๙- ๗ – ๘๓ (ตรงกับ ๑๙ ตุลาคม….ผู้เขียน) คงเป็นวันแรกที่ฟังโอวาทที่โนนนิเวศน์ อุดรธานี หลังจากวันออกพรรษาที่ถ้ำโพนงาม สกลนคร วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๘๓ เพียง ๒ วัน การเดินทางลงจากเขา ข้ามจังหวัด…และทางคมนาคมสมัยนั้นยากลำบาก ไม่มีถนนลาดยางเช่นสมัยนี้ ต้องนับว่า ท่านใจร้อน กระหายต่อการฟังธรรมจากพ่อแม่ครูจารย์เพียงไร…..

๒๘-๗-๘๓ (๒๘ ตุลาคม ๒๔๘๓)

๒๙-๗-๘๓ (๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๓)

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๓….ผู้เขียน)

วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๓….ผู้เขียน)

๑๕ ค่ำดับ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓….ผู้เขียน)

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๘๓

ธรรมะที่แสดงตามวันเดือนข้างต้น นั้น หลวงปู่บันทึกไว้ชัดเจนว่าเป็นธรรมะที่แสดงที่โนนนิเวศน์ ต่อมาเพียง ๒ วัน ท่านก็บันทึกเป็นสถานที่ใหม่…ณ หนองน้ำเค็ม อุดร ซึ่งแสดงว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้ไปพักวิเวกที่หนองน้ำเค็ม อันเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากวัดป่าโนนนิเวศน์นัก และหลวงปู่ก็ติดตามไปฟังธรรม

หนองน้ำเค็ม อุดร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒ ธันวาคม ๒๔๘๓…ผู้เขียน)

หนองน้ำเค็ม ๑๐ – ๙ – ๘๓ (ตรงกับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓….ผู้เขียน)

วันอุโบสถ ต้นเดือนอ้าย พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๘๓…ปี ๒๔๘๓ มีเพียง ๙ เดือน นับจาก ๑ เมษายน ถึง ๓๑ ธันวาคม ขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม เริ่มจากปี ๒๔๘๔ เป็นปีแรก…ผู้เขียน)

๕-๑-๘๔ (ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๔)

๑๐-๑- ๘๔ (ตรงกับวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๘๔)

โรงเรียนบ้านเชียงยืน ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๘๔ (ตรงกับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔….ผู้เขียน)

ฯลฯ

สำหรับธรรมะและโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่นที่ท่านบันทึกไว้นั้นมีมากมาย ซึ่งได้แยกรวบรวมไว้ใน ภาคอาจาริยธรรม โดยต่างหากแล้ว ในที่นี้จึงจะไม่ขอนำมากล่าวซ้ำ นอกจากจะขอนำมาสาธกแสดงตัวอย่างการบันทึกธรรมในวันหนึ่ง ของหลวงปู่เท่านั้น

อนึ่ง เนื่องจากระหว่างบันทึกธรรม ซึ่งท่านคงจะฟังด้วยความซาบซึ้งและอัศจรรย์ใจในรสพระธรรมที่หลั่งไหลออกมา ความซาบซึ้งอัศจรรย์ใจของท่านคงจะรู้สึกต่อเนื่องไปถึงองค์ท่านผู้แสดงธรรมะนั้นด้วย วิสัยของปราชญ์ หลวงปู่ก็อดมิได้จะตรึกนึกวิจารณ์วิจัยท่านอาจารย์ของท่านไปด้วย

แต่แน่ละ…ต้องด้วยความซาบซึ้ง อัศจรรย์ใจเป็นที่ยิ่ง…และต้องด้วยความเคารพ รัก เทิดทูนอย่างสูงสุด

เป็นสำนวนอันบริสุทธิ์ใจ…ตรงไปตรงมา

โวหารของท่านอาจารยมั่น

พ.ศ.๘๓ หลุย โนนนิเวศน์

๒๘ – ๗ – ๘๓ (ตรงกับวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓….ผู้เขียน)

· ปัญญากับสติให้รู้เท่าทันกัน

· พิจารณากายจิต ความไม่เที่ยงของสังขารเป็นธรรมะส่อให้เห็นเรื่อย ๆ ทำความรู้ในนั้น เห็นในนั้น

· ในโลกนี้เป็นธาตุทั้งนั้นให้รู้เท่าทันกับธาตุ อย่าหลงตามธาตุ

· มหาสติเรียนกายจิตให้มาก ๆ

· ให้เห็นจริง ธรรมะจริง สมมติ อย่าหลงรูป เสียง กลิ่น รส ของอันนี้เต็มโลกอยู่เช่นนั้น

· ให้เห็นปัจจุบันธรรม อย่าส่งจิตอนาคตและอดีต

· ธาตุ ๘๔,๐๐๐ ธาตุออกมาจากจิตหมด

· นิโรธเป็นของดับเพราะรู้เท่าแล้ว จิตไม่เกิดยินดียินร้าย ดับไปเช่นนี้ ชื่อ ว่านิโรธ

· แสดงฌานเป็นที่พักชั่วคราวแล้วเจริญจิตต่อ ๆ ไป

· ให้เอากายวาจาใจนี้ยกขึ้นพิจารณา อย่าเพิ่ม อย่าเอาออก ให้เห็นเป็นปรกติ

· มรรค ๘ นั้น สมาธิมรรคเป็นองค์ ๑ นอกนั้นเป็นปริยาย

· ให้รู้ธรรมะและอาการของธรรมถึงชั้นละเอียดแล้วก็จะรู้เองเห็นเอง

· แสดงตนดูถูกท่านว่าท่านเป็นคนโกรธ เพราะผู้ฟังไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะยุ่งแต่จิตของตัวเท่านั้น

· เกิดตายเกิดแล้วตาย ชมแต่หนังของเก่า ไม่หันไปหาที่จะพ้นทุกข์

· ทำจิตให้เสมอ อย่าขึ้นอย่าลง อย่าไปอย่ามา ให้รู้เฉพาะปรกติของจิต

· แสดงฐานของธรรมะเป็นบ่อเกิดอริยสัจของจริง

· เกิดความรู้อย่างวิเศษแล้วย่อมหาอานิสงส์ประมาณไม่ได้

· อัตตาหิ…ฯลฯ เป็นของลึกลับเหลือที่สุด

· ถ้าส่งจิตรู้เห็นนอกกายเป็นมิจฉาทิฐิ ให้รู้เห็นอยู่ในกายกับจิตนั้นเป็นสัมมาทิฐิ

· นักปฏิบัติใจต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่สุดจึงจะรู้ธรรมเห็นธรรม

