หัวอกแม่…หัวใจลูก (ครูบาอริยชาติ)

หัวอกแม่…หัวใจลูก (ครูบาอริยชาติ)

“เอาไว้ให้จบ ม.6 ก่อนแล้วค่อยบวชนะลูก…เดี๋ยวแม่จะซื้อมอเตอร์ไซค์” “ผมไม่เอารถ…ผมจะบวช” ไม่ว่าจะเกลี้ยกล่อมอย่างไร ลูกชายก็ยังไม่เปลี่ยนความคิด สุดท้ายนางจำนงค์ก็ได้แต่ตัดพ้อต่อว่า “คนขาดีมาอยู่กับกูไม่ได้พึ่ง คงจะได้พึ่งคนขาไม่ดี เพราะคนขาดีมันไปกันหมดแล้ว”

“เอาไว้ให้จบ ม.6 ก่อนแล้วค่อยบวชนะลูก…เดี๋ยวแม่จะซื้อมอเตอร์ไซค์” “ผมไม่เอารถ…ผมจะบวช” ไม่ว่าจะเกลี้ยกล่อมอย่างไร ลูกชายก็ยังไม่เปลี่ยนความคิด สุดท้ายนางจำนงค์ก็ได้แต่ตัดพ้อต่อว่า “คนขาดีมาอยู่กับกูไม่ได้พึ่ง คงจะได้พึ่งคนขาไม่ดี เพราะคนขาดีมันไปกันหมดแล้ว”
การศึกษาในระบบโรงเรียนของเด็กชายเก่งเป็นไปอย่างราบรื่นสมใจนายสุขและนางจำนงค์ผู้เป็นพ่อแม่ ในขณะเดียวกัน การศึกษาภายในวัดก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องและรุดหน้า เป็นที่ถูกใจครูบาจันทร์ติ๊บผู้เป็นอาจารย์เช่นเดียวกัน !

ในสายตาของครูบาจันทร์ติ๊บแล้ว เด็กชายเก่งไม่เพียงเป็นผู้มีสติปัญญาอันเลิศเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะที่ท่านมองออกชัดเจนว่าเป็นผู้มีวาสนาในทางธรรมอย่างยิ่ง ดังนั้น ครูบาจันทร์ติ๊บจึงทุ่มเทกายใจถ่ายทอดศาสตร์วิชาทั้งปวงที่ท่านร่ำเรียนมา ทั้งวิชาอักษรล้านนา คาถาอาคม และวิทยาคุณต่างๆ ให้กับลูกศิษย์ผู้นี้จนหมดสิ้น และเด็กชายเก่งผู้เป็นศิษย์ก็ไม่ได้ทำให้อาจารย์ผิดหวังแม้แต่น้อย โดยได้ศึกษาเรียนรู้วิชาต่าง ๆ จากอาจารย์อย่างตั้งอกตั้งใจจนกระทั่งสามารถเข้าใจในศาสตร์วิชาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถลงอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ ได้อย่างชำนิชำนาญ จนกระทั่งครูบาจันทร์ติ๊บซึ่งชราภาพมากในขณะนั้นไว้วางใจให้ศิษย์เอกผู้นี้ทำหน้าที่ลงอักขระเลขยันต์ในวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังต่าง ๆ แทนท่านมาโดยตลอด ซึ่งไม่เพียงเด็กชายเก่งจะสามารถทำหน้าที่แทนครูบาผู้เป็นอาจารย์ได้อย่างเชี่ยวชาญโดยไม่ขาดตกบกพร่องเท่านั้น แต่ยังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ของผู้เช่าบูชาจำนวนมาก ว่าวัตถุมงคล อาทิ ตะกรุด และเครื่องรางต่าง ๆ ที่ลงอักขระเลขยันต์โดยเด็กชายเก่งนั้น เปี่ยมด้วยพุทธคุณอันเข้มขลังไม่แพ้วัตถุมงคลที่อาจารย์ทำ !

