“สังฆราชสุก” องค์ไหนที่เป็นพระอาจารย์ “สมเด็จโต” องค์ที่ ๒ หรือ ๔..??

“สังฆราชสุก” องค์ไหนที่เป็นพระอาจารย์ “สมเด็จโต” องค์ที่ ๒ หรือ ๔..??

พระสมเด็จอรหังเนื้อขาว

พระสมเด็จอรหัง กับ พระสมเด็จโต

ประวัติพระ
พระสมเด็จอรหังเป็นพระเนื้อผงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสมบูรณ์ ไม่ใช่แบบพระสมเด็จโตที่ด้านกว้างจะสอบลงเล็กน้อยทำให้ด้านบนจะแคบกว่าด้านล่าง ซึ่งเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่ส่วนสูงจะสอบแคบลง เช่น เสาตามบ้านทรงไทยที่สอบลงเล็กน้อย พระสมเด็จอรหังจะมีด้านบนกับด้านล่างเท่ากันเหมือนกระจกเงา

องค์พระจะมีสองเนื้อด้วยกัน คือเนื้อขาว และเนื้อแดง เนื้อขาวเป็นพระเนื้อผงทั่วไปที่ใช้ปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ส่วนเนื้อแดงเข้าใจว่ามีการผสมขมิ้นลงไป ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับปูนทำให้เนื้อปูนเปลี่ยนเป็นสีแดง แบบปูนกินหมาก ซึ่งเป็นที่มาของคำพังเพยว่า “ขมิ้นกับปูน”

ส่วนด้านหลังองค์พระจะมีสองแบบ แบบแรกจะเป็นรอยจารเป็นอักษรเขมรว่า “อรหัง” แบบที่สองจะเป็นปั๊มตัว “อรหัง” ลึกลงไปด้านหลัง ที่เรียกกันว่า “หลังแบบ” ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ ร้านทองตั้งโต๊ะกังจะตอกโค้ตย่อของร้านหลังทองรูปพรรณ จึงเรียกกันว่า “หลังโต๊ะกัง”
เชื่อกันว่าพระสมเด็จอรหังเนื้อขาวมาจากวัดมหาธาตุ ส่วนเนื้อแดงเป็นของวัดสร้อยทอง

พระสมเด็จอรหังเนื้อแดง

ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์อันเกี่ยวข้องกับพระสมเด็จอรหัง ได้แก่ ประวัติสมเด็จพระสังฆราชในประเทศไทย ประวัติสังฆราชสุก ประวัติวัดมหาธาตุและวัดธาตุทอง ท้ายสุดก็คือประวัติร้านทองตั้งโต๊ะกัง

สมเด็จพระสังฆราช
สมัยสุโขทัยก็มีการพูดถึงตำแหน่งสังฆราชไว้ในศิลาจารึกแล้ว เชื่อว่าตำแหน่งนี้มีที่มาจากประเทศศรีลังกา ที่ส่งพระราหุลเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในไทย แบบที่เรียกว่าลัทธิลังกาวงศ์

สมัยกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์เริ่มเปลี่ยนแปลงจากพ่อปกครองลูกในยุคสุโขทัย มาเป็นสมมติเทวา ตำแหน่งสังฆราชจึงได้รับการเปลี่ยนแปลง เป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ซึ่งเป็นการผลัดกันดำรงตำแหน่งของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี เป็นสังฆราชขวาและสมเด็จพระวันรัต เป็นสังฆราชซ้าย เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายยอรัญวาสี องค์ใดแก่พรรษากว่าองค์นั้นเป็นพระสังฆราช

ต่อมาในสมัยปลายอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์ได้ตั้งราชทินนามเป็น สมเด็จพระอริยะวงศาสังฆราชาธิบดี สมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากทรงโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระอริยวงศาญาณ และในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งใช้สำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นสามัญชนจนถึงทุกวันนี้

ลำดับสมเด็จพระสังฆราชในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีรายชื่อดังนี้
องค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม
องค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
องค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เดิมอยู่วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ)
องค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เดิมอยู่วัดพลับ(วัดราชสิทธา)

ผู้อ่านเห็นไหมครับว่า สังฆราชสุก มีสองพระองค์ แล้วองค์ไหนเป็นสังฆราชสุก ไก่เถื่อนเล่า
ก็ต้องดูประวัติของแต่ละองค์

สมเด็จพระสังฆราช สุก วัดมหาธาตุ

องค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ท่านประสูติสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. ๒๓๓๖ ถึง พ.ศ. ๒๓๕๙ รวม ๒๓ ปี ท่านประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่ต้นและได้รับสมณศักดิ์เป็นพระพนรัตน์ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราชก่อนได้รับการสถาปนาเป็นพระสังฆราชในสมัยรัชกาลที่ ๑

สังฆราชสุก ไก่เถื่อน

องค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ท่านประสูติในสมัยอยุธยาเช่นกัน ทรงได้รับตำแหน่งเป็นพระสังฆราชตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๓๖๔ รวม ๒ ปี ท่านมีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนาธุระตั้งแต่ครั้งอยู่วัดท่าหอย อยุธยา ต่อมารัชกาลที่ ๑ ได้นิมนต์ท่านมาอยู่วัดพลับ (วัดราชสิทธา) และแต่งตั้งท่านเป็นพระญานสังวรเถร รัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งท่านเป็นสมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษพระราชทานแก่พระเถระผู้ทรงเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ
ท่านได้รับการเรียกหาจากชาวบ้านเป็นสังฆราชไก่เถื่อน เนื่องจากท่านสามารถเรียกไก่ป่าให้เชื่องได้

ทีนี้สังฆราชสุก องค์ไหนที่เป็น “พระอาจารย์สมเด็จโต” กันแน่

คำตอบก็คือองค์ที่ ๒ สมแด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของสมเด็จโต เพราะตอนสมเด็จโตบวชเป็นพระเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒ นั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้เป็นสังฆราชแล้ว และท่านประทับอยู่วัดมหาธาตุมาโดยตลอดจนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๓๕๙

ส่วนสังฆราชสุก ไก่เถื่อน เมื่อตอนสมเด็จโตบวช ยังดำรงตำแหน่งเป็นพระญาณสังวรเถระและยังอยู่วัดพลับ จึงไม่ใช่พระอาจารย์ของสมเด็จโต เพราะถ้าใช่สมเด็จโตก็ต้องไปบวชที่วัดพลับ และเรียนหนังสือที่นั่น ท่านย้ายมาประทับที่วัดมหาธาตุก็เพราะท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชและประทับอยู่เพียง ๒ ปีเท่านนั้น และตอนนั้นสมเด็จโตอายุ ๓๒ ปีเศษไม่ใช่พระบวชใหม่แล้ว

ดังนั้นความเชื่อที่ว่าสมเด็จโตเป็นลูกศิษย์สังฆราชสุก ไก่เถื่อน จึงขัดแย้งกับความเป็นจริงตามประวัติศาสตร์
สังฆราชสุก ไก่เถื่อน วัดพลับ เป็นคนละองค์กับสังฆราชสุก วัดระฆัง และไม่ใช่อาจารย์ของสมเด็จโต
เพียงแต่มีชื่อพ้องกัน เกิดในสมัยอยุธยาเหมือนกัน และได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชทั้งสองพระองค์

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่มีหลายชื่อ ปัจจุบันมีชื่อเต็มว่าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤดิ์ เพราะได้รับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๖ สมัยยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา เดิมมีชื่อว่า วัดสลัก เมื่อต้นรัตนโกสินทร์มีการย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีมาสร้างฝั่งพระนคร ก็ได้สร้างวังหลวงและวังหน้าขนาบวัด ต่อมากรมพระราชวังบวรมหาสรุสีหนาทซึ่งเป็นน้องรัชกาลที่ ๒ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์และตั้งชื่อใหม่ว่า วัดนิพพานาราม

ต่อมารัชกาลที่ ๑ โปรดให้เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎก ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ จึงทรงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระศรีสรรเพชญ์ และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเพื่อสนองพระราชปณิธานอีกอย่างหนึ่งอันเกี่ยวข้องกับการปกครองคณะสงฆ์ไทย

นั่นก็คือทรงดำริที่จะให้วัดมหาธาตุเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ตอนนั้นสังฆราชสุก ได้มาอยู่วัดมหาธาตุและได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกในสมณศักดิ์พระพนรัตน์ซึ่งเป็นตำแหน่งสังฆราชซ้าย รองจากสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ซึ่งเป็นสังฆราชองค์แรก

แสดงว่ารัชกาลที่ ๑ ท่านทรงโปรดไม่น้อย และคงตั้งพระทัยไว้ว่าท่านจะได้เป็นสังฆราชองค์ต่อไป อีกประการหนึ่งวัดมหาธาตุเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่สมัยโบราณ จะเห็นว่าเมืองใหญ่ทุกเมืองจะต้องมีวัดมหาธาตุอยู่คู่เมือง เพื่อเป็นศรีแก่เมืองนั้นและเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาด้วย

จากนั้นเป็นต้นมาสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ที่ได้รับแต่งตั้งจะต้องย้ายจากวัดเดิมมาประทับที่วัดมหาธาตุ โดยสังฆราชมีเป็นพระองค์แรกที่ทรงย้ายจากวัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) มาที่วัดมหาธาตุ

ต่อมาตามด้วยสังฆราชสุก ไก่เถื่อนซึ่งทรงย้ายจากวัดพลับ (ราชสิทธา) มาประทับที่วัดมหาธาตุ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ตอนนั้นวัดมหาธาตุอยู่ระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์ สังฆราชนาคซี่งเป็นองค์ที่ ๖ จึงประทับอยู่ที่วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ตามเดิม ไม่ได้ย้ายมาวัดมหาธาตุ เป็นอันสิ้นสุดธรรมเนียมที่สมเด็จพระสังฆราชเมื่อได้รับแต่งตั้งจะต้องย้ายมาประทับที่วัดนี้

หลังเปลี่ยนการปกครอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีดำริที่จะรื้อฟื้นธรรมเนียมนี้ขึ้นมาใหม่ โดยจะให้พุทธมณฑลที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองกึ่งพุทธกาลเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช และได้เตรียมสร้างพระตำหนักไว้รองรับ เพื่อต้องการให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เหมือนกับกรุงวาติกันซึ่งเป็นศูนย์กลางของคริสตศาสนา และพระคาร์ดินัลรูปใดที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นพระสันตะปาปาจะต้องย้ายมาประทับที่นั่น

น่าเสียดายที่โครงการนี้ไม่ได้รับความสำเร็จ ไม่มีสมเด็จพระสังฆราชรูปใดย้ายมาประทับอยู่ที่พุทธมณฑลเลย ก็เหมือนกับจอมพลถนอมที่ตั้งใจปรับปรุงบ้านพิษณุโลกให้เป็นที่อยู่ของนายกรัฐมนตรีแบบทำเนียบขาวของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

วัดมหาธาตุยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ก็คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ในชื่อมหาธาตุวิทยาลัย ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ นับว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเกิดก่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งสมัยผู้ทำเรียนอยู่สะกดชื่อโดยไม่มีการันต์ให้เกะกะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือนคู่กับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่เป็นโรงเรียนฝึกข้าราชการฝ่ายทหาร และได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปีพ.ศ. ๒๔๕๙ สมัยรัชกาลที่ ๖

วัดสร้อยทอง

วัดสร้อยทอง
เป็นวัดในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ตัดแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับเขตจังหวัดนนทบุรี เดิมชื่อ “วัดซ่อนทอง” สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๔ ปลายรัชกาลที่ ๓ ซึ่งพระองค์โปรดคนที่สร้างวัดถึงกับมีคำพูดว่า “ใครสร้างวัดก็โปรด” เข้าใจว่าสร้างโดยผู้สืบเชื้อสายจากพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง วัดถูกระเบิดทำลายเสียหายเนื่องจากอยู่ใกล้สะพานพระรามหกซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ เมื่อเครื่องบินพันธมิตรทิ้งระเบิดพลาดเป้า วัดก็ต้องรับเคราะห์ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับวัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ที่ถูกระเบิดเกือบหมดวัดเนื่องจากอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าวัดเลียบ

วัดสร้อยทองเสียหายอย่างหนัก เหลือแต่หอระฆัง เจดีย์ และหลวงพ่อเหลือ ซึ่งหล่อจากทองเหลืองที่เหลือจากการหล่อพระประธานโดยหลวงปู่เบี้ยวเจ้าอาวาสในสมัยนั้น หลวงพ่อเหลือจึงได้รับความเลื่อมใสจากชาวบ้านละแวกนั้น เหมือนกับหลวงพ่อโบสถ์น้อยวัดอินทารามที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟบางกอกน้อย ซึ่งรอดจากระเบิดเช่นกัน

ลำดับเจ้าอาวาสวัดสร้อยทองจากรูปแรกจนถึงหลวงปู่เบี้ยวมีดังนี้
พระอาจารย์กุย
หลวงปู่ดำ
หลวงปู่เบี้ยว พ.ศ. ๒๔๔๕ – ๒๔๗๒
(ที่มา : เว็บไซด์วัดสร้อยทอง)

ท่านผู้อ่านจำชื่อพระอาจารย์กุยให้ดี เพราะจะไปพูดถึงใน ถอดรหัสพระสมเด็จวันพรุ่งนี้ รวมทั้งข้อมูลจากวัดสร้อยทองเกี่ยวกับปีการสร้างวัดด้วย
เพราะถ้ามีการนำพระสมเด็จอรหังไปฝากกรุที่นั่น ก็ต้องเป็นปี ๒๓๙๔ หรือหลังจากนั้นไม่นาน
สังฆราชสุก ไก่เถื่อนสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว เพราะทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชช่วงพ.ศ. ๒๓๖๓ ถึง ๒๓๖๕ ในช่วงนั้นยังเป็นสมัยรัชกาลที่ ๒ ขุนนางตระกูลบุนนาคยังไม่ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต วัดก็ยังไม่ได้สร้าง

ประวัติศาสตร์จึงบอกเราว่า สมเด็จอรหังวัดสร้อยทอง
ไม่ได้มาจากวัดมหาธาตุ และไม่ได้สร้างโดยสังฆราชสุก ไก่เถื่อน

ร้านทองตั้งโต๊ะกัง

ห้างทองตั้งโต๊ะกัง
ชื่อ “ห้างทองตั้งโต๊ะกัง” “ตั้งโต๊ะกัง” และ “โต๊ะกัง” มาจากชื่อของผู้ก่อตั้งคือนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นคนจีนอพยพมาจากอำเภอเท่งไฮ้ ในมณฑลกวางตุ้ง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยประกอบอาชีพเป็นช่างทอง เมื่อฐานะการเงินดีขึ้นจึงได้เปิดร้านทองที่ย่านเยาวราชในซอยวานิช ถนนเยาวราช ต่อมากิจการเจริญรุ่งเรืองจากมีช่างทองไม่กี่คน จนมีเป็นร้อยคน

สมัยนั้นคนไทยจะซื้อทองก็ต้องไปที่ร้านตั้งโต๊ะกัง เยาวราช จนเป็นธรรมเนียมถึงทุกวันนี้ว่าจะซื้อทองต้องไปเยาวราช และทองเยาวราชดีที่สุด ห้างทองตั้งโต๊ะกังได้ทำเครื่องหมายไว้ที่ทองรูปพรรณของร้านโดยการตอกโค้ตเป็นตัวหนังสือลึกลงไปในเนื้อทองเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของร้าน ตัวตอกจะเป็นตัวสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ และมีตัวอักษรจีนอยู่ข้างใน

ซึ่งยังเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกวันนี้เพื่อให้ร้านทองแต่ละร้านรู้ว่าเป็นทองของตัวเองหรือไม่ เพราะร้านต้องรับผิดชอบเวลาซื้อคืน ถ้ามีโค้ตของร้านก็จะได้ราคาเต็มตามราคาทองของวันนั้น ถ้าไม่ใช่ทองของร้านก็จะมีส่วนลดไม่ซื้อในราคาเต็ม

โค้ตดังกล่าวเป็นที่คุ้นตาของชาวบ้านสมัยนั้น
ฉะนั้น เมื่อเห็นสมเด็จอรหัง มีการตอกอักษรขอม คำว่า อรหัง ลงไปหลังองค์พระ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนกัน ก็เรียกตามความเคยชินว่า พระสมเด็จอรหังหลังโต๊ะกัง

ปัจจุบัน ห้างทองโต๊ะกังยังอยู่ที่เดิม ไม่มีสาขาที่ไหน อาคารที่ตั้งเป็นอาคาร ๗ ชั้นสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นอาคารอนุรักษ์ไปแล้ว พร้อมกับสัญลักษณ์ตราครุฑที่ได้รับพระราชทานในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ สมัยรัชกาลที่ ๖ นับเป็นอาคารสูง (High Rise) ยุคแรกในประเทศไทย ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลันดาในยุคเห่อสถาปัตยกรรมฝรั่ง ชั้น ๖ ได้ถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ทองคำโชว์อุปกรณ์และเครื่องมือทำทองแบบโบราณ

สรุป

– สังฆราชสุกในยุคต้นรัตนโกสินทร์มี ๒ พระองค์ด้วยกัน คือ สังฆราชสุก (บางแห่งเขียนเป็น “ศุข”) เดิมเป็นพระพนรัตน์ วัดมหาธาตุ สังฆราชองค์ที่ ๒ และสังฆราชสุก ไก่เถื่อน เดิมเป็นพระญาณสังวร วัดพลับ (วัดราชสิทธา) สังฆราชองค์ที่ ๔

– อาจารย์ของสมเด็จโตคือสังฆราชสุก วัดมหาธาตุ ไม่ใช่สังฆราชสุก ไก่เถื่อนวัดพลับ (วัดราชสิทธา)

– สังฆราชสุก ไก่เถื่อนย้ายจากวัดพลับมาประทับที่วัดมหาธาตุเมื่อครั้งได้รับโปรดเกล้าเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามธรรมเนียมปฏิบัติสมัยนั้น และเป็นสังฆราชเพียง ๒ ปีก่อนจะสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. ๒๓๖๕ พระชนมายุ ๘๙ พรรษา แสดงว่าท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่ออายุ ๘๗ พรรษาและย้ายจากวัดพลับไปที่วัดมหาธาตุ ระยะเวลาที่ประทับที่วัดมหาธาตุสั้นเกินไปที่จะสร้างพระสมเด็จไว้ที่นั่นและตอนนั้นท่านอายุมากแล้ว

– พระสมเด็จอรหังวัดสร้อยทองไม่ได้มาจากวัดมหาธาตุที่สังฆราชสุก ไก่เถื่อนสร้างและนำไปฝากกรุที่นั่น เพราะวัดสร้อยทองสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ สังฆราชสุก ไก่เถื่อนสิ้นพระชนม์ไปร่วม ๓๐ ปีแล้ว

– จากข้อมูลประวัติศาสตร์จึงสรุปได้ว่า สมเด็จโตกับสังฆราชสุก ไก่เถื่อนไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นศิษย์อาจารย์ และพระสมเด็จอรหังไม่น่าจะสร้างที่วัดมหาธาตุและไม่ได้นำไปฝากกรุไว้ที่วัดสร้อยทอง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
prasomdej.net พระสมเด็จดอทเน็ต
http://www.prasomdej.net/old/history/1.html

ขอขอบคุณ : http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8486.0

. . . . . . .