ครูบาน้อย เตชปญฺโญ วัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่

ครูบาน้อย เตชปญฺโญ วัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่ Featured

พระครูสิริศีลสังวร (ครูบาน้อย เตชปญฺโญ)
เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่

ครูบาน้อย เตชปญฺโญ วัดศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ พระเถระผู้ประพฤติปฏิบัติในจริยะวัตรแห่งสงฆ์ได้อย่าง สมบูรณ์ ประกอบกับความเป็นผู้รู้สำนึกในคุณบุพการี ครูบาอาจารย์ และผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา จนกระทั่งเป็นที่กล่าวขานตั้ง สมญานามให้ว่า “นักบุญยอดกตัญญู”
ครูบาน้อย เดิมชื่อ ประสิทธิ์ กองคำ เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2494 ณ บ้านศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันอายุ 59 ย่าง 60 ปี พรรษา
ที่ 37

ด้วยความที่เป็นคนสนใจในพระพุทธศาสนา จึงเข้าพิธีบรรพชาตั้งแต่อายุ 13 ปี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2507 โดยมีครูบาอิ่นแก้ว วัดกู่เสือ จ.เชียงใหม่ เป้นพระอุปัชฌาย์

หลังจากที่ร่ำเรียนศึกษาตำรายาสมุนไร และสอบนักธรรมเอกสำเร็จ เมื่ออายุ ครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2514 ณ วัดพญา ชมพู โดยมีครูบาอุ่นเรือน วัดป่าแคโยง จ.เชียงใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ ฉายา “เตชปญฺโญ” แปลว่าผู้มีปัญญาเป็นเดช ภายใต้ร่มบวรพระพุทธศาสนา มาจนถึงปัจจุบัน

ภายใต้ศีล 227 ข้อ ครูบาน้อยได้ตั้งมั่นบำเพ็ญเพียรอยู่ในสมณธรรม อย่าง เคร่งครัดจริยวัตรปฏิบัติเรียบง่าย มีปฏิปทางดงามเป็นที่เลื่อมใสของผู้พบเห็น

นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นที่จะศึกษาสรรพวิชาตำราแขนงต่างๆ ทั้งปริยัติธรรม แผนกบาลี ณ สำนักเรียนวัดพระธนาหริภุญชัย จ.ลำพูน ฝึกวิสันากรรมฐานจากครูบาผัด และครูบาพรหมมา พรหมจักโก ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน ศึกษาวิชา ธรณีศาสตร์ และพระคาถาต่างๆจากพระครูจันทสมานคุณ หรือหลวงปู่หล้า วัดป่าตึง จ.เชียงใหม่ และศึกษาวิชาอักขระภาษา ล้านนาวิทยาคม ด้านเมตตามหานิยม ตำรายาสมุนไพร จากครูบาคำปัน นันทิโย วัดหม้อคำตวง จ.เชียงใหม่

ครูบาศรีวิชัย ตำนานนักบุญแห่งล้านนา คือ พระอาจารย์ที่ครูบาน้อยมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาค้นคว้าจากตำราหนังสือ (ปั๊บสาภาษา ล้านนา) กระทั่งค้นพบวิธีการเข้านิโรธกรรมของครูบาศรีวิชัย ผู้เป็นพระอาจารย์ให้เป็นแบบอย่างในการสานต่อจารีตแห่งบรรพชิต จึงตั้งจิตลั่นสัจจะวาจาอธิษฐานจะอุทิศแลกกับชีวิตของครูบาผัด พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาวิทยาอาคมที่กำลังอาพาธอยู่ ณ เวลานั้น ด้วยการถือปฏิบัติเข้านิโรธกรรมตามแบบบรมครูแห่งล้านนา จึงเริ่มปฏิบัติครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ความอัศจรรย์จึงบังเกิดดุจดั่งปาฏิหาริย์ เข้านิโรธกรรมได้เพียง 2 วันอาการของครูบาผัดพลิกฟื้นดีขึ้น แม้ว่าก่อนหน้าทีมแพทย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาตรวจดูอาการครุบาผัดแล้วสรุปออกมาว่าให้ทำใจ! กลับหายเป็นปลิดทิ้ง! สร้างความงุนงงกับคณะแพทย์ผู้ทำ การวินิจฉัย นำความปลื้มปิติมาสู่บรรดาลูกศิษย์ จึงขนานนามตั้งฉายาครูบาน้อยผู้ที่รู้บุญคุณบุพการี ครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ ประสาทวิชา ว่า… “นักบุญยอดกตัญญู” และปฏิบัติการเข้านิโรธกรรมเป็นประจำทุกปีกระทั่งปัจจุบัน…

ด้วยความเป็นพระเถรานุเถระที่มุ่งแสวงหาความสงบวิเวก ครูบาน้อยได้ปฏิบัติธุดงควัตรไปตามป่าเขาข้ามเขตอำเภอจังหวัด ต่างๆ เริ่มตั้งแต่วัดศรีดอนมูลผ่านทาง อ.ดอยสะเก็ด ไปจ.เชียงราย พะเยา แพร่ ลำปาง เข้าลำพูน และถึงวัดศรีดอนมูล หลังจากนั้น ครุบาน้อยจึงทำความเข้าใจและเข้าถึงความชัดเจนของกลุ่มบรรพชิตแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
1)คามวาสี เป็นพระสงฆ์ที่อาศัย อยู่ในหมู่บ้านหรือในเมือง มีหน้าที่อบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนตามบทพระธรรมคำสั่งสอน ของศาสนาพุทธ
2)อรัญวาสี เป็นพระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในป่า ตามวัดป่า ใช้เวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อความสงบของจิตใจให้พ้นภัย จากกิเลส

ด้วยเหตุนี้แหละครุบาน้อยจึงดำริคิดจัดสร้างสวนป่าปฏิบัติธรรมขึ้นจำนวน 15 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน และปลูกไม้ป่าขึ้น 3 ประเภท คือ
1)ไม้ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
2)ไม้สมุนไพร
3)ไม้ในวรรณคดีไทย โดยมุ่งเน้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร และพุทธศาสนิกชน

การมุ่งเน้นปฏิบัติศึกษาพระธรรมวินัยของครุบาน้อย ส่งผลให้เกิดสติสัมปชัญยะในกระบวนความคิดภายใต้คำสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้พระสงฆ์เป็นตัวแทนผู้ถ่ายทอดคติธรรมคำสอนเตือนสติ “คน” ผู้ซึ่งเป็น “มนุษย์” หลังได้รับการอบรม กล่อมเกลาจิตใจจากพระธรรมคำสอนนั้นๆ ซึ่งบ่อยครั้งครูบาน้อยจะเตือนสติปัดเป่าจิตใจของศิษยานุศิษย์อยู่เสมอว่า “คิดก่อนทำ ไม่ใช่ทำแล้วคิด… คิดก่อนพูด ไม่ใช่พูดก่อนแล้วคิด… คิดก่อนไป ไม่ใช่ไปแล้วคิด… คิดดี เพื่อดี… คิดดี สู่ดี… ของจริง ทำจริง เห็นจริง… ของดี ทำดี เห็นดี… คิดี เพื่อดี… คิดดี สู่ดี… คิดชั่ว ทำชั่ว ได้ชั่ว… ฉะนั้นให้ถึงพร้อมทานศีลภาวนา นิพพานัง ปรมัง สุขัง”

นักบุญยอดกตัญญูผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาไทย “ครูบาน้อย เตชปญฺโญ” เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล หมู่ 8 ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 50140 โทร. 053-421040, 053-420277

ขอขอบคุณข้อมูล
จากหนังสือพระเครื่องอภินิหาร ฉบับ 123
และขอขอบคุณข้อมูลจาก www.watsridonmoon.com

http://aphinihanamulets.com/

. . . . . . .