สัมมาคารวะ ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ Somdej Toh #7
โดย ร้อยเอกประชุม สุขสำราญ
ให้เสียงโดย ฟ้าทะลายโจร
เนื้อเรื่องตอนที่ 7
– สัมมาคารวะ
– ยศช้าง…ขุนนางพระ
– ประกาศห้ามพระพายเรือ
ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ #7 สัมมาคารวะ
Link : ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ #7 สัมมาคารวะ – YouTube
สัมมาคารวะ
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงคุณธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อม ว่ากันว่า เมื่อท่านเดินทางไปไหนมาไหน พบพระพุทธรูป ท่านจะถอยห่างหลีกออกไป ราว 4 ศอก แล้วจะนั่งลงกราบ แม้แต่จะไปพบหุ่นแบบสำหรับสร้างพระพุทธรูป ท่านก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เคยมีคนถามท่านว่า หุ่นแบบสร้างพระนั้น ต้องนับถือด้วยหรือ
ท่านก็ตอบว่า “ดินก้อนแรกที่หยิบขึ้นมาปั้นหุ่น ก็นับเป็นองค์พระแล้ว เพราะผู้ทำตั้งใจมาแต่ต้นที่จะทำพระพุทธรูป”
คราวหนึ่งไปสวดมนต์ที่บ้านช่างหล่อ ฝั่งธนบุรี ที่บ้านนั้น เขาเอาหุ่นพระพุทธรูปตั้งผึ่งแดดไว้ ห่างจากทางเดินราว 2 ศอก เมื่อท่านเดินผ่านมาในระยะใกล้ชิด ท่านก้มกายยกมือขึ้นประนมเหนือศรีษะ กระทำคารวะ พระและศิษย์ที่ไปด้วย เห็นท่านทำอย่างนั้น ก็ทำตาม
เมื่อขึ้นบ้านงาน และนั่งลงบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว นายเทศ ผู้ช่วยเจ้าภาพซึ่งคุ้นเคยกับสมเด็จฯ ได้กราบเรียนถามว่า
“กระผมสงสัยจริง เพราะไม่เคยเห็นเจ้าคุณสมเด็จฯ กระทำอย่างนี้”
ท่านจึงตอบว่า “แต่ก่อนไม่เคยเห็นจริงจ้ะ แต่วันนี้เป็นเหตุบังเอิญจ้ะ เพราะฉันเดินผ่านมาในเขตอุปจารของท่าน ไม่เกิน 4 ศอก จึงต้องทำดังนี้”
นายเทศจึงเรียนว่า “ยังไม่ยกขึ้นตั้ง และยังไม่เบิกพระเนตร จะเป็นพระหรือขอรับ”
ท่านตอบว่า “เป็นจ้ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นยกดินก้อนแรกวางบนกระดานแล้วจ้ะ เพราะผู้ทำตั้งใจให้เป็นองค์พระอยู่แล้ว เรียกอุทเทสิกเจดีย์ ยังไงล่ะจ๊ะ”
เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ขากลับผ่านมาท่านก็กระทำอย่างนั้นอีก รุ่งขึ้นท่านไปฉัน ตอนนี้ท่านเห็นพระตั้งอยู่ไกลออกไปราว 6 ศอก ห่างออกไปจากทางที่ท่านเดินผ่านไปเมื่อวาน เพราะเจ้าภาพเกรงว่าจะทำให้พระที่มากิจนิมนต์เดินเข้า-ออกไม่สะดวก ท่านไปหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพระแล้วประนมมือนมัสการ พระที่ติดตามไปด้วยก็กระทำตาม ประมาณสัก 1 นาทีแล้วจึงขึ้นไปบนเรือน
เมื่อฉันเสร็จแล้ว เจ้าภาพถวายเครื่องสักการะ และท่านยถาสัพพี เสร็จแล้วก็นำเอาธูปเทียนดอกไม้ที่เจ้าภาพถวายไปสักการะบูชาพระที่ปั้นหุ่น ขึ้นไว้นั้น พระติดตามก็ทำตามอีกแล้วจึงกลับวัด
เล่ากันว่า เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปพบพระเณรแบกหนังสือคัมภีร์ไปเรียน ท่านจะต้องนั่งประนมมือ หรือก้มกายลงแสดงความคารวะพระธรรม หรือแม้แต่ใครจะถ่ายรูปของท่านในอิริยาบทใดก็ตาม ถ้าในที่นั้นมีหนังสือเทศน์ ท่านจะต้องหยิบขึ้นมาถือ เหมือนหนึ่งว่ากำลังเทศน์อยู่เสมอ และเพื่อแสดงว่าในที่นั้นมีพระธรรมเป็นประธานอยู่ (ผู้พิมพ์)
อีกอย่างหนึ่งถ้าท่านไปพบพระเณรกำลังเทศน์อยู่ ท่านจะต้องหยุดฟังจนจบ แล้วจึงไปในที่อื่น ทราบว่าที่ท่านทำอย่างนี้ด้วยประสงค์จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้า ที่ทรงฟังธรรมที่พระอนุรุทธแสดงอยู่
เรื่องเดิมมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปจะเข้าวิหาร ขณะถึงซุ้มประตูก็พบว่า พระอนุรุทธกำลังแสดงธรรมอยู่ ครั้นจะเสด็จเข้าไปก็เป็นการไม่เคารพ จึงประทับยืนฟังจนจบ เมื่อพระอนุรุทธทราบ จึงทูลขออภัยที่ทำให้ประทับยืนนาน พระองค์ตรัสว่า แม้จะนานกว่านี้สักเท่าไรก็จะประทับยืน เพราะพระองค์ทรงเคารพในพระธรรม
ในหมู่พระสงฆ์ก็เหมือนกัน พระภิกษุจะมีพรรษาอายุมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อไปกราบท่าน ท่านก็กราบคืนบ้าง กราบท่านกี่ครั้ง ท่านก็กราบคืนตอบเท่านั้นครั้ง
บางท่านสงสัยว่า ทำไมเจ้าประคุณฯ ต้องทำอย่างนั้น ท่านตอบว่า “อ้าว…ฉันก็ทำตามพระพุทธภาษิตที่ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ ยังไงล่ะจ๊ะ”
……………………………………………………..
ยศช้าง…ขุนนางพระ
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระเถระที่ไม่ถือยศถือศักดิ์ เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ชอบประพฤติเป็นอย่างพระธรรมดาสามัญ เหมือนพระลูกวัดทั่วไป ท่านเคยพูดกับคนอื่นว่า ยศช้างขุนนางพระจะดีอย่างไร
ดังนั้น ท่านจะทำอะไร ท่านก็ทำตามอัธยาศัยของท่าน ไม่เห็นจะต้องคอยเอาอกเอาใจใคร บางครั้งไปกิจนิมนต์ทางเรือบ่อยๆ ศิษย์แจวเรือเหนื่อยก็ให้พักเสีย ท่านก็แจวแทนเสียเอง
คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงาน ที่บ้านแถวจังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว 2 คน ผัวเมียแจวเรือไปส่ง ขณะที่มาตามลำคลองนั้น เขาเกิดผิดใจกันเรื่องอะไรไม่ทราบ ผัวเมียคู่นั้นเป็นปากเสียงเถียงกันหน้าดำหน้าแดง หนักเข้าก็งัดคำหยาบคายต่างๆ นานามาด่ากันลั่นไปหมด ท่านขอร้องผัวเมียคู่นั้นให้เลิกทะเลาะวิวาทกันเสีย แล้วให้เข้าไปนั่งในประทุนเรือ เสร็จแล้วท่านก็แจวเรือมาเองจนถึงวัดระฆัง
คราวหนึ่งมีผู้นิมนต์ท่านไปเจริญพระพุทธมนต์ ที่บ้านในสวนตำบลราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี บ้านของเขาอยู่ในคลองเล็กลึกเข้าไปมาก สมเด็จฯ ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ เวลานั้นน้ำแห้งเข้าคลองไม่ได้ ท่านก็ลงเข็นเรือกับศิษย์ของท่าน
ชาวบ้านเห็นก็นึกแปลกใจ ด้วยไม่เคยเห็นพระเถระผู้ใหญ่ไม่ถือเนื้อถือตัวอย่างนี้มาก่อน ก็ร้องบอกกันว่า “เร็ว…ดูสมเด็จเข็นเรือๆ” ท่านบอกว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อ ขรัวโต สมเด็จท่านอยู่ที่วัดระฆังจ้ะ” (ท่านหมายถึงพัดยศที่แสดงว่าเป็นสมเด็จอยูที่วัดระฆัง) แล้วชาวบ้านก็ช่วยท่านเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน
เกี่ยวกับเรื่องพัดยศนี้ เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านรับกิจนิมนต์มาในพระบรมมหาราชวัง เมื่อกำลังทำพิธีอยู่นั้น ศิษย์ที่พายเรือให้ท่านก็หลบไปเที่ยวเล่นเสีย คงเป็นเพราะท่านใจดี ไม่เคยดุด่าลงโทษ ก็เลยไม่เกรงใจ พอเสร็จจากพิธีในวังก็แบกพัดยศและย่ามออกมา คอยศิษย์ตั้งนานก็ยังไม่มาสักที เมื่อเห็นว่าคอยต่อไม่ได้แล้ว ก็แบกพัดยศลงเรือ แล้วบอกว่า “เชิญสมเด็จท่าน นั่งบนหัวเรือเถอะ ฉันขรัวโตจะพายเรือเองจ้ะ” ว่าแล้วก็วางพัดยศทางด้านหัวเรือ ท่านก็มายืนพายเรืออยู่ทางด้านท้าย
ประกาศห้ามพระพายเรือ
สมัยก่อนนั้น การคมนาคมไม่สะดวก การจะเดินทางไปไหนไกลๆ มักจะไปทางเรือเป็นส่วนใหญ่ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ต้องไปทางเรือเหมือนกัน แต่มีปัญหาเรื่องคนพายอยู่เสมอ ดังนั้น เพื่อเป็นการพึ่งตนเองโดยไม่รบกวนผู้อื่น จึงมักจะพบพระสงฆ์พายเรือขึ้น – ล่องกันเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลำน้ำเจ้าพระยาอันกั้นระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร
ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีหมายรับสั่งฉบับหนึ่ง ประกาศห้ามไม่ให้พระสงฆ์แจวเรือ พายเรือ เวลาเสด็จทางชลมารคและเสด็จประทับที่พระที่นั่งริมน้ำ เพราะทรงทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุสงฆ์ ยืนแจวเรือขึ้น-ล่อง ตามลำน้ำผ่านพระที่นั่ง ทรงเห็นจับได้ถึง 3 ราย ตั้งแต่นั้นก็ให้กรมธรรมการจัดเรือสกัดหัวน้ำท้ายน้ำ ห้ามพระภิกษุสงฆ์อย่าให้พายเรือแจวเรือขึ้น-ล่องตามลำน้ำในเวลาเสด็จพระราช ดำเนินทางชลมารค และเสด็จพระที่นั่งริมน้ำเป็นอันขาดทีเดียว
คราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประทับพระที่นั่งชลังคพิมานพระที่นั่งริมน้ำ วันนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีกิจจำเป็นต้องแจวเรือผ่านพระที่นั่งนั้นพอเรือจะผ่านหน้าพระที่นั่ง ท่านก็นั่งลง เอาพายพุ้ยน้ำในลักษณะกึ่งพายกึ่งแจว
พระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็น ทรงพระสรวล รับสั่งว่า “ขรัวโตนี่ฉลาดนัก ห้ามยืนแจว ห้ามยืนพาย แต่นี่นั่งลงทำอย่างนี้ไม่ทราบว่าแจวหรือพาย”
ขอขอบคุณ : http://itotoxp.blogspot.com/2013/02/somdej-toh-7.html