ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๙

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๙

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๓๖ พ.ศ. ๒๕๐๓ ในถ้ำเขตจังหวัดเลย

จำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ต.หนองหิน อ.ภูกระดึง

พอออกพรรษา ปี ๒๕๐๒ แล้ว หลวงปู่ก็แยกจากกัลยาณมิตรของท่านออกจากวัดถ้ำกลองเพล ท่องเที่ยววิเวกมุ่งกลับไปทางจังหวัดเลย ซึ่งขณะนั้นยังสมบูรณ์ด้วยป่าด้วยเขา มองเห็นภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ต่อเนื่องเนืองนันต์กันไปเป็นสีเขียวอ่อนแก่สลับซับซ้อนกัน

แม้บริเวณแถวถ้ำกลองเพลเอง ก็ยังเป็นป่าดงพงทึบอยู่ มีเสือมีช้างเข้ามาเยี่ยมกรายในบริเวณวัดอยู่เสมอ ฉะนั้นเมื่อพ้นเขตที่วัด ก็ไม่ต้องสงสัยว่า ต่อไปจากนั้นบริเวณป่าเขาลำเนาไพร ก็จะยังคงสภาพ “ป่าดงพงทึบ” จริง ๆ เพียงใด ต้นไม้แต่ละต้นใหญ่มาก สำนวนท่านเรียกว่า “กอดไม่หุ้ม” หมายความว่า ใหญ่จนคนโอบไม่รอบ สัตว์ป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ บ้านเรือนผู้คนห่างกัน เล่าว่า จากอุดรไปเลยนั้น เป็นภูเขามาก ที่เห็นเป็นถนนลาดยางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขานั้น เพิ่งจะมาทำกันในสมัยหลัง ๆ นี้ดอก การเดินทางสมัยหลัง ๆ นั้นจึงกลายเป็นของสะดวกง่ายดาย พระธุดงคกัมมัฏฐานสมัยหลังจึงอาศัยความเจริญก้าวหน้าของการคมนาคม เดินทางไปมาอย่างสะดวกสบาย

“หลวงปู่เคยเทศนาไว้ในภายหลัง วิจารณ์กัมมัฏฐานสมัยใหม่ไว้ว่า

“…..ทกวันนี้ กัมมัฏฐานขุนนาง !…เป็นยังไงขุนนาง…? หรูหรามากเหลือเกิน ขุนนางหมายความว่ายังไง… เดินธุดงค์ขึ้นรถแล้ว…นั่น….เดินธุดงค์ขึ้นเรือบินแล้ว…นั่น…. แต่ก่อนน่ะ ไม่ได้ทีเดียว…แบกกลดขึ้นภูเขา ลงภูเขา แหม….เหนื่อยยากเหลือเกินนะ แต่ก่อนนะ อาหารการกินก็ไม่บริบูรณ์เหมือนทุกวันนี้นะ กินพริกกินเกลือไป แล้วมื้อแล้ววันไป หิวมาก….หิวมากเทียวเวลาเย็นนะ…นั่น”

“เดี๋ยวนี้อะไร ป้อนอาหารใหญ่โต หรูหรามาก เลี้ยงกิเลสนะ มันจะมีความรู้ความฉลาดอะไรได้นะ แล้วขึ้นเรือบินด้วย แล้วขึ้นรถขึ้นราด้วย…!”

“กัมมัฏฐานขุนนาง ทุกวันนี้น่ะ “ลาภเกิดก่อนธรรม” ลาภมันเกิดก่อนนะ เมื่อเกิดก่อนซะแล้ว มันยกจิตไม่ขึ้นทีเดียว…ลาภมันเกิดขึ้นก่อนมัน ถ่วงหัวทุบหาง มันยกจิตไม่ขึ้น มันติดลาภติดยศอยู่….. ”

นับเป็นภัยอย่างยิ่งต่อผู้ที่ยังไม่ถึงมรรคถึงผล เพราะลาภสักการะย่อมฆ่าบรรพชิต… หัวก็ถูกถ่วง หางก็ถูกทุบ…ก็ได้แต่แบนเละตาย…มีแต่ตายลูกเดียวเท่านั้น

ท่านเล่าถึงสภาพป่าเขาแถบจังหวัดอุดร ต่อเนื่องไปจังหวัดเลย ในสมัยที่ท่านยังเดินธุดงค์ไปมาอย่างโชกโชน อย่างละเอียด แม้ขณะในปี ๒๕๐๑-๐๒-๐๓-๐๔ ก็ยังคงสภาพป่าอยู่ เดินไปนาน ๆ จึงจะพบบ้านผู้บ้านคนสักครั้ง ล้วนขุดดินทำไร่กันตัวเป็นเกลียว สัตว์ป่าก็ยังมากมาย บางแห่งชาวบ้านเห็นหน้าพระก็ปรับทุกข์ กลางวันแท้ ๆ ไปเกี่ยวหญ้ากันห้าหกคน อยู่ใกล้ ๆ กันด้วย….แต่ต่างคนต่างก็หมกมุ่นอยู่กับงานเฉพาะหน้า ได้ยินเสียงเพื่อนร้องคำเดียว เหลียวไป เสือมันตะปบไปแล้ว มันคาบร่างตีใส่ดินตูมเดียว เพื่อนก็เงียบเสียง ทุกคนเห็นอยู่กับตา ตะลึงงันกันไปหมด ไม่ทราบจะทำอย่างไร เพื่อนเงียบเสียง ตัวอ่อนนิ่งไปแล้ว จ้าวป่ามันยังชำเลืองดู แล้วก็เยื้องย่างเดินฉากไป โดยมีร่างเลือดโทรมของเพื่อนติดอยู่ในปาก

น่าสยดสยอง น่าสลดสังเวชอย่างยิ่ง สัตว์เล็กย่อมพ่ายสัตว์ใหญ่ สัตว์อ่อนแอยอมแพ้แก่สัตว์แข็งแรง ชีวิตช่างไม่มีคุณค่า….หาที่พึ่งมิได้เลย พึ่งได้แต่พระธรรมอย่างเดียว ท่านจึงได้แต่เทศน์ปลอบใจเขา อบรมสั่งสอนให้เขาพากันยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง รู้จักรักษาศีล ศีลเป็นธรรมเครื่องค้ำจุนโลก โดยเฉพาะการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชีวิตย่อมเป็นที่รักที่หวังของทุกคน ไม่มีใครอยากเจ็บอยากตาย สัตว์ก็เช่นกันเขาก็มีชีวิตเหมือนกับเรามนุษย์ เวลานี้เขามาเกิดเป็นสัตว์ตามกรรมที่กระทำมา ต่างมีความคิด ความนึก เจ็บร้อน อ่อน หิว กลัวตายเช่นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่พูดออกมาเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้เท่านั้น การมาอยู่ในป่าเปลี่ยวท่ามกลางสัตว์ร้ายเช่นนั้นยิ่งต้องพยายามรักษาศีลข้อไม่ฆ่าสัตว์นี้ให้มาก ให้ยิ่ง ให้มีใจเมตตากรุณาต่อสัตว์ ผลของความเมตตาต่อสัตว์นั้น จะเป็นเครื่องคุ้มครองตนเองและครอบครัวให้แคล้วคลาดจากภยันตรายจากสัตว์เช่นกัน

เมื่อเราเมตตาเขา เขา….พวกเขา….ย่อมเมตตาเรา เสือและเพื่อนผู้นั้นคงเป็นคู่กรรมเวรกันมา ทำไมอยู่กันหลายคน มันจึงเจาะจงคาบเอาไปแต่คนนั้นคนเดียว ขอให้ปลงใจเสียเถิด ปัจจุบันก็ให้ทำแต่กรรมดี อย่าก่อเวรต่อไป

ท่านเล่าว่า ขณะที่สั่งสอนเขานั้น ภาพเหตุการณ์เมื่อท่านเองได้ผจญกับเสือที่ถ้ำโพนงามก็กลับมาเป็นภาพอนุสรณ์ให้ได้รำลึกถึงอีก ทำให้สงสารพวกชาวบ้านเหล่านั้น ยิ่งนัก

หลวงปู่ธุดงค์ตัดมุ่งตรงไปทางริมแม่น้ำโขง ท่านเคยอยู่เชียงคานในสมัยยังหนุ่มก่อนบวชหลายปี จึงกลับไปเยี่ยมผู้คนทางนั้นด้วย และเลยข้ามฝั่ง ไปฝั่งลาวไปเมืองแก่นท้าว

กลางเดือนมีนาคม ๒๕๐๓ ท่านบันทึกไว้ว่า

“อยู่ปากเหือง ข้างแรม ๓ ค่ำเดือน ๔ พ.ศ. ๐๓ (วันอังคารที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๓)เทวดานิมิตนิมนต์ไปแผ่เมตตาจนนกเขาขันกลางคืน ภาวนาดี แจบจม แม่ครูอ้วนอุปัฎฐาก น้ำโขงไม่เป็นสัปปายะ”

ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ท่านไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าว ซึ่งท่านว่า ภาวนาดีมาก อีกหลายปีต่อมา ท่านบันทึกเกี่ยวกับการอยู่ถ้ำผาพร้าวในปี ๒๕๐๓ ไว้อีกว่า

“ถ้ำผาพร้าว ฝั่งซ้าย เกือบเสีย บุญวาสนาแก้ทัน เพราะอยู่คนเดียวเสียด้วย…” ท่านรำพึงต่อไปว่า “นี้พระเถระผู้ใหญ่ยังมีนิมิตหลอกได้…”

ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่า คำว่า “เกือบเสีย” ของหลวงปู่นั้นมีความหมายเฉพาะองค์ท่าน ใครมาเห็นบันทึกของท่านกล่าวถึงสถานที่บำเพ็ญความเพียรที่ใดว่าเป็นที่ “เกือบเสีย” หรือ “เป็นบ้า”แล้วเข้าใจตามภาษาของเราเองก็จะผิดถนัด

“เกือบเสีย”หรือ “เป็นบ้า” ของท่าน คือ การภาวนาจนจิตลงถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อถอนออกมาเกิดมีนิมิตรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิสัยของท่านผู้เคยมี นิสัยวาสนาทางอภิญญามาก่อน.มิได้พยายามปล่อยวางนิมิต คงเพลิดเพลินไปตามนิมิตและความรู้เห็นนั้น…..

ถ้าปล่อยไป ก็จะ “เสีย” หรือ “เป็นบ้า” ไปเลย

จึงต้องมีการ “แก้บ้า” หรือ แก้ไม่ให้เสีย โดยใช้ไตรลักษณ์เข้าพิจารณาให้เห็นเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ตามสำนวนของท่านว่า “ล้างเช็ด”หรือ “ฟอก” จิตให้บริสุทธิ์

การภาวนาที่ “เกือบเสีย” หรือ “แก้บ้า” ได้แล้ว หมายความว่า จิตจะเด่นดวง เป็นจิตที่มีปาฏิหาริย์แกล้วกล้ามาก

ยกตัวอย่าง ที่ท่านเคยวิจารณ์การภาวนาที่ถ้ำโพนงามไว้ว่า “…ถ้ำโพนงาม พ.ศ.๗๗ เกือบเสียเหมือนกัน ระยะผลร้ายที่สุด เกือบสึก เกือบบ้า เกือบเสียชีวิต…..”

และในขณะเดียวกัน ท่านก็กล่าวไว้อีกเช่นกันถึงการเจริญภาวนา ณ ที่ถ้ำโพนงามนั้นในช่วงระยะเวลาเดียวกันว่า

“ความเพียรอยู่ถ้ำโพนงามนั้นเด่นมาก เอาลัทธิท่านอาจารย์สิงห์และท่านมหาปิ่น (ท่านเพิ่งกลับมาจากการไปจำพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์สิงห์ ณ ที่วัดป่าบ้านเหล่างา ปี ๒๔๗๔ และกับท่านอาจารย์พระมหาปิ่น ณ วัดป่าศรัทธารวม ปี ๒๔๗๕….ผู้เขียน) หากเราได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น เราอาจได้สำเร็จอรหันต์”

“เกือบเสีย”ของท่าน…! ยังเด่นดวง จนท่านอุทานว่า หากได้ฟังเทศนาท่านอาจารย์ ท่านอาจได้สำเร็จอรหันต์….!

ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ทางฝั่งประเทศลาวยังมีป่าดงพงไพร เหมาะเป็นที่วิเวกเจริญสมณธรรมอีกมาก เพราะบ้านเมืองยังไม่ถูกความเจริญเข้ารุกไล่อย่างรวดเร็วเช่นทางประเทศไทย ที่สงบสงัด เถื่อนถ้ำ เงื้อมเขาสูง ยังโดดเดี่ยวปกคลุมด้วยไพรพฤกษาเขียวครึ้ม และสมัยนั้นการเดินทางข้ามไปมาระหว่างไทยและลาวก็ง่ายดาย ไม่มีพิธีการเข้มงวดกวดขันดังในสมัยที่ลาวเปลี่ยนการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐแล้ว พระธุดงคกัมมัฏฐานที่เคยไปแสวงหาความสงบวิเวกยังถิ่นโน้นจึงต้องลดละไป เป็นที่น่าเสียดายมาก

ระหว่างอยู่ทางฝั่งลาว ก็พักตามเถียงนาบ้าง วัดร้างบ้าง บางทีก็มีผู้นิมนต์ให้ไปโปรดตามบ้านช่องห้องหอของศรัทธาญาติโยม ซึ่งมักจะเคยคุ้นต่อการข้ามมากราบครูบาอาจารย์พระกัมมัฏฐานสายนี้อยู่แล้ว การเดินทางไปเที่ยวกัมมัฏฐานของหลวงปู่นี้ เท่าที่เรียนถามพระเณรที่เคยได้มีโอกาสไปกับท่าน เล่าว่า ท่านมักจะไปผู้เดียวตลอด มาจนระยะหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ล่วงแล้วนั้นท่านจึงมีเณรติดตามบ้างเป็นบางครั้ง

