สายสัมพันธ์ศิษย์ – อาจารย์ (ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) )

สายสัมพันธ์ศิษย์ – อาจารย์

ลูกศิษย์สายตรงของครูบาชุ่ม ในปัจจุบันพอจะกล่าวถึงได้ดังนี้

1. หลวงพ่อทองใบ โชติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพรหมวนารามหรืออดีต ครูทองใบ สายพรหมมา เป็นศิษย์ผู้ได้รับอนุญาตให้สร้างเหรียญครูบาเจ้าชุ่มรุ่นแรกปี พ.ศ. 2517

2. พระอาจารย์หมื่น ญาณเมธี วัดพรหมวนาราม นอกจากเป็นศิษย์แล้วท่านยังเป็นหลานแท้ ๆ ของครูบาเจ้าชุ่ม คือ ตุ๊ลุงหมื่น เป็นบุตรของแม่อุ้ยแก้ว พี่สาวร่วมอุทรของครูบาเจ้าชุ่ม ตุ๊หมื่นได้เก็บรักษาเครื่องระลึกถึงครูบาเจ้าชุ่มไว้หลายอย่าง เช่นภาพถ่ายเก่าๆ, ดาบ, เล็บ และอัฐิ

3. พ่อหนานปัน จินา เป็นศิษย์ที่มีความสนใจในด้านวิชาอาคมขลังและพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะศาสตร์ในเรื่องตะกรุด ซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดจากครูบาเจ้าชุ่มมาพอสมควร ปัจจุบันท่านเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน

4. พ่ออุ้ยตุ่น หน่อใจ เป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สองอย่าง คือปลงเกศาให้ครูบาเจ้าชุ่ม และช่วยสร้างพระผงให้ท่าน

5. พ่อหนานทอง ปัญญารักษา อายุ 68 ปี เป็นศิษย์อีกท่านที่ปัจจุบันทำหน้าที่ “ปู่จารย์” เจ้าพิธีประจำวัดชัยมงคล (วังมุย) พ่อหนานทองเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีพุทธาภิเษกรูปเหมือนหลวงปู่ชุ่มเมื่อ พ.ศ. 2520

6. พ่อหนานบาล อินโม่ง เป็นศิษย์ที่เคยติดตามครูบาเจ้าชุ่มไปธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง

7. คุณลุงเสมอ บรรจง ชมรมพระตลาดบุญอยู่ เป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างวัตถุมงคลของครูบาเจ้าชุ่ม

8. พ่อเลื่อน กันธิโน เป็นศิษย์ที่ติดตามอุปัฏฐากครูบาเจ้าชุ่มไปในที่ต่าง ๆ จนถึงนาทีสุดท้ายที่ท่านไปมรณภาพที่กรุงเทพฯ

9. อุ๊ยหมื่น สุมณะ (เพิ่งเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 ด้วยวัย 101 ปี) เป็นศิษย์อาวุโส ซึ่งมีวัยวุฒิน้อยกว่าครูบาเจ้าชุ่ม 10 ปี เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดใหม่

10. อุ๊ยหนานทอง (เสียชีวิตแล้ว) เป็นลูกศิษย์ของครูบาเจ้าชุ่ม แล้วยังเป็นประติมากรผู้รังสรรค์พระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ในขณะที่ท่านรักษาตัวอยู่ ณ วัดจามเทวี ก่อนที่ท่านจะไปมรณภาพที่วัดบ้านปาง

อุ้ยหนานทองเป็นคนบ้านริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน ท่านได้พบกับครูบาชุ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี ตอนนั้นหลวงครูบาชุ่มจาริกไปถึงบ้านริมปิง บ้านเดิมของอุ้ยหนานทอง หนุ่มน้อยได้บังเกิดความเคารพศรัทธาครูบาชุ่ม จนขอติดตามกลับมาที่วัดวังมุยด้วย ครูบาชุ่มก็เมตตาพามา และจัดการบวชให้เป็นสามเณรที่วัดเก่า (วัดศรีสองเมือง) ต่อมาเมื่ออายุหนานทองอายุครบ 20 ปี หลวงปู่ครูบาชุ่มก็ได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุที่วัดใหม่ คือวัดชัยมงคล (วังมุย)

ช่วงที่บวชเป็นสามเณร สามเณรทองได้เป็นลูกมือช่วยสร้างพระที่วัดมหาวัน จึงได้นำประสบการณ์และวิชาความรู้ครั้งนั้น มาใช้ในงานปั้นพระประธานไว้ในโบสถ์วัดเก่า จำนวน 3 องค์ ขนาดเท่าคนจริง แต่หลังจากวัดเก่าได้ถูกทิ้งร้าง พระประธานทั้ง 3 องค์ ที่สามเณรทองปั้นไว้ ก็หายสาบสูญไป

