ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๓

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๓

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๒๕ พิจารณาธาตุขันธ์จะแตกดับ

กลับไปจำพรรษาถ้ำเจ้าผู้ข้า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ในต้นปี ๒๕๒๕ นี้ หลวงปู่ไปพักที่วัดอโศการาม สมุทรปราการมีอาการอาพาธด้วยไข้หวัดใหญ่ หัวใจเต้นแรง ครั่นเนื้อครั่นตัว นอนไม่หลับ ไอมาก ท่านบันทึกไว้ ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๕ ถึงอาการของโรคและการภาวนาสู้โรคในครั้งนี้ว่า

“ลมตีขึ้นข้างบนแล้วโรคกำเริบ ถ้าลมตีลงข้างล่างแล้วโรคหายทำให้วิงเวียนหัว ทำให้ตามัวเป็นประจำ ดีอย่างเดียวไม่ปวดศีรษะนอนไม่หลับ กินข้าวไม่อร่อย (ไม่ได้) ทำให้ความดันค่อนข้างสูงอยู่บ่อย ๆ

“พิจารณาแต่การเป็นการตาย พิจารณาธาตุขันธ์จะแตกดับ มีเวทนามากน้อยเท่าไร พิจารณาออกจากสภาพใหม่ด้วยอาการกิริยาอย่างไรพิจารณาโลกมนุษย์เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ต้องเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ นั่ง นอน ยืน เดิน พยาบาลร่างกายให้ชีวิตทรงอยู่ พิจารณาอาพาธ ยังทรงอยู่ หรือกำเริบ หรือปานกลาง กำหนดให้รู้เท่าทัน ตรวจดูศีล สมาธิ ปัญญาสม่ำเสมอ เป็นกิริยาผู้ที่จะละโลกนี้ไปสู่สุคติภพ พ.ศ. ๒๕๒๕ ไม่มีที่พึ่ง นอกจากธรรมะไปแล้ว ตนช่วยตนเอง ให้ชำระความบริสุทธิ์ของจิตเสมอไป”

“พิจารณาก่อนตายให้ชำนิชำนาญ คล่องแคล่ว อารมณ์แห่งความตายเรื่อย ๆ ไม่ให้จิตส่งไปข้างนอก”

“วางอารมณ์เฉย ๆ โรคบรรเทาลงบ้าง แต่กำเริบเป็นบางครั้งบางคราว โรคชราพาธเป็นโรคจรมา มีร่างกายแปรไปต่าง ๆ อวัยวะภายในมีกำลังน้อย ต้านทานโรคไม่ได้ เขาเรียกว่า “ชราพาธ”” เป็นธรรมดาของคนแก่ยอมเป็นดังนี้ แก้ไขไม่ได้ รักษาแต่อารมณ์เข้าสู่มรณภาพเท่านั้น แก้ไขทางอื่นไม่ได้ เรียกเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ของชีวิตแก้ไขอย่างหนึ่งแล้วย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่งร่ำไป”

“ต้นไม้แก่ชราเต็มที่แล้ว ย่อมไม่ดูดดื่มปุ๋ยเลี้ยงลำต้นได้เลยมีแต่ทรุดโทรมหาความตายเสมอ ฉะนั้น วางธุระของขันธ์เข้าสู่อารมณ์แห่งความตายเสียดีกว่า เพราะไม่มันไม่เที่ยงของชีวิต”

“พุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า เกวียนซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ไม่ยั่งยืนถาวรของชีวิต พระองค์ตรัสให้แก่สงฆ์ทั้งหลายทราบ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก”

“นับตั้งแต่ป่วยมา ระวังตัวอยู่เป็นนิตย์ ไม่เพลิดเพลินต่อสิ่งใดเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นของไม่เที่ยงอยู่แล้ว เราผู้ที่ไปติดก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีอย่างเดียวรีบเร่งความบริสุทธิ์ทางใจเพราะชีวิตไม่อยู่นาน จะมีเวลาแตกดับโดยไม่ช้า จะเพลินเพลินอะไรกับโรคที่ไม่เที่ยง เป็นของที่ไม่แน่นอน”

“เราเกิดมาในโลกมาค้าขาย ขาดทุนใหญ่ ร่ำรวยใหญ่ มิจฉาทิฐิ ขาดทุนใหญ่ เป็นสัมมาทิฐิ ร่ำรวยใหญ่ ไม่ว่า กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และไม่ว่ากษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล เศรษฐีมหาศาล”

หลวงปู่ได้ปฏิญาณฐานะของท่านต่อไปว่า

“เกิดมนุษย์อันเลิศแล้ว พบพุทธศาสนาอันเลิศแล้ว ได้บวชในศาสนาอันเลิศแล้ว ได้ปฏิบัติเดินธุดงค์อันเลิศแล้ว อายุ ๘๒ ปี พรรษา ๕๗ จำพรรษาวัดบ้าน ๒ ปี มหานิกาย ๑ ธรรมยุต ๑ รวม ๒ ปี”

ใครติดตามประวัติของท่านมาถึงช่วงนี้ ถ้าไม่น้ำตาซึมก็คงใจแข็งมากทีเดียว เพราะในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๕ ซึ่งท่านบันทึกถึงอาการซึ่งกำลังเจ็บไข้ ไอ แน่นหน้าอก หายใจแทบไม่ออก และท่านกำลังชำระความบริสุทธิ์ของจิต ตรวจดูศีล สมาธิ ปัญญา…อยู่ เตรียมตัวที่จะละปล่อยวางขันธ์…แต่ต่อมาไม่นาน เมื่อท่านรู้สึกอาการว่าค่อยยังชั่วบ้าง ท่านก็บันทึกต่อไปว่า

ถ้าท่านไม่มากด้วยความเมตตาต่อศิษย์ ท่านคงไม่อดทนดังนี้ อันที่จริงท่านบันทึกไว้หลายตอน ถึงการที่ท่านป่วยอาพาธ เหน็ดเหนื่อยแทบหายใจไม่ออก แต่ก็พยายามฝืนสังขารเทศน์ หรือนำสวดมนต์ไหว้พระ นำภาวนา เพราะ “เราได้สละชีวิตให้ญาติโยมมาดูดกินเลือดเนื้อของเรา”…ดังที่ท่านบันทึกไว้

*****

หลังจากที่ท่านค่อยยังชั่วจากการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่นี้ ทางคณะศิษย์ก็ได้จัดงานทำบุญต่ออายุถวายให้ท่าน ณ ที่วัดอโศการาม ตกถึงเดือนมีนาคม ท่านก็ออกจากกรุงเทพฯ ธุดงค์ไปถ้ำเจ้าผู้ข้า ซึ่งหลวงปู่ได้เคยไปภาวนาแต่สมัยสร้างวัดป่าหนองผือ พ.ศ. ๒๔๗๘ และในภายหลังได้ไปจำพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นครั้งสุดท้าย

ถ้ำเจ้าผู้ข้า

ท่านมาพักภาวนาที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า แต่เดือนมีนาคม และอยู่ตลอดไปจนอธิษฐานพรรษา แล้วรับกฐินในเดือนตุลาคม ท่านบันทึกไว้ว่า

“เดือนมีนาคม ๒๕ มาภาวนาถ้ำผู้ข้า สถานเป็นมงคลดี วิเวกดี อาศัยภาวนาเป็นยาโอสถ ศิษย์คั้นนวด กินยาแพทย์ปัญญาเอามาจากกรุงเทพฯ โรคค่อยหายเป็นปกติ กินข้าวอร่อย นอนหลับ ภาวนาพร้อมด้วยสมถวิธี วิปัสสนาวิธี ม้างกายกระดูกให้เห็นอสุภะ ให้เกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่าย แล้วเจริญวิปัสสนาต่อ เมื่อเหนื่อยแล้ว เข้าสงบอารมณ์สมถะ หายเหนื่อยแล้วเจริญวิปัสสนาต่อ ภาวนาดังนี้ เสมอต้นเสมอปลาย จึงจะละกิเลสได้”

“ภาวนาสถานถ้ำผู้ข้าดูดดื่มมาก เพราะพระเถระมรณภาพที่ถ้ำนี้ ๒ องค์ มีท่านอาจารย์กู่ ๑ องค์ พระเถระอีก ๑ องค์ สละชีวิตเพื่อพรหมจรรย์ได้ อยู่แห่งอื่น สละชีวิตไม่ได้ แม้วัดป่าบ้านหนองผือ นาใน ถิ่นท่านอาจารย์มั่นมรณภาพก็ดุจเดียวกัน ล้วนแต่สถานที่วิเวกและเป็นมงคล ฉะนั้น พระโยคาวจรเจาควรสนใจสถานที่เช่นนั้น”

โดยที่บันทึกของท่านเกี่ยวกับการวิเวกภาวนาที่ถ้ำเจ้าผู้ข้านี้รวมอยู่ในสมุดบันทึกเล่มเดียวกัน และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ผู้เขียนจึงขอนำมาลงทั้งหมด เรียงกันไปตามหน้ากระดาษแต่ละตอนที่ท่านบันทึก และจะได้เห็นว่า ท่านมิได้บันทึกเรียงกันไปตามเหตุการณ์ความคิดที่เกิดขึ้นก่อนและหลัง หากทว่า พบกระดาษหน้าใดว่าง ท่านก็บันทึกไว้ มีความนึกคิดใดเกิดขึ้นอีก เปิดพบหน้าใดว่าง หรือภายในหน้ากระดาษแผ่นนั้น แม้จะบันทึกไปบ้างแล้ว แต่หากยังมีบางช่วงบางตอนในหน้านั้นว่าง ท่านก็จะบันทึกแทรกลงไป สังเกตได้จากสีหมึก เส้นหนักเบาต่างกัน หรือมีวันที่กำกับแสดงเวลาที่บันทึกคนละช่วง

ทั้งนี้เพื่อแสดงตัวอย่างเป็นพิเศษสำหรับ บันทึกในพรรษาหนึ่ง ของท่านซึ่งปกติจะรวมข้อความทั้งช่วงที่แสดงประวัติของท่าน ธรรมะที่อุบัติขึ้นระหว่างการภาวนา และความระลึกถึงอดีตที่ผ่านมา โอวาทที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนอบรมท่านมา..เหล่านี้ด้วย…..

“๑๒ มิถุนา ๒๕

การทำความเพียร ถ้ำผู้ข้า จิตไปเอง ระลึกธรรมะได้เสมอ เพราะเป็นสถานที่เป็นมงคล ธรรมะสิ่งใดโดยไม่เกิดขึ้นแต่ก่อน ก็เกิดขึ้นเสมอตาลคำ จันทา มีศรัทธาเต็มที่ ต้องการอะไรได้ทุกอย่าง เขาอยากให้จำพรรษา ณ ถ้ำนี้ ติดต่อกับบ้านหนองผือ ต. นาใน ได้ดี”

การทำร่ม ธาตุแปรปรวนวิงเวียนศีรษะ แต่พออดทนทำได้ เพราะยินดีในการทำ ให้เป็นทาน ทำจนเป็นอาจิณกรรม มาอยู่ที่นี่ได้ทำก่อสร้างสะดวกดี”

ภาวนาเห็นนิมิตเป็นตัวคน ภายในจิตสมมติ นิมิตนั้นเป็นพระอรหันต์ฉันข้าว หลับตาเห็นความแยบคายของอาหารที่ฉันลงไป มีเมตตาจิตแก่แม่ชีมาก เพราะคิดถึงแม่กวย ให้ร่มแม่ชีไปประมาณ ๑๕ คน พร้อมด้วยมุ้งกางนอน จ่ายผ้าขาวแม่ชี หนองผือ ถ้ำผู้ข้า ชี ๑ ไม้กว่า ๆ รวม ๒ อาวาส”

ภาวนาเกิดความรู้แปลก ๆ ถ้าจะโคจรไปทางอื่น ไปง่าย สะดวก แต่เดินทางไกลไม่ได้ เพราะป่วยชราพาธ”

คั้นเอ็น (นวดเส้น…ผู้เขียน) มีผลมาก โรคหาย ภาวนาสะดวกดี”

กุฏิที่หลวงปู่จำพรรษาในปี ๒๕๒๕

๒๒ ส.ค. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า

คนมีธรรมะเป็นที่สบายของจิต คนไม่มีธรรมะข่มจิต เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะแบกขันธ์ หาบขันธ์ ๕ ธรรมะความเกิดดับ แสดงเป็นอริยสัจอยู่เรื่อย ๆ ไม่ขาดสาย พราหมณ์ผู้เพ่งอยู่ของความแปรปรวน ย่อมรู้ธรรม เห็นธรรม จิตอยู่ที่ไหน ย่อมรู้แจ้ง ณ ที่นั้น ดังนี้ ขยายปฏิภาคมากไว้เช่นนั้น เห็นธรรมะอยู่เช่นนั้น ย่อมแก้ความสงสัย รู้ธรรม เห็นธรรมะอย่างสุขุมลุ่มลึก จิตอย่าออกจากกาย เห็นแปรปรวนอยู่เรื่อย ๆ”

พุทธศาสนาทำให้เชื่อกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ธรรมะไม่เป็นหมัน”

เห็นความเสื่อมของร่างกายอย่างเดียว ไม่เห็นความเจริญเลย ความเกิดมี แล้วมีความเสื่อมไปจนตายของร่างกายดังนี้ ธรรมะสว่างโร่ ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีปิดบังด้วยประการใด ๆ”

พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสะดุ้งกลัวมีแล้ว ขนพองสยองเกล้ามีแล้ว ธาตุจะ ตีลังกาเปลี่ยนภพ ในระหว่างนั้น นับว่าขวัญเสีย แต่ให้ระลึกถึงตถาคตเรื่อย ๆ ความกลัวจะหายไป เป็นวาจาพระองค์ ซึ่งมีราคาสูง ที่แย้มมาจากน้ำพระทัยของพระองค์ เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ไม่กลัวตาย น้ำพระทัยพระองค์ถึงอมตธรรม ดังนี้”

สังขารทั้งหลายเกิดมาแล้ว หันไปหาความตายอย่างเดียว ไม่ว่าสัตว์มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน และต้นไม้ภูเขาก็ดุจเดียวกัน หันไปหาความตายด้วยธาตุขันธ์แปรปรวนดังนี้”

ทำความเพียรเด็ดเดี่ยว ยิ่งเห็นอานิสงส์ใหญ่โต แล้วจะเกิดวิบัติ วิบัติแล้วจะเกิดภาวนาดี หมายความว่า ความดีความชั่วเป็นคู่กันไป เมื่อเห็นดีแล้วเห็นชั่ว เห็นชั่วแล้วเห็นดี มืดกับแจ้งเป็นคู่กัน วิปัสสนูกับวิปัสสนาคู่กัน ทุกข์กับสุขเป็นคู่กัน

มนุษย์เป็นภูมิใหญ่ชั้นพิเศษ ได้ชื่อว่ามนุษย์เป็นฐานะที่เลิศ เป็นที่ที่ประชุมใหญ่ ให้ร้ายให้ดีก็เป็นชาติมนุษย์ อินทร์พรหม อบายภูมิ นรก…สู้มนุษย์ไม่ได้ มนุษย์มีฐานะอันเลิศ เลิศทั้งหญิง เลิศทั้งชาย มีอยู่ในชาติเป็นมนุษย์นี้ทั้งนั้น แม้ปรารถนาใด ๆ สำเร็จได้ในชั้นมนุษย์ มนุษย์แปลว่า ใจสูง ใจกล้าหาญ ทำบาป ทำบุญได้ทั้งนั้น เพราะบุคคลเกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอย่างยิ่ง ทั้งพบพระพุทธศาสนายิ่งลาภใหญ่ ปฏิบัติมรรคผลนิพพาน ได้”

มนุษย์ทำจริง เห็นจริง ในอริยสัจ แจ้งชัดจนสำเร็จมรรคผล เป็นชาติที่เลิศวิเศษมากกว่าสัตว์อื่น กว่าภพอื่น ดังนี้ เว้นจากมนุษย์ไปแล้วไม่มีจะให้เป็น พุทธเจ้า พระปัจเจก พระสาวก ได้ดังนี้

ราคะ โทสะ โมหะ เป็นผลร้ายที่สุด ที่ฝังอยู่ในจิตมนุษย์ มนุษย์กระทำได้ทุกอย่าง มีอำนาจได้ มีเดชานุภาพได้ ไม่เหมือนสัตว์อื่น

มนุษย์ แปลว่าใจสูง ใจแกล้วกล้า ประกอบด้วยความฉลาดประดิษฐ์การงานได้ทุกอย่าง ยิ่งกว่าประเภทสัตว์อื่นในไตรภพ เป็นธาตุที่พอทุกอย่าง จึงปฏิบัติสำเร็จมรรคผลได้ ใจไม่วางจากความเพียร ใจเด็ดเดี่ยว จึงเป็นพุทธเจ้า พระปัจเจก พระอรหันต์ได้ สัตว์อื่นไม่ได้ ต้องอาศัยพุทธเจ้าสั่งสอน กล้าหาญ สร้างพระบารมีให้สำเร็จได้ไม่ท้อถอย ที่แยกออกจากมนุษย์ทั้งดีและชั่ว มนุสสนิรยิโก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานที่มนุษย์ทำไม่ดี ทำบาป มนุสสพุทโธ พระปัจเจก พระอรหันต์ มนุสสเทโว มนุสสพรหมา…เหล่านี้เป็นต้น ล้วนแต่ทำความดีและชั่วในชั้นมนุษย์ทั้งนั้น เหตุนั้น มนุษย์เป็นที่ประชุมใหญ่ ที่ออกมาจากชาติมนุษย์ทั้งนั้น ได้นามว่า อคฺคํ มนุสฺเสสุ มนุษย์เลิศ มนุษย์ไม่ใช่หินชาติ… ต่ำ เป็นชาติที่สูงสุด

มนุษย์อยู่ในท่ามกลาง ข้างบนเทวดา ข้างล่างอบายภูมิ ๔ มัชเฌมนุส มนุษย์อยู่ในท่ามกลางของชาติที่เกิด มนุษย์พออริยสัจจึงปฏิบัติสำเร็จอรหันต์ คล้าย ๆ แม่ครัว แกงมัน พอพริกพอเกลือ เอร็ดอร่อยมาก ไม่ควรเหยียบย่ำชาติที่เกิดของตัวให้ตกต่ำ ตกนรก เปรต อสุรกายไปได้ ควรพากันปฏิบัติในศาสนา เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ควรแก่การจะได้รับมรรคผล มัชเฌวัน ท่ามกลาง เดินปฏิบัติสายกลางให้สำเร็จดังนี้ สัตว์ทั้งหลาย รู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักทำความดี ความชั่ว ไปนรก สวรรค์ ได้ทั้งนั้น มนุษย์นั้นระคนด้วยบุญ บาป ชื่อว่า “คน” ก็ได้ ชื่อว่า “มนุษย์” ก็ได้ไม่ผิดแปลกกัน

มนุษย์โอนไปทางโลกีย์มากกว่าประพฤติศาสนา ที่จะเอาตัวรอดจากอบายภูมิทั้ง ๔ ได้ ฉะนั้นนักปราชญ์เลือกค้นเอา ประพฤติปฏิบัติเอา เอาความดีไปนิพพาน เอาความชั่วไปอเวจีนรก มนุษย์เป็นชาติที่สูงสุดปรารถนาสมบัติอะไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่ตกต่ำเหมือนชาติอื่น ๆ ภพอื่น ๆ ภพเหล่านั้น ธาตุไม่พอ เป็นชาติที่ขาดมรรคผลนิพพาน มนุษย์เป็นฐานะที่จะสร้างบารมีให้สำเร็จได้ ไม่มีความสงสัยด้วยประการใดประการหนึ่ง”

อุบาสก เรียกว่า เป็นพ่อพระ อุบาสิกา เรียกว่า เป็นแม่พระ พระ แปลว่า ประเสริฐ ดังนี้

ธรรมชาติโลกีย์เป็นสถานถิ่นที่แปรปรวน เพราะไม่เที่ยง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ยักย้ายแปรผันอยู่เป็นนิตย์ ธรรมชาติโลกุตระเป็นสถานที่เที่ยงธรรม เป็นโลกเหนือโลกทั้งหลาย เป็นโลกที่เกษม เป็นโลกที่ไม่ตายเหมือนโลกมนุษย์

บุคคลที่แลเห็นธรรม สิ่งที่แปรปรวนว่าเป็นของร้ายกาจ แล้วปฏิบัติศาสนา เดินมรรคให้ถึงมรรคผลนิพพาน แม้จะปริยาย ชาติมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด โลกียะเป็นโลกที่แปรปรวนไม่เที่ยงธรรม เพราะทำตามราคะ โทสะ โมหะ ตามมติกิเลสของตัว

“๓ ส.ค. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า

ถ้ำผู้ข้าเยือกเย็นที่สุด วิเวกดีที่สุด พระโยคาวจรภาวนาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นถิ่นที่รับรองพระโยคาวจรทั้งหลายที่โคจรมาจากจตุรทิศทั้ง ๔ พึ่งร่มพึ่งเย็นของคณะญาติโยมที่ก่อสร้างไว้แล้ว

ฉะนั้นต้องเดี๋ยว ๆ เวียนมาพักเจริญสมณธรรม ถ้ำผู้ข้าเสมอไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต สถานที่สัปปายะ เจริญสมณธรรมระย่อระยองสะท้อนถึงจิตเสมอไป จิตใคร่ใช้ตบะอย่างยิ่ง ห่วงทำความเพียรเสมอไป ธรรมะเกิดขึ้นในจิตแปลก ๆ ชอบเจริญวิปัสสนาโดยมาก ธาตุขันธ์ให้โอกาสทำความเพียร ไม่นั่ง ๆ นอน ๆ ยืน ๆ เดิน ๆ เสียเปล่า วันเวลาเป็นเงินเป็นทอง อย่าให้ล่วงไปเสียเปล่า

สมณะเป็นสมณะที่ดี รักษาความสงบ จิตไม่ส่งเดชฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ให้เสียความสงบทางใจให้เสียไป

สานุศิษย์คั้นเอ็น ปรากฏว่า เห็นอวัยวะภายในได้หมดทุกอย่างแต่อดเจ็บไม่ได้ เป็นโรคหายด้วยคั้นเอ็นโดยกว่ากินยา ร่างกายปกติ โรคชราพาธนั้นเป็นธรรมดาของสังขาร ภาวนาแนบเนียนดีกว่ายังเป็นหนุ่มเพราะคิดถึงความตายนั้นเสมอ มีความประมาทน้อย หนุ่มประมาทมาก จิตเดินทางวิปัสสนาโดยมาก รู้เอง เห็นเองของธรรมะทั้งปวง ความตายผ่านมาหลายครั้งเนื่องด้วยโรคหัวใจวายโดยมาก ลืมเผลอสติโดยมาก การเทศนามีโวหารขึ้นหน้า โดยปฏิภาณ เทศนามากทำให้แน่นหัวใจ นายแพทย์จึงบอกไม่ให้รับแขกและเทศนา

“๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕ ถ้ำผู้ข้า

เมื่อคราวเราอยู่กะท่านอาจารย์มั่น ห้วยหีบ จ. สกลนคร นั้น เราทรมานตนอย่างขนาดใหญ่ มีประการต่าง ๆ กำลังม้างกาย ประกอบจิตเด็ดเดี่ยว กล้าตาย ส่งเข้าภายใน มารตัวสำคัญ คล้ายมันปัดออก แต่เราสละตายเข้าไป เกิดระเบิดใหญ่ภายในนั้น

ข้อ ๑ ถือธรรมะนิสัยท่านอาจารย์มั่น จึงชนะได้

ข้อ ๒ เราเข้าป่า หัดม้างกายอย่างเต็มที่ จนร่างกายเกิดวิบัติจนกระดูกคล้าย ๆ ออกจากกัน แม้เราเดินเสียงกรอบกราบ แต่นานไปหาย มีกำลังทางจิต

คราวท่านอาจารย์มั่นไปจุดศพ (เผาศพ… ผู้เขียน) ท่านอาจารย์เสาร์ ณ จังหวัดอุบลราชธานี นั้น เราเดินจงกรม ระลึกถึงท่านเป็นที่พึ่งพร้อมทั้งอิทธิบาท ๔ ไม่ละซึ่งความเพียร”

มีมารกระทบ นอนสะพาน มีผู้หญิงไปหาโดยไม่ตั้งใจ นั้น ครั้ง ๑

มีพระหนุ่มมาฟ้องท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์มั่นดุเอา ประกาศต่อสงฆ์ ทำสังคายนาใหม่ ดังอย่างร้ายกาจทุก ๆ คราว ตามที่พรรณนามานี้

คราวอยู่กะท่านอาจารย์เสาร์ เรามาทรมานภาวนาในถ้ำโพนงาม นั้นก็ร้ายกาจเต็มที่ ประกอบด้วย เสือ งู สัตว์ต่าง ๆ กับท่านอาจ เกิดวิบัติแทบเอาตัวไม่รอด อยู่ถ้ำนั้น ในระยะหลายเดือน เกิดวิบัติเกือบปลงสังขาร

มาเกิดวิบัติ มาจำพรรษากับท่านอาจารย์เสาร์ ณ วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนครนั้น ก็เกิดวิบัติเกือบเอาตัวไม่รอด ร้ายแรงมากทีเดียว

ศาลาถ้ำผู้ข้าที่ท่านต่อเติม
ให้กว้างขวางขึ้น
พ.ศ. ๒๕๒๕ มาจำพรรษา ถ้ำผู้ข้า เกิดธรรมะอัศจรรย์เมื่ออายุ ๘๒ พรรษา ๕๗ เกิดความรู้แปลก ๆ อาศัยกำลังสมถวิธี และวิปัสสนาวิธี แก้เรื่องหัวใจโต แก้หัวใจวาย แก้โรคนานาประการ เกิดมีพร้อมชราพาธไปต่าง ๆ รู้สึกตัวเสมอว่าจะตายเร็ว ๆ อยู่ด้วยกำลังนวด และกินยา จิตวิเวก กำลังภาวนาธาตุขันธ์ปกติ การเจริญภาวนา สมถะ และวิปัสสนา เกิดธรรมรู้แยบคายมาก

อยู่ ณ กรุงเทพฯไม่ได้วิเวก รับแขก เทศนามาก หัวใจวาย เกือบตาย ที่บ้านจำพรรษาคุณประเสริฐ นั้นครั้งหนึ่ง เกิดจากโรงพยาบาลแพทย์ปัญญาอีกครั้งหนึ่ง มาจำพรรษาถ้ำผู้ข้า โรคจึงบรรเทามาดังนี้

มาอยู่ ณ ที่นั้นบุคคลดี อาหารดี อากาศพอทนอยู่ไปได้ เสนาสนะดี หมู่เพื่อนสหธรรมิกดี ญาติโยมดี แต่ทำร่มประจำเรื่อยๆ ไม่ท้อถอยและมีการปรับปรุงก่อสร้างใหญ่โต ดูแลพร้อม หนองผือ นาใน การก่อสร้างให้เสร็จไป เพื่อยุวชนในกาละภายหลัง มีความเพียรโดยไม่จืดจาง พระเถรานุเถระมีเมตตาถึงกัน น่าปลื้มใจในเขตจังหวัดสกลนคร

ไปเที่ยวอินเดีย เห็นปาฏิหาริย์หลายอย่างในสถานที่ตรัสรู้ ตลอดจนเห็นสถานที่ปรินิพพานของพุทธองค์ ภาวนาทำจิตได้ง่ายกว่าอยู่เมืองไทย เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเมตตา ภาวนาการทำจิตได้เร็วกว่าอยู่เมืองไทย เข้าจิตถึงอริยสัจเสมอไป กำหนด ๑๕ วัน กลับเมืองไทยด้วยเครื่องบิน ล้วนแต่เป็นสถานที่เป็นมงคลทั้งนั้น ค่าพาหนะเดินทางเสียเงินไปมาก ดุจประหนึ่งว่าเราเกิดอินเดียมาหลายชาติ สร้างบารมีครั้งสุดท้าย มาเกิดเมืองไทย ผู้คนพลเมืองหนาแน่น มีลัทธิร้อยแปด นักพรตในอินเดีย ประสบโจรลักถุงย่ามในที่พักรถไฟ”

เมืองไทยทำความเพียรจนหัวปอกหัวลอกจึงเห็นธรรม ไม่ง่ายเหมือนอยู่อินเดีย นอนโรงแรมราคาสูง

เกิดมาในโลกมนุษย์ ทุกข์มาก รู้สึกเป็นอย่างยิ่ง จึงพยายามเจริญสมณธรรม ให้สิ้นทุกข์ในชาตินี้ ทุกข์ปัญจขันธ์ก็พออยู่แล้ว ทุกข์ภายนอกกลัวอันตรายทุกอย่างที่มนุษย์เบียดเบียนกัน ฆ่ากัน แย่งชิงกัน อาชีพเพื่อลาภยศบ้าง สารพัดทุกอย่าง สุขแต่ผู้มีธรรมะเป็นเรือนของใจ ไม่มีธรรมะเป็นทุกข์อย่างยิ่ง.

ถ้ำผู้ข้า ๔ กันยา ๒๕๒๕

ดีใจได้สงเคราะห์ แม่ชี…บ้านหนองผือ นาใน ๒ คราว พันกว่าบาท ครั้งแรก ๖๐๐ บาท ครั้งที่ ๒ ๕๐๐ บาท จ้างฉีดยา แม่เป็นมะเร็งทวารเบา แม่เบ่งอาตมาออกมาเป็นมนุษย์ กล่อมเลี้ยงดูอาตมาสืบตระกูล นี่พูดตามพระไตรปิฎก พระองค์ตรัส มนุษย์เกิดมาในโลก ไม่เคยเป็นพ่อ เป็นแม่กันนั้นไม่มีดังนี้

“๗ ต.ค. ๒๕

อยู่บ้านผือ ภาวนวดีมากกว่าอยู่แห่งอื่น เพราะสถานที่พระอริยเจ้า ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เนียม ประทับอยู่ ณ ที่นั้น เป็นสถานที่เป็นมงคล สถานที่เตือนสติบ่อย ๆ คล้ายอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ความรู้ธรรมะลึกลับสุขุมคัมภีร์ภาพ ฉะนั้นการบำรุงก่อสร้างจึงทำให้ถาวรมั่นคง รุ่งเรือง ให้สมฐานะกับสถานที่เป็นมงคล เทศนามีปฏิภาณดี บุคคลสอนง่าย อุบาสกอุบาสิกากลัวเรามาก เพราะเราทรมานเขามาแต่ก่อน ดุด่าเขาไม่โกรธ อยู่ได้แต่ออกพรรษา เข้าพรรษาอยู่ไม่ได้ อากาศทับ ถ้ำผู้ข้าอากาศดี มีถ้ำเป็นมงคล บ้านผือสงัดดีกว่า เกิดธรรมะ สถานที่วิเวกดีมาก พระเณรเราว่ากล่าวสั่งสอนได้”

“ถ้ำผู้ข้า ๒๔ ต.ค. ๒๕๒๕

มนุษย์เกิดมาในโลก มีบิดามารดา พี่ ๆ น้อง ๆ และวัตถุข้าวของในปัจจุบันที่เกิดนั้น ประกอบด้วยจิตมีราคะ โทสะ โมหะ เหล่านี้พากันรักใคร่ เพลิดเพลิน เห่อกัน ฉะนั้นมีราคะ โทสะ โมหะ เพราะติดภาพ ติดชาติ ติดโลกธรรม ๘ ประการ ไม่เพียงพอ อยากได้โน้น อยากได้นี้ ความพอความอิ่มในดวงจิตไม่เพียงพอ แม้แม่น้ำทะเลยังรู้จักบกพร่องหรือเต็มดังนี้ นั่นแหละเป็นเรื่องตัณหาของโลก จึงพากันประพฤติทุจริตต่าง ๆ พากันทำบาปนานาประการ เมื่อบุคคลฟังโอวาทคำสั่งสอนพุทธเจ้า รู้สึกตัว ปฏิบัติมรรคผลให้เกิดขึ้นก็พ้นโลกไป ข้อนี้เป็นข้อลี้ลับสุขุม จะต้องอบรมในศาสนาให้มาก ๆ เพื่อแก้สันดานที่หยาบ ๆ ของตนให้ถึงมรรคผล ให้เชื่ออริยสัจความจริงของศาสนา นรก สวรรค์ นิพพานมีจริง ๆ ให้เกิดความเลื่อมใสในศาสนา”

ผู้ที่จะเห็นมรรคผลนิพพานจริง ๆ ต้องเพียรตปะความเพียรอย่างยิ่ง ทรมานตัว นอนใจไม่ได้ เกียจคร้านไม่ได้ เพราะมรรคผลนิพพานมีจริง ๆ ประมาทนั้นไม่ได้ ต้องเดินสายมรรค ๘ ประการ เป็นหนทางของพระอริยเจ้า และพุทธเจ้า พระปัจเจก อรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย

ภาวนาถึงหลักอริยสัจ นิมิตแสดงออกมาให้ปรากฏรูปร่างเหมือนมนุษย์ที่บริสุทธิ์ ต่อนั้นน้อมนิมิตให้เป็นไตรลักษณ์ เพราะนิมิตนั้นจะแปรปรวนเป็นอาการต่าง ๆ จะติดดี แก้ความดีให้เป็นอริยสัจ กลั่นกรองให้เป็นชาตินิพพาน ข้อนี้สำคัญนัก

“๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ พักภูทอก ๓ คืน

ฝันลุยน้ำ ปั้นผ้าอาบน้ำ และลืมผ้า ต่อไปจะได้รับทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบการก่อสร้าง ฝันตามที่ผ่านมาแล้ว ลุยน้ำลึกแต่ไม่ได้ลอยน้ำนั้น น้ำแปลว่า โอฆะ เป็นกรรมมาจรให้ระวังตัว

พิจารณาภาวนาเดี๋ยวนี้ไม่มีความฝัน เพราะก่อนนอนได้นอนหลบนิมิตทั้งหลาย เพราะเห็นว่านิมิตนั้นเป็นมาร เป็นตัวสังขาร จึงเอาไตรลักษณ์ล้างเช็ดให้บริสุทธิ์ก่อนนอน

ภาวนาไตรลักษณ์ทุกขณะจิต ให้เห็นภายในสว่างเสมอไป เป็นตัววิปัสสนา ล้างเช็ดให้จิตสะอาด ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน อย่าประมาทด้วยประการใดประการหนึ่ง

“๕ พ.ย. ๒๕๒๕ ถ้ำผู้ข้า

สมถะรับระงับนิวรณ์ได้ชั่วคราว เสียความสุขด้วยความสงบแต่กิเลสเกิดขึ้นอีก ส่วนวิปัสสนารู้แจ้งแทงตลอด ทำให้สิ้นกิเลสได้หัวใจไม่มีพิษมีภัยด้วยนานาประการ จิตเกษม จิตอมตธรรม จิตอกุปธรรม จิตไม่กำเริบ จิตคงที่เพราะจิตรู้แจ้งแทงตลอด

ไตรลักษณ์ม้างไปได้ทั้งไตรภพ มีอำนาจเหนือโลกีย์ โลกุตระเป็นโลกหนึ่งต่างหาก

แก่ชราพาธ ร่างกายเหี่ยวแห้ง หมดยาง กำลังไม่ติดต่อ กำลังน้อย อ่อนเพลีย อิริยาบถผิดอนามัยแล้วไม่ได้ ธาตุแปรปรวน ชักชวนให้ล้ม เดินไปมาคล้ายกับเด็กหัดเดิน ซวนหน้าซวนหลัง ไปไม่ตรง มีคนอื่น

พยุงเรื่อย ๆ เว้นจากพระพิลาอุปัฏฐากนั้นไม่ได้ ต้องบำรุงยาฉันเสมอ พอพยุงตัวไปได้ แต่จิตแน่นหนาในทางธรรมะ เพราะระลึกการตายเสมอ ความประมาทน้อย แต่กำลังจิต กำลังโคจรสะดวก แต่ร่างกายเดินไม่ไหวเหมือนยังหนุ่ม ชอบสันโดษ มักน้อยด้วยปัจจัย ๔ เพราะระลึกถึงความตายจะสะสมไว้ทำไม รีบบริจาคยังมีชีวิตอยู่

การทำบุญต่ออายุ เห็นอานิสงส์ปัจจุบันเป็นอัศจรรย์อย่างใดอย่างหนึ่งฉะนั้น พระยาพิมพิสารบำเพ็ญอุทิศถึงเปรต เปรตได้รับอนุโมทนาไปเกิดบนสวรรค์ การทานมีแรงกล้าถึงขนาดนั้น

ภาวนาจิตเดินถูกมรรคสะดวกมาก ไม่ขัดข้องด้วยประการใด ๆ เพราะเป็นหนทางของพระอริยเจ้า เดินผิดมรรค ถูกนิวรณ์ครอบงำ จิตลำบาก มาก

อยู่ประเทศอินเดีย ภาวนาง่ายที่สุด ไม่ต้องชำระนิวรณ์ ภาวนาจิตถึงอริยสัจเลยทีเดียว เพราะวิญญาณพระอรหันต์อุ้ม อินเดียเป็นต้นศาสนา พระอรหันต์นิพพานในที่นั้นมาก ช่วยพระ คนทุกข์ คนจน ท่านอุ้มชู

พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายถือธุดงค์บริสุทธิ์ดีแล้ว เทพต้องไปเยี่ยม พระจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม เทพไปเยี่ยม…ท่านอาจารย์มั่นพูด

ถ้ำผาบิ้งเป็นมงคล ๒ อย่าง พระอรหันต์อุบาลีนิพพานในที่นั้น ๑ มีนาครักษาอยู่ ณ ที่นั้น ๑ พระโยคาวจรเจ้าภาวนาจึงสะดวกมากเป็นสถานที่เป็นมงคล อาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น รู้อภิธรรมไปอื่นลืม ? ท่านอาจารย์สิงห์สำคัญตนสำเร็จดุจ…พระโมคคัลลาน์

