ประวัติหลวงปู่ ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก

ประวัติหลวงปู่ ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก

พระอริยเจ้าแห่งหริภุญชัย

วัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน

จากหนังสือ วังมุย แห่งหริภุญชัย

จัดทำโดย สมาชิกฯ อินทราพงษ์

หลวงปู่ ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก แห่ง วัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน

นามเดิมชื่อ ชุ่ม ปลาวิน ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2442 เมื่อวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 เหนือ ปีกุน ณ บ้านวังมุย จ.ลำพูน บิดาชื่อ นายมูล ปลาวิน มารดาชื่อ นางลุน ปลาวิน มีพี่น้องสืบสายโลหิตเดียวกัน 6 คน เป็นผู้หญิง 3 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5

บุตรคนหัวปี ชื่อ พี่เอ้ย (หญิง) บุตรคนรองชื่อ พี่เป็ง (หญิง) บุตรคนที่สามชื่อ พี่โต (ชาย) บุตรคนที่สี่ ชื่อพี่แก้ว (หญิง) บุตรคนที่ห้า คือ ครูบาชุ่ม และบุตรคนสุดท้องชื่อ นายเปา (ชาย)

บิดาของท่านเป็นคนบ้านวังมุยโดยกำเนิด ส่วนมารดาเป็นคนบ้านขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ (ระยะทางระหว่างบ้านวังมุยกับบ้านขุนคงอยู่ห่างกันประมาณ 10 กิโลเมตร) บุพการีทั้ง 2 ท่าน เป็นคนเชื้อสาย ละ บางคนออกเสียง วะ หรือ ลัวะ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

เมื่อเด็กชายชุ่ม ปลาวิน เจริญวัยขึ้นก็พอจะทำงานช่วยเหลือบิดา มารดา เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการงานได้บ้าง เช่น ช่วยทำงานในทุ่งนา เท่าที่สามารถจะทำได้ทุกอย่าง เลิกงานก็ทำสวนทำไร่ ถางหญ้าพรวนดิน และงานบ้าน อย่างการปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือน เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของบิดา มารดาเท่าที่กำลังความสามารถของตนจะทำได้

ครั้นเมื่อเติบโตได้พอสมควรได้ไปศึกษาเล่าเรียนการอ่าน การเขียนหนังสือเบื้องต้น กับเจ้าอาวาสวัดศรีสองเมือง (เมื่อรกร้างไป ชาวบ้านจึงเรียกวันว่า วัดห่าง) พร้อมกับเรียนวิธีการอ่านบทสวดมนต์ และธรรมะเบื้องต้นจากท่านเจ้าอาวาส การที่เด็กชายชุ่ม ปลาวิน เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย และมีความจำดีเลิศ จึงเป็นที่รักใคร่ของท่านเจ้าอาวาส และบรรดาภิกษุสามเณรในวัดเป็นอันมาก และการที่ได้คลุกคลีกับท่านเจ้าอาวาสบ่อยๆ นี่เอง ทำให้ท่านค่อยๆ ซึมซับหลักพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีละเล็กทีละน้อยจนสามารถอ่านหนังสือ และสวดมนต์ได้อย่างคล่องแคล่ว เริ่มมีใจรักเคารพในสมณเพศมากขึ้นทุกวัน

ทดแทนบุญคุณพ่อแม่

ครั้งหนึ่งเด็กชายชุ่ม ปลาวิน ได้ยินอุ๊ย (คนเฒ่า คนแก่) แถวบ้านพูดว่า ใครอยากทดแทนบุญคุณพ่อ แม่ ต้องบวชให้กับท่าน ใครบวชเป็นเณร ถือว่าเป็นการบวชทดแทนบุญคุณให้แม่ แต่ถ้าใครบวชเป็นตุ๊เจ้า (พระภิกษุ) ถือว่าเป็นการบวชทดแทนบุญคุณทั้งพ่อและแม่ เพราะการบวชเป็นพระ จะได้อานิสงส์ผลบุญมาก ต่อมาเด็กชายชุ่มจึงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเดินในหนทางของการบรรพชา ตั้งแต่อายุเพียง 10 กว่าขวบเท่านั้น ถือว่าท่านมีบุญบารมีเกี่ยวข้องในทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

บรรพชาที่วัดพระธาตุขาว

เมื่ออายุได้ 12 ปี เด็กชายชุ่ม ปลาวิน ได้ขออนุญาตจากบิดา และมารดา เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งบุพการีทั้งสองต่างก็ยอนยอมพร้อมใจให้บรรพชา โดยทั้ง 2 ท่านได้เล็งเห็นว่า

ประการแรก เด็กชายชุ่มจะได้มีวิชาความรู้ติดตัว เพราะในสมัยก่อนโรงเรียนที่ดีที่สุดก็คือ “วัด” นั่นเอง

ประการที่สอง เด็กชายชุ่ม มีใจรักในทางพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บุพการีทั้ง 2 จึงได้นำตัวไปฝากเป็นศิษย์ ครูบาอินตา แห่งวัดพระธาตุขาว จังหวัดลำพูน ซึ่งท่านทั้งสองคุ้นเคยเป็นอย่างดี

ต่อมาท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีครูบาอินตา วัดพระธาตุขาวเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรน้อยชุ่มได้ตั้งสัตยาธิษฐานด้วยใจแน่วแน่ มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน พร้อมพระธรรม และบารมีพระคุณครูบาอาจารย์ คุณบิดามาดา พร้อมกล่าวคำอธิษฐานว่า

