แนวทางการปฏิบัติของพระครูบา (ครูบาเหนือชัย)

แนวทางการปฏิบัติของพระครูบา

พระครูบาท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านสนใจศึกษาพระธรรม ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นฆราวาสโดยได้ยึดแนวทางปฏิบัติของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง

ตอนอายุ ๑๕ ท่านได้บวชเณรกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดศรีค้ำโดยอาศัยการภาวนาแบบ “สัมมาอะระหัง” จากนั้นก็ยึดถือปฏิบัติมาตลอด นอกจากนี้ในสมัยที่เป็นนักศึกษาท่านได้มีโอกาสอ่านหนังสือของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จากรุ่นพี่และได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อฤๅษีลิงดำที่บ้านซอยสายลม จากนั้นเป็นต้นมาเมื่อมีโอกาสท่านก็จะไปวัดปากน้ำและบ้านซอยสายลมเสมอมา

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ท่านนั่งสมาธิบนโขดหินโดยอธิษฐานว่า “จะขอนั่งอยู่ตรงนี้จนกว่าจะบรรลุธรรม แม้ตายก็จะไม่ลุกจากที่นี่” ท่านนั่งนิ่งอยู่ ๑๕ วัน จนผึ้งมาเกาะทำรังตามเนื้อตัว ท่านรู้สึกเจ็บจึงพยายามแยกความรู้สึกของกายออกจากจิต แม้กายจะเจ็บแต่จิตนิ่งใสสว่าง ความเจ็บก็ทุเลาลง ท่านเห็น หลวงปู่เกษม ณ สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง มาบอกว่า นี่คือการเข้านิโรธสมาบัติ แยกจิตกับกายและให้หมั่นเพียรนั่งสมาธิ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการบรรลุธรรม

ท่านเล่าให้ฟังอีกว่า

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ในขณะที่ออกธุดงค์ท่านเป็นไข้ป่าแต่ก็มิได้เว้นว่างจากการปฏิบัติ ท่านได้กำหนดวงแก้วตลอดระยะเวลาที่ป่วย หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้มาหาและพูดกับท่านว่า

“หลับให้สบายเถอะลูก พ่อจะรักษาลูกแก้วไว้ให้”

แล้วท่านก็หลับไปด้วยพิษไข้ เมื่อตื่นขึ้นมาก็หายจากอาการป่วย ในเช้าวันนั้นก็ได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ได้ละสังขารเมื่อวานนี้เอง

ผมมีโอกาสได้พบกับพระครูบาท่านครั้งแรกที่บ้านของคุณสมหมาย ที่จังหวัดราชบุรี ภาพแรกที่ได้เห็นคือ พระที่สักยันต์เต็มตัวนั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้กลางห้องรับแขก ท่านดูเป็นพระที่เข้มขลังเต็มไปด้วยความน่าเกรงขาม แต่พอได้สัมผัสการพูดคุยของท่าน ทำให้พบว่าท่านเป็นพระที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาอย่างที่สุด ท่านมีลีลาการเทศน์ที่หลากหลาย ที่สำคัญคำสอนของท่านยังฟังแล้วเข้าใจง่ายและยังสอดแทรกมุกที่ทำให้หัวเราะได้ตลอด

พระครูบาท่านเป็นพระที่อุทิศตนเพื่องานสาธารณประโยชน์ ตามรอยที่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสอนไว้ ท่านเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนท่านได้ศึกษาธรรมโดยการออกธุดงค์อยู่ในป่าเขาตามแนวชายแดน ปฏิบัติธรรมเผยแผ่ธรรมะอยู่ในป่า จนวันหนึ่งท่านได้มานั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่หน้าถ้ำป่าอาชาทอง มีชาวบ้านมาถวายภัตตาหารและมาทำบุญบ่อย ๆ เลยมีคนบอกว่าน่าจะตั้งเป็นวัดดีกว่า ประกอบกับสมเด็จสังฆราช มีดำริให้ดำเนินโครงการ “บวร” พุทธศาสนา อันหมายถึง บ คือ บ้าน ว คือ วัด ร คือ โรงเรียน เป็นการนำหลักธรรมเผยแผ่ให้ครบทั้งสามสถาบัน

พระครูบาท่านได้มองเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและพระศาสนา เพราะในตอนนั้นชาวเขาส่วนใหญ่จะรับจ้างขนยาเสพติดและเสพยาเองด้วย ท่านบอกว่าในตอนนั้นติดกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า พระครูบาเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ท่านจึงได้เริ่มตั้งสำนักสงฆ์ถ้ำป่าอาชาทองนับตั้งแต่นั้นมา……

พระครูบาท่านได้สนองพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช โดยท่านได้เริ่มจัดตั้งโครงการซึ่งได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระสังฆราช ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการ และทรงประทานชื่อโครงการว่า “โครงการมิตรมวลชนคนชายแดน” เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๒ นับแต่นั้นมาพระครูบาเหนือชัยท่านก็ได้ดำเนินโครงการ โดยมีกิจกรรมที่แยกออกมาหลากหลายกิจกรรม เช่น

กิจกรรมการฝึกอบรมเยาวชนชัยยุทธ์ เพื่อฝึกอบรมประชาชนและเยาวชน ให้มีความพร้อมทั้งร่างกายสติปัญญาและคุณธรรม โดยใช้มวยไทยเป็นแนวหลัก เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ความรักและหวงแหนมรดกของชาติไทย

กิจกรรมมิตรมวลชนนิมนต์พระนำธรรมะสู่ชายแดน เป็นความร่วมมือกันระหว่างทหารกับพระสงฆ์ โดยออกเยี่ยมเยียนบรรยายธรรมะประกอบศาสนกิจและปฏิบัติธุดงควัตร จาริกไปตามเส้นทางที่ทุรกันดาร ที่มีอันตรายและมีปัญหาภัยคุกคามสูง เพื่อเผยแผ่ธรรมะสู่ประชาชนในพื้นที่ชายแดน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจในอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน เพื่อต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่….

http://watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=652

. . . . . . .