เสาะหาครูบาอาจารย์ (ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) )

เสาะหาครูบาอาจารย์

ตั้งแต่ช่วงแรกที่บวชเป็นพระภิกษุ พระภิกษุชุ่มก็ได้พากเพียรฝึกกายฝึกจิตตามแนวทางสายเอกของพระพุทธศาสนา แล้วยังออกเดินทางแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ เอาเยี่ยงอย่างภูมิธรรมชั้นเลิศจากคณาจารย์หลายท่านคือ

ครูบาอริยะ ที่วัดท้าวบุญเรือง ต.หนองหอย อ.หางดง จ.เชียงใหม่

ศึกษาศาสตรสนธิทั้งแปดมรรค แปดบท อันเป็น อรรถคาถา บาลีมูล กัจจายน์ จนจบ สามารถแปลและผูกพระคาถาต่าง ๆ ได้

พระครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่ง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

เป็นพระอาจารย์ พระปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ตอนที่ครูบาชุ่มไปฝากตัวเป็นศิษย์ พระครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่ง มีอายุประมาณ 70 ปีแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงดี ครูบาชุ่มได้อยู่ศึกษาปฏิบัติกับพระครูบาศรีวิชัยวัดร้องแหย่ง เป็นเวลา 2 พรรษา

ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา

ในขณะที่อยู่วัดร้องแหย่งนี้เอง ท่านจึงได้พบพระนักบุญแห่งล้านนา คือครูบาศรีวิชัย (ครูบาศีลธรรม) แห่ง วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน

เนื่องเพราะท่านครูบาศรีวิชัยแห่งวัดบ้านปาง ได้มาเยี่ยมเยือนสักการะท่านครูบาศรีวิชัยวัดร้องแหย่งด้วยความเคารพนับถืออยู่เสมอ ทุกครั้งที่มาเยี่ยมก็จะมีปัจจัยไทยธรรมมาถวาย บางครั้งได้มาพักจำวัด และร่วมสวดมนต์ เจริญพระกรรมฐานกับภิกษุสามเณรที่วัดร้องแหย่งด้วย ครูบาชุ่มจึงได้รู้จักมักคุ้นกับท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่วัดร้องแหย่งนี้เอง และในเวลาต่อมาปรากฏว่าทั้งคู่เป็นศิษย์ อาจารย์ที่มีความผูกพันรักใคร่กันอย่างยิ่ง

ครูบาแสน วัดหนองหมู อ.เมือง จ.ลำพูน

เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดทางด้านวิปัสสนากรรมฐานอีกรูปหนึ่ง มีลูกศิษย์มากมายเป็นผู้มีความรู้สูง เป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก

ครูบาก๋ำ วัดน้ำโจ้ อ.สารภี จ.เชียงใหม่

เป็นผู้สอนอักขระล้านนาให้แก่ครูบาชุ่ม

ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

(บ้างเรียกครูบาพรหมจักร หรือครูบาพรหมจักโก สมณศักดิ์เดิมคือ พระครูพรหมจักรสังวร สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระสุพรหมยานเถระ)

ความจริงแล้วครูบาชุ่ม กับครูบาพรหมา ท่านอายุรุ่นราวคราวเดียวกันแต่ต่างองค์ต่างนับถือและแลกเปลี่ยนความรู้ สรรพวิชาต่างๆ กันอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ท่านยังได้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่วัดห้วยโท้ง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และ วัดน้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่อีกด้วย

จากนั้น เมื่อเจ้าอาวาสวัดวังมุยเก่ามรณภาพลง ชาวบ้านจึงมาอาราธนาท่านให้กลับไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดต่อไป

ข้อวัตรปฏิบัติ

ครูบาชุ่มท่านจะตื่นขึ้นมาตอนตี 3 เพื่อปฏิบัติไปตามลำพังในกุฏิของท่าน จากนั้นก็กระทำกิจธุระส่วนองค์ แล้วจึงปลุกเรียกพระเณรให้ทำวัตรเช้าในเวลาประมาณตี 5 ต่อด้วยการนั่งสมาธิภาวนาอีก 1 ชั่วโมง พอคลายออกจากสมาธิ จึงนำพระเณรออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ในยามปรกติท่านจะฉันสองมื้อ แต่ในช่วงเข้าพรรษาท่านจะฉันเพียงมื้อเดียว อาหารที่ท่านฉันก็เป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆ อย่างข้าวเหนียว จิ้มกับน้ำพริกผักต้ม

“แม่เพชร อินโม่ง” ซึ่งเป็นผู้ทำอาหารถวายครูบาชุ่มอยู่เสมอ เล่าว่า ท่านชอบทานผักแคบ หรือตำลึงในภาษากลางนั่นเอง

ครูบาชุ่มละเว้นไม่ฉันอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ แต่จะฉันบ้างกรณีที่มีญาติโยมมาถวายภัตตาหารเพลและนั่งรอรับศีลรับพรอยู่ต่อหน้า เป็นการฉันเพื่อไม่ให้ญาติโยมเสียกำลังใจ ช่วงหนึ่ง ครูบาชุ่มป่วย แพทย์ระบุว่าเป็นโรคขาดสารอาหาร ศรัทธาชาวบ้านจึงได้ขอร้องให้ท่านฉันเนื้อสัตว์บ้าง ท่านก็รับปาก

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .