ปุจฉาวิสัชชนา ครูบาเหนือชัย… “นักบุญแห่งขุนเขา”

ปุจฉาวิสัชชนา ครูบาเหนือชัย… “นักบุญแห่งขุนเขา”

ภาพ “พระเณรขี่ม้าออกบิณฑบาต” นำโดย “ครูบาเหนือชัย โฆสิโต” นอกจากสร้างความประทับใจต่อพุทธศาสนิกชนไทยแล้ว ยังกระฉ่อนโด่งดังไปทั่วโลก เหตุที่พระ เณร และลูกศิษย์ต้องขี่ม้าบิณฑบาต เนื่องจากสำนักอยู่ห่างไกลจากชุมชน และถนนหนทางยังไม่สะดวก การใช้ม้าจึงมีความสะดวกในการเดินทางมากกว่า ๑๐ ปีของการออกธุดงค์ เผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตามชายแดนไทย-พม่า โดยไม่แบ่งชาติพันธุ์ ในที่สุดท่านก็ได้รับการขนานนามว่า “นักบุญแห่งขุนเขา”

นอกจากจะมีชื่อเสียงในรูปแบบ และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว นักบุญแห่งขุนเขา ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของเครื่องรางของขลัง ด้านอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม เกี่ยวกับการค้าขายให้มีความเจริญก้าวหน้าร่ำรวยอีกด้วย จนเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดาชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน ทั้งในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนจะดีเพียงใดนั้น ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์แบบ “คม ชัด ลึก”

“คำว่า “นักบุญแห่งขุนเขา” ใครเป็นผู้ตั้งให้ครับ ?”

“นักบุญแห่งขุนเขา” ฉายานี้ได้มาจากเจ้าหน้าที่ที่ร่วมงานกันในโครงการ “มิตรมวลชนคนชายแดน” ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังเฉพาะกิจ กองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๗ (ฉก.ร.๑๗ พัน ๓) ตั้งให้ เพราะเห็นว่าเราเป็นพระที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่า เผยแผ่ธรรมะอยู่ในป่า”

“การตั้งสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทองมีที่มาที่ไปอย่างไรครับ ?”

“ครูบาเผยแผ่ธรรมะอยู่ในป่า มานั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่หน้าถ้ำป่าอาชาทองแห่งนี้ มีชาวบ้านมาถวายภัตตาหารและมาทำบุญบ่อย ๆ ก็เลยมีคนบอกว่าน่าจะตั้งเป็นวัดดีกว่า ประกอบกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน มีดำริให้ดำเนินโครงการ “บวร” พุทธศาสนา อันหมายถึง บ คือ บ้าน ว คือ วัด ร คือ โรงเรียน เป็นการนำหลักธรรมเผยแผ่ให้ครบทั้งสามสถาบัน”

“ที่สำนักปฏิบัติธรรมมีพระเณรและเด็กวัดเท่าไรครับ ?”

“พระ ๔ รูป สามเณร ๑๗ รูป และมีเด็กในอุปการะอีก ๒๐ คน(ขณะนั้น) เด็กที่รับอุปการะส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เพราะติดคุกเรื่องยาเสพติด บางคนพ่อแม่เสียชีวิตก็เพราะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็เลยรับอุปการะเด็ก ๆ เหล่านี้ไว้ แล้วส่งให้เรียนหนังสือและช่วยทำงานต่าง ๆ ในสถานปฏิบัติธรรม เช่น เลี้ยงม้า ทำความสะอาด รวมถึงหัดแม่ไม้มวยไทยให้เด็ก ๆ ด้วย”

“ปัจจัยส่วนใหญ่ได้มาจากไหนครับ ?”

“ส่วนใหญ่เป็นเงินรายได้ที่คนมาบูชาเครื่องรางของขลังวัตถุมงคลต่าง ๆ อีกทางหนึ่งได้มาจากการขายปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้จากม้า เด็ก ๆ ก็จะมีรายได้จากการทำงานด้วย วันหยุดเสาร์อาทิตย์เด็ก ๆ จะมีรายได้วันละ ๑๐๐ บาท เอาไว้เป็นเงินค่าขนมตอนไปโรงเรียน”

“นอกจากนั้นยังมีการชกมวยทุก ๆ วันเสาร์ การชกมวยไม่เหมือนมวยตู้ ไม่มีการพนัน ชกจบมีค่าขนมให้ทั้งคู่ คนชนะได้ ๗๐๐ บาท คนแพ้ได้ ๓๐๐ บาท เป็นการฝึกให้เด็ก ๆ ออกกำลัง แต่ไม่สนับสนุนให้เด็ก ๆ ชกมวยหาเงินนะ เพราะเป็นการพนัน เด็กจะเสียคน อีกอย่างคือ จะเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของมวยที่ฝึกในวัด คือ มวยคู่แผ่นดิน ใช้สำหรับป้องกันตัว”

“ความคิดเรื่องขี่ม้าออกบิณฑบาตมาจากไหนครับ ?”

“ครั้งแรกเลยไม่เคยมีความคิดจะใช้ม้าในการออกรับบิณฑบาตหรอก แต่มีชาวบ้านบนขอให้หายป่วย พอหายป่วยก็เอาม้ามาแก้บน ครูบาเห็นว่าเราอยู่ในป่าเขา ใช้ม้าเป็นพาหนะย่อมมีความสะดวกกว่า ม้าไม่ต้องใช้น้ำมันด้วย ก็เลยใช้ม้ามาตั้งแต่ตอนนั้น”

“ม้าตัวแรกได้มาจากไหนครับ ?”

“ก็ชาวบ้านเอาม้ามาแก้บน เลยต้องเลี้ยงไว้ เพราะเขาเอามาถวาย เราเป็นพระจะไม่รับก็ไม่ได้ การขี่ม้าเพื่อออกบิณฑบาต นั่นก็เพราะแต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างไกลกันมาก ต้องข้ามเขาเป็นลูก ๆ การเดินด้วยเท้าจะลำบาก ยิ่งหน้าฝนด้วยทางเดินจะลื่นมาก การใช้ม้าช่วยให้การออกรับบาตรสะดวกขึ้น และยังช่วยให้การเผยแผ่หลักธรรม ตามหมู่บ้านชาวเขาในแนวชายแดนที่ห่างไกล สะดวกขึ้นด้วย ส่วนความเหมาะสมหรือไม่ที่พระขี่ม้า เห็นว่าน่าจะดูที่การปฏิบัติกิจของสงฆ์มากกว่า ครูบาได้ใช้ม้าเพื่อเผยแผ่ศาสนาในโครงการ “มิตรมวลชนคนชายแดน” ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงรับเป็นองค์สังฆราชูปถัมถ์โครงการนี้ด้วย

“การฝึกให้พระเณรขี่ม้านี่ยากไหมครับ ?”

“ของแบบนี้ต้องใช้เวลา เริ่มตั้งแต่ให้พระและเณรเลี้ยงม้า เอาหญ้ามาเป็นอาหารของม้า ม้าของพระเณรรูปใด พระเณรรูปนั้นจะต้องเป็นคนดูแลเอง เมื่อทำความคุ้นเคยแล้ว ก็จะเริ่มหัดขี่ม้าได้ไม่ยากหรอก สามเณรที่นี่อายุ ๑๐ ปี ก็ขี่ม้าเป็นแล้ว”

“ใครเป็นผู้ตั้งชื่อม้าครับ ?”

“ชื่อม้าแต่ละตัวที่เห็นนั้น สมเด็จพระสังฆราชทรงพระเมตตาประทานชื่อให้ ครูบาไม่ได้ตั้งเองหรอก จำได้ทุกตัว ตัวแรกชื่อ เพชรเทวดา อาชาทอง หนุ่ม โพธิ์ชัย อาเธอร์ ส่วนตัวที่เห็นนี่ ชื่อคชสีห์อาชาทอง ปัจจุบันที่นี่มีม้าทั้งหมด ๒๐๐ ตัว ตอนหลัง นอกจากม้า ๒๐๐ ตัวแล้ว ก็ยังมีไก่อีกประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว ช้าง ๙ เชือก วัว ๑๕ ตัว และควายอีก ๑๖ ตัว”

“ใช้ม้าออกรับบิณฑบาตแล้ว ชาวบ้านว่าอย่างไรบ้างครับ ?”

“ชาวบ้านไม่ว่าอะไรหรอก เขาอยู่ในพื้นที่ เขารู้ เขาเห็น เขาเข้าใจถึงเหตุผล แต่หลังจากที่เป็นอันซีนไทยแลนด์นี่แหละ มีเสียงสะท้อนออกมาทั้งดีบ้างไม่ดีบ้าง บางท่านก็ว่าไม่เหมาะสม”

“ครูบาสักยันต์เพื่ออะไรครับ ?”


เหตุที่ครูบาสักยันต์เต็มตัวนี่เพื่อประกาศให้ทุกคนรวมทั้งโยมผู้หญิง(เมีย) รู้ว่าเราได้มอบร่างกายและจิตใจเพื่อพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีคำว่ากลัวตายหรอก ตายไวเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น เพราะถ้ามีชีวิตอยู่ยิ่งนานเท่าไรก็ต้องแบกรับภาระทุกอย่างไว้ เพราะในเมื่อใจเรามุ่งไปในพุทธรรมแล้วก็เหมือนได้ตายจากทางโลก รอยสักที่เห็นตามร่างกายก็คือคำสอนในพุทธศาสนา”

“รู้สึกอย่างไรที่ ททท.มาโปรโมตท่านเพื่อการท่องเที่ยว ?”

“เรื่องนี้ก็ใช้เวลาคิดอยู่นานเหมือนกัน คือประมาณปี ๒๕๔๕ มีเจ้าหน้าที่จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เขาเข้ามาสำรวจ เขาเห็นว่าแปลกดี ต้องการสนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เราก็ยังไม่ตกลง เพราะเราต้องการความสงบมากกว่า เราไม่อยากดังหรอก”

“เพราะอะไรถึงตกลงเข้าร่วมโครงการได้ล่ะครับ ?”

“ก็พอดีปี ๒๕๔๕ เขามาสำรวจ เราไม่ตอบตกลง เขาก็ติดต่อมาอีกหลายครั้ง แล้วอีกประมาณ ๒ ปีได้ คือปี ๒๕๔๗ เราก็มานั่งคิดว่า ถ้าต้องการให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เห็นว่าการท่องเที่ยวนี่แหละ ที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เร็วกว่าวิธีอื่น เพราะถ้ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านก็สามารถขายของได้ มันเร็วกว่าที่จะไปทำไร่ทำนา ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นอันซีนไทยแลนด์”

“การปฏิบัติธรรมยังเหมือนเดิมหรือเปล่าครับ ?”

“เรายังปฏิบัติเหมือนเดิม แต่ก็ต้องเพิ่มเวลาที่ใช้ปฏิบัติธรรมเพิ่ม เพราะเวลาที่มีญาติโยมมาพบก็จะมีเวลาปฏิบัติธรรมน้อยลง”

“ที่ว่าใช้เวลาเพิ่มนี่ ครูบาทำอย่างไรครับ ?”

“เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติธรรมก็ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เคยใช้เวลาในการปฏิบัติเท่าไรก็ให้เวลาเหมือนเดิม จนบางคืนต้องนอนดึกกว่าปกติ ส่วนพื้นที่ในสถานปฏิบัติธรรมก็ต้องมีการแบ่งเขต เป็นส่วนฆราวาสและส่วนสงฆ์ให้เป็นสัดส่วน”

“ครั้งหนึ่งท่านเคยถูกรุมทำร้ายระหว่างเผยแผ่ธรรมจริงหรือเปล่าครับ ?”

“เป็นความจริง เหตุเกิดที่บ้านหัวแม่คำ มีคนมาทำร้ายประมาณ ๔๐ คน แต่ก็เอาตัวรอดมาได้”

“แสดงว่ามีของขลังเลยรอดมาได้สิครับ ?”

“(หัวเราะ) ไม่ใช่ด้วยของขลัง แต่เป็นเพราะมีสติและใช้วิชาความรู้ที่ได้เรียนมา เลยเอาตัวรอด”

“วิชาอะไร แล้วครูบาทำอย่างไรครับ ?”

“วิชาแม่ไม้มวยไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าครูบาสู้กับคน ๔๐ คนนะ อาศัยว่าวันนั้นกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ เราก็จุดเทียนใช้ตอนกลางคืน เมื่อมีคนเข้ามา เราก็ใช้วิธีดับเทียน ทีนี้มันก็มืดใช่ไหม ? แล้วคนตั้ง ๔๐ คน มองอะไรก็ไม่เห็น เราก็หมอบลงอยู่กับพื้นเฉย ๆ นี่แหละ บางคนก็วิ่งชนกัน ชกกันเอง กลายเป็นพวกเดียวกันจัดการกันเอง ก็เลยกลายเป็นที่เล่าขานกันมาจนทุกวันนี้”

“มีเหตุหนักกว่านี้ถึงขนาดมีคนจ้องทำร้าย ถึงขั้นยิง วางยาสั่งกันเลย จริงหรือเปล่าครับ ?”

“เรื่องนี้ไม่เคยคุยกับใครเลยนะ รู้มาจากไหน ครูบาเป็นพระป่าอยู่ในพื้นที่นี้ ซึ่งก็ทราบกันดีว่าเป็นพื้นที่ชายแดน และก็ต่อต้านเรื่องยาเสพติดอยู่แล้ว เราก็อาจจะไปขวางทางใครเข้าก็ไม่ทราบเลยโดน ครูบาก็มีครูบาอาจารย์ เขาใช้วิธี ฟัน แทง ยิง ไม่ได้ผล ก็เลยโดนยาสั่งตอนปลายปี ๒๕๔๓ แทบแย่ ตอนนี้ก็ยังรักษาตัวอยู่เลย ร่างกายก็ฟื้นมาได้สัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์”

“ครูบาโดนยาสั่งได้อย่างไร และมีอาการอย่างไรบ้างครับ ?”

