ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๗

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๗

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๒๐ – ๒๕ พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๙๒

ดุจนายทวารบาลแห่งบ้านหนองผือ

พ.ศ. ๒๔๘๗- ๒๔๘๘ พรรษา ณ บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ. สกลนคร

พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๐ พรรษา ณ บ้านอุ่นดง จ. สกลนคร

พ.ศ. ๒๔๙๑ พรรษา ณ บ้านโคกมะนาว จ. สกลนคร

พ.ศ. ๒๔๙๒ พรรษา ณ บ้านห้วยบุ่น ต. นาใน อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร

ในปี ๒๔๘๗ นั้นท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคก ซึ่งไม่ใช่สำนักเดิมที่เคยจำมาแล้ว เป็นสำนักใหม่ที่พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ สร้างถวาย ในปีเดียวกันนี้ ขณะนั้นหลวงปู่หลุยจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต. นาใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านโคกนัก ระยะนั้นท่านกำลังมีความคิดว่าควรจะให้ชาวบ้านหนองผือได้มีโอกาสได้บุญกุศลอย่างมหาศาล โดยการอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ให้มาจำพรรษาโปรดพวกเขาบ้าง ที่บ้านหนองผือ นาใน นี้บ้าง

ความจริงในระยะเวลานั้น ครูบาอาจารย์หลายองค์ก็มีความปรารถนาอยากให้ท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์หรือวัดที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่ ระหว่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่สำนักป่าบ้านโคกก็ดี บ้านนามนก็ดี หรือย้อนกลับมาที่บ้านโคก แต่ว่าเป็นคนละแห่งกับบ้านโคกที่ท่านพักจำพรรษาเมื่อปี ๒๔๘๕ หลายต่อหลายองค์ก็คิดว่าควรจะหาทางอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ไปโปรดญาติโยมที่สำนักสงฆ์ หรือวัดป่าที่ท่านเคยคุ้นเคยกับญาติโยมเหล่านั้น

ขณะนั้นหลวงปู่หลุยได้มาที่บ้านหนองผืออีกครั้งหนึ่ง นอกจากการที่ท่านจะได้ไปฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็ยังได้สอนอบรมพวกชาวบ้านในเขตหนองผือ ในเรื่องการฟังธรรมอีกครั้งหนึ่งด้วย ตามแบบฉบับที่ท่านเคยได้สอนไว้แต่ครั้งแรกที่ท่านมาพักจำพรรษาแต่ในปี ๒๔๗๘ ก่อนโน้น ก็เป็นเวลาเกือบ ๙ ปีที่แล้ว

ในระยะนี้เผอิญเป็นระยะที่กำลังสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ยุโรปกำลังเริ่มจะแตกหัก ส่วนทางมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นก็กำลังรบรุกอย่างหนัก สภาพการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคมีอย่างมากที่สุด เสื้อผ้าแพรพรรณอาศัยของนอกไม่ได้ต้องใช้การทออยู่ภายใน ระหว่างนั้นการขาดแคลนเรื่องผ้าเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ รวมทั้งพระเณรก็ขาดแคลนสบง จีวร จนกระทั่งว่าวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านนามนนั้น ออกพรรษาแล้วก็ไม่มีผ้าจะเปลี่ยนผ้าสบงจีวร

เมื่อหลวงปู่ท่านมาอยู่บ้านหนองผือ ครั้งที่ ๒ มาอยู่จำพรรษา ออกพรรษาแล้วท่านก็พาชาวบ้านที่ท่านฝึกไว้ตั้งแต่เมื่อตอนต้นปีนี้ ทอผ้าว่าทออย่างไร ออกพรรษาแล้วก็พาเขาไปถวายผ้า แล้วพร้อมกับแนะให้เขาอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ขึ้นมาพักอยู่ที่บ้านหนองผือ แสดงความเคารพนอบน้อม

ท่านพระอาจารย์มั่นก็มองดูเห็นว่าชาวบ้านหนองผือนี้มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง การเข้าใกล้ครูบาอาจารย์ก็มีความนอบน้อม แสดงความคารวะ เจรจาความใด แสดงว่ามีศีลมีธรรม มีความเคารพ ตั้งใจจะปฏิบัติภาวนา ท่านพระอาจารย์มั่นก็บังเกิดความเมตตา สุดท้ายท่านก็ยอมรับว่าจะมาอยู่จำพรรษาหน้าให้

เมื่อออกจากบ้านนามนแล้ว ท่านมาพักอยู่ที่บ้านห้วยหีบ โดยพักอยู่ที่บ้านห้วยหีบ ๓ เดือนเศษ ระหว่างที่อยู่บ้านห้วยหีบนี้หลวงปู่หลุยก็ได้ไปพักอยู่ด้วยท่าน เรื่องนี้ท่านได้เล่าไว้ในภายหลัง โดยบันทึกไว้ระหว่างที่ท่านอยู่ถ้ำเจ้าผู้ข้าเมื่อปี ๒๕๒๕ ว่า

“เมื่อคราวเราอยู่กะท่านอาจารย์มั่น ห้วยหีบ สกลนคร นั้น เราทรมานตนอย่างขนานใหญ่ มีประการต่าง ๆ กำลังม้างกาย ประกอบจิตเด็ดเดี่ยว กล้าตาย ส่งเข้าภายใน มารตัวสำคัญ คล้ายมันตัดออก แต่เราสละตายเข้าไป เกิดระเบิดใหญ่ภายในนั้น ถือธรรมนิสัยท่านอาจารย์มั่นจึงชนะได้”

เมื่อได้ยินข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นรับอาราธนานิมนต์แล้วว่าจะมา เพียงแต่ท่านออกท่องเที่ยวธุดงค์มาเรื่อย ๆ แต่หลวงปู่ก็ทราบดีว่า ปกติท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบเบียดเบียนพระเณรในวัดใด ท่านจะปล่อยให้อยู่ตามสบาย ๆ หากพบว่า เมื่อท่านมาแล้วจะทำให้พระเณรลำบาก ต้องจากที่ไป ท่านก็จะผ่านเลยไป หาความสะดวกสบายที่วิเวกสถานที่อื่นแห่งอื่นต่อไป

หลวงปู่ทราบนิสัยของครูบาอาจารย์ดี ท่านจึงรีบกลับมาเตรียมจัดเสนาสนะที่บ้านหนองผือ ทางชาวบ้านเรียกว่าเป็น “วิทยายุทธของเพิ่น” เพราะว่าท่านรู้ว่า “หลวงปู่มั่นซิบ่ไปเบียดเบียนพระเณรในวัดใด๋ ปล่อยให้อยู่ตามสบาย ๆ หลวงปู่เพิ่นจึงขึ้นมาก่อน เพิ่นมาสะสาง” ปรากฏว่า ขณะนั้นมีหลวงตาองค์หนึ่งอยู่ที่บ้านหนองผือ อยากอยู่กับหลวงปู่มั่น ถือว่าอยู่ก่อนหลวงปู่มั่น ก็ไม่ยอมไป ถือโอกาสจะครอบครองวัดนั้นอยู่ หลวงปู่ขึ้นมา

“เพิ่นไล่หลวงตานี้หนีไปก่อน เพื่อปล่อยให้เป็นวัดร้าง บ่ให้ไผอยู่ ตัวเพิ่นเองก็หนีไปอยู่ที่บ้านห้วยบ่นบ้าง ทางบ้านนาเหล่าบ้าง บ่อยู่ขัดขวางทางท่านอาจารย์”

ซึ่งเป็นคำพูดของหลวงตาบู่เล่าให้ฟัง และเล่าถึงการมาวัดหนองผือของท่านพระอาจารย์มั่นว่า

“เพิ่นซิย่างมาทางอุ่นดง ทางอุ่นโคก ทางหนองสะไน ทางที่เพิ่นเคยอยู่ หลวงปู่มั่นเพิ่นเดินทางมานอนที่บ้านห้วยหีบ บ้านหนองน้ำใส กุดน้ำใส คืนหนึ่ง เสร็จแล้วหลวงปู่ก็มาถึง คืนที่ ๒ ก็มาถึงหนองผือแล้ว”

หลวงตาบู่เล่าต่อไปว่า เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเข้ามาพักอยู่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หลุยก็ทำท่าทางไม่รู้ไม่ชี้ ค่อย ๆ ออกมาจากบ้านห้วยบุ่น แล้วก็มากราบนมัสการหลวงปู่มั่นในตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น ทำเหมือนว่าท่านไม่รู้เรื่องรู้ราวที่พวกราษฎรบ้านหนองผือไปอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นมา

ท่านว่า ความจริงหลวงปู่มั่นก็พอรู้ ๆ อยู่ แต่ท่านก็ทำเฉยเสียเหมือนท่านไม่รู้เรื่องอะไร ในการที่หลวงปู่หลุยได้ตระเตรียมสถานที่แบบนี้ ทั้ง ๆ ที่วัดป่าบ้านหนองผือนี้ท่านจำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ อยู่ตลอดมา แต่ท่านก็ทำเป็นกลับออกไปหลบอยู่ที่ข้างนอก บ้านหนองผือกลายเป็นสถานที่ร้าง เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นท่านอาจารย์ของท่านได้มาเห็นท่านก็พอใจ เพราะเป็นวัดร้างจริง ๆ ไม่มีใครอยู่ ณ ที่นั้น แต่ก็ดูปัดกวาคอย่างเรียบร้อย พวกชาวบ้านก็พากันมากราบพร้อมกัน เป็นการแสดงความยินดีที่ได้มีครูบาอาจารย์องค์สำคัญ เมตตากรุณาพวกเขาเดินทางมาถึง

หลวงปู่หลุยทำให้ทุกคนเข้าใจว่าชาวบ้านคิดเอง ทำเอง มีจิตเลื่อมใสเอง การทุกอย่างดูช่างแนบเนียน ไม่ให้ใครเข้าใจได้ ทำให้ทุกคนรู้สึกเมตตาสงสารชาวบ้านอย่างยิ่ง เมื่อคณะเข้ามาพักอยู่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หลุยจึงค่อยเข้ามากราบ

อันที่จริงหลวงปู่เป็นคนที่มีนิสัยชอบอยู่องค์เดียว ท่านไปช่วยสร้างวัดใดแล้วเมื่อเวลาท่านกลับมา มีพระเณรอยู่ อย่างเช่นที่วัดหนองผือ ที่ท่านเข้ามาในระยะแรกท่านก็ไม่เข้ามาอยู่ในวัด ท่านกลับไปนอนนอกวัด ตามกระต๊อบนาบ้าง ตามโคนไม้รุกขมูลบ้าง หรือไปนอนตามป่า ท่านไม่เข้าไปอยู่ในวัด เพื่อให้พระเณรที่อยู่ในวัดนั้นเกรงใจ อันนี้เป็นนิสัยของท่าน ถ้ามีผู้อยู่ในวัดแล้ว ท่านจะไม่เข้าไปในเขตวัดเลยทั้ง ๆ ที่เป็นวัดที่ท่านได้จัดสร้างขึ้นมาแท้ ๆ

หลวงตาบู่ผู้เล่าเรื่องนี้ เมื่อสมัยหลวงปู่มาอยู่บ้านหนองผือแต่สมัยแรกปี ๒๔๗๘ ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ ต่อมาในสมัยหลัง พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๘๘ ก็เป็นกำลังศรัทธาอันเข้มแข็ง แต่ปัจจุบันนี้ก็กำลังบวชเป็นภิกษุอยู่ ได้เล่าต่อไปว่า

เรื่องหลวงปู่มั่นที่จะกลับมานั้น หลวงปู่หลุยท่านได้วางแผนประชุมพวกชาวบ้านซึ่งรวมทั้งหลวงตาบู่ขณะนั้นให้เข้าใจด้วย มีการอบรมชาวบ้านให้เข้าใจเรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องการทำบุญสุนทานรักษาศีล ภาวนาเป็นอย่างดี เป็นการเตรียมตัว ไม่ได้เตรียมสถานที่ เสนาสนะไว้เท่านั้น แม้แต่เตรียมบุคคล เตรียมผู้ที่จะทำข้อวัตรอุปัฏฐากท่านอาจารย์ด้วย เป็นการที่ทำให้ท่านพระอาจารย์มั่นพอใจและมีเมตตาชาวบ้านหนองผือเป็นพิเศษ ถึงได้อยู่จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลานานติดต่อกันถึง ๕ พรรษา ตั้งแต่ปี ๒๔๘๘- ๒๔๙๒ จนกระทั่งท่านเข้าสู่นิพพาน ที่วัดป่าสุทธาวาส ในภายหลัง

หลวงตาบู่ยืนยันว่า เมื่อก่อนนั้นก็ไม่มีใครรู้ประวัติวัดหนองผือนี้เลยว่าเป็นมาอย่างไร ถ้าไม่ใช่หลวงปู่หลุยเป็นผู้ริเริ่มจัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ แล้วได้มีอุบายวิธีนิมนต์หลวงปู่มั่นมาจำพรรษา ก็คงไม่มีชื่อที่จะติดอยู่ในประวัติศาสตร์ชีวิตพระกัมมัฏฐานเช่นทุกวันนี้

หลวงตาบู่ได้เล่าถึงการอบรมสั่งสอนของหลวงปู่หลุยต่อไปอีกว่า

“การสอนของเพิ่น สอนตั้งแต่พ่อถึงลูก ถึงหลานถึงเหลน เป็นที่จับใจ สอนก็สอนแบบง่าย ๆ รู้สึกว่าเพิ่นซิเป็นที่สนิทสนมที่สุดของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ซิคุ้นเคยกับเพิ่นที่สุด เรียกว่าคุ้นเคยแบบพูดได้ทุกประโยค แบบพ่อแม่พูดกับลูก แบบพ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกนั่นแหละ”

ชาวบ้านหนองผือกับหลวงปู่ จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ท่านเมื่อจำพรรษาที่บ้านหนองผือกับหลวงปู่มั่นในปี ๒๔๘๘ แล้ว ระยะต่อมาท่านก็แยกไปจำพรรษาอยู่ที่อื่น หรือระหว่างพรรษาหนึ่งกับอีกพรรษาหนึ่งท่านก็หลบไปอยู่ที่อื่นเช่นกันเช่นปี ๒๔๘๙, ๒๔๙๐ ท่านไปอยู่อุ่นดง ๒๔๙๑ จำพรรษาที่บ้านโคกมะนาว ซึ่งในพรรษานี้มีท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจำพรรษาอยู่ด้วย ๒๔๙๒ อันเป็นปีที่ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ ท่านจำพรรษาที่บ้านห้วยบุ่น

สำหรับปี ๒๔๘๘ ที่ท่านอยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ บ้านหนองผือ ได้มีพระอื่นที่จำพรรษาด้วยอีก คือท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านอาจารย์มนู ท่านครูบาอ่อนสา ท่านครูบาเนตร กันตสีโล ท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม และเณรดวง ผ้าขาวเถิง

ในระหว่างฤดูแล้งออกพรรษาแล้ว ท่านจะอยู่บ้านนาเหล่าบ้าง วนเวียนอยู่แถวบ้านอุ่นดง บ้านอุ่นโคก ไปอยู่ทางนี้หลวงตาบู่ว่า รู้สึกว่า ๓ ปี อยู่ทางตะวันตกของบ้านหนองผือ ๒ ปี มาอยู่ทางตะวันออก ๓ ปี ถือวัดป่าบ้านหนองผือเป็นจุดศูนย์กลาง โดยรอบวัดสำคัญที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ เพราะท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบให้พระเณรอยู่ในวัดเดียวมากเกินไป อีกทั้งระยะหลัง ท่านก็เริ่มมีอายุมากแล้ว การจะปล่อยให้พระเล็กเณรน้อยที่ไม่ได้ผ่านการอบรมบ่มนิสัย เข้าไปใกล้ชิดท่านก็จะเป็นภาระอันหนักแก่ท่าน บรรดาพระเถระผู้ใหญ่ จึงต้องเป็นคล้ายนายทวารบาล ช่วยดูแลอบรมกันเป็นลำดับ ๆ ชั้นก่อน ต่อเมื่อเห็นองค์ใดมีนิสัยพอจะมี “ประกายแวววาว” ก็จะส่งต่อไป ให้ได้รับการอบรมขั้นสูงต่อไป

หลวงปู่กล่าวอย่างถ่อมองค์เสมอว่า “เวลาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นท่านเป็นประดุจเขียงเช็ดเท้าของท่านอาจารย์ เหมือนผืนหนังที่ก่อนจะถูกฟอกให้อ่อนนุ่ม จะต้องผ่านกรรมวิธี ถูกทั้งทุบทั้งตีอย่างหนัก จนกว่าจิตที่กำเริบฟุ้งซ่านจะอ่อนยวบสยบลง” สำนวนท่านเรียกว่า จิต “กำเหริบ”

ท่านเล่าว่า เมื่อตอนที่มาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ระยะนั้นท่านก็เพิ่งผ่านพ้นสนามทดลองมาใหม่ ๆ จิตกำลังมีกำลังกล้า ได้ฝึกปรือด้านการม้างกายมา ทำปฏิภาคนิมิต ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เล็กลง…เป็นอนุโลมปฏิโลมอย่างคล่องแคล่ว กำหนดรู้จิตคนก็รู้ได้มาก

ดังนั้น วันหนึ่งอดไม่ได้ไปแอบม้างกายท่านพระอาจารย์มั่น เห็นแสงแห่งจิตของท่าน กำหนดแยกส่วนออกเป็นชิ้น ๆ ส่วน เพราะหลวงปู่ถือตำราอยู่ว่า หากกำหนดม้างกายใครแล้วก็จะรู้จักคนนั้น ทรมานจิตคนนั้นให้อ่อนลงได้ ท่านเคยปฏิบัติกับบุคคลอื่นตลอด วันนั้นอวดกล้าลองดีไปลองวิชาเอกกับครูบาอาจารย์ ถูกท่านอาจารย์เอ็ดกลับมาเสียงดังสนั่นลั่นศาลา แต่วันหลังก็ยังไม่เข็ด ก็ยังแอบดูอีก แอบคิด ท่านเรียกว่า เหมือนบ้า ๆ ขึ้นมาเอง อยากจะดูนักว่าจิตพระอรหันต์เป็นอย่างไร และเช่นเดียวกับครั้งก่อน ถูกเอ็ดเปรี้ยงลงมาเช่นเดียวกัน

ความจริง ต่อมาในบันทึกท่านได้กล่าวอย่างชัดว่า

“การดูบุคคลใด คนไหนมีบุญ มีวาสนา มีนิสัยอย่างไร จะเห็นแสงแห่งจิตได้ชัด”

นี่ก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งในระหว่างเรียนภาวนา กำลังพูดถึงการปฏิบัติภาวนากับศิษย์ มีศิษย์คนหนึ่งมีนิสัยออกโลดโผนปรารภถึงเรื่องนี้ วันนั้นท่านก็เผลอคุยให้ฟังว่า ท่านเองเคยแอบดูจิตท่านพระอาจารย์มั่น โดยท่านใช้วิธีหลายวิธี บางครั้งดูในเวลาสงบเงียบอยู่ ก็เห็นจิตสว่างไสว เป็นธรรมดา ท่านอยากจะคิดว่าพระอรหันต์นั้นมีจิตเป็นอย่างไร จะมีอารมณ์ราบเรียบอยู่เช่นนั้นตลอดไปหรือไม่ ท่านก็ลองใช้วิธีพูดเพื่อจะทำให้ถูกท่านอาจารย์ใหญ่ดุ แล้วก็แอบดูจิตของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านบอกว่า เป็นแสงแดงจ้าสว่าง สว่างแต่ออกข้างแดง

ภาพนี้เรียกกันว่า “ภาพมีรัศมี” ถ่ายโดย น.อ.ผ่อง สีตะปะดล ณ บ้านเรือนไทย ลาดพร้าว เมื่อ ก.ย. ๒๕๒๐ เวลาประมาณบ่ายโมง

ความซนของท่านนั้นก็เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านอาจารย์อยู่ ถึงถูกทั้งดุทั้งว่าต่าง ๆ ท่านเองเคยเขียนไว้ว่า

“ครั้งหนึ่งที่ภาวนาแล้ว ท่านอาจารย์ใหญ่จะยกโทษเรา แต่เมื่อเห็นรัศมีกายของเรา ก็เลยหยุดอยู่” ท่านกล่าวว่า “นี้นี้ก็เป็นข้ออัศจรรย์อย่างหนึ่ง”

ข้อที่ท่านบันทึกไว้เรื่องรัศมีกายนี้ ทำให้คิดขึ้นได้ถึงเรื่องรัศมีกายของหลวงปู่ที่เราเคยพบมา ลูกศิษย์ได้เคยถ่ายรูปท่านในปี ๒๕๒๐ การถ่ายรูปครั้งนั้น เป็นการถ่ายในอิริยาบถต่าง ๆ ท่านมาเยี่ยมบ้านลูกศิษย์คนหนึ่ง เผอิญศิษย์ที่มีนิสัยในการถ่ายรูปได้ถือกล้องมาด้วย ก็ขออนุญาตถ่ายรูปท่าน เธอได้ถ่ายรูปหลวงปู่ทั้งม้วน จำนวน ๓๖ รูป เมื่อล้างออกมาแล้ว มีอยู่รูปหนึ่งได้มีรัศมีวงกลมเรียงไปทางขวา ด้านขวาบนเศียรของท่าน รูปนี้ท่านเจ้าของบ้านได้นำไปกราบเรียนให้ครูบาอาจารย์ดูหลายองค์ เช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ต่างกล่าวว่า เป็นรัศมีของท่าน อีกองค์หนึ่งกล่าวว่า เป็นรังสีของท่าน รังสีนี้เป็นวงกลมสีขาว เข้าใจว่าเวียนอยู่รอบเศียรท่าน เมื่อมาพบบันทึกที่ท่านกล่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้มองเห็นรัศมีกายของท่าน ก็ไม่ค่อยได้ดุอีกต่อไป หรือต่อหน้าคนอื่นท่านก็ยังดุบ้าง แต่ด้วยความเมตตาอยู่ตลอด

อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงปู่เคยเล่าก็คือว่า ท่านถูกลองทดลองจิตจากหลวงปู่มั่นอยู่เสมอ บางครั้งถูกดุเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ที่จริงท่านก็ทราบว่าเป็นอุบาย ที่หลวงปู่หลุยที่จะแกล้งพูดเพื่อให้ถูกดุ และเพื่อให้ทุกคนได้ฟังเทศน์เสมอกัน บางครั้งท่านไล่ถึงกับบอกว่า “ไอ้ผีบ้าไปให้พ้น ออกไป ออกไป” หลวงปู่ก็เก็บข้าวเก็บของหอบผ้าแล้วเข้ามากราบลา มาถึงแล้วท่านอาจารย์มั่นถามว่า “มาทำไม ใครบอกให้ไป เรื่องอะไรกัน” ท่านพูดเสร็จก็อมยิ้ม หลวงปู่ก็ต้องเก็บของกลับอยู่ต่อไป ท่านบอกว่าโดนอย่างนี้ ๒- ๓ ครั้ง ครั้งแรกไม่เข้าใจ แต่ตอนต่อไปก็ทราบว่า ท่านต้องการจะทดลองจิตของศิษย์ ว่าเมื่อการที่ถูกดุถูกว่านั้น ศิษย์ที่เข้ามาหมอบกราบบอกว่า

“ขอมอบกายถวายชีวิตต่อท่านอาจารย์ ตามแต่ท่านจะเมตตาสั่งสอนทุกอย่าง “กระผมยอมทุกประการ” ”

แต่เมื่อถูกดุถูกว่าถูกไล่ จิตของศิษย์นั้นมีแข็งกระด้าง โต้แย้งท่านอวดดีต่อท่านหรือไม่ประการใด แต่ถ้าศิษย์ยอมสยบ จิตหดเข้าสู่ภายในแนบสนิทเวลาที่ถูกดุนั้นจะกลับเป็นธรรมที่วิเศษที่สุด กลับทำให้จิตรวม จิตอ่อน จิตนอบน้อม จิตควรแก่การงาน เป็นอุบายวิธีของท่านพระอาจารย์มั่นที่ใช้อยู่เสมอกับศิษย์ และหลวงปู่ก็เป็นองค์ที่ถูกทดลอง ดังที่ท่านกล่าวว่า “เป็นประดุจ เขียงเช็ดเท้า ที่ถูกเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา”

ในระหว่างที่ท่านเริ่มมาสร้างวัดป่าบ้านหนองผือ ท่านก็ไม่ได้ทำเสนาสนะเป็นกุฏิ วิหารใหญ่โตอะไรนัก เพียงแต่ปลูกกระท่อมมุงหญ้าอยู่เท่านั้น อยู่ถึงเกือบ ๒ ปี แล้วมาอยู่ปีหลังก็มาซ่อมแซมเพื่อว่าครูบาอาจารย์เข้ามาอยู่ได้โดยสะดวก ปี ๒๔๘๗ นั้น ท่านเริ่มเตรียมจัดทำกุฏิที่หลวงปู่มั่นอยู่ โดยจะขออนุญาตหลวงปู่มั่นอยู่ปีหนึ่ง ท่านไม่ได้เป็นคนขอโดยตรง แต่อธิบายให้ชาวบ้านมาขออนุญาต กราบเรียนว่า ขอสร้างกุฏิหลังหนึ่งเป็นหลังสุดท้าย พวกชาวบ้านก็เตรียมของมาพร้อม ขอก็ขอไป แต่หลวงปู่มั่นก็ไม่อนุญาต หลวงปู่มั่นไม่อนุญาตให้สร้าง ก็มากราบเรียนหลวงปู่หลุยว่าจะทำประการใด ท่านก็บอกว่า ให้รอไปก่อน แต่ปฏิบัติตัวให้เป็นคนดี ให้หลวงปู่มั่นเพิ่นเห็นใจ ให้แอบกระซิบสอนไว้ เวลาใส่บาตรก็ให้ขอ ลงมาชงน้ำร้อนถวายก็ให้ขอ ให้อ้างเหตุผลว่า

“ขอสร้างกุฎิ…ด้วยถือว่าเพิ่นชราภาพแล้ว ขอให้เพิ่นพักบ้าง ที่ต้องอยู่รุกขมูลร่มไม้ ชาวบ้านแสนจะสงสาร”

