พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)

พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)

พระธรรมวิสุทธิมงคล
(บัว ญาณสมฺปนฺโน)
หลวงตาบัว, หลวงตามหาบัว

เกิด 12 สิงหาคม พ.ศ. 2456
อุปสมบท 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477
มรณภาพ 30 มกราคม พ.ศ. 2554
พรรษา 76
อายุ 97
วัด วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด)
จังหวัด อุดรธานี
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, เปรียญธรรม 3 ประโยค
ตำแหน่ง
ทางคณะสงฆ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด

พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสัมปันโน) หรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 – 30 มกราคม พ.ศ. 2554) เป็นพระภิกษุชาวจังหวัดอุดรธานี สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ฝ่ายวิปัสสนาธุระ อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดป่าบ้านตาด ท่านเป็นศิษย์ของพระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)) ซึ่งได้มีโอกาสอุปฐากรับใช้หลวงปู่มั่นในช่วงปัจฉิมวัยและเป็นผู้หนึ่งที่ได้บันทึกประวัติของหลวงปู่มั่นโดยละเอียดในเวลาต่อมา
หลวงตามหาบัวเป็นที่รู้จักในฐานะพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานผู้มีปฏิปทาที่มั่นคง แน่วแน่ เด็ดขาด และจริงจัง บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่นต่างนับถือกันว่าท่านเป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งที่มีปฏิปทาที่คล้ายคลึงกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต การกล่าวขวัญถึงท่านในหมู่ผู้ศรัทธามีหลายเรื่องค่อนไปในเชิงอภินิหาร เช่น การล่วงรู้วาระจิตของบุคคลอื่น การที่เศษผม เศษเล็บ และชานหมากของท่านกลายเป็นพระธาตุไปตั้งแต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้น
หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2540 ชื่อของหลวงตามหาบัวได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งในและนอกประเทศ จากการที่ท่านได้ดำเนินการทอดผ้าป่าทองคำและเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ชื่อ “โครงการผ้าป่าช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” เพื่อใช้เป็นทุนสำรองของประเทศไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินการมาโดยตลอดในช่วงปัจฉิมวัยของท่าน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปัจฉิมวัยนี้เองได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองจากนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนจำนวนหนึ่ง เช่น ประเด็นการคัดค้านการรวมบัญชีเงินทุนสำรองของประเทศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นการคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสงฆ์ฉบับใหม่ และการเทศนาวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วง พ.ศ. 2548 เป็นต้น

ประวัติ

ชาติกำเนิด
พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสัมปันโน) หรือ หลวงตามหาบัว เดิมมีชื่อว่า “บัว โลหิตดี” ท่านเกิดวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ท่านมีพี่น้องทั้งหมด 16 คน ในวัยเด็กท่านเป็นคนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยได้ทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ[1]

อุปสมบท
เมื่อท่านอายุครบอุปสมบทแล้ว บิดาและมารดาของท่านปรารถนาที่จะให้ท่านบวชด้วยหวังพึ่งใบบุญจากการบวชของท่าน แต่ท่านก็ไม่ตอบรับแต่ประการใด ซึ่งทำให้บิดาและมารดาของท่านถึงกับน้ำตาไหล ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านกลับมาพิจารณาถึงการออกบวชอีกครั้ง ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจที่จะออกบวชโดยท่านได้กล่าวกับมารดาว่า “เรื่องการบวชจะบวชให้ แต่ว่าใครจะมาบังคับไม่ให้สึกไม่ได้นะ บวชแล้วจะสึกเมื่อไหร่ก็สึก ใครจะมาบังคับว่าต้องเท่านั้นปีเท่านี้เดือนไม่ได้นะ” ซึ่งมารดาของท่านก็ตกลงตามที่ท่านขอ[2]
ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่วัดโยธานิมิตร ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้ฉายานามว่า “ญาณสมฺปนฺโน” แปลว่า “ถึงพร้อมแล้วด้วยการหยั่งรู้”[3][4] ท่านมีความเคารพเลื่อมในเรื่องการภาวนาและกรรมฐาน ท่านได้สอบถามวิธีการภาวนาจากพระอุปัชฌาย์ของท่านและได้รับการแนะนำให้ภาวนาว่า “พุทโธ” ท่านจึงปฏิบัติภาวนาและเดินจงกรมเป็นประจำ[5]