พอครูบาชุ่มได้มาดำเนินการสร้างวัดใหม่ คือวัดชัยมงคล (วังมุย) ท่านก็ได้มอบหมายให้อุ้ยหนานทองรับหน้าที่ปั้นพระประธาน และพระขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก

11. หลวงพ่อบุญรัตน์ กนฺตจาโร เจ้าอาวาสวัดโขงขาว จ.เชียงใหม่

หลวงพ่อบุญรัตน์ ได้พบหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มครั้งแรกในระหว่างที่ทั้งคู่ต่างอยู่ในระหว่างธุดงค์หลีกเร้นเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมตามป่าเขา ขอยกความตอนหนึ่ง จากเนื้อหาประวัติของหลวงพ่อบุญรัตน์ ที่ นิตยสารโลกทิพย์ จัดพิมพ์

“หลวงพ่อบุญรัตน์ กนฺตจาโร มีโอกาสได้พบและน้อมรับอุบายธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ในครั้งแรกนั้นก็ด้วยครั้งที่ติดตามหลวงพ่อชื่นออกธุดงค์ ซึ่งได้ไปพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดร้างในป่าสวนหลวงนั่นแหละ

คือวันหนึ่ง หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงพ่อชื่นลูกศิษย์ของท่าน ที่มาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดร้างในป่าสวนหลวง หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านเดินกางร่มสีแดงมาด้วย เห็นแต่ไกล สมัยนั้นร่มสีดำดูเหมือนว่าจะไม่มี มีแต่ร่มสีแดง พอมาถึงที่วัดร้างแล้ว หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านก็นั่งพักสนทนา ถามทุกข์สุขกับหลวงพ่อชื่น

หลวงพ่อบุญรัตน์ได้เห็นลักษณะอันงดงาม ยิ้มแย้มแจ่มใสของหลวงปู่ครูบาชุ่มว่าท่านมีเมตตาดี ก็เข้าไปนมัสการท่าน หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านยิ้มรับ สอบถามได้ความว่า หลวงพ่อบุญรัตน์ก็มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม และได้เคยออกธุดงค์บำเพ็ญสมาธิ เจริญพระกรรมฐาน จึงกล่าวว่า

“เออดีแล้ว ดีแล้ว ได้มาบวช โอ้โฮ เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ให้ปฏิบัติธรรมเข้านะ จะได้เป็นบุญที่จะติดตัวเราไปข้างหน้าเนาะ อันอื่นน่ะเอาไปไม่ได้เนาะ มีเงินมีทองมีสมบัติพัสถานก็เอาไปไม่ได้ จะเอาไปได้ก็เป็นบุญเป็นกุศลนี่แหละที่จะเป็นเงาติดตามตัวเราไป ให้หมั่นหาเข้านะ พุทโธก็ได้ อะไรก็ได้ ให้นึกถึงสังขาร ให้ปลงสังขารมันเสีย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขังก็เป็นทุกข์ อนัตตาก็ใช่ตนใช่ตัว เราเกิดมาในครั้งนี้ เรามาเพียงแต่คนเดียว กลับไปก็กลับคนเดียว เราจะชวนคนอื่นกลับก็ไม่ได้ ร่างกายของเรานี่ไม่ใช่ของเรานะ ใช่ของเราไหม?”

หลวงพ่อบุญรัตน์ถามว่า “เป็นยังไงครับหลวงปู่ ไม่ใช่ร่างกายของเรา?”

หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านยิ้มและบอกว่า “ไม่ใช่ ถ้ามันเป็นของเรา มันคงไม่ปวด บอกว่า อย่าไปปวดนะ มันก็คงไม่ปวด อย่าไปเจ็บนะ มันก็คงไม่เจ็บ แล้วทำไมมันปวด มันเจ็บ ทีนี้หลวงปู่ก็เหมือนกัน ตาก็ไม่สว่าง ต้องใส่แว่นตาดูหนังสือ ถ้ามันเป็นของหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะบอกกับมันว่า ตานะ อย่าไปเสียนะ ก็คงจะดีนะ คงไม่ต้องใช้แว่นตา ผมที่บนศีรษะ บนหัวนี่นะ ทำไมมันหงอกนะ”

หลวงปู่ครูบาชุ่มพูดพลางหัวเราะ พลางชี้ไปที่ศีรษะของท่าน

“ถ้าเป็นผมของหลวงปู่แล้วมันคงไม่หงอกแน่นอน ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน หายึดสิ่งใดในโลกนี้ไม่มี นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีลธรรม กรรมฐานเท่านั้นที่จะติดตามตัวเราไปข้างหน้า ไม่เสียเวลาเกิด ถ้าเราเกิดมาเราบวช เราประพฤติปฏิบัติ โอ้โฮ เป็นบุญเป็นกุศลของเรา มาบวชนี่จะไปหวังอะไร ? ให้หวังบุญหวังกุศลเท่านั้น”

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .