ธรรมคำสอนของพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

ธรรมคำสอนของพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

บันทึกจากความทรงจำโดยพระจันโทปมาจารย์

มนุษย์เราทุกคนย่อมหลงอยู่ในสมมติของโลกคือ สมมติให้เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ ภูเขา แผ่นฟ้า แผ่นดิน ทุกอย่างที่อยู่ในพื้นโลกนี้ ก็ถูกสมมติให้เป็นต่างๆ กันไป ตามคำสมมตินั้นๆ ส่วนมนุษย์เรานั้นมีส่วนประกอบพร้อมมูล คือสังขารทั้งหลาย ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ปรุงแต่งให้เป็นมนุษย์ คือคนเราทุกวันนี้ส่วนประกอบที่เห็นได้ชัดๆ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รวมประชุมกันอยู่เหมือนๆ กันหมด แต่แล้วก็สมมติว่า นี่เป็นผู้ชาย นี่เป็นผู้หญิง นี่เป็นบิดา นี่เป็นมารดา เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นพี่เป็นน้อง ปู่ย่า ตายาย แล้วแต่จะสมมติไปตามความประสงค์ที่จะให้เป็น
เหมือนกันกับการสมมติของคณะหมอลำหมู่ หรือคณะลิเก เล่นละครเมื่อเขาเล่นเขาก็สมมติกันไปตามเรื่อง คือสมมติให้เป็นพระเอกนางเอก เป็นเจ้า เป็นบ่าวไพร่ แล้วเขาก็แสดงไปตามเรื่องราวในแต่ละท้องเรื่องนั้นๆ ในท้องเรื่องนั้นก็จะมีทั้งบทรัก ความเศร้าโศกเสียใจ มีทั้งบทหัวเราะ รื่นเริง เพลิดเพลินเจริญใจ บางตอนก็พลัดพรากจากกัน แล้วก็คร่ำครวญร้องให้โศกเศร้าเสียใจ บางคราวมีการกระทบกระทั่งกัน จนถึงมีการฆ่าฟัน ล้มตายกันก็มี เรื่องทั้งหมดนั้นคละเคล้าทั้งส่วนที่สมหวัง ทั้งส่วนที่ผิดหวัง มีทุกรส พร้อมหมดทุกอย่าง เขาก็เล่นกันไปตามสมมติกันไปตลอดคืน ครั้นรุ่งเช้ามาแล้วก็สมมติว่าจบเรื่อง สิ้นสุดการสมมติลงแค่นั้น ตัวสมมติทั้งหลายก็กลับเป็นจริง คือ นาย ก นาย ข นาย ค และนาง ง ตามเดิม ไม่ได้เป็นจริงตามคำสมมตินั้นเลย

แต่การสมมติของคนเรานี้ ได้ถูกสมมติกันทุกวัน ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย ซึ่งเป็นสมมติที่ยาวถึง ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี หรือยิ่งกว่านั้น ทั้งหมดนี้จึงเรียกว่าละครชีวิต ได้แสดงละครชีวิตนี้ไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประสบเข้า เป็นเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย คือจบลงด้วยการตาย สิ่งสมมติมาแล้วทั้งหมด ก็กลับกลายหาสภาพเดิม คือเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ และเป็นลม อันเป็นสภาพเดิมของโลกต่อไป หมดความเป็นชายเป็นหญิง เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นบิดา มารดา เป็นลูกหลานแค่นั้นเอง แต่นี้เราถูกสมมติให้เป็นไปตามสมมตินั้นๆ ไม่ได้เข้าใจว่ามันเป็นจริงเพียงสมมตินั้น แต่ไม่จริงตามความเป็นจริงเลย จึงทำให้หลงผิด คิดผิด เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกสมมติให้เป็นนั้น หารู้ไม่ว่าความจริงนั้นไม่มีอะไรยั่งยืน ย่อมมีเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง และมีความแตกสลายไปในที่สุด เป็นสัจธรรมคือความจริงตลอดไป เหมือนกันกับพระอาทิตย์ที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า และก็จะตกลับขอบฟ้าไป แม้จะมีผู้ใดปรารถนาจะไม่ให้พระอาทิตย์ตกไป แต่พระอาทิตย์ก็ไม่สนใจกับผู้ใด แม้จะข่มขู่ ด่าว่า กราบไหว้ วิงวอน ก็ไม่เป็นดังนึกได้เลย แต่เราก็ยังหลงผิด คิดว่าเป็นจริงตามสมมตินั้นว่านี่คือบิดา มารดาเรา จึงทำให้หลงรักใคร่พอใจ ยึดติดแน่นหนากับสิ่งที่เข้าใจผิดนั้นอย่างลึกซึ้ง ยากที่จะคลายความรักได้ จึงเป็นเหตุเกิดราคะ ความกำหนัดรักใคร่ โลภะ คือความปรารถนา อยากได้ อยากเป็นตามที่ตนปรารถนานั้น จึงทำให้หวงห่วงอาลัย อยากให้สิ่งที่ตนรักนั้นอยู่กับเรานานๆ ตลอดไป ไม่อยากให้พลัดพรากจากเราไป ไม่อยากให้มีอะไร หรือผู้ใดมาขัดขวางความรักความผูกพันกับสิ่งที่เราหวง ถ้าเกิดมีสิ่งใดหรือผู้ใดมาทำให้เราได้พลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราหลงนั้น สิ่งนั้นหรือผู้นั้นก็ต้องเป็นคู่อริกับเรา จึงเป็นเหตุให้เกิดไฟคือโทสะ ได้แก่ความโกรธ เผาลนจิตใจให้เร่าร้อน จนเกิดเป็นการทะเลาะวิวาท ผิดเถียงกันขึ้นไป เป็นบาป เป็นกรรม ตกนรกหมกไหม้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะความหลงผิดติดมั่นในสมมตินั่นเอง
ทางที่ควรปฏิบัติคือ ให้พิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญาให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง แล้วอย่าหลงยึดติดในสมมติที่เราเป็น ให้ถือว่าเป็น โลกธรรม คือธรรมประจำโลก มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ ยักย้าย ถ่ายเท แปรผันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขความทุกข์ที่ยั่งยืนตลอดไป ย่อมสมมติว่าเป็นสุข สมมติว่าเป็นทุกข์ สับสนวนเวียนอยู่เสมอไป ไม่แน่นอน ควรสังวรระวัง ทำให้ใจเป็นกลาง คืออย่ายินดีเกินไปในเมื่อประสบกับสิ่งที่รักใคร่พอใจ อย่ายินร้ายในเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ควรรีบตักตวงประโยชน์ในขณะที่เราเป็น คือเป็นลูกที่ดีของบิดา มารดา เป็นมารดา บิดาที่ดีของลูก เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นอาจารย์ที่ดีของศิษยานุศิษย์ เป็นข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ในทางใดๆ แล้วให้เป็นคนดี เป็นคนที่สังคมต้องการในการงานและหน้าที่นั้นๆ พึงสังวรระวังอย่าทำกรรมอันเป็นบาปอกุศล ทุจริต มิจฉาชีพ อย่าทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม อันจะเกิดผลให้ได้รับทุกข์โทษอันไม่พึงปรารถนาทั้งในชาตินี้และชาติหน้า แล้วถึงตั้งใจบำเพ็ญตนในทางดี คือรักษาศีล บำเพ็ญสมาธิและปัญญา เพิ่มนิสัยปัจจัยคือความดี ให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อจะได้บรรลุซึ่งธรรมอันจะทำให้สิ้นสุดลงซึ่งสมมติบัญญัติทั้งหลาย ไม่ต้องมาเวียนว่าย ประสบสุข ประสบทุกข์ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่มีที่จะจบสิ้นลงได้ ขอให้เราได้พ้นจากแดนสมมติอันเต็มไปด้วยกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ขอให้รู้แจ้งตลอดซึ่งวิมุตติธรรมนั้น
“ให้พิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญา
ให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง
แล้วอย่าหลงยึดติดในสมมติที่เราเป็น”
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com

http://www.web-pra.com/

. . . . . . .