ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๒

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๒

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๕๒ พ.ศ. ๒๕๑๕ เดินทางไปโปรดชาวภาคใต้

และจำพรรษา ณ วัดกุมภีร์บรรพต

นิคมควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล

ออกพรรษาแล้ว ท่านยังคงพำนักที่สวนคุณหมอโรจน์ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อโปรดญาติโยมในตัวจังหวัดจันทบุรี อำเภอโดยรอบและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะเพื่อพานำไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ทุกคนก็สนใจทำตามด้วยจิตอันนอบน้อมต่อคุณพระรัตนตรัย สำหรับภรรยาคุณหมอโรจน์ ที่เมื่อท่านสอนการม้างกาย ก็พยายามปฏิบัติตามจนปรากฏผลเป็นที่พอใจ

ท่านได้บันทึกไว้ว่า ท่านจากจังหวัดจันทบุรีมาเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ เนื่องด้วยคณะพุทธบริษัทของวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ อาราธนาให้มาพักผ่อนล่วงหน้าก่อน เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้มีความเคารพรักในองค์ท่าน จะได้จัดงานทำบุญฉลองอายุให้ท่าน และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ซึ่งต่างเกิดในเดือนเดียวกัน คือ เดือนกุมภาพันธ์ และปีเดียวกัน คือ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ เพียงแต่วันเกิดห่างกันวันเดียว คือ ท่านเกิดวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ส่วนหลวงปู่ชอบเกิดวันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เท่านั้น ดังนั้น คราวนี้คณะศิษย์จึงได้กำหนดจัดงานฉลองพระคุณท่านทั้งสองรวมกัน ๒ วัน คือ วันที่ ๑๑ และ ๑๒ กุมภาพันธ์ ณ วัดอโศการาม

ปกติ พระเณร แม่ชี ที่วัดอโศการามก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นงานของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นประดุจธงชัยคู่เอกของพระกัมมัฏฐานถึง ๒ องค์ จำนวนพระ เณร ชี และศรัทธาญาติโยม ที่มาชุมนุม ณ วัดอโศการามในโอกาสสำคัญนี้จึงคับคั่ง ทำให้บริเวณอันกว้างใหญ่ของวัดดูแคบไปถนัดตา

ระหว่างงาน มีผู้ทราบว่า หลวงปู่ยังไม่เคยเดินทางไปภาคใต้เลย จึงนิมนต์ขอให้ท่านเดินทางไปโปรดชาวภาคใต้บ้าง ท่านรับนิมนต์ และเพียงวันรุ่งขึ้นเสร็จจากงานคือวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ท่านและ ท่านเจ้าคุณโสภณคณาจารย์ หรือขณะนั้นยังเป็น พระมหาเนียม ก็เดินทางโดยรถด่วนสายใต้ทันที

ไป…ของท่าน คือ ไป !…_และ ไป ทันที !

รถด่วนถึงหาดใหญ่ เช้าวันรุ่งขึ้นที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. ได้พักที่ วัดสระน้ำ อ.หาดใหญ่ มีคณะศรัทธาญาติโยมมาฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมด้วยท่านอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะคณะศรัทธาชาวการรถไฟ ซึ่งปกติมีความเลื่อมใสในแนวการปฏิบัติธรรบของพระกัมมัฏฐานสาย หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างแน่นแฟ้นอยู่แล้ว ก็ได้นำญาติสนิทมิตรสหายมากราบหลวงปู่กันเป็นประจำ

ท่านได้พาไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ สอนให้ถึงพระไตรสรณาคมน์อย่างแท้จริง คำสวดนำของท่านจะไบ่มีแต่เพียงภาษาบาลี หากมีคำแปลอย่างพิสดารประกอบด้วย ทำให้ผู้ที่สวดตามสามารถใคร่ครวญและน้อมจิตพิจารณาความตามไปด้วยอย่างซาบซึ้ง และเพิ่มความศรัทธายิ่งขึ้น

ท่านได้ศิษย์หน้าใหม่ ๆ มาสวดมนต์ ปฏิบัติภาวนาด้วยอีกมาก

ระหว่างที่พักวัดสระน้ำ เผอิญ คุณบันยง ศรลัมพ์ อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการ ด้านปฏิบัติการ ได้เดินทางไปตรวจงานที่หาดใหญ่ ทราบว่าหลวงปู่อยู่ที่นั่น จึงไปกราบเยี่ยม และนิมนต์ให้ท่านเดินทางไปกับขบวนรถพิเศษ ให้ถึงชายแดนสุไหงโกลกด้วย เพราะเมตตาของพระกัมมัฏฐานระดับครูบาอาจารย์นั้น ย่อมกอปรด้วยพลังอันบริสุทธิ์ และแผ่ไปโดยรอบ…แผ่ไปในที่ใกล้…และแผ่ไปในที่ไกล…แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ เป็นมงคลแก่สถานที่ซึ่งท่านพำนัก เป็นมงคลแก่สถานที่ซึ่งเดินทางผ่านไป

ท่านเดินทางไปจนถึงสุดชายแดนประเทศไทย ผ่านสุไหงโกลก เข้าไปในลันตู เขตประเทศมาเลเซียด้วย ขากลับได้แวะลงที่สถานียะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พักที่ วัดยะลาธรรมาราม ท่านเจ้าคุณพระราชญาณเวที เจ้าคณะจังหวัดยะลา (ธรรมยุต) ได้มาต้อนรับและเชิญชวนให้พุทธบริษัททางยะลามาฟังธรรมคำสั่งสอนจากหลวงปู่ โดยเฉพาะการฝึกหัดภาวนา

ท่านพักอยู่ ณ วัดยะลาธรรมาราม ๓-๔ วัน อบรมพระเณรและประชาชนพอควรแล้วก็เดินทางกลับ ท่านลงรถไฟที่สถานีควนจง ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีหาดใหญ่ประมาณ ๘ กิโลเมตร ด้วยทราบว่า ที่ควนจงนี้ มีวัดกัมมัฏฐานอยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดควนจง เจ้าอาวาสชื่อ พระมหาสมจิตต์ เป็นศิษย์ ท่านพ่อลี หรือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ แห่งวัดอโศการาม ท่านจึงแวะไปเยี่ยม

ท่านกล่าวว่า “ไปให้กำลังใจ” และชมว่า จัดทำเป็นวัดป่าได้อย่างเหมาะสมมีความสงบ สงัด สัปปายะดี

พักวิเวกมีความสงบระยะหนึ่งแล้ว ทางนายช่างรถไฟก็ได้ส่งรถยนต์มารับให้ท่านไปขึ้นรถไฟที่หาดใหญ่ เพื่อเดินทางไปในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ โรงงานรถจักรทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

จากทุ่งสง ท่านพัก ณ วัดเขาน้อย อำเภอร่อนพิบูลย์ วัดนี้สมัยพระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ หรือ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ แห่งวัดหินหมากเป้ง เดินทางไปมาระหว่างจังหวัดภูเก็ตและนครศรีธรรมราช ได้มาพักโปรดญาติโยม ณ ที่วัดเขาน้อยนี้เสมอ เมื่อหลวงปู่เทสก์จากปักษ์ใต้ไปเป็นเวลาช้านานกว่าสิบปี ผู้ที่เคยได้รับกระแสเมตตาธรรมของท่านย่อมรู้สึกว้าเหว่ขาดที่พึ่งทางใจ มาพบหลวงปู่องค์ใหม่ซึ่งพรรษาอายุใกล้เคียงกันผ่านมาโปรด จึงอดเป็นน้ำหูน้ำตาบ้างไม่ได้ และพากันกุลีกุจออุปัฏฐาก รับต้อน (สำนวนของหลวงปู่ แทนที่จะใช้คำว่า “ต้อนรับ”….ท่านเรียกว่า “รับต้อน”) เป็นอย่างดี

“มองปราดเดียวก็รู้ว่า ผ่านการสมาคมอบรมมาแล้ว…เคยเป็นศิษย์มีครูมาแล้ว”

ท่านกล่าวว่า ไม่ต้องดูเลยไปถึงกิริยาอาการอันสงบเสงี่ยมนิ่มนวลของอุบาสกอุบาสิกา เพียงดูการ

“กราบ” ก็รู้แล้ว.. !

แสดงอาการว่า ดิฉันเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์…! ทำให้พระกัมมัฏฐานไปมาได้รับความสะดวกเป็นพิเศษเจือจานมาด้วย

หลังจากนั้น ญาติโยมก็พาท่านเดินทางมาพังงาและภูเก็ต เมื่อแวะเยี่ยมเละพักตามวัดต่าง ๆ ที่พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ได้เผยแผ่ธรรมะ มีผู้เลื่อมใสสร้างวัดถวายให้แก่ท่าน เช่น ที่ วัดนิโรธรังสี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา วัดเจริญสมณกิจ หลังศาลจังหวัดภูเก็ต และ วัดไม้ขาว ใกล้สนามบินภูเก็ต เป็นต้น

ต่อมาหลวงปู่ได้ไปพักที่ วัดควนกาไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา วัดนี้เริ่มแรก ท่านเจ้าคุณพระอริยเวที (พระมหาเขียน ป. ๙ ) ได้ไปพักเพื่อวิเวก หลวงปู่ให้อุปถัมภ์ถวายปัจจัยเดือนละ ๕๐๐ บาททุกเดือน เป็นค่าภัตตาหารแก่ภิกษุสามเณรอยู่ในวัด ในสมัยหลวงปู่มีชีวิตตลอดมา เพราะท่านระลึกถึงอุปการคุณที่แม่ชีกัลยาเคยถวายให้แก่หลวงปู่

ท่านพักที่วัดควนกาไหลจนใกล้เข้าพรรษา จึงกลับมาหาดใหญ่ ท่านอาจารย์พระมหาเนียม กราบเรียนถึงสถานที่อันควรบำเพ็ญภาวนาตลอดพรรษาที่ วัดกุมภีร์บรรพต ซอยเว นิคมควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสงขลา ว่ามีเงื้อมเขา มีถ้ำ อันสงัดวิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม หลวงปู่เห็นด้วย ญาติโยมจึงจัดรถยนต์ไปส่งท่านที่วัดกุมภีร์บรรพต

ตลอดพรรษา คณะศรัทธาในเขตอำเภอหาดใหญ่ สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ก็ได้เดินทางไปถวายจึงหัน และหาโอกาสไปฟังธรรมกันเสมอมิได้ขาดพร้อมทั้งได้ช่วยกันเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ณ วัดกุมภีร์บรรพต เมื่อออกพรรษาแล้วด้วย

เสร็จจากพิธีทอดกฐินระยะหนึ่ง หลวงปู่เดินทางกลับมาจากวัดกุมภีร์บรรพตใช้หาดใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางที่จะอยู่โปรดชาวหาดใหญ่ ชาวสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงวัดที่ท่านพำนักในระยะหลังจากออกพรรษา คือ วัดควนเจดีย์ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลมากนัก และห่างจากเมืองสงขลาเพียงประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สะดวกแก่คณะศิษย์และญาติโยมที่จะมาทำบุญและประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสงัดเงียบไม่พลุกพล่าน ท่านจึงอยู่ด้วยความสัปปายะ…สัปปายะทั้งอากาศ สัปปายะทั้งบุคคล สัปปายะทั้งอาหาร และ สัปปายะทั้งสถานที่ คณะศิษย์กลุ่มใหญ่ ๆ ที่มาฟังธรรมกันเป็นเนืองนิตย์ ได้แก่ คณะการรถไฟ คณะโรงพยาบาล คณะอธิการวิทยาลัยครูสงขลา และคณะนายทหารและครอบครัวจากค่ายคอหงษ์ เป็นอาทิ

ท่านอบรมธรรม นำภาวนา อยู่จนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาของปี ๒๕๒๐ บังเอิญเกิดอาการอาพาธ ป่วยเจ็บที่คอ แม้จะพยายามหายาต่าง ๆ มารักษา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่พร้อมภรรยาและคณะซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ก็มาดูแลรักษาแต่อาการนั้นก็ไม่หาย ได้แต่ขอร้องให้ท่านลดละการทำกลดลงบ้าง เพราะการที่ท่านก้มศีรษะคร่ำเคร่งกับการทำกลดแจกพระเณรและญาติโยมผู้ศรัทธายินดีในการปฏิบัติธรรมนั้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้อาการอาพาธไม่หายขาด มีแต่ทรงตัวอยู่หรือกำเริบทรมานมากขึ้นก็ได้

ข่าวอาพาธของท่านที่จังหวัดภาคใต้ ทราบมาถึงกรุงเทพฯ ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ทราบเรื่องจึงเดินทางลงไปกราบท่านที่วัดควนเจดีย์ ขอนิมนต์พ่อแม่ครูจารย์กลับมาจำพรรษาที่กรุงเทพฯ เพื่อให้โอกาสศิษย์ได้อุปัฏฐากรับใช้ และสะดวกแก่การดูแลถวายยารักษาโรค เพราะในนครหลวงย่อมใกล้นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมืออันทันสมัยมากกว่าต่างจังหวัด

หลวงปู่รับฟังคำนิมนต์ และเหตุผลหว่านล้อมที่ท่านอาจารย์ทิวายกขึ้นมากล่าวด้วยความเคารพนอบน้อมแล้ว ในที่สุดท่านก็ยอมรับนิมนต์กลับกรุงเทพฯอันเป็นเวลาจวนแจ ก่อนเข้าพรรษาเพียงวันสองวันเท่านั้น

พรรษาที่ ๕๓-๕๗ โปรยปรายสายธรรม

พ.ศ. ๒๕๒๐ จำพรรษาที่ สวนปทุมธานี ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี

พ.ศ. ๒๕๒๑ จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษาที่ โรงนานายแดง คลอง ๑๖ อ.องครักษ์ จ.นครนายก

พ.ศ. ๒๕๒๓ จำพรรษาที่ วัดอโศการาม อ.เมือง จ. สมุทรปราการ

พ.ศ. ๒๕๒๔ จำพรรษาที่ ที่พักสงฆ์บ้านคุณประเสริฐ โพธวิเชียร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

นับจากที่ท่านได้จำพรรษาปี ๒๕๑๙ ที่วัดกุมภีร์บรรพต นิคมควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล แล้วต่อมาท่านได้วิเวกไปตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นลำดับจนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาปี ๒๕๒๐ ท่านก็มาพักโปรด “ชาวจังหวัดภาคใต้” อันเป็นสำนวนของท่าน อยู่ที่วัดควนเจดีย์ จังหวัดสงขลา ปรากฏว่าในระหว่างนั้นท่านอาพาธมีอาการเจ็บที่คอ ได้รักษากันอยู่นานแต่ไม่หาย ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร จึงได้เดินทางไปรับท่านกลับมาที่กรุงเทพฯ และขอให้ท่านเลือกสถานที่จำพรรษาในกรุงเทพฯทั้งนี้ นอกจากการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ยังต้องการหมอนวดเส้นเป็นพิเศษที่จะรักษาอาการอาพาธของท่านได้ ท่านบอกว่า แม้แต่จะเอี้ยวคอก็รู้สึกเจ็บมากแต่ถึงกระนั้น หลวงปู่ก็จะไม่ค่อยฉันยาสักเท่าใด

ในเรื่องเกี่ยวกับอาพาธนี้ หลวงปู่มีข้อสัญญาตกลงกับท่านพระอาจารย์ทิวา ซึ่งหลวงปู่เล่าว่า ท่านบังคับให้ท่านพระอาจารย์ทิวาเซ็นสัญญากับท่านก่อน ท่านจึงจะยอมมากรุงเทพฯ ด้วย เป็นสัญญาสุภาพบุรุษ โดยต่างองค์ต่างก็เป็นอนาคาริกไม่มีที่อยู่ เดินทางไปเรื่อย ๆ ไม่มีลูกศิษย์ปฏิบัติใกล้ชิด ไปองค์เดียวตลอด ดังนั้นหากองค์ใดองค์หนึ่งเกิดอาพาธขึ้น อีกองค์จะต้องเดินทางมาดูแลกัน อันนี้เป็นอุบายของท่านพระอาจารย์ทิวา ถ้าท่านไม่ยอมรับสัญญาสุภาพบุรุษจากหลวงปู่เช่นนั้น หลวงปู่ก็คงไม่ยอมรับความปรารถนาดีจากท่านพระอาจารย์ทิวาเป็นแน่แท้ คือหมายความว่า ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันว่า เมื่อหลวงปู่อาพาธ ท่านพระอาจารย์ทิวาขอเข้ามาดูแลท่าน และในกรณีกลับกัน ท่านพระอาจารย์ทิวาก็ต้องยอมรับว่า เมื่อท่านเกิดอาพาธขึ้นบ้าง หลวงปู่ก็จะต้องไปดูแลเช่นกัน เป็นการที่หลวงปู่ถือว่า เท่าเทียมกันไม่เอาเปรียบกัน โดยหลวงปู่ท่านไม่ได้คำนึงถึงเลยว่า ท่านนั้นเป็นเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีพรรษาถึง ๕๓ พรรษาแล้ว ในขณะที่ท่านพระอาจารย์ทิวาเพียง ๒๐ พรรษา แต่หลวงปู่ก็ถือว่าเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นคุณธรรมอีกประการหนึ่งที่หลวงปู่ได้แสดงให้เห็นว่าท่านไม่เคยถือว่า องค์ท่านเองเป็นพระเถระผู้ใหญ่เลย

