ปัจฉิมวัยของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก

ปัจฉิมวัยของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก

หลวงตาวัชรชัย หรือ พระครูภาวนาพิลาศ เป็นศิษย์ใกล้ชิดอีกท่านของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ผู้ได้เคยมีโอกาสใกล้ชิดและอุปัฏฐากหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ในช่วง พ.ศ. 2518 และได้เขียนหนังสือระลึกถึง “พระสุปฏิปันโน” ทั้งหลายที่เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำไว้ในหนังสือชื่อ “บนเส้นทางพระโยคาวจร” นามปากกา “สายฟ้า” เป็นหนังสือที่เขียนถึงพระอริยเจ้าหลายท่านได้อย่างซาบซึ้ง และก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะต่อท่านเหล่านั้นได้ในทันที

จึงขออนุญาตนำความบางตอนจากเนื้อหาเกี่ยวกับ “หลวงปู่ชุ่ม” มาเสนอ ณ โอกาสนี้

“หลวงปู่ชุ่ม…หรือครูบาชุ่มของชาวหริภุญชัย เป็นศิษย์เอกขนานแท้ของของพระคุณหลวงปู่ครูบาศรีวิชัย พระมหาโพธิสัตว์สงฆ์ผู้เป็นประดุจเทพเจ้าของชาวลานนาทั้งผอง ที่ว่าเป็นศิษย์เอกขนานแท้ ก็เพราะครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ประทานกำเนิดบวชเป็นสมณะให้ ครั้นตอนครูบาศรีวิชัยมรณภาพลงไป หลวงปู่ชุ่มองค์นี้แหละ…ที่เป็นทายาทผู้รับมรดกครอบครองไม้เท้าและพัดหางนกยูงอันเป็นตราสัญลักษณ์ ประจำองค์ครูบาศรีวิชัย แสดงถึงคุณธรรมที่ท่านปฏิบัติได้ถึงขนาดนั้นแหละ และที่สำคัญท่านมาเกี่ยวข้องกับพ่อเรา (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง) ตั้งแต่อดีตชาติ คือเป็นพี่ชายพ่อเรา คู่กับหลวงปู่คำแสนเล็ก สามองค์นี้แหละลูกหลานเอย… ที่เป็นต้นกำเนิดการสถาปนาแผ่นดินไทยสมัยเชียงแสน นานนักหนามาแล้วโน่น…

อดีตพูดถึง…ก็พิสูจน์แบบมนุษย์ให้คนทั้งหลายยอมรับยาก ก็ไม่เอาตรงนั้น… เอาตรงท่านทั้งสอง คือพ่อเรากับหลวงปู่ชุ่มพบกัน ก็ตอน พ.ศ. 2517 ต่างองค์ก็ต่างอายุเกิน 60 ปีแล้ว พ่อก็นิมนต์ หลวงปู่ให้มางานฉลองวัดประจำปี 2518 – 19 – 20 ทั้งสามปีนี่แหละ ที่ผู้เขียนได้ย้ำประทับภาพอมตะแห่งขุนเขาุชุ่มบุญบารมีองค์นี้ไม่มีลืม

ปี 2518… ปีแรกที่หลวงปู่ชุ่มมาวัดท่าซุง ท่านก็มากับสามเณรน้อยอายุ 8 ปีรูปหนึ่ง พักอยู่กุฏิทรงไทยหลังที่ 6 ต้องบอกกันก่อนว่าเรื่องของหลวงปู่ชุ่มเขียนยากที่สุด เพราะท่านไม่ค่อยพูด ท่าทางเคร่งขรึมมั่นคงเยือกเย็น ก็เหมือนภูเขาชุ่มน้ำคลุมไปด้วยป่าเขียวสดอีกชั้นหนึ่ง นั่นแหละ ! ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ประจ๋อประแจ๋ ถามนั่นถามนี่เหมือนกับหลวงปู่่องค์อื่น คงได้แต่ดูแลปรนนิบัติ เหมือนชื่นชมทิวทัศน์ป่าเขาลำธารน้ำใสยังไงยังงั้น… ไม่ค่อยจะได้เนื้อนาหาเรื่องมาเขียนเล่าถนัดใจนัก ก็เล่าบอกตามลำดับมาก็แล้วกัน

พ่อบอกว่า…หลวงปู่ชุ่มเป็นพระอรหันต์ทรงปฏิสัมภิทาญาณ เวลาท่านมองเรานี่ มองเหมือนมองผ่านอากาศ โธ่เอ๋ย… จะให้ความสำคัญกับเราสักนิดเหมือนยิ้มกับลูกหมาก็ไม่ได้ นี่เป็นจริยาอาการปกติของท่าน ผู้เขียนนึกไปโน่น นึกถึงอากาสานัญจา วิญญานัญจา อากิญจัญญา เนวสัญญานาสัญญา… แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ล่ะ อรูปฌานทั้ง 4 นั่นแหละ ใจท่านคงทรงอารมณ์นั้นๆ แหละจนชิน เวลาไม่มีธุระจะพูดคุยกับผู้คน ก็อย่างนั้นแหละ มองอะไรเป็นอากาศ ไม่มีเหลือเลย จะว่าจำได้ รู้จักมักคุ้นก็ไม่ใช่ โอย…ผู้เขียนเกรงหลวงปู่องค์นี้มาก จะว่าไม่รู้จักไม่สนใจก็ไม่ได้ เพราะเวลาท่านจะเอาธุระกับเรา ตาอย่างนี้มีประกายหมายมั่น เสียงติดดุ ๆ เอาด้วย…