“มีศรัทธามาทำบุญตักบาตร เราก็นำมาฉัน ก็เลยรู้ว่าโดนยาสั่ง เวลาโดนจะอาเจียนออกมา ครั้งนั้นเต็มถังน้ำ อาเจียนจนหมดแรงเลย ก็ต้องใช้วิธีนั่งเข้ากรรมฐานแก้พิษ”

“แล้วยาสั่งนี้เขาทำกันอย่างไรครับ ?”

“เขาก็จะใช้หมูตัวผู้มาทำยาสั่ง เริ่มด้วยเลี้ยงหมูด้วยพิษจากงู เห็ด ว่านต่าง ๆ หรือคางคก เอาให้กินทีละน้อย ๆ พอโตได้ที่ก็ฆ่า แล้วนำไปย่างไฟแดง ๗ วัน ๗ คืน แล้วนำมาตากน้ำค้างอีก ๗ วัน ๗ คืน เสร็จแล้วนำมาบดให้ละเอียด แล้วก็ปลูกฟักแฟงในป่าช้า เอาเมล็ดออก แล้วนำผงที่ได้จากหมูมายัดใส่แทน จนลูกฟักลูกแตงตาย แล้วจึงเอาลูกฟักลูกแตงไปทำพิธีบนกิ่งไม้ใหญ่ เวลาทำพิธีต้องอยู่เหนือลม เวลานำฟักแตงมากินก็จะเกิดอาการทันที”

“เครื่องรางของขลังของครูบาที่สร้างขึ้นมีกี่อย่างครับ ?”

“ก็จะมีประเภทอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม ค้าขายรุ่งเรือง ส่วนใหญ่จะนิยมเรื่องอยู่ยงคงกระพัน เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดน”

“ของขลังของครูบาดีด้านไหนครับ ?”

“เครื่องรางของขลังปลุกเสกขึ้นเพื่อเอาไว้ใช้ป้องกันตัว คนที่นำติดตัวต้องมีพุทธรรมอยู่ในใจจึงจะเกิดผล แต่หากคิดไม่ดี ทำไม่ดี พุทธะไม่อยู่กับตัว และหลักพุทธรรมก็เป็นหลักธรรมที่ใช้เผยแผ่ให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วไป ครูบาจะบอกเสมอว่าพุทธะอยู่ที่ตัวเรา หากกินเหล้าก็เหมือนกับเราเอาเหล้ามารดพระที่อยู่ในตัวเรา หากเราคิดจะฆ่าผู้อื่นก็เหมือนเราคิดจะฆ่าพระในตัวเรา แล้วอย่างนี้พระจะอยู่กับเราได้อย่างไร เครื่องรางจะขลังได้อย่างไร”

“เรื่องการสอนศิลปะมวยไทยมีมาตั้งแต่ตอนไหนครับ ?”

“เดิมครูบาเผยแผ่ศาสนาให้กับชาวเขาตามแนวตะเข็บชายแดน มีลูกศิษย์มากมาย และได้ออกติดตามครูบาเพื่อช่วยในเผยแผ่ศาสนาในหลายพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่เราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่า เขาคิดอะไรกับเราอย่างไร ซึ่งลูกศิษย์บางคนก็ถูกทำร้ายร่างกายกลับมา ครูบาจึงได้ถ่ายทอดวิชาศิลปะมวยไทย ที่ตนเองได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและอาจารย์อีกหลายท่าน ก่อนที่ครูบาจะบวชเป็นพระ ได้เคยร่ำเรียนมาจากบรรพบุรุษ เป็นวิชาที่สืบทอดมาจากบุคคลที่เป็นทหาร ในการรักษาขาช้างที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงช้างออกไปทำศึก จึงเป็นศิลปะที่มีความแข็งแกร่ง ยากที่จะมีผู้ที่ต่อกรแต่อย่างไร”

“ทำไมครูบามีความคิดที่จะฝึกสอนมวยให้กับเด็ก ๆ ครับ ?”

“อยากให้เด็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่และเด็กกำพร้าที่รับอุปการะไว้ มีวิชาความรู้เกี่ยวกับแม่ไม้มวยไทย เอาไว้ป้องกันตนเอง ป้องกันประเทศชาติ ก่อนจะฝึกทุกคนต้องบวชก่อน เพื่อจะได้ซึมซับหลักธรรมและมีธรรมะอยู่ในใจ การฝึกเป็นการฝึกแม่ไม้มวยไทยคู่แผ่นดิน ไม่ต้องการให้ฝึกเพื่อไประรานผู้อื่น”

ที่มา http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=826

http://watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=652

. . . . . . .