สถานที่ซึ่งท่านเลือกเป็นที่จำพรรษาในปีนั้นคือ ที่สวนปทุมธานี เป็นที่สวนซึ่ง คุณประชา และ คุณไขศรี ตันศิริ ได้ซื้อไว้ส่วนหนึ่ง และในบริเวณสวนที่ติดต่อกันนั้น เป็นของ คุณมานพ กับ คุณอารี สุภาพันธุ์ สภาพบริเวณนั้นคล้ายป่า ทั้งนี้เพราะเจ้าของที่ซื้อแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร อีกทั้งมีคูน้ำลัดเลาะในบริเวณ สงบ สงัดเหมาะแก่การเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงท่านเคยมาพักอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะไปจำพรรษาที่จันทบุรีในปี ๒๕๑๘ ท่านพอใจสถานที่นี้มาก และกล่าวว่า ที่นี่เป็นสถานที่มงคล ภาวนาดี

เจ้าของที่ได้จัดสร้างกุฏิสองหลัง แยกกันอยู่กุฏิละด้าน หลังหนึ่งสำหรับเป็นที่พักของหลวงปู่ และอีกหลังหนึ่งเป็นที่พักของท่านพระอาจารย์ทิวา พรรษานั้นท่านจำพรรษากันเพียงลำพังสององค์ โดยมีข้อตกลงว่า หลังจากที่ท่านพระอาจารย์ทิวาถวายยาตามกำหนดเวลาอันควรแล้ว และเมื่อฉันจังหันแล้ว ต่างองค์จะแยกกันไปวิเวกเจริญภาวนาอยู่ในที่ของตน ไม่มาวุ่นวายเกี่ยวข้องกัน ต่างองค์ต่างอยู่ ไม่รบกวนกันให้เวลาแต่ละองค์ได้ปรารภความเพียรอย่างเต็มที่ ต่อเมื่อถึงตอนค่ำ หากว่ามีญาติโยมมากราบนมัสการ จึงจะออกมาทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน หากไม่มีทั้งสององค์ก็จะอยู่แต่ในที่ของท่าน เพียงแต่ท่านพระอาจารย์ทิวาคอยดูแลถวายยาตามกำหนดเวลาเท่านั้น

ตอนปลายพรรษานั้นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปกราบท่าน ได้กิตติศัพท์ของท่าน ได้ไปกราบท่านพระอาจารย์ทิวาที่เรือนพักของท่านก่อน ท่านก็บอกว่า ให้มารอที่ศาลาซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารชั่วคราว พื้นดูเหมือนระยะนั้นจะไม่ได้ราดซีเมนต์ด้วยซ้ำ แต่มีที่ตั้งพระพุทธรูป มีแคร่สำหรับพระสงฆ์ที่จะนั่งฉันจังหัน เราก็ปูเสื่อรออยู่ที่พื้น ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็มองไปรอบ ๆ ด้วยความชื่นชมด้วยได้กลิ่นดอกจำปาหอมตลบอบอวลไปหมด เงยหน้าขึ้นไปก็มองเห็นเชือกที่ท่านขึงเป็นราวไว้ เข้าใจว่า ก่อนหน้านั้นก็คงมีผู้ที่ได้ไปกราบท่าน และได้ถวายพวงมาลัยเป็นพุทธบูชา ท่านให้แขวนไว้ตามรายเป็นพวง ๆ ไป มองดูว่าอุบะของพวงมาลัยเหล่านั้นจะมีอุบะพวงใดที่มีดอกจำปาบ้าง แต่ก็แปลกใจมากที่ไม่เห็นดอกจำปาตามอุบะเหล่านั้นเลย แต่เหตุใดทั้งบริเวณจึงมีกลิ่นจำปา และกลิ่นถึงได้หอมมากเช่นนั้น ลุกขึ้นเดินอยู่รอบศาลาแล้วก็มองไปในป่า

ท่านอาจารย์ทิวาซึ่งตามมาจากกุฏิ ท่านก็เห็นเราเดินวน ๆ อยู่จึงถามว่า นั่นผู้เขียนเดินดูอะไร ก็กราบเรียนท่านว่า เดินมองหาต้นจำปาเจ้าค่ะ เพราะได้กลิ่นหอมมากเหลือเกิน ไม่ทราบว่าเจ้าของสวนไปปลูกไว้ที่ตรงไหน

ท่านก็หัวเราะ บอกว่าที่นี่นั้นไม่มีต้นจำปา

ผู้เขียนสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นกลิ่นจำปาจะมาจากที่ไหน

ท่านไม่ตอบโดยตรง แต่กล่าวว่า “เรื่องพรรค์นี้ อาตมาไม่ค่อยพบ คุณพบบ่อย…..” หมายความว่า คงเป็นเรื่อง “พิเศษ” แล้ว ระยะนั้นผู้เขียนเริ่มทราบแล้ว เพราะได้พบสิ่งที่พิเศษ ไม่อยากจะเรียกว่าปาฏิหาริย์…..ทำนองที่ว่าบางครั้งเราไปกราบครูบาอาจารย์องค์ใด ที่คิดว่าท่านผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ และมีจิตบริสุทธิ์นั้นมักจะมีกลิ่นหอมพิเศษให้เราได้กลิ่นอยู่เสมอ ดอกไม้ไนบริเวณนั้นไม่มี ป่าใกล้นั้นก็ไม่มีต้นไม้ชนิดนั้นอยู่ แต่กลิ่นดอกไม้ประเภทนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้ บางครั้งอาจจะเป็นมะลิหรือจำปา หรือเป็นจำปีหรือกุหลาบ หรือแม้แต่มีกลิ่นพิเศษซึ่งไม่อาจจะตอบได้ว่าเป็นกลิ่นของดอกไม้ใด และบางครั้งก็อาจจะ เป็นกลิ่นของดอกไม้ที่มีเสียงบอกขึ้นมาชัดว่า ดอกไม้นี้ไม่มีในโลกนี้

คราวนี้ก็เช่นกัน การที่ได้กลิ่นหอมดอกไม้เป็นพิเศษ ในวาระแรกที่จะได้กราบ ทำให้ผู้เขียนอดแอบคิดขึ้นในใจไม่ได้ว่า ท่านองค์นี้ย่อมทรงศีลบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์อย่าว่าแต่มนุษย์จะบูชาเลย แม้แต่เทพยดาก็ยังมาบูชาด้วย ทำให้เราพลอยได้กลิ่นหอมของดอกไม้ทิพย์ด้วย

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่มาโปรดญาติและเพื่อนของเราที่บ้านลาดพร้าวบ้าง ซึ่งท่านได้เมตตามาให้หลายครั้ง ตลอดปี ๒๕๒๐, ๒๕๒๑, ๒๕๒๒, ๒๕๒๓ ระยะนั้นเป็นระยะที่ท่านเวียนมาโปรดเรามาก และตลอดระยะเวลาเหล่านั้น ก็ทำให้เราได้ซาบซึ้งในความเมตตาของท่าน และประจักษ์ในบุญบารมีอันน่าอัศจรรย์หลายประการ ซึ่งหากมีเวลาก็คงจะได้กล่าวแยกต่อไปโดยเฉพาะ

ระยะเวลาเหล่านี้ควรจะกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ที่หลวงปู่เข้ามาในกรุงเทพฯ มาจำพรรษาอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ หลังจากที่ท่านออกมาจากถ้ำผาบิ้งแล้ว ควรจะถือว่าเป็นเวลาที่ท่านได้โปรยปรายสายธรรมให้แก่บรรดาพุทธบริษัทในเขตภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก เป็นอันมาก