ที่ใดท่านได้อยู่องค์เดียว ท่านก็อยู่นานหน่อย ถ้ามีหมู่พวกอยู่ด้วยท่านก็จะไม่อยู่นาน ท่านมักเคลื่อนที่ทุกสามวันห้าวัน หากการภาวนาดีก็จะอยู่ถึงเจ็ดวันแปดวัน หมู่พวกมาอยู่ด้วย ท่านก็ปล่อยให้หมู่พวกอยู่ แล้วท่านจะหลีกหนีไปเอง

พอถึงต้นเดือนพฤษภาคม ท่านก็กลับมาจากแถบริมฝั่งแม่น้ำโขง มาในเขตอำเภอภูกระดึง มุ่งมาถ้ำมโหฬาร

“ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๐๓ (ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓) กลับมาอยู่ถ้ำมโหฬาร วิเวกดี นำมาซึ่งความสุขใหญ่ มีโอกาสภาวนาชำระจิตอย่างเดียวดีกว่าถ้ำผาปู่ ถ้ำผาพร้าว ไม่ขัดข้องด้วยสิ่งอันใด แต่อาพาธบางประการ เบื่อผักหวาน หมู่เพื่อนช่วยเหลือทุกอย่าง….. ”

ได้ความว่า ระยะนั้นเณรเก็บผักหวานมาต้มถวายทุกวัน ๆ และโปรดอย่าลืมว่า ระยะนั้นท่านทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ อาหารนั้นก็มักจะเป็นปลาร้าละลายน้ำต้มกับผักใบไม้ที่พอหาได้ใกล้ถ้ำ

“แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๐๓ (วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓) ภาวนาและตายลงไป เชื่อนิมิตอิงอริยสัจ ๔ บังคับจิตอยู่เสมอ ตั้งสติให้ระวังอยู่อาการนั้น เพื่อความชำนิชำนาญของสติ เมื่อรู้เท่าอันนี้แล้วเป็นแก่นสารของจิตแก่นสารของอริยสัจ จิตจะปกติ….ตั้งเที่ยงอยู่ในโลกุตระ บรรดานิมิตเข้าหลอกไม่ได้ สติกับหลักอริยสัจอิงกันอยู่โดยดี…..”

ในปี ๒๕๐๓ นี้ ท่านก็ตกลงจำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ส่วนปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านจำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว ซึ่งอยู่ ณ บ้านโคกแฝก ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย

พรรษาที่ ๓๗ พ.ศ. ๒๕๐๔ พบงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่

จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต. ผาน้อย อ. วังสะพุง จ. เลย

พ.ศ. ๒๕๐๔ หลวงปู่จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต. ผาน้อย อ. วังสะพุง เป็นการกลับมาจำพรรษาที่จังหวัดเลยเป็นปีที่สอง

ในปีนี้ท่านได้มีโอกาสเข้าไปในกรุงเทพฯ ซึ่งคงจะเป็นครั้งแรกของท่านในชีวิตสมณเพศ ท่านเล่าว่า เคยเข้ามาครั้งหนึ่ง มากับพวกบาทหลวงสมัยยังเป็นคริสต์ เป็นเด็กหนุ่ม เขาพาไปที่โบสถ์สามเสน ได้ไปสวดมนต์แล้วก็ถูกพากลับ ไม่ทันเห็นหนอะไร…คำนวณจากประวัติ ขณะเมื่อท่านยังเป็นคริสต์ คงอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี คงจะเป็นราว พ.ศ. ๒๔๖๓ หรือก่อนนั้น

มากรุงเทพฯครั้งนี้ คงจะมีผู้นำท่านไปชมเมือง… ท่านบันทึกสรุปถึงสถานที่ซึ่งได้ไปโดยย่อดังนี้.-

“พ.ศ. ๐๔ วัดพระแก้ว โรงพยาบาลสงฆ์ วัดนรนาถ วัดมหานิกายพระพุทธูรูปทองคำ (วัดไตรมิตรวิทยาราม….ผู้เขียน) วัดมงคล สะพานพระพุทธยอดฟ้า พระเจ้าตากสินทรงม้า บางแค ผ่านโรงทหาร กระทรวงกลาโหม สถานที่เลี้ยงสัตว์แต่เข้าไม่ถึง วัดสัมพันธวงศ์ ภูเขาทองในพระนคร น้ำพุ วัดอโศการาม สมุทรปราการ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เขาวัง พระพุทธรูปใหญ่นอนวัดสนามพราหมณ์ สถานที่พิพิธภัณฑ์ ไปกรุงเทพฯ ๑ คืน ๕ – ๖ เขาพระงาม ลพบุรี ถ้ำสิงห์โต โคราช เขาวงพระจันทร์”

ภูมิสถานของถ้ำแก้งยาวที่หลวงปู่ไปจำพรรษานั้นอยู่สูงขึ้นไปบนภูเขาในบริเวณเขตวัดป่าถ้ำแก้งยาว ซึ่งในสมุดบันทึกได้มีลายมือของท่านพรรณนากล่าวขวัญถึงวัดป่าถ้ำแก้งยาว ดังนี้

“วัดป่าถ้ำแก้งยาว มีภูเขาลูกหนึ่งต่างหาก มีถ้ำเล็กติดต่อกับชายทุ่งนา ประกอบด้วยอากาศที่พัดเข้ามาในวัดได้สะดวก บริบูรณ์ด้วยน้ำอุปโภค บริโภค มีทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูหนาว มีลำคลองรอบวัด มีไม้ไผ่ตามลำคลองเขียวชอุ่ม เยือกเย็นดี ไม่พลุกพล่านแก่คนสัญจรไปมา ถ้ำแก้งยาวนี้มหาชนนิยมถือกันมาแต่โบราณาจารย์ ถึงฤดูปีเทศกาลปีใหม่ คณะญาติโยมพากันไปนมัสการขอพระ ขอฟ้าขอฝน และบวงสรวงเพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ สำหรับปีใหม่ด้วย วัดถ้ำแก้งยาวเป็นวัดที่สวยงาม เป็นวัดที่มั่นคง เป็นวัดที่ถาวร วัดที่นับถือกันมาตั้งแต่โบราณาจารย์ เป็นที่มหาชนนิยมกันมาก เป็นวัดที่วิเวกของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายมาพักเจริญสมณธรรม….. ”

“ฉะนั้น ควรที่คณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พึงสนใจ พึงตริตรอง พึงพิจารณา ช่วยกันทะนุบำรุงการก่อสร้าง เป็นอนุสาวรีย์ เพื่อยุวชนกุลบุตรชั้นลูก ๆ หลาน ๆ เหลน ๆ ของพวกเราสืบอายุพุทธศาสนา รับรัชทายาทสืบมรดกมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น…..”

พรรณนาโวหารของหลวงปู่ ทำให้พวกเราออกนึกอายใจ… และยิ่งคิดว่าท่านมีพื้นความรู้เพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๓ ในปี ๒๕๐๔ นี้ ท่านเพิ่งจะได้เขามากรุงเทพฯ เพียงครั้งแรก (โดยไม่นับครั้งที่ท่านมาสมัยเป็นเด็กหนุ่มชาวคริสต์!) ก็ควรนับเป็นโวหารอันทันสมัยยิ่ง

หลวงปู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส

เผอิญได้พบที่ท่านบันทึกไว้อีกตอนหนึ่ง เป็นการพรรณนาพระคุณของหลวงปู่คำดี ปภาโส (พระครูญาณทัสสี) และเรื่องของถ้ำผาปู่ จึงใคร่ขออัญเชิญนำมาลงด้วย เป็นคู่เคียงกัน แสดงถ้อยคำสำนวนที่ท่านเขียนไว้ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ เช่นเดียวกัน

“พระครูคำดี ญาณทัสสี พ.ศ.๐๔”

“ขอท่านศาสนิกชนทั้งหลายกรุณาทราบไว้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสี (คำดี) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีพรรษาไล่เลี่ยกับอาตมากับท่านอาจารย์ชอบ นับตั้งแต่ญัตติธรรมยุตมา ได้เคยไปฝึกปรือวิปัสสนาธุระกับท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น ที่จังหวัดขอนแก่น ด้วยกันกับอาตมา ท่านอาจารย์ชอบฉายความรู้มาจากอาจารย์เดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๗๔ – ๒๔๗๕ นั้นๆ”

“นิสัยท่านพระครูญาณชอบอยู่ในที่วิเวก ชอบเจริญสมณธรรมในถ้ำภูเขา ชอบปกครองพุทธบริษัท เพื่อนสหธรรมิก พระภิกษุสามเณร ตลอดแม่ขาวนางชีและคณะอุบาสกอุบาสิกา ฉะนั้นท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหานั้นมาก นิสัยสุขุม ฉะนั้นบริษัทจึงชอบนัก แม้ท่านพระครูญาณทัสสีท่านเคลื่อนไปสู่จังหวัดไหน อำเภอไหนตำบลไหน ท่านทำอัตถประโยชน์มาก เห็นได้ว่าท่านพระครูญาณทัสสีอยู่จังหวัดขอนแก่น วัดวา ฝีไม้ลายมือของท่านก่อสร้างมีจำนวนมาก บรรดาข้าราชการพ่อค้าพาณิชย์ ตลอดชาวไร่ชาวนานิยมท่านมาก เพราะฉะนั้นการก่อสร้างของท่านจึงสำเร็จเพราะกำลังกาย กำลังวาจา กำลังทรัพย์เพียงพอทุกอย่าง ไม่บกพร่อง แม้ท่านพระครูญาณทัสสีจะดำเนินงานการใหญ่ ๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี ดูได้ที่จังหวัดขอนแก่นมีวัดป่าคำมะยาง ๑ วัด วัดศรีภาพ ๑ วัด เป็นวัดที่ทุ่มเทเงินทองก่อสร้าง มีจำนวนมาก ๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี”

“อนึ่ง ท่านได้เคลื่อนพาลูกศิษย์ลูกหามาอยู่ถ้ำผาปู่ ต. นาอ้อ อ. เมือง จ.เลยของพวกเรา ดูได้ที่การก่อสร้าง ถ้ำผาปู่ ๑ วัด วัดหนองหมากผาง ๑ วัด เป็นวัดที่กว้างขวางใหญ่โต ท่านพระครูญาณทัสสีเพิ่งมาอยู่ไม่นานเท่าไรปี เวลานี้วัดถ้ำผาปู่ วัดหนองผาง กำลังก้าวหน้าเรื่อย ๆ มีคณะอุบาสกอุบาสิกาต่างจังหวัดมาเยี่ยมท่านเรื่อย ๆ และมีพระภิกษุสามเณรมาจากต่างจังหวัดอื่น ๆ มาเยี่ยม ศึกษาธรรมวินัยด้วยท่านเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น สังฆรัตนะจึงตกเข้ามาในท้องที่จังหวัดเลยมาก มีวัดป่าหนองหมากผางและถ้ำผาปู่เป็นอาทิ”

“ท่านพระครูญาณทัสสีเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาปู่ก็จริง ปีไหนมีโอกาสดี ๆท่านก็ไปอำเภอเชียงคานบ้าง ไปอำเภอวังสะพุงบ้าง แผ่อริยธรรม ให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ส่วน อ. ท่าลี่ อ. ด่านซ้ายนั้นท่านไม่มีโอกาสไป ด้วยหนทางไกล ไม่สะดวกในการเดินทาง ก็มีอันเตวาสิกสานุศิษย์ของท่านไปเที่ยววิเวกเพื่อทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ ต่อคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายในถิ่นตำบลอำเภอนั้นด้วย ได้รับความอบรมศึกษาธรรมวินัยเป็นอย่างดี ฉะนั้นก็แลเห็นได้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสีทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ให้จังหวัดเลยเป็นอันมาก ดุจท่านอยู่จังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน…..”

ภูเขาที่ถ้ำแก้งยาวนั้นแม้จะไม่สูงเท่าไร และอยู่ใกล้ทุ่งนา แต่ก็มีความสงบสงัดดี หลวงปู่สรรเสริญถึงคุณของถ้ำแก้งยาวมาก ท่านว่าเทพมาก มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมาอนุโมทนาการทำความเพียรของท่านด้วย

ลักษณะถ้ำไม่ใหญ่ ทำแคร่เล็ก ๆ พอนั่งภาวนา กางมุ้งกลดได้ วันดีคืนดีก็เห็นงูตัวใหญ่มาขดอยู่ใต้แคร่ภาวนา ท่านว่า ไม่เห็นตอนที่เขาเลื้อยเข้ามา เพราะถ้าเห็นก็คงจะตกใจบ้าง ออกไปเดินเล่นข้างนอก ชมป่าชมดง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ และความจริงเป็นนิสัยของท่าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าท่านมักจะชอบเปลี่ยนที่ภาวนาเดินไป เห็นหินก้อนนั้นเหมาะ ใต้ต้นไม้ใหญ่นี่ท่าจะดี ท่านก็เพียงแวะลงนั่ง ใช้ผ้าอาบปัด ๆ ให้หินก้อนนั้น…พื้นตอนนั้นสะอาด เรียบบ้าง ก็จึงนั่งทำความเพียรได้แล้วหรือเข้าป่า เห็นต้นไม้หักโค่น ต้นยาวใหญ่ ทอดอยู่เหนือพื้นดิน ก็อาศัยขอนไม้นั้นเป็นทางจงกรม ให้มีสติระวังตัวตลอดเวลา มิฉะนั้นก็คงจะต้องตกลงมาจากขอนไม้นั้นได้

กลับมาถ้ำ จึงมองเห็นงูใหญ่ตัวนั้น เขาขดตัวนอนเฉยอยู่ใต้แคร่ มิได้ชูคอร่าขึ้นในท่าฉก หากเอาหัวซุกลงไปในวงขนดหาง ท่านพยายามคิดว่า ได้มาตั้งแคร่กีดขวางรูถ้ำซึ่งเป็นทางเข้าออกของเขาหรือไม่ มองดูก็เห็นว่า ตรงที่ท่านตั้งแคร่นั้นผนังถ้ำเรียบราบอยู่ มีทางคิดได้อยู่อย่างเดียว คือ งูเห็นว่า ใต้แคร่เป็นที่สงบเย็นดีก็เลยมานอนพักผ่อนเล่นเท่านั้น ท่านจึงออกไป ทำกิจส่วนองค์ เดินจงกรมพักใหญ่จึงกลับเข้ามาในตอนเย็น คิดว่าอาคันตุกะผู้ไม่ได้รับเชิญคงจะจากไปเรียบร้อยแล้ว

ผิดคาด เจ้างูใหญ่ตัวนั้นก็ยังคงยึดที่สบายตามเดิม ท่านชักรู้สึกคุ้น จึงเขยิบเข้าไปดูใกล้ ๆ เห็นนัยน์ตามันมองท่านจ้องนิ่งอยู่แล้ว นัยน์ตาทั้งสองคู่ประสานกัน คู่หนึ่ง มองอย่างสงสัย ดูท่าที…. อีกคู่หนึ่ง เต็มไปด้วยความการุญ แผ่กระแสแห่งเมตตาธรรมตรงเข้าไปให้แก่ฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มเปี่ยม…..

ท่านว่า เขาขดอยู่ใต้แคร่นั้น สามวัน สามคืน ไม่ไปไหนเลย ไม่เห็นออกไปหาอาหาร หรือไปเที่ยวที่ไหน ทำตัวราวกับเป็นทหารองครักษ์มาทำหน้าที่พิทักษ์ให้ความปลอดภัยพระราชาเช่นนั้น ท่านก็เลยกางมุ้งกลดบนแคร่ตามปกติ ตนเช้า ตี ๓ ลุกขึ้นข้างหน้า สวดมนต์ ภาวนาแผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ…โดยเฉพาะเจ้าตัวใต้แคร่นั้นอยู่ใกล้ที่สุด ก็คงจะได้รับกระแสเมตตาธรรมของท่านมากที่สุดเช่นกัน

ท่านเคยผ่านการถูกพญานาครัดมาแล้ว ที่ภูบักบิด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ฉะนั้น การที่เพียงเห็นงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่จึงดูเป็นของเล็กน้อยเทียบกันไม่ได้ ประกอบทั้งเขาก็มิได้แสดงเป็นศัตรูคู่อาฆาตแต่ประการใด ท่าทางดูสนิทสนมคุ้นเคยเป็นมิตร แถมยังดูน่าสงสารด้วยซ้ำ ที่ชาตินี้เขาต้องมาถือกำเนิดในชาติอันต่ำต้อยเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านทำกิจวัตรประจำวันต่อไปโดยปกติ คิดว่า ต่างคนต่างอยู่ ต่างใช้ชีวิตตามเพศตามชาติของตน ไม่ขัดเคือง ขัดขวางกัน มีแต่เมตตาต่อกัน

เวลาผ่านไป สามวัน สามคืน งูนั้นจึงจากไป เวลาออกไป ท่านไม่เห็น เห็นแต่ทางราบเป็นทางยาวลงไปจากถ้ำ ลงไปถึงชายทุ่ง ขณะนั้นนาข้าวกำลังขึ้นเขียวขจีท่านว่า เวลาเห็นเขาขดตัวอยู่ใต้แคร่ มองไม่รู้สึกว่าตัวใหญ่มากเท่าไร แต่เมื่อเห็นนาข้าวที่ราบเป็นทางยาวนั้น คะเนว่า ตัวงูคงมหึมาน่ากลัว เพราะข้าวที่เขาปักดำห่างกันเป็นแถวเป็นกอนั้น ถูกงูทับเป็นทางราบถึง ๓ แถว หรือ ๓ กอ มองเห็นทางที่ราบโล่งเป็นช่องแนวไปในทุ่งนานั้นลิบลิ่วไปไกลสุดสายตาทีเดียว

ฟังท่านเล่า แล้วก็อดกราบเรียนถามไม่ได้ว่า ชะรอยคงจะเป็นพญานาคมากกว่า แต่การมาขดอยู่ใต้แคร่นั้น คงจะต้องเนรมิตกายให้เป็นงูธรรมดา เพื่อมิให้ผู้พบเห็นหวาดกลัว เพราะความจริงท่านมีเณรไปอุปัฏฐากด้วย หากเห็นร่างแท้จริงของนาค เณรจะตกอกตกใจได้ ครั้นเมื่อเขาจะลาจากไป ก็ฝากรอยจริง ๆ ไว้ไห้เห็นในทุ่งนา ท่านไม่ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่เล่าไปว่า เวลาพญานาคออกมา จะมีเสียงร้องดัง อี้…อึ่ด…อึ่ด ๆ ยาว ๆ

ได้ยินกันทั่วไหม

ท่านตอบว่า ได้ยินกันหลายคน แต่บางคนที่ได้ยิน อาจจะไม่ทราบว่าเป็นเสียงพญานาคก็ได้

พรรษาที่ ๓๘ พ.ศ. ๒๕๐๕ จำพรรษาที่เขาสวนกวาง

กิ่ง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

ในต้นปี ๒๕๐๕ นี้ท่านยังท่องเที่ยวธุดงค์อยู่ในเขตจังหวัดเลย ท่านจะเดินทางรวดเร็วมาก บางทีก็ไปถ้ำผาบิ้ง ถ้ำผาปู่ อันเป็นถิ่นที่ท่านคุ้นเคยมาแต่สมัยเป็นพระผู้น้อย ผ่านไปทางอำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นที่ซึ่งท่านเคยใช้วัยหนุ่มทำราชการอยู่กับพี่เขยมาหลายปี พอดีวัดโพนแก่นที่เชียงคานมีงานถวายเสนาสนะ ท่านก็ช่วยเทศน์อบรมประชาชนให้ด้วย

ครั้นถึงเดือน ๗ ๒๕๐๕ (ตรงกับเดือนมิถุนายน ๒๕๐๕) ท่านเดินทางต่อไปถ้ำมโหฬาร และบันทึกไว้ว่า

“ถ้ำมโหฬาร เดือน ๗ พ.ศ.๐๕ ฝันเห็นท่านอาจารย์ (มั่น….ผู้เขียน) ท่านนั้นคล้ายเชือกอู่ลงมา เราเห็นชัด….เป็นมงคลยิ่ง”

“…..เดือนนี้ เราป่วยเป็นไข้คนเดียว อาการหนักมาก เกิดวิตกวิจารณ์ใหญ่ เกิดสงสัยในเวลาจิตกับเวทนา ป่วยผสมกัน ในขณะนั้นทำให้จิตป่วนปั่นมาก นอนไม่หลับ ๒ คืน ก็มี กลางวันก็ไม่ได้นอนอีก แต่สงบนอนด้วยฌาน หลับ ๆ ตื่น ๆ ก็อิ่มเหมือนกัน”

“ภาวนาแลเห็นนิมิตนอกร้อยแปดอย่างปรากฏเสมอ หลบเข้าอารมณ์ได้ ต่อนั้นได้รับความสงบ…จิตเข้าสู่อารมณ์แห่งความตายบ้าง”

ท่านถึงกับอุทานว่า

“แหม่ ผู้มีภูมิจิตเป็นถึงขนาดนี้… ถ้าผู้ที่ไม่มีแม้จิตนั้น จิตคงยิ่งแปรปรวนใหญ่ ระยะนี้จะได้ระวังตัวและจิตเรื่อย ๆ เพราะเห็นภัยใหญ่หลวง ๓ อย่าง ๑. เราอาพาธที่จะมรณะ ๒. เราแก่ชราแล้วใกล้มรณะ ๓. สงครามจะมาถึงในวันไหน ภัยทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นเทวทูต ให้เราทำความเพียรอย่างขนาดหนัก เพื่อจะได้สำเร็จก่อนกว่าภัย ๓ อย่างนี้จะมาถึงตัวเรา อีกนัยหนึ่งเราก็อยู่ในสถานที่วิเวกคนเดียว เปลี่ยว…..”