ทีนี้..เอาเรื่องหลวงปู่ชุ่มโดยตรง เล่าเป็นเกร็ด ๆ ไปเลย คืนแรกที่มาถึง ท่านก็นั่งพักสบายที่ชั้นล่าง ก็มีศิษย์ผู้ใหญ่ของพ่อคนหนึ่ง จำได้ว่าชื่อคุณพงษ์ คุณากร เข้ามากราบหลวงปู่ พอเขากราบ ความปีติกระมังทำให้ตัวเขาลอย ลอยจริง ๆ ลอยขึ้นมาสักศอกหนึ่ง หลวงปู่ชุ่มจับหัวกดลงไปกับพื้น ก้นแกก็ลอยโด่ง ปากก็ออกเสียงเหมือนคำราม สักครู่ก็ราบกราบกับพื้นได้ หลวงปู่ว่า “ดี ดี ใช้ได้” แล้วก็มองคุณพงษ์กับผู้เขียนเหมือนมองอากาศตามเดิม ท่านคงเห็นเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ ของภาวะพระกรรมฐาน

แต่ผู้เขียนนี่…ขนลุกผึ่งทั้งตัวเลย มันมีจริงนี่หว่า ปีติตัวลอยได้นี่ มองหลวงปู่มั่นหมายเลยว่าจะถามอะไร ให้พูดอะไรบ้าง แต่ไม่เปิดโอกาสเลย นั่งเคี้ยวหมากเฉย นั่งค้อมไหล่ตาจับพื้น ปากเคี้ยวเหมือนเคี้ยวกิเลส เคี้ยวขาดเลย นึกออกไหม ?

เดี๋ยวก่อน ! ลืมเล่าตอนท่านเข้าไปนั่งปรกพุทธาภิเษกวัตถุมงคล หลวงปู่อะไรล่ะ..ทางเหนือน่ะ หลายองค์นั่งเรียงกัน สักครู่หลวงปู่จากล้านนาไททุกองค์ รีบลุกขึ้นห่มจีวรพาดสังฆาฏิใหม่แบบภาคกลาง ค่อย ๆ ทำ งามตานัก แล้วนั่งลงหลับตาต่อ ไอ้เราก็สงสัยกัน ตอนหลังหลวงปู่ชุ่มเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ปานวัดบางนมโค มาปรากฏกายตรงหน้าท่าน ตั้งท่าท้าชกจรดมวยใส่ท่าน เสียงหลวงปู่ปานพูดว่า

“พระอะไรนี่ แต่งตัวไม่เหมือนชาวบ้านเจ้าของถิ่นเขานี่”

พอหลวงปู่ภาคเหนือห่มเสร็จแล้ว หลวงปู่ปานก็ยกมือไหว้เป็นเชิงโมทนาขอขมาโทษทำนองนั้น พอมาถามพ่อ พ่อหัวเราะเสียงดังเลย

“ข้าเห็นหลวงพ่อปานแต่แรกแล้ว ที่ท่านทำอย่างนั้น เพราะท่านเป็นพระโพธิสัตว์บารมีเต็ม รอเวลาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรื่องระเบียบวินัยจารีตนี่ ท่านต้องเคร่งครัด ที่ท่านยกมือไหว้ ก็เพราะหลวงปู่ชุ่ม หลวงปู่คำแสน เป็นพระอรหันต์นับคุณธรรมปัจจุบัน หลวงปู่ก็ชื่อว่าบริสุทธิ์เต็มภูมิแล้ว ส่วนหลวงพ่อปานยังอยู่ชั้นดุสิต ยังไม่ใช่พระอริยะ ต้องรอเป็นพระพุทธเจ้าเสียก่อน จึงจะเหนือกว่า”

อย่างที่บอกแล้วว่าหลวงปู่ชุ่มเป็นพระปฏิสัมภิทาญาณ เป็นพระอรหันต์ที่มีญาณหยั่งรู้ประมาณไม่ถูก ยกตัวอย่างก่อนที่ในหลวงจะเสด็จ นี่ขอเล่าควบ ๓ ปี ที่หลวงปู่มาวัดท่าซุงเลย แต่ในหลวงเสด็จ 2 ปี คือปี 18 กับ 20

ปี 18 นี่ เททองหล่อรูปหลวงพ่อปานกับหลวงพ่อใหญ่

ปี 20 ตัดลูกนิมิต และยกฉัตรศาลาจัตุรมุขหน้าพระอุโบสถ (ผู้เขียนนี่ท่าสติปัญญาจะอ่อน ขาดตอน เล่าเปะปะ ปี 18 พ่อตั้งปะรำให้ในหลวงและพระบรมราชินีประทับทำพิธีเททอง พอในหลวงกลับ ก็สร้างศาลาจัตุรมุขแทนตรงนั้นเพื่อเป็นราชานุสรณ์ เมื่อท่านมาตัดลูกนิมิตปี 20 อีก ก็เลยเชิญท่านยกฉัตร ยอดจัตุรมุขเสียเลย)

เอ้า! เล่าต่อ…ก่อนในหลวงจะเสด็จตัดลูกนิมิต ตอนนั้นหลวงปู่ชุ่มกำลังฉันเพลอยู่ ท่านหันมาพูดกับผู้เขียนว่า

“วันนี้ ในหลวงฉันก๋วยเตี๋ยวบนเรือบินนะ…”

เล่าให้ท่านเจ้ากรมเสริมฟัง (พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์) ท่านตาลุกเลย บอกว่า

“จริง…จริง ราชองครักษ์ที่ตามเสด็จบอก” เจ้ากรมเสริมเล่าว่า ในหลวงเดินทางมาวัดท่าซุง เวลาจำกัด รับสั่งให้ซื้อก๋วยเตี๋ยวใส่ปิ่นโตเสวยบนเฮลิคอปเตอร์ แล้วลงต่อรถยนต์ที่นครสวรรค์เข้าวัดท่าซุง

บอกแล้วว่าเล่ายาก…จะขอสรุปผ่านงานทั้งสามปีไปเพราะกิจกรรมสงเคราะห์ญาติโยม ระหว่างช่วงงานก็เหมือนกับหลวงปู่องค์อื่นโน่น…ส่งจิตคิดตามไปที่วัดวังมุย ลำพูนเลย ท่านก็กลับวัดวังมุยไป พ่อกับหลวงปู่ท่าน จะคุยตกลงกันด้วยวาจา หรือด้วยใจ ก็อย่าไปรู้รายละเอียดของท่านเลย เอาเป็นว่าหลวงปู่ชุ่มจะ ‘นั่งหนัก’ หรือภาษาบาลีเรียกว่า ‘เข้านิโรธสมาบัติ’ เป็นเวลา 7 วัน เพื่อจะให้พ่อพาศิษยานุศิษย์ไปทำบุญเพิ่มบารมีกัน

โอย…ตอนนี้ฟ้าจะถล่มทลาย ลูกหลานพ่อ ผู้เขียนด้วย ต่างก็ฮือฮาสาธุการ จัดหาสิ่งของเงินทองกันโกลาหล ล้นศรัทธา พอถึงเวลา (นี่จะเขียนหรือจะเทศน์ สำนวนมันจะมากไปหรือเปล่า) ก็เดินทางตามพ่อไป รถบัสกี่คันหนอ…ถึงลำพูน ฝนตกรินเป็นสายไม่ขาดเม็ด ต้องพักถ่ายผู้คนขึ้นรถสองแถว จากวัดจามเทวีไปวัดวังมุย คงจะเหมาสองแถวหมดเมืองลำพูนกระมัง พี่อรรณพ (พันตำรวจเอกพิเศษ อรรณพ กอวัฒนา) เป็นผู้จัดการอำนวยความสะดวกทั้งหมด ทางเข้าวัดวังมุยก็แคบ ฝนก็รินไหล แต่ผู้คนก็เดินทางไปถึงวัดวังมุยแบบทุลักทุเลเฮฮากันได้ทั้งหมด

หลวงปู่ชุ่มท่านเข้านิโรธสมาบัติในป่าช้า* ใกล้วัด ปลูกกระท่อมล้อมสายสิญจน์ กั้นรั้วกันผู้คนเข้าไปรบกวน พ่อขึ้นไปรอหลวงปู่บนกุฏิรับรอง ผู้เขียนเข้าไปจัดจีวรสิ่งของที่นำไปร่วมถวายมากมาย โบสถ์แทบแตก พระคุณหลวงปู่คำแสนเล็ก นั่งยิ้มเย็นใจคอยอยู่ในโบสถ์

_____________________________________________

* ป่าช้า – ในที่นี้หมายถึง “วัดห่าง” คือวัดวังมุยเก่าที่รกร้างไป

ณ ที่นั่นเอง…ในกาลเวลาขณะนี้เอง…ที่หลวงปู่ชุ่มเคลื่อนเสลี่ยงคานคนหามออกจากกระท่อม เมื่อตอนถอนจิตจากนิโรธสมาบัติ ฝนก็กลายเม็ดเป็นฟูฝอยละเอียดเนียนสายตาฉ่ำอารมณ์นัก คลื่นศรัทธามหาชนก็ร้องกระหึ่มโมทนา แย่งกันแข่งกันโยนดอกไม้ ธนบัตรปัจจัยขึ้นไปบนเสลี่ยงพระอริยสงฆ์ แม้โลกธรรม ลาภ สรรเสริญ ท่วมท้นเสลี่ยงอย่างไร หลวงปู่ชุ่มก็นั่งสงบเย็นใจ ประคองจิตรับรู้ศรัทธาเหล่านั้น ไม่มีอาการหวั่นไหว

องค์หนึ่งนั่งเหนือเสลี่ยงชัย ฉ่ำละอองฝน ห้อมล้อมด้วยฝูงชนดุจดาวล้อมเดือน

อีกองค์หนึ่งนั่งยิ้มสงบคอยอยู่ในพระอุโบสถ รอเวลาโมทนามหาทาน ที่จะถวายบูชาครูบาน้อง

อีกองค์หนึ่ง…องค์ที่ผู้เขียนกลัวที่สุด รักเหลือแสน กำลังกระทำสีหนาทลีลามาเป็นองค์ประธานในพิธี

ท่านผู้อ่านเอย…สามองค์พี่น้อง ที่เวียนว่ายบำเพ็ญบารมีมาจนครบจบกำลังแล้ว สามดวงประทีปแก้วกำลังจะมาร่วมในเขตพัทธสีมาพุทธเขตเดียวกัน เพื่อให้ลูกหลานได้ชื่นชมสมปรารถนา…

หลวงปู่ชุ่มหนึ่ง…หลวงปู่คำแสนเล็กสอง…พ่อ (หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง) รวมเป็นสามดวงแก้วสังฆรัตนะนี้ ตามที่ฟังพ่อเล่า ก็ทราบว่าท่านเกิดร่วมอุทรเดียวกันมาหลายชาติหนักหนา…แต่ละองค์ก็ทรงลักษณะเป็นพิเศษเฉพาะตน

หลวงปู่คำแสนเล็กจะเป็นพี่ใหญ่อัธยาศัยรักสงบ ขี้อาย รักน้องจนตนเองประมาณไม่ได้ว่ารักแค่ไหน จะยอมเสียสละทุกอย่างให้น้องได้ แม้จะเป็นบัลลังก์เศวตฉัตรตามสิทธิทายาทอันชอบธรรม ขออย่างเดียวให้น้องได้มีความสุข

หลวงปู่ชุ่มออกจะดุ มีความเด็ดเดี่ยว ทุ่มชีวิตจิตใจให้กับงานทุกอย่างที่รับผิดชอบ แต่วาสนาเอย..อานุภาพที่เด็ดขาดปานนั้น ก็มีไว้ทำเพื่อน้องที่ท่านรักและชาติตระกูลเท่านั้น จริง ๆ แล้วท่านรักความเป็นอิสระ ไม่ชอบนำคน แต่ก็ไม่ชอบให้คนมานำท่าน เสร็จจากภารกิจใดก็มอบความสำเร็จนั้นให้ส่วนรวม แล้วก็อยู่กับตัวเองและโลกของตัวเอง…อย่างนี้มาทุกชาติ

ทีนี้มาถึงพ่อ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง เขียนยากหน่อย เพราะอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ใกล้เกินไปจนมองเห็นความดีเต็มที่ไม่ได้ หรืออีกอย่างหนึ่งเห็นความดีของพ่อจนบรรยายไม่สาสมใจรักของเรา

พระดี คนดี ก็เหมือนภาพวาด ฝีมือประณีตสมปรารถนา หากดูใกล้เกินไป ก็จะเห็รตำหนิลายเส้น เงาสีเป็นธรรมดา หากดูไกลเกินไป ก็เห็นความดีจุดเด่นไม่ชัดเจนทั่วถึง

ต้องอยู่ระยะไม่ใกล้ ไม่ไกลนัก นานๆ ดูที จึงจะเห็นค่าควรถนอม

พ่อของเราก็เหมือนกัน การดูใกล้ ดูไกล จะเอาไว้พูดตอนที่เป็นเรื่องของท่านโดยตรง ตอน “พระผู้เป็นเนื้อนาบุญ” ตอนนี้จะชวนท่านผู้อ่านดูในระยะพอดี

โน่น…เห็นพ่อเดินมาจากกุฏิที่พัก จะว่าเข้มแข็งปึงปังก็ไม่ใช่ จะว่าอ่อนโยนเหมือนคนไม่เคยลำบากก็ไม่เชิง ถ้าท่านเคยเห็น สมัยก่อน เขาเรียกสีหะ…ถ้าตัวที่เป็นจ่าฝูงเขาเรียก สีหราช คือราชสีห์ หรือสิงโตในหนังทีวีนั่นแหละ เคยเห็นไหม

หลวงปู่ชุ่มลอยเหนือศีรษะฝูงชนมาบนเสลี่ยง แต่พ่อเดินผ่านฝูงชนที่จงรักต่อท่านมาแบบธรรมดา แต่กลุ่มบุคคลผู้อิ่มบุญเหล่านั้นกลับเปิดทางให้ท่านเป็นสายน่าอัศจรรย์ เขาเหล่านั้นนั่งประนมมือสองข้างทาง แต่ตาจับจ้องหน้าพ่อด้วยความรักเทิดทูน จะว่าท่านใดได้น้ำใจจากปวงชนมากกว่ากันหนอ ระหว่างท่านลุงผู้ทรงเสลี่ยงกับท่านพ่อผู้กระทำสีหนาทลีลาในช่วงเอื้อมมือถึง ท่ามกลางคนที่ท่านรัก แต่ทั้งสองท่านก็มารวมกันอยู่ในพระอุโบสถวัดวังมุย ในกระแสสายตาที่ชื่นชมของท่านพี่องค์ใหญ่สุด..ท่านลุงคำแสน

ท่านผู้อ่านเอย…เมื่อทั้งสามท่านนั่งสามเส้ามีพ่อนั่งตรงกลาง เราจึงได้เห็นอำนาจวาสนาบารมีและภาระรับผิดชอบของพ่อ พ่อพูดนำให้ลูก ๆ ที่ตามขบวนไป ให้รู้จักอานิสงส์ของการทำบุญกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธ สมาบัติ พ่อพูดไม่มีติดขัด เสียงกังวานกินใจ หลวงปู่คำแสนนั่งยิ้มมองพ่อทำงานแบบ ‘โมทนาด้วย ช่วยเหนื่อยแทนหน่อย’ หลวงปู่ชุ่มนั่งสงบสำรวม เหมือนนั่งสบายคนเดียวในป่าร่มรื่นในโลกของท่านเอง…

ต่างองค์ต่างทำหน้าที่ ต่างองค์ต่างเป็นสุขอิสระตามธรรมชาติของตนเอง นาน ๆ ครั้ง ก็หันมามองทางญาติโยมลูกหลานที่มาทำบุญกับท่าน มองยิ้มสนิทใจ เหมือนยิ้มพรมไปบนดอกไม้ที่ท่านได้ปลูกฝังรดน้ำมากับมือ

ใจเราเอย…ขณะนั้นใจเราอยากจะเป็นพระอรหันต์ อยากบวช อยากยิ้มเย็นสนิทเหมือนท่าน แม้ต้องแลกด้วยทุก ๆ อย่างในโลกที่เราครอบครอง รวมทั้งชีวิตของเราด้วย เราจะยอมแลกกับผ้ากาสาวพัสตร์

