ประวัติครูบาชุ่ม โพธิโก วัดชัยมงคล ลำพูน

ประวัติครูบาชุ่ม โพธิโก วัดชัยมงคล ลำพูน

ครูบาชุ่ม โพธิโก เป็นชาวลำพูนโดยกำเนิด เกิดในตระกูล นันตละ ณ.บ้านวังมุย ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อวันอังคาร เดือน ๕ เหนือ ปีกุน ขึ้น ๗ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของพี่น้อง ๖ คน โยมบิดาชื่อ นายบุญ โยมมารดาชื่อ นางลุน ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ณ.วัดวังมุยนั้น โดยมีครูบาอินตา วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ตั้งจิตอธิษฐานไม่ฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่นั้น
เมื่อบรรพชาแล้วได้ศึกษาปริยัติธรรม และเดินทางไปศึกษาในสำนักวัดผ้าขาว เชียงใหม่ จากนั้นไปศึกษาต่อที่วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวง ตามลำดับ จนสามารถมีความรู้แปลหนังสือ และพระไตรปิฏกแล้วจึงเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดวังมุย ลำพูนดังเดิม

เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท โดยมีครูบาอินตา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่นเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาสนาจารย์ ได้ฉายาว่า โพธิโก หลังอุปสมบทแล้วได้ออกศึกษาวิปัสสนาธุระ ในสำนักวัดท้าวศรีบุญเรือง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีครูบาสุริยะเป็นพระอาจารย์ ได้ศึกษากับครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่ง ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมอันมีชื่อเสียงในสมัยนั้นอีก ๒ ปี จากนั้นไปศึกษาต่อกับครูบาแสน วัดหนองหมู อีก ๒ ปี จนมีความสามารถครบถ้วน จึงเริ่มออกสู่ธุดงควัตรเลาะริมน้ำปิงลงสู่ดินแดนภูเขาทางอำเภอลี้ อ.ฮอด ทำการบูรณะพระธาตุดอยเกิ้ง อันเป็นพระธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้า จากนั้นเดินทางไปศึกษาวิชาเพิ่มจาก พระมหาเมธังกร จ.แพร่ พระผู้ทรงวิทยาคุณอีกรุปหนึ่ง

จากนั้นเข้าร่วมกับครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมขอมอบตัวเป็นศิษย์ของครูบาท่าน ร่วมสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เชียงใหม่ และได้รับเมตตาจากครูบาท่านให้รับมอบงานใหญ่ในการก่อสร้างหลายอย่าง และได้รับการชี้วิถีธรรมจากครูบาท่านในการปฏิบัติต่างๆด้วย
ครูบาชุ่มเป็นผู้มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติมาก มีจิตที่แน่วแน่มั่นคง มีพลังจิตและญาณอันแกร่งกล้า ทั้งเชี่ยวชาญในอักขระวิธี พระเวท พระสูตร จนสามารถผุกเลขยันต์ อาคมของครุบาชุ่มจึงขลังยิ่งนักโดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี มหาอุตม์ แล้วคลาดและแก้คุณไสยต่างๆ อีกทั้งเมตตามหานิยมนั้นสูงยิ่ง
วัตถุมงคลของท่านนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุดกาสะท้อน ตะกรุดพอกครั่ง เสื้อตะกรุดยันต์ ยันต์หนีบ ยันต์ปรอท เหรียญรูปเหมือนพิมพ์ต่างจากปี พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๑๙ ทั้งที่ออกจากวัดวังมุย และวัดอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นที่เสาะแสวงหาของเหล่าพุทธศาสนิกชนคนเมืองเหนือทั้งปวง

http://lannaholymonks.blogspot.com/2010/10/blog-post_04.html

. . . . . . .