พวกชาวบ้านได้ฟังก็เชื่อฟัง ครั้นหลวงปู่มั่นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านก็คุกเข่าอ้อนวอนขอสร้างกุฏิถวาย เอาน้ำร้อนเอาของไปถวายก็อ้อนวอนขออีก บางคนขอแล้วน้ำจิตน้ำใจนั้นโน้มน้อมลงไปจริง ๆ ถึงกับน้ำตาคลอ อ้างว่าสงสารพ่อแม่ครูจารย์นัก ที่ต้องอยู่รุกขมูลร่มไม้ ไม่ได้อยู่ด้วยความสะดวกสบาย ใคร่จะขออนุญาตสร้างกุฏิถวาย ถึงองค์ท่านไม่เห็นแก่องค์เอง แต่ก็โปรดให้เห็นแก่พวกขะน้อยจะได้บุญได้กุศลบ้าง ชาตินี้พวกขะน้อยมีวาสนา ท่านมาโปรดอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ท่านผู้ที่มีคุณธรรมวิเศษได้มาถึงปานฉะนี้แล้ว ยังไม่ให้โอกาสได้ทำบุญเลยกระนั้นหรือ ขอท่านได้โปรดกรุณาเมตตาแก่พวกขะน้อยทั้งหลายด้วย ขอไปน้ำตาก็คลอไป แถมบางคนถึงกับร่วงพรูลง สุดท้ายหลวงปู่มั่นก็คงจะทนสงสารเมตตาไม่ไหว เห็นว่าดื้อขออยู่ตลอดเวลา จึงอนุญาตให้สร้างกุฏินี่ได้มา

สภาพของเสนาสนะยุคบ้านหนองผือ ผู้ที่ไม่ทราบความหลัง ก็จะเล่าแต่เพียงสั้น ๆ ว่า อย่างในหนังสือเล่มหนึ่ง กล่าวว่า

“ที่ทำก็พออยู่ได้เท่านั้น อย่างลงก็ปูกระดาน ปูกระดานก็ไม่ไสกบฝาก็เหมือนกัน สมัยนั้นมีปูกระดาน มุงกระดาน ๔ หลังเท่านั้น กับศาลาอุโบสถอีก ๑ หลัง กว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๘ เมตร เป็นศาลาเก่าโบราณที่เขาปลูกไว้ก่อนหลวงปู่มั่นไปอยู่ ส่วนศาลาฉันที่ปูฟากได้กล่าวแล้ว หลังอื่น ๆ ที่พระเณรอยู่นั้นปูฟากมัดด้วยเครือเถาวัลย์ และมัดด้วยตอก ท่านได้ฝาแถบตอง ใบตองก่อและใบหูกวางทั้งนั้น ประตูทำเป็นฝาแถบตองเป็นหูผลักไปมา หน้าต่างทำเป็นฝาแถบตอง เสี้ยมไม้ไผ่เป็นง่ามค้ำเอาในเวลาเปิด เชือกระเบียงตากผ้าก็ฟั่นเอาฝ้ายเป็น ๓ เกลียว เพราะฝ้ายไม่หด ส่วนเครื่องมุงกุฏิก็หญ้าคาเป็นส่วนมาก”

กุฏิที่ชาวบ้านสร้างถวายท่านอาจารย์มั่น

ในหนังสือได้เขียนไว้เช่นนั้น แต่จะมีใครที่ทราบหรือไม่ว่า ศาลาเก่าโบราณที่เขาปลูกไว้ก่อนหลวงปู่มั่นไปอยู่ก็ดี หรือกุฏิต่าง ๆ นั้นก็ดี ได้เกิดขึ้นด้วยจากความคิดความนึกจากที่หลวงปู่หลุยได้ดำเนินการไว้

พวกผู้เฒ่าผู้แก่ที่หมู่บ้านหนองผือ นาใน เล่าบอกว่า กระดานท่านก็ไม่ให้ไสกบ ท่านสอนเอาไว้ เพราะถ้าทำดีนักหลวงปู่มั่นก็จะไม่ยอมอยู่ ต้องมีสภาพดิบ ๆ เหมือนป่า เพราะพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นนั้นรักความวิเวกแห่งป่าอย่างยิ่ง ท่านเคยพร่ำสอนฝึกศิษย์อยู่เสมอว่า

“สมเด็จพระพุทธองค์นั้น ท่านประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ประทานปฐมเทศนาก็ในป่า ปรินิพพานก็ในป่า ป่าเป็นคุณแก่พระกัมมัฏฐาน เป็นที่น่าเคารพบูชาของพระกัมมัฏฐาน ธรรมทั้งหลายที่พระธุดงค์จะได้มานั้น ทั้งหมดนั้นจะมาจากความสงัดวิเวกทั้งนั้น ในป่านั้นอุดมไปด้วยเทพที่จะมาอนุโมทนาสาธุการ เมื่อพระได้ปฏิบัติบำเพ็ญความเพียรอย่างดี ทั้งชื่นใจ ทั้งอนุโมทนายินดีปรีดาด้วย เมื่อพระได้บำเพ็ญความเพียรและแผ่เมตตาให้ไปโดยรอบไม่มีประมาณ ไม่แต่มนุษย์ เทพ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ แม้แต่สัตว์น้อยใหญ่ ทวิบาท จตุบาทโดยรอบก็ได้รับกระแสแห่งความเยือกเย็นของการแผ่เมตตาบารมีของพระตลอดกาล การจัดสร้างสิ่งใดที่หรูหรา มากมาย ถือว่าเป็นของรกรงรัง ไม่ควรจะเป็น”

สิ่งเหล่านี้หลวงปู่หลุยได้แอบอบรมชาวบ้านให้เข้าใจอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุดังนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจึงพักภาวนาอยู่ที่บ้านหนองผือนานกว่าที่อื่น ด้วยถือเป็นที่สัปปายะ ทั้งทางเสนาสนะ อากาศ อาหาร และบุคคล

หลวงปู่ได้บันทึกธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ณ ที่บ้านหนองผือนี้ไว้มากมาย ซึ่งได้แยกนำไปลงพิมพ์ใน ภาคอาจาริยธรรม เรียบร้อยแล้ว

ท่านมีความเคารพอาจารย์ของท่านเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกล่าวสิ่งใด เทศน์ตอนใด แม้ในระยะหลังนี้เกือบจะทุกคำพูดที่ท่านจะต้องยกอ้าง ท่านอาจารย์มั่นบอกว่า หรือ หนังสือมุตโตทัยบอกว่า ท่านจะอ้างธรรมของครูบาอาจารย์มาเป็นประดุจคำไหว้ครูก่อนเสมอ เสร็จแล้วในตอนจบบางครั้งก็หลุดมาว่า ความจริงก็เป็นเช่นนั้น…!

