ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๔

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๔

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๕๙-๖๕ พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๓๒

แสงตะวันลำสุดท้าย

พ.ศ. ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๘ จำพรรษา วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) กิ่ง อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย

พ.ศ. ๒๕๒๗ และ ๒๕๓๒ จำพรรษา ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๑ จำพรรษา ทีพักสงฆ์เย็นสุดใจ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

จากพรรษา ๕๙ ถึงพรรษา ๖๕ จัดได้ว่าเป็นช่วงปัจฉิมกาลของหลวงปู่จริง ๆ ท่านมีอายุยืนยาวมาถึงกว่า ๘๐ ปี อายุ ๘๒ – ๘๘ พรรษา เมื่อสมเด็จพระบรมครู…สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปลงพระชนมายุสังขาร เสด็จเข้าสู่มหาปรินิพพานนั้นก็มีพระชนม์เพียง ๘๐ พรรษาเท่านั้น หรือแม้แต่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตบูรพาจารย์ของท่านก็ละสังขารไปเมื่ออายุ ๘๐ ปีพอดี องค์ท่านมีอายุเกินกว่าแปดสิบมาหลายปีแล้ว แต่หลวงปู่ก็ยังเมตตา นำพระ เณร อุบาสก อุบาสิกา สวดมนต์ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ตลอดจนเทศนาอบรมสั่งสอนและนำภาวนามิได้ขาด โดยการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น หลวงปู่ได้มีแบบฉบับของหลวงปู่เอง ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว โดยหลวงปู่จะน้อมนำให้ระลึกถึง คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างน่าซาบซึ้งก่อนแล้วจึงให้สวดบาลีต่อไป

ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะเจริญด้วยวัยอันสูงยิ่ง และมีสภาพสังขารดังที่หลวงปู่บันทึกไว้ว่า

“…คำนวณชีวิตเห็นจะไม่ยั่งยืน ร่างกายบอกมาเช่นนั้น ทำให้เวียนศีรษะเรื่อย ๆ แต่มีสติระวังอย่าให้ล้ม มีคนอื่นพยุงเมื่อ…. ”

และ

“….ธาตุขันธ์ทำให้วิงเวียนอยู่เรื่อย ๆ คอยแต่จะล้ม ต้องระวังหน้า ระวังหลัง….. ”

ท่านก็ยังมีเมตตาไปโปรดเยี่ยมลูกศิษย์ตามที่ต่าง ๆ บ่อยครั้ง โดยทุกครั้งจะไปวันละหลาย ๆ บ้าน และทุก ๆ บ้านท่านมักจะอบรมเทศน์เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

นึกถึงวัย นึกถึงสังขาร ผู้ที่มีอายุปานนั้นแล้ว ควรจะพักผ่อนได้แล้วแต่กลับมาเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง ท่านไม่น่าจะปฏิบัติภารกิจเช่นนี้ได้ไหว แต่หลวงปู่ก็ยังคงมีเมตตาอยู่เช่นนั้นเสมอมา บำเพ็ญตนดุจเหล็กไหล ไปมาคล่องแคล่วว่องไวแทนที่ลูกศิษย์จะเป็นฝ่ายมากราบนมัสการเยี่ยมท่าน ท่านกลับไปเยี่ยมลูกศิษย์เสียเอง…..

เมื่อดูจากภายนอก ท่านเป็นเสมือนบุรุษเหล็ก แต่จากบันทึกที่ค้นพบปรากฏว่า องค์ท่านเองกลับเหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก ดังที่ว่า

“….เราสละชีวิตให้ญาติโยมมาดูดกินเนื้อเลือดของเรา….”

มีอยู่หลายครั้งที่ท่านสารภาพว่า การเทศน์ก็ดี การอบรมก็ดี ดูดกินกำลังของท่านไปหมด จนแน่นหน้าอกแทบหายใจไม่ออก แต่ท่านก็อดทนทำ ด้วยว่าเป็นกิจของศาสนา….ตามที่ท่านว่า

ปี ๒๘ ท่านรับผ้ากฐินของวัดด้วย

ในปีพรรษา ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๒๖) และพรรษา ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๒๘) หลวงปู่เมตตาไปโปรดญาติโยมทางจังหวัดหนองคาย โดยไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) และโดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นั้น ท่านได้กรุณารับผ้ากฐินของวัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) ด้วย

ความจริงที่ภูทอกนี้ ท่านได้เคยไปวิเวกพักผ่อนแล้วหลายครั้ง แต่ปี ๒๕๒๑ เป็นต้นมา เช่น มาร่วมในงานกฐินบ้าง ผ้าป่าบ้าง ปี ๒๕๒๕ ท่านมาในงานกฐินรับผ้าป่า แล้วท่านบันทึกไว้ว่า

“ภูทอก” ซึ่งมาอยู่ใหม่ ๆ วันที่ ๒๒ ต.ค. ๒๕

ภาวนามีชีวิตต่อดี เป็นสถานที่เป็นมงคล ภาวนาอวัยวะปรุโปร่งดี สงัดวิเวกดี…มีเทพศักดิ์สิทธิ์ประทับอยู่ บุคคลยังภาวนา ยังไม่เป็นไป ยุ่งอยู่กับการงานค่าครองชีพ ยังไม่เห็นอานิสงส์ของศาสนาเต็มที่ ขาดครึ่ง ๆ กลาง ๆ การก่อสร้างถาวรมาก เทียบกับวัดเอราวัณ ถ้ำผาปู่ ถ้ำขาม ถ้ำผาบิ้ง

“สร้างถาวรมั่นคง รุ่งเรืองดี ทันสมัยนิยม แม้…สิ้นเงินเป็นล้าน ๆ ทีเดียว เราเทศน์ไปดูเหมือนไม่เข้าใจเท่าไร”

“ต่ออนาคตจะเป็นเจดีย์ที่สำคัญของประเทศไทย เป็นที่อัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย ทัศนาจรของคนต่างจังหวัด จะหาสมภารเหมือนท่านอาจารย์จวนยากนัก เพราะพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสท่านมาก หาเงินก่อสร้างและปกครองพระภิกษุ เณร ได้ดียิ่งกว่าเรา”

“ภาวนาข้างบน (บนภูเขา….ผู้เขียน) ดี ข่าวล่างภาวนาไม่ค่อยดี ที่เราได้ผ่านมาแล้ว ปรากฏเป็นอัศจรรย์”

“ถ้ำผาปู่ ๑ ถ้ำขาม ๑ ภูทอก ๑ ถ้ำเอราวัณ ๑ ถ้ำผาบิ้ง ๑ ถ้ำมโหฬาร ๑ ทุ่มเทเงินการก่อสร้างมากมาย ของประเทศไทยน่าอัศจรรย์เป็นหลักวัดป่าที่วิเวกของประเทศไทย เป็นขวัญตาขวัญใจของประเทศไทย ชาวพุทธศาสนิกชนทัศนาการ ต้องคัดเลือกอาจารย์ที่สำคัญอยู่ จึงสมกับฐานะของถ้ำที่เป็นมงคล”

“ภูทอก เป็นสถานทัศนาจรหลายแห่ง มีสถานที่ใกล้ ๆ กัน สะดวกแก่พระโยคาวจรเจ้าเจริญภาวนา ล้วนแต่บุคคลเป็นเศรษฐีการก่อสร้างทั้งนั้น”

เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่มาพบบันทึกของท่าน ที่บันทึกไว้แต่ปี ๒๕๒๕ ว่า

“ต่ออนาคตจะเป็นเจดีย์ที่สำคัญของประเทศไทย เป็นที่อัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย“

ขณะนั้น เดือนตุลาคม ๒๕๒๕ ความคิดที่จะสร้างเจดีย์โดยเสด็จพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังเพิ่งเริ่มต้น ยังมิได้มีการหาทุนมาเพื่อสร้างเลย เพราะบรรดาศิษย์กำลังกังวลเรื่องจะช่วยจัดสร้างเจดีย์ถวายหลวงปู่ฝั้นให้เสร็จสิ้นก่อนและเราก็มีความคิดสั้น ๆ เพียงว่า จะทำเจดีย์เพียงแค่ ๓-๔ ล้านบาท และความจริงเงิน ๓-๔ ล้านบาท สำหรับเราในปี ๒๕๒๕ นั้น ก็ยังฟังเป็นเรื่องเกินฝันอยู่เหลือเกิน

ไม่มีใครคิดว่า สุดท้ายเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ จะใช้ทุนในการก่อสร้างไปถึง ๑๗ ล้านบาท มีความสูงจากพื้นดินเดิมถึงยอดเจดีย์ถึง ๓๗ เมตร… !

และหลวงปู่ท่านเขียนไว้แต่ครั้งนั้น ..!

คงต้องขอยืมคำของท่านที่ท่านกล่าวบ่อย ๆ นั่นเอง มารำพึงในวันนี้….

น่าอัศจรรย์นัก….. .!

หลวงปู่จำพรรษาที่ภูทอก

ที่ภูทอกเป็นสถานที่ซึ่งสงบสงัด เส้นทางที่เข้าไปสู่ภูทอกค่อนข้างลำบาก อีกทั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กว่ากิโลเมตร ในขณะนั้นหลวงปู่มีอายุ๘๔ ปีแล้ว ท่านก็ยังแสดงพระธรรมเทศนาเกือบทุกวัน อบรมพระเณร ตลอดจนผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้าที่ได้ติดตามท่านไปด้วย ท่านได้นำพระเณรขึ้นไปบำเพ็ญภาวนาอยู่บนวิหารยอดเขาภูทอก ชั้นที่ ๕ เป็นเวลากว่าเดือน ในระยะนั้นธรรมะของหลวงปู่มีมาก ซึ่งท่านก็ได้บันทึกไว้ แต่เป็นการยากยิ่งที่จะนำธรรมะของหลวงปู่มารวมพิมพ์ไว้ได้ทั้งหมด คงจะสามารถคัดลอกและนำมาพอเป็นตัวอย่างบ้าง ดังนี้

“เร่งความเพียรเข้าไป เส้นเอ็น กระตุก ปีติไล่กิเลสออกจากดวงจิต อำนาจวิปัสสนาฟอกหัวใจให้สะอาด”

“อุบายกิเลสมีนานาประการ มรรคทำให้มาก ให้รู้เท่าทันกับกิเลส ไตรลักษณ์ตัดกระแสกิเลสทั้งหลายให้ขาดจากดวงจิต หัวใจเปลี่ยนแปลงอวิชชาให้เป็นวิชชา เรื่องนี้ควรสนใจ เพราะมันเดินถูกมรรค”

“ชอบสวยงาม พิจารณาให้เป็น อสุภะ- ไม่งาม ของอวัยวะทุกส่วน ดำเนินเข้าไปดู จักเห็นความเป็นจริงของอริยสัจ”

“รู้แจ้งอวัยวะของร่างกายยิ่งกว่าเก่า ละเอียดกว่าเก่า ด้วยไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ขยายธรรมะรู้ทั่วไป ระงับนิวรณ์ได้ รู้เองเห็นเอง เป็นปัจจัตตัง ปฏิภาคและวิปัสสนาผสมกัน แต่วิปัสสนามากกว่าสมถะ”

“พิจารณาการตาย เกิดสะกิดใจว่าจะต้องตายง่าย อายุไม่ยืนนาน บอกมาเรื่อย ๆ เริ่มความเพียรมากก่อนตาย เพื่อให้ชำนิชำนาญ เพื่อเข้าจิตสู้การตาย ข้อนี้สำคัญมากกว่าอย่างอื่น”

“ทำวิปัสสนามากกว่าทำปฏิภาคนิมิต ให้จิตรู้เองเห็นเอง ไม่มีความอาลัยในชีวิต พิจารณาความตายอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ชำนาญเข้าสู่อารมณ์แห่งความตาย”

ท่านแสดงพระธรรมเทศนาเกือบทุกวัน ระหว่างจำพรรษาที่ภูทอก

เทศน์ของหลวงปู่ บ่อยครั้งจะกล่าวถึงการให้ “ทาน” ซึ่งไม่เฉพาะแต่คำเทศน์เท่านั้น ท่านยังปฏิบัติเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระ เณร อุบาสก อุบาสิกาอีกด้วย ท่านกล่าวว่า อานิสงส์ของการให้ทานนั้น จะมีผลให้ผู้บริจาคทานมีฐานะร่ำรวย คือ พระเวสสันดรในพระไตรปิฎก และจะอุดหนุนให้ตัวเราสบาย ซึ่งย่อมเห็นอานิสงส์นี้ได้ในชาติปัจจุบัน ดังที่ท่านได้รับอยู่…ตามบันทึกของท่านที่ว่า….

“….เงินฝากธนาคาร ช่วยอาหารพระเณรวัดป่าที่กันดารนั้น ยิ่งปลื้มใจ หาที่สุดมิได้ มีตบะความเพียรอย่างยิ่ง และมีศาลาเกิดขึ้นทุกวันนี้ก็เพราะอนุเคราะห์หมู่เพื่อนสหธรรมิกนั่นเอง ก็ด้วยอานิสงส์อันนี้แหละอดหนุน จึงมีชีวิตประทังตัวอยู่ทุกวันนี้…. ”

เงินในที่นี้ได้มาจากไหน….ก็ได้มาจากปัจจัยที่เหล่าญาติโยม ลูกศิษย์ถวายท่านนั่นแหละ โดยอัธยาศัยของหลวงปู่แล้ว เป็นผู้มัธยัสถ์ ประหยัดมาก ด้วยท่านชอบธุดงควัตร จึงฝึกหัดให้มีชีวิตอยู่อย่างประหยัด อย่างไม่กังวลต่อความอัตคัดขัดสนดังมีเรื่องเล่าที่ว่า น้ำปลาขวดเดียว เป็นอาหารที่ท่านฉันได้ทั้งพรรษา ดังนั้น ปัจจัยที่เหล่าญาติโยมและลูกศิษย์ถวายท่านนั้น จึงเกิดอานิสงส์ผลบุญถึง ๒ ชั้น คือ บุญที่เกิดจากการถวายปัจจัยหลวงปู่ชั้นหนึ่ง และบุญที่เกิดจากหลวงปู่นำปัจจัยนั้นไปเพื่อการสงเคราะห์พระเณรในป่ากันดารอีกชั้นหนึ่ง ท่านได้จัดตั้งมูลนิธิจันทะสาโรขึ้นให้นำดอกผลส่งไปช่วยเป็นค่าอาหารสำหรับวัดป่าที่อยู่ในที่ทุรกันดารและขาดแคลน

นอกจากจะช่วยเพื่อนสหธรรมิกในด้านปัจจัยแล้ว การช่วยเหลือในลักษณะอื่น ๆ ก็ถือว่าเป็น “ทาน” อีกชนิดหนึ่ง ดังบันทึกของท่านที่ว่า…..

“เราได้แลกโวหารเทศนาหาเงินช่วยการก่อสร้าง ช่วยเพื่อนสหธรรมิก นี้ก็เห็นอานิสงส์เหมือนกัน การให้ทานร่ำรวยเหมือนพระเวสสันดร มีอานิสงส์ตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก”

หลวงปู่มักจะมีเรื่องต่าง ๆ เล่าให้ญาติโยมและลูกศิษย์ฟังเสมอ ๆ ประกอบกับคำสั่งสอนอบรมของท่าน และเรื่องหนึ่งที่ท่านมักจะกล่าวถึงก็คือ คำสรรเสริญเพื่อนสหธรรมิกของท่าน…..หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ผู้ที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีธรรมคมในฝัก สันโดษ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของพระโยคาวจรเจ้าในสมัยปัจจุบัน ดังเรื่องเล่าที่ท่านยกขึ้นมาว่า ในสมัยหนึ่ง หลวงปู่ชอบธุดงค์เข้าไปในป่าทึบ ทางเดินนั้นเป็นทางเปลี่ยว หนทางนั้นมีเสือกินคนหลายรายแล้ว กลางคืนนั้นท่านเดินเข้าไปคนเดียว แม้ญาติโยมจะห้ามปรามหรือทัดทานอย่างไร ท่านก็ดื้อไป แล้วท่านก็พบเสือใหญ่ลายพาดกลอน ร้องขึ้นขนทางข้างหน้าท่าน ๑ ตัว ข้างหลังอีก ๑ ตัว หลวงปู่ชอบจึงเข้าสมาธิอยู่ ณ ที่นั้นราว ๑ ชั่วโมง รู้สึกตัวแล้วก็เดินทางต่อไป ตอนเช้าท่านออกบิณฑบาต ญาติโยมทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ ที่ท่านเดินทางกลางคืนในป่า โดยที่เสือไม่กินท่าน

ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ของหลวงปู่ชอบ เป็นเรื่องที่หลวงปู่มักนำมากล่าวสรรเสริญให้ญาติโยม ลูกศิษย์ได้ยิน ได้ฟังดำเนินรอยตาม เหล่านี้เป็นการยืนยันถึงอุปนิสัยการถ่อมองค์ของหลวงปู่ ที่มักจะเล่าและยกย่องผู้อื่นมากกว่ากล่าวถึงตนเอง

พรรษา ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๒๗) หลวงปู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าจะมีเสียงเครื่องบินรบกวนบ้าง หลวงปู่ก็หาได้ทิ้งเรื่องการภาวนาไม่ กลับมุ่งหน้าเข้าหาการภาวนาย่างจริงจัง ดังความตามบันทึกส่วนหนึ่งว่า

“การภาวนา เมื่อว่างเครื่องบินแล้ว สงัดดี วิเวกดี พิจารณาร่างกาย แจ่มแจ้งดี ของอวัยวะร่างกายตั้งแต่ขาต่อไปถึงหน้า สละชีวิตโดยเฉพาะเอกเทศอย่างหนึ่ง พยายามให้สละซากความเป็นความตาย ณ ที่นั้นให้ชำนิชำนาญ ทำให้มากจะเกิดปาฏิหาริย์ใหญ่ เห็นธรรมเป็นอัศจรรย์อย่างใดอย่างหนึ่ง สละกิเลสทั้งหยาบ ทั้งอย่างกลาง อย่างละเอียด มีในนั้นเสร็จ กลั่นเอาความไม่ตายจากที่นั้นเป็นตัวนิพพาน เมื่อก่อนไม่เที่ยงเช่นนั้น จะเห็นตอนที่ไม่ตาย อมตธรรมอย่างสุขุมลุ่มลึกไปเป็นลำดับ”

“เร่งความเพียร นอนไม่หลับ เพราะมีปีติล่อใจ รักใคร่ภาวนาเรื่อย ๆ ลืมมืดลืมค่ำ แต่มีการอ่อนเพลีย การนอนไม่หลับ แต่ความรู้ความฉลาดก้าวหน้า ใคร่ในวิปัสสนาวิธี นิสัยย่อมเป็นไปเข่นนั้น นอนดึก ๆ ทุกคืน ทำให้เพลินทางธรรมมาก”

“เจริญภาวนาสะดวก ม้างกายให้เห็นทั่วด้วยวิปัสสนาอย่างเดียว สมถะมีการทำน้อยไป เพราะที่อยู่ไม่วิเวก”

ในระหว่างระยะเวลาเหล่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หลวงปู่ก็พักอยู่ที่สำนักสงฆ์หัวหิน เช่นกัน ท่านบันทึกไว้ว่า

อยู่หัวหิน อยู่ใกล้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว มักจะเกิดธรรมแปลก ๆ เป็นอัศจรรย์เป็นเพราะ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพรหมวิหารอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่เพียบพร้อมทุกอย่าง ไม่ทรงทิ้งธรรม เป็นคนมีบุญเสด็จอวตารมาจากสวรรค์มาเกิด มาบริหารชาติ มาทำนุบำรุงศาสนาให้เจริญ ประเทศไทยไม่สิ้นจากคนดี นี้เป็นอัศจรรย์ประการหนึ่งของประเทศไทย

ท่านมักจะอบรมบรรดาลูกศิษย์ ทั้งพระ เณร อุบาสก อุบาสิกาเสมอให้รู้สึกระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอยู่เสมอ โดยองค์ท่านเองก็เขียนไว้ในบันทึกว่า

“สมเด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขอให้พระองค์มีพระปรีชาญาณปราดเปรียว ปกครองชาวประเทศไทย ให้เป็นสุขทั่วกัน พร้อมทั้ง ๗๔ จังหวัด ประชาชนนับถือพระองค์ดุจบิดามารดาของชาวไทย ทั้งหญิงทั้งชาย เหตุนั้นชาวไทย อุบาสก อุบาสิกา ท่านทั้งหลาย บำเพ็ญทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ขอกุศลอันใหญ่มหาศาล อุทิศบุญกุศลอันนี้ จงดลบันดาลให้ความสนับสนุนถวายสมเด็จในหลวงและองค์ราชดินี * พึงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ สิ้นกาลนานเทอญ (ตรงตามโบราณาจารย์ท่านทั้งหลายกล่าวไว้ ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เป็นสุขทั่วหน้ากัน)”

*ราชดินี เป็นคำเฉพาะที่หลวงปู่ชอบใช้เมื่อจะกล่าวถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พ.ศ.๒๕๒๙ – ๒๕๓๑ หลวงปู่จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอหัวหิน และ พ.ศ. ๒๕๓๒ อยู่ ณ ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง ถึงแม้วัยของท่านจะสูงยิ่ง แต่หน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งท่านไม่ยอมทิ้ง แต่จะปฏิบัติเป็นประจำก็คือ อบรมสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านว่า นี้เป็นหน้าที่ของพระเถระที่จะต้องดำเนินงานของศาสนา ไม่ว่าคืนนั้นท่านจะเพลิดเพลินทางธรรมภาวนาจนตลอดถึงรุ่งเช้าก็ตาม สังขารเหนื่อย หายใจหอบอย่างไรก็ตาม แต่เช้าของวันถัดมาท่านก็จะถือเอาหน้าที่การอบรมสั่งสอนมาปฏิบัติอยู่เสมอมิได้ขาด ท่านเขียนไว้ว่า

“เรามีหน้าที่แผ่เมตตาจิตอย่างเต็มที่ อย่างสุขุม เพื่อให้เขาเห็นอานิสงส์ และเราได้สละชีวิตแผ่เมตตาสะท้อนให้เขาภาวนาดียิ่งขึ้นไป พ้นจากอบายภูมิทั้งสี่….. ”

ณ ที่สำนักสงฆ์หัวหิน ท่านปรารภว่า “มาอยู่หัวหินในข่วงสุดท้ายของชีวิตนี้มีความสุขบริบูรณ์ทุกอย่าง พรั่งพร้อมทั้งพระ เณรที่ดูแลอุปัฏฐาก ตลอดจนญาติโยมทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต จากทั้งทางใกล้และทางไกล ก็ได้มาเยี่ยมนมัสการเสมอ ๆ ไม่ขาดระยะ” แม้กระทั่งพระเถระผู้ใหญ่ อย่างหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ก็ได้มาเยี่ยมท่านด้วย แต่การมาเยี่ยมของท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นั้น เป็นการมาอย่าง “พิเศษ” ซึ่งหลวงปู่ได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“…ฝันเห็นท่านอาจารย์เทสก์กับท่านมหาบัวมาเยี่ยมเรา ท่านทั้งสองถามธรรมกันอย่างไพเราะ คล้ายๆ สอบเรา เราดีใจอยู่ในท่ามกลางท่านทั้งสอง ปรากฏท่านทั้งสองชมเชยเราดังนี้ นี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง…..”

“พิจารณาการตาย เกิดสะกิดใจว่าจะต้องตายง่าย อายุไม่ยืนนาน บอกมาเรื่อยๆ เร่งความเพียรมากก่อนตาย เพื่อให้ชำนิชำนาญ เพื่อเข้าจิตสู้การตาย ข้อนี้สำคัญกว่าอย่างอื่น”

ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๒ ท่านรำพึงไว้ระหว่างพักอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง ความว่า

“แก่ ชรา มานานเท่าไร พึงภาวนาให้คุ้นเคยกับความตาย เพราะจะต้องตายอยู่แล้ว เตรียมตัวไว้ก่อนตาย รอรถ รอเรือ ที่จะต้องขึ้นไปสวรรค์พระนิพพาน หูยิ่งหนวกหนักเข้าทุกวัน ตายิ่งไม่เห็นหน ตีนเท้าอ่อนเพลีย หันไปหาความตายเสมอไป ถือภาวนาในไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา มีเกิดแล้วย่อมมีตาย เพราะโลกไม่เที่ยงอยู่แล้ว แปรปรวนไปต่างๆ สังขารเราบอกเช่นนั้น เที่ยงแต่พระนิพพานอย่างเดียว”

“สมถะกับวิปัสสนา เป็นธรรมมีอุปการะแก่พระเถระ และพระขีณาสวเจ้า แต่ต้นจนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ ต้องอาศัยสมถะและวิปัสสนา เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ระหว่างขันธ์และจิตที่อาศัยกันอยู่ จนกว่าขันธ์อันเป็นสมมติ และจิตอันวิสุทธิและวิมุตติจะเลิกลาจากกัน…..”

ซึ่ง “ขันธ์” และ “จิต” ของหลวงปู่ ก็ใกล้จะเลิกลาจากกันไปจริง ๆ…!

แสงตะวันที่กำลังจะอัสดงลับเหลี่ยมขุนเขา แมกไม้ หรือผืนน้ำ ย่อมจะเจิดจ้า ทอแสงจับขอบฟ้า เปล่งเป็นรังสีสะท้อนเป็นสีจ้าจับตา ดูงดงามยิ่งนัก บารมีธรรมในระยะเวลาช่วงหลัง ๆ นี้ของหลวงปู่ ก็เป็นประดุจ “แสงตะวันลำสุดท้าย” ที่ใกล้จะอัสดงเช่นกัน…ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ให้แสงสว่างในทางธรรมแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกถ้วนหน้า ด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่งของท่านอย่างมิมีประมาณ

ตะวันลา…ลับแล้ว

กิจวัตรประจำวันของหลวงปู่ ระหว่างพักที่ที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ หัวหิน ตามปกติท่านจะออกจากห้องเวลาประมาณ ๗.๓๐ น. แล้วเดินจงกรมอยู่ที่ระเบียงหน้ากุฏิเสมอ จนได้เวลาประมาณเกือบ ๘.๐๐ น. ท่านจึงจะลงมารับประเคนอาหาร แต่ในเช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ นั้น ท่านออกมาจากห้องก่อนเวลาตามปกติ คือท่านออกมาแต่เวลา ๗.๐๐ น. แล้วเรียกพระเณรที่อุปัฏฐากท่านให้เอายามาฉัน ฉันยาเสร็จแล้ว ท่านเรียกพระ ๒ รูป ที่เพิ่งกลับจากจังหวัดเลย คือ หลวงพ่ออมรและพระสมนึก มาขอนิสัยใหม่ อีกสักพักหนึ่งประมาณ ๑๐ นาทีต่อมา ท่านก็เรียกพระเณรที่อยู่และบวชใหม่ด้วย มาขอนิสัยอีกครั้ง ต่อจากนั้นท่านก็อบรมธรรมะโดยให้พระเณรนั่งภาวนาไปด้วย

เทศน์สั้น ๆ ในเช้าวันนั้น ท่านเน้นหนักในเรื่องของจิต คือให้ดูจิตของตัวเอง ภาวนาให้จิตสงบ มัธยัสถ์ปัจจุบัน ม้างกายให้มาก เพราะกรุงเทพฯ มีสีสันมาก ม้างกายจะช่วยให้หมดความกำหนัด ระหว่างที่ท่านให้พระเณรนั่งภาวนาต่อ ท่านก็ลุกไปเดินจงกรม จนกระทั่งถึงเวลาฉันเช้า เวลาประมาณ ๗.๕๐ น. ท่านจึงลงมาที่ฉันข้างล่าง

เช้าวันอาทิตย์นี้ หลวงปู่มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส ซึ่งเป็นปกติของท่าน ท่านทักทายญาติโยมที่มารอถวายจังหันอย่างอารมณ์ดี แต่คำพูดของท่านในวันนี้ปรารภถึงความตายบ่อยครั้ง จนคนฟังรู้สึกสะดุดใจ แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ด้วยคิดว่าท่านคงจะเตือนให้ทุกคนระลึกถึงมรณานุสติให้มากเข้าเท่านั้น บังเอิญอาทิตย์นี้มีศรัทธาญาติโยมมาทำบุญมากพอสมควร และมีบางคน บางท่าน ได้กราบเรียนท่านว่า ระหว่างไปตลาดพบเขาขายปลา เต่า และกบ ให้คนซื้อไปทำอาหาร จึงได้ซื้อมาถวายให้หลวงปู่ปล่อยในวัด เป็นการช่วยชีวิตสัตว์เหล่านั้นให้ยืนยาวไป

หลวงปู่รับฟังแล้วก็ยิ้ม ชมว่า ดี ท่านรับประทานอาหารตามปกติ ฉันอาหารได้มากพอสมควร ไม่เป็นที่สังหรณ์ใจต่อพระเณรที่อุปัฏฐากนัก พอพระเณรฉันจังหันเสร็จเรียบร้อย ท่านก็ให้โยมที่ซื้อเต่า ปลา และกบมาปล่อยนั้น นำสัตว์เหล่านั้นไปปล่อยในวัด แล้วให้พระเณรสวดชยันโตด้วย เสร็จแล้วท่านก็อธิบายกับโยมถึงอานิสงส์ของการช่วยชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะเป็นสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่า ว่ามีอานิสงส์มาก

กล่าวคือ….ทำให้อายุยืนหนึ่ง….ไม่ติดคุกติดตะรางหนึ่ง….ถึงแม้จะตกทุกข์ได้ยากก็มีคนช่วยเหลือ

หลังจากนั้น ท่านก็คุยกับญาติโยมต่อไปตามปกติ แต่มีพิเศษอีก คือท่านบอกลาด้วยว่า ท่านคงจะอยู่กับลูกศิษย์ไม่ได้นาน

“จึงขอลาล่วงหน้าไว้ก่อน เดี๋ยวจะหาว่า หลวงปู่หลุยไม่ลาลูกศิษย์ลูกหาเลยนะ”

บรรดาลูกศิษย์ก็ยังไม่เฉลียวใจ ว่านั่นเป็นการบอกลาของท่าน แต่ก็ตามปกตินิสัยที่จะต้องรีบนิมนต์ท่านไว้เป็นการปลอดภัยไว้ก่อน จึงรีบเรียนท่านกันอย่างระเบ็งเซ็งแซ่ว่า ขอให้หลวงปู่อยู่นาน ๆ ท่านตอบว่า “ไม่ได้ สังขารมัน ไม่เที่ยง เอาแน่ ไม่ได้”

บางคนมีโอกาสเรียนถามท่านเรื่องการปฏิบัติภาวนา ท่านก็เมตตาตอบแนะนำให้ ได้เวลาที่หมอขอให้พัก ท่านก็ขึ้นห้อง พระเณรอุปัฏฐากขึ้นไปทำกิจวัตรประจำวันที่ห้องหลวงปู่ เตรียมเครื่องใช้ต่าง ๆ ถวายท่าน ของใดควรตั้งที่ใด ให้ท่านหยิบง่ายฉวยง่าย ของใดควรประเคนยังไม่ได้ประเคน ก็ต่างจัดทำถวาย เพราะเวลานี้เป็นเวลาพักผ่อนของท่าน ท่านจะอยู่ตามลำพังองค์เดียว ในช่วงเวลาระยะหลังท่านมักจะจำวัดในเวลากลางวัน แต่ตื่นทำความเพียรกลางคืนตลอดคืน ด้วยเป็นเวลาสงัดเงียบดี อย่างไรก็ดี สำหรับเวลากลางวัน ที่กำหนดในระยะช่วงเวลาหลังว่าจะเป็นเวลาจำวัดนั้น บางทีก็กลายเป็นเวลาภาวนาของท่าน หรือเป็นเวลาอ่านหนังสือ บันทึกหัวข้อธรรมะต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาหลังจากที่ท่านเข้าที่พิจารณา….ไปก็ได้

ทำกิจวัตรประจำวันถวายท่านเสร็จแล้ว พระเณรปฏิบัติท่านก็ออกจากห้องหลวงปู่มา ต่อมาอีกประมาณ ๑๐ นาที ท่านก็จากห้องมาเดินจงกรม จนถึงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ท่านก็เข้าห้องอีก

เวลา ๑๒.๐๐ น. ท่านออกจากห้องมานั่งตากอากาศ โดยมีหนังสือธรรมะติดองค์มาด้วย ท่านอ่านหนังสือธรรมะพักหนึ่ง แล้วก็เดินจงกรม เวลาประมาณ ๑๒.๓๐ น. ท่านก็กลับเข้าห้องพัก

เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. ท่านออกมาเรียกพระอุปัฏฐากขึ้นไปพบปรารภให้ฟังว่า ท่านไม่ได้พักเลย รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก รู้สึกว่าลมมันตีขึ้นเบื้องบน ท่านบ่นว่า หรือเป็นเพราะว่า อาหารไม่ย่อย

แล้วท่านก็บอกให้ช่วยนวดขา เผื่อว่าลมมันจะได้วิ่งลงข้างล่าง อาการอาจจะดีขึ้น

นวดขาได้สักพักหนึ่ง ท่านก็บอกให้พอ เพราะ อาการดีขึ้นแล้ว หายแล้ว พอดีมีลูกศิษย์จากกรุงเทพฯคณะหนึ่งเพิ่งมาถึง ท่านเห็นก็เรียกให้ขึ้นไปกราบท่าน โดยท่านทักทายเป็นอันดี

“อ้อ…มาน้อ ใครบอกให้มา… ดูหน้าหลวงปู่ไว้นะ และก็จำไว้ เดี๋ยวจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว…..”

ลูกศิษย์เรียนท่านว่า “หลวงปู่ไม่เป็นไรหรอก ขอนิมนต์หลวงปู่อยู่นาน ๆ”

พระอุปัฏฐากท่านก็เสริมว่า “หลวงปู่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นไรหรอก หลวงปู่ยังอยู่อีกนาน ขอนิมนต์หลวงปู่อยู่ถึง ๑๐๐ ปี”

ท่านตอบว่า “…ไม่ได้หรอก ฝืนสังขารไม่ได้หรอก ข้างนอกมันดี แต่ข้างในมันเสียหมด เหมือนกับเกวียนไม้ไผ่ที่ใช้มานานแล้ว ย่อมขำรุดเป็นธรรมดา”

คุยธรรมะต่อไปอีกพักหนึ่ง พระปฏิบัติก็ขอให้โยมทำน้ำปานะถวายหลวงปู่เพราะกลัวท่านจะท้องผูก

เวลา ๑๔.๐๐ น. พระปฏิบัติตรวจน้ำตาลเป็นปกติแล้ว ถวายน้ำปานะท่านฉันแล้ว ก็นิมนต์ให้ท่านกลับเข้าห้องพักผ่อน

เวลา ๑๕.๐๐ น. ท่านเรียกพระอุปัฏฐากขึ้นไปพบ แล้วปรารภให้ฟังว่า วันนี้เป็นอย่างไรไม่ทราบ นอนไม่ได้เลย พอเอนกายลงจะไม่สบาย เวลานั่งพิงหรือเดินจงกรมค่อยยังชั่วหน่อย

พระอุปัฏฐากเสนอขอนวดเส้นถวาย ท่านตกลงยินยอม แต่สุดท้ายท่านกลับบอกให้ขึ้นเหยียบ เหยียบแต่ปลายเท้าขึ้นไปจนถึงเอว กลับไปกลับมาหลายเที่ยว แล้วก็นวดเส้นต่อ บีบตรงต้นคอ หลัง ประมาณ ๑๐ นาที ท่านก็ให้หยุด บอกว่า ดีขึ้นมาก หายแล้ว !

เพื่อให้ท่านหายแน่น และหายใจคล่องขึ้น จึงถวายยาหอมให้ท่านฉัน ท่านอนุญาตให้พระอุปัฏฐากออกมาได้ เพื่อท่านจะเข้าที่

บนระเบียง ณ สำนักสงฆ์เย็นสุดใจ หัวหิน ท่านจะนั่งพัก เดินจงกรม บนระเบียงนี้มาก ภาพนี้เกือบจะเป็นภาพชุดสุดท้ายที่ถ่ายเก็บไว้ได้ ถ่ายเมื่อ ๓ ธ.ค. ๒๕๓๒

เวลา ๑๖.๐๐ น. ท่านออกจากห้องมายืนตรงราวลูกกรง ระหว่างนั้นพระเณรกำลังมารวมกันอยู่ที่ลานข้างล่าง ด้วยเป็นเวลาฉันน้ำร้อน น้ำปานะ พอดีพระอุปัฏฐากเดินผ่านไป ท่านก็กวักมือเรียกให้ไปพบ บอกว่า

“เร็วๆ มัน…มันหายใจไม่ออก มาช่วยนวดหน่อย”

พระเณรทั้งหมดก็เลยรีบขึ้นไปข้างบนกันหมดทุกองค์ บังเอิญท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร จากวัดป่าถ้ำพระ อ. เซกา จ. หนองคาย พาญาติโยมจะมากราบหลวงปู่ มาถึงพอดี จึงได้ขึ้นไปด้วย

หลวงปู่ไปนั่งที่เก้าอี้ มีพระเณรช่วยกันกุลีกุจอนวดกันสักพักหนึ่ง ท่านก็ลืมตาขึ้น บอกว่า “ดีขึ้น หายแล้ว…หายแล้ว” เลยช่วยกันจัดที่นอนถวายท่าน ให้ท่านนอนพักก่อน

ระหว่างนั้นขอนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาล ท่านไม่รับ บอกว่า “หมอก็ช่วยไม่ได้ ขอตายที่หัวหิน ไม่เข้ากรุงเทพฯ ดอก สถานที่ไม่สงบเลย เราจะเข้าจิตไม่ทัน”

เมื่อท่านไม่ยอมไปโรงพยาบาล ท่านอาจารย์อุทัยซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในขณะนั้น เห็นด้วยที่จะให้ไปตามแพทย์มาดูอาการของท่าน เพราะขณะนี้แม้ท่านจะบอกว่า ดีขึ้น หายแล้ว…หายแล้ว แต่ก็ไม่น่าไว้วางใจ ด้วยอาการมีกำเริบเป็นระยะ ๆ ท่านอาจารย์อุทัยถามว่า หลวงปู่เคยมีอาการแบบนี้บ้างไหม พระปฏิบัติเรียนท่านว่า เคยมี… บางครั้งโรคของท่านกำเริบขึ้นจนถึงกับเหงื่อแตกก็ยังเคยมี

เวลาประมาณเกือบ ๑๘.๐๐ น. นายแพทย์จึงมาถึง เพราะเป็นวันหยุดวันอาทิตย์ จึงตามนายแพทย์ได้ยากกว่าปกติ หมอตรวจท่านพลางถามอาการ หลวงปู่บอกหมอว่า ท่านนอนไม่หลับมา ๒ วันแล้ว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกเลย หมอตรวจอาการแล้วบอกว่า อาการโรคหัวใจกำเริบ ทั้งอาหารไม่ย่อยด้วย ท่านตอบว่า แม่นแล้ว… หมอฉีดยาบำรุงหัวใจถวาย ๑ เข็ม พร้อมทั้งให้ยาระบายด้วย เพราะท่านบอกว่าท้องผูก

ประมาณ ๑๘.๒๐ น. หมอรอดูอาการอยู่ระยะหนึ่ง เห็นอาการดีขึ้นจึงให้สวนท้อง แล้วหมอก็กลับไป หลวงปู่เข้าที่พักเงียบ บอกไม่ให้ทุกคนกวน ท่านจะอยู่คนเดียวในห้อง พระเณรทุกองค์จึงออกมาจากห้องด้วยความเคารพในคำสั่งของท่าน แต่ก็เฝ้ารอกันอยู่ที่หน้าห้องทุกองค์ด้วยความเป็นห่วง

ราวสองทุ่มครึ่ง อาการกำเริบขึ้นอีก พระอุปัฏฐากจึงให้ใยมออกไปตามแพทย์อีกครั้งหนึ่ง นายแพทย์มาถึง ปรากฏว่าหลวงปู่กำลังพัก หมอจึงสั่งว่าถ้าอาการของท่านไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ท่านออกมาจากห้องพัก เรียกพระเข้าไปปรารภอาการให้ฟังว่า “แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกเลย เอ…ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ แปลกจัง แต่….แม้….” ท่านพูดเสียงดัง ใบหน้ายังยิ้มแย้ม “ถ้าตายตอนนี้ก็ดีนะ…..”

พระเณรรุมกันเข้าไปในห้องทั้งหมด ท่านบอกธาตุขันธ์จะไม่ไหวแล้ว ขอแสดงอาบัติ พระปฏิบัติช่วยท่านครองผ้า เฉวียงบ่า แล้วประคองท่าน ท่านบอกว่า ขอแสดงอาบัติ และบอกบริสุทธิ์ต่อท่ามกลางสงฆ์

เสียงที่ท่านแสดงอาบัติและบอกบริสุทธิ์นั้นแจ่มใสยิ่งนัก แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า เวลาต่อไปอีกไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ท่านก็จะจากทุกคนไป ครั้นแล้วพระเณรก็ช่วยกันประคองท่านนั่งบนเก้าอี้

หลวงปู่กำหนดจิตต่อสักพักหนึ่ง…ใบหน้าของท่านก้มนิด ๆ เอียงในท่าอันสงบเย็นอย่างที่ท่านปฏิบัติเป็นอาจิณเมื่อเข้าที่ภาวนา…..

…..อดไม่ได้ที่จะนึกถึงคำเทศนาของหลวงปู่เอง ที่เคยสอนศิษย์….แลดูท่านผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลก็ดี ด้วยสมาธิก็ดี บริสุทธิ์ด้วยปัญญาก็ดี ผู้แลดูนั้น เรียกว่า ทัศนานุตริยะ เห็นอย่างเยี่ยม ดูไม่เบื่อ ยิ่งดูยิ่งปลื้มใจ…..

ถูกแล้ว แม้แต่ในเวลาที่ท่านกำลังจะละขันธ์ มีพระยามัจจุราชผู้มีเสนามารเป็นใหญ่ กำลังมารออยู่แล้ว เมื่อเราทอดตา….แลดูท่าน

ก็เป็น ทัศนานุตริยะ ….เห็นอย่างเยี่ยม เห็นอย่างยอด ดูไม่เบื่อ ดูไม่จืดจาง ยิ่งดูยิ่งปลื้มใจ ….จริงแท้ !

ท่านลืมตาขึ้น นัยน์ตาใสกระจ่าง บอกพระเณรที่นั่งใจหายใจคว่ำอยู่โดยรอบ ว่า

“หายแล้ว…หายแล้ว หายเหมือนปลิดทิ้ง ! ความจริง ถ้าตายตอนนี้ก็ดี ได้ตายในท่ามกลางสงฆ์ ภูมิใจมาก…” ท่านกล่าวเสียงดัง “แม้….ได้ตายตอนนี้ดีทีเดียว”

พระเณรขอให้ท่านหยุดพูด ด้วยเกรงท่านจะเหนื่อย ขอให้พักผ่อนก่อนเพราะดึกแล้ว และกลางวันท่านก็ไม่ได้พักเลย

ท่านเอ็ดเสียงดัง “ไม่ได้ ๆ ไม่พูดได้ยังไง เผื่อมีลูกศิษย์ลูกหาเขาถามท่านอาจารย์หลุยเป็นอะไร พวกท่านจะตอบญาติโยมไม่ได้ ก่อนท่านอาจารย์หลุยจะตาย ท่านพูดว่ายังไง มีอาการอย่างไรบ้าง นั่งเป็นอย่างไรบ้าง นอนเป็นอย่างไรบ้าง เอียงไปทางไหน ก็จะได้ตอบเขาได้ถูก แม้….ไม่พูด แล้วพวกท่านจะตอบเขายังไง-”

ท่านพระอาจารย์อุทัย รีบกราบเรียนท่าน “หลวงปู่ไม่ตายหรอก!”

ท่านหันมาหาท่านพระอาจารย์อุทัย “ไม่ตายได้ยังไง เมื่อกี้ผมเกือบตายแล้ว หายใจไม่ออก เหมือนใจจะขาด เหมือนมีอะไรมาปกคลุมอยู่ทั่ว ดูมืดไปหมด มองอะไรไม่เห็นเลย กำหนดจิตตามมันทัน มันก็เลยคืนมา…” ท่านนิ่งไปชั่วอึดใจหนึ่ง ก็เล่าต่อ

“กำหนดดูธาตุขันธ์ เนื้อหนังมันทำงาน…มันดิ้น…มันเต้น หัวใจมันทำงาน เห็นมันเต้น ตุ๊บ…ตุ๊บ ธาตุขันธ์จะเอาไม่ไหวแล้ว ต้องกำหนดจิตอย่างเดียว ตอนเมื่อกี้ กำหนดจิต ถึงคืนมา ม้างกาย จนมันสว่างโร่ขึ้น หายเหมือนปลิดทิ้งเลย”

ท่านพระอาจารย์อุทัยกราบเรียนอีก “จิตหลวงปู่ไม่ตายหรอกครับ…ที่มันจะตายน่ะ ธาตุขันธ์ดอก”

หลวงปู่พยักหน้านิด ๆ ยิ้มรับ กล่าวว่า

“อย่างที่ท่านอาจารย์อุทัยพูดก็จริงอยู่หรอก ที่ว่าจะตายแต่ธาตุขันธ์ ….จิตไม่ตาย แต่ทุกวันนี้มันก็เหมือนเกวียนไม้ไผ่ที่ใช้กันมานานแล้ว….. ”

พระเณรช่วยกันนวดท่าน….ด้วยท่านเคยปรารภให้ฟังหลายครั้งว่าการนวดเส้นนั้นมีประโยชน์มาก นวดไล่ลมให้ค่อยยังชั่วขึ้น แต่ประการสำคัญที่สุดนั้นระหว่าง “การคั้นเอ็น” ….สำนวนของท่าน หมายถึง การนวดเส้น ….เมื่อท่านกำหนดจิตตามจะมองเห็นเส้นเอ็น กระจก อวัยวะภายในของท่านอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นการ “ม้างกาย”ทำปฏิภาคนิมิต และทำเป็นธรรมโอสถให้โรคภัยหายได้

นวดได้ระยะหนึ่ง ท่านก็บอกให้พระเณรหยุด แล้วปรารภธรรมให้ฟังอีก ดูเหมือนจะเป็นปัจฉิมโอวาทในเรื่อง “ม้างกาย”ของท่านจริง ๆ โดยครั้งนี้ท่านได้นำกายของท่านออก “ม้าง” ให้ฟังเป็นตัวอย่าง…รวมถึงภาพการที่เวลา “ธาตุมันจะตีลังกาเปลี่ยนภพ”ดังที่ท่านเทศน์เสมอ ๆ…..

“สังขารของเรา ตอนนี้มันเหมือนเนื้อที่ถูกเขาฆ่าแล้ว นำไปแขวนบนตะขอ แต่เนื้อมันยังไม่ตาย มันยังดิ้นทรมานอยู่ ก้อนเนื้อที่มันดิ้นมันเต้นนั้น เหมือนเนื้อวัวที่เขาปาดออกมาใหม่ ๆ มันเต้น…ตุ๊บ ตุ๊บ ยังไงยังงั้น”

ท่านเปรียบให้ฟังในเรื่อง “ภาคปฏิบัติ” ของการ “ม้างกาย” ไม่ใช่เพียงแค่ “ภาคทฤษฎี” ที่เรียนมา “ตอนที่เนื้อแยกออกจากเอ็น ออกจากกระดูก”

ท่านแจกให้ฟังเป็นส่วน ๆ แล้วก็บ่นอีก “ถ้าตายตอนนี้ก็ดีที่ตายท่ามกลางสงฆ์ เสียดายมันหายเสียแล้ว เอ…ทำไมมันจึงหาย หายเหมือนปลิดทิ้งเลย”

ท่านกล่าวต่อไปโดยไม่ทิ้งช่วงให้พระเณรองค์ใดขัดจังหวะ ขอโอกาสให้ท่านพักเลย

“สังขารเราขณะนี้เหมือนพระจักขุบาลบำเพ็ญความเพียรมาตลอดสามเดือน… เราเหมือนกับเกวียนทำด้วยไม้ไผ่ที่ใช้มานานแล้วจะต้องผุพังลง…..”