เราปรารถนาจะบวชอุทิศแด่พระรัตนตรัย เราจะเดินตามรอยเท้าพ่อและพระอรหันต์ทั้งหลาย เราปรารถนาพระนิพพาน

จากวันนั้น..ถึงวันที่นั่งเขียนอยู่นี่กี่ปีแล้วหนอ…(2544) 24 กว่าปีแล้ว เหตุการณ์นั้นแม้จะผ่านไปแล้ว แต่ภาพเหตุการณ์ของบุญวาสนานั้นยังสะอาดแจ่มใส ยังสามารถนึกถึงกลิ่นธูป กลิ่นจีวร กลิ่นน้ำหมาก…

นี่กระมังที่มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า กลิ่นของศีลนั้นหอมทวนลม ขจรขจายไปได้ไกลแสนไกล ยิ่งมาได้ไออุ่นของพระธรรมจากใจของพระคุณเจ้าสามพี่น้องมาอบรมผสมผสานเข้าไปด้วย จึงได้หอมมานานขนาดนี้หนอ

จากพิธีออกจากนิโรธสมาบัติวันนั้น ผู้เขียนได้พบและปรนนิบัติหลวงปู่ชุ่มและหลวงปู่คำแสนเล็กอีกหลายวาระ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ ‘บ้านซอยสายลม’ ของพวกเรานั่นแหละ จะเล่าสู่กันฟังตามลำดับเหตุการณ์จริง เป็นต้นมา

ครั้งหนึ่งพ่อทำพิธียกฉัตรจำลองที่พระธาตุจอมกิตติ เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เหตุผลที่ทำพิธีนั้น ท่านผู้อ่านก็คงจะได้ทราบจากหลวงพี่ชัยวัฒน์แห่งวัดท่าซุงเขียนเล่าและบอกเล่า ขณะนำท่านผู้อ่านไปเที่ยวนมัสการพระธาตุประจำทุกปีอยู่แล้ว ผู้เขียนจะเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ ‘ความเป็นพระ’ ของครูบาชุ่มเท่านั้น

ก่อนจะเดินทางขึ้นไปทำพิธี เราได้จัดเตรียมการณ์ทุกอย่าง รวมทั้งกำหนดองค์พระสุปฏิปันโนที่จะเข้าร่วมบวงสรวงด้วย ทุกองค์จะต้องเคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กู้ชาติเชียงแสนจากขอมโดยเฉพาะ ก็มี….

พ่อเรา

หลวงปู่คำแสนเล็ก

หลวงปู่ครูบาชุ่ม

หลวงปู่ครูบาวงศ์ และ

หลวงปู่ครูบาธรรมชัย

เหตุผลเป็นเพราะอะไรไม่ต้องเขียนแล้ว พ่อก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสีแดงเป็นประกายดุจเพชรพลอย บรรจุในยอดพระธาตุจำลอง (พระเจดีย์องค์เล็ก ขณะนี้ตั้งอยู่ทางมุมซ้ายด้านในบริเวณพระธาตุจอมกิตติ) นำขึ้นไปจากซอยสายลม จูงเอาลูกหลานที่มากมายและยุ่งบ้างซนบ้าง เหมืือน​​​​​ลิง มีผู้เขียนรวมอยู่ด้วยตัวหนึ่ง ได้ฤกษ์อากาศดีตอนเช้า ก็เอาพระธาตุจำลองประดิษฐานตรงหน้าองค์พระธาตุจอมกิตติ หลวงปู่ครูบาทั้งหลายก็มาตามคำอาราธนาของคุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา (พี่อ๋อย) เจ้าของบ้านซอยสายลม แม่งานคนสำคัญสมัย 20 กว่าปีที่แล้ว หลวงปู่ทั้งหลายนั่งตรงพระวิหารคู่พระธาตุ ซึ่งขณะนั้นเป็นศาลาไม้เก่ามาก พ่อก็ทำพิธีบวงสรวงยกฉัตร พอพ่อกล่าวคำบวงสรวงเสร็จก็จะยกฉัตรจำลองติดยอดพระธาตุ พ่อก็หันมาพูดเบา ๆ ว่า

“ไปบอก…”

เท่านั้นเอง…หลวงปู่ชุ่มซึ่งอยู่ในกลุ่มครูบาเจ้า…ห่างพ่อขนาดไม่ได้ยินเสียงสั่งนั้นแน่ ก็นำขึ้น

“ชยันโต โพธิยา….”

พ่อให้ท่านเจ้ากรมเสริม (พล.อ.ท. ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ คู่บุญพี่อ๋อย) ยกก้านฉัตรติดยอดพระธาตุ แล้วหันมาพูดว่า

“ต้องอย่างนี้ พระดีต้องอย่างนี้ ต้องฟังคำสั่งพระพุทธเจ้าได้พร้อมกัน ถูกต้องอย่างนี้ !”

ตกลงก็ไม่ต้องไปบอกให้หลวงปู่ชุ่มขึ้นชยันโต…เพราะท่าน ‘รู้’ พร้อม ๆ กับที่พ่อรู้จากท่านผู้สั่งเบื้องบน พ่อถึงบอกว่า ‘พระดีต้องอย่างนี้’ อันที่จริงก็ทั้ง 5 องค์นั่นแหละ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ถูกกำหนดให้มาร่วมพิธีใหญ่ของประเทศชาติได้

ข้อพิสูจน์ที่เห็นชัด มันจะแจ้งตั้งแต่ก่อนพ่อจะบวงสรวง ตอนที่หลวงปู่ต่าง ๆ ทยอยมาไม่พร้อมกัน หลังจากกราบพระธาตุจอมกิตติแล้ว ทุกท่านหันมากราบองค์เล็กที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอย่างนอบน้อม กราบแล้วกอบเทินหัว ท่านนึกออกไหม นั่นแหละทำอย่างนั้นทุกองค์ ก็ตามเคยเหมือนกัน ที่ผู้เขียนเป็นต้องเข้าไปถามเสียจนได้

“หลวงปู่กราบอะไร?”

“หลวงปู่กราบพระบรมธาตุพระพุทธเจ้า แสงสวยเหลือเกิน เป็นบุญมากน้อ..”

ก็หายสงสัย หายคันหัวใจ

ตามปกติจริง ๆ แล้ว บ้านซอยสายลมจะมีงานยุ่งเฉพาะตอนที่พ่อมาสอนกรรมฐานเดือนละครั้ง เป็นเวลา ๓ วัน พี่อ๋อยจะเดินสั่งงาน จัดนั่นวางนี่ก่อนพ่อมาเพียง ๒ วันก็เสร็จเรียบร้อย แต่นับจากงานฉลองวัดท่าซุง ปี ๒๕๑๘ เป็นต้นมา การจัดแจงสถานที่ก็มีการเพิ่มเติมขึ้นบ่อยครั้ง เพราะหลวงปู่สุปฏิปันโนทั้งหลายจะโคจรมาพักเจริญศรัทธาตามคำนิมนต์ของท่าน เจ้าของบ้านครั้งละองค์ ก็จัดที่พักไม่ยาก

บางคราวมาพร้อมกัน ๓-๔ องค์ พี่อ๋อยก็สั่งงานเพิ่ม คือบริเวณที่พวกเรานั่งตรงหน้าท่านเจ้าอาวาสรับแขกทุกวันนี้แหละ เอาราวสลิงมาขึงรูดม่านกั้นเป็นห้อง คูหาละองค์ บางคราวก็จัดกั้นฉากกั้นสายตาตรงพื้นที่จำหน่ายสังฆทานปัจจุบันนี้แหละ หลวงปู่ทั้งหลายท่านไม่ติดความสุขสบายของเสนาสนะอยู่แล้ว แต่ท่านกลับแสดงท่าเป็นสุขสบายใจ สนิทสนมกับเสนาสนะเฉพาะกิจที่พี่อ๋อยสั่ง เนรมิตถวายเสียจริง ๆ

ยิ่งหลวงปู่ชุ่มกับหลวงปู่คำแสนเล็กละก็…จะนั่งสบายใจยิ้มอมความสงบสุขไว้ เต็มอกเต็มใจเต็มใบหน้า นึกเอาเองเถอะ พระชราภาพแล้ว นั่งหลังค้อมลงแล้ว..ใจปลงปลดโลกธรรม ความทุกข์ออกจากใจเป็นอิสระเบิกบานเสียแล้ว จับท่านไปนั่งตรงไหนก็เป็นสุข ซ้ำพลอยทำให้สถานที่เยือกเย็น คนในที่นั้นก็เป็นสุขอิ่มเอิบบุญไปด้วย อย่างวันนั้นท่านนั่งฉันหมากกัน ๒ องค์น้องพี่ ภายในฉากผ้าคูหาอาศัยสบายอิริยาบถ มีผู้เขียนนั่งประจบประคบนวดอยู่ มาดูพระแท้ฉันหมากดีกว่า….

เคยได้ยินใครหนอ…พูดว่าพระที่ฉันหมาก นัดยานัตถุ์ยังมีกิเลส ให้เหตุผลที่น่าเอ็นดูว่า ขนาดกิเลสปลายกิ่งแค่หมากกับยานัตถุ์ ก็ยังตัดไม่ได้ จะไปตัดกิเลสโลภ โกรธ หลงได้อย่างไร ก็คงจริงของเขา แต่ของหลวงปู่คำแสนกับหลวงปู่ชุ่มนี่ไม่จริงแน่ โธ่เอ๋ย…นั่งใจเย็น ทรงอิริยาบถกำหนดรู้สบายอารมณ์ หยิบหมากใส่ปากเคี้ยว ฟันก็ไม่ค่อยจะมี บางเคี้ยวก็ต้องตะแคงมุมฟันมุมปากช่วย…หัวเราะขำตัวเอง

“มันแข็งน่อ…”

เอ้าหยิบพลูป้ายปูน ช้าเชียว ทั้งสายตาทั้งอารมณ์ทะลุไปไหน ๆ ทะลุนะไม่ใช่ทะลวงเลอะเทอะฟุ้งซ่าน ท่ามือห่อพลูทำเหมือนตะล่อมอารมณ์เป็นคำเดียว ส่งใส่ปากเคี้ยวอารมณ์ กัดกิเลสให้ขาด หลวงปู่ชุ่มเคี้ยวไปครู่เดียวก็หันมาทางหลวงปู่คำแสน

“มีหมากมั้ย…”

“มี้…”

เอ้า…ยื่นกันหยิบกันแค่หมากแห้งซีกเดียว มันไม่พอเคี้ยวพอสูตรผสม เคี้ยวไปก็ยิ้มขำ ยิ้มขอบคุณ ยิ้มตอบรับ ไม่เป็นไรเอาอีกไหม…พอแล้ว ไม่เอาแล้ว เอ้า..บ้วนน้ำหมากกันดีกว่า ปากเคี้ยว..มือหยิบกระโถนรออารมณ์ พอใช้ได้ก็ขับน้ำหมากบ้วน ๒ บ้วน ๓ บ้วน แล้วก็วางกระโถน หลับตาเคี้ยว… องค์หนึ่งนั่งเงยหน้าหลับตายิ้มเย็นเป็นสุข อีกองค์ลืมตามองทะลุพื้นบ้านทะลุโลก ไม่เห็นสนใจน้ำหมากหรือกระโถนที่ท่านวางทิ้งแล้ว

กิเลสอยู่ตรงไหนหนอ….