ท่านจะเปลี่ยนสถานที่จำพรรษา ไม่ได้อยู่ซ้ำในสถานที่เดิม กล่าวคือ ต่อจากปี ๒๕๒๐…

ในปี ๒๕๒๑ ท่านกลับไปโปรดศรัทธาญาติโยมทางจังหวัดอุดรฯ จำพรรษาที่วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ ปี ๒๕๒๒ ก็กลับมาจำพรรษาที่โรงนาแห่งหนึ่งที่คลอง ๑๖ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

ปี ๒๕๒๓ ก็ไปพักจำพรรษาที่วัดอโศการาม ตำบลบางปิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

พ.ศ. ๒๕๒๔ ไปอยู่ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ละจุด แต่ละแห่ง ท่านก็ได้เทศนาอบรมผู้คนในละแวกใกล้เคียงกับสถานที่ที่จำพรรษาอยู่เสมอ นอกจากนั้น ในระหว่างพรรษาแต่ละปีท่านก็ไม่อยู่เป็นที่ประจำ ท่านคงเดินทางธุดงค์ไปเรื่อย ๆ

ในระยะนั้น เมื่อมีผู้ทราบกิตติศัพท์ของท่าน ก็มากราบนมัสการนิมนต์ให้ท่านไปพักอยู่ตามที่ต่าง ๆ การธุดงค์ระยะนี้ของหลวงปู่ ซึ่งเจริญชนมายุกว่า ๗๐ แล้วก็ไม่ได้เดินด้วยเท้า เหมือนอย่างที่ท่านเคยกระทำมาแต่สมัยยังเป็นพระหนุ่ม หรือในช่วงมัชฌิมวัย กล่าวคือ มีรถยนต์นำไป

ท่านมักพูดอย่างขมขื่นว่า ตอนนี้กลายเป็น “กัมมัฎฐานขุนนาง” ไปแล้ว ! คือไม่ได้สะพายบาตร แบกกลด เดินด้วยเท้าอย่างสมัยก่อน ๆ แต่กลับเดินทางด้วยรถ เป็นการธุดงค์ด้วยรถ !

ระหว่างนอกพรรษา ท่านมักจะพาลูกศิษย์ไปกราบเยี่ยมนมัสการพระเถระผู้ใหญ่ตามที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ขณะที่ท่านอยู่ที่วัดป่าหนองแซงในปี ๒๕๒๑ ลูกศิษย์ชาวกรุงเทพฯ ได้ติดตามไปกราบท่านที่วัดในวันสุดสัปดาห์ เมื่อฟังธรรมและภาวนาเสร็จแล้วท่านได้พาออกไปกราบครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ ที่ท่านเห็นสมควรว่า จะได้มีความคุ้นเคย ได้กราบท่านเหล่านั้นให้เป็นบุญตาบุญใจ หรือสำนวนท่านพูดว่า ไปกราบท่านที่ เป็นขวัญตาขวัญใจ ของเรา อย่างเช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล พาไปกราบหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พาไปกราบหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย พาไปกราบหลวงปู่ชามา อจุตโต ที่วัดป่าอัมพวัน ตำบลไร่ม่วง จังหวัดเลย หรือมิฉะนั้นก็จะพาไปยังจังหวัดสกลนคร เพื่อดูสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เคยจำพรรษาอยู่ถึง ๕ พรรษา คือ วัดป่าบ้านหนองผือ เป็นอาทิ การที่ท่านเมตตาพาไปนี้ทำให้ได้มีโอกาสเห็นจริยานุวัตรที่ท่านปฏิบัติต่อกันตามพรรษาอ่อนหลังกัน ได้ฟังธรรมสากัจฉาที่ท่านสนทนากันเป็นบุญตา บุญใจ เป็นทัสนานุตริยะอันงามยิ่ง

ขณะนั้นหลวงปู่มีอายุมากเกือบ ๘๐ ปีแล้ว แต่ท่านก็ยังมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ดีมาก ท่านยังไปคล่องมาคล่อง อย่างที่เราแอบปรารภกันว่า ใครจะสามารถทำได้อย่างท่าน ที่หลวงปู่ไปเยี่ยมลูกศิษย์ได้วันละ ๕- ๖ บ้าน แทนที่ลูกศิษย์จะมากราบนมัสการท่าน วันไหนว่างไม่มีคนมา ท่านก็จะพาออกไปเที่ยวเยี่ยมตามบ้านต่าง ๆ ซึ่งทำให้ลูกศิษย์ส่วนใหญ่รู้สึกในพระคุณของท่านเป็นอย่างยิ่ง ท่านมีเมตตาแผ่มาโดยไม่มีประมาณ คนอายุเกือบ ๘๐ ก็ยังสามารถไปมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

ความจริงระยะนั้นท่านก็มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว คือโรคหัวใจและเบาหวานมิหนำซ้ำยังเป็นฝีคัณฑสูตรอยู่นานแล้วด้วย แต่ท่านไม่ยอมบอกให้ใครทราบเรื่องเหล่านั้นท่านทำเป็นเฉยอยู่

หลวงปู่มีเมตตาโปรดไปทั่วไป ดังที่เราจะขอกล่าวว่า อันนั้นเป็นการโปรยปรายสายธรรมของท่านโดยเฉพาะ ท่านไม่ได้เมตตาแต่เฉพาะชาวอีสานถิ่นกำเนิดหรือเฉพาะจังหวัดเลย ท่านบอกว่าคิดถึงโดยเฉพาะคนภาคกลาง คนจังหวัดพระนครเพราะคนทางนี้ได้ส่งปัจจัยไปช่วยเหลือเจือจานทางฝ่ายอีสาน ทั้งสิ่งก่อสร้าง ศาสนวัตถุต่าง ๆ ในจังหวัดอีสานนั้น ได้อาศัยปัจจัยไปจากชาวจังหวัดพระนครและจังหวัดใกล้เคียงมาก ท่านถือเป็นบุญคุณที่จะต้องตอบแทน ให้ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในศาสนาได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างถูกต้อง

ทุก ๆ วันหยุดพวกบรรดาศิษย์จะได้เห็นภาพที่หลวงปู่นำพระเถรานุเถระและบรรดาพวกญาติโยมที่มาทำบุญกันทั้งหลายทำวัตรสวดมนต์ โดยท่านจะกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ไม่เฉพาะแต่ภาษาบาลีที่เคยทราบหรือเคยได้ยิน ได้ฟังกัน แต่จะมีคำแปลอย่างวิจิตรลึกซึ้ง ให้สมกับที่เราจะได้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย

คำสวดของท่านจะเริ่มตั้งแต่ “ยมหํ” ในแบบที่ท่านฝึกมาจากท่านพระอาจารย์บุญ อาจารย์องค์แรกของท่านด้วย และท่านจะเติมถ้อยคำคำแปลเป็นภาษาไทยเพิ่มขึ้นไปด้วย

ครั้งแรกที่เราฟังกัน เราจะไม่ทันรู้สึกซาบซึ้งถึงถ้อยคำคำแปลนั้นมากนักแต่เมื่อคิด….นึกตามไปก็จะยิ่งเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น ๆ

อย่างที่ท่านกล่าวในตอนต้นตอนหนึ่งที่พูดถึงการบรรยายพระคุณของพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า คนที่จะบรรยายพระคุณของพระพุทธเจ้านั้น ดุจคล้าย ๆ กับนกบินไปในอากาศ ฟังเผิน ๆ ก็ดูแค่นั้น แต่ถ้าคิดลงไปให้ลึกซึ้งแล้วละก้อ จะเข้าใจได้ว่าอากาศที่นกน้อยจะต้องบินอยู่นั้น แสนจะเวิ้งว้าง กว้างใหญ่ไพศาลจนสุดที่จะหยั่งได้หรือบอกได้ว่า ความกว้างใหญ่ไพศาลของอากาศนั้นเป็นเช่นไร ส่วนตัวของเรานั้นเช่นกัน เกิดมาชีวิตนั้นช่างน้อยนิดนี่กระไร และถ้าจะไปเทียบกับพระคุณของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแผ่ไพศาลไปดุจห้วงอวกาศ ไม่แต่โลกนี้ หากเป็นทั่วทั้งไตรภพ เจ้านกน้อยตัวนั้นจะสามารถรู้ถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้เช่นไร นกที่มีความรู้สึกต่ออากาศฉันใด ก็เป็นเช่นเราต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันนั้น อากาศยังเป็นอาหารที่ช่วยให้นกได้สูด ได้ดมกลิ่นอากาศอันบริสุทธิ์ พระคุณของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงสาธุชนก็เช่นเดียวกัน เป็นอาหารวิเศษทางใจ เหมือนกับที่เราจะขาดอากาศไม่ได้ เพราะเท่ากับจะขาดชีวิต เช่นนั้นด้วยถ้อยคำเพียงสั้น ๆ แค่นี้ ถ้าเราเพียงแต่จะคิดไปให้ลึกซึ้งเท่านั้น จะได้ความที่ซาบซึ้งพรรณนาไปได้กว้างไกลเหลือเกิน

นอกจากการไหว้พระสวดมนต์ ท่านยังให้ปฏิญาณตนรับพระไตรสรณคมน์ด้วย ท่านอธิบายว่า

“…แม้เรารับพระไตรสรณาคมน์มาแต่ก่อนแล้ว อาจจะขาดบ้างทะลุบ้าง ด่างพร้อยบ้าง เหมือนกับพระเป็นอาบัติ ซึ่งต้องแสดงต่อสงฆ์จึงจะเกิดความบริสุทธิ์ได้….”

ดังนั้น ท่านมักกล่าวนำลูกศิษย์ให้ปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณาคมน์ก่อนการรับศีลเสมอ ๆ

สำหรับการรักษาศีล โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ ท่านจะเน้นให้บรรดาศิษย์รักษาศีลเพิ่มขึ้นจากศีล ๕ เป็นศีล ๘ โดยท่านให้เหตุผลว่า สำหรับวันพระซึ่งควรเป็นวันรักษาศีลอุโบสถนั้น ส่วนใหญ่พวกเราต้องทำราชการผิดการงานต่าง ๆ ไม่ได้มีโอกาสมาวัดเลย เมื่อได้มาก็มาเฉพาะวันหยุดคือวันอาทิตย์ ก็ควรจะต้องรักษาให้ได้ใช้วันอาทิตย์เป็นวันพระแทน

ท่านได้อธิบายอานิสงส์ของศีลให้ฟังว่า

“ศีล ๕ นี่ พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน ให้รักษาศีล ๕ อย่าดูถูกศีล ๕ นะ เพราะผู้รักษาศีล ๕ ย่อมสำเร็จโสดาบันได้ สำหรับศีล ๘ นั้น ก็จะสำเร็จถึงอนาคามีได้….”

ท่านจะไม่บังคับว่าใครควรจะรักษาศีล ๕ ใครควรจะรักษาศีล ๘ โดยท่านจะกล่าวนำ เริ่มต้นจากศีล ๕ ซึ่งทุกคนจะต้องกล่าวตาม จากนั้นก่อนที่ท่านจะกล่าวนำศีลข้อ ๖-๘ ท่านจะแนะนำให้ผู้ที่รักษาศีล ๕ กราบแล้วนั่งอยู่ ไม่ต้องกล่าวตาม เฉพาะผู้ที่จะรักษาศีล ๘ ให้กล่าวตามคำที่ท่านกล่าวนำต่อไป

“…เพื่อจะรักษาให้ศีลให้บริบูรณ์ สิ้นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งด้วยอำนาจกุศลนี้ ขอจงเป็นบุพนิสัยเพื่อจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน”

ต่อจากนั้นท่านจะเทศน์อบรมก่อนแล้วจึงให้พร พระธรรมเทศนาที่หลวงปู่มักจะหยิบยกขึ้นมาย้ำเตือนเสมอได้แก่ เรื่องการบริจาคทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา

ท่านมักจะเน้นเรื่องศีลอยู่เสมอ เพราะศีลแปลว่า ความปกติ เป็นการรักษาใจให้ปกติ ศีลเป็นบาทเบื้องต้นของการภาวนาด้วย ถ้าหากเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้วการภาวนาก็จะเจริญงอกงามไปอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีศีลย่อมต้องมีจิตใจผ่องใส เป็นที่รักของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และในสังคมที่เราอยู่ด้วย ถ้าทุกคนรักษาศีลอยู่ได้ เพียงแคศีล ๕ บ้านเมืองก็จะสงบราบรื่น ปราศจากขโมย ลักเล็กขโมยน้อย ไม่มีการฆ่าฟันกันอิจฉาริษยา เกลียดชังกัน เพราะอานุภาพแห่งศีลย่อมรักษาตัวผู้รักษาศีล และสังคมโดยรอบ ได้

ส่วนด้านการภาวนา ท่านก็จะนำชาวนาในตอนกลางคืน โดยท่านเทศนาให้ฟัง แล้วให้ศิษย์ภาวนาไปด้วย ระหว่างฟังเทศน์ท่านถือว่า ก่อนจะเริ่มการภาวนาเราต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย อาบน้ำชำระจิตใจให้สะอาด ฟอกจิตของเราด้วยการรักษาศีลการบำเพ็ญทานนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้จิตโน้มน้าว ตัดความตระหนี่ให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงกัน

ศีลก็มี ทานก็มี แล้วยิ่งมีการภาวนาด้วย ก็จะยิ่ง ต่อ ไปได้ไกล

เรื่องจิตภาวนานั้น ท่านเน้นมากว่า ถ้าไม่หัดไว้ก็แสนจะลำบาก ท่านมักจะกล่าวบ่อย ๆ ว่า การภาวนานั้นมีอานิสงส์มาก อย่างแค่ “ช้างพัดหู งูแลบลิ้น” แค่นั้น ก็ยังมีอานิสงส์มหาศาล ถ้าได้มากกว่านั่นก็จะยิ่งดีขึ้น ท่านเคยพูดว่า

“…จิตติดที่ไหน ย่อมไปเกิด ณ ที่นั้น จิตติดเรือนก็อาจจะมาเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกได้ แม้แต่พระภิกษุติดจีวรยังไปเกิดเป็นเล็น น่าหวาดกลัวนัก แล้วกิเลสมิร้อยแปดประตู พุทโธมีประตูเดียว เพราะฉะนั้น ให้ฝึกหัดปฏิบัติให้คุ้นเคย วาระที่เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติจะเข้าจิตได้ทันหรือเปล่า…..”

ท่านละเอียดพิถีพิถันมากในการที่จะนำศิษย์ให้รู้จัก ศีล ทาน ภาวนา การไหว้พระสวดมนต์ แม้แต่การ “กราบ” ซึ่งทุกคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอกหลวงปู่ก็จะหัดให้ศิษย์บางคนแสดงท่ากราบให้ดู สุภาพสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า มีคำนำหน้าเป็นคุณหญิง หลายท่านจึงออกตกใจเมื่อมากราบนมัสการท่าน แล้วจู่ ๆ ท่านก็สั่งว่า “ไหนลองกราบให้ดูซิ” แล้วเมื่อเธอท่านนั้นได้กราบด้วยท่าทางที่เก้งก้างตามวิสัยชาวกรุงเทพฯ ซึ่งทำอะไรก็มักจะรีบร้อนลุกลน ถือเสียว่าการกราบก็กราบเพียงสักแต่ว่าให้เสร็จเรื่อง

ท่านจะนำการกราบให้ดูโดยท่านจะแสดงท่านั่งกระหย่ง พร้อมกับอบรมว่า กราบอย่างนี้เรียกว่า “กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์”

ท่านอธิบายว่า “นอกจากเข่าทั้งสอง มือสองมือ ศอกจรดพื้นหน้าผากต้องแตะถึงพื้นด้วย ถึงจะเป็นท่ากราบที่งดงาม”

แล้วก็ไม่ใช่ท่าที่รีบร้อนจะไปไหน ในขณะที่จะกราบก็ต้องค่อย ๆ กราบลงไป พร้อมกับที่จิตน้อมรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า นั่นเป็นครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สองก็นึกถึงพระธรรม คำสั่งสอนของท่านที่สืบต่อพระศาสนามาจนทุกวันนี้ กราบครั้งที่สามระลึกถึงคุณพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสมมุติสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบพระศาสนามาจนทุกวันนี้ พร้อมกับการกราบทุก ๆ ครั้ง ต้องน้อมจิตให้รำลึกไปด้วยเสมอ จิตจะเอิบอาบในการบุญ จิตจะเป็นจิตที่อ่อนน้อมควรแก่การงาน เมื่อฝึกอยู่เช่นนี้ก็จะเข้าใจดีขึ้น จะเป็นผู้ที่นอบน้อมถ่อมตน น่ารัก ท่านเคยพูดเล่น ๆ ว่า มองดูแค่การกราบก็สามารถบอกได้ทันทีเลยว่า เป็นลูกศิษย์มีครูหรือไม่

จะสังเกตได้ว่า ในภายหลังผู้ที่ผ่านการอบรมจากหลวงปู่จะกราบได้อย่างงดงาม ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ เวลาเมื่อกราบพร้อม ๆ กันจะดูงดงามยิ่งนักเป็นระเบียบที่น่าชม

หลวงปู่ ณ ที่พักสงฆ์ กม. ๒๗ ดอนเมือง สมัยแรก ๆ

ช่วงระยะเวลาเหล่านั้น ท่านคงถือที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง เป็นคล้าย ๆ กับฐานที่ตั้งซึ่งจะเดินทางไปที่อื่นต่อไป เมื่อไปที่ใดกลับมาก็จะพักที่ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ซึ่งท่าน พล.อ.อ.โพยม เย็นสุดใจ และคุณหญิง ได้เป็นศรัทธาที่น่าเลื่อมใสเคารพครูบาอาจารย์ จัดที่พักของท่าน ให้เป็นที่ครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ ได้มาพักระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นเวลาที่ครูบาอาจารย์จะได้สามารถเทศนาอบรมสั่งสอนคนกรุง ซึ่งมัวแต่วุ่นวายกับธุรกิจการงาน จนลืมนึกถึงที่สงบทางใจ

ในระยะหลัง ได้มีผู้เลื่อมใสศรัทธา จัดสร้างที่พักในบ้านของตน โดยหาที่ว่างส่วนหนึ่งในบริเวณบ้านจัดสร้างขึ้น พอให้มีที่พักได้หลายแห่งอยู่ ในระยะนี้หลวงปู่ไม่ได้เดินทางไปไหนแต่เพียงองค์เดียว เริ่มมีพระปฏิบัติไปด้วยกับท่านด้วยแต่ก็เพียงองค์เดียว อย่างไรก็ดี ต่อมาก็เริ่มขอติดตามท่านมากขึ้น เพราะท่านเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มีความประสงค์ที่จะได้รับการฝึกฝนอบรมจากท่านด้วย เพราะการอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่นั้น เท่ากับว่าได้อาจารย์ที่จะฝึกหรือไปตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง

การฟังคำเทศนาสั่งสอนของท่านก็ดี การอบรมของท่านในระหว่างกลางคืนหรือตอนเจ้าก็ดี นั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่สิ่งที่จะได้จากท่านนอกเหนือไปกว่านั้นคือ ให้รู้ในสิ่งที่ท่านทำ ทำตามที่ท่านสอนก็จะได้ประโยชน์มหาศาล ปฏิปทาของท่านกิริยาอาการของท่าน ทุกอย่างมีความหมาย เป็นเนติ เป็นแบบอย่างให้ศึกษา ให้ปฏิบัติตามต่อไปทั้งนั้น

พระเณรใดที่ได้ปฏิบัติใกล้ชิดครูบาอาจารย์ ก็เท่ากับว่าผ่านการฝึกปรืออย่างหนักแล้ว ส่วนใหญ่จึงพยายามหันเข้าหาครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่

ระยะนี้หลวงปูก็เหมือนกับต้นพฤกษาใหญ่ มีนก กา มาอาศัยความร่มเย็นของท่านอยู่มาก ตั้งแต่ระยะแรก ๗- ๘ องค์ ก็เพิ่มเป็น ๑๐ กว่าองค์ ท่านก็เมตตาไปอยู่ตามบ้านต่าง ๆ ที่พักที่จัดเป็นที่แสดงธรรม ที่ท่านต้องไปตามบ้านที่พักเหล่านั้นบ้างก็เพราะว่า ท่านเล็งเห็นหมดว่า การคมนาคมในจังหวัดพระนครนั้นลำบาก รถติดทำให้เสียเวลาในการเดินทาง หากไปอยู่ที่ต่าง ๆ ฯ้ที่อยู่ใกล้เคียงก็สามารถเข้ามาฟังธรรมรับการอบรมได้

ระยะแรก ๆ ท่านพิถีพิถัน สถานที่ที่จะให้แสดงธรรม ผู้เขียนยังจำได้ว่าท่านมาดู ท่านตรวจหมดว่า ที่ไหนควรจะนั่งได้ให้จัดสถานที่เตรียมไว้ ท่านลงมาอำนวยการโดยละเอียด โดยเฉพาะทางจงกรม เพราะท่านไม่นิยมที่จะให้มีการนั่งภาวนาไปนาน ๆ ท่านบอกว่าจะกลายเป็นอัมพาต ต้องพยายามทำความเพียรแบบชนิดที่เปลี่ยนแปลงอิริยาบถให้สลับกันทั้งอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน แต่ท่านมักจะพูดหัวเราะ ๆ ว่า “พวกเรามักจะไปติดอยู่ในอิริยาบถที่ ๔ …นอน กันมากกว่า”

การเมตตาโปรดญาติโยมนี้ ท่านก็ไม่ได้เลือกเฉพาะที่เป็นมนุษย์เท่านั้นท่านยังกล่าวถึงเสมอว่า เราจะต้องแผ่เมตตาไปทั้งผู้ที่เป็นอมนุษย์ด้วย ทุกผู้ทุกคนก็ควรจะได้รับกระแสแห่งความเมตตานั้นเสมอกัน มาพบในบันทึกของท่านในระยะหลังนี้หลายครั้งว่า การที่ท่านแผ่เมตตาไปนั้น พวกเทพยดาอารักษ์ อมนุษย์ทั้งหลายนั้นชอบมาก “ดีใจมาก เพราะได้รับกระแสแห่งความเมตตา….เป็นที่เยือกเย็น” แม้แต่สัตว์ต่าง ๆ เวลาท่านจะจากมาก็มีความอาลัย ท่านกล่าวว่า เขาชอบนัก เพราะได้ความเมตตา

เหตุนี้ท่านจึงสอนว่า เมื่อลูกศิษย์ของท่านคนใดจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างจังหวัดหรือป่าเปลี่ยว ให้พึงแผ่เมตตาไปให้ผู้ที่เราไม่เห็นด้วยตาด้วย คือนอกจากให้เพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลายซึ่งมีชีวิตอยู่แล้ว ก็ให้นึกถึงเขาเหล่านั้นด้วย

นึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นท่านได้รับนิมนต์ให้ไปพักภาวนาที่ชายทะเลแห่งหนึ่ง ใคร ๆ ก็เข้าใจว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนอากาศ แต่จุดประสงค์อันหนึ่งที่ท่านไปอยู่ที่นั้นเนื่องจากท่านได้เมตตา ชาวบ้านในบริเวณนั้นซึ่งมีหน้าตาดำคร่ำเครียดไม่เคยพบแสงแห่งธรรมะเลย เนื่องจากพวกเขาเป็นชาวประมง ไปจับสัตว์น้ำ เหวี่ยงแหขึ้นมาทีหนึ่ง ลากแหขึ้นเรือครั้งหนึ่ง ปลาเล็กปลาน้อยเป็นพันเป็นหมื่นตัว ก็คือพัน – หมื่นชีวิตที่จะต้องดับไปสิ้นไป ซึ่งเป็นกรรมอันหนัก และเขาเหล่านั้นไม่รู้ ท่านก็ไปอยู่ใกล้เพื่อให้โอกาสเขาเหล่านั้นได้ทำบุญบ้าง เป็นการสร้างกรรมดีขึ้นมาเมื่ออาจจะได้ละลายกรรมชั่ว หรืออำนาจแห่งกรรมชั่วนั้นให้ลดลง แต่ท่านก็บ่นว่าจิตใจคนแถบนั้นรับธรรมะได้ช้า แต่ท่านก็เมตตาอยู่ โปรดพวกเขาได้มีโอกาสได้บุญบ้างเหล่านี้ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่ประจักษ์ถึงความเมตตาอันมหาศาลของท่านอีกประการหนึ่ง

ท่านเล่าถึงการภาวนาระยะนั้นว่า ได้มีผู้มาขอความเมตตามาก ตำจิตท่าน ท่านใช้คำว่า “ตำจิต” ท่านเล่าว่า ในระหว่างที่ท่านภาวนาจะมีผู้เข้ามาขอความเมตตาจากท่าน ไขว่คว้าหาที่พึ่งที่องค์ท่านภาวนา ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่างที่อยู่กลางป่าใหญ่อันมืดสนิท ผู้ที่หลงติดอยู่ในความมืดมนอนธการ เมื่อมองเห็นแสงสว่างก็ย่อมกระเสือกกระสนเข้ามาขอพึ่งแสงสว่างนั้น ท่านบอกว่า ผู้ที่มาร้องทุกข์ขอบารมีจากท่านนั้นกลายเป็นทหารญี่ปุ่น ซึ่งมาตายระหว่างการสู้รบขณะที่ยกพลขึ้นบก ที่ชายทะเลของจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ พวกเขาเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้วก็ไม่รู้จะไปที่ใด ยังเซซังยึดติดอยู่ในภพ เมื่อมาเห็นประทีปสว่างอยู่ที่นี่ วิญญาณเหล่านั้นก็เข้ามาขอบารมีของท่านเป็นที่พึ่ง ท่านก็แผ่ออกไปบางครั้งวิญญาณเหล่านั้นก็ยังไม่เข้าใจจึงรับไม่ได้ ท่านจึงคิดจัดให้มีการทำบุญและถวายสังฆทาน เพราะการถวายสังฆทานนั้น มีอานิสงส์อยู่มากกว่าที่จะถวายเฉพาะพระภิกษุองค์ใด ซึ่งพระพุทธองค์เคยทรงมีพุทธดำรัสไว้ว่า “การถวายสังฆทานนั้น มีอานิสงส์มากกว่า แม้แต่ที่จะถวายพระพุทธเจ้าเสียอีก” หลวงปู่จึงให้จัดทำสังฆทาน ทำบุญอุทิศให้แก่ทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นหลายครั้งติดต่อกัน และกล่าวว่า สุดท้ายวิญญาณที่มาขอส่วนบุญนั้นก็เงียบสงบไป

นี่เป็นเรื่องที่แสดงถึงเมตตาบารมีของหลวงปู่ที่แผ่ออกไปโดยรอบ มีลูกศิษย์กราบเรียนถามท่านว่า ทหารไทยเป็นอย่างไร ท่านเล่าว่า ทหารไทยเรานั้นที่เสียชีวิตมีจำนวนน้อยกว่าทหารญี่ปุ่นบาก แล้วจิตใจดั้งเดิมของทหารไทยนั้น มีความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพุทธศาสนาอยู่แล้ว เข้าใจง่าย รับง่าย เมื่อท่านแผ่เมตตาไปให้แต่แรกก็รับไปได้หมด เหลืออยู่แต่ทหารญี่ปุ่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

การเดินทางของท่านอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ท่านมาเร็วไปเร็ว และไปได้ง่ายเห็นจะสามารถยกตัวอย่างได้ถึงการที่ท่านโยกย้ายตัวเองไปได้เร็วที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งหลังจากที่ท่านจำพรรษาที่สวนปทุม พอออกพรรษาแล้วท่านก็รับนิมนต์ไปโปรดพวกญาติโยมตามที่พักต่าง ๆ แห่งละสามวัน เจ็ดวัน ตามแต่จะมีศรัทธามาฟังธรรมทำภาวนาน้อยมากเพียงไร ท่านไปพักวิเวกที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ที่บางปะอินระยะ หนึ่ง

หลวงปู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน

พอปลายเดือนพฤศจิกายน ท่านเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีศิษย์ขับรถพาไปส่ง ระยะนั้นมีท่านพระอาจารย์สำลี และท่านเจ้าคุณมหาเนียม เป็นพระติดตามไปด้วย ท่านให้พาไปนมัสการวัดเจดีย์หลวงเป็นลำดับแรก ท่านถือว่าเป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่น บูรพาจารย์ของท่านได้มาอยู่จำพรรษา รวมทั้งท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ด้วย เสร็จแล้วก็เลยไปวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว เพื่อไปเยี่ยมหลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่แหวนก็เป็นยอดมณีอันมีค่าของจังหวัดเลยเช่นกัน อายุท่านรุ่นเดียวกับหลวงปู่ขาว อนาลโย แต่พรรษาที่ท่านมาญัตติเป็นธรรมยุตนั้น หลังหลวงปู่ขาว และหลวงปู่หลุย ถึง ๒ พรรษา

ท่านได้พบปะแสดงธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกัน อยู่ได้ไม่กี่วัน ท่านทราบข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการหลวงปู่แหวน หลวงปู่หลุยก็รีบย้ายหนีไปที่อื่นทันที เพราะตอนนั้นท่านเกรงมากกับการที่จะพบ…. ท่านใช้คำว่า “เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน” ท่านบอกว่า อาตมาพูดไม่เป็น

ท่านจึงหลบไปพักที่วัดป่าอรัญญวิเวกที่ตำบลบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ วัดนี้ก็เป็นวัดที่มีประวัติในสมัยบูรพาจารย์ท่านพระอาจารย์มั่น เคยมาพัก หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโมเคยมาจำพรรษาด้วยกันที่นี่ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม และหลวงปู่หลายต่อหลายองค์ได้เคยมาพักอยู่ที่นี่ เป็นสถานที่มงคลอย่างยิ่ง ปัจจุบัน ท่านพระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป เป็นเจ้าอาวาส

ท่านพักอยู่ที่วัดป่าอรัญญวิเวกอยู่นาน ด้วยถือว่าเป็นวัดของพ่อแม่ ครูอาจารย์เคยอยู่มาก่อน ใช้ที่วัดอรัญญวิเวกนี้เป็นศูนย์กลางสำหรับเมื่อไปเยี่ยมตามวัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้เดินทางเลยไปที่ดอยผาแด่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ไปจัดสร้างขึ้น อยู่บนยอดเขา ท่านไปในงานฉลองกุฏิใหม่ที่มีคนถวาย มีคณะศรัทธาญาติโยมจากกรุงเทพฯ ไปกันมาก

และระหว่างพักอยู่วัดป่าอรัญญวิเวกนั้น ท่านก็ยังพาคณะศรัทธาญาติโยมสวดมนต์ไหว้พระตามแบบฉบับของท่านเสมอ เมื่อคนโดยรอบบริเวณทำวัตรสวดมนต์ได้ตามแบบวิธีของท่านได้ และรู้จักการรักษาศีลภาวนาดีแล้ว ท่านก็จะย้ายไปวัดอื่นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ การย้ายสถานที่อยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้เพราะหลวงปู่ต้องการโปรดญาติโยมในที่ต่าง ๆ ให้มีศรัทธายึดมั่นในพระไตรสรณาคมน์

เมื่อท่านย้ายที่บ่อย ๆ พระที่ติดตาม และคณะศรัทธาญาติโยมที่ตามมาก็ชักจะลดจำนวนไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงพระผู้ปฏิบัติเพียงองค์เดียว ท่านก็ออกจากเชียงใหม่ไปที่จังหวัดพะเยา พักที่วัดรัตนวนาราม ซึ่งเป็นวัดของท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ มังคโล ไม่ว่าที่วัดนั้นจะมีระเบียบทำวัตรสวดมนต์แบบใด ท่านก็คงนำตามวิธีของท่านอยู่ โดยให้ทำวัตรเช้าตั้งแต่ก่อนฉัน และสวดมนต์ไหว้พระในตอนเย็น จากนั้นท่านวิเวกไปพักที่วัดอรัญป่าน้อย และใช้วัดอรัญป่าน้อยนี้เป็นศูนย์กลางอีกครั้งหนึ่งเพื่อเยี่ยมเยียนวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ

ท่านได้เลยต่อไปถึงจังหวัดเชียงราย หรือเชียงแสน จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคม จึงย้ายมาที่จังหวัดลำปาง ไปเยี่ยมตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดพม่า วัดดอยม่อนพญาแก้ว วัดถ้ำพระสบาย ระหว่างที่พักที่วัดพม่านั้น วิศวกรใหญ่ของการรถไฟที่พม่าได้มากราบนมัสการนิมนต์ให้ท่านไปโปรดที่พม่าด้วย ด้วยเกิดศรัทธาในปฏิปทาของท่าน ท่านรับนิมนต์จะไปพม่า แต่เกิดขัดข้องเพราะทางราชการได้ปิดพรมแดนระหว่างไทยพม่าขึ้นทุกเส้นทาง คงไปได้แต่ทางอากาศ ซึ่งจะต้องมีหนังสือเดินทางมีการจัดทำวีซ่า ท่านจึงต้องงดการไปพม่าในครั้งนั้น

ออกจากวัดพม่าไปอยู่วัดม่อนพญาแก้วเสร็จแล้ว ทางผู้อำนวยการศูนย์ ร.พ.ช. ภาคเหนือ คุณอุทัย ก็มานิมนต์ให้ไปโปรดชาวคณะ ร.พ.ช. ซึ่งระหว่างการปฏิบัติงานขณะนั้น จะมีอุบิตเหตุเกิดขึ้นบ่อย ๆ ท่านพักอยู่ที่บ้านรับรองของ ร.พ.ช ประมาณ ๑ เดือน โดยพาคณะศรัทธาที่นั่นไหว้พระสวดมนต์ตามตำรับของท่านและสอนให้รักษาศีล ฝึกหัดภาวนา แล้วก็ขอให้มีการทำบุญใหญ่ นิมนต์พระมาจากทั้งเชียงใหม่ ฝาง น่าน ลำปาง พะเยา ประมาณ ๕๐ รูป โดยท่านกล่าวว่า ขอให้มาแต่พระกัมมัฏฐาน เพื่อมาทำบุญให้กุศลนี้แผ่ไป อุบัติเหตุจะได้น้อยลง

ระยะนั้น การจัดทำทางของ ร.พ.ช. ภาคเหนือนั้นต้องเข้าไปในเขตที่มีผู้ก่อการร้าย ทำให้มีอุบัติเหตุหรือมีการขัดขวางจากฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลมาก มีการเผารถแทร็กเตอร์บ้าง ยิงเจ้าหน้าที่บ้าง ทาง ร.พ.ช. ได้นิมนต์ท่านให้ไปดูตามจุดต่าง ๆ ของงานด้วย ซึ่งบางครั้งต้องเข้าไปในป่าลึก ซึ่งมีการยิงกันและต่อสู้กันระหว่างอีกฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายคณะผู้ปฏิบัติงานของรัฐบาล เมื่อไปยังจุดทำงานต่าง ๆเหล่านั้น ท่านก็ยังพาคณะทำงานนั้นสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเพื่อความเป็นสิริมงคลและปลอดภัยของทุก ๆ คนด้วย

ณ ที่ทำการ ร.พ.ช. นี้ท่านให้รื้อศาลพระภูมิออกเพราะท่านกล่าวว่า ศาลพระภูมินี้เป็นต้นเหตุทำให้ผู้อยู่อาสัยเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เรื่อย ๆทั้ง ๆ ที่ได้สร้างศาลนี้ให้ใหญ่โตแล้วก็ตาม ท่านบอกว่า “การตั้งศาลพระภูมิเป็นการขาดพระไตรสรณาคมน์ ไม่ควรไปยึดถือเป็นใหญ่กว่าพระรัตนตรัย” ท่านจึงเป็นผู้ดำเนินการสั่งรื้อถอนเองแล้วนำไปไว้ที่วัด หลังจากรื้อศาลพระภูมิและทำบุญเลี้ยงพระ ๕๐ รูปแล้วท่านก็อยู่ให้ความอบอุ่นแก่คณะ ร.พ.ช. นี้อีกระยะหนึ่ง จนปลายเดือนพฤษภาคมท่านจึงกลับกรุงเทพฯ

การเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นความอดทนแข็งแรงของหลวงปู่ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ท่านเดินทางจากลำปางมาโดยรถยนต์มาถึงที่พักสงฆ์ ที่ ก.ม.๒๗ ดอนเมือง เวลาประมาณบ่าย ๒ โมง พอมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ท่านก็ให้พาไปเยี่ยมตามบ้านศรัทธาญาติโยมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ อีก ไปได้ถึง ๕ หลัง โดยแต่ละบ้านท่านจะเทศน์อีกประมาณแห่งละครึ่งชั่วโมง รวมทั้ง ๕ บ้านในวันที่กลับมาถึงกรุงเทพฯ นั้นเลย ถึงตอนเย็นเมื่อลูกศิษย์ชาวกรุงเทพฯ ทราบข่าวก็มากราบเยี่ยม ท่านก็พาสวดมนต์ทำวัตรเย็นอีก และยังเทศนาให้อีก ๑ กัณฑ์ คิดดู…ขนาดที่พวกเราอายุน้อยกว่า เดินทางไกลจากลำปางมากรุงเทพฯ ก็คงเหนื่อยอ่อนพอดูแล้ว ท่านยังไปแวะเยี่ยมตามศรัทธาญาติโยมอีก ๕ บ้าน เทศน์อีก ๕ กัณฑ์ ตอนกลางคืนนำไหว้พระสวดมนต์เอง เทศน์ให้อีก ๑ กัณฑ์ แล้วนำภาวนา อีกทั้งระยะนั้นท่านมีอายุถึง ๗๖ ปีแล้ว

ท่านได้พักอยู่ในที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่ง เช่น ไปโปรดญาติโยมแถบบริเวณชายทะเลศรีราชา แล้วจึงย้ายไปพักที่วัดธุดงคนิมิต จังหวัดกาญจนบุรี ออกจากกาญจนบุรีย้ายกลับมาพักที่เรือนไทย ลาดพร้าว ระหว่างนี้เองที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงทราบว่า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และ หลวงปู่หลุย จันทสาโร มาพักอยู่ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้องคมนตรีอัญเชิญแจกันดอกบัวสัตตบงกช และน้ำผึ้งมาถวายหลวงปู่ทั้ง ๒ องค์

จากนั้นท่านเข้าไปโปรดพวกโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ที่หัวหมาก และเพื่อที่จะรับการตรวจร่างกายด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อทางแพทย์ขอให้ท่านจัดทำทะเบียนประวัติ บัตรคนไข้ ท่านได้ให้ลงมือในทะเบียน แล้วท่านได้กรอกในช่องสังกัดที่อยู่ โดยท่านกรอกเองว่า “เที่ยวโปรดสัตว์เรื่อย ๆ ไป” และก็เช่นเคย ณ ที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญานี้ ท่านก็ได้พาคณะแพทย์และนางพยาบาลทั้งหมด สวดมนต์ไหว้พระตามตำรับของท่าน แม้การรับนิมนต์ออกไปฉันนอกสถานที่ ไปถึงท่านก็จะนำไหว้พระให้ศีล เทศน์ ยถาสัพพี เสร็จแล้วจึงฉันเช้า

พักที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาพอสมควรแล้ว ท่านก็ย้ายไปพักที่บ้านนายแดง อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก อยู่จนกลางเดือนกรกฎาคม จึงย้ายกลับมาที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ จากนั้นท่านไปจำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งวัดนี้อดีตเคยเป็นวัดของ หลวงปู่บัว สิริปุญโญ ในการเดินทางที่จะไปอุดรฯ นี้ หลวงปู่ขอเดินทางในตอนกลางวันด้วยรถไฟขบวนรถเร็ว หลวงปู่ได้อธิบายว่า เพื่อจะได้ดูความเจริญของบ้านเมืองในเวลากลางวันด้วย

อันนี้เป็นตัวอย่างว่า การเดินทางโปรดพวกประชาชนคนไทยนั้น ท่านใช้เวลาอย่างไร หลังจากออกพรรษาปี ๒๕๒๐ จนถึงตอนที่จะเข้าพรรษาในปี ๒๕๒๑อันที่จริง ในระหว่างที่ท่านอยู่เชียงใหม่ ท่านยังแวะพักที่วัดป่าห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วัดป่าแก่งปันเต๊า ของพระอาจารย์ มหาถวัลย์ ด้วย สำหรับวัดป่าห้วยน้ำรินนั้น เป็นที่สหธรรมิกของท่าน ชอบมาพัก คือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่แหวน สุจิณโณ และ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ต่างเคยมาพักและมีประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับภพภูมิลึกลับมากมาย

ดูรายการและสถานที่ที่ท่านเดินทางอย่างนี้แล้ว ต้องเรียกว่า เป็นการเดินทางธุดงค์อย่างที่ท่านลงไว้ในทะเบียนช่องสังกัดที่อยู่ ณ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ว่า “เที่ยวโปรดสัตว์เรื่อย ๆ ไป” อย่างจริงแท้แน่ทีเดียว

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-12.htm

. . . . . . .