ภาระงานในด้านต่าง ๆ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
สมณศักดิ์ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
พ.ศ.๒๔๙๐ พระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญที่ พระโศภนคณาภรณ์ (มีความหมายว่าผู้เป็นอาภรณ์ หรือเครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม) ซึ่งเป็นราชทินนามา ที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทาน แก่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นรูปแรก
พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม
พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพในราชทินนามเดิม
พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมในราชทินนามที่ พระธรรมวราภรณ์ (มีความหมายว่า ผู้มีธรรมเป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันประเสริฐ) ซึ่งเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทาน แก่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นรูปแรกเช่นกัน
พ.ศ.๒๕๐๔ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง (คือรองเจ้าคณะใหญ่ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ) ที่ พระสาสนโสภณ (มีความหมายว่า ผู้งามในพระศาสนา หรือผู้ยัง พระศาสนาให้งาม)
พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร (มีความหมายว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้) ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานสถาปนา พระญาณสังวร (สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาเป็นสมเด็จพระราชา คณะเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๙ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษ ที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น ฉะนั้น นับแต่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ แล้วตำแหน่งที่สมเด็จพระญาณสังวรก็ไม่ทรงโปรด พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระรูปใดอีกเลย กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๕ นับเป็นเวลา ๑๕๒ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน จึงทรงโปรดให้สถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในตำแหน่งที่สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปที่ ๒ อันเป็นการแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นพระเถระผู้ทรงคุณทาง วิปัสสนาธุระที่สมควรแก่ราชทินนามตำแหน่งนี้
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานสถานาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิมคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แทนราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่ถือเป็นพระเพณีปฏิบัติกันมาคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ยังเป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป แม้เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว
เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามพิเศษ ต่างไปจากสมเด็จ พระสังฆราชพระองค์อื่น ๆ ที่ล้วนได้รับพระราชทาน สถาปนาในราชทินนามสำหรับตำแหน่งคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทุกพระองค์ (สำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น มีพระนามเฉพาะ ๆ แต่ละพระองค์ไป)
ชีวิตในมัชฌิมวัยของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น เป็นช่วงชีวิตแห่งการทำงานและสร้างผลงาน ซึ่งอาจประมวลกล่าว ได้เป็นด้าน ๆ คือ ด้านการศึกษา ด้านการปกครอง ด้านการสั่งสอน
ด้านการศึกษา
ภาระหน้าที่ด้านการศึกษาของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น มีทั้งหน้าที่ในส่วนของวัดและ หน้าที่ในส่วนของคณะสงฆ์
หน้าที่ทางการศึกษาที่เป็นส่วนของวัด เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงเริ่มทำหน้าที่นี้ มาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ คือ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี เป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ดังกล่าวแล้วในตอนต้น
เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร นับแต่ พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมาก็ทรงมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น คือการอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรในฐานะทรงเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และทรงอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกา ในฐานะที่ทรงเป็นเจ้าอาวาสหรืออธิบดีแห่งพระอาราม
การอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรในฐานะที่ทรงเป็นพระอุปัชฌายอาจารย์นั้น เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมา ในวัดบวรนิเวศวิหาร แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่และทรงเป็นเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหารกล่าวคือ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ มีหน้าที่ต้องอบรมสั่งสอนศิษย์ของตน (ที่เรียกว่าสิทธิวิหาริก อันเตวาสิก) ให้มีความรู้ความเข้าใจ ในพระธรรมวินัยทั้งในด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ ในด้านปริยัติ คืออบรมสั่งสอนให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาในด้านปฏิบัติ คือแนะนำและฝึกหัด ให้รู้จักปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเพื่อรักษาและขัดเกลาจิตใจจากกิเลส
ในยุคที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นเจ้าอาวาส ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่นี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด กล่าวคือ ในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีภิกษุสามเณรบวชใหม่จำนวนมาก เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงให้การอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรใหม่ในเวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นประจำทุกวัน ๆ ละประมาณ ๑ ชั่วโมง นับเป็นการให้การศึกษาด้านปริยัติ ในวันพระและวันหลังวันพระทรงให้การอบรม เรื่องการฝึก ปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน ในเวลา ๑๙.๐๐ น. ทรงบรรยายธรรมที่เป็นการให้แนว ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานพอสมควรแก่เวลาแล้ว ทรงนำฝึกนั่งปฏิบัติสมาธิกรรมฐานคราวละประมาณ ๑๕-๒๐ นาที นับเป็นการให้การศึกษาด้านปฏิบัติ
สำหรับการอบรมสั่งสอนเรื่องการฝึกปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้น มีสอนตลอดทั้งปี ไม่ได้ จำกัดเฉพาะในพรรษาเท่านั้น และเปิดโอกาสให้อุบาสกอุบาสิกาผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วม ฟังและร่วม ฝึกปฏิบัติด้วย จึงมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา แต่ละครั้งจำนวนเป็นร้อย โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา
การปฏิบัติภารกิจที่นับว่าเป็นการ ให้การศึกษาพระพุทธศาสนาแก่คนทั่วไป อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเทศน์ในพระอุโบสถ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงปฏิบัติเป็นกิจวัตรคือ การเทศน์ในพระอุโบสถทุกวันพระขึ้น/แรม ๑๕ ค่ำ คือเดือนละ ๒ ครั้ง ในการเทศน์ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ แต่ละครั้งนั้น ทรงมีการเตรียมเป็นอย่างดี ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ก็ทรง ได้แบบอย่างมาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ผู้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ กล่าวคือ ก่อนวันที่จะทรงเทศน์ ทรงพิจารณาเลือกหัวข้อธรรม จากพระไตรปิฏกกว่า จะทรงเทศน์เรื่องอะไร แล้วทรงจดบันทึก หัวข้อธรรมหรือพุทธภาษิต บทนั้นมาทบทวนจนขึ้นใจ หลังทำวัตรสวดมนต์ก่อน ที่จะเข้าจำวัดในคืนวันนั้น ก็จะทรงนำเอาหัวข้อ ธรรม ที่ทรงเตรียมไว้นั้นมาไตร่ตรองว่า ธรรมแต่ละข้อมีความหมายว่าอย่างไร มีกระบวนธรรมอย่างไร มีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร จนเข้าใจแจ่มแจ้งในพระทัยตั้งแต่ต้นจนจบ เท่ากับทรงลองเทศน์ให้พระองค์เองฟังก่อน แล้วจึงทรงนำไปเทศน์ให้คนอื่นฟังต่อไป เพราะฉะนั้น การเทศน์หรือการแสดงธรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ แต่ละครั้งจึงมีความแจ่มแจ้งชัดเจน มีความกระชับทั้งในภาษาและเนื้อความ คนที่เคยฟังเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เทศน์ มักกล่าวตรงกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้นพูดเหมือนเขียน และเนื่องจากเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเทศน์จากความคิด ลีลาการเทศน์ของพระองค์ จึงต่างจากพระเถระ อื่น ๆ คือ พูดช้า ๆ เป็นวรรคเป็นตอน เหมือนกับทรงทิ้งช่วงให้คนฟังคิดตามกระแสธรรมที่ทรงแสดง คนที่ฟังเทศน์ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ อาจจะรู้สึกไม่สนุกเพลิดเพลิน แต่รู้สึกว่าได้คิด พร้อมทั้งอาจจะได้ฟังสิ่งที่แปลกใหม่ จากที่เคยฟังมา
หน้าที่ทางการศึกษาที่เป็นส่วนของคณะสงฆ์ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ได้เริ่มมีส่วนร่วม และรับภาระหน้าที่ต่าง ๆ มาตั้งแต่ยังเป็นพระเปรียญ ดังกล่าวมาในตอนต้น กล่าวคือ
พ.ศ.๒๔๘๘ คณะธรรมยุต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุตและนายกกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตั้งมหาวิทยาลัย พระพุทธศาสนาแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น เรียกว่า “สภาการศึกษาของมหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” (ปัจจุบันเรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย) เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๘ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระเปรียญ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการก่อตั้งด้วยรูปหนึ่งร่วมกับพระเถระธรรมยุตอื่น ๆ อีกหลายรูป และทรงได้รับแต่งตั้ง เป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย ชุดแรกด้วย มีหน้าที่กำกับดูแล การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย พระพุทธศาสนาแห่งนี้ให้เป็น ไปด้วยความเรียนร้อย และต่อมา ก็ได้ทรงเป็นอาจารย์บรรยายวิชาพระสูตร หรือพระสุตตันตปิฎกด้วย
พ.ศ.๒๕๐๔ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นประธานกรรมการ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย และทรงเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่
พ.ศ.๒๕๐๙ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ซึ่งกรมการศาสนาจัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของมหาเถร สมาคม ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล เป็นสภาบันฝึกอบรมวิชาการชั้นสูงสำหรับพระสงฆ์ที่ จะออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็น พระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
ในระหว่างที่ทรงเป็นประะานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาชั้นสูงให้แก่พระสงฆ์เพราะจะเป็น ประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้ทรงเสนอแนวพระดำริต่อคณะกรรมการอำนวยการ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีการจัดการ ศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือมหามกุฎราชวิทยาลัย ในวัดบวรนิเวศวิหาร และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุ โดยบรรจุหลักสูตร พระธรรมทูตไปต่างประเทศไว้เป็นส่วนหนึ่ง ของปริญญาโทดังกล่าวนั้นด้วย พระดำริดังกล่าว ได้รับการพิจารณาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และได้มีการร่างโครงการ ศึกษาขั้นปริญญาโท ของคณะสงฆ์ขึ้น แต่โครงการดังกล่าวก็หยุดชะงักไป เพราะความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้านของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง กระทั่งอีก ๒๐ ปีต่อมา พระดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ดังกล่าวนั้นจึงได้รับการสานต่อ โดยมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสอง แห่งได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท สำหรับพระสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐
ในระหว่างที่ทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เช่นกัน เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงเสนอมหาเถรสมาคมให้รับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือมหามกุฎราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง มีสถานะเสมือนสถาบันการศึกษา ที่ดำเนินการโดยเอกชนโดยคณะสงฆ์ไม่ได้รับรอง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่งเป็นอันมาก ผลจากข้อเสนอของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ดังกล่าว มหาเถรสมาคมจึงได้พิจารณา และให้การรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง “เป็นการ ศึกษาของคณะสงฆ์” เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒ และได้มีการตั้งสภาการศึกษา ของคณะสงฆ์ขึ้น ในศกเดียวกันเพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับส่งเสริมควบคุมนโยบาย การศึกษาทั้งปวงในฝ่ายสังฆมณฑล และสำหรับประสานงานระบบการศึกษาทุกสาขาของคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๕๑๒ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นกรรมการผู้ทรง คุณวุฒิโครงการ จัดตั้งโรงเรียนพระสังฆาธิการส่วนกลาง
พ.ศ.๒๕๑๕ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นประธานกรรมการ บริหารงานของสภาการศึกษาของคณะสงฆ์
เป็นรองประธานกรรมการและผู้อำนวยการโรงเรียนพระสังฆาธิการคณะธรรมยุต
พ.ศ.๒๕๑๖ ทรงเป็นประธานอนุกรรมการพิจาณาปรับปรุงหลักสูตรศาสนศึกษาของคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๕๑๘ ทรงเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนครูปริยัติธรรมคณะธรรมยุต
พ.ศ.๒๕๓๑ ทรงเป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย (ปัจจุบันเรียกว่านายกสภา มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย)
ทรงเป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในฐานะนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ได้ทรงอำนวยการให้เกิดผลงานอัน เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาขึ้นหลายอย่าง กล่าวคือ