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ครูบาจันทร์ติ๊บถึงกับเอ่ยปากว่า “เด็กผู้นี้มีวาสนาทางธรรมสูงยิ่งนัก ต่อแต่นี้ไปเราขอตั้งชื่อเด็กชายผู้นี้ว่าอริยชาติ อันหมายถึง ผู้ที่มีชาติภพอันเป็นอริยะ”

ด้วยรับรู้ถึงความในใจของผู้เป็นแม่ ทำให้หลังจากเรียนจบ ม.3 แล้ว อริยชาติ…สุชาติ หรือ เก่ง ก็มิได้เอ่ยปากกับผู้เป็นแม่เรื่องการบวชอีก และยินยอมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ตามที่นางจำนงต้องการในที่สุด

ครอบครัวนายสุขและนางจำนงเริ่มลืมตาอ้าปากได้บ้างหลังจากที่ลูกชายทั้งสามเติบโตขึ้น “นิเวศน์” ลูกชายคนโตก็เริ่มเดินกะโผลกกะเผลกได้เมื่ออายุ 12 ปี และอาการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ฝ่าย “นิรันดร์” ลูกคนรองแต่งงานและย้ายไปอยู่ที่ จ.ลำปาง ส่วน “สุชาติ” หรือเก่ง ซึ่งขณะนั้นอายุล่วงเข้า 17 ปี ก็กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5

แต่ในปีนั้นเอง ครูบาจันทร์ติ๊บได้มรณภาพลง ความรักใคร่ผูกพันท่วมท้นในใจศิษย์เอกอย่างสุชาติ หรือ เก่ง รวมทั้งลูกศิษย์คนอื่นๆ เกินจะกล่าวได้ ทำให้พวกเขาเกิดความคิดที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อบูชาพระคุณผู้เป็น “ครู” แล้วในวันหนึ่ง หนุ่มน้อยก็เข้ามาหานางจำนงค์ผู้เป็นแม่

“แม่…ผมขอตังค์ห้าร้อย จะเอาไปซีล็อกตั๋วเมือง”

นางจำนงค์ทราบดีถึงความเศร้าโศกของลูกชาย ด้วยครูบาจันทร์ติ๊บเป็นที่รักใคร่ศรัทธาอย่างยิ่งของชาวบ้านในถิ่นนั้น การมรณภาพของท่านจึงเป็นความเสียใจของนางไม่น้อยไปกว่าลูกชายและชาวบ้านคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน

“ตั๋วเมือง” จากลายมือ “ศิษย์เอก” ของครูบาจันทร์ติ๊บ ที่ต้องการแสดงออกถึงความศรัทธาบูชาพระคุณผู้เป็นอาจารย์ ถูกนำไปถ่ายเอกสารด้วยเงินที่เหล่าลูกศิษย์ของท่านเรี่ยไรสมทบทุนกันมา หลังจากนั้น บรรดาลูกศิษย์ของท่านต่างก็กระจายกันนำตัวเมืองที่ถ่ายเอกสารเรียบร้อยแล้ว ไปแปะไว้ตามสถานที่ต่างๆ เท่าที่จะทำได้จนแทบจะทั่วเขตอำเภอสารภี

ในปีนั้นเอง ครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล หรือ พระครูไพศาลพัฒนโกวิท เจ้าอาวาสวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พระนักวิปัสสนาผู้มีปฏิปทาเป็นที่เคารพเลื่อมใสของญาติโยมมากมาย ทั้งยังเป็นพระนักพัฒนาผู้มีส่วนสำคัญในการก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุเพื่อธำรงพระพุทธศาสนาอย่างมากมายในหลายๆ วัด ได้มาร่วมในพิธีปลงศพของครูบาจันทร์ติ๊บในคราวนั้นด้วย

อาจด้วยเหตุจากความอ่อนช้อยงดงามของตั๋วเมือง หรือความเข้มขลังที่สื่อผ่านพลังสมาธิของผู้เขียนตั๋วเมืองเหล่านั้น หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ไม่อาจทราบได้ แต่ทันทีที่ได้เห็น “ตั๋วเมือง” บนแผ่นกระดาษที่แปะอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ครูบาเจ้าเทืองก็นึกสะดุดใจจนต้องสอบถามถึงที่มาที่ไป และในที่สุด ท่านก็ได้พบปะพูดคุยกับหนุ่มน้อยนามว่า “เก่ง” ผู้เป็นเจ้าของลายมือตั๋วเมืองอันงดงามนั้นจนได้ ซึ่งขณะนั้นหนุ่มน้อยมีอายุได้ 17 ปี และเรียนถึงชั้น ม.5 แล้ว

หลังงานปลงศพครูบาจันทร์ติ๊บผ่านไปไม่นาน ที่วัดของครูบาเจ้าเทืองใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ก็จัดให้มีพิธีรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ชาวบ้านรวมทั้งเด็กหนุ่มๆ ในหมู่บ้านต่างชักชวนกันไปร่วมงานนี้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งลูกชายคนเล็กของแม่จำนงค์ที่มาขออนุญาตผู้เป็นแม่เช่นเคย ซึ่งนางจำนงก็อนุญาต พร้อมกับให้เงินติดตัวไป 100 บาท

แต่…ในเย็นวันนั้นเอง สิ่งที่นางจำนงค์นึกหวั่นอยู่ในใจก็เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง เมื่อรถที่พาคณะชาวบ้านไปร่วมพิธีรดน้ำดำหัวได้กลับมาถึงหมู่บ้านปิงน้อย แต่ในบรรดาชาวบ้านและกลุ่มวัยรุ่นที่ลงจากรถมานั้น ไม่มีบุตรชายคนเล็กของนางรวมอยู่ด้วย!

เมื่อไถ่ถามญาติมิตรที่ไปด้วยกัน คำตอบที่นางจำนงค์ได้รับคือ “ครูบาเจ้าเทืองบ่ให้ปิ๊ก…เห็นเรียกน้องเก่งให้เข้าไปหา บ่ฮู้ว่าพูดอะไรกัน”

ถึงกระนั้นคนเล่าก็อ้อมแอ้มบอกเป็นนัยๆ “ถ้าครูบาเจ้าเทืองขอลูกบวช…ก็ให้บวชเน้อ” !

นางจำนงค์ซึ่งขณะนั้นร้อนอกร้อนใจอยู่แล้วปฏิเสธทันควันเช่นกัน “จะบวชได้จะใด ยังเรียนอยู่ !”

คืนนั้น นายสุขและนางจำนงค์สองสามีภรรยาจึงได้แต่นั่งจับเข่าปรึกษากันด้วยความหนักใจ กระทั่ง 2 วันผ่านไป รถจากวัดครูบาเจ้าเทืองก็พาหนุ่มเก่งกลับมาบ้าน ท่ามกลางความยินดีของนางจำนงค์ (ที่เห็นว่าลูกชายยังอยู่ในชุดของฆราวาส) แต่ยังไม่ทันที่ผู้เป็นแม่จะหายใจได้โล่งอก ลูกชายก็เอ่ยปากขออนุญาต

“ผมจะไปช่วยงานวันเกิดครูบาเจ้าเทือง”

นางจำนงค์กำลังร้อนใจอยู่จึงไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ถามทันทีว่า “ครูบาเจ้าเทืองเรียกไปทำไม”

“ครูบาขอให้บวช…แต่ผมขอครูบาว่าขออายุ 30 ปีก่อน แล้วจะบวช ตอนนี้แม่เป็นหนี้เยอะ ขอทำงานช่วยแม่ใช้หนี้ก่อน” คำตอบของลูกชายจึงทำให้นางจำนงคลายใจลงได้

แต่ครั้นเมื่อลูกชายกลับจากช่วยงานวันเกิดครูบาเจ้าเทืองในอีกไม่กี่วันต่อมา คืนนั้นหนุ่มน้อยก็จูงมือพ่อกับแม่ให้มานั่งขนาบอยู่สองข้างของตน และเอ่ยปากขออนุญาตด้วยสีหน้าจริงจัง

“แม่…ผมจะบวชแล้ว”

คราวนี้นางจำนงลุกหนีทันที !

“แม่มานี่ก่อน…ผมจะบอกอาจารย์ที่โรงเรียน ว่าผมจะไปบวช” ลูกชายยังยืนยัน

หลังจากเริ่มตั้งสติได้บ้างแล้วนางจำนงจึงออกปากต่อรองอีกครั้ง พร้อมกับยื่นข้อเสนอใหม่

“เอาไว้ให้จบ ม.6 ก่อนแล้วค่อยบวชนะลูก…เดี๋ยวแม่จะซื้อมอเตอร์ไซค์ให้”

“ผมไม่เอา…ผมจะบวช”

ไม่ว่าจะเกลี้ยกล่อมอย่างไร ลูกชายก็ยังไม่เปลี่ยนความคิด สุดท้ายนางจำนงก็ได้แต่ตัดพ้อต่อว่า

“คนขาดีมาอยู่กับกูไม่ได้พึ่ง คงจะได้พึ่งคนขาไม่ดี เพราะคนขาดีมันไปกันหมดแล้ว”

เมื่อไม่อาจทัดทานใดๆ ได้อีก นางจำนงจึงทำได้เพียงพาลูกไปหาอาจารย์ที่โรงเรียนทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจอย่างยิ่ง ถึงกระนั้น เมื่อมาถึงโรงเรียน นางก็รีบร้อนเข้าไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาก่อนลูกชาย และเอ่ยปากขอร้องให้อาจารย์ช่วยเกลี้ยกล่อมอีกแรง แต่ความหวังสุดท้ายของนางจำนงก็ไม่เป็นผล เมื่อลูกชายแสดงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะลาออกจากโรงเรียนให้ได้ จนในที่สุดแม้แต่อาจารย์ก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของลูกศิษย์ เมื่อเขายืนยันอย่างจริงจังว่า “ผมจะบวช”

ดังนั้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2541 สุชาติ อุ่นต๊ะ หรือ เก่ง ขณะอายุ 17 ปี จึงได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรในบวรพุทธศาสนา ณ วัดชัยมงคล (วัดวังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน โดยมีพระครูภัทรปัญญาธร วัดศรีสุพรรณ จ.ลำพูน เป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังจากบรรพชาแล้ว สามเณรเก่งจึงมีชื่อที่เรียกขานอีกชื่อหนึ่งควบคู่ไปกับชื่อเดิมด้วย นั่นคือ “สามเณรอริยชาติ อุ่นต๊ะ” อันเป็นชื่อที่ครูบาจันทร์ติ๊บตั้งให้มาก่อนหน้านี้นั่นเอง

อนึ่ง วัดชัยมงคลแห่งนี้ เป็นวัดที่ ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ผู้เป็นอาจารย์ของครูบาจันทร์ติ๊บเคยเป็นเจ้าวาสและจำพรรษาอยู่ โดยท่านได้มรณภาพไปเมื่อ พ.ศ. 2519 ก่อนที่สามเณรอริยชาติจะถือกำเนิดประมาณ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อมาเป็น “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต” แล้ว ครูบาหนุ่มได้เล่าความในใจถึงสาเหตุที่ต้องขัดใจโยมแม่ด้วยการยืนยันจะบวชให้ได้ ท่านกล่าวว่า

“เมื่อตอนนั้นที่ยืนยันจะบวช เพราะคิดได้ว่า…โลกนี้วุ่นวาย รู้สึกว่าโลกเรามีแต่ความวุ่นวาย มนุษย์เราเกิดมาปุ๊บ…เป็นเด็ก โตมาเรียนจบก็หางานทำ หางานทำเสร็จแล้วสุดท้ายมีหลักมีฐาน พอแก่ก็ตาย ชีวิตคนเรามีแค่นั้น ในขณะเดียวกันครูบาก็มองเห็นว่าตรงนี้คือสวรรค์ มองเห็นว่าชีวิตคนเรามันต้องมีอะไรมากกว่านี้ ต้องมีอะไรบางอย่าง…

พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเห็นว่าชีวิตคนเรามีแค่นี้ใช่ไหม เกิดมามีแค่นี้ใช่ไหม แล้วเราต้องเป็นแบบนี้อีกนานแค่ไหน เราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร…ครูบาเองก็คิดถึงว่า ชีวิตเกิดมาทำไม ทำไมต้องเป็นคนนั้นคนนี้ ทำไมต้องเป็นนั่นเป็นนี่ ครูบารู้สึกว่ามันวุ่นวาย สรุปก็คือเบื่อโลก เห็นวัฏสงสาร เห็นการเวียนว่ายตายเกิด พอคิดได้อย่างนี้ในใจเราก็อยากบวช อยากรู้ธรรมะ อยากมีที่ที่สงบ อย่างน้อยได้พักกายพักใจ ให้กายสงบ ให้ใจสงบ แล้วก็พ้นไป…”

http://www.watsangkaew.com/

. . . . . . .