หลวงปู่ทวด

หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้

คาถาบูชาหลวงปู่ทวด
ตั้งนะโม ๓ จบ
นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา (๓ จบ)

สัจธรรมแห่งหลวงปู่ทวด
ธรรมะพ่อนี้ง่ายๆ
มองคนดีอย่างเดียว ทำความดีอย่างเดียว
เป็นผู้ให้…ให้มากที่สุดนั้นก็หมายถึงว่ามีเมตตาอย่างเดียว
อย่าประมาท อย่าขาดสติ สี่ข้อพอแล้ว
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ดี แต่อันนี้เราเป็นธรรมะคมๆ ธรรมะในพุทธะ
เป็นคนดีอย่างเดียว คนเลวคนชั่วไม่มองเขา
เป็นผู้ให้มากๆ ให้ทุกคน…ไม่เลือก
คนไหนเราให้ได้ก็ให้ ทำดี…เราต้องให้ได้
แต่ไม่ใช่ว่าให้ไปหมดตัว
จำได้ไหม
ไม่ประมาท ไม่ขาดสติ ใช้ได้

ประวัติโดยย่อ
หลวงปู่ทวดเป็นบุตรของนายหูขาว มารดาชื่อว่า นางจันทร์ เกิดเมื่อ ปีมะโรง (งูใหญ่) เดือน ๔ วันศุกร์ พ.ศ. ๒๑๒๕ ที่บ้านสวนจันทร์ ปัจจุบันคือ ต.ชุมพล อ.จะทิ้งพระ(สทิงพระ)จ.สงขลา เวลาเกิดตอนเช้าเวลาตี ๕.๓๕ นาที หลวงปู่ทวดอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาในเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๑๔๕ เวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและได้ฉายาว่า “สามีราโม ภิกขุ” เมื่อบวชอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว หลวงปู่ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนที่วัดเสมาเมือง ๔ พรรษาจนเจนจบในพระธรรมบทต่างๆและออกเดินทางเพื่อไปศึกษาพระธรรมต่อที่กรุงอโยธยาเมื่อวันที่ ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปี พ.ศ.๒๑๕๐ หลวงปู่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่วัด “ราชานุวาส” ในเมืองอโยธยา เป็นระยะเวลา ๕ ปีนับได้ว่ามีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ตลอดถึงคาถาอาคมต่างๆและได้สร้างคุนูปาการแก่เมืองอโยธยาจนได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยชราจึงได้ออกเดินธุดงค์เพื่อเผยแพร่หลักธรรมจนถึงวัดพะโคะและได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อพระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นคงดีแล้วหลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์จนถึงเมืองไทรบุรีเพื่อเผยแพร่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับชาวบ้านในถิ่นนั้นๆเพื่อให้ชาวบ้านอยู่ในศีลในธรรม รู้จักบาปบุญคุณโทษ และได้ทำการสร้างและบูรณะวัด “โกนะไหน” ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในละแวกนั้น หลวงปู่ทวดได้ละสังขารเมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๒๑๕ อายุได้ ๙๐ ปีเต็ม

ปาฎิหาริย์เหยียบน้ำทะเลจืด
เมื่อครั้งที่หลวงปู่ได้เรียนจบชั้นธรรมบทที่วัดเสมาเมืองแล้วก็ได้ขอโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์ลงเรือที่ท่าเมืองจะทิ้งพระจะไปกรุงอโยธยาพระนครหลวงเพื่อศึกษาเล่าเรียนธรรมเพิ่มเติมอีก เรือสำเภาใช้ใบแล่นถึงเมืองนครศรีธรรมราช นายอินทร์เจ้าของเรือได้นิมนต์ขึ้นบกไปนมัสการพระบรมธาตุตามประเพณีชาวเรือเดินทางไกลซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน ๆ เพื่อขอความสวัสดีต่อการเดินทางทางทะเลแล้วพากันลงเรือสำเภาที่คลองท่าแพ เรือสำเภาใช้ใบสู่ทะเลหลวงเรียบร้อยตลอดมาเป็นระยะทาง ๓ วัน ๓ คืน วันหนึ่งท้องทะเลฟ้าวิปริตเกิดพายุ ฝนตกมืดฟ้ามัวดินคลื่นคะนองอย่างบ้าคลั่ง ทำให้เรือจะแล่นต่อไปก็ไม่ได้ จึงลดใบทอดสมอสู้คลื่นลมอยู่ถึง ๓ วัน ๓ คืน จนพายุสงบเงียบลงเป็นปกติ แต่เหตุการณ์บนเรือสำเภาเกิดความเดือดร้อนมากเพราะน้ำจืดที่ลำเลียงมาหมดลง คนเรือไม่มีน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหาร นายอินทร์เจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นหาว่าเป็นเพราะหลวงปู่ทวดได้อาศัยมากับเรือจนเป็นเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์วิปริต ซึ่งตนไม่เคยประสบเช่นนี้มาก่อน จึงบันดาลโทสะจึงไล่ให้หลวงปู่ลงจากเรือสำเภา หมายจะปล่อยให้ท่านไปตามยะถากรรม ขณะที่หลวงปู่ทวดกำลังลงนั่งอยู่ในเรือเล็กท่านได้เสี่ยงอธิษฐานบารมี หากว่าท่านจะได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมต่อที่กรุงอโยธยาก็ขอให้น้ำทะเลที่ท่านเหยียบลงไปจืด เมื่อท่านอธิษฐานเสร็จแล้วท่านก็ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือลองตักน้ำขึ้นดื่มกินดู ปรากฏว่าน้ำทะเลที่เค็มจัดตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำที่มีรสจืดสนิท ลูกเรือคนนั้นจึงร้องบอกขึ้นไปบนเรือใหญ่ให้เพื่อนทราบ พวกกะลาสีบนเรือใหญ่จึงพากันตักน้ำทะเลตรงนั้นขึ้นไปดื่มแก้กระหาย เป็นที่อัศจรรย์ในอภินิหารของพระภิกษุหนุ่มยิ่งนัก ความทราบถึงนายอินทร์เจ้าของเรือจึงได้ดื่มน้ำพิสูจน์ดูปรากฏว่าน้ำทะเลที่จืดนั้นมีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียนนอกนั้นเป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติของทะเลจึงสั่งให้ลูกเรือตักน้ำในบริเวณนั้นขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม นายอินทร์และลูกเรือได้ประจักษ์ในอภินิหารของท่านก็เกิดความหวาดวิตกภัยพิบัติที่ตนได้กระทำไว้ต่อท่าน จึงได้นิมนต์ให้ท่านขึ้นบนเรือใหญ่แล้วพากันกราบไหว้ขอขมาโทษตามที่ตนได้กล่าวคำล่วงเกินต่อท่าน แล้วจึงถอนสมอเรือออกเดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงอโยธยาด้วยความปลอดภัย

แก้ปริศนาธรรมกู้บ้านเมือง
ในสมัยนั้นประเทศลังกาอันมีพระเจ้าวัฏฏะคามินีครองราชเป็นเจ้าแผ่นดินมีพระประสงค์จะได้กรุงอโยธยาไว้ใต้พระบรมเดชานุภาพ แต่พระองค์ไม่มีประสงค์จะก่อสงครามให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันให้ประชาชนข้าแผ่นดินเดือดร้อนจึงมีนโยบายอย่างหนึ่งที่สามารถจะเอาชนะประเทศอื่นโดยการท้าพนัน พระองค์จึงตรัสสั่งให้พนักงานพระคลังเบิกจ่ายทองคำในท้องพระคลังหลวงมอบให้แก่นายช่างทองไปจัดการหลอมหล่อเป็นตัวอักษรเท่าใบมะขามจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด แล้วมอบให้แก่พราหมณ์ผู้เฒ่า ๗ คน พร้อมด้วยข้าวของอันมีค่าบรรทุกลงเรือสำเภา ๗ ลำ พร้อมด้วยพระราชสาสน์ให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๗ นำลงเรือสำเภาใช้ใบแล่นไปยังกรุงอโยธยา เมื่อเรือสำเภาจอดท่ากรุงอโยธยาเรียบร้อยแล้ว พราหมณ์ทั้ง ๗ ได้พากันเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงไทยและถวายสาสน์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงไทยทรงอ่านพระราชสาสน์นความว่า พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าพระเจ้ากรุงไทยให้ทรงแปลพระธรรมในเมล็ดทองคำและเรียบเรียงลำดับให้เสร็จภายใน ๗ วัน ถ้าแปลและเรียบเรียงได้ทันกำหนดพระเจ้ากรุงลังกาขอถวายข้าวของอันมีค่าทั้ง ๗ ลำเรือสำเภาเป็นบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงไทย แต่ถ้าพระเจ้ากรุงไทยแปลเรียงเมล็ดทองคำไม่ได้ตามกำหนดให้พระเจ้ากรุงไทยจัดการถวายดอกไม้เงินและทองส่งเป็นราชบรรณาการแก่กรุงลังกาทุก ๆ ปีตลอดไป
เมื่อพระองค์ทรงทราบพระราชสาสน์อันมีข้อความดังนั้น จึงทรงจัดสั่งนายศรีธนญชัยสังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศให้เข้ามาแปลธรรมในพระมหานครทันกำหนด เมื่อประกาศไปแล้ว ๖ วัน ก็ไม่มีใครสามารถแปลเรียบเรียงเมล็ดทองคำนั้นได้ พระองค์ทรงปริวิตกยิ่งนักและในคืนวันนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่ามีพระยาช้างเผือกผู้มาจากทิศตะวันตกขึ้นยืนอยู่บนพระแท่นในพระบรมมหาราชวังได้เปล่งเสียงร้องก้องดังได้ยินไปทั่วทั้งสี่ทิศ ทรงตกพระทัยตื่นบรรทมในยามนั้นและทรงพระปริวิตกในพระสุบินนิมิตเกรงว่าประเทศชาติจะเสียอธิปไตยและเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพทรงพระวิตกกังวลไม่เป็นอันบรรทมจนรุ่งสาง เมื่อได้เสด็จออกยังท้องพระโรงสั่งให้โหรหลวงเข้าเฝ้าโดยด่วนและทรงเล่าสุบินนิมิตให้โหรหลวงทำนายเพื่อจะได้ทรงทราบว่าร้ายดีประการใด เมื่อโหรหลวงทั้งคณะได้พิจารณาดูยามในพระสุบินนิมิตนั้นละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว ก็พร้อมกันกราบถวายบังคมทูลว่าตามพระสุบินนิมิตนี้จะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมาจากทิศตะวันตกอาสาเรียงและแปลพระธรรมได้สำเร็จ พระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะยั่งยืนแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสี่ทิศเมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วก็คลายพระปริวิตกลงได้บ้าง
ด้วยเดชะบุญบันดาลในเช้าวันนั้นบังเอิญศรีธนญชัยไปพบหลวงปู่ทวดที่วัดราชานุวาส ได้สนทนาปราศรัยกันแล้วก็ทราบว่าท่านมาจากเมืองตะลุง ( พัทลุงเวลานี้ ) เพื่อศึกษาธรรม ศรีธนญชัยเล่าเรื่องกรุงลังกาท้าพนันให้แปลธรรม แล้วถามว่าท่านยังจะช่วยแปลได้หรือ หลวงปู่ทวดตอบว่าถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ศรีธนญชัยจึงนิมนต์ท่านเข้าเฝ้า ณ ที่ประชุมสงฆ์ ขณะที่หลวงปู่ทวดถึงประตูหน้าวิหาร ท่านย่างก้าวขึ้นไปยืนเหยียบบนก้อนหินศิลาแลง ทันทีนั้นศิลาแลงได้หักออกเป็นสองท่อนด้วยอำนาจอภินิหารเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อเข้าไปในพระวิหารพระมหากษัตริย์ตรัสสั่งพนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันสมควร แต่ก่อนที่ท่านจะเข้านั่งที่แปลพระธรรมนั้นท่านได้แสดงกิริยาอาการเป็นปัญหาธรรมต่อหน้าพราหมณ์ทั้ง ๗ กล่าวคือ ท่าแรกท่านนอนลงในท่าสีหะไสยาสน์ แล้วลุกขึ้นนั่งทรงกายตรงแล้วกระเถิบไปข้างหน้า ๕ ที แล้วลุกขึ้นเดินเข้าไปนั่งในที่อันสมควร พราหมณ์ผู้เฒ่าทั้ง ๗ เห็นท่านแสดงกิริยาเช่นนั้นเป็นการขบขันก็พากันหัวเราะและพูดว่า นี่หรือพระภิกษุที่จะแปลธรรมของพระบรมศาสดา อะไรจึงแสดงกิริยาอย่างเด็กไร้เดียงสา พราหมณ์พูดดูหมิ่นท่านหลายครั้ง ท่านจึงหัวเราะ แล้วถามพราหมณ์ว่า
“ประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ท่านไม่เคยพบเห็นกิริยาเช่นนี้บ้างหรือ ?”
พราหมณ์เฒ่าฉงนใจก็นิ่งอยู่ ต่างนำบาตรใส่เมล็ดทองคำเข้าประเคนท่านทันที เมื่อหลวงปู่ทวดรับประเคนบาตรจากมือพราหมณ์มาแล้วท่านก็นั่งสงบจิตอธิษฐานแต่ในใจว่า “ขอบารมีแห่งพุทธะ คุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาอันรักษาพระนครตลอดถึงเทวาอารักษ์ศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบัลดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่มาขัดขวางขอให้แปลพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์สำเร็จสมปรารถนาเถิด”
ครั้นแล้วท่านคว่ำบาตเททองเรี่ยราดลงบนพรม ด้วยพุทธานุภาพและอำนาจบารมีอภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนาประกอบกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย ท่านก็ได้ลงมือเรียบเรียงและแปลอักษรในเมล็ดทองคำจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด เป็นลำดับโดยสะดวกและไม่ติดขัดประการใดเลย ขณะที่หลวงปู่ทวดเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้วปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไป ๗ ตัว คือตัว สัง วิ ทา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาอักษรทองคำที่พราหมณ์ซ่อนไว้ในมวยผม พราหมณ์ทั้ง ๗ คนยอมจำนน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้แก่ท่านโดยดี ปรากฏว่าหลวงปู่ทวดแปลพระไตรปิฎกในเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์ เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น
สมเด็จพระเจ้ากรุงไทยทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่งจึงตรัสสั่งถวายราชสมบัติให้หลวงปู่ทวดครอง ๗ วัน แต่ท่านไม่ยอมรับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณเพศไม่สมควรที่จะครองราชสมบัติอันผิดกิจของสมณควรประพฤติ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าทรงแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์ ทรงพระราชทานนามว่า “พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” ในเวลานั้น

http://kaewariyah.com/

. . . . . . .