ผู้เขียนก้มกราบชิดเท้าเจ้าประคุณ ไม่มีเหตุผล ไม่ต้องการเหตุผล ใจมันเป็นสุขอิ่มเอิบ

เนื้อนาบุญแห่งพุทธเกษตรเอย..เพียงพระคุณเคี้ยวหมาก ขับน้ำหมากวางกระโถน ก็บันดาลให้เกิดดอกงอกผลขึ้นในใจผู้เขียน ให้เบิกบานอิ่มเอิบด้วยความหวัง…เราจะต้องได้บวช..เราต้องได้เคี้ยวหมาก เราต้องยิ้มอย่างนี้บ้าง (อันหลังนี่เลวนะ วัดรอยเท้าช้างนะ)

หลวงปู่ชุ่มนี่ทรงอภิญญาสมาบัติแน่ แต่ไม่เคยเห็นแสดงชัดแจ้งแดงจัดอะไรสักครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ท่านมาพักซอยสายลมอย่างนี้แหละ มากัน 4 องค์ ตกค่ำท่านก็จะทำวัตรเย็นกัน….พระคุณเจ้าทางเหนือนี่ ท่านจะคุกเข่าสวดมนต์กัน พอวันแรกผ่านไปก็ต้องรีบแก้ไขปัญหา พื้นกระดานแข็ง เข่าพระแก่คุกบดพื้นก็ต้องเจ็บมาก พี่อ๋อยก็ให้เอาเบาะฟองน้ำมารองเข่าถวายท่าน ….โธ่เอ๋ย วันนั้นหลวงปู่บุดดาก็มาสมทบเหมือนเหาะมาไม่บอกกล่าว มาถึงพอดีกับที่ทั้ง 4 องค์ กำลังจะคุกเข่าบนเบาะ หลวงปู่บุดดาก็จะคุกเข่าบนพื้นแข็ง โอย….หลวงปู่ชุ่มหันมามองตาผู้เขียน ตะคอกเสียงดุเชียว….

“นี่…ยังไงนี่ พระคุณท่านจะนั่งยังไงนี่!”

ก็ใครจะไปรู้ว่าท่านจะมา ละล้าละลัง เข่าก็จะคุก หลวงปู่ชุ่มเอาเข่าท่านกระทบเบาะ…เจ้าเบาะสีเหลืองลายน้ำตาลใบของหลวงปู่ชุ่ม ก็แล่นมาไม่เห็นเงา ไปรองรับเข่าหลวงปู่บุดดาพอดี! หลวงปู่ชุ่มก็คุกกับกระดานแทน

ผู้เขียนวิ่งแทบจะชนพี่อ๋อยที่เดินถือเบาะมายื่นให้เอาถวายหลวงปู่ชุ่ม คุกเข่าสบายอิริยาบถแล้ว ค่อยๆ นึก…ใช่อภิญญาหรือเปล่าหนอ หูก็ฟังเสียง 5 พระสงฆ์ อายุรวมกันเกิน ๔๐๐ ปี สวด เสียงสำเนียงไพเราะแบบโบราณ เสียงคำเมืองกระแสคำพระ

“นะโม๋ ตัดซะ ภะตะวะโต๋ อาระหะโต๋ ซัมม้า ซัมพุด ต๊าดซะ…นะโม…”

ร้องไห้สนุกดีวันนั้น…

แล้วก็มาถึงเรื่องสุดท้ายที่จะเล่าให้ฟังกัน

เรื่องของหลวงปู่ชุ่ม ทำอะไรล่ะ ! ฟังเอาเองดีกว่า คือพอจะใกล้ทิ้งสังขาร หลวงปู่ชุ่มก็บอกความในใจกับท่านเจ้ากรมเสริมและพี่อ๋อย (ท่านพล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์ และคุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เจ้าของบ้านซอยสายลม …เขียนย้ำ กลัวคนรุ่นหลังจะลืม) ว่าท่านเคยเกิดเป็นลูกของท่านพ่อท่านแม่คู่นี้

แล้วท่านก็ลงไปปักษ์ใต้กับพระคุณพ่อเราในงานสาธารณสงเคราะห์ของศูนย์สงเคราะห์ฯ วัดท่าซุงเรา ก่อนออกเดินทาง ก็บอกท่านพ่อท่านแม่ทั้งสองว่า ไปเที่ยวนี้ก็ต้องลาแล้ว ศพของท่านขอให้จัดที่ซอยสายลม ขอให้โยมพ่อโยมแม่จัดการเผาศพท่านด้วย ถ้าให้ทางวัดลำพูนไปจัดการศพจะเสียเปล่า ถ้าให้โยมพ่อโยมแม่จัดการ กระดูกท่านจึงจะเป็นพระธาตุ เอาไว้ให้คนรุ่นหลัง สักการะทัศนาเพื่อความมั่นคงในคุณพระรัตนตรัยได้

…ขอเล่าข้ามไปก่อนว่า เมื่อท่านกลับจากปักษ์ใต้ก็ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอะไรหนอ… มีพี่อำไพ พวงทอง กับพี่หมอยุวดี เป็นผู้รับธุระถวายอุปการะ….