· ให้รู้ธาตุเห็นธาตุ จิตจึงไม่ติดทางราคะ

· คนเราจะดีจะชั่วต้องเกิดวิบิตเสียก่อน

· ท่านบอกว่าท่านเป็นคนราคะโทสะจริต แรงทางราคะ ทางโทสะ กัดติดดังควาย นิสัยใจคอเด็ดเดี่ยวมาก

· แสดงแก้ตำราพราหมณ์ดีนัก หนังสือล้วน ๆ ไม่มีบาลีอ้าง

· นิสัยของท่านอาจารย์มั่นเป็นคนใจคอเด็ดเดี่ยวดี มุ่งต่อมรรคผลจริง โวหารโปราณ ข้อวัตรหมดจดดี เป็นคนไม่มีอคติ พูดธรรมะถึงอริยสัจถึงพริกถึงขิงดี ไม่อนุโลมตามบุคคล เป็นคนที่ใคร่ต่อความสันโดษดี ข้อวัตรเรียบร้อยหมดจดดี เป็นอาชาไนยดี รู้จริตของคนอื่นดี ท่านไม่พูดไปแล้ว ท่านไม่ถือ ธรรมของท่าน ท่านสงเคราะห์เข้าปัจจุบันดี เป็นคนไม่เห็นแก่หน้าบุคคล โลกไม่เอียงไปทางกาม และทางโทสะ โมหะ ไปตามความรู้ความเห็นที่เกิดจากปฏิปทาของท่าน อ้างอิงของจริงเสมอ เป็นคนที่วางเฉยได้ ไม่ส่งจิตออกนอกกาย ท่านบริบูรณ์ทั้งมหาสติ มหาปัญญา ไม่เพ่งลาภยศ สรรเสริญ อาชีพ บริสุทธิ์ด้วยสมาธิ ปัญญา ข้ามศีลไปเสียแล้ว จิตของท่านปรกติดี ไม่ลำเอียงไปด้วยคติ กาย วาจา ใจ เป็นอาชาไนย พระอริยเจ้าเป็นผู้เลิศเป็นผู้วิเศษหาประมาณมิได้ ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้ขวนขวายน้อย เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย สันโดษ ชอบสงัด เป็นผู้ทรมานตนเสมอ เป็นผู้ที่ไม่ละกาล จิตของท่านใหม่อยู่ในธรรมเสมอไม่เบื่อ ไม่ติดตระกูล ไม่ติดที่อยู่ ไม่ติดลาภและยศ อ้างธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นของจริงและของเที่ยง นิสัยท่านอาจารย์มั่น ถูกกับนิสัยเราเสีย โดยมาก

· ท่านแสดงไม่อ้างสวรรค์ นิพพาน ไม่อ้างทุคติ อ้างความเป็นไปทางปัจจุบันอย่างเดียว เพราะชั่วดีก็ปัจจุบันที่ยังเป็นชาติมนุษย์

· ความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอนันตนัย มากมายยิ่งกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นอุบายที่จะทรมานสัตว์ พ้นวิสัยของสาวกที่จะรู้ตามเห็นตามได้ สาวกกำหนดรู้แต่เพียง ๘๔,๐๐๐ เท่านี้ก็เป็นอัศจรรย์

· ท่านกำชับว่าอย่าให้จิตเพ่งนอก ให้รู้ในตัวเห็นในตัว เมื่อรู้ในตัวแล้วรู้ทั่วไป เพราะตัวเป็นต้นเหตุ

· ปฏิภาคนั้นอาศัยผู้ที่มีวาสนาจึงจะบังเกิดขึ้นได้ อุคหนิมิตนั้นเป็นของที่ไม่ถาวร พิจารณาให้ชำนาญแล้ว เป็นปฏิภาคนิมิต ชำนาญทางปฏิภาคแล้วทวนเข้ามาเป็นตน ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนา

· ให้แก้ปัจจุบัน เมื่อแก้ปัจจุบันได้แล้ว ภพ ๓ นั้นหลุดหมดไม่ต้องส่งอดีต อนาคต ให้ลบอารมณ์ภายนอกให้หมด จึงจะเข้าอารมณ์ภายในได้ เพ่งนอกเป็นตัวสมุทัย เป็นทุกข์ และเป็นตัวมิจฉาทิฏฐิ เพ่งในเป็นตัวสัมมาทิฐิ เพ่งในตัวเป็นสัมมาทิฐิ

· เล่นนิมิตก็ดี ยินดียินร้ายก็ดี เรียกว่าคุ้มเงาตน เชื่อนิมิตเป็นบ้า

*****

นั่นเป็นตัวอย่างที่หลวงปู่บันทึกข้อธรรมไว้ไนวันหนึ่ง ที่โนนนิเวศน์ โดยรวมทั้งการวิจารณ์ลักษณะนิสัยของครูบาอาจารย์ของท่านด้วย ซึ่งเป็นการ “ม้างกาย” ของท่านอย่างหนึ่ง

สำหรับลักษณะอุปนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่ได้บันทึกต่อมาอีกหลายครั้งด้วยความชื่นชมและศรัทธายิ่ง

“ท่านภาวนาสถานที่เป็นมงคล มีเทวดามานมัสการ ตั้งหมื่น ท่านรู้ได้ด้วยภาวนา ขั้นละเอียด ฯ อมนุษย์ท่านก็รู้ได้”

“ท่านอาจารย์มั่น ท่านเป็นคนเด็ดเดี่ยวสละชีวิตถึงตาย สลบไป ๓ คราว และท่านต้องการคนใจเด็ดเป็นสานุศิษย์ ฯ”

“ท่านทำตัวของท่านใหม่อยู่ในตระกลทั้งหลาย ไม่ทำตัวของท่านให้คุ้นเคยในตระกูลเลย การไปมาของท่าน….ไปโดยสะดวก….มาโดยสะดวกไม่ขัดข้องในตระกูล”

“เป็นคนมักน้อยชอบใช้บริขารของเก่า ๆ ถึงได้ใหม่บริจาคทานให้คนอื่น ข้อวัตรหมดจดดี สติตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเสมอ เป็นผู้ไม่ละกาล วาจาพูดก็ดี เทศน์ก็ดีไม่อิงอามิสลาภ สรรเสริญวาจาตรงตามอริยสัจ ตามความรู้ความเห็น อ้างอริยสัจเป็นหลักฐานเสมอ กาย วาจา ใจเป็นอาชาไนยล้วน”

“ท่านประพฤติตนเป็นคนขวนขวายน้อยอามิส หมดจดในข้อวัตรและหมดจดในธรรมะ พ้นวิสัยเทวดาและมนุษย์ที่จะติเตียนได้ ไม่เป็นข้อล่อแหลมในศาสนา ท่านได้วัตถุสิ่งใดมา ท่านสละทันที สงเคราะห์หมู่พรหมจรรย์ ฯ”

“สิ่งของอันใดท่านอยู่ที่ไหน เขาถวาย ท่านก็เอาไว้ให้พระเณรใช้ ณ ที่นั้น ท่านไม่ได้เอาไปด้วย ฯ”

“มีคนไปหาท่านอาจารย์มั่น ท่านไม่ดูคน ท่านดูจิตของท่านเสียก่อนจึงแสดงออกไปต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น อนึ่ง ท่านหันข้างและหันหลังใส่แขก ท่านพิจารณาจิตของท่านก่อน แล้วพิจารณานิสัยของผู้อื่น นี้เป็นข้อลี้ลับมาก ต่อนั้นถ้าจะเอาจริงจังต้องประชันต่อหน้ากันจึงเห็นความจริง ฯ”

“จิตของท่านผ่าอันตรายลงไปถึงฐานของธรรมะนี้มีราคามาก บ่งความเห็นว่าเป็นอาชาไนยโดยแท้”

“ปฏิบัติธรรมท่านพูดทรมานใครแล้วย่อมได้ดีทุก ๆ คน ถ้าหมิ่นประมาทแล้วย่อมเกิดวิบัติใหญ่โต”

“ท่านมีนิสัยปลอบโยนเพื่อคัดเลือกคนดีหรือไม่ดี ในขณะท่านพูดเช่นนั้น ท่านหันกลับเอาความจริง เพราะกลัวศิษย์จะเพลิน”

“นิสัยท่านเป็นคนใจเดียว ไม่เห็นแก่หน้าบุคคล ในเวลาถึงคราวเด็ดเดี่ยวต่อธรรมะวินัยจริง ๆ ฯ”

“บุคคลใจเด็ดจึงอยู่กับท่านได้ เพราะนิสัยของท่านเป็นเช่นนั้น เป็นคนทำจริงเอาจริง ฯ”

“ท่านเป็นคนไม่อวดรู้ แต่ธรรมะของท่านบอกเหตุผลไปต่างหาก นี้เป็นข้อพึงวินิจฉัย”

“หาบุคคลที่จะดูจริตของท่านรู้ได้ยาก เพราะท่านเป็นคนนิสัยลึกลับ จะรู้นิสัยได้ต่อเมื่อบุคคลที่มีภูมิจิตส่วนเดียว ฯ”

“ท่านผู้มีอำนาจในทางธรรมะ ทำอะไรได้ไม่ครั่นคร้าม ชี้เด็ดขาดลงไป ไม่มีใครคัดค้าน นี่เป็นอัศจรรย์มาก ฯ”

“ท่านถือข้างใน ปฏิปทาความรู้ความเห็นของท่านเกิดจากสันตุฏฐี ความสันโดษของท่าน ท่านนิสัยไม่เป็นคนเกียจคร้าน ขยันตามสมณกิจวิสัย หวังประโยชน์ใหญ่ในศาสนา ฯ”

“ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้ที่สะอาด ไตรจีวรและเครื่องอุปโภคของท่าน ไม่ให้มีกลิ่นเลย ถูย้อมบ่อย ๆ

“ท่านบวชในสำนักพระอรหันต์ ๓ องค์ แต่เมื่อชาติก่อน ๆ โน้น

“ท่านไม่ใคร่พยากรณ์ใคร ๆ เหมือนแต่ก่อน ท่านพูดแต่ปัจจุบันอย่างเดียว นิสัยท่านชอบเก็บเอาเครื่องบริขารของเก่าไว้ใช้ เพราะมันภาวนาดี เช่นจีวรเก่าเป็นต้น ฯ”

“ท่านไม่ติดอามิส ติดบุคคล ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ท่านถือธรรมะเป็นใหญ่ ไปตามธรรมะ อยู่ตามธรรมะ ฯ”

“ท่านพูดธรรมะไม่เกรงใจใคร ท่านกล้าหาญท่านรับรองความรู้ของท่าน ฉะนั้นท่านจึงพูดถึงพริกถึงขิง ตรงอริยสัจ พูดดังด้วย พูดมีปาฏิหาริย์ด้วย เป็นวาจาที่บุคคลจะให้สิ้นทุกข์ได้จริง ๆ เป็นวาจาที่สมถะ

วิปัสสนาพอ ไม่บกพร่องกำหนดรู้ตามในขณะกาย วาจา จิตวิกาลตรงกับไตรทวารสามัคคีเป็นวาจาที่เด็ดเดี่ยวขลังดีเข้มแข็งดี เป็นอาชาไนยล้วนวาจาไม่มีโลกธรรมติด เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ พระเณรอยู่ในอาวาสท่านได้สติมาก เพราะบารมีของท่านเสื่อม ถ้าขืนประมาทท่านเกิดวิบัติ ฯ”

“ท่านอาจารย์มั่น เทวดาและอมนุษย์ไปนมัสการท่าน เท่าไรพันหรือหมื่นท่านกำหนดได้”

“ท่านรักษาระวังเทวดามนุษย์ประมาทท่าน เช่นเยี่ยงท่านก็มีระเบียบ แม้กิจเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นระเบียบหมด ฯ”

“ท่านอาจารย์ท่านพูดโน้น คำนี้อยู่เสมอเพื่อจะให้สานุศิษย์หลง เพื่อละอุปาทานถือในสิ่งนั้น ๆ ท่านทำสิ่งที่บุคคลไม่ดำริไว้ สิ่งใดดำริไว้ท่านไม่ทำ นี้ส่อให้เห็นท่านไม่ทำตามตัณหาของบุคคลที่ดำริไว้ ฯ”

“จิตของท่านอาจารย์มั่นผ่าอันตรายลงไปตั้งอยู่ด้วยอมตธรรม บริบูรณ์ด้วยมหาสติ มหาปัญญา มีไตรทวารรู้รอบ มิได้กระทำความชั่วในที่ลับและที่แจ้ง และมีญาณแจ่มแจ้ง รู้ทั้งเหตุผลพร้อมกัน เพราะฉะนั้นแสวงธรรมมีน้ำหนักมาก พ้นวิสัยคนที่จะรู้ตามเห็นตาม เว้นแต่บุคคลบริบูรณ์ด้วยศีลและสมาธิมาแล้ว อาจที่ฟังเทศน์ท่านเข้าใจแจ่มแจ้งดีและบุคคลนั้นทำปัญญาสืบสมาธิต่อ”

“จิตท่านอาจารย์มั่นตื่นเต้นอยู่ด้วยความรู้ ไม่หยุดนิ่งได้ มีสติรอบเสมอ ไม่เผลอทั้งกายและวาจา เป็นผู้มีอริยธรรมฝังมั่นอยู่ในสันดานไม่หวั่นไหว ตอนนี้ไม่มีใครที่จะค้านธรรมเทศนาของท่านได้ เพราะวาจาเป็นอาชาไนย และมีไหวพริบแก้ปฤษณาธรรมกายได้ ฯ”

“ธาตุของท่านอาจารย์เป็นธาตุนักรู้เป็นชาติที่ตื่นเต้นในทางธรรมะเป็นผู้ที่รู้ยิ่งเห็นจริงในอริยสัจธรรม ท่านดัดแปลงนิสัยให้เป็นบรรพชิต ไม่ให้มีนิสัยหินเพศติดสันดาน ท่านประพฤติตนของท่านให้เทวดาและมนุษย์เคารพ และท่านไม่ประมาทในข้อวัตรน้อยใหญ่ ฯ”

“ท่านไม่ให้จิตของท่านนอนนิ่งอยู่อารมณ์อันเดียว ท่านกระตุกจิต จิตของท่าน ค้นคว้าหาเหตุหาผลของธรรมะอยู่เสมอ ท่านหัดสติให้รอบรู้ ในอารมณ์และสังขารทั้งปวง ฯ”

“ท่านว่าท่านอาจารย์เสาร์หนักอยู่ในสมาธิและพรหมวิหารธรรม และท่านขาดการตรวจกายสังขาร ฯ”

“นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ อนุโลมตามนิสัยบุคคลเสียโดยมาก และท่านรู้รับว่าดีอยู่เสมอ ดีเฉพาะกิเลสของผู้ศึกษา แต่ไม่ดีธรรมะ ที่จะให้สิ้นทุกข์ เฉพาะตัวของท่านอาจารย์มั่น หัดฝืนธรรมดา เพื่อดัดแปลงนิสัย ไม่อนุโลมไปตามกิเลส”

อีกวันหนึ่ง ท่านบันทึกถึงท่านพระอาจารย์มั่นอย่างอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพของท่านต่อไปว่า

“ท่านอาจารย์มั่นท่านเก่งทางวิปัสสนา ท่านเทศน์ให้บริษัทฟัง สัญญา มานะเขาลด เจตสิก เขาไม่เกาะ เมื่อไม่เกาะเช่นนั้น ยิ่งทำความรู้เท่าเฉพาะในจิต ตรวจตราในดวงจิตขณะที่นั่งฟัง ต่อนั้นจะเห็นอานิสงส์ทีเดียว ไม่ทำเช่นนั้นหาอานิสงส์การฟังธรรมมิได้ ถ้าประมาทแล้ว จะเกิดวิบัติเพราะคามานะทิฐิของตน วินิจฉัยธรรมมิได้”

“ท่านเทศน์อ้างอิงตำราและแก้ไขตำราดุจของจริงทีเดียว เพราะท่านบริบูรณ์วิปัสสนาและสมถะพอ และท่านยกบาลีเป็นตัวเหตุผลแจ่มแจ้ง”

“ท่านอาจารย์มั่นอุบายจิตของท่านพอทุกอย่างไม่บกพร่อง คือพอทั้งสมถะ พอทั้งวิปัสสนาทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ท่านเทศนาจิตของผู้ฟังหดและสงบ และกลัวอำนาจ เพราะนิสัยคนอื่นไม่มีปัญญาที่จะชอนเข็มโต้ถามได้ ตรงกับคำว่าพอทั้งปัญญา พอทั้งสติ ทุกอย่างเป็นอาชาไนยล้วน รวบรัดจิตเจตสิกของคนอื่น ๆ มิอาจจะโต้แย้งได้”

“ท่านว่า แต่ก่อนท่านเป็นคน โกง คน ซน คน มานะกล้า แต่ท่านมีธุดงค์ข้อวัตรทุกอย่างเป็นยอด ทำความรู้เท่าทันกิเลสเหล่านั้น เดี๋ยวนี้นิสัย ก่อนนั้นกลายเป็นธรรมล้วน เช่น โกงสติ ซนสติ มานะสติ เป็นคุณสมบัติสำหรับตัวของท่าน”

“ความรู้ความฉลาดของท่านไปตามธรรมคืออริยสัจ ใช้ไหวพริบทุกอย่าง ตรงตามอริยสัจ ตรงกับคำว่าใช้ธรรมเป็นอำนาจ คณาจารย์บางองค์ถืออริยสัจก็จริง แต่มีโกงนอกอริยสัจ เป็นอำนาจบ้างแฝง แฝงอริยสัจ ตรงกับคำที่ว่า ใช้อำนาจเป็นธรรมแฝงกับความจริง”

“ท่านอาจารย์เป็นนักปราชญ์แปดเหลี่ยมคม คมยิ่งนัก ธรรมชาติจิตของท่านที่บริสุทธิ์นั้นกลิ้งไปได้ทุกอย่างและไม่ติดในสิ่งนั้นด้วย ดุจน้ำอยู่ในใบบัว กลิ้งไปไม่ติดกับสิ่งอื่น ๆ เพราะฉะนั้นจิตของท่านถึงผลที่สุดแล้ว มิอาจจะกระทำความชั่วในที่ลับและที่แจ้ง เพราะสติกับปัญญารัดจิตบริสุทธิ์ให้มั่นคง ใช้ไหวพริบเป็นอาชาไนยอยู่เนืองนิตย์”

พรรษา ๑๗-๑๙ พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๖

ในรัศมีบารมีพ่อแม่ครูจารย์

พ.ศ. ๒๔๘๔ จำพรรษา บ้านห้วยหีบ อ.ศรีสุวรรณ จ.สกลนคร

พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖ จำพรรษา บ้านอุ่นโคก

และชายป่าใกล้สำนักวัดป่าบ้านนามน

หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างเวลาจากออกพรรษา ปี ๒๔๘๓ มาจนถึงระยะก่อนจะเข้าพรรษา ปี ๒๔๘๔ ท่านได้เวียนเข้าออกอยู่ใกล้ชิดท่านพระอาจารย์มั่นเพื่อรับฟังการอบรม นับแต่จากท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เมื่อปีที่จำพรรษาอยู่ด้วยท่าน ที่วัดป่าสุทธาวาสแล้ว จิตของท่านก็ต้องพึ่งตนเองมาโดยตลอด อยู่คนเดียว การภาวนาติดขัดอะไร ก็ต้องปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง แก้ไขไปเอง ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ได้แต่คาดเดาเอาจริงอยู่ พยายามจะใช้ไตรลักษณ์เข้ากำกับ แต่ก็ยังดูเลือนลางไม่หนักแน่น เด่นชัดเพียรทำ เพียรแก้ แต่ก็ดูคล้ายกับลิงติดตัง ยุ่งอีนังตังนุง เชือกที่ควรจะผ่อนคลายกลับรัดตัวแน่นเข้า การได้วิชา “ม้างกาย” ซึ่งท่านฝึกหัดทำอย่างคล่องแคล่ว เป็นปฏิภาคนิมิต กำหนดแยกส่วนกายได้ทุกระยะ ก็เป็นเพียงหนักไปทางด้านสมถะ เป็นเอกทางสมถะเท่านั้น

ท่านทราบดีว่า ท่านควรต้องอยู่ไม่ห่างครูบาอาจารย์ เพื่อรับอุบายธรรมจากท่าน จิตของท่านคล้ายกับผู้ที่ตกอยู่ทะเลทราย กระหายน้ำมาช้านาน ได้พบบ่อน้ำวิเศษ ก็เข้าดื่มกินโสรจทรงอมฤตธรรมอย่างเต็มที่

พรรษาปี ๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่โนนนิเวศน์ อุดรธานีเป็นพรรษาที่สอง หลวงปู่คิดว่า ท่านรับอุบายธรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ควรจะลองมา

“ฝึกเดี่ยว” เองบ้าง ประกอบกับท่านได้ยินข่าวว่า ในปีพรรษาหน้านี้ ศรัทธาญาติโยมทางสกลนครหมายมั่นปั้นมือกันมากว่าจะกราบเท้าอ้อนวอนท่านพระอาจารย์มั่น นิมนต์ให้ท่านไปโปรดทางจังหวัดสกลนคร ถิ่นซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อนบ้าง ศรัทธาญาติโยมเหล่านั้นล้วนเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่าน และท่านเคยเมตตามากด้วย จึงเชื่อว่า ออกพรรษาปี ๒๔๘๔ นี้ ท่านพระอาจารย์มั่นคงจะเมตตารับอาราธนานิมนต์ศรัทธาทางสกลนคร หลวงปู่จึงคิดมุ่งจะไปหาที่จำพรรษารออยู่ที่สกลนครก่อน

ปกติหลวงปู่อาจจะเป็นผู้อยู่ไปคล่อง หรือกล่าวตามคำของปุถุชนก็ต้องว่าเป็นคนใจร้อน….ถ้าคิดจะไป ก็แต่งของใส่บาตร แบกกลด สะพายย่ามไปเลย ไปทันทีไม่รีรอ – รอใคร อยู่ง่าย ไปเร็ว เป็นคติของท่าน เมื่อจากถ้ำโพนงาม มาอุดร ท่านใช้เวลาเพียงวันเดียว แต่ขากลับ จากอุดรไปสกลนคร นี้ ท่านธุดงค์ไปเรื่อย ๆ แบบตามสบาย ระยะนั้นกำลังเป็นเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองไทยเพิ่งผ่านสงครามอินโดจีนมาหมาด ๆ สงครามโลกยังไม่แผ่ขยายมาถึงเมืองไทย แต่ก็อยู่ในระยะคุกรุ่นเต็มที่ เพราะหลังจากวันเข้าพรรษาไปเพียง ๔-๕ เดือน กองทัพญี่ปุ่นก็บุกเข้ามาในประเทศไทย ทำให้บ้านเมืองของเราเข้าสู่ภาวะสงครามติดต่อไปอีกเกือบ ๔ ปีเต็ม

ถนนจากอุดรธานีไปสกลนครมีแล้ว แต่ยังเป็นทางซึ่งมิได้ลาดยางดีเช่นทุกวันนี้ รถยนต์ก็มิได้วิ่งไปมาไม่ขาดสายดังปัจจุบัน ท่านไม่ได้คิดพึ่งรถยนต์ แต่อาศัยยานพาหนะของตน คือขา เดินธุดงค์รอนแรมเลี่ยงทางถนน มาตามทางทิวเขาภูพานอย่างไม่รีบร้อน ค่ำในนาก็พักในนา ค่ำในสวนก็พักในสวน ค่ำในป่าก็พักในป่า ค่ำบนเขาก็พักบนเขา….ระหว่างเดินทางภาวนาไปด้วยในตัว การเดินทางจึงเป็นการเดินจงกรมกำหนดให้สติอยู่กับจิต จะก้าวเดินเร็วหรือจะย่างเท้าช้า ก็เป็นไปตามวิถีของจิตที่กำลังภาวนาเป็นไป หลายต่อหลายครั้งที่ท่านหวนคำนึงถึงโอวาทที่ได้รับมาระหว่างไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นที่โนนนิเวศน์และหนองน้ำเค็ม โดยเฉพาะตอนที่เทศนาของท่านจะกวาดเอาตัวท่านแล้วไปด้วยแรงพายุกล้า

ท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นคงรู้ว่า ท่านมีมานะกล้า ถือดี ติดดี เวลาเทศน์ท่านจึงแฉลบมาว่า

“ท่านอาจารย์บุญเอาตัวรอดได้ แต่ลูกศิษย์ไม่ได้สักคน และไม่ได้นิสัยด้วย”

ท่านว่า พลางชำเลืองมองมาทางหลวงปู่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์บุญอยู่องค์เดียวในที่นั้น นัยน์ตาท่านพระอาจารย์คมปลาบราวกับแสงเพชร แล้วท่านก็ว่าต่อไป

“แก้ติดดีนี้แก้ยาก เพราะความไม่ดีนั้นแก้ง่าย เพราะเห็นว่าไม่ดีอยู่แล้ว ผู้ที่ติดดีต้องพยายามแก้หลายอย่าง เพราะมันเป็นชั้นปัญญาที่เกิดขึ้นภายใน มีพร้อมทั้งเหตุผลจนทำให้เชื่อจนได้ วิปัสสนาไปสู่อริยสัจอยู่แล้ว แต่ดำเนินไม่มีความรู้รอบพอก็เลยเป็นวิปัสสนูไป ท่านอาจารย์มั่นห้ามไม่ให้ติดฌานและญาณ”

ดูราวกับท่านจงใจจะว่าเราโดยเฉพาะ….!

“ท่านแนะนำอย่าหลงฌาน ผู้จะพ้นทุกข์จริงแล้วไม่หลง ญาณ คือความรู้วิเศษที่เกิดขึ้นจากสมาธิสงบระลึกชาติหนหลังได้ ๑ ญาณเหตุการณ์อดีต ๑ ญาณรู้จักอนาคต ๑ รู้จักความนึกคิดของคนอื่นเป็นต้น เป็นวิชาที่อัศจรรย์ทั้งนั้น เมื่อติดอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ล่าช้า เข้าสู่อริยสัจธรรม ฌานเหล่านี้เป็นอุปกรณ์วิเศษ แต่สมัยนั้นเทวทัตติดกลับเสื่อมได้ เกิดทิฐิมานะแข่งขันสู้พุทธเจ้า ท่านอาจารย์มั่นว่าฌานเหล่านี้มันน่าคิดจริง วิเศษได้ทางโลกีย์ ฉะนั้น ท่านฤๅษีทั้งหลายติดฌานอันนี้ ท่านอาจารย์หนูใหญ่ติดฌานอันนี้เอง เสื่อมแล้วก็สึกกันเท่านั้น”

“ท่านเห็นความรู้นั้นว่าธาตุจริง ฌานร้จริง มันจริงทางวิปัสสนู แต่ทำความรู้นั้นให้ยิ่ง จึงเป็นวิปัสสนา เครื่องเย็นใจ ท่านอาจารย์มั่นสอนศิษย์ในทางอย่าหลงฌาน อย่าหลงญาณ โยคาวจรเจ้าติดในตอนนี้มาก ติดพรหมโลก อ่อนทางวิปัสสนา”

ท่านเดินไป ครุ่นคำนึงไป…. เมื่อสมัยเกือบห้าสิบปีก่อน หมู่บ้านยังอยู่ห่างกัน ไม่แออัดด้วยผู้คนและบ้านเรือนเช่นสมัยปัจจุบัน ป่ายังคงเป็นป่า…เขายังคงเป็นเขา….

…..ป่ายังคงเป็นป่า…ต้นไม้ขึ้นเบียดเสียด สูงชะเงื้อม แผ่กิ่งก้านสาขา กิ่งหนาใบดกเขียวครึ้มระก่ายกัน เดินอยู่ตามทางในป่าแทบจะไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน ไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้โป่งเปือยหรือตะแบก อินทนิน ยูง ยาง แต่ละต้นมีลำต้นใหญ่ขนาดคนสองสามคนจึงจะโอบรอบ

….เขายังคงเป็นเขา…ภูเขายังเป็นสีเขียวขจีด้วยคลื่นแมกไม้น้อยใหญ่ ไม่ล้านเลี่ยนเป็นภูเขาหัวโล้นสีน้ำตาลลูกแล้วลูกเล่า อย่างน่าสลดใจดังในทุกวันนี้

….ท่อธารละหานห้วย…ยังมีน้ำใสไหลเย็นแทบตลอดปี น้ำห้วยน้ำซับมีให้ได้พบเห็น ได้อาศัยอาบกินเป็นระยะ ๆ ไม่เคยอด แตกต่างกับสภาพโขดหินที่แตกระแหงแห้งน้ำเช่นปัจจุบัน.

….สัตว์ป่าก็อุดมสมบูรณ์ เสือ ช้าง กวาง เม่น หมี ลิง บ่าง ค่าง ชะนี นกยูง ก็ยังมีให้ประสบพบเห็นบ่อย ๆ ในราวป่า อย่างน้อยไม่ต้องพานพบประสบตัวให้กลัวเกรง อย่างเสือ อย่างช้าง แต่ก็ได้ยินเสียงกระหึ่มคำรามของเสือ เสียงหักกิ่งไม้ของพญาคชสาร…ดังแหวกความวิเวกมาให้ได้ยินไม่เว้นวาง

เดินไปตามทางซึ่งยังมีร่องรอยของพรานป่า แต่บางครั้งก็หลงทิศ ต้องหยุดกำหนดจิตตั้งทิศทางที่จะดำเนินต่อไป…..

แล้วก็อดที่ระลึกถึงความรู้ความเห็นของครูบาอาจารย์ต่อไปมิได้ ด้วยความซาบซึ้งเหลือจะกล่าว…..

“ความรู้ของท่านที่มั่นคงอยู่นั้นสุดวิสัยของสัตว์ที่จะรู้ตามเห็นตามเพราะฝ่าอันตรายลงไปหลายชั้นหลายเชิง จึงเห็นธรรมของท่านลึกลับสุขุมคัมภีรภาพ จึงเห็นคุณธรรมของท่านเกิดขึ้นในเฉพาะหน้า ถ้าจิตฟูตามกิเลส ไม่เห็นคุณธรรมของท่านเลย เพราะอยู่คนละโลกเสียแล้ว จะเห็นหน้าท่านได้อย่างไร”

“คนอื่นจะฟังเทศน์ท่านเข้าใจนั้น เมื่อจิตหดแล้ว รีบทำความรู้ความเห็นจิตของตัว อย่านอนใจความวุ่นความวายในจิตของตัวได้แล้วทวนกระแสของจิตเข้าไป ตั้งใจฟังเรื่อย ๆ ก็จะเห็นอานิสงส์ดูดดื่มธรรมรสนั้นทีเดียว เต็มทีอย่างเดียวมันยุ่งนำหัวใจของตน กรรมของตน ไม่เปิดออกจะรับธรรมได้อย่างไร”

“สติของท่านจับจิตอยู่เสมอ ท่านทำการงานอะไรลงไปไม่ผิด”

“ท่านไม่ส่งจิตออกนอก เกรงจะเป็นมิจฉาทิฐิ ท่านพิจารณาแต่กายกับจิต แสบตาตกตำ เพราะท่านสำรวม ท่านทำสัญญาและสติดล่องแคล่วชำนิชำนาญมาก ความรู้ความเห็นของท่านหนักแน่นมาก ไม่มีที่จะชอนเข็มฉะนั้นท่านพูดธรรมได้ไม่มีใครชอนเข็มคัดค้านได้เลย (นี้เป็นอัศจรรย์อันใหญ่หลวง) เรียกว่าท่านมีนิทัศบุญาณภายในแจ่มแจ้ง ท่านพิจารณาดูโลกไม่มีผู้หญิงผู้ชาย เพราะกรรมเป็นสภาพธรรมอันเดียว ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีไป ไม่มีมา โลกเป็นอยู่เช่นนั้น ส่วนรู้เห็นธรรมก็รู้เห็นอยู่เช่นนั้น”

หลวงปู่คุยให้ฟังว่า ท่านเพลินคิด เพลินนึก ตรึกถึงธรรมะที่ได้รับถ่ายทอดมาทุกคืนวัน จิตทรงเป็นสมาธิ นับเป็นสังฆานุสติได้เป็นอย่างดี เดินวิเวกมาถึงสกลนครได้อย่างไม่ทันรู้ตัว

ปี ๒๔๘๔ นั้นท่านได้จำพรรษาที่บ้านห้วยหีบ อ. ศรีสุวรรณ จ. สกลนครและก็จริงดังคาด ออกพรรษาแล้ว คณะศรัทธาทางสกลนครก็พร้อมกันจัดรถไปอาราธนานิมนต์ทานพระอาจารย์มั่นให้มาโปรดพวกคณะญาติโยมทางนั้นปลายปี ๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์มั่นไปพักที่วัดป่าสุทธาวาสชั่วระยะหนึ่ง มีพระเณรมากราบนมัสการและฟังโอวาทท่านมิได้ขาด จากนั้นท่านก็ออกเดินทางไปพักที่สำนักป่าบ้านนามนซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งมีป่าไม้ร่มรื่นดี เหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม ท่านพักบ้านนามนเทศนาอบรมพระเณรและญาติโยมผู้ศรัทธามาฝึกสมาธิภาวนาตามควร แล้วก็มาพักและจำพรรษาปี ๒๔๘๕ ที่บ้านโคก ซึ่งที่อยู่ไกลออกไปจากบ้านนามนไม่กี่กิโลเมตร

ออกพรรษา ปี ๒๔๘๕ ท่านย้อนกลับไปพักที่บ้านนามนอีก และจำพรรษาปี ๒๔๘๖ ณ ที่บ้านนามน หากทว่า ระหว่างที่อยู่บ้านนามนนี้ ท่านได้ออกไปวิเวกตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น บ้านห้วยหีบ บ้านห้วยแคนในป่าบ้านนาสีนวน เป็นอาทิ มีทั้งพระเณรติดตามไปอยู่กับท่านตามจำนวนพอดีกับเสนาสนะหรือมิฉะนั้นก็อาศัยรุกขมูลร่มไม้เป็นเสนาสนะได้ ทุกวันพระธรรมสวนะ จะมีพระเณรและประชาชนติดตามเข้าไปฟังโอวาทของท่านเสมอมิได้ขาด

หลวงปู่เป็นผู้หนึ่งที่ไม่ยอมพลาดโอกาสอันวิเศษนี้ ท่านมิได้จำพรรษาอยู่ด้วย และก็คงหาที่จำพรรษาในบริเวณใกล้เดียงอันอยู่ในรัศมีที่แวดวงบารมีของพ่อแม่ครูจารย์จะแผ่ไปคุ้มครองเป็นมงคลแก่เศียรเกล้าได้

ปี ๒๔๘๕ ท่านจำพรรษาที่ บ้านอุ่นโคก ปี ๒๔๘๖ จำพรรษา ณ กระต๊อบเล็ก ๆ ที่ชายป่าใกล้กับที่พักสงฆ์ ณ บ้านนามน

บางเวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกวิเวกไปตามหมู่บ้านอื่น ๆ ท่านก็ได้โอกาสขอไปพักอาศัยบารมีพักฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

ในภายหลัง ปี ๒๕๒๕ ท่านรำพึงไว้ ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า รำลึกถึงความเพียรพยายาม ที่ท่านบำเพ็ญมาในหนหลังว่า

๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕ ถ้ำผู้ข้า

“เมื่อคราวเราอยู่กะท่านอาจารย์มั่น ห้วยหีบ จ. สกลนคร นั้น เราทรมานตนอย่างขนาดใหญ่มีประการต่าง ๆ กำลังม้างกาย ประกอบจิตเด็ดเดี่ยว กล้าตาย ส่งเข้าภายใน มารตัวสำคัญ คล้ายมันปัดออก แต่เราสละตายเข้าไป เกิดระเบิดใหญ่ภายในนั้น ข้อ ๑ ถือธรรมะนิสัยท่านอาจารย์มั่น จึงชนะได้”

คราวท่านอาจารย์มั่นไปจุดศพ (เผาศพ….ผู้เขียน) ท่านอาจารย์เสาร์ ณ จังหวัดอุบลราชธานี นั้น เราเดินจงกรมระลึกถึงท่านเป็นที่หนึ่ง พร้อมทั้งอิทธิบาท ๔ ไม่ละซึ่งความเพียร”

“๑/๑๑/๘๔ (ตรงกับ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๔….ผู้เขียน) การภาวนาอยู่กับท่าน เห็นปาฏิหาริย์ของท่านหลายอย่างหลายประการ ทำให้ผู้น้อยไม่นอนใจ เร่งทำความเพียรเสมอ จิตไม่ส่งไป ณ ที่อื่น จิตดูดดื่มธรรมมาก ความประมาทมีน้อยจะไม่ให้ลูกศิษย์ได้นิสัยและได้ดีอย่างไรได้ ย่อมได้ดีทุกรูป ผู้ใหญ่มักพูดบ่อย ๆ ผู้น้อยมีสติเพราะระวังตัว ท่านปกติทรมานผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ไปท่าย่อแก สกล ท่านไม่อยากไปเพราะไม่มีคนปฏิบัติตาม มีแต่ท่านอยู่ที่ไหนก็ทนได้ ท่านเพ่งประโยชน์เสียก่อนจึงไปและมีคนอาราธนานิมนต์ด้วย”

หลวงปู่บันทึกไว้อีกในปี ๒๔๘๔ นั้นว่า

ลัทธิของท่านอาจารย์มั่น ๑๐.๑.๘๔

“เสียงดังเป็นเสียงของบุรุษ เสียงเป็นรัศมีอำนาจเลี้ยงจิตมากฉลาดใช้ไหวพริบทางจิต ไม่เชื่อนิมิต ท่านเชื่อธรรมะที่เกิดปัจจุบันปัญญาบริบูรณ์ไม่บกพร่อง กายวาจา จิตเข้มแข็งมาก พิจารณาธรรมะถึงแก่นเป็นผู้บริบูรณ์ทางปริยัติและปฏิบัติ กายวาจาใจเป็นอาชาไนยเสมอจิตไม่มีการหดหู่จิตชื่นตื่นเต้นอยู่ด้วยสติ”

“สานุศิษย์ที่อยู่ด้วยมีการปฏิบัติ คือ –

จิตไม่ออกรับเหตุภายนอก จิตเยือกเย็น ขนหัวลุก จิตกลัวเกรงท่านมาก ดุจท่านเห็นจิตของเราอยู่เสมอ จิตของเราพิจารณาค้นเหตุผลอยู่เสมอไม่นอนใจ ฉะนั้นสานุศิษย์จึงมีสติเร็ว รู้เร็ว เห็นธรรมะเร็วผู้มีวาสนาน้อยไม่ติดตามท่านเพราะข้อวัตรของท่านเข้มแข็ง น้ำใจเด็ดเดี่ยวกะเพชร ท่านพูดมีธรรมะภายในภายนอกเป็นที่อ้างอิง สานุศิษย์เข้าหาท่านร้อน ทำให้จิตผู้น้อยค้นคว้าหาเหตุผล เมื่อออกมาแล้วจิตจึงเห็นอานิสงส์เมื่ออยู่กะท่านไปแล้วยิ่งเห็นอัศจรรย์ใหญ่ ท่านเป็นคนเกรงใจคน ท่านเป็นคนใหม่ในตระกูลทั้งหลาย ไม่ติดอามิส และติดตระกูล เป็นคนชอบสันโดษ ไม่ยุ่งกังวลทกอย่าง อบายธรรมะแยบคายมาก อามิสได้ด้วยการเป็นเอง กินอร่อยดุจแมลงภู่ชมเกสร มีความรู้เท่าทันเหตุผล มีญาณความรู้ทุกเส้นขน เป็นคนราคะกับโทสะจริต ท่านได้พูดทำลงไปแล้วไม่มีใครคัดค้าน สติปัญญาแน่นหนามากหาที่จะซอนเข็มมิได้ (เป็นนักรู้นักปฏิบัติ)พูดไม่เกรงใจคน พูดถูกธรรมะก็เป็นอันที่แล้วกัน มิจิตน้อมไปเพื่อปฏิบัติให้สิ้นทุกข์ทีเดียว ไม่พูดตลกคะนอง”

“แรงทางสมาธิและปัญญา แรงทางสติหนาแน่นมาก เพราะท่านค้นกายจิตพอ เพราะฉะนั้นสติของท่านจึงไม่เผลอ”

ภัยสงครามครั้งที่สองถามมาถึงประเทศไทยด้วย ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค ภายหลังเริ่มมีการถูกทิ้งระเบิดระหว่างอยู่บ้านอุ่นโคก พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านบันทึกไว้ถึงความเป็นห่วงทางบ้าน อาจจะหวาดเกรงภัยสงคราม จิตจะไม่มีที่พึ่ง

อยู่บ้านอุ่นโคก เดือน ๕-๖ พ.ศ.๘๕

“จิตได้วิเวกบังเกิดความกลัวต่อสู้ทางอากาศ พิจารณากายปฏิภาค นิมิตแยบคายมาก คิดถึงคุณของท่านอาจารย์ใหญ่มาก แต่วิตกทางบ้านเรื่อย ๆ นิมิตความฝันก็เป็นมงคล พึ่งธรรมไม่พึ่งยาเหมือนแต่ก่อน ท่องปาฏิโมกข์ก็สะดวก ร่างกายก็ให้โอกาสไม่เจ็บป่วย สัญญาในอดีตเกิดมาก แต่พิจารณาถึงหลักของธรรมแล้วหาย อยู่วิเวกคนเดียวมีความสุขมาก จิตพึ่งธรรมะไม่พึ่งคนอื่น”

“เฉพาะตัวของเราเมื่ออยู่ในสำนักของท่านแล้ว ให้ สำคัญว่า เราเป็นสามเณรเพื่อถอนทิฐิมานะ แข่งดีกับท่าน พิจารณาแล้วสะดวก เข้าอุปัฏฐากท่าน แหม่ลืมอารมณ์บ่วงมานาน พึ่งมาตั้งจิตได้ อนิจจาเอย ประมาทมามากมาย ฯ”

“พิจารณากายให้มากเป็นอุคคหนิมิต พิจารณาอุคคหนิมิตให้มากเป็นปฏิภาคนิมิต พิจารณาปฎิภาคให้มาก จิตรวมเป็นอริยสัจ เห็นแจ้งพร้อมด้วยญาณสัมปยุต เกิดขึ้นมาเรียกว่า อุฎฐาคามินีวิปัสสนา ทำในที่นี้ให้ชำนาญแล้ว เห็นพร้อมด้วยการรวมใหญ่ มีญาณสัมปยุตทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุติ ฯ”

“อุบายของวิปัสสนาที่จะถ่ายถอนกิเลส ธรรมชาติของสวยของงามต้องมาแต่ของที่ไม่ดี ดุจดอกประทุมชาติเกิด ณ ที่เปลือกตม ธรรมวิเศษต้องพิจารณาออกจากกายอันเปื่อยเน่า”

“การพิจารณากาย ต้องให้ก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็นอนุโลมปฏิโลมจนให้ชำนาญต่อไป จิตเป็นเองจิตย่อมจะรวมใหญ่ จึงเห็นความเป็นอันเดียวกันหมดทั้งโลก เป็นธาตุทั้งสิ้น นิสิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลก โลกราบดุจหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียว”

“อริยสัจเป็นที่แก้สมมติในจิต”

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-06.htm

. . . . . . .