“ข้าน้อยขอถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งข้าน้อยเคารพอย่างสูงสุด และจะขอรับใช้พระพุทธศาสนา เผยแพร่หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ตั้งแต่บัดนี้ตราบเท่าชีวิตจะหาไม่”

สามเณรชุ่ม ปลาวิน นั้นเป็นสามเณรน้อยที่มีความพยายามสูง และควรค่าแก่การบันทึกไว้ ท่านเป็นสามเณรชาวเหนือที่เคร่งครัด เพียบพร้อมไปด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม สิ่งใดที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอน ท่านก็เชื่อฟังและหมั่นปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ท่านครูบาอินตาได้สั่งให้สามเณรชุ่ม ท่องบททำวัตร และบทอื่น ๆ รวมทั้ง บท 12 ตำนาน ให้ขึ้นใจ และสามเณรชุ่ม ก็ไม่ได้ทำให้ครูบาอาจารย์ผิดหวัง ท่านได้ท่องบทสวดมนต์ต่างๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งศึกษาพระไตรปิฎกไปด้วย และเริ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้มากขึ้น

ภายหลังเมื่อสามเณรชุ่มได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านเคยกล่าวให้พระเณร และเหล่าลูกศิษย์ฟังว่า “การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในสมัยก่อนนั้น ต้องทำกันอย่างจริงจัง และใช้ความเพียรเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีเทคโนโลยีอย่างสมัยใหม่นี้ การศึกษา บทสวดมนต์ และพระไตรปิฏกในสมัยก่อนนั้น ต้องอาศัยสมอง​อย่างเดียวล้วน ๆ ต้องจด ต้องจำ ต้องท่องบ่นอย่างเอาเป็นเอาตายเท่านั้น จึงจะสามารถจำบทสวดมนต์ และสามารถแปลพระไตรปิฎกได้อย่างถ่องแท้ และจึงจะนับได้ว่าเป็นผู้รู้หนังสือดี”

ต่อมาเมื่อสามเณรชุ่ม ได้ศึกษาวิชาความรู้จากพระอุปัชฌาย์ เป็นอย่างดีแล้ว ด้วยใจที่รัก และใฝ่รู้การศึกษา ได้กราบขออนุญาตจากพระอุปัชฌาย์ ออกเดินทาง เพื่อแสวงหาวิชาความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม โดยพระอุปัชฌาย์ได้ชี้แนะครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษด้านต่าง ๆ ให้

จากนั้นจึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ พร้อมกับลาบิดามารดา ญาติพี่น้อง นำเครื่องอัฐบริขารเท่าที่จำเป็น ออกเดินทางด้วยเท้ามุ่งสู่ จ.เชียงใหม่ และเข้าศึกษาด้านปริยัติธรรมที่วัดผ้าขาว, วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวง ตามลำดับ

อุปสมบท

ท่านได้ศึกษาเล่าเรียน จนอายุได้ 20 ปี สามเณรชุ่ม ปลาวิน จึงได้พิจารณา ว่า “บัดนี้เราก็อายุครบบวชแล้ว ควรจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองลำพูน เพื่อทำการอุปสมบท การที่เราได้อาศัยอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนานั้น เรารู้สึกเย็นใจ และร่มเย็นดีแท้ แม้เราคิดสึกออกไป เราก็ยากที่จะได้รับความสงบร่มเย็นเช่นนี้ เห็นทีเราจะต้องบวชเรียนต่อไป”

หลังจากตัดสินใจแล้ว ท่านจึงได้เดินทางกลับมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ที่ภูมิลำเนาเดิม คือที่บ้านวังมุย จ.ลำพูน โดยมี พระครูบาอินตา (ครูบาปัญโญ) วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “โพธิโก”

เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว ก็ได้มุ่งมั่นศึกษาทั้งทางด้านปริยัติควบคู่กับด้านปฏิบัติ โดยได้ฝึกพระกรรมฐานตามแนวทางกรรมฐาน 40 ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลส สามารถทรงสมาธิได้สูงขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้นท่านยังได้ศึกษาศาสตร์ทางด้านพระเวทย์เลขยันต์ คาถาอาคมต่างๆ รวมทั้งตำราพิชัยสงครามอีกด้วย

ความพากเพียรศึกษาในด้านการศึกษาของพระภิกษุชุ่ม เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว เมื่อการกลับมาของหลวงพ่อได้ทราบถึงเจ้าคุณพระญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูนในสมัยนั้น มีความชื่นชมพระภิกษุชุ่มเป็นอย่างมาก ได้ร้องขอให้ท่านไปศึกษาต่อด้านปริยัติที่กรุงเทพฯ โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เมื่อศึกษาจบแล้วจะได้กลับมาช่วยสอนหนังสือให้กับพระเณรในจังหวัด แต่ท่านไม่อาจรับภารกิจนี้ได้ โดยให้เหตุผลว่ายังต้องศึกษาด้านการปฏิบัติให้มาก ๆ เสียก่อน

ท่านเจ้าคณะจังหวัดเมื่อมีกิจธุระสิ่งใดก็มักจะเรียกให้พระภิกษุชุ่มอยู่เสมอ โดยได้มอบหมายให้ท่านเป็นเลขาฯ ประจำใกล้ชิด มอบหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านต่างๆ ให้ ซึ่งท่านก็มิได้ทำให้พระผู้ใหญ่ผิดหวัง งานด้านต่างๆ ท่านสามารถทำได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกชิ้นทุกอัน จนเจ้าคณะจังหวัดจะแต่งตั้งชั้นยศ และขอสมณศักดิ์ชั้นพระครูให้ แต่พระภิกษุชุ่มได้ปฏิเสธไม่ขอรับสมณศักดิ์นั้น

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .