ธุดงค์วิเวก – หลวงปู่หลุย จันทสาโร

ธุดงค์วิเวก – หลวงปู่หลุย จันทสาโร

หลวงปู่หลุย จันทสาโร

ได้ส่ำสัตว์เป็นอารมณ์กรรมฐาน

——————————————

หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านได้พักกลางกลดที่พระบาทคอแก้ง เขตอำเภอศรีเชียงใหม่

ในราตรีนั้น…พระจันทร์ส่องแสงสว่างลงมายังพื้นพิภพอย่างแจ่มใส จิตใจของหลวงปู่ตอนนั้นท่านได้เล่าให้ศิษย์ฟังในตอนหลัง ว่ามีความเบิกบานแบบสงบในธรรม

ธรรมชาติบนขุนเขาในยามราตรีจันทร์แจ่มฟ้า มีความงามคล้ายเป็นแดนทิพย์เมืองสวรรค์

กระแสลมนั้นเล่าก็พัดจากแม่น้ำโขงมิได้ขาด เป็นการพัดที่รวยรินเย็นสบาย ทำให้รู้ว่า…โอ…!…เจ้าธรรมชาตินี่หนอ บางเวลาเจ้าก็มีความนุ่มนวลอย่างนึกไม่ถึงเหมือนกัน

คืนนั้น…ขณะที่หลวงปู่เดินจงกรม ได้มีฝูงกระต่ายกระโดดออกมาจากป่า มาสู่ดงหญ้า มาหากินและเล่นเดือนหงาย

พวกกระต่ายมันกระโดดโลดเต้น หยอกล้อกันไปมาบ้างก็หยุดยืนดูหลวงปู่หลุย โดยไม่แสดงอาการเกรงกลัวท่าน เลยทำให้ท่านเกิดคิดรำพึงขึ้นมาว่า…

“เออหนอ!…ธรรมดาของส่ำสัตว์ในโลกนี้ จะเป็นสัตว์เดรัจฉานชนิดใดก็ตามที เมื่อมีอาหารการกินพอได้อิ่มปากอิ่มท้องแล้ว ก็มีความสบายกายใจตามประสาของเขา…”

“ส่วนคนเรา…กินเท่าไร ไม่อิ่ม มีทรัพย์สมบัติเท่าไรไม่รู้พอ

ดุจประหนึ่งแม่น้ำมหาสมุทร ไม่รู้จักเต็ม พร่องอยู่เสมอ ๆ พระบาลีที่กล่าวไว้ว่า…”

“นัตถิ ตัณหา สมานะที…” แปลว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี”

ต้องแปลเป็นไทยอีกว่า… “อันว่าแม่น้ำนั้น จะมีน้ำมากสักเพียงใดก็ตาม…ก็ไม่มากไปกว่าตัณหาของคน!”

คืนนั้น หลวงปู่หลุยได้น้อมเอาชีวิตความเป็นอยู่ของกระต่ายป่ามาเป็นอารมณ์กรรมฐาน พิจารณาไป…พิจารณาไป ดูแล้วก็คิดสงสารมัน สัตว์น้อย ๆ เหล่านี่ เมื่อหากินยอดหญ้าอิ่มแล้วก็แล้วกันไป จะไปทางไหนก็แล้วแต่จ่าฝูง…หรือบางทีก็ไปเป็นฝูง บางทีก็ไปเป็นคู่…ดุจชายหนุ่มหญิงสาวที่รักใคร่กัน !”

“อันธรรมดาของสัตว์โลกอันได้แก่ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ด้วยกันด้วยอารมณ์ข้องเกี่ยวกันคือ ราคะ…”

“อันตัณหาราคะจริตนี้ ย่อมมีอยู่ทั่วทุกสรรพสัตว์ ซึ่งใคร ๆ จะหลีกหนีไม่พ้น ยกเว้นแต่พระอริยบุคคลเท่านั้น !”

ณ ราตรีนั้น ท่านรู้สึกว่าจิตของท่านผ่องแผ้ว และสละสงบอย่างประหลาด ผิดกว่าแต่ก่อนแต่ไรมา ซึ่งท่านจะไม่ลืมราตรีนั้นเลย

หลวงปู่หลุยได้เจริญสมณธรรมอยู่ที่พระบาทคอแก้ง หลายวัน การบิณฑบาต ในละแวกหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ไม่สู้ขัดสนจนเกินไปนัก

อยู่ไปได้ระยะหนึ่ง ท่านก็ลงจากพระบาทคอแก้ง แสวงหาที่วิเวกต่อไป โดยไม่ยึดติดสถานที่

ชีวิตธุดงค์ของหลวงปู่หลุย ท่านได้ออกวิเวกตามป่าเขาเสียเป็นส่วนใหญ่ คราวเมื่อท่านบวชได้ ๑๖ พรรษานั้น ท่านได้กลับมาจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทัตตะมาหาเถระ ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นระยะที่พระอาจารย์มั่นเพิ่งเดินทางกลับมาจากจังหวัดเชียงใหม่ได้ไม่นาน…

ตอนหนึ่งท่านได้วิเวกไปอยู่ที่ภูบัวบิด จังหวัดเลย ซึ่งที่นั่นกันดารน้ำมาก เวลาที่หลวงปู่จะใช้น้ำ ท่านต้องใช้อย่างประหยัด ใช้ทั้งฉันและจะสรงก็ชุบผ้าเช็ดตัวเอาแต่พออยู่ได้

การบำเพ็ญสมณธรรมที่ภูบัวบิดต้องประหยัดเรื่องน้ำ…อย่างที่สุด ยิ่งกว่าที่อื่น ๆ

หลวงปู่หลุยเคยเล่าให้ศิษย์ฟังว่า การเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมะนั้น…การอยู่ท่ามกลางอันตรายก็เป็นอุบายธรรมวิธีหนึ่งที่ธรรมชาติธรรมชาติได้ ประทานมาให้

ตอนหนึ่งท่านเล่าว่า…

“สถานที่แห่งนั้น คือ หนองสระใน เขตอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร…”

หลวงปู่หลุย ได้บำเพ็ญเพียรอยู่ที่นั่นถึง ๓ เดือน ได้ปรากฏมีเสือใหญ่ลายพลาดกลอนเข้ามาเยี่ยมท่าน…ถึงในถ้ำ !

“แต่ก่อนนี้…ไปเจริญภาวนาที่ไหน ๆ จิตก็ยังประหวัดส่งออกไปข้างนอกอยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อเวลาไปอยู่หนองสระใน มีเสือใหญ่ขึ้นมาหา…!”

“จิตมันกลัวตาย… จิตมันเลยอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่แลบไม่แวบออกไปข้างนอกอีกเลย !”

ความหวาดกลัวเสือ จิตจึงเร่งภาวนาพุทโธ… พุทโธ… พุทโธ… เอาพุทโธเป็นที่พึ่ง !

“จิตเลยเข้าถึงพุทโธ…เห็นอำนาจของพุทโธ หายสงสัยในพุทโธ… เพราะได้เสือเป็นอาจารย์ !”

“…เสือใหญ่ ดุร้ายแต่นัยน์ตาและใบหน้า และเสียงคำรามก้องของมัน และความใหญ่โตของมัน ไม่รู้ว่าเป็นเสือจริงหรือเสือเทวดาแปลงจำแลงมา… มันจึงไม่ทำอันตราย มันก็เคารพพระพุทโธ…เลยกลายเป็นมิตรกันอย่างลึกลับที่สุด !”

หลังจากที่พระอาจารย์ใหญ่ของท่าน… คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ละสังขารแล้ว…หลวงปู่หลุย จึงได้แยกทางจากหมู่คณะธุดงค์ ท่านได้แสวงหาความวิเวกไปแต่เพียงลำพังรูปเดียว โดดเดี่ยวมาตลอด เช่น แถวบ้านน้ำขุ่น หมู่บ้านภูไท เขตอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่หลุยได้กล่าวยกย่องการปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาของแม่ชีสองท่านคือ… “แม่ชีจันทร์” และ “แม่ชีนารีการุณ” ว่า…

“การปฏิบัติธรรมจนเห็นธรรมได้ !”

ซึ่งแม่ชีผู้ปฏิบัติธรรมจนหลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านยกย่องนี้ พำนักอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เป็นแม่ชีที่มีชื่อเสียงยิ่งในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ด้วยสมณธรรม ในความสันโดษของหลวงปู่หลุย เป็นที่ซาบซึ้งกันในหมู่พระกรรมฐาน สมัยแรกที่เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น อันเป็นพระอาจารย์ใหญ่ว่า…

“หลวงปู่หลุยชอบธุดงค์วิเวกไปในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ…”

บางครั้งท่านจะธุดงค์ไปโปรดลูกศิษย์ที่ฝากตัวไว้กับท่านด้วยความเมตตาเสมอหน้ากัน…

ตามปกติท่านไม่นิยมยกย่องศิษย์ผู้หนึ่งผู้ใดให้เหนือกว่าศิษย์คนอื่น ๆ ด้วยท่านจะมีเมตตาให้เสมอกัน

…หากว่าศิษย์คนหนึ่งคนใดมีความผิดบกพร่องท่านจะไม่ตำหนิต่อหน้าธารกำนัลเลย…

“แต่ท่านจะกล่าวตักเตือนศิษย์ผู้นั้น เงียบ ๆ สองต่อสองเท่านั้น! ”

หลวงปู่หลุยท่านเจริญรอยตามพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อยู่อย่างหนึ่งคือ …การไม่ยึดติดสถานที่ให้เกิดกิเลส ความกังวล

ทว่าไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน หลวงปู่หลุย จะให้ความอุปการะ ต่อสถานที่แห่งนั้น ด้วยปัจจัยสี่ที่ท่านได้รับการถวายไว้ อันสมควรแก่สมณบริโภค ตลอดทั้งเครื่องอุปโภคตามความเหมาะสม…

ครั้งหนึ่งหลวงปู่หลุย ได้ไปพำนักอยู่ที่ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย ได้จำพรรษาอยู่ติดต่อกันมานาน ๖ พรรษา ตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ จนกระทั่งถึงปี ๒๕๑๖

ในระหว่างที่อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำผาบิ้ง หลวงปู่หลุยได้สร้างเสนา สนะกุฏิสงฆ์ และที่พักอาศัยการปฏิบัติธรรม และยังได้ซ่อมแซมสิ่งชำรุดอีกทั้งสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้ใช้ประโยชน์มาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับทางขึ้นถ้ำผาบิ้งก็สร้างเป็นบันไดปูน ขึ้นจนถึงที่ประดิษฐานองค์พระประธาน คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ทำให้ศรัทธาสาธุชนผู้นับถือ พระบวรพุทธศาสนาต่างขึ้นไปนมัสการกราบไหว้องค์พระพุทธรูป ได้สบายและความสะดวกกว่าแต่ก่อน…

ที่ถ้ำบิ้งนี้ เป็นถ้ำที่มีความเร้นลับและศักดิ์สิทธิ์มาก…

ประมาณเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ (ประมาณ ๘๐ กว่าปีแล้ว) ท่านพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เคยธุดงค์ไปบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำผาบิ้ง แต่ลำพังรูปเดียว

กล่าวกันว่า สมัยนั้นเป็นป่ารกทึบมาก อุดมด้วยต้นพญาไม้ หนาแน่นชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้าย ฯลฯ

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้จาริกไปแห่งอื่นต่อไป

ประวัติของถ้ำผาบิ้ง มักจะมีพระธุดงค์หรือพระนักวิปัสสนาจารย์ จาริกไปบำเพ็ญเพียรในถ้ำเสมอ ๆ คล้าย ๆ กับว่าพระธุดงค์รูปใดผ่านมาทางถ้ำผาบิ้งแล้วไม่แวะเข้าปฏิบัติสมณธรรมแล้ว จะรู้สึกว่าตนยังขาดอะไร บางสิ่งบางอย่างอยู่ ฯลฯ

สมัยเมื่อหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ท่านอายุยังไม่มาก ท่านพร้อมด้วยสามเณรหนึ่งรูป ได้ธุดงค์ไปยังจังหวัดเลย มีความประสงค์จะไปพักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำผาบิ้ง

ได้มีกลุ่มชาวบ้านที่หวังดีได้กล่าวทัดทานเตือนท่านว่า…

“ที่ถ้ำผาบิ้ง พักไม่ได้ เพราะมีสิ่งเร้นลับ อาถรรพณ์ร้ายแรง อัศจรรย์มาก เมื่อถึงวันดีคืนดีจะมีเสียงปี่พาทย์ราดตะโพนกระหึ่มก้องทีเดียว…ในถ้ำมีดวงวิญญาณอสูรร้ายไม่ยอมให้ใครเข้าไปกล้ำกราย”

…แต่หลวงปู่ดุลย์ไม่ยอมเชื่อคำชาวบ้าน ท่านได้เข้าไปในถ้ำผาบิ้ง พร้อมกับเณรน้อย และได้บำเพ็ญเพียรอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ลาจากมา…

อนึ่งที่ถ้ำผาบิ้งนี้ มีฝูงค้างค้าวอยู่นับแสนนับล้านตัวทีเดียว เวลาค่ำ จะบินออกมาหากินดูเป็นสายยาวไปในท้องฟ้า ราวกับพายุงวงช้างมหายักษ์ก็ปานกัน !

เคล็ดลับในการที่พระธุดงค์จะอยู่บำเพ็ญเพียรในถ้ำผาบิ้ง ก็คือต้อง บอกกล่าววิญญาณในเถื่อนถ้ำเสียก่อน แล้วแผ่เมตตาให้เขา…และอย่าเห็นแก่หลับนอน ต้องบำเพ็ญเพียรวันยังค่ำ คืนยังรุ่ง…มีความสำรวม กาย วาจา ใจ…

…และยามค่ำคืน ดวงวิญญาณจะปรากฏร่างและเสียงให้เห็นถ้าพระผู้ปฏิบัติไม่หวาดกลัว มีแต่แผ่เมตตาให้ก็เป็นอันไม่มีอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นเลย…

หลวงปู่หลุยท่านจากถ้ำผาบิ้งไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ แต่ท่านก็ให้ความเมตตาอุปถัมภ์บำรุงวัดถ้ำผาบิ้งเสมอมามิได้ขาด ตราบสิ้นอายุขัยของท่าน…ซึ่งต่อมาได้พระราชทานเพลิงศพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ (อายุของท่านประมาณ ๙๐ ปี)

หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านได้กล่าวอยู่เสมอว่า…

“พระกรรมฐานต้องเตรียมพร้อมในการอยู่การไป ต้องไม่ติดถิ่น จะตายเมื่อใดไม่ทราบได้ ต้องหมั่นทำความเพียรไว้ตลอดเวลา…”

อนึ่งพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่นก็เคยกล่าวไว้ โดยมีศิษย์บันทึกไว้ว่า

“พระกรรมฐานอยู่ในที่เดียวจำเจ ทำให้จิตใจอ่อนแอ เมื่อพระกรรมฐานอยู่ที่เดียวจำเจ จิตใจก็ไม่เข้มแข็ง เกิดการย่อหย่อนต่อความเพียร พยายาม…”

ดังนั้น… จึงควรที่พระกรรมฐานจักจำเป็นต้องออกธุดงค์ จาริกแสวงหาความวิเวก ทรมานตน ให้อด ๆ อยาก ๆ ทุลักทุเลธุดงค์หามรุ่งหามค่ำ อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรและถ้ำผาโตรกธารรุกขมูล… เพื่อจิตใจจะได้เข้มแข็ง แข็งแกร่ง มีความกระตือรือร้นขึ้นมา เพราะธรรมชาติได้หล่อหลอมจิตใจขึ้นมาเป็นขั้นตอน…

ก่อนที่หลวงปู่หลุย จันทสาโร จะออกจากถ้ำผาบิ้งท่านได้มอบให้ “หลวงปู่ดี กลยาโณ” เป็นผู้ดูแลวัดถ้ำผาบิ้ง และดูแลสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาสืบต่อไป

ครั้นอยู่ไม่นาน…หลวงปู่ดีก็ขออนุญาตหลวงปู่หลุยออกไปท่องธุดงค์แสวงหาความวิเวกบ้าง…ฯลฯ

“หลวงปู่ดี กลยาโณ” ได้จากถ้ำผาบิ้งไปแล้ว…ต่อมาได้กลับมามรณภาพที่โรงพยาบาลจังหวัดเลย เพราะโรคชรา ฯลฯ

พระมนตรี คณโสณโณ ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างดีคือ…”พระอาจารย์หลั่ง” นั่นเอง ท่านได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส “วัดถ้ำผาบิ้ง” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒

ต่อมา…พระอาจารย์มนตรีหรือพระอาจารย์หลั่งได้อัญเชิญศพหลวงปู่ดีจากโรงพยาบาลเมืองเลยกลับมาทำการฌาปนกิจศพที่วัดถ้ำผาบิ้ง เมื่อวันที่ ๒ ธ.ค. ๒๕๒๗

ลูกศิษย์ลูกหาได้อุทิศส่วนกุศลให้ “หลวงปู่ดี” จนครบ ๗ วัน… จึงได้เก็บอัฐิไว้ที่ถ้ำผาบิ้ง แล้วจึงรายงานให้หลวงปู่หลุยได้ทราบอันเป็นไปตามควรแก่กาล…

กาลต่อมา…ในฐานะเจ้าอาวาส วัดถ้ำผาบิ้ง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากหลวงปู่หลุย พระอาจารย์มนตรีก็ได้ปฏิสังขรณ์วัดถ้ำผาบิ้งต่อไป…กระทั่งถึงทุกวันนี้…

ต่อไปขอเชิญรับทราบคำสั่งสอนหรือทัศนะธรรมของหลวงปู่หลุย จันทสาโร ดังนี้

“ดอกบัว…เป็นทัศนาการแก่ชาวมนุษย์ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง ชมเชยดอกบัวมีกลิ่นหอม ดอกบัวเกิดมา จากเปลือกตมที่สกปรก แม้พระนิพพานก็เกิดมาจากโลกีย์ทั้งนั้น แต่เดินมรรคได้ถูกจึงจะบรรลุได้…”

“เห็นความรู้ การพิจารณาในไตรลักษณ์นั้นเอง เป็นตัวพระนิพพานเพราะใจไม่ถือเรา ไม่ถือเขา วางอารมณ์จิตเกษม…”

“จิตปกติหนึ่ง…จิตบริสุทธิ์…กลายเป็นจิตพระอริยเจ้าไปเสียแล้ว เรียกว่า “อเสขบุคคล” จิตไม่ประกอบด้วยกิเลส เสร็จกิจที่จะต้องทำความเพียร (เสวยความสุขสิ้นเชิง)…การต่อสู้สงครามกับกิเลส มีหลายแง่หลายงอน ต้องเดินตามมรรคแปด ให้ถูกต้องตามทางพระอริยเจ้า… จึงสิ้นทุกข์ได้จึงจะพ้นทุกข์ข้ามหรตคไปได้…”

“เหตุนั้น…พระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกก็ดี พระอรหันต์ขีณาสพก็ดี ต้องสร้างพระบารมีเป็นการใหญ่ จึงจะตรัสรู้พระธรรมได้”

“การภาวนา การสละตาย…ถ้าภาวนาสละตายได้ ก็จะแลเห็นความไม่ตาย ถ้าภาวนาสละตายไม่ได้ แปลว่าไม่เห็น วางเจตนาสละความตายไม่ได้ !”

“ขณะภาวนาความสะดุ้ง ล้วนเป็นปีติทั้งนั้น ต่อนั้นเกิดนิมิตขยายส่วนของธรรมะ ต่อนั้นเดินทางปัญญา…ต่อนั้นสำเร็จวิโมกข์ วิมุติ เป็นลำดับกันเสมอไป…”

“…บางครั้งจิตเคลิ้มไปนั้น จิตอยากนอน ไม่ใช่เข้าสู่ภวังค์ จิตโลกีย์ เป็นจิตห่วงอารมณ์มากกังวลมาก มารมาก นิวรณ์มาก หามสังขารปรุงแต่ง หนักมากไปช้าไปด้วยเมตตา…ไม่เด็ดเดี่ยว ไม่กล้าหาญ ไม่บรรลุเร็ว…”

“คนที่มีครอบครัว…และไม่มีครอบครัว เดินทางต่างกัน ความช้า เร็วต่างกันมาก !!!”

———————————
คัดลอกจาก: แก่นธรรมพระแท้
แสงเพชร

_/|\_ _/|\_ _/|\_

ด้วยจิตกราบบูชา

http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007203.htm

. . . . . . .