อันที่จริงธรรมบางประการที่ท่านปฏิบัติตามมาแล้ว ประสบผลสำเร็จแล้ว ท่านอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นธรรมที่ท่านพบ บางท่านอาจจะไม่เคยต้องมาอ้างว่าเป็นคำของครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนมา เพราะเมื่อปฏิบัติไปประสบความเยือกเย็นเห็นด้วยจิต เช่นเดียวกับอาจารย์ การเทศนาสั่งสอนก็มักจะข้ามเลยไป ไม่ได้เอ่ยอ้างถึงแต่หลวงปู่มิใช่เช่นนั้น หลวงปู่จะยกว่าเป็นคำที่ “ท่านอาจารย์มั่นว่า” เกือบจะตลอดฟังเผิน ๆ เหมือนว่าท่านไม่ได้มีความรู้อะไรด้วยตนเอง แต่อ้างท่านอาจารย์มั่นตลอด แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วหลายครั้ง ที่ท่านก็เผลอตบท้ายตอนหลังว่า “แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น” หมายความว่า ท่านได้ปฏิบัติแล้ว…ได้ประสบผลแล้ว…พบแล้ว แต่ด้วยความเคารพสูงสุดต่อท่านอาจารย์ เหมือนกับว่าจะยกมือขึ้นประนมกราบไหว้บูรพาจารย์ของท่านก่อน ถึงจะให้คำเทศนาอบรมของท่านต่อไป

หลวงปู่ได้เคยยกเรื่องความน่าเคารพอย่างยิ่งของท่านพระอาจารย์มั่นอาจารย์ของท่านมากล่าวว่า “ท่านเป็นคนที่ถ่อมองค์ และมีอุบายวิธีอบรมศิษย์ของท่านอยู่เสมอ” บางครั้งท่านจะดุ บางครั้งท่านจะปลอบ บางครั้งท่านจะเปรย หรือบางครั้งท่านอาจจะยกยอ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ประทับใจหลวงปู่มากนั้น ท่านเล่าว่า

ดูเหมือนจะเป็นในปีประมาณ ๒๔๙๐ ซึ่งท่านไม่ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าหนองผือด้วย แต่ท่านอยู่ที่วัดบ้านอุ่นดง พอถึงฤดูแล้งท่านก็ได้เข้าไปกราบฟังเทศน์อยู่เสมอ วันนั้นเป็นวันโอกาสเหมาะสม ที่บังเอิญมีพระผู้ใหญ่ที่เป็นพระเถระมาจากจังหวัดต่าง ๆหลายทิศหลายทาง เข้าไปศึกษาหารือธรรมะกับหลวงปู่มั่นพร้อมกันในวันเดียว โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อนเลย…มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ องค์อุปัชฌาย์ของท่านมาจากอุดร ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มาจากนครราชสีมา ท่านเจ้าคุณอริยเวที (เขียน) มาจากกาฬสินธุ์ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพระอาจารย์มหาทองสุข สุจิตโต และท่านอาจารย์กงมา จิรปุญโญ

บางท่านก็มาจากพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล อย่างเช่น มาจากอุดร นครราชสีมา กาฬสินธุ์ แต่หลายองค์ก็มาพักอยู่ที่วัดซึ่งไม่ห่างไกลจากวัดบ้านหนองผือนัก เช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริอยู่ที่วัดป่าหนองโคก อ. พรรณานิคม พระมหาทองสุข สุจิตโต อยู่วัดป่าสุทธาวาสหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อยู่วัดธาตุนาเวง วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ. เมือง จ. สกลนคร ท่านอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ตั้งชื่อวัด แต่มาตั้งใหม่เปรียบเสมือนท่านแต่ละองค์ได้พักอยู่ตามวัดที่อยู่โดยรอบวัดป่าบ้านหนองผือ ต่างองค์ต่างทำหน้าที่ดุจนายทวารบาลที่รักษาพระราชาซึ่งอยู่กลางพระนคร ต่างองค์ต่างมาเยี่ยมมากราบท่านพระอาจารย์มั่นโดยมิได้นัดหมายกันเช่นนั้น ทำให้ได้ระลึกถึงวันมาฆบูชาที่วันนั้นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มากราบสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน ๓ โดยมิได้นัดหมายกันเช่นกัน

ในวันนั้น เมื่อพระผู้ใหญ่มาเยี่ยมกันหลายองค์เช่นนั้น ถึงเวลาท่านก็ให้มีการตีระฆังลงไปรวมกันที่ศาลา จุดตะเกียงเจ้าพายุดวงใหญ่ ทุกองค์ต่างก็ก้มลงกราบท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมกัน ทุกองค์ต่างก็นั่งสงบเสงี่ยมพับเพียบโดยมิได้กล่าวอันใด คอยสดับฟังคำของครูบาอาจารย์อยู่อย่างสงบสงัด

หลวงปู่เล่าว่า วันนั้นท่านจำได้ไม่ลืม แต่ทำให้รำลึกอยู่ตลอดว่า นี่เองคือวิธีของ “ปราชญ์” ท่านเล่าว่า หลวงปู่มั่นได้กล่าวอารัมภกถาขึ้นในทำนองนี้ว่า

“เออ….วันนี้เป็นการสมควรแล้วที่ผมจะได้ศึกษากับพวกท่าน จะผิดถูกประการใด อยากให้พวกท่านปรารภได้ เตือนได้ ไม่ต้องเกรงใจเพราะผมได้ศึกษาน้อย เรียนน้อย…..”

หลวงปู่เล่าว่า ท่านได้ยินคำเช่นนั้น ท่านรู้สึกน้ำตาแทบจะปริ่มออกมา…ไหลเลื่อนออกมาจากขอบตา ทั้งซาบซึ้งและตื้นตันใจเป็นที่สุด ดูหรือท่านเป็นครูบาอาจารย์ เคยขู่เข็ญ กำราบ คำราม ดัดนิสัยศิษย์มาต่าง ๆ ศิษย์ทุกคนสยบยอมรับแทบบารมีท่าน แทบเท้าท่าน เคารพทั้งถือเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครูอาจารย์ ท่านสั่งให้ไปตายก็ตายได้ ท่านจะฆ่าก็ยอมทุกอย่าง ท่าน ตีก็ไม่หลบ ท่าน ทบก็ไม่หนี แต่แทนที่ท่านจะเริ่มต้นว่า วันนี้จะสอนเช่นนั้น…เช่นนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างนั้น…อย่างนั้น ท่านกลับกล่าวอย่างแสนที่จะสงบเยือกเย็น เป็นทำนองยกย่องศิษย์ ในขณะเดียวกันก็แสนจะถ่อมองค์ว่า ท่านนั้นได้ ศึกษาน้อย เรียนน้อย ขอให้ท่านได้ศึกษากับพวกศิษย์บ้าง ขอว่าถ้าผิดถูกประการใด ขอให้พวกท่านปรารภได้ไม่ต้องเกรงใจ

นี่แหละปราชญ์แท้..! เป็นความที่หลวงปู่หลุยยกนำมาให้ลูกศิษย์ได้ฟังเสมอ ท่านเล่าต่อไปว่า วันนั้นธรรมก็แสนจะวิจิตรบรรจงมาก ซาบซึ้งมาก แต่สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด ติดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนั้นคือ การพูดอย่างอ่อนน้อมถ่อมองค์ของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านไม่เคยลืมเลย

แต่เดิมคิดว่าจะได้มีการเขียนเล่าถึงสภาพวัดป่าบ้านหนองผือ และชีวิตความเป็นอยู่ของพระธุดงคกัมมัฏฐานในสมัยนั้น ที่ได้อยู่ใกล้ท่านพระอาจารย์มั่น อยู่ด้วยความเคารพ ด้วยความซาบซึ้ง และสงบเสงี่ยมสำรวมกายเป็นอย่างดี แต่ได้มาระลึกว่า จะไม่มีใครสามารถบรรยายถึงภาพสิ่งเหล่านี้ได้ดียิ่งกว่าการที่จะไปอ่านหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ เขียนโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าวิเศษที่สุด ไม่มีหนังสือใดที่สามารถจะกล่าวได้ดีไปกว่านั้น ถึงสภาพสิ่งเหล่านั้น จึงใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านได้ไปอ่านความในช่วงนั้นจะเข้าใจและซาบซึ้งได้ดียิ่งขึ้น

พรรษาที่ ๒๖-๓๑ พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๘

แล้วก็ออกธุดงค์เรื่อยไป

พ.ศ. ๒๔๙๓ จำพรรษา วัดศรีพนมมาศ อ. เขียงคาน จ. เลย

พ.ศ. ๒๔๙๔ จำพรรษา ถ้ำพระ นาใน อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร

พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษา เขาสวนกวาง กิ่ง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

พ.ศ. ๒๔๙๖ จำพรรษา วัดดอนเลยหลง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เลย

พ.ศ. ๒๔๙๗ จำพรรษา บ้านไร่ม่วง (วัดป่าอัมพวัน) ท่าแพ อ.เมือง จ.เลย

พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษา สวนพ่อหนูจันทร์ บ้านฟากเลย จ.เลย

หลังจากที่ประทีปแก้วของพระกัมมัฏฐาน ที่โชติช่วงอยู่ที่บริเวณทางภาคอีสาน โดยเฉพาะที่วัดป่าบ้านหนองผือ เป็นเวลาช้านานกว่า ๕ พรรษา ได้ดับลงที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้มีการถวายเพลิงท่านในต้นปี ๒๔๙๓ หลวงปู่ได้ช่วยจัดงานศพเป็นการสนองคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย เสร็จแล้วท่านก็ออกธุดงค์เรื่อย ๆ ไปอย่างที่ท่านเคยบอกว่า อาชีพคือ ออกธุดงค์เรื่อยไป

ท่านเล่าว่า ระหว่างนั้นรู้สึกว่าจะมีสภาพเหมือนบ้านแตกสาแหรกขาด ทุกคนซบเซา จิตใจหดหู่ พูดจากันแทบจะไม่ได้ เหมือนคล้ายกับว่าไม่รู้จะทำสิ่งใดต่อไป ต่างองค์ก็ต่างแยกกัน พระหนุ่ม เณรน้อย ได้อาศัยร่มบารมีของพระเถระผู้ใหญ่ ผู้เป็นเสมือนพี่ชายใหญ่ ซึ่งบางท่านบางองค์ก็ไปกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี บางองค์ก็ไปอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย บางองค์ก็ไปอยู่กับท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ลูกเล็กลูกหล้าก็ย่อมต้องการพี่ชายใหญ่ที่จะโอบอุ้ม ให้ความเมตตาดูแลฝึกปรือต่อไป

หลวงปู่นั้น ท่านยังพึ่งตัวเองไม่ได้ ท่านก็แยกองค์จากหมู่เพื่อน เดินทางรอนแรมวิเวกต่อไป รำพึงถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ได้เคยหวังพึ่งอาศัยพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อยู่ในร่มเงา ใต้รัศมีบารมีท่านหลายปี และถึงเวลาแล้วที่จะต้องแยกตัวออกมาเหมือนลูกนกทีปีกกล้าขาแข็งแล้ว จะอยู่กับแม่อาศัยไออุ่นแม่ปกปักรักษาต่อไปย่อมไม่ได้ จะต้องบินออกไปสู่โลกกว้างตามลำพัง

ระยะเวลาตั้งแต่พรรษาที่ ๒๖ – ๓๑ แต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๔๙๘ อาจจะถือได้ว่า เป็นเวลาที่ท่านออกธุดงค์เรื่อยไปตลอด ปีแรกท่านไปที่ อ. เชียงคาน จ. เลย จำพรรษาที่วัดศรีพนมมาศ อ.เชียงคาน ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยได้ช่วยเหลือดูแลในการงานบุญบ่อยครั้ง ด้วยเป็นถิ่นที่หลวงปู่ได้เคยมาอยู่ทำงานตั้งแต่สมัยเป็นเด็กหนุ่ม ฝั่งตรงข้ามเป็นฝั่งลาว ชาวบ้านยังมีความศรัทธาอยู่มาก ท่านก็ได้อบรมให้เป็นอย่างดี

ถ้ำพระนาใน ต.นาใน อ.พรรณานิคม

พ.ศ.๒๔๙๔ ท่านเที่ยวธุดงค์มุ่งผ่านจากเลยมาอุดรฯ ไปสกลนคร กลับไปจำพรรษาที่ถ้ำพระ นาใน อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของถ้ำโพนงาม ซึ่งเคยจำพรรษาเมื่อปี ๒๔๗๖-๒๔๗๗ และปี พ.ศ. ๒๔๘๓ บริเวณถ้ำนั้นกว้างยาวไปไกล อยู่ในเขตเทือกเขาภูพาน อาจจะเดินทางจากด้านหนึ่งไปทะลุอีกด้านหนึ่ง แล้วไปออกอีกหมู่บ้านหนึ่งได้ ลึกลับซับซ้อนต่อกัน ในช่วงบริเวณตอนที่จำพรรษาในปีนี้ มีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่มาก จึงได้ชื่อว่า “ถ้ำพระ” ในครั้งนี้ท่านไม่ได้ผจญเสือโดยเผชิญหน้าอย่างที่เคยได้พบกันในปี ๒๔๘๓ ในครั้งนั้น แต่ท่านก็เล่าว่า ยังมีเสืออยู่มากเช่นกัน

