อริยสัจ 4 โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

อริยสัจ 4 โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

อริยสัจ 4 มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ 4

1. ทุกข์ คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์

2. สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง

3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน

4. มรรค คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้

อริยสัจ 4 โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำซึ่งได้กล่าวเพิ่มเติมมีดังนี้

1) สำหรับการที่เราเจริญพระกรรมฐานก็ต้องใคร่ครวญอยู่เสมอว่า เราเจริญพระกรรมฐานเพื่อต้องการความรู้เป็นเครื่องพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

เพราะความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์

ถ้าเรายังต้องเกิดแก่เจ็บตายอยู่อย่างนี้ เราก็มีแต่ความทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ

การเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เราทำเพื่อสิ้นความเกิด

เพราะเราไม่ต้องการความทุกข์ต่อไป

จงพิจารณาหาทุกข์ให้พบในอริยสัจ

2) ให้พิจารณาเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัย ตัณหา ความทะยานอยาก 3 ประการ คือ

อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี
อยากเป็นในสิ่งที่ไม่เคยเป็น
อยากปฏิเสธในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว
เจ้าความอยากทั้ง 3 นี้แหละ เป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ก็เพราะเข้าถึงจุดความดับ คือ นิโรธ เสียได้

จุดดับนั้นท่านวางมาตราฐานไว้ 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ที่ท่านเรียกว่า มรรค 8 ย่อมรรค 8 ลงเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้

เพราะ อาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิเป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง

หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และดับอารมณ์พอใจ ไม่พอใจเสียได้

ตัดอารมณ์พอใจในโลกีย์วิสัยได้

ตัดความกำหนัดยินดีเสียได้ ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ 4

ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่อง

จนจิตครอบงำ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิต เสียได้

ชื่อว่าท่านได้ วิปัสสนาญาณ 9 และอริยสัจ 4

แต่อย่าเพิ่งพอ หรือคิดว่าดีแล้ว ต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไป

จนตัดสังโยชน์ ทั้ง 10 ประการได้แล้ว นั่นแหละ ชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว

3) เราเกิดมาเพื่อประสบกับความทุกข์ คนที่เกิดมาแล้วทุกคนจะไม่มีทุกข์เป็นไม่มี

ถ้าหากว่าเรายังยึดถือว่า ร่างกายเป็นของเรา ทรัพย์สินเป็นของเรา

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเป็นของเรา อารมณ์ทุกข์มันก็เกิด เกิดเพราะว่าเราเกาะ ที่เรียกว่า อุปาทาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกธรรม 8 ประการ คือ

มีลาภ ดีใจ ลาภสลายตัวไป เสียใจ มียศดีใจ ยศสลายตัวไป เสียใจ

มีความสุขในกาม ดีใจ ความสุขหมดไป ร้อนใจ

ได้รับคำนินทา เดือดร้อน ได้รับคำสรรเสริญ มีสุข

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้พวกเราใช้อารมณ์คิดอยู่เสมอว่า

ทุกข์นี้เป็นกฎธรรมดาของโลก ทุกอย่างเราทำงานตามหน้าที่

4) แล้วตัวสำคัญที่ร้ายที่สุดที่สร้างความทุกข์ ก็คือ อารมณ์ความรักในกามารมณ์

นี่ตัวสำคัญ เป็นตัวสร้างเหตุร้ายให้เกิดขึ้นกับจิต หรือเป็นเหตุให้เกิดขึ้นกับจิต หรือเป็นเหตุให้เกิดขึ้นกับกาย

อาศัยความรักเป็นสำคัญ ที่เราจะต้องเศร้าโศกเสียใจ เพราะอาศัยของรักพลัดพรากไป ภัยอันตรายจะเกิดขึ้นกับเรา โทสะ ความพยาบาทมันจะเกิดขึ้น จะต้องประทุษร้ายซึ่งกันและกัน ก็เพราะว่าสิ่งที่เรารัก

ความรักที่เนื่องด้วยกามารมณ์ไม่มีสำหรับเราแล้ว มันจะเป็นภัยอันตรายมาจากไหน

จะมีความเศร้าโศกเสียใจมาจากไหน ตอนนี้เป็นอันว่า กิเลสหยาบหมดไป

ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรว่า อันนี้เป็น อธิจิตสิกขา

ก็หมายความว่า ต้องทรงอารมณ์ในด้านความรู้สึกอย่างนี้เป็นปกติ

มีความเข้มแข็งพอที่จะไม่ทำลายความดีส่วนนี้ไปจากจิต

มันจะทรงอยู่ได้ทุกขณะจิต ที่ชีวิตเราทรงอยู่ตลอดไป

5) เหตุของความทุกข์จริง ๆ คือ ตัณหา ได้แก่ ความทะยานอยาก

เมื่อเรามีตัณหาขึ้นมาแล้วร่างกายมันจึงมี อารมณ์จิตเรามีตัณหา มันจึงมีร่างกาย

ร่างกายเป็นจุดรับภาระของความทุกข์ทั้งหมด

ขึ้นชื่อว่าทุกข์ทุกอย่างที่เราจะมีขึ้นมาได้ ก็อาศัยร่างกายเป็นสำคัญ

ถ้าเราไม่มีร่างกายเราก็ หมดตัณหา

ถ้าหมดทั้ง 2 อย่าง คือ หมดตัณหาก็ชื่อว่าหมดร่างกาย

ถ้าเราไม่ติดอยู่ในร่างกายก็ชื่อว่าหมดตัณหา

คำว่าไม่ติดในร่างกายก็หมายถึงว่า ไม่ติดอยู่ในร่างกายของเราด้วย และก็ไม่ติดอยู่ในร่างกายของบุคคลอื่นด้วย อารมณ์ไม่ติดอยู่ในวัตถุธาตุใด ๆ ด้วย

โดยยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ที่เราเรียกกันว่า วิปัสสนาญาณ ตัวสุดท้าย

การยอมรับนับถือนี้ก็หมายถึง ว่าอารมณ์มัน เฉย

คำว่าอารมณ์เฉย ไม่ได้หมายความว่า อารมณ์ไม่คิดตามที่เขาบอกว่าอารมณ์ว่าง ว่างโดยไม่คิดอะไรเลยนั้น ไม่มีในชีวิตของคน

6) อริยสัจ 4 เขาสอนสองอย่างเท่านั้น

สำหรับอีกสองอย่าง ไม่มีใครเขาสอนหรอก

อย่าง นิโรธะ แปลว่า ดับ อันนี้มันตัวผล ไม่ต้องสอน มันถึงเอง

มรรค คือ ปฏิปทาเข้าถึงความดับทุกข์ มันก็ทรงอยู่แล้ว คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ อริยสัจ เขาตัดสองตัว

(อริยสัจ) คือ ทุกข์ กับสมุทัยเท่านั้น

http://www.dhammathai.net/

. . . . . . .