เอาล่ะ….กลับมาดู ย้อนไปสัมผัสเหตุการณ์ที่พวกเราปรนนิบัติร่างกายพระดีกันเป็นวาระสุดท้าย วันนั้นพอดีเป็นวันที่พ่อไปสอนพระกรรมฐานที่บ้านสายลม ปีไหนหนอ…2521 เวลาประมาณสองทุ่ม พี่อำไพ พวงทอง ก็โทรศัพท์มาบอกว่า หลวงปู่ชุ่มมรณภาพแล้วโดยอาการสงบ… คือลุกขึ้นมานั่งยิ้มสดชื่น สักครู่ก็นอน… สงบนิ่งไปเลย พ่อสั่งให้นำศพหลวงปู่มาตั้งที่บ้านสายลม ตั้งสรงน้ำกันตรงหน้าห้องที่พระสงฆ์พักเวลามาสอนพระกรรมฐาน ตรงที่จำหน่ายสังฆทานนั่นแหละ เอาเตียงมาวางร่าง เอาตั่งมารองขันน้ำสรงมือ

ร้องไห้กันทำไมหนอ… ท่านคงนอนยิ้มถาม ….ไม่มีใครตอบท่าน มีแต่ต่างก็ตอบสนองความเคารพอาลัยรักของตนเอง เอาขมิ้นมาทาฝ่าเท้า เอาผ้าขาวมาตัดพิมพ์แจกให้ทำบุญกัน… พิมพ์รอยเท้าทำไมหนอ… ท่านคงถาม ทำไมไม่พิมพ์น้ำคำประทับกระแสธรรมไว้ในดวงจิต ….เอาเถิดลูกหลานเอ๋ย ทำอะไรที่มันไม่ผิดศีลแล้วมีความสุขก็ทำเถิด เป็นบันได เป็นกำลัง ให้ก้าวไปสู่จุดที่ปู่เข้าถึงแล้ว จุดที่พ่อเธอเข้าถึงแล้ว เมื่อเธอเข้าถึงด้วยตัวเอง อามิสบูชาทั้งหลาย เธอก็ไม่ต้องทำแล้ว ตอนนี้ทำเถิดลูก ทำไปจนวันตาย…. วันที่ปู่ได้ครอบครองสมใจแล้ว

ผู้เขียนประจงเช็ดปากหลวงปู่ด้วยกระดาษซับ ตอนนี้ไม่กลัวโดนดุแล้ว ตามีอำนาจดุจสายฟ้าปิดสนิทแล้ว แต่กระแสอัศจรรย์อย่างหนึ่งแล่นเข้ามากระทบใจผู้เขียน

“ดูรูปปู่บนหัวนอนซี สวยไหม?” สวยครับ งามมาก ยิ้มงามสงบนัก

“ดูหน้าศพปู่ซิ สวยไหม?” ไม่สวย ปู่พ่นน้ำลายเป็นฟองทำไม ผมเช็ดให้…

“จะให้ดูไงลูก…ผลสุดท้ายปู่ก็เป็นอย่างนี้ เย็นเฉียบแข็งทื่ออย่างนี้ ทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ พ่อเธอก็ต้องเป็นอย่างนี้ ตัวเธอก็ต้องเป็นอย่างนี้ ร่างกายหมดอายุใช้งานแล้ว ก็ไม่มีอะไรดีแล้ว เอามาทำกิจ เอามาโลภ โกรธ หลง อะไรไม่ได้แล้ว เธออย่าประมาทเลย รีบทำความดีเสียให้ถึงพร้อม รีบขจัดขัดล้างความชั่ว มลทินในใจให้หมดไปเสีย มันเป็นของไม่ดี แล้วใจของเธอก็จะผ่องใส ให้มันผ่องใสเสียก่อนตาย จะได้นั่งกินหมาก นั่งยิ้มเย็น นั่งคุยเป็นสุขได้…”

ครับ…ปู่ หลวงปู่…ลูกขอคุกเข่าปรนนิบัติ ขอมองหน้า ขอดูดซับกระแสใจของหลวงปู่ ของท่านลุงชุ่มโดยไม่ยกมือไหว้ ขอเอามือทำงาน เอาใจกราบเข้าไปในดวงจิตที่เลอเลิศด้วยความเมตตา อันเข้มแข็งดุจแสงสายฟ้าที่สะท้อนเงาลงในแผ่นน้ำอันสงบร่มรื่น ทิ้งร่างนี้ไว้เถิด…ขึ้นไปสถิตเป็นกำลังใจ คอยชี้ทางลูกด้วยเถิด…

หลวงปู่รู้ไหม…เคยมีใครบอกหลวงปู่ไหม ว่ามีพระดีองค์หนึ่งได้อุบัติมาในโลกมนุษย์ พระองค์นี้ใช้ความสงบอันเด็ดเดี่ยว สอนผู้คนได้โดยแทบไม่ต้องใช้วาจาภาพูด เพียงท่านเดิน ยืน นั่ง นอน ฉันหมาก แม้นอนตายหงายร่าง ก็ยังสามารถสั่งสอนผู้คนให้เข้าใจความจริงที่สวยงามได้ ลูกจะบอกให้ เพราะลูกรู้จักพระองค์นั้น เพราะลูกรักพระองค์นั้น ท่านชื่อ ครูบาชุ่ม โพธิโก พระดีศรีล้านนา หลวงปู่อย่าอิจฉาท่านนะ อย่ามาห้ามไม่ให้ลูกรักบูชาท่านนะ เพราะท่านได้พิมพ์จริยาพระลงไปในใจลูกเสียแล้ว จนตราบท้าวเข้าสู่พระนิพพานก็จะไม่ยอมลบให้เลือนหาย

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .