‘ทิพย์ในธรรม’รับปีงูเล็กพระครูบาอริยชาติ

‘ทิพย์ในธรรม’รับปีงูเล็กพระครูบาอริยชาติ
‘ทิพย์ในธรรม’รับปีงูเล็ก พระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ตนบุญแห่งล้านนา : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
“ครูบาคิดว่าความสวยงามในวัตถุทำให้เกิดกุศลขึ้นในจิตใจ เรามาวัดอย่างน้อยได้เห็นความร่มรื่น ได้เห็นความสงบ ได้เห็นสิ่งสวยงาม ได้เห็นพระพุทธรูป ได้เห็นความเป็นไทย จิตเราจะเกิดความเบิกบาน นี่คือคำว่า บุญ”
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปณิธานในการสร้างวัดของพระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยท่านได้สร้างมีรูปหล่อเหมือนพระครูเจ้าศรีวิชัยหน้าตัก ๙ เมตร เนื้อโลหะองค์ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งเด่นตระการตา เป็นที่เคารพสักการะของผู้ที่มาเยือน มีเทพทันใจให้ผู้คนได้เสี่ยงทายขอโชคลาภ มีแม่นางกวักตุ้ยนุ้ยให้ได้บูชาเป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์
ครูบาอริยชาติ ถือวัตรปฏิบัติเช่นเดียวกับครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ลูกศิษย์จึงตั้งสมญานามว่า “ครูบาอริยชาติ ตนบุญแห่งล้านนา” โดยในแต่ละวันจะมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เดินทางไปกราบไหว้ขอพรเป็นจำนวนมาก
ครูบาอริยชาติ บอกว่า คำถามยอดฮิตที่มาหาครูบา คือ “เมื่อไรจะรวย เมื่อไรจะดี เมื่อไรจะขายที่ได้” เท่าที่มีคนมาหายังไม่เคยเห็นคนรวยเลย เจ้าของโรงงานมีคนงานเป็นพัน ก็มาถามครูบาว่า “เมื่อไรจะรวย?” เจ้าของโรงแรมขนาด ๕๐ ห้อง ก็มาถามว่า “เมื่อไรจะรวย?” เจ้าของที่เป็นพันไร่ก็มาถามว่า “เมื่อไรจะรวย?” นั่งรถเบนซ์มาก็ถามว่า “เมื่อไรจะรวย?” ใครต่อใครที่ก้าวเข้ามาในวัด แต่งตัวดีใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ ใส่เพชรใส่พลอยเต็มตัวสุดท้ายก็มาถามว่า “เมื่อไรจะรวย?”

ตั้งแต่บวชเป็นพระมาครูบายังไม่เคยเห็นคนรวยเข้ามาที่นี่เลย คนเราเวลาขอพร มักบอกขอให้รวยมีเงินมีทอง ครูบาว่า คนเราถึงจะมีเงินมากก็ตาม แต่เงินก็ไม่สามารถให้ความสุขแก่เราได้ มีเงินก็ต้องมีความสามารถ ในการบริหารเงิน มีเงินแล้วบริหารไม่ดีก็หมด ติดเหล้า ติดยา ติดเพื่อน ติดการพนัน นำความเดือดร้อนมาให้ครอบครัว มีเงินเป็นร้อยล้านพันล้านก็ไม่มีความสุขถ้าไม่รู้จักพอ คนเราถ้ารูจักพอมันก็รวยแล้ว
พร้อมกันนี้ ครูบาอริยชาติ ยังบอกด้วยว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ให้สนใจศึกษาเรื่องภายใน เรื่องของตนเอง ไม่ต้องไปไกลถึงนอกโลก บางคนมาคุยกับครูบา รู้ทุกเรื่องที่เป็นเรื่องภายนอก รู้เหตุการณ์บ้านเมือง รู้ความเป็นไปของโลก คนไปโลกพระจันทร์ชื่ออะไร นิลอาร์มสตรอง รู้ถึงนอกโลกโน้นแน่ะ พอถามว่า “แล้ววันนี้กินข้ากี่คำ?” กลับตอบว่า “ไม่รู้” ไม่รู้เพราะอะไร เพราะไม่สนใจศึกษาเรื่องของตนเอง รู้จักคนอื่น รู้จักโลกอื่น แต่ไม่รู้จักตนเองก็ไม่มีประโยชน์อะไร
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง” บางคนสมองใส มาวัดก็มาฟังพระธรรมคำสอน แล้วเอาไปใช้ แต่ไม่ได้ใช้กับตัวเอง เอาไปสอนลูกสอนหลาน สอนเข้าไป สอนเข้าไป ธรรมข้อใดรู้หมด ครูบาถามว่า แล้วเราเคยเอาธรรมะดีๆ ที่เรารูน่ะ มาสอนเราเองหรือเปล่า เอาไปสอนใจตัวเอง เอาไปชำระล้างใจตัวเอง ล้างออกให้หมดเลย ได้ที่มันคิดว่า นี่เราของเรา นี่กูของกู ทำได้ไหม ไม่ใช่เที่ยวไปสอนคนอื่น ให้ทำตามอย่างที่เราสอน แต่ตัวเองไม่สอน ตัวอย่างไม่ดีมีหรือใครจะทำตาม จริงไหม ถ้าอยู่ว่างๆ ก็นั่งหน้ากระจก แล้วแสดงธรรมให้ตัวเองฟังบ้าง แล้วบอกตัวเองด้วยว่า รู้สึกอย่างไร เข้าใจอย่างไร เมื่อเราถึงธรรมมะแล้ว ค่อยไปสอนผู้อื่น
ในโอกาสเทศกาลต้อนรับปีใหม่ ครูบาอริยชาติได้ให้คติธรรมไว้ข้อหนึ่งว่า “อย่าประมาทในธรรม” ปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย ท่านได้กล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า การให้ทานไม่เท่าการรักษาศีล การรักษาศีลไม่เท่าการเจริญภาวนา ภาวนามีความหมายว่า การทำสติให้ระลึกได้ วิธีการภาวนานั้น มีมากมาย รวมอาการกิริยาของเราทั้งการนั้น การเดิน การนอน การพูด และกระทำทุกๆ อย่าง เรียกว่าทุกอิริยาบถ เป็นการกำหนดรู้สติ เพื่อความอายาตนะของเราต่อสิ่งที่มากระทบไม่ให้สั่นไหว สั่นคลอน โยกเอนไปกับสิ่งเหล่านั้น เราต้องตามรู้ กำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา
เพราะธรรมชาติของจิตนั้น มันซนอย่างกับลิง ตัวของเราอยู่นี่ แต่จิตของเราอยู่ที่ไหนไม่รู้ เวลาครูบาให้ญาติโยมภาวนาก็จะเตือนอยู่เสมอว่า ตัวอยู่นี่ใจก็ต้องอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าตัวอยู่นี่แต่ใจอยู่ที่บ้าน เป็นห่วงลูกหลาน เป็นหว่งทรัพย์สมบัติเงินทอง เป็นหว่งสารพัดอย่าง อย่างนี้ไม่ใช่การภาวนาแล้ว แต่เป็นการภาวนึก คือ นึกไปเรื่อย เรื่องไม่เป็นเรื่องก็เอามาคิด ยิ่งนั่งก็ยิ่งหนัก
“เราเกิดมาเป็นชาวพุทธถือว่าโชคดีมากแล้ว ยิ่งมีคุณสมบัติทางร่างกายครบอาการ ๓๒ ก็ยิ่งโชคดีมากขึ้น ตอนนี้เมื่อมีโอกาสให้รีบทำ อย่ารอว่าวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า ให้อายุมากกว่านี้หน่อย อย่างนี้ขึ้นชื่อว่ามีความประมาท บางคนยังหนุ่มก็รอให้แก่ บางคนพอแก่ก็เกือบทำอะไรไม่ได้ แค่จะยกมือไหว้พระก็ปวดแขนแล้ว จะนั่งก็ปวดขา ไม่ทำสักที ก็ตั้งความหวังใหม่ รอไปทำชาติหน้า อย่างนี้เมื่อไรจะหลุดพ้น” ครูบาอริยชาติ กล่าวทิ้งท้าย
งานบุญนิโรธกรรมครั้งที่ ๙
ระหว่างวันที่ ๔ มกราคม ถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ ที่วัดแสงแก้วโพธิญาณ ครูบาอริยชาติ จะเข้านิโรธกรรมเป็นครั้งที่ ๙ เป็นการปฏิบัติ “เข้ากรรม” ตามแบบโบราณาจารย์ในสายครูบาศรีวิชัย ที่สืบสานกันมายาวนาน มุ่งเน้นธุดงควัตร ๑๓ ไม่เหมือนสายอื่นๆ จะต้องปฏิบัติอย่างยากลำบาก เป็นวิถีแห่งการฝึกฝนกายและจิตให้กล้าแข็ง เพื่อให้เข้าถึงวิถีแห่งการดับทุกข์อย่างแท้จริง และครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายตามที่ ครูบาอริยชาติ ได้ตั้งจิตอธิษฐานเอาไว้
การเข้านิโรธกรรมตามแบบ ครูบาศรีวิชัย ท่านให้ขุดหลุมลึก ๑ ศอก กว้าง ๒ ศอก พอดีเข่า แล้วสร้างซุ้มฟางครอบให้มีความสูง แค่เลยศีรษะ ๑ ศอก ไม่สามารถยืนได้ ห้ามถ่ายหนัก ถ่ายเบา ฉันได้แต่น้ำเปล่า ๑ บาตร สิ่งของที่นำไปด้วยมีผ้าขาว ๔ ผืน ปูรองนั่ง แทนความหมาย อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีเสาซุ้ม ๘ ต้น แทนความหมาย มรรค ๘ ยอดซุ้มปักธงฉัพพรรณรังสี หมายถึง ปัญญา ราชวัตรล้อมซุ้ม มี ๙ ชั้น แทนความหมายโลกุตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ทั้งนี้จะต้องทำในที่ห่างไกลผู้คน มีญาติโยมจัดเวรยามเฝ้าในรัศมี ๑๐๐ เมตร ป้องกันการรบกวน และก่อนปฏิบัติจะมีพระสงฆ์ ๕ รูป รับรองความบริสุทธิ์เสียก่อน
ในช่วงเช้าวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นวันออกนิโรธกรรม เวลา ๐๔.๐๐ น. พระครูบาอริยชาติ ออกนิโรธกรรม เดินรับบิณฑบาต เวลา ๐๙.๐๐ น.พิธีสืบชะตาหลวง เวลา ๑๕.๐๐ น.พิธีเททองหล่อพระ และเวลา ๑๖.๐๐ น.ร่วมปล่อยชีวิตโค-กระบือ โดยจะเปิดโอกาสให้ญาติโยมทำบุญครั้งใหญ่ และให้เช่าบูชาวัตถุมงคล รุ่นนิโรธกรรม มหาบารมี ครั้งที่ ๙ ประกอบด้วย ๑.เหรียญชุดทองคำ (๕ เหรียญ) ๒.เหรียญนิโรธกรรม มหาบารมี ครั้งที่ ๙ เนื้อเงินแท้ และ ๓.ล็อกเกตนิโรธกรรม ครั้งที่ ๙ เพื่อหาทุนทรัพย์ปรับแต่งภูมิทัศน์รูปหล่อเหมือนครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลก พระวิหาร พระอุโบสถ หอไตร ศาลาการเปรียญ ห้องน้ำ และกำแพงวัด เป็นต้น

http://www.komchadluek.net/

. . . . . . .