เรียนปริยัติ
ในระหว่างนั้นท่านเริ่มเรียนหนังสือทางธรรมและศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติ รวมทั้งพุทธสาวก โดยหลังจากที่พุทธสาวกเหล่านั้นได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้วจะเดินทางไปบำเพ็ญในป่าอย่างจริงจังจนสำเร็จอรหันต์ ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสและมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติเพื่ออรหัตผลให้จงได้ โดยตั้งสัจอธิษฐานว่า เมื่อเรียนจบเปรียญธรรม 3 ประโยค แล้วจะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียว[5]
อย่างไรก็ตาม ท่านยังมีข้อสงสัยว่า ถ้าท่านดำเนินตามแนวทางปฏิบัติตามพระสาวกเหล่านั้น ท่านจะสามารถบรรลุถึงจุดที่ท่านเหล่านั้นบรรลุหรือไม่ รวมทั้งยังสงสัยว่ามรรคผลนิพพานจะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่ ความสงสัยเหล่านี้ทำให้ท่านมีความมุ่งหวังที่จะได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งท่านมีความเชื่อมั่นว่าท่านอาจารย์มั่นจะสามารถไขปัญหานี้ให้ท่านได้[5]
ท่านเดินทางศึกษาพระปริยัติในหลายแห่ง อาทิ วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรม หลังจากนั้น ท่านได้เดินทางไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ในเวลานั้นพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านได้อาราธนานิมนต์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เพื่อขอให้ไปจำพรรษาที่จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์มั่นรับนิมนต์นี้และได้เดินทางมาพักที่วัดเจดีย์หลวงเป็นการชั่วคราวจึงทำให้ท่านได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นครั้งแรก ท่านศึกษาทางปริยัติที่วัดแห่งนี้ จนกระทั่ง ท่านสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2484 นับเป็นปีที่ท่านบวชได้ 7 พรรษา[5]

ปฏิบัติกรรมฐาน
หลังจากสำเร็จการศึกษาทางปริยัติ ท่านเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมาเพื่อปฏิบัติกรรมฐานได้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางไปจังหวัดสกลนครโดยตั้งใจจะไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์มั่นรับท่านเป็นลูกศิษย์และได้พูดขึ้นว่า[6]

…ท่านมาหามรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน? ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลจริง ๆ อยู่ที่ใจ ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรมของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกัน ท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ…

— มั่น ภูริทัตโต
คำกล่าวนี้ทำให้ท่านเชื่อมั่นว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่จริงและเชื่อมั่นในพระอาจารย์มั่นที่พูดไขข้อข้องใจได้ตรงจุดแห่งความสงสัย ท่านรักษาระเบียบวินัยข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด หลังจากศึกษาอยู่กับพระอาจารย์มั่นในพรรษาที่ 2 ท่านเริ่มหักโหมความเพียรในการปฏิบัติกรรมฐาน จนกระทั่ง ผิวหนังบริเวณก้นช้ำระบมและแตกในที่สุด จนพระอาจารย์มั่นได้เตือนว่า “กิเลสมันไม่ได้อยู่กับร่างกายนะ มันอยู่กับจิต” ซึ่งท่านก็น้อมรับคำเตือนของพระอาจารย์มั่นทันที
อย่างไรก็ตาม ด้วยจริตนิสัยของท่านในเรื่องการภาวนานั้นถูกกับการอดอาหารเพราะทำให้ธาตุขันธ์เบาสบาย การตั้งสติทำสมาธิภาวนาก็ง่าย และช่วยให้การบำเพ็ญจิตภาวนาเจริญขึ้นได้เร็วกว่าขณะที่ออกฉันตามปกติ ถึงแม้จะมีผู้คัดค้านก็ไม่ทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ ด้วยท่านพิจารณาแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุอดอาหารเพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการโอ้อวดหรืออดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ฝึกฝนด้านจิตภาวนาเลยซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใด ดังนั้น ท่านจึงใช้อุบายนี้เพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาเรื่อยมา[7]
ในพรรษาที่ 10 ของท่าน ท่านฝึกสมาธิจนมั่นคงหนักแน่นและสามารถอยู่ในสมาธิได้เท่าไหร่ก็ได้ ท่านมีความสุขอย่างยิ่งจากที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ท่านติดอยู่ในขั้นสมาธิอยู่ถึง 5 ปี โดยไม่ก้าวหน้าสู่ขั้นปัญญา จนกระทั่ง พระอาจารย์มั่นจึงให้อุบายเพื่อให้ท่านออกพิจารณาทางด้านปัญญาและเตือนท่านว่า “…สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธินอนตายอยู่นี่หรือเป็นสัมมาสมาธิ…” ท่านจึงออกจากสมาธิและพิจารณาทางด้านปัญญาต่อไป[8]
ท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 แรม 14 ค่ำ เดือน 6 เวลา 5 ทุ่มตรง บนหลังเขาซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร[9]

