เข้านิโรธกรรมฮิต ! (ครูบาอริยชาติ)

เข้านิโรธกรรมฮิต ! (ครูบาอริยชาติ)

ครูบาอริยชาติ ผู้เก่งกาจแห่งล้านนาไทย

อ้อ ! เดี๋ยวนี้ พระ-เณร เมืองเหนือ ไม่ร่ำไม่เรียนพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหรือ นักธรรม-บาลี ไม่มีใครสนใจ บวชได้ไม่กี่วัน ก็เอาผ้าแดงมาห่ม ตั้งตนเองเป็นครูบา เข้ากรรมเป็นว่าเล่น แล้วก็ออกวัตถุมงคลขาย สร้างวัดใหญ่โตโก้หรูแข่งขันกัน ขณะที่ประเทศชาติประชาชนยากจนแทบล่มจม ตกอยู่ในหล่มแห่งความทะเลาะเบาะแว้ง เหลียวไปทางวัดก็เอาแต่สร้างกับสร้าง สร้างวัตถุมงคลห้อยคอ สร้างวัดใหญ่ให้เป็นที่ท่องเที่ยว สร้างสวรรค์วิมานไว้ในอากาศ ตายไปจะได้ไปอาศัย ส่วนปัจจุบันชาตินี้ก็ให้มันยากจนดักดานเข้าไว้ น่าสงสารประเทศไทยเหลือเกิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นคุณค่าของการศึกษาพระปริยัติธรรม ตามหลักฐานที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก จึงทรงโปรดพระราชทานพระราชทรัพย์เป็น “ทุนการศึกษาหลวง” เพื่อส่งเสริมพระภิกษุสามเณรให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยให้เข้าใจ จะได้ไม่หลงไหลในสิ่งที่มิใช่พระพุทธศาสนา

ประชาชนคนไทย ท่องกันวันละสามเวลา “เรารักในหลวง-ทำเพื่อในหลวง” หนักเข้าถึงกับทำเสื้อ-สติ๊กเกอร์ “เรารักในหลวง” ขาย และใส่ให้มันเท่ห์ แต่ไม่เห็นมีใครทำตามที่ในหลวงทรงทำ ไม่สนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมยังไม่ว่า ยังสนับสนุนลัทธินอกธรรมนอกวินัยนอกพระพุทธศาสนา (เดียรถีย์) เสียอีก สวนทางกับในหลวงอย่างชัดเจน ถามว่ารักในหลวงยังไง ?

หลังออกจากนิโรธจึงค่อยออกวัตถุมงคลขายตามสไตร์
ดูเอาเถิด มีทั้งผ้ายันต์ รูปเหมือน นางกวัก และสัตว์เดรัจฉาน

เห็นบอกว่า “ตามรอยครูบาศรีวิชัย” แต่ตามประวัติแล้ว
ครูบาศรีวิชัยไม่เคยออกวัตถุมงคล ถามว่าตามรอยอะไร
ครูบาศรีวิชัยเอาแต่สั่งสอนเรื่องศีลธรรมสัมมา
ไม่มีการค้าขายเหมือนครูบาจัญไรในปัจจุบัน

หยุดอ้างครูบาศรีวิชัยได้แล้ว
ครูบาไม่เคยมีทายาทเหลวไหลเช่นนี้

ขอเชิญศรัทธาสาธุชน ร่วมทำบุญงานนิโรธกรรมครั้งที่ 8 ของ พระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต วัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

การเข้านิโรธกรรมของพระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ครั้งนี้เป็นการปฏิบัติตามแบบโบราณาจารย์ในสายของ ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา โดยเน้นธุดงควัตร 13 เข้านิโรธกรรม ที่ไม่เหมือนผู้ใด คือ เป็นการกระทำแบบลำบาก ซึ่งครูบาได้ตั้งสัจอธิษฐานเอาไว้ว่า ในชาตินี้จะขอกระทำนิโรธกรรมเพียง 9 ครั้ง โดยจะไม่ซ้ำที่ และไม่กำหนดว่าจะกระทำติดต่อกันหรือไม่

การทำนิโรธกรรมตามแบบฉบับของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ท่านให้ขุดหลุมลึก 1 ศอก กว้าง 2 ศอก พอดีเข่า แล้วสร้างซุ้มฟางครอบให้มีความสูง แค่เลยศีรษะ 1 ศอก โดยจะยืนไม่ได้ ไม่ถ่ายหนัก ไม่ถ่ายเบา ฉันแต่น้ำ 1 บาตร ที่นำเข้าไปด้วย มีผ้าขาวปู 4 ผืน รองนั่ง แทนความหมาย คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

มีเสาซุ้ม 8 ต้น แทนความหมาย มรรค 8 ยอดซุ้มปักธงฉัพพรรณรังสี อันมีความหมายถึงปัญญา ราชวัตรล้อมซุ้ม มี 9 ชั้น แทนความหมายของ โลกุตรธรรม 9 คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 รวมเป็น 9

การกระทำนิโรธกรรมของท่านครูบา จะเข้าในสถานที่สัปปายะ ห่างไกลผู้คน โดยมีชาวบ้านจัดเวรยามรักษาในรัศมี 100 เมตร เพื่อป้องกันการรบกวน

โดยก่อนที่จะกระทำการนิโรธกรรม จะต้องมีพระสงฆ์ 5 รูป รับรองความบริสุทธิ์ ถึงจะกระทำได้ และเมื่อออกจากนิโรธกรรม จะเป็นที่รู้กันดีในหมู่ศิษยานุศิษย์ว่า การได้ร่วมทำบุญตักบาตรกับพระสงฆ์ผู้ซึ่งออกจากนิโรธกรรมนั้น จะได้รับอานิสงส์ใหญ่หลวงโดยฉับพลันทันที เทียบเท่าระดับจักรพรรดิสมบัติ มีสวรรค์ และพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า ช่วยให้หมดทุกข์ หมดโศก หมดโรค หมดภัย มีโชคมีลาภ และหากแม้ตั้งจิตอธิษฐานในสิ่งที่เป็นกุศลกรรมแล้ว ก็จักสำเร็จสมหวังสมดังปรารถนาทุกสิ่งทุกประการ

ในการเข้านิโรธกรรมของพระครูบาอริยชาติ ครั้งที่ 8 นี้ ได้กำหนดในวันเสาร์ที่ 2 มกราคม 2553 และออกจากนิโรธกรรมในวันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2553 เวลาประมาณ 13.00 (คืนวันที่ 8 เช้าวันที่ 9 ตี 3)

จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ร่วมกันสร้างบุญ สร้างกุศล สร้างบารมี ร่วมกับพระครูบาอริยชาติ ในวันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2553 อันเป็นวันออกจากนิโรธกรรม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของท่านอีกด้วย

ในวันดังกล่าว จะมีการทำบุญตักบาตรกับพระครูบา และพระสงฆ์อีกหลายรูป รวมทั้งมีพิธีหล่อหัวใจรูปปั้นเหมือนพระครูบาศรีวิชัย เนื้อโลหะองค์ใหญ่สุดในโลก หล่อพระทองคำบริสุทธิ์หน้าตัก 5 นิ้ว บริจาคข้าวสาร 9 คันรถ ผ้าห่ม 1 หมื่นผืนแก่คนยากไร้ เป็นต้น

รายได้จากการทำบุญ และจากการให้เช่าบูชาวัตถุมงคล ที่อธิษฐานจิตในระหว่างเข้านิโรธกรรมทั้งหมด จะร่วมสมทบทุนสร้างโบสถ์ วิหาร หอฉัน ศาลา กำแพง ห้องน้ำ และถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด รวมทั้งเป็นกองทุนในการสร้างรูปเหมือนท่านครูบาศรีวิชัย เนื้อโลหะองค์ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

ข่าว : คมชัดลึก

http://www.alittlebuddha.com/News%202010/January%202010/001%20January%202010.html

. . . . . . .