พบถ้ำชัยมงคล (ครูบาวัง)

พบถ้ำชัยมงคล

อยู่มาปีหนึ่ง พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้ออกเที่ยววิเวกเหมือนทุกปีที่ผ่านมาได้เดินธุดงค์ไปที่ภูลังกา บ้านโพธิ์หมากแข้ง บ้านโนนหนามแท่ง ได้ขึ้นไปที่หลังภูลังกาซึ่งเคยขึ้นเกือบทุกปี แต่ปีนั้นได้พบถ้ำๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นถ้ำกว้างพออยู่อาศัยได้สะดวก ถ้ำนี้แบ่งเป็นสองตอน ตรงกลางมีก้อนหินตับคั่นเป็นห้อง แต่พอเดินไปหากันได้ตลอด เป็นชะง่อนหินริมผา ลักษณะคล้ายถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร ด้านหน้าถ้ำอยู่ตรงทิศตะวันออก แสงอาทิตย์ส่องถึงภายในถ้ำได้ตลอด ถ้ำนี้ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เมื่อท่านได้พบแล้ว เป็นที่พอใจของท่านอย่างมาก ท่านพูดว่าต่อไปเราจะมาอยู่ที่นี่ ซึ่งตามปกติท่านก็ชอบภูเขาอยู่แล้ว ท่านจึงให้ชื่อถ้ำนี้ว่า “ถ้ำชัยมงคล” ระยะทางจากถ้ำนี้ลงไปถึงตีนเขาประมาณ ๑ กิโลเมตรกว่า ตีนเขาห่างจากหมู่บ้านโพธิ์หมากแข้ง บ้านโนนหนามแท่ง เดินผ่านดงไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร บริเวณรอบภูลังกานี้เป็นป่าไม้ดงดิบที่อุดมสมบูรณ์มาก มีพวกสัตว์ป่าต่าง ๆ เช่น ช้าง เสือ ควายป่า กระทิง หมี เลียงผา อีเก้ง กระจง ชะมด ลิง ค่าง บ่าง กระรอก กระแต ไก่ป่า ไก่ขัว นกยูงเป็นฝูงๆ และนกอื่นๆ อีกมากมาย ในด้านทิศตะวันตกของภูลังกาคือบ้านโพธิ์หมากแข้ง มีถ้ำอยู่ตามเงื้อมเขา พอเป็นที่ผึ้งจะอาศัยทำเป็นรัง มีอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำพร้าว ถ้ำปอหู เป็นต้น โดยเฉพาะถ้ำพร้าว เป็นถ้ำสูงจึงมีผึ้งมาทำรังอยู่ ปีละไม่น้อยกว่าหนึ่งรัง ชาวบ้านต้องประมูลจากทางอำเภอเมื่อประมูลได้แล้ว ก็เฝ้ารักษาคอยเก็บเอาเฉพาะรังผึ้งมาทำเป็นขี้ผึ้งขาย ไม่ค่อยนำเอาน้ำผึ้งมาขาย เพราะถ้ำอยู่สูง ไม่สะดวกในการเก็บน้ำผึ้ง ไม่เหมือนที่ภูสิงห์ ภูวัว ซึ่งเป็นเป็นภูเขาที่มีถ้ำอยู่ต่ำ จึงเก็บเอาน้ำผึ้งมาขายได้ง่ายกว่า
เมื่อท่านได้พบถ้ำนั้นแล้ว ในปีนั้นและปีต่อๆ มา ได้จึงได้พาพระเณรขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นทุกปี แต่ละปีไม่ต่ำกว่า ๕-๖ รูป เพราะถ้ำ ชัยมงคลอยู่ไกลจากหมู่บ้านมาก จะลงไปรับบาตรไม่ได้ ต้องอาศัยญาติโยมชาวบ้าน สามเณรและเด็กจัดทำอาหารถวาย สามเณรที่อยู่ประจำคือ สามเณรคำพันธ์ ปทุมมากร(พระจันโทปมาจารย์) สามเณรสุบรรณ ชมพูพื้น สามเณรใส ทิธรรมมา และสามเณรวันดี สอนโพธิ์

สร้างวัดชัยมงคล อำเภอบ้านแพง
ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ นั้นเอง พระอาจารย์วังได้พาสามเณรคำพันธ์ ปทุมมากร ลงจากภูลังกา เพื่อไปเยี่ยมโยมอุปัฏฐากในอำเภอบ้านแพง คือ คุณแม่สาลี เมื่อไปถึงประตูเข้าบ้าน ก็พบกับลูกชายของคุณแม่สาลีชื่อเฉลิม ยืนคุยกับเพื่อน ๔ คน หนึ่งในนั้นเป็นคริสเตียน เมื่อนายเฉลิมและเพื่อนเห็นพระอาจารย์วังกับสามเณรคำพันธ์เดินมาก็หลีกทางให้ เพราะมีความคุ้นเคยกันมาก่อน ส่วนคริสเตียนคนนั้น นอกจากไม่หลีกทางให้แล้ว ยังถลึงตาใส่เหมือนจะทำร้าย อำเภอบ้านแพงในสมัยนั้น ตระกูลของ คริสเตียนคนนี้ร่ำรวยที่สุดในอำเภอ ทุกครั้งที่ญาติโยมนิมนต์ให้ลงจาก ภูลังกาเพื่อไปสงเคราะห์ พระอาจารย์วังได้ไปขอพักอยู่ในวัดที่อยู่ใกล้ๆ บ้านของคุณแม่สาลี แต่พระเจ้าถิ่นก็ไม่ค่อยเต็มใจให้พัก คอยกลั่นแกล้งต่างๆ นานา จนคุณแม่สาลีนิมนต์ให้ไปพักที่บ้านของท่านอีกหลังหนึ่ง ที่ปลูกอยู่ฟากบุ่งตรงข้ามกับวัดนั้น ซึ่งไม่มีคนอยู่ แต่ก็ไม่วายถูกพระเจ้าถิ่นตามไปรบกวน โดยให้คนแอบไปถอดเอาไม้ที่มุงหลังคาออกในตอนกลางคืน จนไม่สามารถบังแดดบังฝนได้ คุณแม่สาลีต้องหาที่พักแห่งใหม่ให้ท่าน โดยใช้เถียงนากลางทุ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก พอได้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว ตอนนี้พระเจ้าถิ่นได้ใช้วิธีทำบัตรสนเท่ห์หรือใบปลิวโจมตีท่านอีก โดยกล่าวหาว่าท่านชอบเที่ยวเตร่ในที่อโคจร คบแม่ร้าง แม่หม้าย หวังหลอกเอาทรัพย์สินเงินทอง และอีกต่างๆ นานา เท่าที่จะนำมากล่าวหาให้ท่านเสียหายได้ คุณแม่สาลีตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงหนึ่งกลางทุ่งนา อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอบ้านแพง(ปัจจุบันเรียกบ้านโนนคะนึง) ถวายเป็นที่สร้างวัด พระอาจารย์วังก็ได้นำพาคุณแม่สาลีและญาติโยมบุกเบิกสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นจนแล้วเสร็จ และท่านก็ตั้งชื่อวัดว่า “วัดสาลีวัลย์” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของคุณแม่สาลีผู้มีศรัทธาสร้างวัดนี้
วัดสาลีวัลย์สร้างมาได้ ๓ เดือน เจ้าคุณปู่วัดศรีเทพ คือพระราชสุทธาจารย์ก็ได้ติติงมาว่า “สร้างวัดสร้างด้วยกันหลายคน แต่ใส่ชื่อ คนๆ เดียว มันจะทำให้ทะเลาะกัน ให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เสียเถิด” พระอาจารย์วังครุ่นคิดหาชื่อวัดอยู่นาน ในที่สุดท่านก็ใส่ชื่อใหม่ว่า “วัดชัยมงคล” ตามนามถ้ำชัยมงคลที่ท่านจำพรรษาอยู่ จนถึงปัจจุบัน
ขอเล่าย้อนถึงคริสเตียนคนนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๓ วัน เขาก็จ้างคนติดยาฝิ่น ๓ คน หาบข้าวปลาอาหารขึ้นไปหาพระอาจารย์วังที่ถ้ำชัยมงคล เมื่อไปถึงก็เข้าไปกราบแทบตักของท่าน พร้อมกับกล่าวว่า “กระผมคิดเห็นแต่หน้าท่านอาจารย์ เหมือนกับคนรู้จักกันมาก่อน อยากมากราบมาไหว้ เขาได้สนทนากับพระอาจารย์วังอยู่เป็นเวลานาน เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วจึงได้ลากลับ
ใน ๔-๕ วัน ถัดมา คุณแม่สาลี แม่จันมา แม่กำมา แม่จันมี แม่เบ็ง แม่ทา แม่บัวทอง ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากอยู่ในอำเภอบ้านแพงก็นำเสบียงอาหารขึ้นไปทำบุญที่ถ้ำ พร้อมภรรยาของคริสเตียนคนนั้น เมื่อทุกคนกราบไหว้พระอาจารย์วังแล้ว ภรรยาของคริสเตียนก็เรียนถามว่า “เมื่อ ๔ วันก่อน ผัวขะน้อยมา เพิ่นกราบท่านอาจารย์อยู่บ่” พระอาจารย์วังก็บอกว่า “กราบเรียบร้อยดี” ทำให้ภรรยาของเขาไม่อยากเชื่อพร้อมกับบอกว่า “สามีนับถือศาสนาคริสต์ ไม่รู้จักกราบไหว้พระ รังเกียจพระ ช่างหน้าแปลกใจที่เขามากราบไหว้ท่านอาจารย์ถึงที่นี่” (ภายหลังได้ทราบจากท่านเจ้าคุณพระจันโทปมาจารย์ว่าเมื่อภาวนาจิตหยั่งลงถึงขั้นอัปฺปนาสมาธิแล้ว แผ่เมตตาไปถึงเขา ต้องการให้เขาทำอะไร เขาก็จะทำตามอย่างที่เราต้องการ)

เทวดาเลื่อมใส
ขณะที่อยู่ภูลังกานั้น ท่านอาจารย์วังได้พูดให้ฟังหลายครั้งว่ามีเทวดามาขออาราธนาให้ท่านอยู่ที่นี่นานๆ บางครั้งเมื่อท่านลงมาที่วัด ศรีวิชัย ซึ่งตามปกติจะมาทุกปี ปีละครั้งสองครั้ง ญาติโยมอยากขอนิมนต์ให้พักนานๆ แต่ท่านตอบปฏิเสธ โดยท่านบอกว่าเทวดาเขามานิมนต์กลับเทวดาจะพากันมารับศีลและฟังเทศน์ จากท่านเป็นประจำ คืนไหนที่ พวกเขามา วันรุ่งขึ้นท่านจะเล่าให้พระเณรฟังทุกครั้ง

ชาวบังบดมานิมนต์
วันหนึ่งหลังจากฉันข้าวเสร็จแล้ว สามเณรได้ไปธุระทางอื่น มีท่านรูปเดียวอยู่ในถ้ำ สภาพของถ้ำเป็นเงื้อมผาสองห้อง มีหินกั้นกลางระหว่างสองห้องนั้น ถ้าจะเดินไปหากันก็ต้องระวังตรงหินยื่นนั้น เพราะอยู่ริมชัน เลยจากนั้นก็เข้าไปอีกห้องหนึ่ง เมื่อสามเณรไปแล้วไม่นาน ท่านได้ยินเสียงคนเดินจากห้องที่พระเณรอยู่ จะไปหาท่านจึงคิดว่าพวกเณรไม่น่ากลับมาเร็วอย่างนี้ หรือว่าจะมีโยมบ้านใดขึ้นมาหาท่านนั่งรอรับประมาณ ๑๐ นาที จึงเห็นผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปี ทรงผมยาวลงมาเพียงตีนผม โผล่แต่หน้าข้ามหินมา เห็นท่านนั่งอยู่องค์เดียว แล้วก็ผลุบหายไป ส่วนท่านก็รอรับอยู่ เมื่อรอแล้วรออีกก็ไม่เห็นโยมข้ามมา หาเลย ท่านสงสัยเลยลุกเดินไปดูฟากนั้นว่ามีคนมาหรือไม่ เมื่อออกไปดูแล้วก็เงียบ ไม่เห็นอะไร เมื่อตกเย็นท่านได้เล่าให้พวกเณรฟัง
ต่อมาอีก ๓ วัน ท่านได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้เมื่อนั่งสมาธิ พอจิตสงบแล้ว ได้เห็นสิ่งหนึ่งคล้ายกับอู่(เปล) ของเด็กลอยมาหน้าถ้ำ แล้วก็มุ่งมาที่ถ้ำ อู่นั้นก็ลอยต่ำลง มาที่ท้ายถ้ำ มีคนมาในนั้น ๕ คน มีทั้งคนหนุ่มคนเฒ่าทั้งชายและหญิง เมื่อเขามาแล้วกราบท่าน แล้วแจ้งความประสงค์ให้ท่านทราบว่า จะมานิมนต์ท่านให้ไปอยู่เมืองบังบดกับเขา เมืองนั้นอยู่บริเวณป่าตาดน้ำตกแถวนั้น เมื่อท่านได้กวาดสายตาไปดูเขาได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ใบหน้าและทรงผมเหมือนกับผู้หญิงที่ได้พบตอนกลางวันวันก่อน ท่านจึงทักว่าโยมเคยมาหาอาตมาแล้วมิใช่หรือ ผู้หญิงคนนั้นจึงประณมมือตอบท่านว่าใช่แล้ว ที่ไม่เขามาหาท่านวันนั้นเพราะเห็นท่านอยู่รูปเดียว เห็นว่าเป็นเวลาไม่เหมาะสม จึงไม่กล้ามากราบท่าน แล้วท่านพระอาจารย์วังก็บอกเขาว่าไปอยู่กับพวกท่านไม่ได้ เขาตอบว่า ถ้าไม่ไปอยู่กับเขาแล้ว ที่เณรทั้ง ๓ ไปเก็บเส้นเทาที่ตาดน้ำตกนั้นเขาเห็นอยู่ ต่อไปนี้จะไม่มีเส้นเทาอีกแล้ว (เทา เป็นตะไคร่น้ำหรือสาหร่ายเกิดตามหินที่มีน้ำไหลตลอด เป็นเส้นสีเขียวคล้ายเส้นผม ยาวคืบหนึ่งหรือยาวกว่า ชาวอีสานเรียกว่าเทา เอามาทำเป็นอาหารได้ เรียกว่า ลาบเทา ) เมื่อท่านได้รับคำนิมนต์ของเขาแล้วเขาก็กราบลากลับ ขึ้นอู่เหาะไป เหมือนเมื่อตอนเขามา ต่อมาก็แปลกมาก คือ เทาที่เกิดอยู่ที่นั้นไม่มีอีกเลย

ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com

http://www.web-pra.com/

. . . . . . .