เทศน์กัณฑ์สุดท้ายหลวงตามหาบัว”หมดธุระ”-“เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว”

เทศน์กัณฑ์สุดท้ายหลวงตามหาบัว”หมดธุระ”-“เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว”

บทความทางพุทธศาสนา

ก่อน หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จะละสังขารในวันที่ 30 ม.ค.2554 เสียงเทศนา เทศนาโปรดฆราวาสช่วงหลังฉันเช้าของทุกวันเป็นเวลาต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว ได้เงียบหายไปก่อนนั้นแล้วกว่า 2 เดือน

มกราคม 2554 ท่านมิได้แสดงธรรมเลย

ธันวาคม 2553 หลวงตาออกโปรดญาติโยมที่วัดเขาใหญ่เจริญธรรมญาณสัมปันโน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในวันที่ 9 ธันวาคม 2553 แต่ก็มิได้เทศน์อะไรอีกแล้ว

พฤศจิกายน 2553 ท่านออกโปรดฐาติโยมที่วัดป่าเกษรศีลคุณธรรมเจดีย์ (ผาแดง) ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 23พ.ย.2553 แต่ก็ไม่ได้เทศน์เสียแล้วมีแต่พูดคุยสอบถามอะไรเล็กๆน้อยๆเท่านั้น

ตรวจสอบกับเว็บหลวงตาดอทคอม เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของวัดป่าบ้านตาดพบว่า ในเดือนพฤศจิกายน หลวงตามหาบัวเทศน์อบรมฆราวาสครั้งสุดท้าย ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 เทศนากัณฑ์นี้ชื่อ “ความดีงามทั้งหมดลงในธรรมธาตุ”

เช้าวันนั้นหลังจากศิษย์ใกล้ชิดรายงานเรื่องความก้าวหน้าของการสร้างตึก 10 ชั้น มูลค่า 500 ล้านบาทที่โรงพยาบาลอุดรธานี รวมทั้งยอดเงินและทองคำที่ได้บริจาคเข้าคลังหลวงแล้ว ท่านเทศน์สั้นๆ ก่อนจะบอกว่า “หมดธุระแล้ว”

คำเทศน์นั้นมีว่า”เราก็พอใจเราที่ได้ช่วยโลกตามกำลังนะ คือการปฏิบัติของเราทั้งหมดนี้ให้ออกนอกหมดเลย ออกเป็นประโยชน์โลก เราไม่สั่งสมไม่เก็บอะไรทั้งนั้น ออกๆ เลย ออกหมดเลย แล้วอันนั้น (ตึกสงฆ์อาพาธ ๑๐ ชั้นที่หลวงตาเมตตา) นี่ก็ใช่แล้ว ตึก 10 ชั้น ตั้ง 10 ชั้นนะ ตึก 10 ชั้น อันนั้นก็อยู่ด้วยกันจะเป็นอยู่ในบริเวณเดียวสร้างด้วยกันนะ

ให้มันพอ เอาให้พอเสียทุกอย่าง เวลาพอจริง ๆ มาพอที่นี่นะ สร้างที่ไหน ๆ ก็กวาดต้อนเข้ามา ๆ เวลาเข้ามาแล้วมาอยู่ที่ดวงใจ ใจกับธรรมเป็นอันเดียวกันเรียกว่าธรรมธาตุ นั่นละสุดยอด สร้างความดีงามทั้งหมดมา มาลงในธรรมธาตุ ให้พรนะ หมดธุระแล้วให้พร”

ก่อนจะกล่าวว่า หมดธุระแล้วในวันที่ 9 พฤศจิกายน ท่านเทศน์เรื่องการปฏิบัติ เทศนากัณฑ์นี้มีชื่อว่า “ปฏิบัติตัวเองเอาจริง” ท่านเทศน์รื่องการปฏิบัติของท่านราวจะบอกกับศิษย์ว่า ให้”ปฏิบัติตัวเองเอาจริง”

เทศนานั้นมีความว่า “เขาว่าอาจารย์มหาบัวนี้ดุเก่งนะ ได้ยินทั่วโลก ต่อไปนี้จากนั้นมาให้เบาลงๆ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินเลยว่าอาจารย์มหาบัวดุ หายไปไหนก็ไม่รู้ มันไปกับเจ้าของ เจ้าของแก่เข้าใจไหม บารมีอะไรถึงว่าดุๆ ดุแบบไหนวะ บารมีอะไรที่ว่าดุ

จริง ๆ นะตั้งแต่ก่อนมีแต่พระแต่เณรเฉพาะๆ โอ๋ย เข้มข้นมากนะ การปฏิบัติเหมือนกันตานี้รวดเร็ว ตารวดเร็ว หูก็รวดเร็ว เดี๋ยวแป๊บนู้น เดี๋ยวนี้แป๊บนี้กับพระกับเณรละ เป็นอย่างนั้นละ นู่นออกมานู้น อยู่กุฏินี้ออกมาช่องนั้นมาต้นค้อลงไปนู้น ลงไปน้ำบ่อ เห็นพวกพระพวกอะไรตอนบ่ายสองโมง พวกพระพวกอะไรมาฉันน้ำร้อนน้ำชาหรืออะไรอยู่นั้น พอมองเห็นเราทางนู้นนะ เราออกทางนู้น มองเห็นทางนี้ เราออกทางนู้นเราไปทางนู้นนะ เราไม่ได้มานี่ ไปทางนู้นเสียก่อน ไปก็ไปดูนะ ไม่ใช่ธรรมดา ไปดูสอดนั้นแสกนี้อะไรบกพร่องอะไรไม่ดี ระเกะระกะอันนั้นละกลับมา ทีนี้กลับมาได้เรื่องล่ะ เพราะอย่างนั้นพระเณรถึงกลัวซิ

มันมาจากการปฏิบัติของตัวเองแต่ดั้งเดิม การปฏิบัติตัวเองเอาจริงๆ นะ ว่าดัดเจ้าของนี้เอาจริงมากทีเดียว เคลื่อนไม่ได้ ยิ่งเวลาเห็นคนอื่นมันขวางตาก็ใส่เลย มองไปเห็นคนอื่นคนอื่นมันขวางตาเอาล่ะๆ นั่นละพระเณรกลัวกลัวเพราะเหตุนี้ เพราะดุเจ้าของดุจริง ๆ บกพร่องตรงไหน ๆ ดัด ๆ ๆ ตลอด ที่พระเณรมันกลัว นู่นออกจากนู้นไปนู่น พระฉันน้ำร้อนน้ำอะไรอยู่ที่นู่น เราออกมานู่นตรงไปนู้น พอกลับมาเห็นพวกแก้วน้ำแก้วอะไรล้มระนาวเลย เจ้าของหายหมด ไม่มีเหลือพวกแก้วน้ำแก้วอะไรต่ออะไร พวกน้ำร้อนน้ำชานั่นละ ตอนบ่ายสองโมงมาหายหมด เห็นพระองค์หนึ่งอยู่ข้างหลังคอยเก็บ พอมาก็ขึ้นเรา เณรเป็นอย่างไรทั้งกินทั้งเททั้งอะไรต่ออะไรนี่ละ เป็นเพราะเหตุไร เราลงไปนู้นละกลับขึ้นมาพระเณรหนีหมดแล้ว แต่แก้วสาดกระจาย เป็นอย่างนั้นละ เอาจริงน่ะเราแต่ก่อน เป็นอย่างนั้นจริงๆ ดัดเจ้าของก็อย่างนั้นละ เคลื่อนคลาดไม่ได้ ว่าอะไรเป็นอันนั้นดัดเจ้าของ เจ้าของเหลาะแหละแล้วว่าคนอื่นไม่ได้นะ คือเราฝึกเจ้าของก็ฝึกอย่างนั้นละ เอาจริงๆ จังๆ

พอพูดเรื่องนี้แล้วระลึกพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นอยู่หนองผือ อยู่ ๆ ท่านก็ “เออ” ท่านว่า มีพระนวดเส้นถวายท่านอยู่สององค์ ส่วนมากเรื่องของท่านกับของเราพอพูดเรื่องอะไรเกี่ยวกับเราพระเณรจะมาเล่าให้ฟังหมด มาเล่าให้เราฟังนะ แต่กับท่านจริง ๆ ไม่เคย ไม่พูด ถ้าท่านพูดเรื่องของเราแล้วพระเณรเป็นต้องมาเล่าให้เราฟัง เราก็เหมือนไม่ได้ยิน เฉย ท่านก็เหมือนไม่ได้พูด เฉยเลย “เวลาผมตายแล้วท่านทั้งหลายจะอาศัยใครล่ะ” ท่านพูดมาลอย ๆ นะ อยู่เงียบๆ พระเณรนวดเส้นถวายท่าน พูดธรรมะธัมโมเลิกกันไปละนะก็มีพระเณรนวดเส้นถวายท่าน พูดเกี่ยวกับเรา ในเวลาว่างๆนะ ไม่ใช่ท่านจะพูดบ่อยๆ ท่านพูดเวลาโอกาสว่างๆ เงียบๆ อยู่ๆ ก็ “เวลาผมตายพวกท่านจะอาศัยใครล่ะ” ท่านว่าอย่างนั้นนะ พระเณรก็หูหนวกตาบอดปิดปาก หูอยู่ลึกๆ ฟังเงียบๆ ท่านว่า “เวลาผมตายนี้พวกท่านทั้งหลายจะอาศัยใครล่ะ” ท่านว่าอย่างนั้นละ

นานๆ จะได้ยินทีหนึ่งท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านไม่ได้พูดบ่อย โอกาสดีๆ เพราะท่านจอมปราชญ์ท่านจะพูดสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ พูดออกมาคำไหนเอาไปพิจารณาแล้วถูกต้องหมดนะ คือท่านไม่ได้พูดสุ่มสี่สุ่มห้าท่านเอง เราก็ไม่กล้าสุ่มสี่สุ่มห้ากับท่านไม่ได้ ฟังก็ต้องเงียบเราก็ดี ใช้สติปัญญาฟัง เป็นอย่างนั้นตลอด เวลาท่านว่า “เออ ผมตายแล้วพวกท่านจะอาศัยใครล่ะ” อยู่ๆ ก็ “เออ เวลาผมตายแล้วให้อาศัยท่านมหานะ” ไม่พูดมากนะ “ให้อาศัยท่านมหานะ” ท่านไม่ออกบัว เพราะมีมหาองค์เดียว “ให้อาศัยท่านมหานะ” “ท่านมหาสำคัญอยู่นะ ทั้งภายในภายนอก ภายในจิตใจ ภายนอก….ปฏิบัติ นั่นละทั้งภายในภายนอก”

ใครจะไปแหลมคมยิ่งกว่าพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ตาแหลมคมมากทีเดียว ความคิดความอ่านออกมาช่องไหนๆ นี้เรานำไปพิจารณาถูกต้องหมดเลย แต่กับเราไม่ค่อยได้ดุ มันตัวเก่งมันหลบหมัดเร็ว หลบหมัดเร็ว เหล่านั้นดุเรื่อย ดุเรื่อย กับเราไม่ค่อยได้ดุ”

หากพิจารณาจากเทศนา 2 กัณฑ์สุดท้ายนี้ก็อาจพอสรุปได้ว่า ท่าน “หมดธุระ”แล้ว เและถ้าจะปฏิบัติก็ให้ฝึกตัวดัดตัวเองอย่างเอาจริงเอาจริง

หลวงตามหาบัวเทศน์ไว้ก่อนนี้หลายปีแล้วว่า เงินที่คนทั่วประเทศบริจาคมาที่ท่านั้นยกให้คลังหลวงหมด ตายแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะจะเป็น “วาระสุดท้ายของเราที่จะช่วยโลกอย่างเต็มหัวใจ” เพราะหลังจากนี้ “เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว เราบอกตรงๆเลย จะเป็นวาระสุดท้ายของเราที่ตายกองกันในวัฏจักรนี้กี่กัปกี่กัลป์มา เราเคยตายมาแล้วกี่ภพกี่ชาติคราวนี้เลิกกัน”

ขณะที่ท่านทิ้งธาตุขันธ์ก่อนขึ้นกองฟอนเพื่อ “ประโยชน์แก่โลกนี้ เพื่ออุ้มชาติไทยให้เต็มสติกำลังความสามารถ” เป็นครั้งสุดท้าย ที่เหลือนั้น “ดีดปั๊บในทันที ดีดแล้วก็เท่านั้นไปเลย คำว่า นิพพานธาตุหรือธรรมธาตุ เราไม่ถามใครแล้ว”

ท่านหมดธุระแล้วและลาโลกครั้งนี้ลาลับ”เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว”

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/คาบใบลานผ่านลานพระ/72517/เทศน์กัณฑ์สุดท้ายหลวงตามหาบัวหมดธุระ-เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว

http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4186:qq-qq-&catid=96:2009-09-19-10-13-59&Itemid=326

. . . . . . .