ก่อตั้งวัดป่าบ้านตาด
ด้วยเหตุที่โยมมารดาของท่านล้มป่วยเป็นอัมพาต ท่านจึงพาโยมมารดาของท่านกลับมารักษาตัวที่บ้านตาดอันเป็นบ้านเกิดของท่าน หลังจากที่โยมมารดาของท่านรักษาตัวหายขาดแล้ว ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าโยมมารดาของท่านก็อายุมากแล้ว การจะพาไปอยู่ในถิ่นถุรกันดารเพื่อการปลีกวิเวกห่างจากผู้คนตามนิสัยของท่านก็จะทำให้โยมมารดาท่านลำบาก ประจวบเหมาะกับเวลานั้นชาวบ้านตาดมีความประสงค์อยากให้ท่านตั้งวัดขึ้นที่นั่นเช่นกัน โดยชาวบ้านได้ร่วมกันถวายที่ดินให้เป็นที่ตั้งวัด ดังนั้น วัดป่าบ้านตาดจึงเริ่มก่อตั้งขึ้น ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498[10] ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2513 โดยให้ชื่อว่า “วัดเกษรศีลคุณ”[11]

มรณภาพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศแก่พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) บนศาลาการเปรียญวัดป่าบ้านตาด

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (ด้านขวาในภาพ) ณ วัดเกษรศีลคุณ วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554
หลวงตามหาบัวมีอาการอาพาธลำไส้อุดตัน และมีปอดติดเชื้อมานานกว่า 6 เดือน คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างกุฏิปลอดเชื้อให้แก่หลวงตา แต่อาการอาพาธไม่ดีขึ้น จนเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 02.49 น. ตรวจพบสมองของหลวงตาหยุดทำงานใน ต่อมา ตรวจพบม่านตาขยายไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ออกซิเจนในเลือดมีค่าเท่ากับ 0 จากนั้นเวลา 03.53 น. ความดันโลหิตมีค่าเท่ากับ 0 หัวใจหยุดเต้นและหยุดการหายใจ สิริอายุได้ 97 ปี 5 เดือน 18 วัน 77 พรรษา[12]
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานในพิธีถวายน้ำหลวงสรงศพหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และทรงวางพวงมาลาหลวง พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พวงมาลาส่วนพระองค์ และพวงมาลาของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานโกศโถและทรงรับพระพิธีธรรมไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน[13] และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานบำเพ็ญพระราชกุศล 1 วัน[14] โดยโปรดให้พระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้แทนพระองค์เดินทางมาร่วมประกอบพิธีธรรม[15] จากนั้นจึงเปิดให้พ่อค้า ประชาชน ส่วนราชการต่าง ๆ เป็นเจ้าภาพตลอดไป
ส่วนพินัยกรรมที่ท่านเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 นั้น สรุปความได้ว่า ให้นำทองคำที่ได้รับบริจาคไปหลอม ส่วนเงินสดที่ได้รับบริจาคให้นำไปซื้อทองคำ แล้วนำมาหลอมรวมและมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นทุนสำรองเงินตราของฝ่ายบำบัดธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่มีเจตนาให้นำไปใช้ในงานอื่น นอกจากใช้เป็นเงินทุนสำรองของประเทศ โดยตั้งพระสุดใจ ทันตมโน รองเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด เป็นผู้จัดการมรดก รวมทั้ง ตั้งคณะกรรมการจัดงานศพและจัดการดูแลทรัพย์สินทั้งปวงอีกจำนวน 9 คน[16][17]

การช่วยเหลือสังคม

ด้านสาธารณสุข
การสงเคราะห์ด้านสาธารณสุขนั้นเป็นสิ่งที่ท่านเอาใจใส่มาโดยตลอด โดยท่านสอนเสมอว่า “มนุษย์เราไม่ว่าจะยากดีมีจนล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ดังนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพราะหากมนุษย์ไม่ช่วยสงเคราะห์มนุษย์ด้วยกันแล้วใครจะช่วย เรื่องความเจ็บป่วยนั้น เจ็บไปแค่หนึ่งแต่ครอบครัวก็ป่วยด้วยความห่วงใยอีกเท่าไหร่ ดังนั้น จึงควรเห็นใจกัน”[18] ท่านมักจะออกเยี่ยมโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นประจำพร้อมนำข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องใช้ต่าง ๆ ไปมอบให้โรงพยาบาลอยู่เสมอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารท่านก็จะให้ความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้านทั้งอาหารการกินและเครื่องมือแพทย์ ส่วนโรงพยาบาลที่อยู่บริเวณอู่ข้าวอู่น้ำท่านจะช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือแพทย์ไป ก่อนที่จะสงเคราะห์ด้านปัจจัย ท่านจะพิจารณาถึงความจำเป็นของเครื่องมือ รวมถึงกิริยามารยาของหมอพยาบาลในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยว่าเป็นยังไง จะสามารถนำเครื่องมือที่ท่านมอบให้ไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยได้จริงไหม และเมื่อมีโอกาสอันควร ท่านจะแสดงธรรมเตือนหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอยู่เสมอ
ท่านได้ให้การสงเคราะห์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการให้ปัจจัยในการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รถพยาบาล ที่ดิน สร้างและปรับปรุงตึกของโรงพยาบาล เป็นต้น รวมทั้ง ก่อตั้งกองทุนและมูลนิธิขึ้นหลายแห่งเพื่อช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ป่วยที่ไร้ยาก เช่น กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจนและไร้ที่พึ่ง มูลนิธิรวมเมตตามหาคุณ นอกจากนี้ ท่านยังให้ความอนุเคราะห์สถานพยาบาลต่าง ๆ มากกว่า 200 แห่ง ไม่เฉพาะในจังหวัดอุดรธานีเท่านั้น แต่ท่านยังสงเคราะห์สถานพยาบาลหลายแห่งในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาวด้วย[19]

สงเคราะห์หน่วยงานราชการ
เนื่องจากท่านได้พิจารณาว่าหน่วยงานราชการต่าง ๆ มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยเหลือ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ดังนั้น เมื่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น สถานีตำรวจภูธร สถานีรถไฟจังหวัด ทัณฑสถานหญิง กรมราชทัณฑ์ มาขอความช่วยเหลือ ถ้าท่านพิจารณาเห็นสมควร ท่านก็จะช่วยเหลือเต็มที่ทั้งในด้านอาหารการกิน เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึง การก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ มากราบท่าน ท่านก็มักแสดงธรรมเพื่อให้ข้อคิดแก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้น เช่น อย่ายึดติดลาภยศสรรเสริญ อย่ากินบ้านกินเมือง อย่าเห็นแก่ตัวให้เห็นประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง[20]
โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน[แก้]
โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า โครงการผ้าป่าช่วยชาติ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 เนื่องจากท่านเดินทางไปแจกสิ่งของตามโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารทำให้ทราบว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ มีหนี้สินเป็นอันมากซึ่งเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลมาจากวิกฤติทางการเงินของประเทศ ท่านรู้สึกสลดใจเป็นอันมากจึงดำริที่จะช่วยชาติโดยน้อมนำให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมกันบริจาคทองคำ เงินดอลลาร์ เงินสกุลต่างประเทศ และเงินบาท เพื่อช่วยชาติบ้านเมืองที่กำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำให้ฟื้นฟูและผ่านพ้นไปด้วยดี โดยเงินทองที่ได้มาจากการบริจาคนี้จะยกให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเข้าบัญชีฝ่ายออกบัตร (คลังหลวง) ทั้งหมด[21]
โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้รับเงินบริจาคเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นเงินจำนวน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นประธานเปิดโครงการ[22] ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้มอบเงินเข้าคลังหลวงรวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง รวมเป็นทองคำแท่งทั้งสิ้น 967 แท่ง จำนวน 12,079.8 กิโลกรัม หรือ 388,000 ออนซ์ ส่วนเงินตราต่างประเทศประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 15,000 ล้านบาท[23][24]
ภายหลังการมรณภาพของหลวงตามหาบัว โครงการช่วยชาติยังคงดำเนินต่อไปและได้ทำการมอบเงินเข้าคลังหลวงครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยเป็นทองคำแท่งจำนวนทั้งสิ้น 73.64 แท่ง น้ำหนักรวม 920.5 กิโลกรัม ดังนั้น จำนวนทองแท่งทั้งหมดที่บริจาคเข้าคลังหลวงรวมทั้งสิ้น 1,040 แท่ง น้ำหนักรวม 13,000.05 กิโลกรัม คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 19,188,413,280 บาท และเมื่อนำไปรวมกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีการนำเข้าสู่คลังหลวงไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 10,214,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 306,965,073.36 บาท จะรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 19,495,378,353 บาท[25][26][27]

สมณศักดิ์

พระครูสัญญาบัตร ที่ “พระครูญาณวิสุทธาจารย์” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2511[28]
พระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2536[29]
พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระธรรมวิสุทธิมงคล” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542[30]

ปริญญากิตติมศักดิ์

ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น[31]
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผลงานหนังสือ

ท่านมีผลงานการประพันธ์ที่รวบรวมเป็นหนังสือหลายเล่ม โดยเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เช่น ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติ อาทิ ศาสนธรรมปลุกคนให้ตื่น, แว่นส่องธรรม, ธัมมะในลิขิต หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นสูงสำหรับผู้ฝึกจิตตภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานโดยเฉพาะ อาทิ ก้าวเดินตามหลักศาสนธรรม, รากแก้วของศาสนา, แสวงโลก แสวงธรรม นอกจากนี้ ยังมีหนังสือทั่วไปอีก เช่น รักชาติไทย ส่งเสริมสินค้าไทย, พระพุทธศาสนารักษาชาติไทย และพระมหากษัตริย์คือหัวใจของชาติไทย เป็นต้น[32]
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่งหนังสือที่เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของท่าน อาทิ หยดน้ำบนใบบัว ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเรียบเรียงจากเทศนาธรรมของพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)ในวาระต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแก่สถานศึกษาทุกระดับชั้น[33], ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ จัดทำขึ้นโดยวัดป่าบ้านตาด ซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงถวายแด่พระสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)[34]

ความขัดแย้งทางการเมือง

ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2548 หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ได้ตีพิมพ์การเทศนาของพระธรรมวิสุทธิมงคล ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างหนัก และมีเนื้อหาส่วนหนึ่งได้กล่าวถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่ามีการใช้อำนาจ “…มุ่งหน้าต่อประธานาธิบดีชัดเจนแล้วเดี๋ยวนี้ พระมหากษัตริย์เหยียบลง ศาสนาเหยียบลง ชาติเหยียบลง…”[35] ทำให้เกิดหัวข้อโต้เถียงกันเป็นวงกว้าง เนื่องจากพระสงฆ์ควรอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ต่อมาภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ จึงได้ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ เป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่ได้ฟ้องร้องพระธรรมวิสุทธิมงคลแต่อย่างใด
และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 พระธรรมวิสุทธิมงคลได้แนะนำให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และในการเทศนา ท่านได้อธิบายถึงรัฐบาลว่า “เลวทราม ฉ้อราษฎร์บังหลวง กระหายอำนาจและโลภ”[36]

http://th.wikipedia.org/

. . . . . . .