(๑) โปรดให้มีการแปลตำรานักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของคณะสงฆ์ไทย เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรชาวต่างประเทศที่เข้ามาบวชศึกษาอยู่ในประเทศไทย ตลอดถึงเป็นการ เอื้อประโยชน์ต่อชาวต่างประเทศทั่วไปที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาด้วย ทั้งเป็นการเผยแพร่ผลงาน ของบูรพาจารย์ที่เป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาของไทยให้เป็นที่แพร่หลายไปยังนานาประเทศด้วย
(๒) โปรดให้มีการแปลพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาเป็นภาษาไทย การแปลพระไตรปิฎก เป็นภาษาไทย ได้มีการแปลมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๘ ในสมัยสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) วัด สุทัศน์เทพวราราม และได้จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกคราวงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ แต่พระไตรปิฎกแปลครั้งนั้น ยังไม่มีการแปลอรรถกถา ซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกควบคู่กันไปด้วย ในครั้งนี้ จึงโปรดให้แปลคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งเป็นคัมภีร์คู่กับพระไตรปิฎก และพิมพ์คู่กับ พระไตรปิฎกด้วย ฉะนั้น พระไตรปิฎกแปลฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัยจึงแปลกกว่าพระไตรปิฎกฉบับที่เคยแปลมาแต่ก่อน เพราะมีอรรถกถา (คำอธิบาย) พิมพ์ควบคู่กันไปด้วย พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัยดังกล่าวนี้จึงมีจำนวนถึง ๙๑ เล่ม (พระไตรปิฎก ๔๕ เล่มรวมกับอรรถกถาด้วย เป็น ๙๑ เล่ม) การที่ได้แปลคัมภีร์อรรถกถา ออกเป็นภาษาไทยด้วยนั้น นับเป็นประโยชน์ต่อการ ศึกษาพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหา และเรื่องราวบางอย่างของพระพุทธศาสนาที่ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น มักมีปรากฏอยู่ใน คัมภีร์อรรถกถา คัมภีร์ทั้งสองจึงเป็นคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนา การแปลคัมภีร์ สำคัญทั้งสองเป็นภาษาไทย จึงเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลฉบับดังกล่าว มหามกุฎราชวิทยาลัยได้จัดพิมพ์เนื่องใน โอกาสครบ ๒๐๐ ปีแห่งพระราชาวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ เป็นครั้งแรก
(๓) โปรดให้มีแผนกหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศขึ้นในมหามกุฎราชวิทยาลัย สำหรับเป็นศูนย์ตำรับตำราและหนังสือทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจ ที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาต่างประเทศ ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ
กล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงมีวิสัยทัศน์ทางการศึกษา พร้อมทั้งทรงสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติมา อย่างต่อเนื่อง
นอกจากการศึกษาของภิกษุสามเณร หรือการศึกษาของคณะสงฆ์แล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ยังมีส่วนในการสร้างสรรค์วิชาการในสถาบันการศึกษาของบ้านเมืองอีกด้วย กล่าวคือ พ.ศ.๒๕๑๔ ทรงได้รับอาราธนาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ทรงเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย ร่วมกับ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช โดยทรงบรรยายเรื่อง พระพุทธศาสนากับสังคมไทย เจ้าพระคุณ สมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นพระเถระรูปแรกที่ได้รับอาราธนาให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งในขณะนั้น การเรียนการสอนวิชาเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา ในมหาวิทยาลัยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
พ.ศ.๒๕๑๙ ทรงได้รับอาราธนาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาสมถะและวิปัสสนา แก่นิสิตภาควิชาปรัชญาและศาสนา ซึ่งเป็นวิชาบังคับสำหรับนิสิตชั้นปีที่ ๔ วัตถุประสงค์สำคัญของวิชานี้ คือมุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้ พระพุทธศาสนาทั้งภาคปริยัติ (ภาคทฤษฎี) และภาคปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นให้นิสิตได้รับการฝึกปฏิบัติสมาธิ อันจะเป็นผลดีต่อการปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงเป็นมหาวิทยาลัย แรกที่บรรจุวิชาสมาธิและวิปัสสนา (ปัจจุบันเรียกว่า วิชาการฝึกสมาธิตามแนวพุทธศาสนา) ไว้ในหลักสูตรการศึกษารวมทั้งวิชาทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ อีกหลายรายวิชา เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงเป็นพระมหาเถระรูปแรกที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาสมถะและวิปัสสนา ในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ซึ่งทรงสอนต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี จึงมีพระเถระรูปอื่นมาสอนแทน
http://www.watbowon.com/index_main.htm