แม้ท่านจะปฏิญาณปลงอายุสังขารแล้ว แต่หน้าท่านก็กลับแช่มชื่นผ่องใสอย่างประหลาด ท่านทอดสายตามองกวาดไปตามประดาหน้าของศิษย์ทุกองค์ แล้วปรารภปัจฉิมเทศนาในเรื่องการทำจิตให้ฟังโดยทั่วกัน

“การภาวนาหรือทำจิต ให้ดูอาการของจิต ก่อนตาย อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว เอาจิตอย่างเดียว เวลาธาตุจะตีลังกาเปลี่ยนภพจิตจะออกจากร่าง พิจารณาตามจิต จะเห็นว่าจิตจะออกจากร่างอย่างไร ไปอย่างไรจิตจะเข้า ๆ ออก ๆ อย่างไร มืด ๆ สว่าง ๆ อย่างไร จิตจะเข้า ๆ ออก ๆ มืด ๆ สว่าง ๆอย่างนั้น เหนื่อยหอบมาก กำหนดตามจิตคืน เห็นอาการของจิตชัด ถ้าเอาไม่ทันก็ไปเลย”

ท่านย้ำว่า “อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว…..”

พระเณรนิ่งฟังด้วยความอัศจรรย์ใจ ที่เห็นท่านยังแสดงความองอาจแกล้วกล้า ต่อมรณภัยที่กำลังคุกคาม ท่านเทศน์เสียงดัง มีใบหน้าอิ่มเอิบด้วยรอยเมตตาไม่มีใครกล้าซักถามประการใด และไม่มีใครกล้าทัดทานไม่ให้ท่านเทศน์ด้วย แม้จะเกรงสักเพียงใดว่า ท่านจะเหนื่อยหอบ ทำให้อาการทรุดลง

เมตตาของหลวงปู่ ไม่มีประมาณจริง ๆ ….เป็น อกาลิโก ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลา

เวลาสบายจึงจะเทศน์ เวลาไม่สบาย…ก็ยังไม่เทศน์…กระนั้นหรือ ?

หามิได้…ไม่ใช่เช่นนั้น !

ธรรมะของท่านหลั่งไหลออกมา แม้แต่เวลาที่ท่านกำลังอาพาธอย่างหนัก…อาพาธครั้งสุดท้ายที่จะละขันธ์ !

โอ้… เมตตาธิคุณของทาน…กรุณาธิคุณของท่าน

พระเณรเริ่มน้ำตาซึม ปลงธรรมสังเวช นิมนต์ให้ท่านพักก่อน และขอโอกาสนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาล

ท่านยอมเข้าห้องพัก แต่เรื่องโรงพยาบาลท่านไม่ยอม “ไม่ไปหรอก หากอาหารหนักจริง ๆ หมอก็รักษาไม่ได้ นอกจากเราจะพึ่งตัวเองเท่านั้น”

พระเณรกราบเรียนชี้แจงว่า ทุกคนเป็นห่วงหลวงปู่ อยากจะขอให้หลวงปู่ ไปเช็คร่างกายเท่านั้น ที่โรงพยาบาลหัวหินนี้ก็ได้ ท่านก็ปฏิเสธอีก

เวลาประมาณ ๒๓.๓๐ น. อาการของท่านกลับหนักขึ้นอีก ท่านออกมาบอกว่า กลับแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออกอีกแล้ว เห็นจะประคองธาตุขันธ์ต่อไปไม่ไหว คงจะต้องปล่อยวางแล้ว…เอาจิตอย่างเดียว

พระเณรอันมีท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร และท่านพระอาจารย์เลิศ เขมิโยเป็นหัวหน้า จึงปรึกษากันว่า หลวงปู่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งประเทศ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทาธิการในท่าน ทรงสดับธรรมโอวาทของหลวงปู่ ถวายพระบรมราชานุเคราะห์ตามพระราชวโรกาสอันควรเนือง ๆ แม้การสร้างขยายที่พักสงฆ์ที่หัวหินนี้ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ถวายหลวงปู่เพื่อการนี้ด้วย หากหลวงปู่เป็นอะไรไป โดยคณะสงฆ์ผู้เป็นศิษย์มิได้พยายามติดต่อโรงพยาบาลเพื่อการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ก็จะเป็นที่ติเตียนได้ จึงกราบขอโอกาสเรียนชี้แจงเหตุผลเหล่านี้ อย่างน้อยไปที่โรงพยาบาลหัวหินก็ได้ เครื่องมือแพทย์ก็มีครบครัน และแพทย์จะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด

หลวงปู่เอาแต่จิตนั้นดีแล้ว แต่ธาตุขันธ์ขอให้ปล่อยวางให้หมอเขาดูแลเถิดและ “ถ้าหลวงปู่เป็นอะไรไป จะลำบากพวกกระผม….. ”

“จะลำบากพวกกระผม !” เหตุผลข้อหลังนี้เอง ทำให้หลวงปู่นิ่งไป ท่านคงเห็นใจพระเณรผู้ปฏิบัติอย่างยิ่ง

สุดท้ายท่านจึงยอมออกปากว่า “สุดแล้วแต่พวกท่านจะจัดการ”

เมื่อพยุงท่านมานั่งรถเข็นนั้น ท่านยังมีสติกล่าวอย่างเมตตาต่อไปว่า

“ท่านทราบดีว่า พระเณรทุก ๆ องค์เป็นห่วงท่าน ช่วยอุปัฏฐากท่านมาอย่างดีตลอดมาท่านขอขอบใจอย่างยิ่ง การอยู่ด้วยกันอาจจะมีการกระทบกระทั่ง พลาดพลั้งไปด้วยกาย วาจา หรือใจ ตามวิสัยของครูบาอาจารย์และศิษย์ แต่ก็เป็นไปด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน หากองค์ท่านเองได้ล่วงเกินท่านทั้งหลายองค์ใดไป ก็ขออโหสิกรรมด้วย และหากท่านทั้งหลายองค์ใดได้ล่วงเกินองค์ท่าน จะด้วยตั้งใจก็ตาม หรือไม่ตั้งใจก็ตาม หลวงปู่ก็ขออโหสิกรรมให้ทุกประการ”

เป็นมธุรสวาจาที่ไพเราะนัก…ที่อ่อนโยนนัก และเปี่ยมด้วยความเมตตาอย่างยิ่ง วาระนั้นผู้ได้ฟังอดมิได้ที่จะระลึกถึงคำเทศนาของท่าน ซึ่งยามใดที่ท่านพรรณนาถึงความที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงเมตตา ท่านจะกล่าวว่า

“…เป็นความที่ แย้มออกมาจากน้ำพระทัยของพระองค์ เป็นพระมหากรุณายิ่ง…..”

ฉะนั้น ในวาระนี้คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ความเมตตา….แย้มมาจาก “น้ำใจอันเต็มไปด้วยมหากรุณายิ่ง” ของท่านโดยแท้ ด้วยท่านทราบฐานะอันแท้จริงของท่านดีว่า ท่านเป็นผู้ซึ่งไม่มีบุญไม่มีบาปจะต้องคำนึงถึงแล้ว กรรมใดไม่มีโอกาสจะแผ้วพานดวงจิตท่านได้แล้ว อโหสิกรรมสำหรับท่านจึงไม่จำเป็น แต่สำหรับพระหนุ่มเณรน้อยผู้ใกล้ชิดปฏิบัติท่าน อาจจะมีการพลั้งพลาดทางกาย หรือวาจา หรือใจได้ หากมิได้มีการขออโหสิกรรม ก็จะเป็นบาปอันมหันต์ ที่ล่วงเกินท่านผู้ทรงศีลและครองจิตอันวิสุทธิ์ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ท่านจึงได้กล่าวการอโหสิกรรมทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งดูเผิน ๆ อาจจะคิดว่าท่านกล่าวตามธรรมเนียมนิยม แต่แท้ที่จริง เป็นความกรุณาอย่างลึกซึ้งยิ่งของท่าน

และยิ่งคำนึงถึงว่า ขณะที่ท่านทุกองค์….ผู้ซึ่งธาตุขันธ์ปกติ ร่างกายไม่ป่วยเจ็บ สมบูรณ์ทุกประการ มีภาระการคิดอยู่เพียงอย่างเดียว จะรักษาพยาบาลครูบาอาจารย์…ก็ยังไม่ทันนึกได้ถึงการทำวัตร ขอขมา ขออโหสิกรรมต่อท่าน จนองค์ท่านต้องเมตตาให้อธิบายกล่าวนำขึ้น ทั้ง ๆ ที่ท่านเองก็กำลังแบกภาระอันเป็นทุกข์ยิ่งของขันธ์ ๕ ไว้อย่างหนักหน่วง

แต่ท่านก็มีเมตตา มีความคิดอันกว้างไกล นึกถึงศิษย์…กรุณาศิษย์อย่างเมตตายิ่ง รำลึกได้เช่นนั้น พระเณรทุกองค์จึงอดน้ำตาคลอด้วยความตื้นตันใจมิได้…ทั้งเคารพรักท่าน ทั้งเทิดทูนบูชาท่าน ทั้งสงสารท่าน หลายองค์ถึงกับสะอื้นออกมา มีเฉพาะพระเถระเท่านั้นที่ท่านจะแสดงธรรมสังเวช เข้าใจว่าทุกองค์ท่านคงจะซึ้งใจในบัดนั้นเอง เมื่อระลึกขึ้นได้ว่า ในวาระที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานนั้น พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากได้หนีไปสู่วิหารเหนี่ยวสลักเพชร (หัวลิ่มประตูทำรูปเป็นศีรษะวานร) ยืนร้องไห้อยู่

โอ้…พระองค์ผู้ทรงเป็นร่มฉัตร แผ่บารมีไปทั่วไตรภพ ที่ท่านพระอานนท์เคยถวายการปรนนิบัติรับใช้อุปัฏฐากมาช้านาน จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานแล้วกระนั้นหรือ…. . !

สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ ก็ตรัสเรียกให้เข้าเฝ้าตรัสปลอบใจ เป็นธรรมดาที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไป จะปรารถนาให้สิ่งที่มีความทรุดโทรมเป็นธรรมดา มิให้ทรุดโทรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ แล้วตรัสสรรเสริญการอุปัฏฐากของพระอานนท์ ที่เมตตาทั้งกาย วาจา และใจต่อพระองค์ตลอดมา โดยมิได้คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า จัดเป็นบุญกุศลอันเลิศ ต่อนี้ไปขอให้พระอานนท์เร่งตั้งความเพียรเถิด จะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยพลัน…..ตามรอยบาทสมเด็จพระบรมศาสดา….!

ต่อนี้ไป ขอให้ท่านทุกองค์เร่งตั้งความเพียร จะได้เป็นผู้ประจักษ์ในธรรม ตามรอยที่ครูบาอาจารย์พาดำเนินมา….. ความในประโยคหลังนี้ แม้หลวงปู่จะมิได้เอ่ยออกมาเป็นวาจา แต่สายตาของท่านก็ดูประหนึ่งจะกล่าวเช่นนั้น

ขอให้เร่งทำความเพียร ทุก ๆ คนที่อยู่ร่วมกัน สามัคคีกัน กลมเกลียวกัน

เป็นปัจฉิมโอวาท….โอวาทครั้งสุดท้ายที่ท่านมอบให้คณะสงฆ์ผู้เป็นสานุศิษย์ แล้วพระปฏิบัติก็ประคองท่านขึ้นรถ ออกเดินทางไปโรงพยาบาล

ถนนขรุขระ รถจึงค่อย ๆ คลานไปอย่างช้า ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนองค์ท่าน กระนั้นท่านยังบอกให้รถจอดพักหลายระยะ ด้วยมีอาการกำเริบ เจ็บหน้าอก

“หยุดก่อน ขอทำจิตก่อน”

“รถกระเทือน ไม่สะดวก ไม่สงบต่อการกำหนดจิต….. ”

เป็นคำพูดที่ท่านกล่าวระหว่างนั้น

ทางโรงพยาบาลเตรียมการไว้พร้อมแล้ว เมื่อท่านไปถึง ทางนายแพทย์ก็รีบให้การรักษาทันที โดยให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ และฉีดยา ทำให้รู้สึกว่าอาการของท่านดีขึ้น

พระอุปัฏฐากจึงปรึกษากับแพทย์ว่าสมควรจะนำท่านมารับการรักษาต่อที่กรุงเทพฯหรือไม่ เนื่องด้วยระยะทางไกลมาก แพทย์กล่าวว่า อาจจะกระทำได้โดยทางโรงพยาบาลจะจัดแพทย์ดูแลไปด้วยในรถพยาบาล แต่ควรต้องแวะพักตามโรงพยาบาลรายทางเป็นระยะ ๆ ไปก่อน เพราะยังไม่เหมาะที่จะเดินทางรวดเดียว

เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อม รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ฉุกเฉินในรถพยาบาลการเดินทางออกจากโรงพยาบาลก็เริ่มต้น ซึ่งเป็นเวลาล่วงเข้ามาสู่วันใหม่แล้วประมาณครึ่งชั่วโมง ตอนขึ้นรถ ท่านบ่นปวดสันหลัง นั่งไม่ได้ นอนก็เจ็บอยู่ เลยจัดให้ท่านนั่งพิงไป ท่านบอกอยากให้เอาออกซิเจนออก แต่แพทย์เกรงจะเป็นอันตรายจึงไม่ยอม

รถพยาบาลออกเดินทางมาถึงเพียงประตูโรงพยาบาล ท่านก็ขยับตัวไปมาบ่นทั้งแน่นหน้าอกและปวดสันหลัง เอาขันธ์ไว้ไม่ไหวแล้ว สิ้นคำท่านก็มีอาการตัวอ่อนแน่นิ่งไป แพทย์ที่มาในรถพยาบาลดูสายออกซิเจนและน้ำเกลือ แล้วสั่งให้ย้อนรถกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง ทำการปั๊มหัวใจ ดูดเสมหะ อาการไม่ดีขึ้น หมอพยายามปั๊มหัวใจจนสุดความสามารถแต่ไม่เป็นผล ในที่สุดแพทย์ก็บอกว่า หลวงปู่จากไปแล้ว

เวลานั้นเป็นเวลา ๐๐.๔๓ น. ของคืนวันที่ ๒๔ ธันวาคม หรือล่วงเข้าสู่วันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ มาแล้ว ๔๓ นาที

พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทะสาโร ได้มรณภาพแล้ว

ผ่าน……ปัจฉิมวาร…….วันสุดท้าย

สู่……….ปัจฉิมกาล……เวลาสุดท้าย

โดยให้..ปัจฉิมโอวาท…โอวาทคำรบสุดท้าย

และ เปล่ง…..ปัจฉิมวาจา…..วาจาครั้งสุดท้าย…….

ท่านผู้เป็นประดุจดวงประทีป ซึ่งโปรยปรายสายธรรมให้แก่มหาชนทั้งประเทศมาช้านานกว่าหกสิบห้าวัสสา

…..ไม่แต่ภาคอีสาน ไม่แต่ภาคกลาง

…..ไม่แต่ภาคเหนือ ไม่แต่ภาคใต้

…..ไม่แต่ภาคตะวันออก ไม่แต่ภาคตะวันตก

ท่านธุดงค์โปรดไปเรื่อย ๆ

บัดนี้ ท่านได้ลาลับดับขันธ์ไปแล้ว

ตะวันลา…ลับไปแล้ว

น้ำตาของหลายท่านหลายองค์พรั่งพรูออกมา เสียงสะอื้นดังขึ้นอย่างไม่อาจจะหักห้ามได้…..

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระแล

ภารหาโร จ ปุคฺคโล แต่บุคคลก็ยังยึดถือภาระไว้

ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือเอาภาระเป็นทุกข์ในโลก

ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การปล่อยวางภาระเสียเป็นสุข

นิกฺขิปิตฺวา ครุภารํ ครั้นปล่อยวางภาระอย่างหนักได้แล้ว

อญฺญํ ภารํ อนาทิย ไม่ยึดถือสิ่งอื่นเป็นภาระอีก

สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้แล้ว

นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ หมดความปรารถนาแล้ว ปรินิพพานดังนี้แล

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-14.htm

. . . . . . .