ท่านรำพึงว่า

“ภาวนานั้น ถ้ามีแต่สมาธิอย่างเดียว ต้องมีนิมิตต่าง ๆ หลอกอยู่เรื่อย ๆ เกิดจากอุปจารสมาธิ มีอุคคหนิมิตทำให้เป็นบ้าไปได้ ทำให้ไม่อยู่ในสมาธิ ความสงบและสุขไปได้ ถ้าเอาภาวนา เอาวิปัสสนาผสมสมาธิแล้ว ย่อมไม่เกิดนิมิต เพราะไตรลักษณ์ล้างอยู่เสมอ และไม่สำคัญตน และไม่เป็นบ้า เกิดนิมิตทั้งหลายก็รู้เท่า”

ท่านมิได้ฉันยา หากใช้ธรรมโอสถพิจารณาลงไปที่ ชรา พยาธิ และมรณะ เฉพาะ พยาธิ และ มรณะ นั้น ท่านพิจารณาหนักแน่นเป็นพิเศษ แล้วบันทึกว่า

“อาพาธเปลี่ยนฤดู เปลี่ยนอิริยาบถไม่เสมอ อาพาธตอนเพียรกล้า อาพาธกรรมวิบาก เย็น ร้อน อ่อน หนาว หิวข้าว กระหายน้ำ อุจจาระปัสสาวะ มีประการต่าง ๆ ของกายนี้ทั้งนั้น เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่รับ ย่อมเสียสละ ย่อมบรรเทาเสีย ย่อมให้พินาศเสีย ย่อมไม่เกิดต่อไป”<

ท่านตั้งปณิธานเด็ดเดี่ยว….เพื่อเอาชนะกิเลสลงไปว่า

“ทำความเพียรให้แข็งแรง เอาเป็นเอาตายทีเดียว ป่าช้าอยู่ที่ไหน… ไป ! กำหนดตายที่ไหน เผา ณ ที่นั้น ดังนี้…..”

ความจริง เมื่อท่านเอาชนะกิเลสได้แล้ว เวลาก็จวนแจจะเข้าพรรษาแล้ว เป็นบุคคลอื่นก็คงจะจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำมโหฬารนั้นเอง เพราะสถานที่ก็ค่อนข้างคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ด้วยท่านเพิ่งได้จำพรรษาที่ ๓๖ ณ ถ้ำมโหฬาร เมื่อปี ๒๕๐๓ นี้เอง

แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่หลวงปู่….

ท่านเห็นว่า การเที่ยววิเวกเปลี่ยนสถานที่ทำความเพียรไปเรื่อย ๆ จะทำให้จิตตื่น อยู่เสมอ ที่เก่า ซึ่งเคยได้อธิบายวิธีชนะกิเลสมาแล้ว ไม่ใช่ว่าครั้งใหม่จะใช้วิธีเก่าได้เสมอไป

โรคมันชินยาอย่างหนึ่ง หรือสถานที่มันจืดไปอีกอย่างหนึ่ง

ความจริง ท่านเองนั้นแหละ ที่คิดว่า ที่เก่านั้นมัน "จืดไป" ควรแสวงหา “สถานที่ใหม่” “บุคคลใหม่” “อากาศใหม่” ต่อไป

ท่านเดินทางออกจากเลย ผ่านอุดร แล้วเข้าเขตจังหวัดขอนแก่น และในพรรษาที่ ๓๘ นี้ ท่านก็กลับไปเข้าพรรษาที่ เขาสวนกวาง ซึ่งท่านได้เคยจำพรรษามาแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พรรษาที่ ๒๘

เวลาห่างกัน ๑๐ ปีเต็ม ทำให้ท่านรู้ดีกว่าเป็นสถานที่แห่งใหม่ ที่ควรวิเวกจิตเปลี่ยว กายเปลี่ยว มันเปลี่ยว… จิตวิเวก กายวิเวก มโนวิเวก… ท่านจึงมีเวลาทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ณ ที่นี้ท่านได้พบญาติโยมที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมาแต่ครั้งก่อน ต่างก็ปีติยินดีที่ได้มีโอกาสกราบรับธรรมะอีกวาระหนึ่ง ท่านจึงต้องเป็นธุระเทศนาอบรมสั่งสอนพวกเหล่านั้นต่อไป รวมทั้งบรรดาญาติมิตรของเขาซึ่งเมื่อทราบข่าวก็มาร่วมฟังธรรมด้วย กลายเป็นเกิดมีที่มาทำบุญทานการกุศล ถือศีลภาวนาอยู่ด้วยท่านเป็นกลุ่มใหญ่แทบทุกวัน

ในบันทึกของท่าน ตอนหนึ่ง ท่านได้สำเนาคำเทศนาอบรมญาติโยมไว้กัณฑ์หนึ่งเป็นการพรรณนาถึงอานิสงส์ของการทำทานและรักษาศีล ซึ่งจะทำให้ไปเกิดในสุคติภพโลกสวรรค์ ให้เว้นจากกรรมอันชั่วร้าย เพื่อไม่ต้องไปอุบัติในนรก นับเป็นการแจกแจงอย่างละเอียดกว่าที่เคยฟังท่านเทศน์ในสมัยหลัง ๆ จึงขอนำสำเนาบันทึกเทศน์กัณฑ์นี้มารวมพิมพ์ในประวัติด้วย

โลก คือหมู่สัตว์ มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาที่อาศัยอยู่ในโลกเวลานี้มาจากภพต่าง ๆ ด้วยกรรมดีและกรรมชั่ว มาเกิดเลวและประณีต แล้วแต่กรรมของสัตว์ตบแต่งสัตว์นั้น ๆ สัตว์เหล่านั้นจะเป็นพวกเปรต อสุรกายสัตว์เดรัจฉาน ในประเภทไหนก็ตาม ต้องมาทำความชั่วในมนุษย์ทั้งนั้น สุคติจนถึงพระนิพพานก็มาสร้างในมนุษย์นี้เช่นเดียวกัน มนุษย์เป็นที่ประชุมแห่งรถไฟสายต่าง ๆ บุคคลจะไปจังหวัดใด ๆ ก็ต้องออกประชุมที่ต้นทางทั้งนั้น

จะกล่าวถึงนรกนั้นร้ายกาจ ไหม้สรรพสัตว์ทุกอย่างโดยไม่เหลือ ให้เป็นจุณไปทั้งนั้น ยิ่งกว่าไฟมนุษย์นี้หลายเท่า แม้สาวกพุทธชิโนรส ท่านผู้มีฤทธิ์พระโมคคัลลานะ พระมาลัยเถรเจ้า เมื่อท่านองค์ใดองค์หนึ่งไปเยี่ยมนรก แม้พระอรหันต์ขีณาสพสาวกเจ้าทั้งหลายองค์อื่น ๆ ต้องเกรงกลัวขยาด น้อยคนนักที่จะมีอภิญญาต่อสู้นรกได้

ในสภาพภูมิประเทศที่สัตว์ทำชั่วไว้ในอดีตเป็นปัจจัยอยู่ในนรกนั้นเป็นสัตว์ที่ขาดแคลนที่สุด ปราศจากผ้านุ่งผ้าห่ม ข้าวน้ำโภชนะอาหารทุกประเภท เช่น มีสิ่งอื่น ๆ จะอุปโภคบริโภคก็กลายเป็นดินน้ำไปเป็นน้ำกรดไปทั้งนั้น ตั้งใจจะทำบุญก็สายเกินไป สัตว์นรกไม่มีสมบัติอะไรจะทำบุญ และไม่มีพระเจ้าพระสงฆ์ที่จะมารับทักขิณาทานในนรกนั้นด้วย ครั้นจะปลีกตนมาทำบุญในมนุษย์โลกก็ไม่ได้เพราะอยู่ในที่คุมขังเสียแล้ว พญายมบาลรักษาอย่างกวดขันหมดหนทางที่จะทำบุญเช่นนั้น แม้จะภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆได้อย่างไร เพราะนรกเผาอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน มิได้ขาดระยะ ครั้นสัตว์นรกเหล่านั้นอด ๆ อยาก ๆ จะหาโอกาสไปปล้นกิน ก็ไม่มีเศรษฐีอยู่ในนรกให้สัตว์นรกปล้น

เมื่อพ้นจากนรกแล้วก็พากันมาเกิดตามยถากรรมอีกต่อไป สัตว์บางอย่างตกนรกแล้วตกอีกเล่า ประเดี๋ยวตกขุมน้อยบ้าง ขุมใหญ่บ้างสับสนกัน ไปเกิดเป็นเปรตบาง เป็นอสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง แม้เศษบาปที่ทำในมนุษย์ไซร้นั้น มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่บริสุทธิ์ มีอวัยวะพิการอย่างใดอย่างหนึ่งและมีการอด ๆ อยาก ๆ ถือกระเบื้องกะลาขอทานเขากินตามท้องตลาด

เมื่อสัตว์เหล่านั้นกระทำดีเป็นกุศลนั้นเล่า บุญส่งให้เกิดบนสวรรค์เทวโลกทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ละอย่างๆ ล้วนแต่เป็นของที่เลิศ ๆ ทั้งนั้น เทวโลกสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติต่าง ๆ เทวโลกนั้นจะทำบุญให้ทานแก่ใครเล่า สถานที่เทวโลกนั้นเป็นสถานที่มีสมบัติมั่งคั่งด้วยกันทั้งนั้น ก็เทวดาองค์ใดที่จะรับทานกันเล่า ครั้นจะภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆก็ไม่ได้ เพราะสถานที่เทวโลกนั้นเป็นสถานที่มีอารมณ์อันฟุ้งซ่านทั้งนั้นไปโดยรอบ ไม่วิเวกสงบสงัด ครึกครื้นไปด้วยเสียงต่างๆ ครั้นจะกระวายให้ล้ำเลิศ ก็ไม่มีพระเจ้าพระสงฆ์รับทักขิณาทานในสถานที่นั้น แม้เทวโลกจะทำบุญกุศลสิ่งใดก็ไม่ได้ทั้งนั้น ไม่เหมือนมนุษย์โลกที่เราอยู่นี้ บนสวรรค์ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาถนนหนทางเหมือนมนุษย์โลก ตลอดคุกตะรางไม่มีเทวโลก เทวดาท่านเหล่านั้นไม่มีอันธพาลทะเลาะวิวาทกัน เทวดาทั้งหลายล้วนแต่มีความสุขสำราญด้วยกันทั้งนั้น พักผ่อนหย่อนใจ กล่าวคือ นั่ง ๆ นอน ๆ ยืนเดิน บำเรอความสุขของตนที่พากันทำไว้แต่มนุษย์โลกทั้งนั้น หมดบุญแล้วจุติไปเกิดตามยถากรรมของท่าน

พระองค์ตรัสไว้ว่า สวรรค์นั้นมีการทำบุญและความดีบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านว่าเป็น อัพโพหาริก มีเหมือนไม่มีดุจน้ำติดอยู่ในจอกแก้วนิดหน่อย มีบุคคลอื่นถามว่าน้ำในแก้วมีหรือไม่มี ใคร ๆ ก็คงตอบว่าจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ย่อมเป็นผลพลาดพลั้งทั้ง ๒ อย่างเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเทพบุตรบางองค์ เช่น พระเตมีย์โพธิสัตว์จึงกลั้นใจตาย จากชั้นดุสิตเทวโลกมาเกิดมนุษยโลก เพื่อสร้างพระบารมีต่อไป ฉะนั้น เทวดาอยู่เทวโลกไม่มีประโยชน์อะไร ล้วนแต่เสวยความสุขของท่านเท่านั้น ก็เป็นข้อวินิจฉัยตามตำรา

พระสูตรปิฎก ท่านกล่าวไว้ มนุษย์เป็นภูมิสถาน มีอุดมสมบูรณ์ด้วยสมบัติต่าง ๆ อุดมเลิศกว่าเทพต่างๆ เรียกว่า เทพพระอินทร์ เทพพรหม เลิศกว่านรกเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เลิศกว่าพระยาครุฑ พระยานาค เพราะภพเหล่านั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจก พระสาวกเจ้าทั้งหลายไม่ไปบังเกิดตรัสรู้ เหตุนั้นชมพูทวีปมนุษย์เป็นที่เลิศ พระพุทธองค์ตรัสว่า อคฺคํ มนุสฺเสสุฯ การที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นของที่เลิศ ฉะนั้นมนุษย์จะเป็นหญิงเป็นชายก็ต้องพากันเลิศทั้งนั้น

ศีล ทาน ภาวนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าล้วนแต่เป็นของที่เลิศ ทำสัตว์ผู้ปฏิบัติไปสุคติภพได้ แม้พระพุทธเจ้า พระปัจเจก พระอรหันต์ท่านเหล่านั้นย่อมมาตรัสรู้ในมนุษย์โลกนี้ทั้งนั้น ท่านเหล่านั้นมาสร้างพระบารมีในมนุษย์โลกทั้งนั้น มนุษย์เป็นธาตุที่พอ เป็นธาตุที่ถูกส่วนเป็นสถานที่บริบูรณ์ย่อมประดิษฐานอยู่ในมนุษย์โลกทั้งนั้น มีพร้อมทั้งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีพร้อมครบทุกอย่างไม่บกพร่องด้วยประการใด จึงได้นามว่าธาตุพอ ภพอื่นไม่พอ ไม่บริบูรณ์ ไม่ครบครันทุกอย่างเช่น สวรรค์มีแต่อารมณ์ความสุข ทุกข์ไม่มี พรหมโลกธาตุไม่พอ มีแต่สุขอย่างเดียว อีกประการหนึ่ง นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานภพเหล่านี้ธาตุไม่พอ มีแต่ทุกข์อย่างเดียว นิโรธมรรคไม่พบ

นี่แหละ มนุษย์เราเป็นภพอันเลิศ เป็นสถานที่รับรองพระพุทธเจ้าพระปัจเจก พระอรหันต์สาวกตรัสรู้ และท่านเหล่านั้นจะต้องเกิดเป็นมนุษย์สร้างพระบารมี เมื่อสร้างพระบารมีครบครันแล้วจึงพากันตรัสรู้ตามวาสนานิสัยของท่าน สัตว์ไหนที่สร้างพระบารมีพอแล้วควรที่เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็น ควรเป็นพระปัจเจกก็เป็น ควรเป็นพระอรหันต์ก็เป็น แม้สัตว์ทั้งหลายที่ทำบุญทำบาปที่จะไปภพต่าง ๆ ก็พากันทำบุญในมนุษยโลกทั้งนั้น เช่น สัตว์ทำไม่ดีควรไปตกนรก สัตว์มนุษย์คนไหนทำไม่ดีที่ไม่ร้ายแรงควรไปเกิดเป็นเปรต อสุรกายก็ไปเกิดภพนั้นสัตว์มนุษย์ทำดีเพียงสวรรค์ก็ไปเกิดบนสวรรค์เท่านี้เป็นอาทิ นี้แหละสัตว์ไหนทำดีไม่ดี ที่หอบสู่ภพต่าง ๆ สร้างกรรมบุญ กรรมบาป ไปจากมนุษย์โลกนี้ทั้งนั้น

ขอท่านคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ควรรู้ตามที่อาตมาได้บรรยายมาแล้วนี้ นำไปปฏิบัติ เว้นจากกรรมอันชั่วร้ายไม่ให้ทาน การบริจาค มีศีล เว้นจากกรรมอันชั่วร้าย มีภาวนา อารมณ์ดวงจิตให้ฉลาด หลีกเลี่ยงอุปสรรคความชั่วร้ายต่าง ๆ ขอให้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็นกรรมที่ดี นำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะพวกเราคณะอุบาสกอุบาสิกาบังเกิดมาในชาติภูมิที่ดีแล้ว ที่ปฏิบัติควรแก่สวรรค์และนิพพานเดินตามพระพุทธองค์กล่าวไว้ จึงได้ชื่อว่าตามรอยพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตามรอยพระปัจเจกทั้งหลาย ตามรอยพระอริยเจ้าคณะอุบาสกอุบาสิกา พระภิกษุสามเณรจึงปฏิบัติได้สวรรค์นิพพานได้เป็นข้อที่พวกเราควรสนใจในศาสนาให้มาก

ชีวิตมนุษย์เป็นของน้อย นรก สวรรค์เป็นของอายุมาก นับตั้งกัปตั้งกัลป์ทีเดียว ขออย่ามัวเมาในวัยของตน เช่นเด็กมัวในความเป็นเด็กเล่นฝุ่น คนหนึ่งก็เมาในความเป็นหนึ่งของตัว เช่นตบแต่งร่างกายให้สวยงามเล่นบ้าง สาวทะเยอทะยาน ขวนขวายแต่ทางกามจนค่ำจนมืด จนลืมกิจการทุกอย่าง หัวไร่มัวนาเรือกสวนไปต่าง ๆ คนจนก็มัวเมาความทุกข์จนของตน คนมั่งมีก็เมาความมั่งมีของตน นี้แหละคน เกิดมาในโลก ไม่ว่าคนประเภทไหน ความมัวเมาประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ธาตุเมาอันนี้ยังวุ่นวายอยู่ในโลก พากันเดือดร้อนอยู่ในโลก เกิดทะเลาะวิวาทกันอยู่ในโลก ฆ่าฟันล้มแทงกันจนติดคุกติดตะรางกัน ฟ้องร้องกัน เป็นคดีโรงร้านโรงศาล ประเทศต่อประเทศก็เกิดสงครามฆ่าฟันกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากธาตุเมากันทั้งนั้น

ท่านผู้เป็นสัปปุรษนักปราชญ์ เมื่อมาพิจารณาตริตรองในโลกนี้เป็นของที่วุ่นวายอยู่เช่นนี้ ท่านเหล่านั้นก็พากันบำเพ็ญ ทาน รักษาศีล ภาวนา ด้วยการสดับพระธรรมเทศนา พากันหลีกเร้นออกจากสงสาร หวังใจเดินตามรอยพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่เป็นประวัติการสั่งสอนกันสืบ ๆ มาเป็นแบบ เป็นตัวพิมพ์ เมื่อไม่ผิดธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้ธาตุเมาอันนี้สู่สิงอยู่ในดวงจิตของผู้ใด ไม่ว่าหญิงชาย ไม่ว่าหนุ่ม เด็กแก่ ชรา ทำให้ฆ่าสัตว์ก็ฆ่าไปเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเลี้ยงผัวเลี้ยงหลาน พอที่ลักก็ลัก พอที่จะทำกามเสพสมบุตรภรรยาคนอื่นก็ทำไป พอที่มุสาหลอกลวงอำพรางไป พอได้เลี้ยงชีพชั่ววันหนึ่ง ๆ พอที่จะดื่มสุราเมรัยก็ดื่มสุราเมรัยให้มันเมา เสียเงินเสียชื่อเสียเสียง ด่าบ้านด่าเมืองไปต่างๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ได้ชื่อว่าผิดศีลผิดธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คนเช่นนี้ไม่มีโอกาสจะปฏิบัติศีลธรรมภาวนา มีคติอันชั่วร้าย บุคคลคนนั้นมีชีวิตอยู่ในโลกก็หนักโลก แม้ตายไปก็ไปทุคติ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือนรกนั่นเอง เป็นที่หนักใจแก่พระยายมบาล จะลงโทษทัณฑกรรมต่าง ๆ นี้แหละขอท่านคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พึงสนใจว่า คนที่ทำชั่วผิดศีลธรรมแล้วต้องได้รับกรรมอันร้ายเช่นนั้น เพราะฉะนั้นให้พากันเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่าเราทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเช่นนั้น ในที่สุดธรรมเทศนานี้ ขออวยพรให้

ท่านทั้งหลายพึงอยู่โดยอายุ วรรณะ สุขะ พละ พรทั้ง ๔ ประการนี้ประสิทธิ์ประสาทมาแต่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าระหว่างที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-09.htm

. . . . . . .