ท่านอาจารย์บุญสำเร็จถ้ำ…อ. ผือ จ. อุดร

ภาวนาธาตุนาเวิง คิดถึงพระอริยเจ้า ภาวนาบ้านหนองผือ คิดถึงท่านอาจารย์มั่น ท่านเนียม ท่านทั้งสองเป็นพระอริยเจ้า

ความสันโดษนั้นเบากาย เบาใจ เพราะไม่มีการสะสมปัจจัย ๔ จะสะสมไว้ทำไม ญาติโยมเขาเลี้ยงอยู่แล้ว ลาภเหลือแล มีโอกาสภาวนา ให้ยิ่ง

ถ้ำผู้ข้า ๑ ก.ย. ๒๕

เจริญกายานุปัสสนา ตั้งแต่เท้าขึ้นถึงบนศีรษะ ตั้งแต่บนศีรษะถึงเท้า เป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ทำให้มากแล้ว ทำให้ชำนาญแล้วทำให้คล่องแคล่วแล้ว จะเกิดนิพพิทาญาณ คือ ความเบื่อหน่ายในอวัยวะทุกส่วน แล้วเจริญความเบื่อหน่ายให้มาก แล้วจะเกิด วิราโค แปลว่าสำรอก ออก ไม่ยินดีในกามคุณ มรคุณ จิตจะถึงความเกษม ไม่มัวเมาใน กาม คุณ

ที่จะเปลี่ยนใจไปสู่ภพใหม่นั้น มัจจุราชมายาทุกอย่างมันพอจึงเข้าถึงความตาย ตายดีไปสวรรค์ ตายทั่วไปสู่ทุคติภพ มี ๒ อย่างเท่านั้น ถ้าสิ้นกิเลสแล้วก็ไปนิพพาน ไม่ปรารภเกิดในภพน้อยใหญ่

ถ้าเดินมรรคไม่พอ ยังคานิมิตดีและชั่วอยู่ เพราะอ่อนทางวิปัสสนา ล้างเช็ดกิเลสไม่หมด

ภาวนา ณ ถ้ำผู้ข้า เดินทางวิปัสสนา จิตสว่างไสวดี ปรุโปร่งดี รู้แต่เท้าถึงศีรษะ ทวีขึ้นทวนลง อนุโลม ปฏิโลม เพ่งไตรลักษณ์ลบเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสทั้งหลายให้เห็นอมตธรรม เห็นปกติของจิต ให้จิตเป็นอกุปธรรม ไม่ให้จิตกำเริบ ให้รู้แจ้งแทงตลอดอยู่เป็นนิตย์ ด้วยกำลังวิปัสสนา ไม่ใช่กำลังวิปัสสนู

พิจารณาการตายไปสู่ภพใหม่ จะเป็นกิริยาอย่างไร ในขณะที่ธาตุขันธ์จะตีลังกานั้นแหละ ใจหาย ขวัญเสีย เอาสติได้เป็นการดี ถ้าเอาไม่ได้ก็เสียท่าใหญ่โต ความรู้แจ้งแทงตลอดของอวัยวะ เป็นสมบัติอย่างยิ่ง แลเห็นอริยสัจด้วยความจริง

“๑ พ.ย. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า

กายานุปัสสนา กรรมฐาน ๕ เป็นมรรคที่จิตเดินถูกต้อง เร่งความเพียร เดินมรรค เป็นหนทางของพระอริยเจ้า

ร่างกายอวัยวะเป็นธรรมะที่แปรผันอยู่ในไตรลักษณ์ เมื่อเห็นความไม่จริงแล้ว ย่อมเห็นความจริงของอริยสัจ จิตไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น แก้ไขเดินมรรคให้ถูกเป็นอันที่แล้วกัน เดินมรรคผิดแล้วยุ่งวุ่นวายใหญ่โต

“๘ พ.ย. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า

อยู่ ณ ถ้ำผู้ข้า ภาวนาสงัดดี ศิษย์เอาใจใส่อุปัฏฐากดี อาหารดี อากาศ อยากเจ็บเวลาฝนตก สนใจในการภาวนามาก เกิดความรู้แปลก ๆ ละเอียดสุขุม สถานที่เป็นมงคล ญาติโยมว่าง่ายสอนง่าย ภาวนาถึงหลักของจิต เพ่งนิมิตให้ละลายเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา แต่ไม่ฝัน เพราะภาวนาล้างอนุสัย เพ่งร่างกายปรุโปร่งตลอดทั่วไปของร่างกายและลึกซึ้ง

จิตหายสงสัยทางนิวรณ์ ไม่รับนิมิตพิจารณา เพราะนิมิตเป็นตัวสังขาร

อาพาธค่อยหายไปเรื่อย ๆ เพราะคั้นเอ็น (นวดเส้น…ผู้เขียน) แต่เดินทางไกลไม่ได้เจ็บขาข้างขวา แน่นหัวใจ มักมีบ่อย ๆ ไม่อยากอาหาร กินไปก็พอกิน มักเวียน เป็นลมเป็นบางวัน ลุกนั่ง เดินลำบาก เดินคล้ายเด็กหัดเดิน เพราะชรา อวัยวะบกพร่อง กำลังน้อย อ่อนเพลีย ต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ นั่งนานเส้นตึง อายุแก่เท่าไรยิ่งเห็นความลำบากของร่างกาย

พิจารณาตามเรื่องของสังขาร แต่อย่าทิ้งไตรลักษณ์ ลบล้างให้หายไป อย่าปรุงมันขึ้นมา เห็นความไม่เที่ยง แล้วเห็นเที่ยงของอริยสัจ

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-13.htm

. . . . . . .