ครูบาดวงดี

ครูบาดวงดี

คำบอกเล่าจากครูบาดวงดี ศิษย์ครูบาศรีวิชัยหรืออีกนามหนึ่งว่านักบุญแห่งล้านนา เล่าให้ฟังถึงเมื่อครั้งได้เห็นการก่อสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยภาษาคำเมืองแท้ๆดั่งเดิมที่ฟังค่อนข้างยาก และด้วยน้ำเสียงทีแผ่วเบาจนแทบไม่ได้ยิน แต่ก็พอจับใจความได้บ้าง
ท่านเล่าว่าเมื่อครั้งยังอยู่กับครูบาศรีวิชัย ประชาชนทั้งไกลและใกล้ต่างศรัทธาครูบาฯมาก เมื่อทราบข่าวว่าท่านจะมาเป็นประธานสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพในปี พ.ศ. 2477 ต่างหลั่งไหลกันมาไม่ขาดสาย ใครมีเงินก็บริจาคเงิน ใครมีอุปกรณ์สร้างถนนหนทาง เช่นผลั้ว บุ้งกี๋ จอบเสียม หรือสิ่งของอื่นๆ ก็บริจาคกันมามากมาย
ครูบาศรีวิชัย ท่านต้องออกรับแขกทุกระดับกันตลอดทั้งวัน ในตอนเย็นหลังเลิกงานจะมีคนงานชาวกระเหรี่ยง(เผ่ายาง) และชาวบ้านนำเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้างมาเก็บไว้ในห้องเก็บขนาดใหญ่ ที่มีข้าวของกองเต็มไปหมด บรรยากาศช่วงเย็นของแต่ละวันจะคลาคล่ำไปด้วยคนงานนับร้อยนับพันคน ที่ทุกคนต่างมาทำงานด้วยแรงศรัทธาล้วนๆ ต้องการเพียงเพื่อมาร่วมทำบุญกับครูบาฯที่ตนเองนับถือ หากใครว่างจากภารกิจก็จะชักชวนกันมา
การก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพที่ดูค่อนข้างลำบากก็ได้เสร็จสิ้นในระยะเวลาเพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้นเอง (พย. 2477 – เมย. 2478) ได้ระยะทางทั้งสิ้น12 กิโลเมตร เริ่มจากเชิงดอยหรือบริเวณน้ำตกห้วยแก้วจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยมีชาวบ้านมาร่วมงานก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 5,000 คน
ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ในช่วงเวลาที่กำลังมีการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จะคึกคักไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลกันมาจากที่ต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งการเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ที่สะดวกที่สุดในขณะนั้นต้องมาทางรถไฟแต่เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น

ท่านเล่าว่าครูบาศรีวิชัยเป็นคนที่มีบุญบารมีมาก เป็นพระที่ชาวเชียงใหม่และใกล้เคียง รวมทั้งชาวเขาที่อยู่ห่างไกลก็ยังให้ความศรัทธา ชาวเขาเหล่านี้จะติดตามครูบาไปทุกที่เหมือนเป็นกองคาราวาน พร้อมกับจะนำผลิตภัณฑ์ชาวเขาไปวางขายเพื่อหารายได้ให้กับตนเอง
ทุกครั้งที่ครูบาฯเดินทาง ท่านจะนั่งบนเสลี่ยงที่มีคนหาม เมื่อผ่านไปยังหมู่บ้านตำบลใดก็จะมีชาวบ้านออกมาต้อนรับกราบไหว้กันเป็นระยะๆ ถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและแก่ท้องถิ่น พร้อมกับร่วมบริจาคเงินทอง เพื่อนำไปสร้างศาสนสถานให้เป็นประโยชน์ของสังคมต่อไป
และเมื่อท่านครูบาฯเดินทางไปที่ใด ข่าวก็จะแพร่สะพัดไปทั่ว ทั้งพ่อค้าประชาชนรวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองบ้านเมืองในจังหวัดนั้นๆต่างพากันมากราบไหว้และร่วมทำบุญ ทำให้ได้รับเงินบริจาคเข้ามาไม่ขาดสาย และก็ไม่เคยมีครั้งใดที่การก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จหรือขาดแคลนวัตถุปัจจัย
สมัยนั้นจึงมีความเชื่อกันว่าถ้าครูบาศรีวิชัยได้ไปเป็นประธานก่อสร้างสถานที่ใดๆแล้ว
ก็เป็นหลักประกันว่างานจะต้องแล้วเสร็จอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านต้องรับภาระที่หนักเอาการ ซึ่งผู้ปกครองบ้านเมืองและฝ่ายฆราวาส ต่างขอร้องให้ท่านช่วยเป็นประธานฝ่ายสงฆ์หรือเป็นแม่งานอยู่เสมอๆ ในประวัติของท่านก็มีผลงานการสร้างมากถึง 200 แห่ง เกือบจะทั่วทั้งภาคเหนือ
ทำให้ชาวล้านนายกย่องและขนานนามให้ท่านเป็น ” นักบุญแห่งล้านนา ”
ครูบาดวงดี ท่านได้เจริญรอยตามครูบาศรีวิชัยมาโดยตลอด ทั้งเป็นประธานฝ่ายสงฆ์และเป็นจ้าภาพบูรณะก่อสร้างศาสนสถาน หรือศาสนวัตถุอยู่หลายแห่ง ทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งในดินแดนชาวเขาที่อยู่ห่างไกล นอกจากนี้ท่านยังมีส่วนร่วมสร้างสถานที่ราชการในหลายพื้นที่ ล่าสุดได้เป็นเจ้าภาพสร้างอาคารผู้ป่วยสูง 4 ชั้น ขนาด 30 เตียง ให้กับโรงพยาบาลสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ 2548
หลวงปู่บอกว่าเงินที่ได้มาจะไม่เก็บไว้ส่วนตัว ได้มาเท่าไรก็จะนำไปบริจาคสร้างวัดสร้างอาคารจนหมด ท่านพูดด้วยภาษาคำเมืองว่า
“มันเป็นเงินของชาวบ้านเปิ้น บ่อใจ่เงินของเฮาน้อ..ได้มาเต้าใดก็เอาไปก็ทำบุญฮื้อเขา”
(มันเป็นเงินของชาวบ้าน ไม่ไช่เงินของเรา ได้มาเท่าไรก็เอาไปทำบุญให้พวกเค้า)
ปัจจุบันหลวงปู่อายุ 100 ปี (พ.ศ. 2548) แม้จะอายุมากแต่ความจำของท่านยังดี เล่าเรื่องราวต่างๆได้อย่างไม่ติดขัด ในวันนั้นนอกจากจะได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆแล้ว หลวงปู่ยังเล่าเรื่องราวในเชิงลึกที่ได้สัมผัสมา ซึ่งผู้มีคุณธรรมระดับสูงเท่านั้นจะเข้าถึงได้
ในแต่ละวันจะมีศรัทธาญาติโยมมาเยี่ยมสักการะครูบาดวงดี อย่างไม่ขาดสาย บางครั้งก็มีชาวต่างชาติในแถบอาเซี่ยนที่ศรัทธามากราบไว้ บางรายก็ต้องมารอคอยกันหลายชั่วโมงเพื่อให้ได้พบครูบา แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องผิดหวัง
หลวงปู่แม้จะเป็นคนภาคเหนือ แต่ก็ชอบเคี้ยวหมากเหมือนผู้สูงอายุของคนภาคกลางในสมัยก่อน “ชานหมาก” ของหลวงปู่จึงเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ เมื่อได้แล้วก็อาจจะนำไปตากให้แห้งแล้วนำไปใส่กรอบพระแขวนคอ หรืออาจนำไปไว้บนหิ้งบูชา ถือว่าเป็นของที่ระลึกที่หายากจากพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง วันนั้นผมค่อนข้างโชคดีที่ท่านเรียกให้เข้าไปใกล้ๆ จากนั้นท่านก็คายชานหมากใส่กระดาษทิชชู่แล้ววางบนมือผม เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดและไม่ได้เอ่ยปากขอจากท่านมาก่อน
ผมกราบลาครูบาดวงดีหลังจากที่เห็นว่านานพอสมควรแล้ว และได้เวลาที่ท่านจะต้องพักผ่อน
หากใครมาที่วัดนี้ก็อาจจะต้องแปลกใจ ที่วัดอยู่ลึกจากถนนใหญ่เข้ามาในหมู่บ้านประมาณ 2 กม. แต่มีสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่โตสวยงามมูลค่าหลายร้อยล้านบาท มีเจดีย์ที่สูงจนสามารถมองเห็นในระยะไกล จากถนนเมื่อเลี้ยวเข้าในที่วัดก็จะต้องผ่านหมู่บ้าน ผ่านไร่นา และสวนลำไยที่กำลังแตกลูกอ่อน
ครั้งแรกที่เข้ามาในวัดก็แปลกใจว่าวัดนี้เอาเงินที่ไหนมาสร้างกัน มองไปทางไหนก็อลังการงานสร้างไปหมด
แต่เมื่อทราบประวัติ รวมทั้งได้รู้ถึงกระแสศรัทธาของผู้คนที่มีต่อท่านแล้วก็คงไม่น่าแปลกอะไร เพราะในแต่ละปีจะมีผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วสารทิศมาร่วมทำบุญบริจาคกับท่านมาก
มีคนเล่าว่ายิ่งเป็นงานฉลองวันเกิดของท่านแล้วจะเป็นวันที่ผู้คนหลั่งไหลกันมาอย่างมืดฟ้ามัวดิน จนสถานที่ภายในวัดไม่พอที่จะรองรับคลื่นมหาชน ในงานจะมีขบวนช้างขบวนพิธีที่ยิ่งใหญ่และทุกครั้งที่จัดงานจะมีชาวเขามาร่วมเป็นจำนวนมาก มากินมานอน มาทำบุญ เพื่อถวายแด่ครูบา เป็นความศรัทธาอย่างเหนียวแน่นที่มีมาช้านาน
ท่านครูบาฯเป็นพระที่อารมณ์ดี เห็นรอยยิ้มและได้ยินเสียงหัวเราะอยู่ตลอดเวลา ให้ความเป็นกันเองกับผู้มาเยือนด้วยมิตรไมตรี แม้วัยจะล่วงเลยมาถึงเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม ท่านก็ยังให้การต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเสมอภาค
ในวันนั้นผมมีโอกาสได้ทานข้าวเหนียวที่เหลือจากฉันท์เพล ซึ่งใส่ไว้ในกระติกน้ำแข็งใบเล็กๆเพื่อทำให้อุ่น ท่านบอกว่ามีคนที่เชียงรายนำมาให้หลายกระสอบๆ และถ้าใกล้จะหมดก็จะเอามาถวายให้อีกเพื่อให้ครูบาฯได้ฉันท์กันทั้งปี วันนั้นท่านบอกให้ผมและญาติๆลองชิม ปรากฏว่าเป็นข้าวเหนียวที่หอมและนิ่มมาก
เชื่อว่าหากใครได้ชิมแล้วก็อาจบอกว่าไม่เคยทานข้าวเหนียวชั้นดีแบบนี้มาก่อนในชีวิต
ผมออกจากวัดท่าจำปี อ.สันป่าตอง ในช่วงบ่ายของวันนั้น โดยจะมีโปรแกรมเดินทางต่อไปยังวัดบ้านเด่นที่ อ.แม่แตง ซึ่งเป็นวัดสร้างขึ้นมาใหม่มีครูบาเทืองเป็นเจ้าอาวาส ญาติที่มาด้วยกันบอกว่าต้องไปให้ได้ ถ้าเห็นแล้วจะติดใจ เพราะเป็นวัดที่สวยมาก

http://sangbooy.wordpress.com/

. . . . . . .