ที่ซึ่งหลวงปู่ไปนั่งภาวนานั้นเป็นหลืบหิน มีพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดเท่าตัวคนตั้งอยู่ เวลาเช้าท่านออกไปบิณฑบาต ท่านได้เอาผ้าจีวรคลุมบ่าพระพุทธรูปไว้ พอท่านกลับจากบิณฑบาต ปรากฏว่าเสือเข้ามาตบพระพุทธรูป เศียรหัก จีวรขาดเลย ในกาลต่อ ๆ มา ท่านมักจะเล่าอย่างมีอารมณ์ขันว่า ใครว่าเสือมันไม่กินพระ ไม่ทำอะไรพระ แต่ขนาดพระพุทธรูปที่นั่งห่มจีวรอยู่ เสือยังมาตบเสียพระพุทธรูปคอหัก จะว่าเสือไม่กินพระได้อย่างไร

บริเวณถ้ำพระนาใน พระพุทธรูปองค์ที่ ๓ จากซ้ายที่ถูกเสือตะปบจนเศียรหัก

จากนั้นอีกปีหนึ่ง ท่านก็วกกลับไปจำพรรษาที่เขาสวนกวาง กิ่งอำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ด้วยความพบปะใกล้ชิดกับท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารแห่งเขาสวนกวาง ซึ่งเดิมท่านเคยเป็นเจ้าคณะจังหวัด ได้พบพูดคุยกับท่านระหว่างงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านก็ได้ชวนหลวงปู่ให้มาจำพรรษาที่เขาสวนกวางบ้าง คราวนี้ได้สบโอกาส ท่านจึงได้เดินทางเลยมาจำพรรษาที่ ๒๘ ที่เขาสวนกวาง

ท่านเล่าว่า พระอริยคุณาธาร เป็นพระที่มีอัธยาศัยมาก ท่านพูดคุยในสิ่งที่ลึกลับมากมาย แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เดินตรงสู่อริยสัจ ๔ โดยเร็ว ไม่ได้ใช้ไตรลักษณ์เข้าช่วย ความรู้ทางด้านอภิญญาที่ท่านได้มาเก่า เช่น การรู้วาระจิตก็ดี ญาณต่าง ๆก็ดี ในภายหลังจึงเสื่อมอย่างน่าเสียดาย ถึงกับต้องสึก ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนนั้นท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง

สิ้นปี ๒๔๙๕ ท่านก็กลับไปที่จังหวัดเลย ได้จำพรรษาที่วัดดอนเลยหลง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ อยู่ในเมือง จ.เลย ซึ่งนับว่าได้ใกล้กับบ้านเกิดท่าน ความจริงเจ้าแม่นางกวย โยมมารดาของท่านได้ถึงแก่กรรม ตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน อายุรวม ๗๐ ปี ระหว่างนั้นเป็นระยะเวลาเข้าพรรษา ท่านได้ทราบข่าวภายหลังเตรียมจะไปเยี่ยมศพมารดา แต่หลวงปู่มั่นได้ห้ามไว้ บอกว่าไม่จำเป็น ให้บำเพ็ญภาวนาแผ่เมตตาไปถึงมารดาก็ได้ เพราะเดินทางไปแล้วก็ใช่ว่าจะช่วยให้มารดาคืนชีวิตมาได้เพราะขณะนั้นโยมมารดาถึงแก่กรรมแล้ว ไม่มีทางที่จะช่วยเหลืออะไรได้ การทำความเพียรอุทิศส่วนกุศลให้นั้นจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ท่านกลับไปครั้งนี้จึงเท่ากับว่าไปเยี่ยมบ้าน เสร็จจากนั้นท่านก็วิเวกไปตามที่ต่าง ๆ เช่น บ้านหนองบง บ้านกกกอก ถ้ำผาปู่ ถ้ำมโหฬาร ซึ่งเป็นถิ่นเก่าที่ท่านเคยอยู่ ระยะนี้เริ่มจะเป็นวัดขึ้นแล้ว ท่านพอใจในการพักภาวนา ท่านได้ไปอยู่ที่บ้านไร่ม่วง ท่าแพ อ. เมือง จ. เลย จำพรรษาปีพ.ศ. ๒๔๙๗ วัดนี้ต่อมาหลวงปู่ซามา อจุตฺโต มาจัดตั้งขึ้นเป็นวัด ชื่อ วัดป่าอัมพวัน ท่านเป็นพระที่ควรเคารพอีกองค์หนึ่งของจังหวัดเลย เป็นรุ่นน้องของหลวงปู่ ได้ธุดงค์ไปกับหลวงปู่ในเขตจังหวัดเลยหลายต่อหลายครั้ง ปัจจุบันนี้น่าเสียดายที่ท่านมรณภาพแล้ว

ปี ๒๔๙๘ ท่านมาจำพรรษาที่สวนแห่งหนึ่งชื่อว่า สวนพ่อหนูจันทร์ บ้านฟากเลย จ. เลย ที่นี่ท่านมีบันทึกไว้ว่า

“ได้จำพรรษาที่สวนพ่อหนูจันทร์ ฝันว่าได้นวดขาท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกเป็นบุญกุศลมากได้เห็นพระเถระผู้ใหญ่”

ท่านไม่ได้อยู่ที่ไหนนาน นอกจากเวลาเข้าพรรษา ออกพรรษาแล้วก็เดินทางไปตามที่ต่าง ๆ กลดและมุ้งกลด ย่าม บาตร เป็นอาวุธประจำตัวของท่าน ท่านเล่าว่า ระยะนั้นก็เดินด้วยเท้าตลอด ไม่มีแม้แต่รองเท้า แต่ก็ดีที่ว่า ทุกย่างทุกก้าวที่ลงสัมผัสพื้นดินจะกระทบดินหรือกรวดหิน ทำให้มีสติรู้ทุกอิริยาบถ ไม่เหมือนพระธุดงคกัมมัฏฐานสมัยหลัง ที่นิยมใส่รองเท้า เท้าแตะดินไม่ได้ จะเจ็บจะพอง แต่สัมผัสถึงแผ่นดินนั้น พระธุดงคกัมมัฏฐานสมัยเก่า ท่านธุดงค์ภาวนา พิจารณาธรรม อย่างละเอียดลึกซึ้งสุขุมยิ่งนัก

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-07.htm

. . . . . . .